ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
สุตตนิบาต อัฏฐกวรรคที่ ๔
กามสูตรที่ ๑
[๔๐๘] ถ้าว่าวัตถุกามจะสำเร็จแก่สัตว์ผู้ปรารถนาอยู่ไซร้ สัตว์ ปรารถนาสิ่งใดได้สิ่งนั้นแล้ว ก็ย่อมเป็นผู้มีใจเอิบอิ่มแน่แท้ ถ้าเมื่อสัตว์นั้นปรารถนาอยู่ เกิดความอยากได้แล้ว กาม เหล่านั้นย่อมเสื่อมไปไซร้ สัตว์นั้นย่อมย่อยยับเหมือนถูก ลูกศรแทง ฉะนั้น ผู้ใดงดเว้นกามทั้งหลาย เหมือนอย่าง บุคคลเว้นศีรษะงูด้วยเท้าของตน ผู้นั้นเป็นผู้มีสติ ย่อมก้าว ล่วงตัณหาในโลกนี้ได้ นรชนใดย่อมยินดีกามเป็นอันมาก คือ นา ที่ดิน เงิน โค ม้า ทาสกรรมกร เหล่าสตรีและพวก พ้อง กิเลสทั้งหลายอันมีกำลังน้อย ย่อมครอบงำย่ำยีนรชน นั้นได้ อันตรายทั้งหลายก็ย่อมย่ำยีนรชนนั้น แต่นั้นทุกข์ ย่อมติดตามนรชนผู้ถูกอันตรายครอบงำ เหมือนน้ำไหลเข้าสู่ เรือที่แตกแล้ว ฉะนั้น เพราะฉะนั้น สัตว์พึงเป็นผู้มีสติ ทุกเมื่อ งดเว้นกามทั้งหลายเสีย สัตว์ละกามเหล่านั้นได้แล้ว พึงข้ามโอฆะได้เหมือนบุรุษวิดเรือแล้วพึงไปถึงฝั่ง ฉะนั้น ฯ
จบกามสูตรที่ ๑
คุหัฏฐกสูตรที่ ๒
[๔๐๙] นรชนผู้ข้องอยู่ในถ้ำคือกาย ถูกกิเลสเป็นอันมากปกปิดไว้ แล้ว ดำรงอยู่ด้วยอำนาจกิเลสมีราคะเป็นต้น หยั่งลงในกาม คุณเครื่องทำจิตให้ลุ่มหลง นรชนผู้เห็นปานนั้นแล เป็นผู้ ไกลจากวิเวก เพราะว่ากามคุณทั้งหลายในโลก ไม่ใช่ละได้ โดยง่ายเลย กามคุณทั้งหลายมีความปรารถนาเป็นเหตุ เนื่อง ด้วยความยินดีในภพ เปลื้องออกได้โดยยาก คนอื่นจะเปลื้อง ออกให้ไม่ได้เลย นรชนทั้งหลายมุ่งหวังกามในอนาคตบ้าง ในอดีตบ้าง คร่ำครวญถึงกามเหล่านี้ที่เคยมีแล้วบ้าง อันตน เปลื้องเองได้ยาก และคนอื่นก็เปลื้องให้ไม่ได้ สัตว์เหล่านั้น ยินดี ขวนขวาย ลุ่มหลงอยู่ในกามทั้งหลาย ไม่เชื่อถือถ้อย คำของบัณฑิตมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ตั้งอยู่แล้วในธรรมอันไม่ สงบ ถูกทุกข์ครอบงำแล้ว ย่อมรำพันอยู่ว่า เราจุติจากโลก นี้แล้ว จักเป็นอย่างไรหนอ เพราะเหตุนั้นแล สัตว์พึงศึกษา ไตรสิกขาในศาสนานี้แหละ พึงรู้ว่าสิ่งอะไรๆ ในโลกไม่ เป็นความสงบ ไม่พึงประพฤติความไม่สงบเพราะเหตุแห่ง สิ่งนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตนั้นว่าเป็นของน้อยนัก เราเห็นหมู่สัตว์นี้ ผู้เป็นไปในอำนาจความอยากในภพ ทั้งหลาย กำลังดิ้นรนอยู่ในโลก นรชนทั้งหลายผู้เลวทราม ย่อมบ่นเพ้ออยู่ในปากมัจจุราช นรชนเหล่านั้น ยังไม่ ปราศจากความอยากในภพและมิใช่ภพทั้งหลายเลย ท่าน ทั้งหลายจงดูชนทั้งหลายผู้ถือว่าสิ่งนั้นๆ เป็นของเรา กำลัง ดิ้นรนอยู่ เหมือนปลาในแอ่งน้ำน้อยมีกระแสขาดสิ้นแล้ว ดิ้นรนอยู่ ฉะนั้น นรชนเห็นโทษแม้นั้นแล้ว ไม่พึงประพฤติ เป็นคนถือว่าสิ่งนั้นๆ เป็นของเรา ไม่กระทำความติดข้องอยู่ ในภพทั้งหลาย พึงกำจัดความพอใจในที่สุดทั้ง ๒ (มีผัสสะ และเหตุเกิดแห่งสัมผัสสะเป็นต้น) กำหนดรู้ผัสสะแล้ว ไม่กำหนัดตามในธรรมทั้งปวงมีรูปเป็นต้น ติเตียนตนเอง เพราะข้อใด อย่าทำข้อนั้น เป็นนักปราชญ์ไม่ติดอยู่ในรูปที่ได้ เห็นและเสียงที่ได้ฟังเป็นต้น กำหนดรู้สัญญาแล้วพึงข้าม โอฆะ เป็นมุนีไม่ติดอยู่ในอารมณ์ที่ควรหวงแหน ถอนลูกศร คือ กิเลสออกเสีย ไม่ประมาทเที่ยวไปอยู่ ย่อมไม่ปรารถนา โลกนี้และโลกหน้า ฉะนี้แล ฯ
จบคุหัฏฐกสูตรที่ ๒
ทุฏฐัฏฐกสูตรที่ ๓
[๔๑๐] เดียรถีย์บางพวก มีใจประทุษร้าย ย่อมติเตียนโดยแท้ แม้อนึ่ง พวกชนที่ฟังคำของเดียรถีย์เหล่านั้นแล้ว ปลงใจ เชื่อจริง ก็ติเตียน แต่มุนีย่อมไม่เข้าถึงการติเตียนที่เกิดขึ้น แล้ว เพราะเหตุนั้น มุนีย่อมไม่มีหลักตอ คือ ราคะ โทสะ และโมหะ ในโลกไหนๆ บุคคลผู้ถูกความพอใจครอบงำ แล้ว ตั้งมั่นอยู่ในความชอบใจ จะพึงล่วงทิฐิของตนได้ อย่างไรเล่า บุคคลกระทำทิฐิเหล่านั้นให้บริบูรณ์ด้วยตนเอง รู้อย่างใด ก็พึงกล่าวอย่างนั้น ผู้ใดไม่ถูกเขาถามเลย กล่าว อวดอ้างศีลและวัตรของตนแก่ผู้อื่น ผู้ฉลาดทั้งหลายกล่าว ผู้นั้นว่า ผู้ไม่มีอริยธรรม ผู้ใดกล่าวอวดตนด้วยตนเอง ผู้ฉลาดทั้งหลายกล่าวการอวดของผู้นั้นว่า ผู้นี้ไม่มีอริยธรรม ส่วนภิกษุผู้สงบ มีตนดับแล้ว ไม่กล่าวอวดในศีลทั้งหลายว่า เราเป็นผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยศีล ผู้ฉลาดทั้งหลายกล่าวภิกษุ นั้นว่า มีอริยธรรม ภิกษุใดไม่มีกิเลสเครื่องฟูขึ้นในโลก ไหนๆ ผู้ฉลาดทั้งหลายกล่าวการไม่กล่าวอวดของภิกษุ นั้นว่า ภิกษุนี้มีอริยธรรม ธรรม คือ ทิฐิอันปัจจัยกำหนด ปรุงแต่งแวดล้อม ไม่ผ่องแผ้ว ย่อมมีแก่ผู้ใด ผู้นั้นเป็น อย่างนี้ เพราะเหตุที่ผู้นั้นเห็นอานิสงส์ มีคติวิเศษเป็นต้นใน ตน ฉะนั้นจึงเป็นผู้อาศัยทิฐินั้นอันละเอียด อาศัยความกำเริบ นรชนตัดสินธรรมที่ตนยึดมั่นแล้วในธรรมทั้งหลาย ไม่พึง ล่วงการยึดมั่นด้วยทิฐิได้โดยง่ายเลย เพราะเหตุนั้น นรชน ย่อมยึดถือและถือมั่นธรรม ในเพราะความยึดมั่นด้วยทิฐิ เหล่านั้น ก็บุคคลผู้มีปัญญา ไม่มีทิฐิอันปัจจัยกำหนดแล้ว ในภพและมิใช่ภพ ในโลกไหนๆ บุคคลผู้มีปัญญานั้น ละมายาและมานะได้แล้ว จะพึงถึงการนับเข้าในคติพิเศษใน ในนรกเป็นต้น ด้วยคติพิเศษอะไร บุคคลผู้มีปัญญานั้น ไม่มีตัณหาและทิฐิ ก็บุคคลผู้มีตัณหาและทิฐิ ย่อมเข้าถึง วาทะในธรรมทั้งหลาย ผู้นั้นจะพึงกล่าวกะพระขีณาสพผู้ไม่มี ตัณหาและทิฐิว่า ผู้กำหนัดหรือว่าผู้ประทุษร้ายได้อย่างไร ด้วยความกำหนัดหรือความประทุษร้ายอะไร ความเห็นว่า เป็นตน หรือความเห็นว่าขาดสูญ ย่อมไม่มีแก่พระขีณาสพ นั้นเลย เพราะพระขีณาสพนั้น ละทิฐิได้ทั้งหมดในอัตภาพ นี้ ฉะนี้แล ฯ
จบทุฏฐัฏฐกสูตรที่ ๓
สุทธัฏฐกสูตรที่ ๔
[๔๑๑] คนพาลผู้ประกอบด้วยทิฐิ สำคัญเอาเองว่าเราได้เห็นบุคคล ผู้บริสุทธิ์เป็นบุคคลผู้ยิ่งใหญ่หาโรคมิได้ ความหมดจดด้วยดี ย่อมมีได้แก่นรชนด้วยการเห็น เมื่อคนพาลนั้นสำคัญเอาเอง อย่างนี้ รู้ว่า ความเห็นนั้นเป็นความเห็นยิ่ง แม้เป็นผู้เห็น บุคคลผู้บริสุทธิ์เนืองๆ ก็ย่อมเชื่อว่า ความเห็นนั้นเป็น มรรคญาณ ถ้าว่าความบริสุทธิ์ย่อมมีได้แก่นรชนด้วยการเห็น หรือนรชนนั้นย่อมละทุกข์ได้ด้วยมรรค อันไม่บริสุทธิ์อย่าง อื่นจากอริยมรรค นรชนผู้เป็นอย่างนี้ย่อมบริสุทธิ์ไม่ได้เลย ก็คนมีทิฐิ ย่อมกล่าวยกย่องความเห็นนั้นของคนผู้กล่าว อย่างนั้น พราหมณ์ไม่กล่าวความบริสุทธิ์โดยมิจฉาทิฐิญาณ อย่างอื่นจากอริยมรรคญาณ ที่เกิดขึ้นในเพราะรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง ศีล พรต และในเพราะอารมณ์ที่ได้ทราบ พราหมณ์นั้นไม่ติดอยู่ในบุญและบาป ละความเห็นว่าเป็นตน เสียได้ ไม่กระทำในบุญและบาปนี้ ชนผู้ประกอบด้วยทิฐิ เป็นผู้กล่าวความบริสุทธิ์โดยทางมรรคอย่างอื่นเหล่านั้น ละ ศาสดาเบื้องต้นเสีย อาศัยศาสดาอื่น อันตัณหาครอบงำ ย่อมข้ามธรรมเป็นเครื่องข้องไม่ได้ ชื่อว่าถือเอาธรรมนั้น ด้วย สละธรรมนั้นด้วย เปรียบเหมือนวานรจับและปล่อย กิ่งไม้ที่ตรงหน้าเสียเพื่อจับกิ่งอื่น ฉะนั้น สัตว์ผู้ข้องอยู่ ในกามสัญญา สมาทานวัตรเองแล้ว ไปเลือกหาศาสดาดี และเลว ส่วนพระขีณาสพผู้มีปัญญาเสมอด้วยแผ่นดิน ผู้มีความรู้แจ้ง ตรัสรู้ธรรมด้วยเวทคือมรรคญาณ ย่อมไม่ ไปเลือกหาศาสดาดีและเลว พระขีณาสพนั้นครอบงำมาร และเสนาในธรรมทั้งปวง คืออารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่ ได้เห็น ได้ฟัง หรือได้ทราบ ใครๆ จะพึงกำหนดพระขีณาสพ ผู้บริสุทธิ์ ผู้เห็นความบริสุทธิ์ เป็นผู้มีหลังคาคือกิเลสอัน เปิดแล้ว ผู้เที่ยวไปอยู่ ด้วยการกำหนดด้วยตัณหาและทิฐิ อะไรในโลกนี้ พระขีณาสพทั้งหลาย ย่อมไม่กำหนดด้วย ตัณหาหรือด้วยทิฐิ ย่อมไม่กระทำตัณหาและทิฐิไว้ใน เบื้องหน้า พระขีณาสพเหล่านั้นย่อมไม่กล่าวว่า ความบริสุทธิ์ ล่วงส่วนด้วยอกิริยาทิฐิและสัสสตทิฐิ ท่านสละกิเลสเครื่อง ยึดมั่นและเครื่องร้อยรัดอันเนื่องอยู่ในจิตสันดานได้แล้วย่อม ไม่กระทำความหวังในโลกไหนๆ พราหมณ์ผู้ล่วงแดนกิเลสได้ ไม่มีความยึดถือวัตถุหรืออารมณ์อะไร เพราะได้รู้หรือเพราะ ได้เห็นเป็นผู้ไม่มีความยินดีด้วยราคะ เป็นผู้ปราศจากราคะ ไม่กำหนัดแล้ว พราหมณ์นั้น ไม่มีความยึดถือวัตถุและ อารมณ์อะไรๆ ว่าสิ่งนี้เป็นของยิ่งในโลกนี้ ฉะนี้แล ฯ
จบสุทธัฏฐกสูตรที่ ๔
ปรมัฏฐกสูตรที่ ๕
[๔๑๒] บุคคลในโลกยึดถือในทิฐิทั้งหลายว่า สิ่งนี้เป็นอย่างยิ่ง ย่อมกระทำศาสดาเป็นต้นของตนให้เป็นผู้ประเสริฐ กล่าว ผู้อื่นนอกจากศาสดาเป็นต้นของตนนั้นว่า เลวทั้งหมด เพราะ เหตุนั้น บุคคลนั้นจึงไม่ล่วงพ้นความวิวาทไปได้ บุคคลนั้น เห็นอานิสงส์อันใดในตนกล่าวคือ ทิฐิ ที่เกิดขึ้นในสิ่งเหล่านี้ คือ ในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง ศีล พรต หรืออารมณ์ ที่ได้ทราบ บุคคลนั้นยึดมั่นอานิสงส์ในทิฐิของตนนั้นแลว่า ประเสริฐที่สุด เห็นศาสดาอื่นทั้งหมดโดยความเป็นคนเลว อนึ่ง บุคคลผู้อาศัยศาสดาของตนแล้ว เห็นศาสดาอื่น เป็นคนเลว เพราะความเห็นอันใด ท่านผู้ฉลาดทั้งหลาย กล่าวความเห็นนั้นว่า เป็นกิเลสเครื่องร้อยรัด เพราะฉะนั้น แหละ ภิกษุไม่พึงยึดมั่นรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ หรือศีลและพรต แม้ทิฐิก็ไม่พึงกำหนด ด้วยญาณ หรือแม้ด้วยศีลและพรตในโลก ไม่พึงนำตนเข้า ไปเปรียบว่า เป็นผู้เสมอเขา ไม่พึงสำคัญว่า เป็นผู้เลว กว่าเขา หรือว่าเป็นผู้วิเศษกว่าเขา ภิกษุนั้นละความเห็นว่า เป็นตนได้แล้ว ไม่ถือมั่นอยู่ ย่อมไม่กระทำนิสัย (ตัณหา นิสัยและทิฐินิสัย) แม้ในญาณ ไม่เป็นผู้แล่นไปเข้าพวก ในสัตว์ทั้งหลายผู้แตกต่างกันด้วยอำนาจทิฐิต่างๆ ย่อมไม่ กลับมาแม้สู่ทิฐิอะไรๆ พราหมณ์ในโลกนี้ไม่มีตัณหาใน ส่วนสุดทั้ง ๒ มีผัสสะเป็นต้นเพื่อความเกิดบ่อยๆ ในโลกนี้ หรือในโลกอื่น ไม่มีความยึดมั่นอะไรๆ ไม่มีสัญญาอันปัจจัย กำหนดแล้วแม้แต่น้อย ในรูปที่ได้เห็น ในเสียงที่ได้ฟัง หรือในอารมณ์ที่ได้ทราบ ในโลกนี้ เพราะได้ตัดสินธรรม ที่ตนยึดถือแล้วในธรรมทั้งหลาย ใครๆ จะพึงกำหนดพราหมณ์ นั้นผู้ไม่ถือมั่นทิฐิ ด้วยการกำหนดด้วยตัณหาหรือด้วยการ กำหนดด้วยทิฐิอะไรๆ ในโลกนี้ พราหมณ์ทั้งหลายย่อมไม่ กำหนดด้วยตัณหาหรือทิฐิ ย่อมไม่กระทำตัณหาและทิฐิไว้ใน เบื้องหน้า แม้ธรรมคือทิฐิทั้งหลาย พราหมณ์เหล่านั้นก็มิได้ ปกปิดไว้ พราหมณ์ผู้อันใครๆ จะพึงนำไปด้วยศีลและพรต ไม่ได้ ถึงฝั่ง คือ นิพพานแล้ว เป็นผู้คงที่ ย่อมไม่กลับมา หากิเลสทั้งหลายอีก ฉะนั้นแล ฯ
จบปรมัฏฐกสูตรที่ ๕
ชราสูตรที่ ๖
[๔๑๓] ชีวิตนี้น้อยนัก สัตว์ย่อมตายแม้ภายใน ๑๐๐ ปี ถ้าแม้สัตว์ เป็นอยู่เกิน (๑๐๐ ปี) ไปไซร้ สัตว์นั้นก็ย่อมตายแม้เพราะ ชราโดยแท้แล ชนทั้งหลายย่อมเศร้าโศก เพราะสิ่งที่ตน ยึดถือว่าเป็นของเรา สิ่งที่เคยหวงแหนเป็นของเที่ยงไม่มีเลย บุคคลเห็นว่า สิ่งนี้มีความเป็นไปต่างๆ มีอยู่ ดังนี้แล้ว ไม่พึงอยู่ครองเรือน บุรุษย่อมสำคัญสิ่งใดว่า สิ่งนี้เป็นของเรา จำต้องละสิ่งนั้นไปแม้เพราะความตาย บัณฑิตผู้นับถือ พระพุทธเจ้าว่าเป็นของเรา ทราบข้อนี้แล้ว ไม่พึงน้อมไป ในความเป็นผู้ถือว่าสิ่งนั้นๆ เป็นของเรา บุคคลผู้ตื่นขึ้นแล้ว ย่อมไม่เห็นอารมณ์อันประจวบด้วยความฝัน แม้ฉันใด บุคคล ย่อมไม่เห็นบุคคลผู้ที่ตนรักทำกาละล่วงไปแล้ว แม้ฉันนั้น บุคคลย่อมกล่าวขวัญกันถึงชื่อนี้ ของคนทั้งหลายผู้อันตนได้ เห็นแล้วบ้าง ได้ฟังแล้วบ้าง ชื่อเท่านั้นที่ควรกล่าวขวัญถึง ของบุคคลผู้ล่วงไปแล้ว จักยังคงเหลืออยู่ ชนทั้งหลาย ผู้ยินดีแล้วในสิ่งที่ตนถือว่าเป็นของเรา ย่อมละความโศก ความร่ำไรและความตระหนี่ไม่ได้ เพราะเหตุนั้น มุนีทั้งหลาย ผู้เห็นนิพพานเป็นแดนเกษม ละอารมณ์ที่เคยหวงแหนได้ เที่ยวไปแล้ว บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการไม่แสดงตนในภพ อัน ต่างด้วยนรกเป็นต้น ของภิกษุผู้ประพฤติหลีกเร้น ผู้เสพที่นั่ง อันสงัด ว่าเป็นการสมควร มุนีไม่อาศัยแล้วในอายตนะ ทั้งปวง ย่อมไม่กระทำสัตว์หรือสังขารให้เป็นที่รักทั้งไม่กระทำ สัตว์หรือสังขารให้เป็นที่เกลียดชัง ย่อมไม่ติดความร่ำไรและ ความตระหนี่ ในสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รักและเป็นที่เกลียด ชังนั้น เปรียบเหมือนน้ำไม่ติดอยู่บนใบไม้ ฉะนั้น หยาด น้ำย่อมไม่ติดอยู่บนใบบัว น้ำย่อมไม่ติดอยู่ที่ใบปทุม ฉันใด มุนีย่อมไม่ติดในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง หรืออารมณ์ที่ ได้ทราบ ฉันนั้น ผู้มีปัญญาย่อมไม่สำคัญด้วยรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง หรืออารมณ์ที่ได้ทราบ ย่อมไม่ปรารถนาความ บริสุทธิ์ด้วย (มรรคอย่างอื่น) ทางอื่น ผู้มีปัญญานั้น ย่อมไม่ ยินดี ย่อมไม่ยินร้าย ฉะนี้แล ฯ
จบชราสูตรที่ ๖
ติสสเมตเตยยสูตรที่ ๗
ท่านพระติสสเมตเตยยะทูลถามปัญหาว่า [๔๑๔] ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ขอพระองค์จงตรัสบอกความคับแค้น แห่งบุคคลผู้ประกอบเมถุนธรรมเนืองๆ เถิด ข้าพระองค์ ทั้งหลายได้สดับคำสั่งสอนของพระองค์แล้ว จักศึกษาใน วิเวก ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรเมตเตยยะ ความคับแค้นของบุคคลผู้ประกอบเมถุนธรรมมีอยู่ บุคคลผู้ ประกอบเมถุนธรรม ย่อมลืมแม้คำสั่งสอน และย่อมปฏิบัติ ผิด นี้เป็นกิจไม่ประเสริฐในบุคคลนั้น บุคคลใดประพฤติอยู่ผู้ เดียวในกาลก่อนแล้ว เสพเมถุนธรรม (ในภายหลัง) บัณฑิตทั้งหลายกล่าวบุคคลนั้นว่า เป็นคนมีกิเลสมากในโลก เหมือนยวดยานที่แล่นไปใกล้เหว ฉะนั้น ยศและเกียรติ คุณในกาลก่อนของบุคคลนั้น ย่อมเสื่อม บุคคลเห็นโทษ แม้นี้แล้ว ควรศึกษาไตรสิกขาเพื่อละเมถุนธรรม ผู้ใดไม่ละ เมถุนธรรม ผู้นั้นถูกความดำริครอบงำแล้ว ซบเซาอยู่ เหมือนคนกำพร้า ฉะนั้น ผู้นั้นฟังเสียงอันระบือไปของชน เหล่าอื่นแล้ว เป็นผู้เก้อเขินเช่นนั้น อนึ่ง ผู้ใดอันวาทะ ของบุคคลอื่นตักเตือนแล้ว ยังกระทำกายทุจริตเป็นต้น ผู้นี้ แหละพึงเป็นผู้มีเครื่องผูกใหญ่ ย่อมถือเอาโทษแห่งมุสาวาท บุคคลอันผู้อื่นรู้กันดีแล้วว่าเป็นบัณฑิต อธิษฐานการเที่ยวไป ผู้เดียว แม้ในภายหลังประกอบในเมถุนธรรม ย่อมมัวหมอง เหมือนคนงมงาย ฉะนั้น มุนีในศาสนานี้รู้โทษในเบื้องต้น และเบื้องปลายนี้แล้ว ควรกระทำการเที่ยวไปผู้เดียวให้มั่นคง ไม่ควรเสพเมถุนธรรม ควรศึกษาวิเวกเท่านั้น การประพฤติ วิเวกนี้ เป็นกิจอันสูงสุดของพระอริยเจ้าทั้งหลาย มุนีไม่ ควรสำคัญตนว่าเป็นผู้ประเสริฐด้วยวิเวกนั้น มุนีนั้นแลย่อม อยู่ใกล้นิพพาน หมู่สัตว์ผู้ยินดีแล้วในกามทั้งหลาย ย่อมรัก ใคร่ต่อมุนีผู้สงัดแล้วเที่ยวไปอยู่ ผู้ไม่มีความห่วงใยในกาม ทั้งหลาย ผู้ข้ามโอฆะได้แล้ว ฉะนี้แล ฯ
จบติสสเมตเตยยสูตรที่ ๗
ปสูรสูตรที่ ๘
[๔๑๕] สมณพราหมณ์ผู้ประกอบด้วยทิฐิ ย่อมกล่าวว่า ความบริสุทธิ์ว่ามีอยู่ในธรรมนี้เท่านั้น ไม่กล่าวความบริสุทธิ์ ในธรรมเหล่าอื่น สมณพราหมณ์เป็นอันมาก กล่าวความดี งามในศาสดาของตนเป็นต้นที่ตนอาศัยแล้ว ถือมั่นอยู่ใน สัจจะเฉพาะอย่าง (มีคำว่าโลกเที่ยงเป็นต้น) สมณพราหมณ์ เจ้าทิฐิ ๒ พวกนั้น ประสงค์จะกล่าวโต้ตอบกัน เข้าไปสู่ บริษัทแล้ว ย่อมโต้เถียงกันและกันว่าเป็นคนเขลา สมณ- พราหมณ์เหล่านั้นต้องการแต่ความสรรเสริญ เป็นผู้มีความ สำคัญว่า เราทั้งหลายเป็นคนฉลาดอาศัยศาสดาของกันและ กันเป็นต้นแล้ว ย่อมกล่าวคำทะเลาะกัน บุคคลปรารถนาแต่ ความสรรเสริญ ขวนขวายหาถ้อยคำวิวาท กระทบกระเทียบ กันในท่ามกลางบริษัท แต่กลับเป็นผู้เก้อเขินในเพราะวาทะ อันผู้ตัดสินปัญหาไม่ทำให้เลื่อมใส บุคคลนั้นเป็นผู้แสวงหา โทษ ย่อมโกรธเพราะความนินทา ผู้พิจารณาปัญหาทั้งหลาย กล่าววาทะใดของบุคคลนั้นอันตนไม่ทำให้เลื่อมใสแล้วว่าเป็น วาทะเสื่อมสิ้น บุคคลผู้มีวาทะเสื่อมแล้วนั้น ย่อมคร่ำครวญ เศร้าโศก ทอดถอนใจว่า ท่านผู้นี้กล่าวสูงเกินเราไป ความ วิวาทเหล่านี้เกิดแล้วในพวกสมณะ ความกระทบกระทั่งกัน ย่อมมีในเพราะวาทะเหล่านี้ บุคคลเห็นโทษแม้นี้แล้ว พึง เว้นความทะเลาะกันเสีย ความสรรเสริญและลาภ ย่อมไม่มี เป็นอย่างอื่นไปเลย ก็หรือบุคคลนั้นกล่าววาทะในท่ามกลาง บริษัท เป็นผู้อันบุคคลสรรเสริญแล้วในเพราะทิฐินั้น ย่อม รื่นเริงใจสูงขึ้นเพราะต้องการชัยชนะและมานะนั้นได้ถึงความ ต้องการชัยชนะนั้นสมใจนึก การยกตนของบุคคลนั้น เป็น พื้นแห่งความกระทบกัน และบุคคลนั้นย่อมกล่าวถึงการ ถือตัวและการดูหมิ่นผู้อื่น บุคคลเห็นโทษแม้นี้แล้ว พึงเว้น ความทะเลาะกันเสีย ผู้ฉลาดทั้งหลาย ย่อมไม่กล่าวความ บริสุทธิ์ด้วยการทะเลาะกันนั้น บุคคลผู้เจ้าทิฐิปรารถนาพบ บุคคลเจ้าทิฐิผู้เป็นปฏิปักษ์กัน ย่อมคำราม เปรียบเหมือน ทหารผู้กล้าหาญ ซึ่งพระราชาทรงเลี้ยงแล้วด้วยราชขาทนียา- หาร ปรารถนาพบทหารผู้เป็นปฏิปักษ์กัน ย่อมคำราม ฉะนั้น ดูกรท่านผู้องอาจ บุคคลเจ้าทิฐิเป็นปฏิปักษ์ของท่านนั้น มีอยู่ ณ ที่ใด ท่านจงไป ณ ที่นั้นเถิด กิเลสชาติเพื่อการรบนี้ ไม่มีในกาลก่อนเลย (กิเลสชาตินั้นเราผู้ตถาคตละเสียแล้ว ณ ควงแห่งไม้โพธินั้นแล) สมณพราหมณ์เหล่าใดถือรั้น ทิฐิแล้ว ย่อมวิวาทกันและย่อมกล่าวว่า สิ่งนี้เท่านั้นจริง ท่านผู้กระทำความเป็นข้าศึกในวาทะ (ถ้อยคำ) ที่เกิดขึ้น จงกล่าวทุ่มเถียงกะสมณพราหมณ์เหล่านั้นเถิด พราหมณ์เหล่า นั้นไม่มีในที่นี้เลย ส่วนพระอรหันตขีณาสพทั้งหลาย กำจัด เสนา คือกิเลสให้พินาศแล้ว ไม่กระทำความเห็นให้ผิดไป จากความเห็น เที่ยวไปอยู่ ดูกรปสุระ ท่านจะได้สู้รบโต้ ตอบอะไร ในพระอรหันต์ผู้ไม่มีความยึดถือว่าสิ่งนี้ประเสริฐ ในโลกนี้ ถ้าท่านคิดถึงทิฐิทั้งหลายอยู่ด้วยใจ ถึงความตรึกไป ต่างๆ ถือเอาความเป็นคู่แข่งขันกับพระพุทธะผู้กำจัดกิเลส ได้แล้วไซร้ ท่านจะสามารถเพื่อถือเอาความเป็นคู่แข่งขันให้ สำเร็จไม่ได้เลย ฯ
จบปสูรสูตรที่ ๘
มาคันทิยสูตรที่ ๙
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า [๔๑๖] ความพอใจในเมถุนธรรม ไม่ได้มีแก่เราเพราะได้เห็นนาง ตัณหานางอรดีและนางราคาเลย ความพอใจในเมถุนธรรม อย่างไรจักมีเพราะได้เห็นสรีระแห่งธิดาของท่านอันเต็มไปด้วย มูตรและคูถเล่า เราไม่ปรารถนาจะถูกต้องสรีระแห่งธิดาของ ท่านนั้นแม้ด้วยเท้า ฯ มาคันทิยพราหมณ์ทูลว่า ถ้าพระองค์ไม่ทรงปรารถนานางแก้วเช่นนี้ ที่พระราชาผู้เป็น จอมนระเป็นอันมากทรงปรารถนากันแล้วไซร้ พระองค์ตรัส ทิฐิ ศีล พรต ชีวิต และการเข้าถึงภพของพระองค์เช่นไร หนอ ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมาคันทิยะ กิจที่เราวินิจฉัยในธรรม คือ ทิฐิ ๖๒ แล้วจึงยึดถือเอาว่า เรากล่าวทิฐินี้ว่า ข้อนี้เท่านั้นจริง ข้ออื่นเปล่า ดังนี้ ย่อม ไม่มีแก่เราและเราเห็นโทษในทิฐิทั้งหลายอยู่ ไม่ได้ยึดถือ ทิฐิอะไรๆ เมื่อค้นคว้าสัจจะทั้งหลาย ก็ได้เห็นนิพพาน กล่าวคือความสงบ ณ ภายใน ฯ มาคันทิยพราหมณ์ทูลว่า ทิฐิเหล่าใด ที่สัตว์ทั้งหลายได้วินิจฉัยกำหนดไว้แล้ว ข้าแต่ พระองค์ผู้เป็นมุนี พระองค์ไม่ได้ยึดถือทิฐิเหล่านั้นเลย ตรัส เนื้อความนี้ได้ว่า ความสงบ ณ ภายใน เนื้อความนั้นอัน นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศไว้อย่างไรหนอ ขอพระองค์จงตรัส บอกแก่ข้าพระองค์เถิด ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมาคันทิยะ เราไม่ได้กล่าวความบริสุทธิ์ด้วยการเห็น การฟัง การรู้ ทั้ง ด้วยศีลและพรต เราไม่กล่าวความบริสุทธิ์เว้นจากการเห็น จากการฟัง จากการรู้ จากศีลและพรต ก็บุคคลสละธรรม เป็นไปในฝ่ายดำมีทิฐิเป็นต้นเหล่านี้แล้ว ไม่ถือมั่น เป็นผู้สงบ ไม่อาศัยธรรมอะไรแล้วไม่พึงปรารถนาภพ ฯ มาคันทิยพราหมณ์ทูลว่า ได้ยินว่า ถ้าพระองค์ไม่ตรัสความบริสุทธิ์ด้วยการเห็น การ ฟัง การรู้ ทั้งศีลและพรต พระองค์ไม่ตรัสความบริสุทธิ์ เว้นจากการเห็น จากการฟัง จากการรู้ จากศีลและพรต ข้าพระองค์ย่อมสำคัญธรรมเป็นที่งงงวย ทีเดียวด้วยว่า ชน บางพวกยังเชื่อความบริสุทธิ์ด้วยการเห็น ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมาคันทิยะ ก็ท่านอาศัยการเห็นถามอยู่บ่อยๆ ได้ถึงความหลงใหลไปใน ทิฐิที่ท่านยึดมั่นแล้ว และท่านก็ไม่ได้เห็นสัญญาแม้แต่น้อย แต่ความสงบ ณ ภายในที่เรากล่าวแล้วนี้ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงตั้งอยู่โดยความเป็นผู้หลง ผู้ใดย่อมสำคัญด้วยมานะ หรือด้วยทิฐิว่า เราเป็นผู้เสมอเขาวิเศษกว่าเขา หรือเลวกว่า เขา ผู้นั้นพึงวิวาท เพราะมานะหรือทิฐินั้น ผู้ใดไม่หวั่นไหว ในการถือตัวว่า เสมอเขา วิเศษกว่าเขาดังนี้เป็นต้น ผู้นั้น ย่อมไม่มีการวิวาท บุคคลผู้มีมานะและทิฐิอันละได้แล้วนั้น ชื่อว่าเป็นพราหมณ์ จะพึงกล่าวอะไรว่า สิ่งนี้เท่านั้นจริง หรือจะพึงวิวาทเพราะมานะหรือทิฐิอะไรว่า ของเราจริง ของ ท่านเท็จ อนึ่ง ความสำคัญว่าเสมอเขาหรือว่าไม่เสมอเขา ย่อมไม่มีในผู้ใด ผู้นั้นจะพึงโต้ตอบวาทะกับใครๆ มุนีละอาลัย ได้แล้ว ไม่ระลึกถึงอารมณ์เครื่องกำหนดหมาย ไม่กระทำ ความสนิทสนมในชาวบ้าน เป็นผู้สงัดจากกามทั้งหลาย ไม่ ทำอัตภาพให้เกิดต่อไป ไม่พึงกล่าวถ้อยคำแก่งแย่งกับคน บุคคลผู้ประเสริฐ สงัดแล้วจากธรรมมีทิฐิเป็นต้นเหล่าใด พึงเที่ยวไปในโลก ไม่พึงถือเอาธรรมมีทิฐิเป็นต้นเหล่านั้นขึ้น กล่าว มุนีผู้มีถ้อยคำสงบ ไม่กำหนัดยินดี ไม่ติดอยู่ในกาม และในโลก เหมือนดอกปทุม มีก้านเป็นหนาม เกิดในน้ำ โคลนตม ไม่ติดอยู่ด้วยน้ำและโคลนตม ฉะนั้น บุคคลผู้ ถึงเวทคือมรรค ๔ เป็นผู้ไม่ดำเนินไปด้วยทิฐิ บุคคลนั้นไม่ กลับมาสู่มานะด้วยการทราบ อันต่างด้วยอารมณ์ มีรูปที่ได้ ทราบแล้วเป็นต้น บุคคลนั้นไม่เป็นผู้สำเร็จแล้วด้วยตัณหา มานะ และทิฐินั้น บุคคลนั้น แม้กรรมและสุตะพึงนำไป ไม่ได้ บุคคลนั้นอันสิ่งใดสิ่งหนึ่งน้อมนำเข้าไปไม่ได้แล้ว ในนิเวศน์ คือ ตัณหาและทิฐิ กิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งหลาย ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้คลายสัญญาได้แล้ว ความหลงทั้งหลาย ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้หลุดพ้นแล้วด้วยปัญญา ชนเหล่าใดยึด ถือกามสัญญาและทิฐิ ชนเหล่านั้นกระทบกระทั่งกันและกัน เที่ยวไปอยู่ในโลก ฯ
จบมาคันทิยสูตรที่ ๙
ปุราเภทสูตรที่ ๑๐
พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า [๔๑๗] บุคคลผู้มีความเห็นอย่างไร มีศีลอย่างไร บัณฑิตจึงกล่าวว่า เป็นผู้สงบ ท่านพระโคดมพระองค์ผู้อันข้าพระองค์ถามแล้ว ขอจงตรัสบอกนระผู้สูงสุดแก่ข้าพเจ้าเถิด พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ฯ ผู้ใดปราศจากตัณหาก่อนแต่สรีระแตก เป็นผู้ไม่อาศัย (กาล อันเป็นอดีตอนาคต) เบื้องต้นและเบื้องปลาย อันใครๆ จะ พึงนับว่า เป็นผู้ยินดีแล้วใน (กาลอันเป็นปัจจุบัน) ท่าม- กลางไม่ได้ ความมุ่งหวังของผู้นั้นย่อมไม่มี เรากล่าวผู้นั้นว่า เป็นผู้สงบ ผู้ใดไม่โกรธ ไม่สะดุ้ง ไม่โอ้อวด ไม่คะนอง พูดด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน ผู้นั้นแล เป็นมุนีผู้สำรวมแล้ว ด้วยวาจา ผู้ใดไม่ทะเยอทะยานในสิ่งที่ยังไม่มาถึง ไม่ เศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว เป็นผู้มีปรกติเห็นความสงัดใน ผัสสะ อันใครๆ จะนำไปในทิฐิทั้งหลายไม่ได้เลย ผู้ใด ปราศจากกิเลส ไม่หลอกลวง มีปรกติไม่ทะเยอะทะยาน ไม่ตระหนี่ ไม่คะนอง ไม่เป็นที่เกลียดชัง ไม่ประกอบใน คำส่อเสียด เว้นจากความเชยชมในกามคุณอันเป็นวัตถุน่า ยินดี ทั้งไม่ประกอบในการดูหมิ่น เป็นผู้ละเอียดอ่อน มี ปฏิภาณ ไม่เชื่อต่อใครๆ ไม่กำหนัดยินดี ไม่ศึกษา เพราะ ใคร่ลาภ ไม่โกรธเคืองในเพราะความไม่มีลาภ และเป็นผู้ ไม่พิโรธ ไม่ยินดีในรสด้วยตัณหา เป็นผู้วางเฉย มีสติทุก เมื่อ ไม่สำคัญตัวว่าเสมอเขา ว่าวิเศษกว่าเขา ว่าเลวกว่าเขาใน โลก กิเลสอันฟูขึ้นทั้งหลาย ของผู้นั้น ย่อมไม่มี ฯ ตัณหานิสสัยและทิฐินิสสัยของผู้ใดไม่มี ผู้นั้นรู้ธรรมแล้ว เป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยแล้ว ความทะยานอยากเพื่อ ความมีหรือเพื่อความไม่มี ของผู้ใดไม่มี เรากล่าวผู้นั้นผู้ไม่มี ความห่วงใยในกามทั้งหลายว่า เป็นผู้สงบ กิเลสเครื่องร้อยรัด ทั้งหลายของผู้ใดไม่มี ผู้นั้นข้ามตัณหาได้แล้ว บุตร ธิดา สัตว์ เลี้ยง ไร่นาและที่ดินของผู้ใดไม่มี แม้ความเห็นว่าเป็นตัวตน ก็ดี ความเห็นว่าไม่เป็นตัวตนก็ดี อันใครๆ ย่อมไม่ได้ใน ผู้นั้น ปุถุชนหรือสมณพราหมณ์จะพึงกล่าวกะผู้นั้น (ว่าผู้ ยินดีแล้ว หรือผู้ประทุษร้ายแล้ว) โดยโทษมีราคะเป็นต้นใด โทษมีราคะเป็นต้นนั้น ไม่ใช่เป็นความมุ่งหวังของผู้นั้น เพราะเหตุนั้น ผู้นั้นย่อมไม่หวั่นไหว ในเพราะถ้อยคำ ทั้งหลาย มุนีผู้ปราศจากความกำหนัดยินดี ไม่มีความตระหนี่ ย่อมไม่กล่าวยกย่องในบุคคลผู้ประเสริฐกว่า ผู้เสมอกัน หรือ ผู้เลวกว่า ผู้ไม่มีกัปปะ (คือตัณหาแลทิฐิ) ย่อมไม่มาสู่กัปปะ ผู้ใดไม่มีความหวงแหนว่าของตนในโลก ไม่เศร้าโศกเพราะ สิ่งที่ไม่มีอยู่ และไม่ลำเอียงในธรรมทั้งหลาย ผู้นั้นแล เรา กล่าวว่าเป็นผู้สงบ ฯ
จบปุราเภทสูตรที่ ๑๐
กลหวิวาทสูตรที่ ๑๑
พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า [๔๑๘] ความทะเลาะ ความวิวาท ความร่ำไร ความเศร้าโศก กับ ทั้งความตระหนี่ ความถือตัว ความดูหมิ่นผู้อื่น และทั้งคำ ส่อเสียด เกิดจากอะไร ธรรมเครื่องเศร้าหมองเหล่านั้นเกิด จากอะไร ขอเชิญพระองค์จงตรัสบอกเนื้อความที่ข้าพระองค์ ถามนั้นเถิด ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ความทะเลาะ ความวิวาท ความร่ำไร ความเศร้าโศก กับ ทั้งความตระหนี่ ความถือตัว ความดูหมิ่นผู้อื่น และทั้งคำ ส่อเสียด เกิดจากของที่รัก ความทะเลาะ ความวิวาท ประกอบเข้าแล้วด้วยความตระหนี่ ก็เมื่อความวิวาทเกิดแล้ว คำส่อเสียดย่อมเกิด ฯ พระพุทธนิมิตตรัสถามต่อไปว่า ความรักในโลกเล่ามีอะไรเป็นเหตุ แม้อนึ่ง ชนเหล่าใดมี กษัตริย์เป็นต้น มีความโลภ เที่ยวไปในโลก ความโลภของ ชนมีกษัตริย์เป็นต้นเหล่านั้น มีอะไรเป็นเหตุ ความหวังและ ความสำเร็จของนรชนซึ่งมีในสัมปรายภพมีอะไรเป็นเหตุ ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ความรักในโลกมีความพอใจเป็นเหตุ แม้อนึ่ง ชนเหล่าใดมี กษัตริย์เป็นต้น มีความโลภเที่ยวไปในโลก ความโลภของ ชนมีกษัตริย์เป็นต้นเหล่านั้น มีความพอใจเป็นเหตุ ความ หวังและความสำเร็จของนรชน ซึ่งมีในสัมปรายภพ มีความ พอใจนี้เป็นเหตุ ฯ พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า ความพอใจในโลกเล่ามีอะไรเป็นเหตุ แม้การวินิจฉัย คือ ตัณหาและทิฐิก็ดี ความโกรธ โทษแห่งการกล่าวมุสา และ ความสงสัยก็ดี ที่พระสมณะตรัสแล้ว เกิดจากอะไร ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า บัณฑิตทั้งหลาย กล่าวสุขเวทนาและทุกขเวทนาใดว่า เป็น ความยินดีและความไม่ยินดีในโลก ความพอใจย่อมเกิด เพราะอาศัยสุขเวทนาและทุกขเวทนานั้น สัตว์ในโลก เห็น ความเสื่อมไปและความเกิดขึ้นในรูปทั้งหลายแล้ว ย่อม กระทำการวินิจฉัย ความโกรธ โทษแห่งการกล่าวมุสา และ ความสงสัยธรรมแม้เหล่านี้ เมื่อความยินดีและความไม่ยินดี ทั้งสองอย่างนั่นแหละมีอยู่ ก็ย่อมเกิดขึ้นได้ บุคคลผู้มีความ สงสัยพึงศึกษาเพื่อทางแห่งญาณ ท่านผู้เป็นสมณะรู้แล้ว จึง กล่าวธรรมทั้งหลาย ฯ พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า ความยินดีและความไม่ยินดี มีอะไรเป็นเหตุ เมื่อธรรมอะไร ไม่มี ธรรมเหล่านี้จึงไม่มี ขอพระองค์จงตรัสบอกอรรถ คือ ทั้งความเสื่อมไปและทั้งความเกิดขึ้น (แห่งความยินดีและ ความไม่ยินดี) นี้ว่า มีสิ่งใดเป็นเหตุแก่ข้าพระองค์เถิด ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ความยินดี ความไม่ยินดี มีผัสสะเป็นเหตุ เมื่อผัสสะไม่มี ธรรมเหล่านี้จึงไม่มี เราขอบอกอรรถ คือ ทั้งความเสื่อมไป และทั้งความเกิดขึ้นนี้ ว่ามีผัสสะนี้เป็นเหตุแก่ท่าน ฯ พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า ผัสสะในโลกเล่า มีอะไรเป็นเหตุ อนึ่ง ความหวงแหนเกิด จากอะไร เมื่อธรรมอะไรไม่มี ความถือว่าสิ่งนี้เป็นของเราจึง ไม่มี เมื่อธรรมอะไรไม่มี ผัสสะจึงไม่ถูกต้อง ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ผัสสะอาศัยนามและรูปจึงเกิดขึ้น ความหวงแหนมีความ ปรารถนาเป็นเหตุ เมื่อความปรารถนาไม่มี ความถือว่าสิ่งนี้ เป็นของเราจึงไม่มี เมื่อรูปไม่มี ผัสสะจึงไม่ถูกต้อง ฯ พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า เมื่อบุคคลปฏิบัติอย่างไร รูปจึงไม่มี อนึ่ง สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี อย่างไรจึงไม่มี ขอพระองค์โปรดตรัสบอกอาการที่รูปและสุข ทุกข์นี้ไม่มีแก่ข้าพระองค์เถิด ข้าพระองค์มีใจดำริว่า เราควรรู้ ความข้อนั้น ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า บุคคลเป็นผู้ไม่มีสัญญาด้วยสัญญาเป็นปรกติ เป็นผู้ไม่มี สัญญาด้วยสัญญาอันผิดปรกติ เป็นผู้ไม่มีสัญญาก็มิใช่ เป็น ผู้มีสัญญาว่าไม่มีก็มิใช่ เมื่อบุคคลปฏิบัติแล้วอย่างนี้ รูปจึง ไม่มี เพราะว่าธรรมเป็นส่วนแห่งความเนิ่นช้า มีสัญญา เป็นเหตุ ฯ พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า ข้าพระองค์ได้ถามความข้อใดกะพระองค์ พระองค์ก็ได้ทรง แสดงความข้อนั้นแก่ข้าพระองค์แล้ว ข้าพระองค์ขอถามความ ข้ออื่นกะพระองค์ ขอเชิญพระองค์ตรัสบอกความข้อนั้นเถิด ก็สมณพราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิตพวกหนึ่งในโลกนี้ ย่อมกล่าว ความบริสุทธิ์ของสัตว์ว่าเป็นยอดด้วยเหตุเพียงเท่านี้ หรือว่า ย่อมกล่าวความบริสุทธิ์อย่างอื่นอันยิ่งไปกว่ารูปสมาบัตินี้ ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ก็สมณพราหมณ์ผู้มีวาทะว่าเที่ยง พวกหนึ่ง (มีความถือตัวว่า) เป็นบัณฑิตในโลกนี้ ย่อมกล่าวอรูปสมาบัตินี้ว่า เป็นความ บริสุทธิ์ของสัตว์แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ สมณพราหมณ์ผู้มี วาทะว่าขาดสูญพวกหนึ่ง เป็นผู้มีวาทะว่าตนเป็นคนฉลาดใน อนุปาทิเสสนิพพาน ย่อมโต้เถียงสมณพราหมณ์ผู้มีวาทะว่า เที่ยงเหล่านั้นแหละ ส่วนท่านผู้เป็นมุนี รู้บุคคลเจ้าทิฐิเหล่า นั้นว่า เป็นผู้อาศัยสัสสตทิฐิและอุจเฉททิฐิ ท่านผู้เป็นมุนีนั้น เป็นนักปราชญ์ พิจารณารู้ผู้อาศัยทิฐิทั้งหลายแล้ว รู้ธรรม โดยลักษณะมีความไม่เที่ยงและเป็นทุกข์เป็นต้น หลุดพ้น แล้ว ย่อมไม่ทะเลาะวิวาทกับใคร ย่อมไม่มาเพื่อความเกิด บ่อยๆ ฯ
จบกลหวิวาทสูตรที่ ๑๑
จูฬวิยูหสูตรที่ ๑๒
พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า [๔๑๙] สมณพราหมณ์ทั้งหลายยึดมั่นอยู่ในทิฐิของตนๆ ถือมั่นทิฐิ แล้ว ปฏิญาณว่าพวกเราเป็นผู้ฉลาด ย่อมกล่าวต่างๆ กันว่า ผู้ใดรู้อย่างนี้ ผู้นั้นชื่อว่ารู้ธรรมคือทิฐิ ผู้นั้นคัดค้านธรรมคือ ทิฐินี้อยู่ ชื่อว่าเป็นผู้เลวทราม สมณพราหมณ์ทั้งหลายถือมั่น ทิฐิแม้ด้วยอาการอย่างนี้ ย่อมโต้เถียงกัน และกล่าวว่า ผู้อื่น เป็นคนเขลา ไม่ฉลาด วาทะของสมณพราหมณ์สองพวกนี้ วาทะไหนเป็นวาทะจริงหนอ เพราะว่าสมณพราหมณ์ทั้งหมด นี้ ต่างก็กล่าวกันว่าเป็นคนฉลาด ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า หากว่าผู้ใดไม่ยินยอมตามธรรม คือ ความเห็นของผู้อื่น ผู้นั้น เป็นคนพาล คนเขลา เป็นคนมีปัญญาทราม ชนเหล่านี้ ทั้งหมดก็เป็นคนพาล เป็นคนมีปัญญาต่ำทราม เพราะว่าชน เหล่านี้ทั้งหมดถือมั่นอยู่ในทิฐิ ก็หากว่าชนเหล่านั้นเป็นคน ผ่องใสอยู่ในทิฐิของตนๆ จัดว่าเป็นคนมีปัญญาบริสุทธิ์ เป็นคนฉลาด มีความคิดไซร้ บรรดาคนเจ้าทิฐิเหล่านั้น ก็จะ ไม่มีใครๆ เป็นผู้มีปัญญาต่ำทราม เพราะว่าทิฐิของชนแม้ เหล่านั้น ล้วนเป็นทิฐิเสมอกัน เหมือนทิฐิของพวกชนนอกนี้ อนึ่ง ชนทั้งสองพวกได้กล่าวกันและกันว่าเป็นผู้เขลา เพราะ ความเห็นใด เราไม่กล่าวความเห็นนั้นว่าแท้ เพราะเหตุที่ชน เหล่านั้น ได้กระทำความเห็นของตนๆ ว่าสิ่งนี้เท่านั้นจริง (สิ่งอื่นเปล่า) ฉะนั้นแล ชนเหล่านั้น จึงตั้งคนอื่นว่า เป็นผู้เขลา ฯ พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า สมณพราหมณ์แต่ละพวก กล่าวทิฐิใดว่าเป็นความจริงแท้ แม้สมณพราหมณ์พวกอื่นก็กล่าวทิฐินั้นว่า เป็นความเท็จ ไม่จริง สมณพราหมณ์ทั้งหลายมาถือมั่น (ความจริงต่างๆ กัน) แม้ด้วยอาการอย่างนี้แล้ว ก็วิวาทกันเพราะเหตุไร สมณพราหมณ์ทั้งหลาย จึงไม่กล่าวสัจจะให้เป็นหนึ่งลง ไปได้ ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า สัจจะมีอย่างเดียวเท่านั้น สัจจะที่สองไม่มี ผู้ที่ทราบชัดมา ทราบชัดอยู่ จะต้องวิวาทกันเพราะสัจจะอะไรเล่า สมณ- พราหมณ์เหล่านั้น ย่อมกล่าวสัจจะทั้งหลายให้ต่างกันออกไป ด้วยตนเอง เพราะเหตุนั้น สมณพราหมณ์ทั้งหลาย จึงไม่ กล่าวสัจจะให้เป็นหนึ่งลงไปได้ ฯ พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า เพราะเหตุไรหนอ สมณพราหมณ์ผู้เป็นเจ้าลัทธิทั้งหลาย กล่าวยกตนว่าเป็นคนฉลาด จึงกล่าวสัจจะให้ต่างกันไป สัจจะ มากหลายต่างๆ กัน จะเป็นอันใครๆ ได้สดับมา หรือว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้น ระลึกตามความคาดคะเนของตน ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า สัจจะมากหลายต่างๆ กัน เว้นจากสัญญาว่าเที่ยงเสีย ไม่มี ในโลกเลย ก็สมณพราหมณ์ทั้งหลายมากำหนดความคาด คะเนในทิฐิทั้งหลาย (ของตน) แล้ว จึงกล่าวทิฐิธรรมอัน เป็นคู่กันว่า จริงๆ เท็จๆ ก็บุคคลเจ้าทิฐิ อาศัยทิฐิธรรม เหล่านี้ คือ รูปที่ได้เห็นบ้าง เสียงที่ได้ฟังบ้าง อารมณ์ที่ได้ ทราบบ้าง ศีลและพรตบ้าง จึงเป็นผู้เห็นความบริสุทธิ์ และ ตั้งอยู่ในการวินิจฉัยทิฐิแล้วร่าเริงอยู่ กล่าวว่า ผู้อื่นเป็นคน เขลาไม่ฉลาด บุคคลเจ้าทิฐิย่อมติเตียนบุคคลอื่นว่าเป็นผู้เขลา ด้วยทิฐิใด กล่าวยกตนว่าเป็นผู้ฉลาดด้วยลำพังตน ย่อมติเตียน ผู้อื่นกล่าวทิฐินั้นเอง บุคคลยกตนว่าเป็นคนฉลาด ด้วยทิฐิ นั้น ชื่อว่าเจ้าทิฐินั้นเต็มไปด้วยความเห็นว่าเป็นสาระยิ่ง และมัวเมาเพราะมานะ มีมานะบริบูรณ์ อภิเษกตนเองด้วย ใจว่า เราเป็นบัณฑิต เพราะว่าทิฐินั้น ของเขาบริบูรณ์แล้ว อย่างนั้น ก็ถ้าว่าบุคคลนั้นถูกเขาว่าอยู่ จะเป็นคนเลวทราม ด้วยถ้อยคำของบุคคลอื่นไซร้ ตนก็จะเป็นผู้มีปัญญาต่ำทราม ไปด้วยกัน อนึ่ง หากว่าบุคคลจะเป็นผู้ถึงเวท เป็นนักปราชญ์ ด้วยลำพังตนเองไซร้ สมณพราหมณ์ทั้งหลายก็ไม่มีใครเป็น ผู้เขลา ชนเหล่าใดกล่าวยกย่องธรรม คือ ทิฐิอื่นจากนี้ไป ชนเหล่านั้นผิดพลาด และไม่บริบูรณ์ด้วยความหมดจด เดียรถีย์ทั้งหลายย่อมกล่าวแม้อย่างนี้โดยมาก เพราะว่า เดียรถีย์เหล่านั้นยินดีนักด้วยความยินดีในทิฐิของตน เดียรถีย์ ทั้งหลาย กล่าวความบริสุทธิ์ในธรรม คือทิฐินี้เท่านั้น หากล่าว ความบริสุทธิ์ในธรรมเหล่าอื่นไม่ เดียรถีย์ทั้งหลาย โดยมาก เชื่อมั่นแม้ด้วยอาการอย่างนี้ เดียรถีย์ทั้งหลาย รับรองอย่าง หนักแน่นในลัทธิของตนนั้น อนึ่ง เดียรถีย์รับรองอย่างหนัก- แน่นในลัทธิของตน จะพึงตั้งใครอื่นว่าเป็นผู้เขลาในลัทธินี้เล่า เดียรถีย์นั้น เมื่อกล่าวผู้อื่นว่าเป็นผู้เขลา เป็นผู้มีธรรมไม่ บริสุทธิ์ ก็พึงนำความทะเลาะวิวาทมาให้แก่ตนฝ่ายเดียว เดียรถีย์นั้น ตั้งอยู่ในการวินิจฉัยทิฐิแล้ว นิรมิตศาสดาเป็น ต้นขึ้นด้วยตนเอง ก็ต้องวิวาทกันในโลกยิ่งขึ้นไป บุคคลละ การวินิจฉัยทิฐิทั้งหมดแล้ว ย่อมไม่กระทำความทะเลาะวิวาท ในโลก ฉะนี้แล ฯ
จบจูฬวิยูหสูตรที่ ๑๒
มหาวิยูหสูตรที่ ๑๓
พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า [๔๒๐] บุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่งถือมั่นอยู่ในทิฐิ ย่อมโต้เถียงวิวาท กันว่า สิ่งนี้เท่านั้นจริง บุคคลทั้งหมดนั้น ย่อมนำความนินทา มาเนืองๆ หรือย่อมได้ความสรรเสริญในที่นั้นบ้าง ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า บุคคลเหล่านั้นบางคราวได้ความสรรเสริญบ้าง ผลคือความ สรรเสริญนั้นน้อยนัก ไม่พอแก่ความสงบ เราย่อมกล่าวผล แห่งความวิวาทกัน ๒ ประการ คือ ความนินทาและความ สรรเสริญ บัณฑิตเห็นโทษในผลแห่งการวิวาทแม้นี้แล้ว เห็นนิพพานมิใช่ภูมิแห่งการวิวาท ว่าเป็นธรรมเกษม ไม่พึง วิวาทกัน ฯ พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า ทิฐิเหล่าใดเหล่าหนึ่งเป็นอันมาก บัณฑิตผู้รู้แจ้งย่อมไม่เข้าไป ใกล้ทิฐิทั้งปวงนั้น บัณฑิตผู้รู้แจ้งนั้น เป็นผู้ไม่เข้าไปใกล้ จะพึงถึงธรรมที่ควรเข้าไปใกล้อะไร จึงจะไม่ทำความชอบใจ ในรูปที่ได้เห็น ในเสียงที่ได้ฟัง ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ชนบางพวกผู้มีศีลอันอุดม สำคัญอยู่ว่าศีลเท่านั้นเป็นธรรม อุดม จึงกล่าวความบริสุทธิ์ด้วยการสำรวม ชนเหล่านั้น สมาทานวัตรแล้วตั้งมั่นอยู่ ด้วยคิดว่า เราทั้งหลายควรศึกษา ความบริสุทธิ์ของศาสดานั้นในทิฐินี้เท่านั้น ชนเหล่านั้นอัน ภพนำเข้าไปแล้ว กล่าวว่า เราทั้งหลายเป็นผู้ฉลาด ถ้าบุคคล เป็นผู้เคลื่อนจากศีลและพรตแล้วไซร้ บุคคลนั้นยังกรรมให้ ผิดไปแล้วก็ไม่หวั่นไหว ยังคร่ำครวญและปรารถนาความ บริสุทธิ์อยู่ เหมือนบุคคลอยู่ปราศจากเรือน เสื่อมแล้วจาก พวก พึงปรารถนาเรือนหรือพวก ฉะนั้น อนึ่ง อริยสาวก ละศีล พรต ธรรมที่มีโทษและไม่มีโทษทั้งสิ้นนี้ แล้วไม่ ปรารถนาว่า ธรรมชาตินี้บริสุทธิ์ ธรรมชาตินี้ไม่บริสุทธิ์ เว้นแล้วจากความบริสุทธิ์และความไม่บริสุทธิ์ ไม่ถือมั่นทิฐิ แล้วพึงเที่ยวไป ฯ พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า สมณพราหมณ์ทั้งหลาย อาศัยทิฐินั้นหรือความเกลียดบาป แม้อนึ่ง อาศัยรูปที่ได้เห็นแล้ว เสียงที่ได้ฟังแล้ว หรือ อารมณ์ที่ได้ทราบแล้ว เป็นผู้ระลึกแล่นพ้นไปจากอกิริยทิฐิ ยังไม่ปราศจากตัณหาในภพและมิใช่ภพแล้ว ย่อมทอดถอน ถึงความบริสุทธิ์ ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ก็ความดิ้นรนทั้งหลาย ย่อมมีแก่ผู้ปรารถนาความหวั่นไหว มีอยู่ในวัตถุที่ตนกำหนดแล้ว การจุติและการอุบัติในภพนี้ ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด ผู้นั้นจะพึงหวั่นไหวจะพึงดิ้นรนในอารมณ์ ไหนๆ เพราะเหตุอะไร ฯ พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า สมณพราหมณ์พวกหนึ่งกล่าวธรรมใดว่า เป็นธรรมอย่างยิ่ง ส่วนสมณพราหมณ์เหล่าอื่นกล่าวธรรมนั้นแหละว่า เป็นธรรม เลวทราม วาทะของสมณพราหมณ์ทั้งสองพวกนี้ วาทะอย่าง ไหนจริงหนอ เพราะสมณพราหมณ์ทั้งหมดนี้แล เป็นผู้กล่าว อวดอ้างว่าตนเป็นผู้ฉลาด ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า สมณพราหมณ์ทั้งหลายกล่าวธรรมของตนนั่นแหละ ว่าเป็น ธรรมบริบูรณ์ แต่กลับกล่าวธรรมของผู้อื่น ว่าเป็นธรรม เลวทราม สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ต่างยึดถือทิฐิแม้ ด้วยอาการอย่างนี้แล้ว ย่อมวิวาทกัน สมณพราหมณ์ ทั้งหลายกล่าวทิฐิของตนๆ ว่า เป็นของจริง ฯ พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า ถ้าว่าบุคคลพึงเป็นผู้เลวทราม เพราะการติเตียนของบุคคลอื่น ไซร้ ใครๆ จะไม่พึงเป็นผู้วิเศษในธรรมทั้งหลาย เพราะว่า สมณพราหมณ์เป็นอันมาก ย่อมกล่าวธรรมของบุคคลอื่น โดยความเป็นธรรมเลวทราม ในธรรมของตน กล่าวว่า เป็นธรรมมั่นคง ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ย่อมสรรเสริญหนทางเครื่องดำเนิน ของตนอย่างใด การบูชาธรรมของตนของสมณพราหมณ์ เหล่านั้น ก็ยังเป็นไปอยู่อย่างนั้น หากว่าวาทะทั้งปวง จะพึงเป็นของแท้ไซร้ ความบริสุทธิ์ของสมณพราหมณ์ผู้ มีถ้อยคำต่างๆ กันเหล่านั้นก็จะเป็นผลเฉพาะตนๆ เท่านั้น ฯ พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า ญาณที่ผู้อื่นจะพึงนำไปไม่มีแก่พราหมณ์ การวินิจฉัยในธรรม คือ ทิฐิทั้งหลายว่าข้อนี้แหละจริง ดังนี้แล้ว ยึดถือไว้ ไม่ มีแก่พราหมณ์ เพราะเหตุนั้น พราหมณ์จึงล่วงความวิวาท เสียได้ พราหมณ์นั้นย่อมไม่เห็นธรรมอื่น โดยความ เป็นธรรมประเสริฐเลย ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เดียรถีย์บางพวกกล่าวอยู่ว่า เรารู้ เราเห็น สิ่งที่เรารู้เราเห็น นี้ เป็นอย่างนั้นแล ดังนี้ จึงเชื่อความบริสุทธิ์ด้วยทิฐิ ถ้าว่าเดียรถีย์ได้เห็นแล้วไซร้ ประโยชน์อะไรเล่าด้วยความ เห็นนั้นแก่ตน เพราะว่าเดียรถีย์ทั้งหลาย ก้าวล่วง อริยมรรคเสียแล้วย่อมกล่าวความบริสุทธิ์ด้วยธรรมอย่างอื่น ฯ พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า นรชนเมื่อเห็นย่อมเห็นนามรูป และครั้นเห็นแล้วจักรู้ทั่ว ถึงนามรูปเหล่านั้นทีเดียว โดยความเป็นของเที่ยง และ โดยความเป็นสุข นรชนนั้น จะเห็นนามรูปมากหรือน้อย โดยความเป็นของเที่ยงและเป็นสุข ก็จริง ถึงกระนั้น ผู้ ฉลาดทั้งหลาย ย่อมไม่กล่าวความบริสุทธิ์ด้วยความเห็น นั้นเลย ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ชนผู้ทำทิฐิที่ตนกำหนดไว้ในเบื้องหน้า มีปรกติกล่าวตาม ความมั่นใจ ไม่ใช่เป็นผู้อันบุคคลอื่นพึงจะแนะนำได้ง่าย เลย ผู้นั้นอาศัยครูคนใดแล้ว ก็เป็นผู้กล่าวความดีงาม ในครูคนนั้น ผู้นั้นเป็นผู้กล่าวความบริสุทธิ์ ได้เห็นความ ถ่องแท้ในทิฐิของตน ฯ พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า พราหมณ์รู้แล้ว ย่อมไม่เข้าถึงเครื่องกำหนด คือ ตัณหาและ ทิฐิ ไม่แล่นไปด้วยทิฐิ และไม่มีตัณหาทิฐิเครื่อง ผูกพันด้วยญาณ อนึ่ง พราหมณ์นั้น ได้รู้สมบัติ คือ ทิฐิ ทั้งหลายเป็นอันมากแล้ววางเฉย ชนเหล่าอื่นย่อมยึดถือ ทิฐิเหล่านั้น ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า มุนีในโลกนี้ สละกิเลสเครื่องร้อยรัดเสียแล้ว เมื่อผู้อื่นเกิด วิวาทกัน ก็ไม่แล่นไปเข้าพวกเขา มุนีนั้นเป็นผู้สงบ เมื่อผู้อื่นไม่สงบ ก็เป็นผู้มีอุเบกขาอยู่ ท่านไม่มีการยึดถือ ชนเหล่าอื่นย่อมยึดถือ ฯ พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า มุนีละอาสวะเบื้องต้น (คือส่วนที่ล่วงแล้ว) เสีย ไม่ทำ อาสวะใหม่ (คือส่วนที่เป็นปัจจุบัน) ไม่เป็นผู้ลำเอียงเพราะ ความพอใจ อนึ่ง มุนีนั้นจะเป็นผู้ยึดมั่นกล่าวก็หาไม่ มุนีนั้น เป็นนักปราชญ์ หลุดพ้นแล้วจากทิฐิทั้งหลาย ไม่ติเตียน ตน ไม่ติดอยู่ในโลก ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า มุนีนั้น เป็นผู้ไม่มีมารและเสนามารในธรรมทั้งปวง คือ อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่ได้เห็นแล้ว ได้ฟังแล้ว หรือได้ ทราบแล้ว ปลงภาระลงแล้ว หลุดพ้นแล้ว เป็นผู้ไม่มี เครื่องกำหนด ไม่เข้าไปยินดี ไม่มีความปรารถนา ฉะนี้แล ฯ
จบมหาวิยูหสูตรที่ ๑๓
ตุวฏกสูตรที่ ๑๔
พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า [๔๒๑] ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ ผู้- สงัด และมีความสงบเป็นที่ตั้ง ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ภิกษุ เห็นอย่างไรจึงไม่ถือมั่นธรรมอะไรๆ ในโลก ย่อมดับ ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ภิกษุพึงปิดกั้นเสียซึ่งธรรมทั้งปวง อันเป็นรากเหง้าแห่งส่วน ของธรรมเป็นเครื่องยังสัตว์ให้เนิ่นช้าซึ่งเป็นไปอยู่ว่า เป็นเรา ด้วยปัญญา ตัณหาอย่างใดอย่างหนึ่งพึงบังเกิดขึ้น ณ ภายใน ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติศึกษาทุกเมื่อ เพื่อปราบตัณหาเหล่านั้น ภิกษุพึงรู้ยิ่งธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ณ ภายใน หรือภายนอก ไม่พึงกระทำความถือตัวด้วยธรรมนั้น สัตบุรุษทั้งหลายไม่ กล่าวความดับนั้นเลย ภิกษุไม่พึงสำคัญว่า เราเป็นผู้ประเสริฐ กว่าเขา เสมอเขาหรือเลวกว่าเขา ด้วยความถือตัวนั้น ถูกผู้อื่นถามด้วยคุณหลายประการ ก็ไม่พึงกำหนดตนตั้งอยู่ โดยนัยเป็นต้นว่า เราบวชแล้วจากสกุลสูง ภิกษุพึงสงบ ระงับภายในเทียว ไม่พึงแสวงหาความสงบโดยอุบายอย่างอื่น ความเห็นว่าตัวตน ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้สงบแล้ว ณ ภายใน อนึ่ง ความเห็นว่าไม่มีตัวตน คือ เห็นว่าขาดสูญ จักมีแต่ ที่ไหน คลื่นไม่เกิดที่ท่ามกลางแห่งสมุทร สมุทรนั้นตั้งอยู่ ไม่หวั่นไหว ฉันใด ภิกษุพึงเป็นผู้มั่นคง ไม่หวั่นไหวใน อิฐผลมีลาภเป็นต้น ฉันนั้น ภิกษุไม่พึงกระทำกิเลสเครื่อง ฟูขึ้นมีราคะเป็นต้น ในอารมณ์ไหนๆ ฯ พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้มีจักษุเปิดแล้ว ขอพระองค์ได้ตรัสบอก ธรรมที่ทรงเห็นด้วยพระองค์เองอันนำเสียซึ่งอันตราย (ขอ พระองค์จงมีความเจริญ) ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์ จงตรัสบอกข้อปฏิบัติ และศีลเครื่องให้ผู้รักษาพ้นจากทุกข์ หรือสมาธิเถิด ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ภิกษุไม่พึงเป็นผู้โลเลด้วยจักษุเลย พึงปิดกั้นโสตเสียจาก ถ้อยคำของชาวบ้าน (ดิรัจฉานกถา) ไม่พึงกำหนัดยินดีในรส และไม่พึงถือสิ่งอะไรๆ ในโลกว่าเป็นของเรา เมื่อตนอัน ผัสสะถูกต้องแล้ว ในกาลใด ในกาลนั้น ภิกษุไม่พึงกระทำ ความร่ำไร ไม่พึงปรารถนาภพในที่ไหนๆ และไม่พึงหวั่นไหว ในเพราะอารมณ์ที่น่ากลัว ภิกษุได้ข้าว น้ำ ของเคี้ยว หรือ แม้ผ้าแล้ว ไม่พึงกระทำการสั่งสมไว้และเมื่อไม่ได้สิ่งเหล่า นั้น ก็ไม่พึงสะดุ้งดิ้นรน พึงเป็นผู้เพ่งฌาน ไม่พึงโลเล ด้วยการเที่ยว พึงเว้นจากความคะนอง ไม่พึงประมาท อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุพึงอยู่ในที่นั่งและที่นอนอันเงียบเสียง ไม่ พึงนอนมาก พึงมีความเพียร เสพความเป็นผู้ตื่นอยู่พึงละเสีย ให้เด็ดขาดซึ่งความเกียจคร้าน ความล่อลวง ความร่าเริง การ เล่นเมถุนธรรมกับทั้งการประดับ ภิกษุผู้นับถือพระพุทธเจ้าว่า เป็นของเรา ไม่พึงประกอบอาถรรพ์ ตำราทำนายฝัน ทำนาย ลักษณะนักขัตฤกษ์ การทำนายเสียงสัตว์ร้อง การทำยาให้ หญิงมีครรภ์ และการเยียวยารักษา ภิกษุไม่พึงหวั่นไหว เพราะนินทา เมื่อเขาสรรเสริญก็ไม่พึงเห่อเหิม พึงบรรเทา ความโลภ พร้อมทั้งความตระหนี่ ความโกรธและคำส่อเสียด เสีย ภิกษุไม่พึงขวนขวายในการซื้อการขาย ไม่พึงกระทำ การกล่าวติเตียนในที่ไหนๆ และไม่พึงคลุกคลีในชาวบ้าน ไม่พึงเจรจากะชนเพราะความใคร่ลาภ ภิกษุไม่พึงเป็นผู้พูด โอ้อวด ไม่พึงกล่าววาจาประกอบปัจจัยมีจีวรเป็นต้น ไม่พึง ศึกษาความเป็นผู้คะนอง ไม่พึงกล่าวถ้อยคำเถียงกัน ภิกษุ พึงเป็นผู้มีสัมปชัญญะ ไม่พึงนิยมในการกล่าวมุสา ไม่พึง กระทำความโอ้อวด อนึ่ง ไม่พึงดูหมิ่นผู้อื่นด้วยความเป็นอยู่ ปัญญา ศีลและพรต ภิกษุถูกผู้อื่นเสียดสีแล้ว ได้ฟังวาจา มากของสมณะทั้งหลายหรือของชนผู้พูดมาก ไม่พึงโต้ตอบ ด้วยคำหยาบ เพราะสัตบุรุษทั้งหลายย่อมไม่กระทำความเป็น ข้าศึก ภิกษุรู้ทั่วถึงธรรมนี้แล้ว ค้นคว้าพิจารณาอยู่ รู้ความ ดับกิเลสว่าเป็นความสงบดังนี้แล้ว พึงเป็นผู้มีสติศึกษา ทุกเมื่อ ไม่พึงประมาทในศาสนาของพระโคดม ก็ภิกษุนั้น พึงเป็นผู้ครอบงำอารมณ์มีรูปเป็นต้น อันอารมณ์มีรูปเป็นต้น ครอบงำไม่ได้ เป็นผู้เห็นธรรมที่ตนเห็นเอง ประจักษ์แก่ตน เพราะเหตุนั้นแล ภิกษุผู้ไม่ประมาท พึงนอบน้อมศึกษา ไตรสิกขาอยู่เนืองๆ ในศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระองค์ นั้นทุกเมื่อเทอญ ฯ
จบตุวฏกสูตรที่ ๑๔
อัตตทัณฑสูตรที่ ๑๕
[๔๒๒] ภัยเกิดแล้วแต่อาชญาของตน ท่านทั้งหลายจงเห็นคน ผู้ทะเลาะกัน เราจักแสดงความสลดใจตามที่เราได้สลดใจ มาแล้ว เราได้เห็นหมู่สัตว์กำลังดิ้นรนอยู่ (ด้วยตัณหา และทิฐิ) เหมือนปลาในแอ่งน้ำน้อย ฉะนั้น ภัยได้เข้ามา ถึงเราแล้ว เพราะได้เห็นคนทั้งหลายผู้พิโรธกันและกัน โลก โดยรอบหาแก่นสารมิได้ ทิศทั้งปวงหวั่นไหวแล้ว เรา ปรารถนาความต้านทานแก่ตนอยู่ ไม่ได้เห็นสถานที่อะไรๆ อันทุกข์มีชราเป็นต้นไม่ครอบงำแล้ว เราไม่ได้มีความยินดี เพราะได้เห็นสัตว์ทั้งหลาย ผู้อันทุกข์มีชราเป็นต้นกระทบแล้ว ผู้ถึงความพินาศ อนึ่ง เราได้เห็นกิเลสดุจลูกศรมีราคะเป็นต้น ยากที่สัตว์จะเห็นได้ อันอาศัยหทัยในสัตว์เหล่านี้ สัตว์ถูก กิเลสดุจลูกศรมีราคะเป็นต้นใดเสียบติดอยู่แล้ว ย่อมแล่น ไปยังทิศทั้งปวง บัณฑิตถอนกิเลสดุจลูกศรมีราคะเป็นต้น นั้นออกได้แล้ว ย่อมไม่แล่นไปยังทิศและไม่จมลงในโอฆะ ทั้งสี่ (อารมณ์ที่น่ายินดีเหล่าใดมีอยู่ในโลก) หมู่มนุษย์ย่อม พากันเล่าเรียนศิลป เพื่อให้ได้ซึ่งอารมณ์ที่น่ายินดีเหล่านั้น กุลบุตรผู้เป็นบัณฑิต ไม่พึงขวนขวายในอารมณ์ที่น่ายินดี เหล่านั้น พึงเบื่อหน่ายกามทั้งหลายโดยประการทั้งปวงแล้ว พึงศึกษานิพพานของตน มุนีพึงเป็นผู้มีสัจจะ ไม่คะนอง ไม่มีมายา ละการส่อเสียดเสีย เป็นผู้ไม่โกรธ พึงข้ามความ โลภอันลามกและความตระหนี่เสีย นรชนพึงครอบงำความ หลับ ความเกียจคร้าน ความท้อแท้เสีย ไม่พึงอยู่ร่วมด้วย ความประมาท ไม่พึงดำรงอยู่ในการดูหมิ่นผู้อื่น พึงมีใจน้อม ไปในนิพพาน ไม่พึงน้อมไปในการกล่าวมุสา ไม่พึงกระทำ ความเสน่หาในรูปและพึงกำหนดรู้ความถือตัว พึงเว้นเสียจาก ความผลุนผลันแล้วเที่ยวไป ไม่พึงเพลิดเพลินถึงอารมณ์ที่ล่วง มาแล้ว ไม่พึงกระทำความพอใจในอารมณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ไม่พึงเศร้าโศกถึงอารมณ์ที่กำลังละไปอยู่ ไม่พึงเป็นผู้อาศัย ตัณหา เรากล่าวความกำหนัดยินดีว่าเป็นโอฆะอันใหญ่หลวง กล่าวตัณหาว่า เป็นเครื่องกระซิบใจ ทำใจให้แล่นไปใน อารมณ์ต่างๆ กล่าวตัณหาว่าเป็นอารมณ์แอบใจทำใจให้ กำเริบ เปือกตมคือกามยากที่สัตว์จะล่วงไปได้ พราหมณ์ ผู้เป็นมุนี ไม่ปลีกออกจากสัจจะแล้ว ย่อมตั้งอยู่บนบก คือ นิพพาน มุนีนั้นแล สละคืนอายตนะทั้งหมดแล้วโดย- ประการทั้งปวง เรากล่าวว่า เป็นผู้สงบ มุนีนั้นแลเป็นผู้รู้ เป็นผู้ถึงเวท รู้สังขตธรรมแล้วอันตัณหาและทิฐิไม่อาศัย เป็นอยู่ในโลกโดยชอบ ย่อมไม่ทะเยอทะยานต่ออะไรๆ ในโลกนี้ ผู้ใดข้ามกามทั้งหลาย และธรรมเป็นเครื่องข้องยาก ที่สัตว์จะล่วงได้ในโลกนี้ได้แล้ว ผู้นั้นตัดกระแสตัณหาขาด แล้ว ไม่มีเครื่องผูกพัน ย่อมไม่เศร้าโศก ย่อมไม่เพ่งเล็ง ท่านจงทำกิเลสชาติเครื่องกังวลในอดีตให้เหือดแห้ง กิเลส ชาติเครื่องกังวลในอนาคตอย่าได้มีแก่ท่าน ถ้าว่าท่านจักไม่ถือ เอาในปัจจุบันไซร้ ท่านจักเป็นผู้สงบเที่ยวไป ผู้ใดไม่มี ความยึดถือในนามรูปว่าเป็นของเราโดยประการทั้งปวง และ ไม่เศร้าโศกเพราะเหตุแห่งนามรูปอันไม่มี ผู้นั้นแลย่อมไม่ เสื่อมในโลก ผู้ใดไม่มีกิเลสเครื่องกังวลว่า สิ่งนี้ของเรา และว่า สิ่งนี้ของผู้อื่น ผู้นั้นไม่ประสบการยึดถือในสิ่งนั้น ว่าเป็นของเราอยู่ ย่อมไม่เศร้าโศกว่า ของเราไม่มี บุคคลใด ย่อมไม่เศร้าโศกว่า ของเราไม่มี เราเป็นผู้ถูกถามถึงบุคคล ผู้ไม่หวั่นไหว จะบอกอานิสงส์ ๔ อย่างในบุคคลนั้น ดังนี้ว่า บุคคลนั้นไม่มีความขวนขวาย ไม่กำหนัดยินดี ไม่มีความ หวั่นไหวเป็นผู้เสมอในอารมณ์ทั้งปวง ธรรมชาติเครื่องปรุง แต่งอะไรๆ ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่หวั่นไหวผู้รู้แจ้ง ผู้นั้นเว้นแล้ว จากการปรารภมีปุญญาภิสังขารเป็นต้น ย่อมเห็นความ ปลอดโปร่งในที่ทุกสถาน มุนีย่อมไม่กล่าวยกย่องตนใน บุคคลผู้เสมอกัน ผู้ต่ำกว่า ผู้สูงกว่า มุนีนั้นเป็นผู้สงบ ปราศจากความตระหนี่ ย่อมไม่ยึดถือ ไม่สละธรรมอะไรๆ ในบรรดาธรรมมีรูปเป็นต้น ฯ
จบอัตตทัณฑสูตรที่ ๑๕
สารีปุตตสูตรที่ ๑๖
(ท่านพระสารีบุตรทูลถามว่า) [๔๒๓] พระศาสดาผู้มีพระวาจาไพเราะอย่างนี้ เสด็จมาแต่ชั้นดุสิต สู่แผ่นดิน ข้าพระองค์ยังไม่ได้เห็นหรือไม่ได้ยินต่อใครๆ ใน กาลก่อนแต่นี้เลย พระองค์ผู้มีพระจักษุ ย่อมปรากฏแก่มนุษย์ ทั้งหลาย เหมือนปรากฏแก่โลกพร้อมด้วยเทวดา ฉะนั้น พระองค์ผู้เดียวบรรเทาความมืดได้ทั้งหมด ทรงถึงความยินดี ในเนกขัมมะ ศิษย์ทั้งหลายมีกษัตริย์เป็นต้นเป็นอันมาก มา เฝ้าพระองค์ผู้เป็นพุทธะ ผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยแล้ว ผู้ คงที่ ไม่หลอกลวง เสด็จมาแล้วสู่แผ่นดิน ณ เมืองสังกัสสะ นี้ ด้วยปัญหามีอยู่ เมื่อภิกษุเกลียดชังแต่ทุกข์มีชาติเป็นต้น อยู่ เสพที่นั่งอันสงัด คือ โคนไม้ ป่าช้า หรือที่นั่งอันสงัด ในถ้ำแห่งภูเขา ในที่นอนอันเลวและประณีต ความขลาด กลัวซึ่งเป็นเหตุจะไม่ทำให้ภิกษุหวั่นไหว ในที่นอนและที่นั่ง อันไม่มีเสียงกึกก้องนั้น มีประมาณเท่าไร อันตรายในโลก ของภิกษุผู้จะไปยังทิศที่ไม่เคยไป ซึ่งภิกษุจะพึงครอบงำเสีย ในที่นอนและที่นั่งอันสงัด มีประมาณเท่าไร ภิกษุนั้นพึงมี ถ้อยคำอย่างไร พึงมีโคจรในโลกนี้อย่างไร ภิกษุผู้มีใจเด็ด เดี่ยว พึงมีศีลและวัตรอย่างไร สมาทานสิกขาอะไร จึงเป็น ผู้มีจิตแน่วแน่ มีปัญญารักษาตน มีสติ พึงกำจัดมลทิน ของตน เหมือนนายช่างทองกำจัดมลทินของทอง ฉะนั้น ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสารีบุตร ถ้าว่าธรรมเป็นเครื่องอยู่สำราญ และธรรมที่สมควรนี้ใด ของภิกษุผู้เกลียดชังแต่ทุกข์มีชาติเป็นต้น ผู้ใคร่จะตรัสรู้ เสพอยู่ซึ่งที่นั่งและที่นอนอันสงัดมีอยู่ไซร้ เราจะกล่าวธรรม เป็นเครื่องอยู่สำราญและธรรมที่สมควรนั่นตามที่รู้ แก่เธอ ภิกษุผู้เป็นปราชญ์ มีสติ ประพฤติอยู่ในเขตแดนของตน ไม่พึงกลัวแต่ภัย ๕ อย่าง คือ เหลือบ ยุง สัตว์เสือกคลาน ผัสสะแห่งมนุษย์ (มีมนุษย์ผู้เป็นโจรเป็นต้น) สัตว์สี่เท้า ภิกษุผู้แสวงหากุศลธรรมอยู่เนืองๆ ไม่พึงสะดุ้งแม้ต่อเหล่า- ชนผู้ประพฤติธรรมอื่นนอกจากสหธรรมิก แม้ได้เห็นเหตุ การณ์อันนำมาซึ่งความขลาดเป็นอันมากของชนเหล่านั้น และ อันตรายเหล่าอื่น ก็พึงครอบงำเสียได้ ภิกษุอันผัสสะแห่งโรค คือ ความหิว เย็นจัด ร้อนจัด ถูกต้องแล้ว พึงอดกลั้นได้ ภิกษุนั้นเป็นผู้อันโรคเหล่านั้นถูกต้องแล้วด้วยอาการต่างๆ ก็ มิได้ทำโอกาสให้แก่อภิสังขารเป็นต้น พึงบากบั่นกระทำความ เพียรให้มั่นคงไม่พึงกระทำการขโมย ไม่พึงกล่าวคำมุสา พึง แผ่เมตตาไปยังหมู่สัตว์ทั้งที่สะดุ้งและมั่นคง ในกาลใด พึง รู้เท่าความที่ใจเป็นธรรมชาติขุ่นมัว ในกาลนั้น พึงบรรเทา เสียด้วยคิดว่า นี้เป็นฝักฝ่ายแห่งธรรมดำ ไม่พึงลุอำนาจแห่ง ความโกรธและการดูหมิ่นผู้อื่น พึงขุดรากเหง้าแห่งความโกรธ และการดูหมิ่นผู้อื่นเหล่านั้นแล้วดำรงอยู่ เมื่อจะครอบงำ ก็พึงครอบงำความรักหรือความไม่รักเสียโดยแท้ ภิกษุผู้ประ- กอบด้วยปีติอันงาม มุ่งบุญเป็นเบื้องหน้าพึงข่มอันตรายเหล่า นั้นเสีย พึงครอบงำความไม่ยินดีในที่นอนอันสงัด พึงครอบงำ ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความร่ำไรทั้ง ๔ อย่าง ผู้เป็นเสขะ ไม่มี ความกังวลเที่ยวไป พึงปราบวิตกอันเป็นที่ตั้งแห่งความร่ำไร เหล่านี้ว่าเราจักบริโภคอะไร หรือว่าเราจักบริโภคที่ไหน เมื่อ คืนนี้เรานอนเป็นทุกข์นัก ค่ำวันนี้เราจักนอนที่ไหน ภิกษุนั้น ได้ข้าวและที่อยู่ในกาลแล้วพึงรู้จักประมาณ (ในกาลรับและ ในกาลบริโภค) เพื่อความสันโดษในศาสนานี้ ภิกษุนั้น คุ้มครองแล้วในปัจจัยเหล่านั้น สำรวมระวังเที่ยวไปในบ้าน ถึงใครๆ ด่าว่าเสียดสีก็ไม่พึงกล่าววาจาหยาบ พึงเป็นผู้มีจักษุ ทอดลงและไม่พึงโลเลด้วยเท้า พึงเป็นผู้ขวนขวายในฌาน เป็นผู้ตื่นอยู่โดยมาก ปรารภอุเบกขา มีจิตตั้งมั่นดี พึงตัดเสีย ซึ่งธรรมเป็นที่อยู่แห่งวิตกและความคะนอง ภิกษุผู้อัน อุปัชฌายะเป็นต้นตักเตือนแล้วด้วยวาจา พึงเป็นผู้มีสติยินดี รับคำตักเตือนนั้น พึงทำลายตะปู คือความโกรธในสพรหม- จารีทั้งหลาย พึงเปล่งวาจาอันเป็นกุศล ไม่ให้ล่วงเวลา ไม่ พึงคิดในการกล่าวติเตียนผู้อื่น ต่อแต่นั้น พึงเป็นผู้มีสติ ศึกษาเพื่อปราบธุลี ๕ อย่างในโลก ครอบงำความกำหนัดยินดี ในรูป เสียง กลิ่น รส และผัสสะ ครั้นปราบความ พอใจในธรรมเหล่านี้ได้แล้ว พึงเป็นผู้มีสติ มีจิตหลุดพ้น ด้วยดี พิจารณาธรรมอยู่โดยชอบ โดยกาลอันสมควร มีจิตแน่วแน่ พึงกำจัดความมืดเสียได้ ฉะนี้แล ฯ
จบสารีปุตตสูตรที่ ๑๖
จบอัฏฐกวรรคที่ ๔
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. กามสูตร ๒. คุหัฏฐกสูตร ๓. ทุฏฐัฏฐสูตร ๔. สุทธัฏฐกสูตร ๕. ปรมัฏฐกสูตร ๖. ชราสูตร ๗. ติสสเมตเตยยสูตร ๘. ปสูรสูตร ๙. มาคันทิยสูตร ๑๐. ปุราเภทสูตร ๑๑. กลหวิวาทสูตร ๑๒. จูฬวิยูหสูตร ๑๓. มหาวิยูหสูตร ๑๔. ตุวฏกสูตร ๑๕. อัตตทัณฑสูตร ๑๖. สารีปุตตสูตร
พระสูตรเหล่านี้ทั้งหมดมี ๘ วรรค ด้วยประการฉะนี้ ฯ
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ บรรทัดที่ ๙๙๕๒-๑๐๘๐๙ หน้าที่ ๔๓๒-๔๖๗. https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=9952&Z=10809&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8], [9], [10], [11], [12], [13], [14]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=25&siri=266              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=408              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [408-423] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=25&item=408&items=16              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=29&A=7768              The Pali Tipitaka in Roman :- [408-423] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=25&item=408&items=16              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=29&A=7768              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ https://84000.org/tipitaka/read/?index_25              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/25i408-e.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/snp/snp.4.01.than.html https://suttacentral.net/snp4.1/en/mills https://suttacentral.net/snp4.1/en/sujato

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :