ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
มุนีสูตรที่ ๑๒
[๓๑๓] ภัยเกิดแต่ความเชยชม ธุลีคือราคะ โทสะ และโมหะ ย่อมเกิดแต่ที่อยู่ ที่อันมิใช่ที่อยู่และความไม่เชยชมนี้แล พระพุทธเจ้าผู้เป็นมุนีทรงเห็น (เป็นความเห็นของมุนี) ผู้ใดตัดกิเลสที่เกิดแล้ว ไม่พึงปลูกให้เกิดขึ้นอีก เมื่อกิเลส นั้นเกิดอยู่ ก็ไม่พึงให้หลั่งไหลเข้าไป บัณฑิตทั้งหลายกล่าว ผู้นั้นว่าเป็นมุนีเอก เที่ยวไปอยู่ ผู้นั้นเป็นผู้แสวงหาคุณ อันใหญ่ ได้เห็นสันติบท ผู้ใดกำหนดรู้ที่ตั้งแห่งกิเลส ฆ่าพืชไม่ทำยางแห่งพืชให้หลั่งไหลเข้าไป ผู้นั้นแลเป็นมุนี มีปรกติเห็นที่สุดแห่งความสิ้นไปแห่งชาติ ละอกุศลวิตกเสีย แล้ว ไม่เข้าถึงการนับว่าเป็นเทวดาหรือมนุษย์ ผู้ใดรู้ชัดภพ อันเป็นที่อาศัยอยู่ทั้งปวง ไม่ปรารถนาภพอันเป็นที่อาศัยอยู่ เหล่านั้นแม้ภพหนึ่ง ผู้นั้นแลเป็นมุนี ปราศจากกำหนัด ไม่ยินดีแล้ว ไม่ก่อกรรม เป็นผู้ถึงฝั่งโน้นแล้วแล อนึ่ง ผู้ครอบงำธรรมได้ทั้งหมด รู้แจ้งธรรมทุกอย่าง มีปัญญาดี ไม่เข้าไปติด (ไม่เกี่ยวเกาะ) ในธรรมทั้งปวง ละธรรมได้ ทั้งหมด น้อมไปแล้วในธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา นักปราชญ์ ย่อมประกาศว่าเป็นมุนี อนึ่ง ผู้มีกำลังคือปัญญาประกอบด้วย ศีลและวัตร มีจิตตั้งมั่น ยินดีในฌาน มีสติ หลุดพ้นจาก เครื่องข้อง ไม่มีกิเลสดุจหลักตอ ไม่มีอาสวะ นักปราชญ์ ย่อมประกาศว่าเป็นมุนี หรือผู้เป็นมุนี (มีปัญญา) ไม่ ประมาท เที่ยวไปผู้เดียว ไม่หวั่นไหวเพราะนินทาและ สรรเสริญ ไม่สะดุ้งหวาดเพราะโลกธรรม เหมือนราชสีห์ ไม่สะดุ้งหวาดเพราะเสียง ไม่ข้องอยู่ในตัณหาและทิฐิ เหมือนลมไม่ข้องอยู่ในตาข่าย ไม่ติดอยู่กับโลก เหมือน ดอกบัวไม่ติดอยู่กับน้ำ เป็นผู้นำ ไม่ใช่ผู้ที่ใครๆ อื่นจะพึง นำไปได้ นักปราชญ์ย่อมประกาศว่าเป็นมุนี หรือแม้ผู้ใดไม่ถึง ความยินดีหรือยินร้าย ในเรื่องที่ผู้อื่นกล่าววาจาด้วยอำนาจ การชมหรือการติ เหมือนเสามีอยู่ที่ท่าเป็นที่ลงอาบน้ำ ผู้นั้น ปราศจากราคะ มีอินทรีย์ตั้งมั่นดีแล้ว นักปราชญ์ย่อมประกาศ ว่าเป็นมุนี หรือแม้ผู้ใดแลดำรงตนไว้ซื่อตรงดุจกระสวย เกลียดชังแต่กรรมที่เป็นบาป พิจารณาเห็นกรรมทั้งที่ไม่เสมอ และที่เสมอ (ทั้งผิดทั้งชอบ) ผู้นั้นนักปราชญ์ย่อมประกาศว่า เป็นมุนี หรือแม้ผู้ใดยังหนุ่มแน่นหรือปูนกลาง สำรวมตน ไม่ทำบาป เป็นมุนี มีจิตห่างจากบาป ไม่โกรธง่าย ไม่ว่าร้าย ใครๆ ผู้นั้นนักปราชญ์ย่อมประกาศว่าเป็นมุนี หรือแม้ ผู้ใดอาศัยอาหารที่ผู้อื่นให้เป็นอยู่ ได้ก้อนข้าวแต่ส่วนที่ดี ส่วนปานกลางหรือส่วนที่เหลือ ไม่อาจจะกล่าวชม ทั้งไม่ กล่าวทับถมให้ทายกตกต่ำ ผู้นั้นนักปราชญ์ย่อมประกาศว่า เป็นมุนี หรือแม้ผู้ใดไม่หมกมุ่นอยู่ในรูปแห่งหญิงอะไรๆ ที่กำลังเป็นสาวเป็นผู้รู้เที่ยวไปอยู่ ปราศจากความยินดีใน เมถุน ไม่กำหนัด หลุดพ้นแล้วจากความมัวเมาประมาท ผู้นั้นนักปราชญ์ย่อมประกาศว่าเป็นมุนี หรือแม้ผู้รู้จักโลก เห็นปรมัตถประโยชน์ ข้ามพ้นโอฆะและสมุทร เป็นผู้คงที่ ตัดกิเลสเครื่องร้อยรัดได้ขาดแล้ว อันทิฐิหรือตัณหาอาศัยไม่ ได้แล้ว ไม่มีอาสวะ ผู้นั้นนักปราชญ์ย่อมประกาศว่าเป็นมุนี คนทั้งสองไม่เสมอกัน มีที่อยู่และความเป็นอยู่ไกลกัน คือ คฤหัสถ์เลี้ยงลูกเมีย ส่วนภิกษุไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา มีวัตรงาม คฤหัสถ์ไม่สำรวมเพราะบั่นรอนสัตว์อื่น ภิกษุเป็น มุนี สำรวมเป็นนิตย์ รักษาสัตว์มีชีวิตไว้ นกยูงมีสร้อยคอ เขียว บินไปในอากาศ ยังสู้ความเร็วของหงส์ไม่ได้ในกาล ไหนๆ ฉันใด คฤหัสถ์ทำตามภิกษุผู้เป็นมุนี สงัดเงียบ เพ่งอยู่ในป่าไม่ได้ ฉันนั้น ฯ
จบมุนีสูตรที่ ๑๒
จบอุรควรรคที่ ๑
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อุรคสูตร ๒. ธนิยสูตร ๓. ขัคควิสาณสูตร ๔. กสิภารทวาช- *สูตร ๕. จุนทสูตร ๖. ปราภวสูตร ๗. วสลสูตร ๘. เมตตสูตร ๙. เหมวตสูตร ๑๐. อาฬวกสูตร ๑๑. วิชยสูตร ๑๒. มุนีสูตร บัณฑิต เรียกว่าอุรควรรค ฯ
-----------------------------------------------------
สุตตนิบาต จูฬวรรคที่ ๒
รตนสูตรที่ ๑
[๓๑๔] ภูตเหล่าใดประชุมกันแล้ว ในประเทศนี้ก็ดี หรือภุมม- เทวดาเหล่าใดประชุมกันแล้ว ในอากาศก็ดี ขอหมู่ภูต ทั้งปวงจงเป็นผู้มีใจดี และขอจงฟังภาษิตโดยเคารพ ดูกร ภูตทั้งปวง เพราะเหตุนั้นแล ท่านทั้งหลายจงตั้งใจฟัง ขอ จงแผ่เมตตาจิตในหมู่มนุษย์ มนุษย์เหล่าใดนำพลีกรรมไป ทั้งกลางคืนกลางวัน เพราะเหตุนั้นแล ท่านทั้งหลายจง เป็นผู้ไม่ประมาท รักษามนุษย์เหล่านั้น ทรัพย์เครื่องปลื้มใจ อย่างใดอย่างหนึ่งในโลกนี้หรือในโลกอื่น หรือรัตนะใดอัน ประณีตในสวรรค์ ทรัพย์และรัตนะนั้นเสมอด้วยพระตถาคต ไม่มีเลย พุทธรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยสัจจะ- วาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้ พระศากย- มุนีผู้มีพระหฤทัยดำรงมั่น ได้บรรลุธรรมใดอันเป็นที่สิ้น กิเลส เป็นที่สำรอกกิเลส เป็นอมฤตธรรมอันประณีต ธรรมชาติอะไรๆ อันสมควรด้วยพระธรรมนั้นย่อมไม่มี ธรรมรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยสัจจวาจานี้ขอ ความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้ พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด ทรงสรรเสริญแล้วซึ่งสมาธิใด ว่าเป็นธรรมอันสะอาด บัณฑิตทั้งหลายกล่าวสมาธิใด ว่าให้ผลในลำดับสมาธิอื่น เสมอด้วยสมาธินั้นย่อมไม่มี ธรรมรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอัน ประณีต ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดี จงมีแก่สัตว์ เหล่านี้ บุคคล ๘ จำพวก ๔ คู่ อันสัตบุรุษทั้งหลาย สรรเสริญแล้ว บุคคลเหล่านั้นควรแก่ทักษิณาทาน เป็น สาวกของพระสุคต ทานที่บุคคลถวายแล้วในท่านเหล่านั้น ย่อมมีผลมาก สังฆรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วย สัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้ พระอริย บุคคลเหล่าใดในศาสนาของพระโคดม ประกอบด้วยดีแล้ว (ด้วยกายประโยคและวจีประโยคอันบริสุทธิ์) มีใจมั่นคง เป็นผู้ไม่มีความห่วงใย (ในกายและชีวิต) พระอริยบุคคล เหล่านั้น บรรลุอรหัตผลที่ควรบรรลุหยั่งลงสู่อมตนิพพาน ได้ซึ่งความดับกิเลส โดยเปล่าเสวยผลอยู่ สังฆรัตนะแม้ นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดี จงมีแก่สัตว์เหล่านี้ เสาเขื่อนที่ฝังลงดิน ไม่หวั่นไหว เพราะลมทั้งสี่ทิศ ฉันใด ผู้ใดพิจารณาเห็นอริยสัจทั้งหลาย เราเรียกผู้นั้นว่าเป็นสัตบุรุษ ผู้ไม่หวั่นไหวเพราะโลกธรรม มีอุปมาฉันนั้น สังฆรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วย สัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้ พระอริย- บุคคลเหล่าใด ทำให้แจ้งซึ่งอริยสัจทั้งหลาย อันพระ- ศาสดาทรงแสดงดีแล้ว ด้วยปัญญาอันลึกซึ้ง พระอริย- บุคคลเหล่านั้น ยังเป็นผู้ประมาทอย่างแรงกล้าอยู่ก็จริง ถึงกระนั้นท่านย่อมไม่ยึดถือเอาภพที่ ๘ สังฆรัตนะแม้นี้เป็น รัตนะอันประณีต ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมี แก่สัตว์เหล่านี้ สักกายทิฐิและวิจิกิจฉา หรือแม้สีลัพพต- ปรามาส อันใดอันหนึ่งยังมีอยู่ ธรรมเหล่านั้นอันพระ- อริยบุคคลนั้นละได้แล้ว พร้อมด้วยความถึงพร้อมแห่งการ เห็น (นิพพาน) ทีเดียว อนึ่งพระอริยบุคคลเป็นผู้พ้นแล้ว จากอบายทั้ง ๔ ทั้งไม่ควรเพื่อทำอภิฐานทั้ง ๖ (คือ อนันตริยกรรม ๕ และการเข้ารีต) สังฆรัตนะแม้นี้ เป็นรัตนะ อันประณีต ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์ เหล่านี้ พระอริยบุคคลนั้น ยังทำบาปกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา หรือด้วยใจก็จริง ถึงกระนั้น ท่านก็ไม่ควรเพื่อจะ ปกปิดบาปกรรมอันนั้น ความที่บุคคลผู้มีธรรมเครื่อง นิพพานอันตนเห็นแล้ว เป็นผู้ไม่ควรเพื่อปกปิดบาปกรรมนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว สังฆรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอัน ประณีต ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์ เหล่านี้ พุ่มไม้ในป่ามียอดอันบานแล้วในเดือนต้นใน คิมหันตฤดู ฉันใด พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงธรรมอัน ประเสริฐยิ่ง เป็นเครื่องให้ถึงนิพพาน เพื่อประโยชน์ เกื้อกูล มีอุปมาฉันนั้น พุทธรัตนะแม้นี้ เป็นรัตนะอัน ประณีต ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์ เหล่านี้ พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ทรงทราบธรรมอัน ประเสริฐ ทรงประทานธรรมอันประเสริฐ ทรงนำมา ซึ่งธรรมอันประเสริฐ ไม่มีผู้ยิ่งไปกว่า ได้ทรงแสดง ธรรมอันประเสริฐ พุทธรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้ พระ- อริยบุคคลเหล่าใด ผู้มีจิตอันหน่ายแล้วในภพต่อไป มีกรรม เก่าสิ้นแล้ว ไม่มีกรรมใหม่เครื่องสมภพ พระอริย- บุคคลเหล่านั้นมีพืชอันสิ้นแล้ว มีความพอใจไม่งอกงาม แล้ว เป็นนักปราชญ์ย่อมนิพพาน เหมือนประทีปอัน ดับไปฉะนั้น สังฆรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วย สัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้ ภูตเหล่า ใดประชุมกันแล้วในประเทศนี้ก็ดี หรือภุมมเทวดาเหล่า ใดประชุมกันแล้วในอากาศก็ดี เราทั้งหลายจงนมัสการ พระพุทธเจ้าผู้ไปแล้วอย่างนั้น ผู้อันเทวดาและมนุษย์ทั้ง หลายบูชาแล้ว ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้ ภูต เหล่าใดประชุมกันแล้วในประเทศนี้ก็ดี หรือภุมมเทวดา เหล่าใด ประชุมกันแล้วในอากาศก็ดี เราทั้งหลาย จงนมัสการพระธรรมอันไปแล้วอย่างนั้น อันเทวดาและ มนุษย์ทั้งหลายบูชาแล้ว ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้ ภูตเหล่าใดประชุมกันแล้วในประเทศนี้ก็ดี หรือภุมมเทวดา เหล่าใดประชุมกันแล้วในอากาศก็ดี เราทั้งหลายจงนมัสการ พระสงฆ์ผู้ไปแล้วอย่างนั้น ผู้อันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย บูชาแล้ว ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้ ฯ
จบรัตนสูตรที่ ๑
อามคันธสูตรที่ ๒
ติสสดาบสทูลถามพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสป ด้วยคาถาความว่า [๓๑๕] สัตบุรุษทั้งหลายบริโภคข้าวฟ่าง ลูกเดือย ถั่วเขียว ใบ ไม้ เหง้ามัน และผลไม้ที่ได้แล้วโดยธรรม หาปรารถนา กามกล่าวคำเหลาะแหละไม่ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคพระ นามว่ากัสสป พระองค์เมื่อเสวยเนื้อชนิดใดที่ผู้อื่นทำสำเร็จ ดีแล้ว ตบแต่งไว้ถวายอย่างประณีต เมื่อเสวยข้าวสุก แห่งข้าวสาลี ก็ชื่อว่าย่อมเสวยกลิ่นดิบ ข้าแต่พระองค์ ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพรหม พระองค์ตรัสอย่างนี้ว่า กลิ่น ดิบย่อมไม่ควรแก่เรา แต่ยังเสวยข้าวสุกแห่งข้าวสาลีกับ เนื้อนกที่บุคคลปรุงดีแล้ว ข้าแต่พระผู้มีพระภาคพระนาม ว่ากัสสป ข้าพระองค์ขอทูลถามความข้อนี้กะพระองค์ว่า กลิ่นดิบของพระองค์มีประการอย่างไร ฯ พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปตรัสตอบด้วยพระคาถาว่า การฆ่าสัตว์ การทุบตี การตัด การจองจำ การลัก การพูด- เท็จ การกระทำด้วยความหวัง การหลอกลวง การ เรียนคัมภีร์ที่ไร้ประโยชน์ และการคบหาภรรยาผู้อื่น นี้ ชื่อว่ากลิ่นดิบ เนื้อและโภชนะไม่ชื่อว่ากลิ่นดิบเลย ชน เหล่าใดในโลกนี้ ไม่สำรวมในกามทั้งหลาย ยินดีใน รสทั้งหลาย เจือปนไปด้วยของไม่สะอาด มีความเห็น ว่าทานที่บุคคลให้แล้วไม่มีผล มีการงานไม่เสมอ บุคคล พึงแนะนำได้โดยยากนี้ ชื่อว่ากลิ่นดิบของชนเหล่านั้น เนื้อ และโภชนะไม่ชื่อว่าเป็นกลิ่นดิบเลย ชนเหล่าใดผู้เศร้า- หมอง หยาบช้า หน้าไหว้หลังหลอก ประทุษร้ายมิตร ไม่มีความกรุณา มีมานะจัด มีปกติไม่ให้ และไม่ให้อะไรๆ แก่ใครๆ นี้ชื่อว่ากลิ่นดิบของชนเหล่านั้น เนื้อและโภชนะ ไม่ชื่อว่ากลิ่นดิบเลย ความโกรธ ความมัวเมา ความ เป็นคนหัวดื้อ ความตั้งอยู่ผิด มายา ฤษยา ความยกตน ความถือตัว ความดูหมิ่น และความสนิทสนมด้วยอสัต- บุรุษทั้งหลาย นี้ชื่อว่ากลิ่นดิบ เนื้อและโภชนะไม่ชื่อ ว่ากลิ่นดิบเลย ชนเหล่าใดในโลกนี้ มีปรกติประพฤติ ลามก กู้หนี้มาแล้วไม่ใช้ พูดเสียดสี พูดโกง เป็นคน เทียม เป็นคนต่ำทราม กระทำกรรมหยาบช้า นี้ชื่อว่า กลิ่นดิบของชนเหล่านั้น เนื้อและโภชนะไม่ชื่อว่ากลิ่นดิบ เลย ชนเหล่าใดในโลกนี้ ไม่สำรวมในสัตว์ทั้งหลาย ชักชวน ผู้อื่นประกอบการเบียดเบียน ทุศีล ร้ายกาจ หยาบคาย ไม่เอื้อเฟื้อ นี้ชื่อว่ากลิ่นดิบของชนเหล่านั้น เนื้อและ โภชนะไม่ชื่อว่ากลิ่นดิบเลย สัตว์เหล่าใดกำหนัดแล้วใน สัตว์เหล่านี้ โกรธเคือง ฆ่าสัตว์ ขวนขวายในอกุศลเป็น นิตย์ ตายไปแล้วย่อมถึงที่มืด มีหัวลงตกไปสู่นรก นี้ ชื่อว่ากลิ่นดิบของชนเหล่านั้น เนื้อและโภชนะไม่ชื่อว่า กลิ่นดิบเลย การไม่กินปลาและเนื้อ ความเป็นคน ประพฤติเปลือย ความเป็นคนโล้น การเกล้าชฎา ความ เป็นผู้หมักหมมด้วยธุลี การครองหนังเสือพร้อมทั้งเล็บ การบำเรอไฟ หรือแม้ว่าความเศร้าหมองในกายที่เป็นไป ด้วยความปรารถนา ความเป็นเทวดา การย่างกิเลสเป็นอัน มากในโลก มนต์และการเซ่นสรวง ยัญและการซ่อง- เสพฤดู ย่อมไม่ยังสัตว์ผู้ไม่ข้ามพ้นความสงสัยให้หมดจด ได้ ผู้ใด คุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหกเหล่านั้น รู้แจ้งอินทรีย์ แล้ว ตั้งอยู่ในธรรม ยินดีในความเป็นคนตรงและอ่อน โยน ล่วงธรรมเป็นเครื่องข้องเสียได้ ละทุกข์ได้ทั้งหมด ผู้นั้นเป็นนักปราชญ์ ไม่ติดอยู่ในธรรมที่เห็นแล้ว และ ฟังแล้ว ฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสบอกความข้อนี้บ่อยๆ ด้วยประการ- ฉะนี้ ติสสดาบสผู้ถึงฝั่งแห่งมนต์ได้ทราบความข้อนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคผู้เป็นมุนี ทรงประกาศด้วยพระคาถาทั้ง หลาย อันวิจิตรว่า บุคคลผู้ที่ไม่มีกลิ่นดิบ ผู้อันตัณหา และทิฐิไม่อาศัยแล้ว ตามรู้ได้ยาก ติสสดาบสฟังบท สุภาษิตซึ่งไม่มีกลิ่นดิบ อันเป็นเครื่องบรรเทาเสียซึ่งทุกข์ ทั้งปวง ของพระพุทธเจ้าแล้ว เป็นผู้มีใจนอบน้อม ถวายบังคมพระบาทของตถาคต ได้ทูลขอบรรพชาที่อาสนะ นั่นแล ฯ
จบอามคันธสูตรที่ ๒
หิริสูตรที่ ๓
[๓๑๖] บุคคลผู้ไม่มีหิริ เกลียดหิริ กล่าวอยู่ว่าเราเป็นเพื่อน ของท่าน ไม่เอื้อเฟื้อการงานแห่งมิตรของตน พึงรู้ว่า นั่น ไม่ใช่มิตรของเรา มิตรใดพูดวาจาน่ารัก แต่ไม่ประกอบ ด้วยประโยชน์ในมิตรทั้งหลาย บัณฑิตย่อมกำหนดรู้ผู้นั้น ว่าไม่ทำตามคำพูด มิตรใดหวังความแตกกัน ไม่ประมาท คอยหาความผิดเท่านั้น มิตรนั้นไม่ควรเสพ ส่วนมิตรที่ วางใจได้ เหมือนบุตรที่เกิดแต่อก ซึ่งผู้อื่นกล่าวเหตุตั้ง ร้อยอย่างพันอย่างก็ให้แตกกันไม่ได้ มิตรนั้นแลควรเสพ ความเพียร อันเป็นเหตุกระทำความปราโมทย์ นำความ สรรเสริญมาให้ นำสุขมาให้ ผลานิสงส์อันนำธุระสมควร แก่บุรุษไปอยู่ ย่อมเจริญ บุคคลดื่มรสแห่งความอิ่ม เอิบในธรรม ดื่มรสอันเกิดแต่ความสงัดกิเลสและรสแห่ง ความสงบแล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่มีความกระวนกระวายไม่มีบาป ฯ
จบหิริสูตรที่ ๓
มงคลสูตรที่ ๔
[๓๑๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของ อนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล เทวดาตนหนึ่ง เมื่อ ปฐมยามล่วงไปแล้ว มีรัศมีอันงดงามยิ่ง ทำพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง ไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า [๓๑๘] เทวดาและมนุษย์เป็นอันมาก ผู้หวังความสวัสดีได้พากันคิด มงคลทั้งหลาย ขอพระองค์ได้โปรดตรัสอุดมมงคล ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถาตอบว่า การไม่คบคนพาล ๑ การคบบัณฑิต ๑ การบูชาบุคคลที่ ควรบูชา ๑ นี้เป็นอุดมมงคล การอยู่ในประเทศอันสม ควร ๑ ความเป็นผู้มีบุญอันทำไว้แล้วในกาลก่อน ๑ การ ตั้งตนไว้ชอบ ๑ นี้เป็นอุดมมงคล พาหุสัจจะ ๑ ศิลป ๑ วินัยที่ศึกษาดีแล้ว ๑ วาจาสุภาษิต ๑ นี้เป็นอุดมมงคล การบำรุงมารดาบิดา ๑ การสงเคราะห์บุตรภรรยา ๑ การ- งานอันไม่อากูล ๑ นี้เป็นอุดมมงคล ทาน ๑ การ ประพฤติธรรม ๑ การสงเคราะห์ญาติ ๑ กรรมอันไม่มี โทษ ๑ นี้เป็นอุดมมงคล การงดเว้นจากบาป ๑ ความ สำรวมจากการดื่มน้ำเมา ๑ ความไม่ประมาทในธรรมทั้ง หลาย ๑ นี้เป็นอุดมมงคล ความเคารพ ๑ ความ ประพฤติถ่อมตน ๑ ความสันโดษ ๑ ความกตัญญู ๑ การฟังธรรมโดยกาล ๑ นี้เป็นอุดมมงคล ความอดทน ๑ ความเป็นผู้ว่าง่าย ๑ การได้เห็นสมณะทั้งหลาย ๑ การ สนทนาธรรมโดยกาล ๑ นี้เป็นอุดมมงคล ความเพียร ๑ พรหมจรรย์ ๑ การเห็นอริยสัจ ๑ การกระทำนิพพาน ให้แจ้ง ๑ นี้เป็นอุดมมงคล จิตของผู้ใดอันโลกธรรม ทั้งหลายถูกต้องแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว ไม่เศร้าโศก ปราศจากธุลี เป็นจิตเกษม นี้เป็นอุดมมงคล เทวดา และมนุษย์ทั้งหลายทำมงคลเช่นนี้แล้ว เป็นผู้ไม่ปราชัย ในข้าศึกทุกหมู่เหล่า ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน นี้เป็นอุดมมงคลของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น ฯ
จบมงคลสูตรที่ ๔
สูจิโลมสูตรที่ ๕
[๓๑๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่บน (แท่นหิน) เตียงมีแม่แคร่ ในที่อยู่ของสูจิโลมยักษ์ ใกล้ (เท่า) บ้านคยา ก็สมัยนั้นแล ขรยักษ์และ สูจิโลมยักษ์เดินผ่านไปในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค ลำดับนั้น ขรยักษ์ได้กล่าว กะสูจิโลมยักษ์ว่า นั่นสมณะ สูจิโลมยักษ์ได้กล่าวกะขรยักษ์ว่า นั่นไม่ใช่สมณะ นั่นเป็นสมณะเทียม เราทราบชัดว่าสมณะหรือสมณะเทียมเพียงไร ลำดับนั้น สูจิโลมยักษ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วน้อมกายของตนเข้าไป ใกล้พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงเบนกาย (ของสูจิโลมยักษ์) ออกไป สูจิโลมยักษ์ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ท่านกลัวข้าพเจ้าหรือสมณะ พระผู้มี- *พระภาคตรัสว่า เราไม่กลัวท่านดอกผู้มีอายุ แต่สัมผัสของท่านลามก ฯ สู. ดูกรสมณะ ข้าพเจ้าจักถามปัญหากะท่าน ถ้าท่านไม่พยากรณ์ไซร้ ข้าพเจ้าจักควักดวงจิตของท่านออกโยนทิ้งเสียหรือจักฉีกหทัยของท่านเสีย หรือจัก จับที่เท้าทั้งสองแล้วขว้างไป ในแม่น้ำคงคาฝั่งโน้น ฯ พ. เราไม่เห็นบุคคลในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ใน หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ผู้ซึ่งจะควักดวงจิตของเราออก โยนทิ้ง หรือจะฉีกหทัยของเราเสีย หรือจะจับที่เท้าทั้งสองแล้วขว้างไปในแม่น้ำ คงคาฝั่งโน้น ผู้มีอายุ ก็แลท่านปรารถนาจะถามปัญหาข้อใด ก็จงถามเถิด ฯ ลำดับนั้นแล สูจิโลมยักษ์ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า [๓๒๐] ราคะและโทสะมีอะไรเป็นเหตุเกิด ความไม่ยินดี ความ ยินดี ขนลุกขนพอง เกิดแต่อะไร วิตกทั้งหลายเกิดแต่อะไร แล้วจึงปล่อยลงไปหาใจที่เป็นกุศล เหมือนพวกเด็กน้อยเอา ด้ายผูกตีนกาแล้วปล่อยลงไป ฉะนั้น ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบด้วยพระคาถาว่า ราคะและโทสะมีอัตภาพเป็นเหตุเกิด ความไม่ยินดี ความ ยินดี ขนลุกขนพอง เกิดแต่อัตภาพนี้ วิตกทั้งหลายเกิดแต่ อัตภาพนี้แล้วปล่อยลงไปหาใจที่เป็นกุศล เหมือนพวกเด็ก น้อยเอาด้ายผูกตีนกาแล้วปล่อยลงไป ฉะนั้นกิเลสทั้งหลาย มีราคะเป็นต้น เกิดแต่ความเยื่อใย เกิดในตน เหมือน ย่านไทรเกิดแต่ต้นไทร ฉะนั้น กิเลสเป็นอันมาก ซ่านไป แล้วในกามทั้งหลาย เหมือนเถาย่านทรายรึงรัดไปแล้วในป่า สัตว์เหล่าใด ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่กิเลสนั้นว่ามีกิเลสใดเป็นเหตุ สัตว์เหล่านั้นย่อมบรรเทาซึ่งหมู่กิเลสนั้นได้ ท่านจงฟังเถิด ยักษ์ สัตว์เหล่าใดย่อมบรรเทาซึ่งหมู่กิเลสได้ สัตว์เหล่านั้น ย่อมข้ามพ้นซึ่งโอฆะอันข้ามได้โดยยาก ที่ยังไม่เคยข้ามแล้ว เพื่อความไม่เกิดอีก ฯ
จบสูจิโลมสูตรที่ ๕
ธรรมจริยสูตรที่ ๖
[๓๒๑] พระอริยเจ้าทั้งหลายกล่าวความประพฤติทั้งที่เป็นโลกิยและ โลกุตระทั้งสองนี้ คือ ความประพฤติธรรม พรหมจรรย์ ว่าเป็น (แก้วอันสูงสุด) ธรรมเครื่องอยู่อันสูงสุด ถึงแม้ บุคคลออกบวชเป็นบรรพชิต ถ้าบุคคลนั้นเป็นชาติปากกล้า ยินดีแล้วในความเบียดเบียนดุจเนื้อไซร้ ความเป็นอยู่ของ บุคคลนั้นเลวทราม ย่อมยังกิเลสธุลีมีราคะเป็นต้นของตนให้ เจริญ ภิกษุผู้ยินดีแล้วในความทะเลาะ ถูกธรรมคือโมหะ หุ้มห่อแล้ว ย่อมไม่รู้ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว แม้ อันเหล่าภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รักบอกแล้ว ภิกษุผู้ถูกอวิชชา หุ้มห่อแล้ว ทำตนที่อบรมแล้วให้ลำบากอยู่ ย่อมไม่รู้ความ เศร้าหมอง ย่อมไม่รู้ทางอันให้ถึงนรก เมื่อไม่รู้ก็เข้าถึง วินิบาต เข้าถึงครรภ์จากครรภ์ เข้าถึงที่มืดจากที่มืด ภิกษุผู้ เช่นนั้นแล ละไปแล้ว ย่อมเข้าถึงความทุกข์ ก็บุคคลใดผู้ มีการงานเศร้าหมองเห็นปานนี้ตลอดกาลนาน พึงเป็นผู้เต็ม แล้วด้วยบาป เหมือนหลุมคูถที่เต็มอยู่นานปี พึงเป็นหลุม เต็มด้วยคูถ ฉะนั้น บุคคลนั้นเป็นผู้มีกิเลสเครื่องยียวน หมดจดได้โดยยาก ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงรู้จัก บุคคลผู้อาศัยเรือน ผู้มีความปรารถนาลามก ผู้มีความดำริ ลามก ผู้มีอาจาระและโคจรลามกเห็นปานนี้ เธอทั้งปวงพึง เป็นผู้พร้อมเพรียงกันเว้นบุคคลนั้นเสีย จงกำจัดบุคคลผู้เป็น เพียงดังแกลบ จงคร่าบุคคลผู้เป็นเพียงดังหยากเยื่อออกเสีย แต่นั้นจงขับบุคคลลีบผู้ไม่ใช่สมณะแต่มีความสำคัญว่าเป็น สมณะไปเสีย ครั้นกำจัดบุคคลผู้มีความปรารถนาลามก มี อาจาระและโคจรลามกออกไปแล้ว เธอทั้งหลายผู้บริสุทธิ์ แล้ว มีความเคารพกันและกัน จงสำเร็จการอยู่ร่วมด้วย บุคคลผู้บริสุทธิ์ทั้งหลาย แต่นั้น เธอทั้งหลายผู้พร้อมเพรียง กัน มีปัญญาเครื่องรักษาตน จักกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ฯ
จบธรรมจริยสูตรที่ ๖
พราหมณธรรมิกสูตรที่ ๗
[๓๒๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล พราหมณ์มหาศาลชาว แคว้นโกศลเป็นอันมาก ผู้แก่เฒ่าเป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ เข้าไป เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่าน การปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วทูลถาม พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ บัดนี้ พวกพราหมณ์ย่อมปรากฏใน พราหมณธรรมของพวกพราหมณ์เก่าหรือ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ ทั้งหลาย บัดนี้ พวกพราหมณ์หาปรากฏในพราหมณธรรมของพวกพราหมณ์ เก่าไม่ ฯ พ. ขอประทานพระวโรกาส ขอท่านพระโคดมโปรดตรัสพราหมณธรรม ของพวกพราหมณ์เก่า แก่ข้าพระองค์ทั้งหลายเถิด ถ้าท่านพระโคดมไม่มีความหนัก พระทัย ฯ ภ. ดูกรพราหมณ์ทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น ท่านทั้งหลายจงตั้งใจ จงใส่ใจ ให้ดี เราจักกล่าว ฯ พราหมณ์มหาศาลเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสคาถาประพันธ์นี้ว่า [๓๒๓] ฤาษีทั้งหลายมีในครั้งก่อน สำรวมตน มีตบะละเบญจกาม- คุณแล้ว ได้ประพฤติประโยชน์ของตนๆ พวกพราหมณ์ แต่เก่าก่อนไม่มีสัตว์เลี้ยง ไม่มีเงิน ไม่มีสิ่งของต่างๆ พราหมณ์เหล่านั้น มีทรัพย์และข้าวเปลือกอันเป็นส่วนแห่ง การสาธยายมนต์ ได้รักษาขุมทรัพย์อันประเสริฐไว้ ภัตที่ ประตูเรือนทายกทั้งหลาย เริ่มทำตั้งไว้แล้วเพื่อพราหมณ์เหล่า นั้น ทายกทั้งหลายได้สำคัญภัตนั้นว่า เป็นของที่ตนควรให้ แก่พราหมณ์เหล่านั้น ผู้แสวงหาภัตที่เริ่มทำไว้แล้วด้วย ศรัทธา ชาวชนบท ชาวแว่นแคว้น ผู้มั่งคั่งด้วยผ้าที่ย้อม ด้วยสีต่างๆ และด้วยที่นอนและที่อยู่ ได้นอบน้อมพราหมณ์ เหล่านั้น พราหมณ์ทั้งหลายผู้อันธรรมรักษาแล้ว ใครๆ ไม่ พึงฆ่า ไม่พึงชนะ ใครๆ ไม่ห้ามพราหมณ์เหล่านั้น ที่ ประตูแห่งสกุลทั้งหลาย โดยประการทั้งปวง พราหมณ์เหล่า นั้นประพฤติพรหมจรรย์ตั้งแต่เป็นเด็กมาตลอดเวลาสี่สิบแปด ปี ได้เที่ยวไปแสวงหาวิชชาและจรณะในกาลก่อน พราหมณ์ เหล่านั้นไม่ไปหาหญิงอื่น ทั้งไม่ซื้อภรรยา อยู่ร่วมกันเพราะ ความรัก ชอบใจเสมอกันเท่านั้น พราหมณ์ผู้เป็นสามี ย่อม ไม่ร่วมกับภรรยาผู้เว้นจากฤดู นอกจากสมัยที่ควรจะร่วม พราหมณ์ย่อมไม่ร่วมเมถุนธรรมในระหว่างโดยแท้ พราหมณ์ ทั้งหลายสรรเสริญพรหมจรรย์ ศีล ความเป็นผู้ซื่อตรง ความ อ่อนโยน ตบะความสงบเสงี่ยม และความไม่เบียดเบียน และ แม้ความอดทน พราหมณ์ผู้เสมอด้วยพรหม ผู้มีความบาก บั่นมั่นคง เป็นผู้สูงสุดกว่าพราหมณ์เหล่านั้น และพราหมณ์ นั้นย่อมไม่เสพเมถุนธรรมโดยที่สุดความฝัน พราหมณ์บาง พวก ผู้มีชาติแห่งบุคคลผู้รู้แจ้งในโลกนี้ศึกษาตามวัตรของ พราหมณ์ผู้เสมอด้วยพรหมนั้นอยู่ ได้สรรเสริญพรหมจรรย์ ศีลและแม้ขันติ พราหมณ์ทั้งหลายขอข้าวสาร ที่นอน ผ้า เนยใสและน้ำมัน แล้วรวบรวมไว้โดยธรรม ได้กระทำยัญ คือ ทานแต่วัตถุ มีข้าวสารเป็นต้นที่เขาให้แล้วนั้น ในยัญที่ตน ตั้งไว้ พราหมณ์เหล่านั้นไม่ฆ่าแม่โคเลย มารดา บิดา พี่น้อง ชายหรือญาติเหล่าอื่น มิตรผู้ยิ่งใหญ่ ไม่ฆ่าแม่โค ซึ่งเป็นที่เกิด แห่งปัญจโครสอันเป็นยา ฉันใด แม่โคเหล่านี้ให้ข้าว ให้ กำลัง ให้วรรณะ และให้ความสุข พราหมณ์เหล่านั้น ทราบอำนาจประโยชน์นี้แล้ว จึงไม่ฆ่าแม่โคเลย ฉันนั้น พราหมณ์ทั้งหลายผู้ละเอียดอ่อน มีร่างกายใหญ่ มีวรรณะ มียศ ขวนขวายในกิจน้อยใหญ่ โดยธรรมของตน ได้ ประพฤติแล้วด้วยข้อปฏิบัติอันเป็นเหตุให้หมู่สัตว์นี้ถึงความ สุขในโลก ความวิปลาสได้มีแก่พราหมณ์เหล่านั้น เพราะ ได้เห็นกามสุขอัน (ลามก) น้อย ที่เกิดขึ้นจากกามคุณ อันเป็นของ (ลามก) น้อย พราหมณ์ทั้งหลายได้ ปรารถนาเพ่งเล็งสมบัติของพระราชา เหล่านารีที่ประดับ ดีแล้ว รถเทียมด้วยม้าอาชาไนย ที่สร้างตกแต่งไว้เป็นอย่างดี มีการขลิบอันวิจิตร พื้นที่เรือน เรือนที่สร้างกั้นเป็นห้องๆ และโภคสมบัติซึ่งเป็นของมนุษย์อันโอฬาร เกลื่อนกล่นไป ด้วยฝูงโค ประกอบไปด้วยหมู่นารีผู้ประเสริฐ พราหมณ์ เหล่านั้นผูกมนต์ในที่นั้นแล้ว ได้เข้าไปเฝ้าพระเจ้าโอกกาก- ราชในกาลนั้นกราบทูลว่า พระองค์มีทรัพย์และข้าวเปลือก มากมาย ขอเชิญพระองค์ทรงบูชายัญเถิด พระราชทรัพย์ เครื่องปลื้มใจของพระองค์มีมาก ลำดับนั้นแล พราหมณ์ ทั้งหลายยังพระราชาผู้ประเสริฐ ให้ทรงยินยอมบูชายัญ อัสสเมธะ ปุริสเมธะ (สัมมาปาสะ) วาชเปยยะ นิรัคคฬะ พระราชาทรงบูชายัญเหล่านี้แล้ว ได้พระราชาทานทรัพย์แก่ พราหมณ์ทั้งหลาย คือ แม่โค ที่นอน ผ้า เหล่านารีที่ ประดับดีแล้ว รถเทียมด้วยม้าอาชาไนย ที่สร้างตกแต่งไว้ เป็นอย่างดี มีการขลิบอันวิจิตร รับสั่งให้เอาธัญชาติต่างๆ บรรจุเรือนที่น่ารื่นรมย์ อันกั้นไว้เป็นห้องๆ จนเต็มทุกห้อง แล้วได้พระราชทานทรัพย์แก่พราหมณ์ทั้งหลาย ก็พราหมณ์ เหล่านั้นได้ทรัพย์ในที่นั้นแล้ว ชอบใจการสั่งสมเสมอ ตัณหาย่อมเจริญยิ่งแก่พราหมณ์เหล่านั้น ผู้มีความปรารถนา อันหยั่งลงแล้ว พราหมณ์เหล่านั้นผูกมนต์ในที่นั้นแล้ว ได้ เข้าเฝ้าพระเจ้าโอกกากราชอีก กราบทูลว่า แม่โคทั้งหลาย เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์สำหรับรับใช้ในสรรพกิจของมนุษย์ เหมือนน้ำ แผ่นดิน เงิน ทรัพย์ และข้าวเหนียว ฉะนั้น เพราะว่าน้ำเป็นต้นนั้นเป็นเครื่องใช้ของสัตว์ทั้งหลาย ขอ พระองค์ทรงบูชายัญเถิด ราชสมบัติของพระองค์มีมาก ขอ เชิญพระองค์ทรงบูชายัญเถิด พระราชทรัพย์ของพระองค์มี มาก ลำดับนั้นแล พราหมณ์ทั้งหลายยังพระราชาผู้ประเสริฐ ให้ทรงยินยอมบูชายัญแล้ว ในการบูชายัญ พระราชาทรง รับสั่งให้ฆ่าแม่โคหลายแสนตัว แม่โคทั้งหลายเสมอด้วยแพะ สงบเสงี่ยม ถูกเขารีดนมด้วยหม้อ ย่อมไม่เบียดเบียนด้วยเท้า ด้วยเขา ด้วยอวัยวะอะไรๆ โดยแท้ พระราชารับสั่งให้ จับแม่โคเหล่านั้นที่เขาแล้วให้ฆ่าด้วยศาตรา ลำดับนั้น เทวดา พระอินทร์ พระพรหม อสูรและผีเสื้อน้ำ ต่างเปล่ง วาจาว่า มนุษย์ไม่มีธรรม แล่นไปเพราะศาตราตกลงที่แม่โค โรคสามชนิด คือ ความปรารถนา ๑ อนสนัญชรา ๑ (ความแก่หง่อม) ๑ ความปรารภสัตว์ของเลี้ยง ๑ ได้มีในกาล ก่อน ได้แพร่โรคออกเป็น ๙๘ ชนิด บรรดาอาชญาทั้งหลาย อธรรมนี้เป็นของเก่า เป็นไปแล้ว แม่โคทั้งหลายผู้ไม่ ประทุษร้ายย่อมถูกฆ่า คนผู้บูชายัญทั้งหลายย่อมเสื่อมจาก ธรรม ธรรมอันเลวทรามนี้เป็นของเก่า วิญญูชนติเตียนแล้ว อย่างนี้ วิญญูชนเห็นธรรมอันเลวทรามเช่นนี้ในที่ใด ย่อม ติเตียนคนผู้บูชายัญในที่นั้นเมื่อธรรมของพราหมณ์เก่าฉิบหาย แล้วอย่างนี้ศูทรและแพศย์แตกกันแล้ว กษัตริย์เป็นอันมาก แตกกันแล้ว ภรรยาดูหมิ่นสามี กษัตริย์พราหมณ์ผู้เป็นเผ่า พันธุ์แห่งพรหม แพศย์และศูทรเหล่าอื่น ผู้อันโคตรรักษา แล้วทำวาทะว่าชาติให้ฉิบหายแล้ว ได้ตกอยู่ในอำนาจแห่ง กามทั้งหลาย ฯ [๓๒๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์มหาศาลเหล่า นั้นได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่ม แจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรง ประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของคว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยหวังว่าคนมีจักษุจักเห็นรูป ฉะนั้นข้าพระองค์เหล่านี้ขอถึงพระโคดมผู้เจริญ กับทั้งพระธรรมและพระภิกษุ สงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระองค์เหล่านี้ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึง สรณะตลอดชีวิต จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ
จบพราหมณธรรมิกสูตรที่ ๗
นาวาสูตรที่ ๘
[๓๒๕] ก็บุรุษพึงรู้แจ้งธรรมจากบุคคลใด พึงบูชาบุคคลนั้น เหมือน เทวดาบูชาพระอินทร์ ฉะนั้น บุคคลนั้นเป็นพหูสูต ผู้อัน- เตวาสิกบูชาแล้ว มีจิตเลื่อมใสอันเตวาสิกนั้น ย่อม ชี้แจงธรรมให้แจ่มแจ้ง บุรุษผู้มีปัญญา ไม่ประมาท คบบุคคลผู้เป็นพหูสูตเช่นนั้น กระทำธรรมนั้นให้มีประโยชน์ ใคร่ครวญแล้ว ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ย่อมเป็น ผู้รู้แจ่มแจ้ง แสดงธรรมแก่ผู้อื่นและเป็นผู้ละเอียด อัน- เตวาสิกซ่องเสพ อาจารย์ผู้ประกอบด้วยธรรมน้อย เป็นคน เขลา ผู้ยังไม่บรรลุประโยชน์และฤษยา ไม่ยังธรรมให้แจ่ม แจ้งในศาสนานี้เทียว ยังข้ามความสงสัยไม่ได้ ย่อม เข้าถึงความตาย บุคคลไม่ยังธรรมให้แจ่มแจ้งแล้ว ไม่ ใคร่ครวญเนื้อความในสำนัก แห่งบุคคลผู้เป็นพหูสูตทั้งหลาย ไม่รู้ด้วยตนเอง ยังข้ามความสงสัยไม่ได้ จะสามารถ ให้ผู้อื่นเพ่งพินิจได้อย่างไร เหมือนคนข้ามแม่น้ำที่มีน้ำมาก มีกระแสไหลเชี่ยว ถูกน้ำพัดลอยไปตามกระแสน้ำ จะ สามารถช่วยให้ผู้อื่นข้ามได้อย่างไร ฉะนั้น ผู้ใดขึ้นสู่เรือที่ มั่นคง มีพายุและถ่อพร้อมมูล ผู้นั้นรู้อุบายในเรือนั้น เป็นผู้ฉลาด มีสติ พึงช่วยผู้อื่นแม้จำนวนมากในเรือนั้นให้ ข้ามได้ แม้ฉันใด ผู้ใดไปด้วยมรรคญาณทั้ง ๔ อบรม ตนแล้ว เป็นพหูสูต ไม่มีความหวั่นไหวเป็นธรรมดา ผู้นั้น แลรู้ชัดอยู่ พึงยังผู้อื่นผู้ตั้งใจสดับและสมบูรณ์ด้วยธรรม อันเป็นอุปนิสัยให้เพ่งพินิจได้ ฉันนั้น เพราะเหตุนั้นแล บุคคลควรคบสัปบุรุษผู้มีปัญญา เป็นพหูสูต บุคคลผู้คบ บุคคลเช่นนั้น รู้ชัดเนื้อความแล้ว ปฏิบัติอยู่ รู้แจ้งธรรม แล้ว พึงได้ความสุข ฯ
จบนาวาสูตรที่ ๘
กึสีลสูตรที่ ๙
ท่านพระสารีบุตรทูลถามด้วยคาถาว่า [๓๒๖] นรชนพึงมีปรกติอย่างไร มีความประพฤติอย่างไร พึงพอก พูนกรรมเป็นไฉน จึงจะเป็นผู้ดำรงอยู่โดยชอบ และพึง บรรลุถึงประโยชน์อันสูงสุดได้ พระเจ้าข้า ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า นรชนพึงเป็นผู้ประพฤติอ่อนน้อมต่อบุคคลผู้เจริญ ไม่ริษยา และเมื่อไปหาครูก็พึงรู้จักกาล พึงรู้จักขณะ ฟังธรรมีกถา ที่ครูกล่าวแล้ว พึงฟังสุภาษิตโดยเคารพ พึงไปหาครูผู้ นั่งอยู่ในเสนาสนะของตนตามกาล ทำมานะดุจเสาให้พินาศ พึงประพฤติอ่อนน้อม พึงระลึกถึงเนื้อความแห่งภาษิต ธรรม คือบาลี ศีล พรหมจรรย์ และพึงประพฤติโดยเอื้อเฟื้อ ด้วยดี นรชนมีธรรมเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในธรรม ตั้งอยู่ในธรรม รู้จักวินิจฉัยธรรม ไม่พึงประพฤติถ้อยคำ ที่ประทุษร้ายธรรมเลย พึงให้กาลสิ้นไปด้วยภาษิตที่แท้ นรชน ละความรื่นเริง การพูดกระซิบ ความร่ำไร ความประทุษ- ร้าย ความหลอกลวงที่ทำด้วยมารยา ความยินดี ความถือตัว ความแข่งดี ความหยาบคาย และความหมกมุ่นด้วยกิเลส ดุจน้ำฝาด พึงเป็นผู้ปราศจากความมัวเมา ดำรงตนมั่น เที่ยวไป นรชนเช่นนั้น รู้แจ้งสุภาษิตที่เป็นสาระ รู้แจ้ง สูตรและสมาธิที่เป็นสาระ ปัญญาและสุตะ ย่อมไม่เจริญ แก่นรชนผู้เป็นคนผลุนผลัน เป็นคนประมาท ส่วนนรชน เหล่าใด ยินดีแล้วในธรรมที่พระอริยะเจ้าประกาศแล้ว นรชน เหล่านั้นเป็นผู้ประเสริฐกว่าสัตว์ที่เหลือด้วยวาจา ด้วยใจ และการงาน นรชนเหล่านั้นดำรงอยู่ด้วยดีแล้วในสันติ โสรัจจะ และสมาธิ ได้บรรลุถึงธรรมอันเป็นสาระแห่งสติ และปัญญา ฯ
จบกึสีลสูตรที่ ๙
อุฏฐานสูตรที่ ๑๐
[๓๒๗] เธอทั้งหลายจงลุกขึ้นเถิด จงนั่งเถิด เธอทั้งหลายจะได้ ประโยชน์อะไรด้วยความหลับ เพราะความหลับจะเป็น ประโยชน์อะไรแก่เธอทั้งหลาย ผู้เร่าร้อนเพราะโรค คือ กิเลสมีประการต่างๆ ถูกลูกศร คือ ราคะเป็นต้นแทงแล้ว ย่อยยับอยู่ เธอทั้งหลายจงลุกขึ้นเถิด จงนั่งเถิด จงหมั่น ศึกษาเพื่อสันติเถิด มัจจุราชอย่ารู้ว่าเธอทั้งหลายประมาท แล้ว ยังเธอทั้งหลายผู้ตกอยู่ในอำนาจให้ลุ่มหลงเลย เธอ ทั้งหลายจงข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นเหตุ ให้เทวดาและมนุษย์ผู้มีความต้องการอาศัยรูป เป็นต้น ดำรงอยู่ ขณะอย่าได้ล่วงเธอทั้งหลายไปเสีย เพราะว่าผู้ล่วงขณะเสีย แล้ว เป็นผู้ยัดเยียดกันในนรกเศร้าโศกอยู่ ความประมาท เป็นดุจธุลี ตกต้องแล้วเพราะความมัวเมาในปฐมวัยนอกนี้ ความประมาทเป็นดุจธุลี ตกต้องแล้วเพราะความมัวเมาใน วัย เพราะฉะนั้น กุลบุตรผู้เป็นบัณฑิต พึงถอนลูกศร คือ กิเลสมีราคะเป็นต้นของตนเสีย ด้วยความไม่ประมาทและ ด้วยวิชชา ฯ
จบอุฏฐานสูตรที่ ๑๐
ราหุลสูตรที่ ๑๑
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า [๓๒๘] เธอย่อมไม่ดูหมิ่นบัณฑิต เพราะการอยู่ร่วมกันเนืองๆ แล หรือ การทรงคบเพลิง เพื่อมนุษย์ทั้งหลาย เธอนอบน้อม แล้วแลหรือ ฯ พระราหุลกราบทูลว่า ข้าพระองค์ย่อมไม่ดูหมิ่นบัณฑิต เพราะการอยู่ร่วมกันเนืองๆ การทรงคบเพลิงเพื่อมนุษย์ทั้งหลาย ข้าพระองค์นอบน้อม แล้วเป็นนิตย์ ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เธอละกามคุณห้ามีรูปเป็นที่รัก เป็นที่รื่นรมย์ใจ ออกบวช ด้วยศรัทธาแล้ว จงกระทำที่สุดทุกข์เถิด เธอจงคบกัล- ยาณมิตร จงเสพที่นอนที่นั่งอันสงัดเงียบ ปราศจากเสียง กึกก้อง จงรู้จักประมาณในโภชนะ เธออย่าได้กระทำ ความอยากในวัตถุเป็นที่เกิดตัณหาเหล่านี้ คือ จีวร บิณฑบาต ที่นอน ที่นั่ง และปัจจัย เธออย่ากลับมาสู่โลกนี้อีก จงเป็น ผู้สำรวมในปาฏิโมกข์และในอินทรีย์ ๕ จงมีสติไปแล้วในกาย จงเป็นผู้มากไปด้วยความเบื่อหน่าย จงเว้นสุภนิมิต อันก่อ ให้เกิดความกำหนัด จงอบรมจิตให้มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ให้ตั้ง มั่นดีแล้วในอสุภภาวนา จงอบรมวิปัสสนา จงละมานานุสัย แต่นั้นเธอจักเป็นผู้สงบ เพราะการละมานะเที่ยวไป ฯ ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคตรัสสอนท่านพระราหุล ด้วยพระคาถาเหล่านี้ เนืองๆ ด้วยประการฉะนี้แล ฯ
จบราหุลสูตรที่ ๑๑
วังคีสสูตรที่ ๑๒
[๓๒๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่อัคคาฬวเจดีย์ ใกล้เมืองอาฬวี ก็สมัยนั้นแล พระเถระชื่อนิโครธกัปปะเป็นอุปัชฌายะ ของท่านพระวังคีสะ ปรินิพพานแล้วไม่นานที่อัคคาฬวเจดีย์ ครั้งนั้น ท่านพระวังคีสะหลีกเร้นอยู่ในที่ สงัด ได้เกิดความปริวิตกแห่งใจขึ้นอย่างนี้ว่า พระอุปัชฌายะของเราปรินิพพาน แล้วหรือหนอแล หรือว่ายังไม่ปรินิพพาน ครั้นเวลาเย็น ท่านพระวังคีสะ ออกจากที่หลีกเร้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ข้าพระองค์หลีกออกเร้นอยู่ในที่ลับ เกิดความปริวิตกแห่ง ใจขึ้นอย่างนี้ว่า พระอุปัชฌายะของเราปรินิพพานแล้วหรือหนอแล หรือว่ายัง ไม่ได้ปรินิพพาน ลำดับนั้น ท่านพระวังคีสะลุกจากอาสนะ กระทำจีวรเฉวียงบ่า ข้างหนึ่ง ประณมอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาค แล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค ด้วยคาถาว่า [๓๓๐] ข้าพระองค์ทั้งหลาย ขอทูลถามพระศาสดาผู้มีพระปัญญา ไม่ทราม ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงเห็นธรรมอันมั่นคง พระองค์ทรงขนานนามแห่งภิกษุผู้เป็นพราหมณ์ ผู้ตัดความ สงสัย มีชื่อเสียง มียศ ผู้คุ้มครองตนได้ มุ่งวิมุติ ปรารภ ความเพียร กระทำกาละที่อัคคาฬวเจดีย์ ที่ข้าพระองค์ได้ ประพฤตินอบน้อมท่านอยู่ว่า นิโครธกัปปะ นิพพานแล้ว ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้ศากยะ มีพระจักษุรอบคอบ แม้ ข้าพระองค์ทั้งหมดย่อมปรารถนาเพื่อจะรู้พระสาวกนั้น ข้า- พระองค์ทั้งหลายตั้งโสตไว้ชอบแล้วเพื่อจะฟัง พระองค์เป็น พระศาสดาผู้ยอดเยี่ยมของข้าพระองค์ทั้งหลาย ขอทรงโปรด ตรัสความสงสัยของข้าพระองค์ทั้งหลาย ขอพระองค์ตรัส บอกความข้อนี้แก่ข้าพระองค์เถิด ข้าแต่พระองค์ผู้มีปัญญา เสมอด้วยแผ่นดิน มีพระจักษุรอบคอบ ขอพระองค์โปรด ตรัสบอกภิกษุผู้เป็นพราหมณ์ผู้ปรินิพพานแล้ว อนึ่ง ขอ พระองค์ตรัสในท่ามกลางข้าพระองค์ทั้งหลาย เหมือนอย่าง ท้าวสหัสสเนตร พระนามว่าสักกะ ย่อมตรัสในท่ามกลางแห่ง เทวดาทั้งหลาย ฉะนั้น กิเลสเครื่องร้อยรัดเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ในโลกนี้ เป็นทางแห่งโมหะ เป็นฝักฝ่ายแห่งความไม่รู้ เป็นที่ตั้งแห่งความสงสัย กิเลสเครื่องร้อยรัดเหล่านั้น มา ถึงพระตถาคตผู้มีจักษุผู้ยิ่งกว่านระทั้งหลายแล้วย่อมไม่มี ก็ ถ้าว่า พระผู้มีพระภาคผู้เป็นบุรุษจะไม่พึงกำจัดเหล่ากิเลสเสีย โดยส่วนเดียว เหมือนลมไม่พึงกำจัดเมฆไซร้ สัตว์โลก ทั้งหมดถูกความไม่รู้ปกคลุมแล้ว พึงเป็นโลกมืด เหมือน โลกที่ถูกเมฆปกคลุมแล้วเป็นโลกมืด ฉะนั้น นรชนทั้งหลาย แม้มีความรุ่งเรือง จะไม่พึงเดือดร้อน ส่วนนักปราชญ์ ทั้งหลาย เป็นผู้กระทำความรุ่งเรือง ข้าแต่พระองค์ผู้เป็น นักปราชญ์ เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์ย่อมสำคัญพระองค์ว่า เป็นนักปราชญ์ และว่าผู้กระทำความรุ่งเรือง เหมือนอย่าง นั้นนั่นแล ข้าพระองค์ทั้งหลายทราบอยู่ ซึ่งพระผู้มีพระภาค ผู้เห็นแจ่มแจ้ง จึงเข้ามาเฝ้า ขอพระองค์โปรดตรัสบอก ทรงกระทำให้แจ่มแจ้งซึ่งภิกษุชื่อนิโครธกัปปะ แก่ข้าพระองค์ ทั้งหลายในบริษัทเถิด พระองค์ผู้มีพระดำรัสไพเราะ ขอ จงตรัสถ้อยคำอันไพเราะเถิด ขอพระองค์จงค่อยเปล่งด้วย พระสุรเสียงอันพระองค์ทรงกำหนดดีแล้ว เหมือนหมู่หงส์ ยกคอขึ้นแล้ว ค่อยๆ เปล่งเสียงอันไพเราะ ฉะนั้น ข้าพระองค์ทั้งหมดเป็นผู้ปฏิบัติตรง จะคอยฟังพระดำรัส อันไพเราะของพระองค์ ข้าพระองค์ขอทูลวิงวอนให้พระองค์ ผู้ละชาติและมรณะได้แล้ว ทรงกำจัดบาปไม่มีส่วนเหลือ ให้ทรงแสดงธรรม การกระทำความใคร่หามีแก่ปุถุชนทั้งหลาย ไม่ ส่วนการกระทำความพิจารณาย่อมมีแก่พระตถาคตทั้งหลาย ไวยากรณ์อันสมบูรณ์นี้ เป็นของพระองค์ผู้มีพระปัญญา ผุดขึ้นดี ทรงเรียนดีแล้ว ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้มีพระปัญญา ไม่ทราม อัญชลีมีในภายหลังนี้ ข้าพระองค์ประฌมดีแล้ว พระองค์ทรงทราบอยู่ซึ่งคติของภิกษุชื่อนิโครธกัปปะ อย่าได้ ทรงทำข้าพระองค์ให้หลงเลย ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้มีความ เพียรไม่ทราม พระองค์ทรงรู้แจ้งอริยธรรมอันประเสริฐยิ่ง ทรงทราบอยู่ซึ่งไญยธรรมทั้งปวง อย่าได้ทรงทำข้าพระองค์ ให้หลงเลย ข้าพระองค์หวังจะได้สดับพระดำรัสของพระองค์ อยู่ เหมือนบุรุษผู้ร้อนแล้วเพราะความร้อนในฤดูร้อน หวังจะ ได้น้ำ ฉะนั้น ขอพระองค์จงยังสัททายตนะ คือ สุตะให้ ตกเถิด ภิกษุชื่อนิโครธกัปปะได้ประพฤติพรหมจรรย์ ตาม ความปรารถนา พรหมจรรย์อะไรๆ ของท่านไม่เปล่า นิพพาน แล้ว ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุหรือ หรือว่าเป็นผู้พ้น วิเศษแล้วยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ข้าพระองค์ทั้งหลายจะขอ ฟังความข้อนั้น ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบด้วยพระคาถาว่า ภิกษุชื่อนิโครธกัปปะ ได้ตัดตัณหาในนามรูปนี้ ที่เป็นกระแส แห่งกัณหมาร อันนอนเนื่องแล้วสิ้นกาลนาน เธอได้ ข้ามพ้นชาติและมรณะไม่มีส่วนเหลือ ปรินิพพานแล้วด้วย อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ พระผู้มีพระภาค ผู้ประเสริฐสุด ด้วยอินทรีย์ ๕ เป็นต้น ได้ตรัสอย่างนี้ ฯ ท่านพระวังคีสะกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์นี้ได้ฟังแล้ว ย่อมเลื่อมใส พระดำรัสของพระองค์ ได้ยินว่า ข้าพระองค์ได้ทูลถามถึง พรหมจรรย์อันไม่เปล่า พระองค์ผู้เป็นพราหมณ์ไม่ลวงข้า พระองค์ พระสาวกของพระพุทธเจ้า เป็นผู้มีปรกติกล่าว อย่างใด กระทำอย่างนั้น ได้ตัดข่ายอันมั่นคงนั้นๆ ของ มัจจุราชผู้มีมายาขาดแล้ว ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ภิกษุ ชื่อนิโครธกัปปะผู้สมควร ได้เห็นเบื้องต้นแห่งอุปาทาน ได้ล่วงบ่วงมารที่ข้ามได้แสนยากแล้วหนอ ฯ
จบวังคีสสูตรที่ ๑๒
สัมมาปริพพาชนิยสูตรที่ ๑๓
พระพุทธนิมิตตรัสถามด้วยพระคาถาว่า [๓๓๑] เราขอถามมุนีผู้มีปัญญามาก ผู้ข้ามถึงฝั่ง ปรินิพพานแล้ว ดำรงตนมั่น ภิกษุนั้นบรรเทากามทั้งหลายแล้ว พึงเว้น รอบโดยชอบในโลกอย่างไร ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ภิกษุใด ถอนการถือความเกิด ความฝันและลักษณะว่า เป็นมงคลขึ้นได้แล้ว ภิกษุนั้นละมงคลอันเป็นโทษได้แล้ว พึงเว้นรอบโดยชอบในโลก ภิกษุพึงนำเสียซึ่งความกำหนัด ในกามทั้งหลาย ทั้งที่เป็นของมนุษย์ ทั้งที่เป็นของทิพย์ ภิกษุนั้นตรัสรู้ธรรมแล้ว ก้าวล่วงภพได้แล้ว พึงเว้นรอบ โดยชอบในโลก ภิกษุกำจัดคำส่อเสียดแล้ว พึงละความ โกรธ ความตระหนี่ ภิกษุนั้นละความยินดีและความ ยินร้ายได้แล้ว พึงเว้นรอบโดยชอบในโลก ภิกษุละสัตว์ และสังขารอันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รักแล้ว ไม่ถือมั่น อัน ตัณหาและทิฐิไม่อาศัยแล้วในภพไหนๆ หลุดพ้นแล้วจาก ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ พึงเว้นรอบโดยชอบในโลก ภิกษุนั้น กำจัดเสียแล้วซึ่งความกำหนัดด้วยอำนาจแห่งความ พอใจในความยึดถือทั้งหลาย ย่อมไม่เห็นความเป็นสาระ ในอุปธิทั้งหลาย ภิกษุนั้นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยแล้ว อันใครๆ พึงนำไปไม่ได้ พึงเว้นรอบโดยชอบในโลก ภิกษุนั้นไม่ผิดพลาดด้วยวาจาใจและการงานแล้ว รู้แจ้ง แล้วซึ่งธรรมโดยชอบ ปรารถนาบทคือนิพพานอยู่ พึงเว้น รอบโดยชอบในโลก ภิกษุใดประสบอยู่ ไม่พึงยึดถือ ว่าเราแม้ถูกด่าก็ไม่พึงผูกโกรธ ได้โภชนะที่ผู้อื่นให้แล้ว ไม่พึงประมาทมัวเมา ภิกษุนั้นพึงเว้นรอบโดยชอบในโลก ภิกษุละความโลภและภพแล้ว งดเว้นจากการตัดและการ จองจำสัตว์อื่น ข้ามพ้นความสงสัย ไม่มีกิเลสดุจลูกศร พึงเว้นรอบโดยชอบในโลก ภิกษุรู้แจ้งความปฏิบัติอันสมควร แก่ตน และรู้แจ้งธรรมตามความเป็นจริงแล้ว ไม่พึงเบียด- เบียนสัตว์ไรๆ ในโลก พึงเว้นรอบโดยชอบในโลก ภิกษุ ใดไม่มีอนุสัย ถอนอกุศลมูลอะไรๆ ขึ้นได้แล้ว ภิกษุ นั้นไม่มีความหวัง ไม่มีตัณหา พึงเว้นรอบโดยชอบ ในโลก ภิกษุผู้สิ้นอาสวะ ละมานะได้แล้ว ก้าวล่วง ธรรมชาติอันเป็นทางแห่งราคะได้หมด ฝึกฝนตน ดับกิเลส ได้แล้ว มีจิตตั้งมั่น พึงเว้นรอบโดยชอบในโลก ภิกษุผู้ มีศรัทธาได้สดับแล้ว เห็นมรรค ไม่แล่นไปด้วยอำนาจ ทิฐิในสัตว์ทั้งหลายผู้ไปแล้วด้วยทิฐิ ภิกษุนั้นเป็นนักปราชญ์ กำจัดเสียซึ่งโลภะ โทสะ และปฏิฆะ พึงเว้นรอบ โดยชอบในโลก ภิกษุนั้นชนะกิเลสด้วยอรหัตมรรคอันหมด จดดี มีกิเลสดุจหลังคาเปิดแล้ว มีความชำนาญในธรรม ทั้งหลาย ถึงนิพพาน ไม่มีความหวั่นไหว ฉลาดในญาณ อันเป็นที่ดับสังขาร พึงเว้นรอบโดยชอบในโลก ภิกษุ ล่วงความกำหนดว่าเราว่าของเรา ในปัญจขันธ์ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต มีปัญญาบริสุทธิ์ก้าวล่วงทั้ง ๓ กาล หลุด พ้นแล้วจากอายตนะทั้งปวง พึงเว้นรอบโดยชอบในโลก ภิกษุผู้รู้บทแห่งสัจจะทั้งหลาย ตรัสรู้ธรรม เห็นการละ อาสวะทั้งหลายเป็นวิวฏะ (นิพพาน) ไม่ข้องอยู่ในภพไหนๆ เพราะความหมดสิ้นไปแห่งอุปธิทั้งปวง พึงเว้นรอบโดยชอบ ในโลก ฯ พระพุทธนิมิตตรัสพระคาถาว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนี้เป็นอย่างนั้นแน่แท้ทีเดียว ภิกษุ ใดมีปรกติอยู่อย่างนี้ ฝึกฝนตนแล้ว ล่วงธรรมเป็นที่ตั้ง แห่งสังโยชน์ทั้งปวง ภิกษุนั้นพึงเว้นรอบโดยชอบในโลก ฯ
จบสัมมาปริพพาชนิยสูตรที่ ๑๓
ธรรมิกสูตรที่ ๑๔
[๓๓๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ธรรมิกอุบาสก พร้อมด้วยอุบาสก ๕๐๐ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า [๓๓๓] ข้าแต่พระโคดมผู้มีพระปัญญาเสมอด้วยแผ่นดิน ข้าพระองค์ขอ ทูลถามพระองค์ อุบาสกผู้ออกบวชเป็นบรรพชิตก็ดี อุบาสก ผู้ยังอยู่ครองเรือนอีกก็ดี บรรดาสาวกทั้งสองพวกนี้สาวก กระทำอย่างไรจึงจะเป็นผู้ยังประโยชน์ให้สำเร็จ พระองค์ เท่านั้นแล ทรงทราบชัดซึ่งคติและความสำเร็จของโลกพร้อม ทั้งเทวโลก บุคคลผู้เห็นประโยชน์อันละเอียดเช่นกับพระ องค์ย่อมไม่มี บัณฑิตทั้งหลายย่อมกล่าวพระองค์แล ว่าเป็น พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ พระองค์ทรงแทงตลอดไญยธรรม ทรงอนุเคราะห์เหล่าสัตว์ ได้ทรงประกาศพระญาณและธรรม ทั้งปวง ข้าแต่พระโคดมผู้มีพระจักษุรอบคอบ พระองค์ผู้มี กิเลสดุจหลังคาที่เปิดแล้ว เป็นผู้ปราศจากมลทิน ไพโรจน์ อยู่ในโลกทั้งปวง พญาช้าง (เทพบุตร) ชื่อเอราวัณ ทราบว่า พระผู้มีพระภาคนี้ทรงชนะบาปธรรม ดังนี้แล้ว ได้ไปในสำนักของพระองค์ พญาช้างเอราวัณแม้นั้นทูลถาม ปัญหากะพระองค์ ได้สดับปัญหาแล้วซ้องสาธุการชื่นชม ยินดี ได้บรรลุธรรมไปแล้ว แม้พระราชาพระนามว่า เวสสวัณกุเวรก็เข้าเฝ้าพระองค์ทูลไต่ถามธรรมอยู่ พระองค์ อันพระราชาพระนามว่าเวสสวัณกุเวรแม้นั้นแล ทูลถามแล้ว ย่อมตรัสบอก ท้าวเวสสวัณกุเวรแม้นั้นแล ได้สดับปัญหาแล้ว ทรงชื่นชมยินดี ได้เสด็จไปแล้ว พวกเดียรถีย์ก็ดี อาชีวกก็ดี นิครนถ์ก็ดี ผู้มีปรกติกระทำวาทะทั้งหมดนี้ย่อมไม่เกินพระองค์ ด้วยปัญญา เหมือนบุคคลผู้หยุดอยู่ ไม่พึงเกินคนเดินเร็วซึ่ง เดินอยู่ ฉะนั้น พวกพราหมณ์ก็ดี แม้พวกพราหมณ์ผู้เฒ่าก็ดี ผู้มีปรกติกระทำวาทะเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีอยู่ และแม้ชนเหล่า อื่นสำคัญอยู่ว่า เราทั้งหลายผู้มีปรกติกระทำวาทะ ชนเหล่า นั้นทั้งหมด เป็นผู้เนื่องด้วยประโยชน์ในพระองค์ ข้าแต่ พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทั้งหมดกำลังคอยฟังด้วยดี ซึ่ง ธรรมที่ละเอียดและนำความสุขมาให้ อันพระองค์ตรัสดีแล้ว นี้ ข้าแต่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ พระองค์อันข้าพระองค์ ทั้งหลายทูลถามแล้ว ได้โปรดตรัสบอกความข้อนั้น แก่ข้า พระองค์ทั้งหลาย ภิกษุกับทั้งอุบาสกเหล่านี้แม้ทั้งหมดนั่ง ประชุมกันแล้วในที่นั้นแหละ เพื่อจะฟังขอจงตั้งใจฟังธรรม ที่พระผู้มีพระภาคผู้ไม่มีมลทินตรัสรู้แล้ว เหมือนเทวดา ทั้งหลายตั้งใจฟังสุภาษิตของท้าววาสวะ ฉะนั้น ฯ พระผู้มีพระภาค เพื่อจะทรงแสดงปฏิปทาของบรรพชิตก่อน ตรัสเรียก ภิกษุทั้งหลายมาแล้ว จึงตรัสพระคาถาว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังเรา เราจะยังเธอ ทั้งหลายให้ฟังธรรมอันกำจัดกิเลส และเธอทั้งปวงจงประ พฤติธรรมอันกำจัดกิเลสนั้น ภิกษุผู้มีปัญญาความคิด ผู้เห็น ประโยชน์ พึงเสพอิริยาบถอันสมควรแก่บรรพชิตนั้น ภิกษุ ไม่พึงเที่ยวไปในเวลาวิกาลเลย อนึ่งภิกษุพึงเที่ยวไปเพื่อ บิณฑบาตในบ้านในกาล ด้วยว่าธรรมเป็นเครื่องข้องทั้งหลาย ย่อมข้องภิกษุผู้เที่ยวไปในกาลอันไม่สมควรไว้ เพราะเหตุ นั้น ท่านผู้รู้ทั้งหลายย่อมไม่เที่ยวไปในเวลาวิกาล รูป เสียง กลิ่น รส และผัสสะ ย่อมยังสัตว์ทั้งหลายให้มัวเมา ภิกษุนั้น กำจัดเสียแล้วซึ่งความพอใจในธรรมเหล่านี้ พึงเข้าไปยัง โอกาสที่จะพึงบริโภคอาหารในเวลาเช้าโดยกาล อนึ่ง ภิกษุ ได้บิณฑบาตแล้วตามสมัย พึงกลับไปนั่งในที่สงัดแต่ผู้ เดียว ภิกษุผู้สงเคราะห์อัตภาพแล้ว คิดถึงขันธสันดาน ในภายใน ไม่พึงส่งใจไปในภายนอก ถ้าแม้ว่าภิกษุนั้น พึงเจรจากับสาวกอื่น หรือกับภิกษุรูปไรๆ ไซร้ ภิกษุนั้นพึง กล่าวธรรมอันประณีต ไม่พึงกล่าวคำส่อเสียด ทั้งไม่พึง กล่าวคำติเตียนผู้อื่น ก็บุคคลบางพวกย่อมประถ้อยคำกัน เราย่อมไม่สรรเสริญบุคคลเหล่านั้นผู้มีปัญญาน้อย ความ เกี่ยวข้องด้วยการวิวาท เกิดจากคลองแห่งคำนั้นๆ ย่อม ข้องบุคคลเหล่านั้นไว้ เพราะบุคคลเหล่านั้นส่งจิตไปในที่ไกล จากสมถะและวิปัสสนา สาวกผู้มีปัญญาดี ฟังธรรมที่พระสุคต ทรงแสดงแล้ว พิจารณาบิณฑบาต ที่อยู่ ที่นอน ที่นั่ง น้ำ และการซักมลทินผ้าสังฆาฏิแล้วพึงเสพ เพราะเหตุนั้น แล ภิกษุไม่ติดแล้วในธรรมเหล่านี้ คือ บิณฑบาต ที่นอน ที่นั่ง น้ำ และการซักมลทินผ้าสังฆาฏิ เหมือนหยาดน้ำ ไม่ติดในใบบัว ฉะนั้น ก็เราจะบอกวัตรแห่งคฤหัสถ์แก่เธอ ทั้งหลาย สาวกกระทำอย่างไรจึงจะเป็นผู้ยังประโยชน์ให้ สำเร็จ จริงอยู่สาวกไม่พึงได้เพื่อจะถูกต้องธรรมของภิกษุ ล้วนด้วยอาการที่มีความหวงแหน สาวกวางอาชญาในสัตว์ ทุกหมู่เหล่า ทั้งผู้ที่มั่นคงทั้งผู้ที่ยังสะดุ้งในโลกแล้ว ไม่พึง ฆ่าสัตว์เอง ไม่พึงใช้ผู้อื่นให้ฆ่า และไม่พึงอนุญาตให้ผู้อื่นฆ่า แต่นั้น สาวกรู้อยู่ พึงเว้นสิ่งที่เขาไม่ให้อะไรๆ ในที่ไหนๆ ไม่พึงใช้ให้ผู้อื่นลัก ไม่พึงอนุญาตให้ผู้อื่นลัก พึงเว้นวัตถุ ที่เจ้าของเขาไม่ให้ทั้งหมด สาวกผู้รู้แจ้งพึงเว้นอพรหมจรรย์ เหมือนบุคคลเว้นหลุมถ่านเพลิงที่ไฟลุกโชน ฉะนั้น แต่ เมื่อไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ ก็ไม่พึงก้าวล่วงภรรยา ของผู้อื่น ก็สาวกผู้อยู่ในที่ประชุมก็ดี อยู่ในท่ามกลางบริษัท ก็ดี ไม่พึงกล่าวเท็จแก่บุคคลผู้หนึ่ง ไม่พึงให้ผู้อื่นกล่าว คำเท็จ ไม่พึงอนุญาตให้ผู้อื่นกล่าวเท็จ พึงเว้นคำไม่เป็นจริง ทั้งหมด สาวกผู้เป็นคฤหัสถ์ไม่พึงดื่มน้ำเมา พึงชอบใจธรรมนี้ ไม่พึงใช้ให้ผู้อื่นดื่ม ไม่พึงอนุญาตให้ผู้อื่นดื่ม เพราะทราบ ชัดการดื่มน้ำเมานั้นว่า มีความเป็นบ้าเป็นที่สุด คนพาล ทั้งหลายย่อมกระทำบาปเอง และใช้คนอื่นผู้ประมาทแล้ว ให้กระทำบาป เพราะความเมานั่นเอง สาวกพึงเว้นความ เป็นบ้า ความหลงที่คนพาลใคร่แล้ว อันเป็นบ่อเกิดแห่ง บาปนี้ ไม่พึงฆ่าสัตว์ ไม่พึงถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ไม่พึงพูดมุสา ไม่พึงดื่มน้ำเมา พึงเว้นจากเมถุนธรรมอันเป็น ความประพฤติไม่ประเสริฐ ไม่พึงบริโภคโภชนะในเวลา วิกาลในราตรี ไม่พึงทัดทรงดอกไม้และไม่พึงลูบไล้ของหอม พึงนอนบนเตียงหรือบนพื้นดินที่เขาลาดแล้ว บัณฑิตทั้งหลาย กล่าวอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้แล ว่าอัน พระพุทธเจ้าผู้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ทรงประกาศไว้แล้ว แต่นั้น สาวกผู้มีใจเลื่อมใส พึงเข้าจำอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการให้บริบูรณ์ดี ตลอดวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักข์ และตลอดปาฏิหาริกปักข์ แต่นั้นสาวกผู้รู้แจ้ง เข้าจำอุโบสถอยู่แต่เช้าแล้ว มีจิตเลื่อมใส ชื่นชมอยู่ เนืองๆ พึงแจกจ่ายภิกษุสงฆ์ด้วยข้าวและน้ำตามควร พึงเลี้ยง มารดาและบิดาด้วยโภคสมบัติที่ได้มาโดยชอบธรรม พึงประ- กอบการค้าขายอันชอบธรรม ไม่ประมาท ประพฤติวัตรแห่ง คฤหัสถ์นี้อยู่ ย่อมเข้าถึงเหล่าเทวดาชื่อว่าสยัมปภา ผู้มี รัศมีในตน ฯ
จบธรรมิกสูตรที่ ๑๔
จบจูฬวรรคที่ ๒
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. รัตนสูตร ๒. อามคันธสูตร ๓. หิริสูตร ๔. มงคลสูตร ๕. สูจิโลม- *สูตร ๖. ธรรมจริยสูตร ๗. พราหมณธรรมิกสูตร ๘. นาวาสูตร ๙. กึสีลสูตร ๑๐. อุฏฐานสูตร ๑๑. ราหุลสูตร ๑๒. วังคีสสูตร ๑๓. สัมมาปริพพาชนิยสูตร ๑๔. ธรรมิกสูตร ฯ
ท่านผู้รู้ทั้งหลายกล่าวพระสูตร ๑๔ สูตรว่าจูฬวรรคแล ฯ
-----------------------------------------------------
สุตตนิบาต มหาวรรคที่ ๓
ปัพพชาสูตรที่ ๑
ท่านพระอานนท์กล่าวคาถาว่า [๓๕๔] ข้าพเจ้าจักสรรเสริญบรรพชา อย่างที่พระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุ ทรงบรรพชา ข้าพเจ้าจักสรรเสริญบรรพชา อย่างที่พระพุทธ- เจ้าพระองค์นั้นทรงทดลองอยู่ ทรงพอพระทัยบรรพชา ด้วยดี พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่า ฆราวาสนี้คับแคบ เป็นบ่อ เกิดแห่งธุลี และทรงเห็นว่า บรรพชาปลอดโปร่ง จึงทรง บรรพชา พระพุทธเจ้าครั้นทรงบรรพชาแล้ว ทรงเว้นบาปกรรม ทางกาย ทรงละวจีทุจริต ทรงชำระอาชีพให้หมดจด พระ พุทธเจ้ามีพระลักษณะอันประเสริฐมากมาย ได้เสด็จถึงกรุง ราชคฤห์ เสด็จเที่ยวไปยังคิริพชนคร แคว้นมคธ เพื่อ บิณฑบาตพระเจ้าพิมพิสารประทับยืนอยู่บนปราสาท ได้ทอด พระเนตรเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้สมบูรณ์ด้วยลักษณะ จึงได้ตรัสเนื้อความนี้ว่า แน่ะท่านผู้เจริญทั้งหลาย ท่านทั้งหลาย จงดูภิกษุรูปนี้เถิด ภิกษุรูปนี้มีรูปงามสมบูรณ์ มีฉวีวรรณ บริสุทธิ์ ถึงพร้อมด้วยการเที่ยวไป และเพ่งดูเพียงชั่วแอก มีจักษุทอดลง มีสติ ภิกษุรูปนี้หาเหมือนผู้บวชจากสกุลต่ำ ไม่ ราชทูตทั้งหลายจงรีบไปเถิด เพื่อทราบว่าภิกษุรูปนี้จัก ไป ณ ที่ไหน ราชทูตที่พระเจ้าพิมพิสารส่งไปเหล่านั้น ได้ติดตามไปข้างหลังเพื่อทราบว่า ภิกษุรูปนี้จะไปที่ไหน จักอยู่ ณ ที่ไหน พระพุทธเจ้าเสด็จไปตามลำดับตรอก ทรง คุ้มครองทวาร สำรวมดีแล้ว มีพระสติสัมปชัญญะ ได้ทรง ยังบาตรให้เต็มเร็ว พระองค์ผู้เป็นมุนี เสด็จเที่ยวบิณฑบาต แล้ว เสด็จออกจากพระนคร เสด็จไปยังปัณฑวบรรพต ด้วยทรงพระดำริว่า จักประทับอยู่ ณ ที่นั้น ราชทูตทั้ง ๓ เห็นพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปสู่ที่ประทับ จึงพากันเข้าไปเฝ้า คนหนึ่งกลับมากราบทูลแต่พระราชาว่า ขอเดชะ ภิกษุรูปนั้น นั่งอยู่เบื้องหน้าภูเขาปัณฑวะ เหมือนเสือโคร่ง โคอุสุภราช และราชสีห์ในถ้ำ ฉะนั้น พระมหากษัตริย์ ทรงสดับคำของ ราชทูตแล้ว รีบด่วนเสด็จไปยังปัณฑวบรรพตด้วยยานอันอุดม ท้าวเธอเสด็จไปตลอดพื้นที่แห่งยานแล้ว เสด็จลงจากยาน เสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาท เข้าไปถึงปัณฑวบรรพตนั้น แล้ว ประทับนั่ง ครั้นแล้วได้ทรงสนทนาปราศรัย ครั้นผ่าน การปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้ตรัสเนื้อความนี้ว่า ท่านยังหนุ่มแน่น ตั้งอยู่ในปฐมวัย สมบูรณ์ด้วยความเฟื่อง ฟูแห่งวรรณะ เหมือนกษัตริย์ผู้มีพระชาติ ท่านยังหมู่พล ให้งามอยู่ ผู้อันหมู่ประเสริฐห้อมล้อมแล้ว ข้าพเจ้าจะให้ โภคสมบัติ ขอเชิญท่านบริโภคโภคสมบัติเถิด ท่านอัน ข้าพเจ้าถามแล้วขอจงบอกชาติแก่ข้าพเจ้าเถิด ฯ พระพุทธเจ้าตรัสพระคาถาตอบว่า ดูกรมหาบพิตร ชนบทแห่งแคว้นโกศลซึ่งเป็นที่อยู่ข้าง หิมวันตประเทศ สมบูรณ์ด้วยทรัพย์และความเพียร อาตมภาพ โดยโคตรชื่ออาทิตย์ โดยชาติชื่อศากยะ ไม่ปรารถนากาม เป็นผู้ออกบวชจากสกุลนั้น อาตมภาพเห็นโทษในกาม ทั้งหลาย เห็นการบรรพชาเป็นที่ปลอดโปร่ง จักไปเพื่อความ เพียร ใจของอาตมภาพยินดีในความเพียรนี้ ฯ
จบปัพพชาสูตรที่ ๑
ปธานสูตรที่ ๒
[๓๕๕] มารได้เข้ามาหาเราผู้มีตนส่งไปแล้วเพื่อความเพียร บากบั่น อย่างยิ่ง เพ่งอยู่ ที่ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เพื่อบรรลุนิพพาน อันเกษมจากโยคะ กล่าววาจาน่าเอ็นดูว่า ท่านผู้ซูบผอม มีผิว พรรณเศร้าหมอง ความตายของท่านอยู่ในที่ใกล้ เหตุแห่ง ความตายของท่านมีตั้งพันส่วน ความเป็นอยู่ของท่านมีส่วน เดียว ชีวิตของท่านผู้ยังเป็นอยู่ประเสริฐกว่า เพราะว่าท่าน เป็นอยู่จักกระทำบุญได้ ท่านประพฤติพรหมจรรย์ และบูชา ไฟอยู่ ย่อมสั่งสมบุญได้มาก ท่านจักทำประโยชน์อะไรด้วย ความเพียร ทางเพื่อความเพียรพึงดำเนินไปได้ยาก กระทำได้ ยาก ให้เกิดความยินดีได้ยาก มารได้ยืนกล่าวคาถาเหล่านี้ใน สำนักของพระพุทธเจ้า พระผู้มีพระภาคตรัสคาถาประพันธ์ นี้กะมารผู้กล่าวอย่างนั้นว่า แน่ะมารผู้มีบาป ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ ของคนประมาท ท่านมาในที่นี้ด้วยความต้องการอันใด ความ ต้องการอันนั้นด้วยบุญ แม้มีประมาณน้อย ก็ไม่มีแก่เรา ส่วน ผู้ใดมีความต้องการบุญ มารควรจะกล่าวกะผู้นั้น เรามีศรัทธา ตบะ วิริยะ และปัญญา ท่านถามเราแม้ผู้มีตนส่งไปแล้ว ผู้เป็นอยู่อย่างนี้เพราะเหตุไร ลมนี้พึงพัดกระแสแม่น้ำทั้ง หลายให้เหือดแห้งไปได้ เลือดน้อยหนึ่งของเราผู้มีใจเด็ด เดี่ยวไม่พึงเหือดแห้ง เมื่อโลหิตเหือดแห้งไปอยู่ ดีและเสลษม์ ย่อมเหือดแห้งไป เมื่อเนื้อสิ้นไปอยู่ จิตย่อมเลื่อมใสโดยยิ่ง สติปัญญา และสมาธิของเรา ย่อมตั้งมั่นโดยยิ่ง เรานั้นถึงจะ ได้รับเวทนาอันแรงกล้าอยู่อย่างนี้ จิตย่อมไม่เพ่งเล็งกาม ทั้งหลาย ท่านจงดูความที่สัตว์เป็นผู้บริสุทธิ์ กามทั้งหลาย เรากล่าวว่าเป็นเสนาที่ ๑ ของท่าน ความไม่ยินดีเรากล่าวว่า เป็นเสนาที่ ๒ ของท่าน ความหิวและความระหาย เรากล่าว ว่าเป็นเสนาที่ ๓ ของท่าน ตัณหา เรากล่าวว่าเป็นเสนา ที่ ๔ ของท่าน ถีนมิทธะ เรากล่าวว่าเป็นเสนาที่ ๕ ของ ท่าน ความขลาดกลัว เรากล่าวว่าเป็นเสนาที่ ๖ ของท่าน ความสงสัย เรากล่าวว่าเป็นเสนาที่ ๗ ของท่าน ความลบหลู่ ความหัวดื้อ เรากล่าวว่าเป็นเสนาที่ ๘ ของท่าน ลาภ สรร- เสริญ สักการะ เรากล่าวว่าเป็นเสนาที่ ๙ ของท่าน และยศ ที่ได้มาผิดซึ่งเป็นเหตุ ให้บุคคลยกตนและดูหมิ่นผู้อื่นเรากล่าว ว่าเป็นเสนาที่ ๑๐ ของท่าน แน่ะมาร เสนาของท่านนี้มีปกติ กำจัดซึ่งคนผู้มีธรรมดำ คนผู้ไม่กล้าย่อมไม่ชนะซึ่งเสนาของ ท่านนั้น ส่วนคนผู้กล้าย่อมชนะได้ ครั้นชนะแล้วย่อมได้ ความสุข ก็เพราะเหตุที่ได้ความสุขนั้น แม้เรานี้ก็พึงรักษา หญ้ามุงกระต่ายไว้ น่าติเตียนชีวิตของเรา เราตายเสียใน สงครามประเสริฐกว่า แพ้แล้วเป็นอยู่จะประเสริฐอะไร สมณพราหมณ์บางพวกหยั่งลงแล้วในเสนาของท่านนี้ ย่อม ไม่ปรากฏ ส่วนผู้ที่มีวัตรงาม ย่อมไปโดยหนทางที่ชนทั้งหลาย ไม่รู้ เราเห็นมารพร้อมด้วยพาหนะยกออกแล้วโดยรอบ จึงมุ่งหน้าไปเพื่อรบ มารอย่าได้ยังเราให้เคลื่อนจากที่ โลก พร้อมด้วยเทวโลกย่อมครอบงำเสนาของท่านไม่ได้ เราจะ ทำลายเสนาของท่านเสียด้วยปัญญา เหมือนบุคคลทำลาย ภาชนะดินทั้งดิบทั้งสุก ด้วยก้อนหิน ฉะนั้น เราจักกระทำ สัมมาสังกัปปะให้ชำนาญและดำรงสติให้ตั้งมั่นเป็นอันดี แล้ว จักเที่ยวจากแคว้นนี้ไปยังแคว้นโน้น แนะนำสาวกเป็นอันมาก สาวกผู้ไม่ประมาทเหล่านั้นมีใจเด็ดเดี่ยว กระทำตามคำสั่ง สอนของเราจักถึงที่ซึ่งไม่มีความใคร่ ที่ชนทั้งหลายไปถึงแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก ฯ มารกล่าวคาถาว่า เราได้ติดตามรอยพระบาทของพระผู้มีพระภาคสิ้น ๗ ปี ไม่ได้ ประสบช่องของพระสัมพุทธเจ้าผู้มีศิริ มารได้ไปตามลม รอบๆ ก้อนหินซึ่งมีสีคล้ายก้อนมันข้น ด้วยคิดว่า เราจะ ประสบความอ่อนโยนในพระโคดมนี้บ้าง ความสำเร็จ ประโยชน์พึงมีบ้าง มารไม่ได้ความพอใจในพระสัมพุทธเจ้า ได้กลายเป็นลมหลีกไปด้วยคิดว่า เราถึงพระโคดมแล้ว จะทำให้ทรงเบื่อพระทัยหลีกไป เหมือนกาถึงไสลบรรพต แล้วบินหลีกไป ฉะนั้น พิณของมารผู้ถูกความโศกครอบงำ แล้ว ได้ตกจากรักแร้ ลำดับนั้น มารนั้นเสียใจ ได้หายไป ในที่นั้นนั่นแล ฯ
จบปธานสูตรที่ ๒
สุภาษิตสูตรที่ ๓
[๓๕๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียก ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย วาจาอันประกอบด้วยองค์ ๔ เป็น วาจาสุภาษิต ไม่เป็นทุพภาษิต เป็นวาจาไม่มีโทษ และวิญญูชนไม่พึงติเตียน องค์ ๔ เป็นไฉน คือ ภิกษุในศาสนานี้ ย่อมกล่าวแต่คำที่เป็นสุภาษิต ไม่กล่าว คำที่เป็นทุพภาษิต ๑ ย่อมกล่าวคำที่เป็นธรรม ไม่กล่าวคำที่ไม่เป็นธรรม ๑ ย่อมกล่าวแต่คำอันเป็นที่รัก ไม่กล่าวคำอันไม่เป็นที่รัก ๑ ย่อมกล่าวแต่คำสัตย์ ไม่กล่าวคำเหลาะแหละ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย วาจาอันประกอบด้วยองค์ ๔ นี้แล เป็นวาจาสุภาษิต ไม่เป็นทุพภาษิต เป็นวาจาไม่มีโทษ และวิญญูชนไม่พึง ติเตียน ฯ พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า สัตบุรุษทั้งหลาย ได้กล่าวคำอันเป็นสุภาษิตว่าเป็นคำสูงสุด บุคคลพึงกล่าวแต่คำที่เป็นธรรม ไม่พึงกล่าวคำที่ไม่เป็นธรรม ข้อนั้นเป็นที่ ๒ บุคคลพึงกล่าวคำอันเป็นที่รัก ไม่พึงกล่าว คำอันไม่เป็นที่รัก ข้อนั้นเป็น ที่ ๓ บุคคลพึงกล่าวคำสัตย์ ไม่พึงกล่าวคำเหลาะแหละ ข้อนั้นเป็นที่ ๔ ฯ [๓๕๗] ลำดับนั้นแล ท่านพระวังคีสะลุกจากอาสนะ ห่มจีวรเฉวียงบ่า ข้างหนึ่ง ประณมอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ แล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระธรรมเทศนา ย่อมแจ่มแจ้งแก่ข้าพระองค์ ข้าแต่พระ สุคต พระธรรมเทศนาย่อมแจ่มแจ้งแก่ข้าพระองค์ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรวังคีสะ ธรรมเทศนาจงแจ่มแจ้งกะเธอเถิด ฯ ลำดับนั้นแล ท่านพระวังคีสะได้ชมเชยด้วยคาถาทั้งหลายอันสมควร ในที่เฉพาะพระพักตร์ว่า บุคคลพึงกล่าววาจาอันไม่เป็นเครื่องทำตนให้เดือดร้อน และ ไม่พึงเบียดเบียนผู้อื่น วาจานั้นเป็นสุภาษิตแท้ บุคคลพึง กล่าวแต่วาจาอันเป็นที่รัก อันชนชื่นชม ไม่ถือเอาคำอัน ลามก กล่าววาจาอันเป็นที่รักของผู้อื่น คำสัตย์แลเป็นวาจา ไม่ตาย ธรรมนี้เป็นของเก่า สัตบุรุษทั้งหลายตั้งมั่นแล้วใน คำสัตย์ที่เป็นอรรถและเป็นธรรม วาจาที่พระพุทธเจ้าตรัส เป็น วาจาเกษม เพื่อบรรลุนิพพาน เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดทุกข์ วาจานั้นแลเป็นวาจาสูงสุดกว่าวาจาทั้งหลาย ฯ
จบสุภาษิตสูตรที่ ๓
สุนทริกสูตรที่ ๔
[๓๕๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำสุนทริกา แคว้นโกศล ชนบท ก็สมัยนั้นแล สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ครั้นบูชาไฟ บำเรอการบูชาไฟอยู่ที่ ฝั่งแม่น้ำสุนทริกา ครั้งนั้นแล สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ครั้นบูชาไฟบำเรอไฟแล้ว ลุกขึ้นจากอาสนะ เหลียวดูทิศทั้งสี่โดยรอบด้วยคิดว่า ใครหนอแล ควรบริโภค ข้าวปายาสที่เหลือนี้ สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ได้เห็นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งทรง คลุมพระกายตลอดพระเศียรอยู่ที่โคนไม้แห่งหนึ่ง จึงถือเอาข้าวปายาสที่เหลือด้วย มือซ้าย ถือเต้าน้ำด้วยมือข้างขวา เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงเปิดพระเศียรออก เพราะเสียงฝีเท้าของสุนทริกภารทวาช- *พราหมณ์ ครั้งนั้น สุนทริกภารทวาชพราหมณ์คิดว่า ท่านผู้นี้เป็นคนโล้นๆ ดังนี้แล้ว ปรารถนาจะกลับจากที่นั้น ลำดับนั้น สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ดำริว่า แม้พราหมณ์บางพวกในโลกนี้ก็เป็นคนโล้น ผิฉะนั้นเราพึงเข้าไปถามถึงชาติ ทีนั้น แล สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ท่านมีชาติอย่างไร ฯ ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบสุนทริกภารทวาชพราหมณ์ด้วย พระคาถาว่า [๓๕๙] เราไม่ใช่พราหมณ์ ไม่ใช่ราชโอรส ไม่ใช่แพศย์หรือใครๆ เรากำหนดรู้โคตรของปุถุชนแล้ว ไม่มีความกังวล เที่ยว ไปด้วยปัญญาในโลก เรานุ่งห่ม (ไตรจีวร) สังฆาฏิ ไม่มี เรือน ปลงผมแล้ว มีตนดับความเร่าร้อนแล้ว ไม่คลุกคลี กับด้วยมนุษย์ (มาณพ) ทั้งหลายในโลกนี้ เที่ยวไปอยู่ ท่าน ถามถึงปัญหาเกี่ยวด้วยโคตรอันไม่สมควรกะเรา ดูกรพราหมณ์ ผู้เจริญ พวกพราหมณ์ย่อมถามกับพวกพราหมณ์ด้วยกันว่า ท่านเป็นพราหมณ์หรือหนอ ถ้าว่าท่านกล่าวว่าเราเป็นพราหมณ์ แต่ท่านกล่าวกะเราผู้มิใช่พราหมณ์ เพราะเหตุนั้น เราขอ ถามสาวิตรีซึ่งมีบท ๓ มีอักขระ ๒๔ กะท่าน ฯ พราหมณ์ทูลถามว่า พวกฤาษี มนุษย์ กษัตริย์ และพราหมณ์เป็นอันมากในโลก นี้ อาศัยอะไร ได้กำหนดยัญแก่เทวดาทั้งหลาย ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เราขอบอกว่าผู้ถึงที่สุดทุกข์ ถึงที่สุดเวท จะพึงได้เครื่องบูชา ในเมื่ออาหารอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ใดเข้าไปตั้งไว้ในกาลแห่ง ยัญ ยัญกรรมของผู้นั้นพึงสำเร็จ ฯ พราหมณ์ทูลว่า การบูชาของข้าพเจ้านั้น พึงสำเร็จเป็นแน่แท้ เพราะข้าพเจ้า ได้พบบุคคลผู้ถึงเวทเช่นนั้น อันที่จริง คนอื่นย่อมได้ บริโภคเครื่องบูชา เพราะไม่ได้พบบุคคลผู้เช่นท่าน ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เพราะเหตุนั้นแหละพราหมณ์ ท่านผู้มีความต้องการด้วย ประโยชน์ จงเข้าไปถามเถิด ท่านจะพบผู้มีปัญญาดี ผู้สงบ ผู้ไม่มีความโกรธ ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง ในศาสนา นี้แน่แท้ ฯ พราหมณ์ทูลว่า (ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ) ข้าพเจ้ายินดีแล้วในยัญ ใคร่จะ บูชายัญ แต่ข้าพเจ้ายังไม่ทราบชัด ขอท่านจงพร่ำสอน ข้าพเจ้าเถิด ขอท่านจงบอกซึ่งที่เป็นที่สำเร็จแห่งการบูชา แก่ข้าพเจ้าเถิด ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ ถ้าอย่างนั้นท่านจงเงี่ยโสตลงเถิด เราจักแสดง ธรรมแก่ท่าน ท่านอย่าถามถึงชาติ จงถามแต่ธรรมสำหรับ ประพฤติเถิด ไฟย่อมเกิดแต่ไม้แล แม้ผู้ที่เกิดในสกุลต่ำ เป็นมุนีมีปัญญา เป็นผู้เกียดกันอกุศลวิตกด้วยหิริ รู้เหตุ การณ์ได้โดยฉับพลันก็มี พราหมณ์ผู้มุ่งบุญพึงบูชา พึงหลั่ง ไทยธรรมในทักขิไณยบุคคลผู้ที่ฝึกตนด้วยสัจจะ ผู้ประกอบ ด้วยการฝึกฝนอินทรีย์ ผู้ถึงที่สุดแห่งเวท ผู้อยู่จบพรหมจรรย์ ตามกาล ชนเหล่าใดละกามทั้งหลายได้แล้ว ไม่ยึดมั่น อะไรๆ เที่ยวไป มีตนสำรวมดีแล้ว เหมือนกระสวยที่ ไปตรง ฉะนั้น พราหมณ์ผู้มุ่งบุญพึงบูชา พึงหลั่งไทยธรรม ในชนเหล่านั้นตามกาล ชนเหล่าใดปราศจากราคะ มี อินทรีย์ตั้งมั่นดีแล้ว หลุดพ้นแล้วจากการจับของกิเลส เปล่งปลั่งอยู่ เหมือนพระจันทร์ที่พ้นแล้วจากการเบียดเบียน ของราหู สว่างไสวอยู่ ฉะนั้น พราหมณ์พึงหลั่งไทยธรรม ในชนเหล่านั้นตามกาล ชนเหล่าใดไม่เกี่ยวข้อง มีสติ ทุกเมื่อ ละนามรูป ที่คนพาลถือว่าเป็นของเราได้แล้ว เที่ยว ไปในโลก พราหมณ์พึงหลั่งไทยธรรมในชนเหล่านั้นตามกาล พระตถาคตละกามทั้งหลายได้แล้ว ครอบงำกามทั้งหลาย เที่ยวไป รู้ที่สุดแห่งชาติและมรณะ ดับความเร่าร้อนได้แล้ว เป็นผู้เยือกเย็นเหมือนห้วงน้ำ ย่อมควรเครื่องบูชา พระ ตถาคตผู้เสมอด้วยพระพุทธเจ้าทั้งหลาย อยู่ห่างไกลจาก บุคคลผู้ไม่เสมอทั้งหลาย เป็นผู้มีปัญญาไม่มีที่สุด ผู้อัน ตัณหาทิฐิไม่ฉาบทาแล้วในโลกนี้หรือในโลกอื่น ย่อมควร เครื่องบูชา พระตถาคตผู้เป็นพราหมณ์ ไม่มีมายา ไม่มี มานะ ปราศจากความโลภ ไม่ยึดถือในสัตว์และสังขารว่า เป็นของเรา หาความหวังมิได้ บรรเทาความโกรธแล้ว มีตนดับความเร่าร้อนได้แล้ว ละมลทิน คือ ความโศก เสียได้ ย่อมควรเครื่องบูชา พระตถาคตละตัณหาและ ทิฐิที่อยู่ประจำใจได้แล้ว ไม่มีตัณหาและทิฐิอะไรๆ ไม่ถือ มั่นในโลกนี้หรือในโลกอื่น ย่อมควรเครื่องบูชา พระ ตถาคตมีจิตตั้งมั่นแล้ว ข้ามโอฆะได้แล้ว และได้รู้ธรรม ด้วยทิฐิอย่างยิ่ง มีอาสวะสิ้นแล้ว ทรงไว้ซึ่งร่างกายอัน มีในที่สุด ย่อมควรเครื่องบูชา ภวาสวะและวาจาหยาบคาย อันพระตถาคตกำจัดได้แล้ว ทำให้สิ้นสูญ ไม่มีอยู่ พระตถาคตผู้ถึงเวท พ้นวิเศษแล้วในธรรมทั้งปวง ย่อม ควรเครื่องบูชา พระตถาคตผู้ล่วงกิเลสเครื่องข้อง ไม่มี ธรรมเป็นเครื่องข้อง ไม่เป็นสัตว์ผู้มีมานะในเหล่าสัตว์ผู้มี มานะ กำหนดรู้ทุกข์พร้อมทั้งไร่นาและที่ดิน ย่อมควร เครื่องบูชา พระตถาคตไม่อาศัยตัณหา มีปรกติเห็น นิพพาน ก้าวล่วงทิฐิที่จะพึงให้ผู้อื่นรู้ ไม่มีอารมณ์อะไรๆ ย่อมควรเครื่องบูชา ธรรมทั้งที่เป็นภายในและภายนอก พระตถาคตแทงตลอดแล้ว กำจัดได้แล้ว ถึงความสาปสูญ มิได้มี พระตถาคตนั้นเป็นผู้สงบแล้ว น้อมไปในธรรม เป็นที่สิ้นอุปาทาน ย่อมควรเครื่องบูชา พระตถาคตเห็น ที่สุดแห่งความสิ้นไปแห่งชาติ บรรเทาสังโยชน์อันเป็น ทางแห่งราคะเสียได้ไม่มีส่วนเหลือ เป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มี โทษ ปราศจากมลทิน ไม่มีความใคร่ ย่อมควรเครื่อง บูชา พระตถาคตไม่พิจารณาเห็นตนโดยความเป็นตน มีจิต ตั้งมั่น ปฏิบัติตรง ดำรงตนมั่น ไม่หวั่นไหว ไม่มี กิเลสดุจหลักตอ ไม่มีความสงสัย ย่อมควรเครื่องบูชา พระตถาคตไม่มีปัจจัยแห่งโมหะอะไรๆ เห็นด้วยญาณใน ธรรมทั้งปวง ทรงไว้ซึ่งสรีระมีในที่สุด และได้บรรลุ สัมโพธิญาณที่ยอดเยี่ยม อันเกษม ความบริสุทธิ์ของบุรุษ ย่อมมีด้วยเหตุเพียงเท่านี้ (พระตถาคตย่อมควรเครื่องบูชา) ฯ พราหมณ์ทูลว่า ก็การบูชาของข้าพระองค์ จะเป็นการบูชาจริง เพราะว่า ข้าพระองค์ได้บุคคลผู้ถึงเวทเช่นนั้น พระผู้มีพระภาคเป็น พรหม ผู้เห็นเองแท้ ขอได้โปรดทรงรับ ทรงบริโภคเครื่อง บูชาของข้าพระองค์เถิด ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ เราไม่พึงบริโภคโภชนะที่ขับกล่อมได้มา ข้อนี้ ไม่ใช่ธรรมเนียมของพระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้ทรงเห็นอยู่โดย ชอบ พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมทรงห้ามโภชนะที่ขับ กล่อมได้มา ดูกรพราหมณ์ เมื่อธรรมมีอยู่ การแสวงหา เป็นความประพฤติของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็ท่านจงบำรุง พระขีณาสพผู้บริบูรณ์ด้วยคุณทั้งปวง ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ผู้มีความคะนองสงบแล้ว ด้วยข้าวน้ำอย่างอื่นเถิด เพราะว่า เขตนั้นเป็นเขตของบุคคลผู้มุ่งบุญ ฯ พราหมณ์ทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอประทานวโรกาส ข้าพระองค์ถึง คำสั่งสอนของพระองค์แล้ว พึงรู้แจ่มแจ้งอย่างที่พระองค์ ตรัสบอก ขอพระองค์จงทรงแสดงทักขิไณยบุคคลผู้บริโภค ทักขิณาของบุคคลผู้เช่นด้วยข้าพระองค์ ที่ข้าพระองค์จะพึง แสวงหาบำรุงอยู่ ในกาลแห่งยัญ แก่ข้าพระองค์เถิด ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ท่านจงกำจัดความสยิ้วหน้า จงประคองอัญชลีนอบน้อมผู้ที่ ปราศจากความแข่งดี ผู้มีจิตไม่ขุ่นมัว หลุดพ้นแล้วจาก กามทั้งหลาย บรรเทาความง่วงเหงาเสียแล้ว นำกิเลสออก เสียได้ ผู้ฉลาดในชาติและมรณะ ผู้นั้นเป็นมุนี สมบูรณ์ ด้วยปัญญา ผู้มาแล้วสู่ยัญเช่นนั้น จงบูชาด้วยข้าวและ น้ำเถิด ทักขิณาย่อมสำเร็จได้ด้วยอาการอย่างนี้ ฯ พราหมณ์ทูลว่า พระองค์เป็นพระพุทธเจ้า ผู้ที่บุคคลควรบูชาในโลกทั้งปวง เป็นบุญเขตอย่างยอดเยี่ยม ย่อมควรเครื่องบูชา ทานที่ บุคคลถวายแล้วแด่พระองค์ เป็นทานมีผลมาก ฯ [๓๖๐] ลำดับนั้นแล สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรม โดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้ หลงทาง หรือตามประทีปไว้ในที่มืดด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูปได้ฉะนั้น ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระองค์ กับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ข้า พระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระองค์เถิด สุนทริกภารทวาช- *พราหมณ์ได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค ฯลฯ ก็ท่านสุนทริก ภารทวาชะได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย ฉะนั้นแล ฯ
จบสุนทริกภารทวาชสูตรที่ ๔
มาฆสูตรที่ ๕
[๓๖๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์ ครั้งนั้นแล มาฆมาณพเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มี พระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ข้าพระองค์เป็น ทายก เป็นทานบดี ผู้รู้ความประสงค์ของผู้ขอควรแก่การขอ ย่อมแสวงหา โภคทรัพย์โดยธรรม ครั้นแสวงหาได้แล้ว ย่อมนำโภคทรัพย์ที่ตนได้มาโดยธรรม ถวายแก่ปฏิคาหก ๑ องค์บ้าง ๒ องค์บ้าง ๓ องค์บ้าง ๔ องค์บ้าง ๕ องค์บ้าง ๖ องค์บ้าง ๗ องค์บ้าง ๘ องค์บ้าง ๙ องค์บ้าง ๑๐ องค์บ้าง ๒๐ องค์บ้าง ๓๐ องค์บ้าง ๔๐ องค์บ้าง ๕๐ องค์บ้าง ๑๐๐ องค์บ้าง ยิ่งกว่านั้นบ้าง ข้าแต่ พระโคดมผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ถวายทานอย่างนี้ บูชาอย่างนี้ จะประสบบุญ มากแลหรือ ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมาณพ เมื่อท่านให้อยู่อย่างนั้น บูชาอยู่ อย่างนั้น ย่อมประสบบุญมากแท้ ดูกรมาณพ ผู้ใดแล เป็นทายก เป็นทานบดี รู้ความประสงค์ของผู้ขอ ควรแก่การขอ ย่อมแสวงหาโภคทรัพย์โดยธรรม ครั้น แสวงหาได้แล้ว ย่อมนำโภคทรัพย์ที่ตนได้มาโดยธรรม ถวายแก่ปฏิคาหก ๑ องค์ บ้าง ฯลฯ ๑๐๐ องค์บ้าง ยิ่งกว่านั้นบ้าง ผู้นั้นย่อมประสบบุญมาก ฯ ครั้งนั้นแล มาฆมาณพได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า [๓๖๒] ข้าพระองค์ขอถามพระโคดมผู้ทรงรู้ถ้อยคำ ผู้ทรงผ้ากาสายะ ไม่ยึดถืออะไรเที่ยวไป ผู้ใดเป็นคฤหัสถ์ ควรแก่การขอ เป็น ทานบดี มีความต้องการบุญ มุ่งบุญ ให้ข้าวน้ำ บูชาแก่ ชนเหล่าอื่นในโลกนี้ การบูชาของผู้บูชาอยู่อย่างนี้ จะพึง บริสุทธิ์ได้อย่างไร ฯ พ. (ดูกรมาฆมาณพ) ผู้ใดเป็นคฤหัสถ์ ควรแก่การขอ เป็น ทานบดี มีความต้องการบุญ มุ่งบุญ ให้ข้าวน้ำบูชาแก่ชน เหล่าอื่นในโลกนี้ ผู้เช่นนั้น พึงให้ทักขิไณยบุคคลยินดีได้ ฯ ม. ผู้ใดเป็นคฤหัสถ์ ควรแก่การขอ เป็นทานบดี มีความต้อง- การบุญ มุ่งบุญ ให้ข้าวน้ำบูชาแก่ชนเหล่าอื่นในโลกนี้ ข้า แต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์ทรงบอกทักขิไณยบุคคล แก่ข้าพระองค์เถิด ฯ พ. ชนเหล่าใดแลไม่เกี่ยวข้อง หาเครื่องกังวลมิได้ สำเร็จกิจ แล้ว มีจิตคุ้มครองแล้ว เที่ยวไปในโลก พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ พึงหลั่งไทยธรรม บูชาในชนเหล่านั้นตามกาล ชนเหล่าใดตัด กิเลสเครื่องผูกพันคือสังโยชน์ได้ทั้งหมด ฝึกตนแล้ว เป็น ผู้พ้นเด็ดขาด ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ พึงหลั่งไทยธรรม บูชาในชนเหล่านั้นตามกาล ชนเหล่าใด พ้นเด็ดขาดจากสังโยชน์ทั้งหมด ฝึกตนแล้ว เป็นผู้หลุดพ้น แล้ว ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง พราหมณ์พึงหลั่งไทยธรรม บูชาในชนเหล่านั้นตามกาล ชนเหล่าใดละราคะ โทสะ และโมหะได้แล้ว มีอาสวะสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์ พราหมณ์พึงหลั่งไทยธรรมบูชาในชนเหล่านั้นตามกาล ชน เหล่าใดไม่มีมายา ไม่มีความถือตัว มีอาสวะสิ้นแล้ว อยู่จบ พรหมจรรย์ พราหมณ์พึงหลั่งไทยธรรมในชนเหล่านั้นตาม กาล ชนเหล่าใดปราศจากความโลภ ไม่ยึดถืออะไรๆ ว่า เป็นของเรา ไม่มีความหวัง มีอาสวะสิ้นแล้ว อยู่จบพรหม- จรรย์ พราหมณ์พึงหลั่งไทยธรรมบูชาในชนเหล่านั้นตามกาล ชนเหล่าใดแล ไม่น้อมไปในตัณหาทั้งหลาย ข้ามโอฆะได้แล้ว ไม่ยึดถืออะไรๆ ว่าเป็นของเรา เที่ยวไปอยู่ พราหมณ์พึง หลั่งไทยธรรมบูชาในชนเหล่านั้นตามกาล ชนเหล่าใดไม่มี ตัณหาเพื่อเกิดในภพใหม่ ในโลกไหนๆ คือ ในโลกนี้ หรือในโลกอื่น พราหมณ์พึงหลั่งไทยธรรมบูชาในชนเหล่า นั้นตามกาล ชนเหล่าใดละกามทั้งหลายได้แล้ว ไม่ยึดถือ อะไรเที่ยวไป มีตนสำรวมดีแล้ว เหมือนกระสวยที่ตรงไป ฉะนั้น พราหมณ์พึงหลั่งไทยธรรมบูชาในชนเหล่านั้นตามกาล ชนเหล่าใดปราศจากความกำหนัด มีอินทรีย์ตั้งมั่นดีแล้ว พ้นจากการจับแห่งกิเลส เปล่งปลั่งอยู่ เหมือนพระจันทร์ พ้นแล้วจากราหูจับ สว่างไสวอยู่ฉะนั้น พราหมณ์ พึงหลั่งไทยธรรมบูชาในชนเหล่านั้นตามกาล ชนเหล่าใด มีกิเลสสงบแล้ว ปราศจากความกำหนัด เป็นผู้ไม่โกรธ ไม่มีคติ เพราะละขันธ์อันเป็นไปในโลกนี้ได้เด็ดขาด พราหมณ์พึงหลั่งไทยธรรมบูชาในชนเหล่านั้นตามกาล ชน เหล่าใดละชาติและมรณะไม่มีส่วนเหลือ ล่วงพ้นความสงสัย ได้ทั้งปวง พราหมณ์พึงหลั่งไทยธรรมบูชาในชนเหล่านั้น ตามกาล ชนเหล่าใดมีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีเครื่องกังวล หลุดพ้นแล้วในธรรมทั้งปวง เที่ยวไปอยู่ในโลก พราหมณ์ พึงหลั่งไทยธรรมบูชาในชนเหล่านั้นตามกาล ชนเหล่าใด แล ย่อมรู้ในขันธ์และอายตนะเป็นต้นตามความเป็นจริงว่า ชาตินี้มีในที่สุด ภพใหม่ไม่มี ดังนี้ พราหมณ์พึงหลั่งไทย ธรรมบูชาในชนเหล่านั้นตามกาล ชนเหล่าใดเป็นผู้ถึง เวท ยินดีในฌาน มีสติ บรรลุธรรมเครื่องตรัสรู้ดี เป็นที่ พึ่งของเทวดาและมนุษย์เป็นอันมาก พราหมณ์ผู้มุ่งบุญพึง หลั่งไทยธรรมบูชาในชนเหล่านั้นตามกาล ฯ ม. คำถามของข้าพระองค์ไม่เปล่าประโยชน์แน่นอน ข้าแต่ พระผู้มีพระภาค พระองค์ตรัสบอกทักขิไณยบุคคลแก่ ข้าพระองค์แล้ว ก็พระองค์ย่อมทรงทราบไญยธรรมนี้ ใน โลกนี้โดยถ่องแท้ จริงอย่างนั้น ธรรมนี้พระองค์ทรงทราบ แจ่มแจ้งแล้ว ผู้ใดเป็นคฤหัสถ์ เป็นผู้ควรแก่การขอ เป็น ทานบดี มีความต้องการบุญ มุ่งบุญ ให้ข้าวน้ำบูชาแก่ชน เหล่าอื่นในโลกนี้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์ตรัส บอกถึงความพร้อมแห่งยัญแก่ข้าพระองค์ ฯ พ. ดูกรมาฆะ เมื่อท่านจะบูชาก็จงบูชาเถิด และจงทำจิตให้ผ่องใส ในกาลทั้งปวง เพราะยัญย่อมเป็นอารมณ์ของบุคคลผู้บูชายัญ บุคคลตั้งมั่นในยัญนี้แล้ว ย่อมละโทสะเสียได้ อนึ่ง บุคคล ผู้นั้น ปราศจากความกำหนัดแล้ว พึงกำจัดโทสะ เจริญ เมตตาจิตอันประมาณมิได้ ไม่ประมาทแล้วเนืองๆ ทั้งกลาง คืนกลางวัน ย่อมแผ่อัปปมัญญาภาวนาไปทั่วทิศ ฯ ม. ใครย่อมบริสุทธิ์ ใครย่อมหลุดพ้น และใครยังติดอยู่ บุคคล จะไปพรหมโลกได้ด้วยอะไร ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมุนี ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอพระองค์โปรดตรัสบอกแก่ ข้าพระองค์ผู้ไม่รู้ ก็พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพรหม ข้าพระองค์ ขออ้างเป็นพยานในวันนี้ เพราะพระองค์เป็นผู้เสมอด้วย พรหมของข้าพระองค์จริงๆ (ข้าแต่พระองค์ผู้มีความรุ่งเรือง) บุคคลจะเข้าถึงพรหมโลกได้อย่างไร ฯ พ. (ดูกรมาฆะ) ผู้ใดย่อมบูชายัญครบทั้ง ๓ อย่าง ผู้เช่นนั้น พึงให้ทักขิไณยบุคคลทั้งหลายยินดีได้ เราย่อมกล่าวผู้นั้นว่า เป็นผู้ควรแก่การขอ ครั้นบูชาโดยชอบอย่างนั้นแล้ว ย่อมเข้า ถึงพรหมโลก ฯ [๓๖๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว มาฆมาณพได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ขอพระองค์ทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็น ต้นไป ฯ
จบมาฆสูตรที่ ๕
สภิยสูตรที่ ๖
[๓๖๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทก นิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้นแล เทวดาผู้เป็นสาโลหิตเก่าของ สภิยปริพาชก ได้แสดงปัญหาขึ้นว่า ดูกรสภิยะ สมณะหรือพราหมณ์ผู้ใด ท่าน ถามปัญหาเหล่านี้แล้วย่อมพยากรณ์ได้ ท่านพึงประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของ สมณะหรือพราหมณ์ผู้นั้นเถิด ลำดับนั้นแล สภิยปริพาชกเรียนปัญหาในสำนัก ของเทวดานั้นแล เข้าไปหาสมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณา- *จารย์ มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนส่วนมากยกย่องว่าดี คือ ปูรณกัสสป มักขลิโคสาล อชิตเกสกัมพล ปกุทธกัจจายนะ สญชัยเวฬัฏฐ- *บุตร นิครนถ์นาฏบุตร แล้วจึงถามปัญหาเหล่านั้น สมณพราหมณ์เหล่านั้นอัน สภิยปริพาชกถามปัญหาแล้ว แก้ไม่ได้ เมื่อแก้ไม่ได้ ย่อมแสดงความโกรธ ความขัดเคือง และความไม่พอใจให้ปรากฏ ทั้งยังกลับถามสภิยปริพาชกอีก ครั้ง นั้นแล สภิยปริพาชกมีความดำริว่า ท่านสมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้เป็นเจ้าหมู่เจ้า คณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนส่วนมากยกย่อง ว่าดี คือ ปูรณกัสสป ฯลฯ นิครนถ์นาฏบุตร ถูกเราถามปัญหาแล้ว แก้ไม่ ได้ เมื่อแก้ไม่ได้ ย่อมแสดงความโกรธ ความขัดเคือง และความไม่พอใจให้ ปรากฏ ทั้งยังกลับถามเราในปัญหาเหล่านี้อีก ถ้ากระไร เราพึงละเพศกลับมา บริโภคกามอีกเถิด ครั้งนั้นแล สภิยปริพาชกมีความดำริว่า พระสมณโคดมนี้แล เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ ชน ส่วนมากยกย่องว่าดี ถ้ากระไรเราพึงเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดมแล้วทูลถามปัญหา เหล่านี้เถิด ลำดับนั้นแล สภิยปริพาชกมีความดำริว่า ท่านสมณพราหมณ์ ทั้งหลายเป็นผู้เก่าแก่ เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ เป็นผู้เฒ่า รู้ราตรี นาน บวชมานาน เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนส่วนมากยกย่องว่าดี คือ ปูรณกัสสป ฯลฯ นิครนถ์นาฏบุตร ท่านสมณพราหมณ์แม้เหล่านั้นถูกเราถามปัญหาแล้วแก้ไม่ได้ เมื่อแก้ไม่ได้ ย่อม แสดงความโกรธ ความขัดเคือง และความไม่พอใจให้ปรากฏ ทั้งยังกลับถาม เราในปัญหาเหล่านี้อีก ส่วนพระสมณโคดมถูกเราทูลถามแล้วจักทรงพยากรณ์ ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร เพราะพระสมณโคดมยังเป็นหนุ่มโดยพระชาติ ทั้งยัง เป็นผู้ใหม่โดยบรรพชา ลำดับนั้น สภิยปริพาชกมีความดำริว่า พระสมณโคดมเรา ไม่ควรดูหมิ่นดูแคลนว่า ยังเป็นหนุ่ม ถึงหากว่าพระสมณโคดมจะยังเป็นหนุ่ม แต่ท่านก็เป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ถ้ากระไรเราพึงเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดม แล้วทูลถามปัญหาเหล่านี้เถิด ลำดับนั้น สภิยปริพาชกได้หลีกจาริกไปทางพระนคร ราชคฤห์ เมื่อเที่ยวจาริกไปโดยลำดับ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังพระวิหาร เวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ครั้นแล้วปราศรัยกับพระผู้มี พระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า [๓๖๕] ข้าพระองค์ผู้มีความสงสัย มีความเคลือบแคลง มาหวังจะ ทูลถามปัญหา พระองค์อันข้าพระองค์ทูลถามปัญหาแล้ว ขอ จงตรัสพยากรณ์แก่ข้าพระองค์ตามลำดับปัญหา ให้สมควรแก่ ธรรมเถิด ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสภิยะ ท่านมาแต่ไกล หวังจะถามปัญหา เราอันท่านถาม ปัญหาแล้ว จะกระทำที่สุดแห่งปัญหาเหล่านั้น จะพยากรณ์ แก่ท่านตามลำดับปัญหา ให้สมควรแก่ธรรม ดูกรสภิยะ ท่านปรารถนาปัญหาข้อใดข้อหนึ่งในใจ ก็เชิญถามเราเถิด เราจะกระทำที่สุดเฉพาะปัญหานั้นๆ แก่ท่าน ฯ [๓๖๖] ลำดับนั้น สภิยปริพาชกดำริว่า น่าอัศจรรย์จริงหนอ ไม่เคยมี มาเลยหนอ เราไม่ได้แม้เพียงให้โอกาสในสมณพราหมณ์เหล่าอื่นเลย พระสมณ- *โคดมได้ทรงให้โอกาสนี้แก่เราแล้ว สภิยปริพาชกมีใจชื่นชม เบิกบาน เฟื่องฟู เกิดปีติโสมนัส ได้กราบทูลถามปัญหากะพระผู้มีพระภาคว่า บัณฑิตกล่าวบุคคลผู้บรรลุอะไรว่าเป็นภิกษุ กล่าวบุคคลว่าผู้ สงบเสงี่ยมด้วยอาการอย่างไร กล่าวบุคคลว่าผู้ฝึกตนแล้ว อย่างไรและอย่างไรบัณฑิตจึงกล่าวบุคคลว่า ผู้รู้ ข้าแต่พระผู้ มีพระภาค พระองค์อันข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอจงตรัส พยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิด ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรสภิยะ ผู้ใดถึงความดับกิเลสด้วยมรรคที่ตนอบรมแล้ว ข้ามความ สงสัยเสียได้ ละความไม่เป็นและความเป็นได้เด็ดขาด อยู่จบ พรหมจรรย์ มีภพใหม่สิ้นแล้ว ผู้นั้นบัณฑิตกล่าวว่าเป็นภิกษุ ผู้ใดวางเฉยในอารมณ์มีรูปเป็นต้นทั้งหมด มีสติ ไม่เบียด เบียนสัตว์ในโลกทั้งปวง ข้ามโอฆะได้แล้ว เป็นผู้สงบ ไม่ ขุ่นมัว ไม่มีกิเลสเครื่องฟูขึ้น ผู้นั้นบัณฑิตกล่าวว่าผู้สงบ เสงี่ยม ผู้ใดอบรมอินทรีย์แล้ว แทงตลอดโลกนี้และโลก อื่น ทั้งภายในทั้งภายนอกในโลกทั้งปวง รอเวลาสิ้นชีวิตอยู่ อบรมตนแล้ว ผู้นั้นบัณฑิตกล่าวว่าผู้ฝึกตนแล้ว ผู้พิจารณา สงสารทั้งสองอย่าง คือ จุติและอุปบัติ ตลอดกัปทั้งสิ้น แล้ว ปราศจากธุลี ไม่มีกิเลสเครื่องยียวน ผู้หมดจด ถึง ความสิ้นไปแห่งชาติ ผู้นั้นบัณฑิตกล่าวว่าผู้รู้ ฯ [๓๖๗] ลำดับนั้น สภิยปริพาชก ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มี พระภาคแล้ว มีใจชื่นชม เบิกบาน เฟื่องฟู เกิดปีติโสมนัส ได้ทูลถามปัญหา ข้อต่อไปกะพระผู้มีพระภาคว่า บัณฑิตกล่าวบุคคลผู้บรรลุอะไรว่าเป็นพราหมณ์ กล่าวบุคคลว่า เป็นสมณะ ด้วยอาการอย่างไร กล่าวบุคคลผู้ล้างบาปอย่างไร และอย่างไรบัณฑิตจึงกล่าวบุคคลว่า เป็นนาค (ผู้ประเสริฐ) ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์อันข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอจงตรัสพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิด ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ผู้ใดลอยบาปทั้งหมดแล้ว เป็นผู้ปราศจากมลทิน มีจิตตั้งมั่นดี ดำรงตนมั่น ก้าวล่วงสงสารได้แล้ว เป็นผู้สำเร็จกิจ (เป็น ผู้บริบูรณ์ด้วยคุณมีศีลเป็นต้น) ผู้นั้นอันตัณหาและทิฐิไม่ อาศัยแล้ว เป็นผู้คงที่ บัณฑิตกล่าวว่าเป็นพราหมณ์ ผู้ใดมี กิเลสสงบแล้ว ละบุญและบาปได้แล้ว ปราศจากกิเลสธุลี รู้โลกนี้และโลกหน้าแล้ว ล่วงชาติและมรณะได้ ผู้คงที่ เห็น ปานนั้น บัณฑิตกล่าวว่าเป็นสมณะ ผู้ใดล้างบาป ได้หมดใน โลกทั้งปวง คือ อายตนะภายในและภายนอกแล้ว ย่อม ไม่มาสู่กัปในเทวดาและมนุษย์ผู้สมควร ผู้นั้นบัณฑิตกล่าว ว่าผู้ล้างบาป ผู้ใดไม่กระทำบาปอะไรๆ ในโลก สลัดออก ซึ่งธรรมเป็นเครื่องประกอบและเครื่องผูกได้หมด ไม่ข้องอยู่ ในธรรมเป็นเครื่องข้องมีขันธ์เป็นต้นทั้งปวง หลุดพ้นเด็ดขาด ผู้คงที่ เห็นปานนั้น บัณฑิตกล่าวว่าเป็นนาค ฯ [๓๖๘] ลำดับนั้น สภิยปริพาชก ฯลฯ ได้ทูลถามปัญหาข้อต่อไป กะพระผู้มีพระภาคว่า ท่านผู้รู้ทั้งหลายกล่าวใครว่าผู้ชนะเขต กล่าวบุคคลว่าเป็นผู้ ฉลาดด้วยอาการอย่างไร อย่างไรจึงกล่าวบุคคลว่าเป็นบัณฑิต และกล่าวบุคคลชื่อว่าเป็นมุนีด้วยอาการอย่างไร ข้าแต่พระผู้มี พระภาค พระองค์อันข้าพระองค์ทูลถามแล้วขอจงตรัส พยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิด ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรสภิยะ ผู้ใดพิจารณา (อายตนะหรือกรรม) เขตทั้งสิ้น คือ เขตที่ เป็นของทิพย์ เขตของมนุษย์และเขตของพรหมแล้ว เป็นผู้ หลุดพ้นจากเครื่องผูกอันเป็นรากเหง้าแห่งเขตทั้งหมด ผู้คงที่ เห็นปานนั้น ผู้นั้นท่านผู้รู้ทั้งหลายกล่าวว่าเป็นผู้ชนะเขต ผู้ ใดพิจารณากระเปาะฟอง (กรรม) ทั้งสิ้น คือ กระเปาะฟอง ที่เป็นของทิพย์ กระเปาะฟองของมนุษย์ และกระเปาะฟอง ของพรหมแล้ว เป็นผู้หลุดพ้นจากเครื่องผูกอันเป็นรากเหง้า แห่งกระเปาะฟองทั้งหมด ผู้คงที่ เห็นปานนั้น ผู้นั้นท่านผู้รู้ ทั้งหลายกล่าวว่า เป็นผู้ฉลาด ผู้ใดพิจารณาอายตนะทั้งสอง คือ อายตนะภายในและภายนอกแล้ว เป็นผู้มีปัญญาอัน บริสุทธิ์ ก้าวล่วงธรรมดำและธรรมขาวได้แล้ว ผู้คงที่ เห็น ปานนั้น ผู้นั้นท่านผู้รู้ทั้งหลายกล่าวว่าเป็นบัณฑิต ผู้ใดรู้ ธรรมของอสัตบุรุษและของสัตบุรุษในโลกทั้งปวง คือ ใน ภายในและภายนอก แล้วดำรงอยู่ ผู้นั้นอันเทวดาและมนุษย์ บูชา ล่วงธรรมเป็นเครื่องข้องและข่าย คือ ตัณหาและทิฐิ แล้ว ท่านผู้รู้ทั้งหลายกล่าวว่าเป็นมุนี ฯ [๓๖๙] ลำดับนั้น สภิยปริพาชก ฯลฯ ได้ทูลถามปัญหาข้อต่อไปกะ พระผู้มีพระภาคว่า บัณฑิตกล่าวบุคคลผู้บรรลุอะไร ว่าผู้ถึงเวท กล่าวบุคคลว่าผู้รู้ ตามด้วยอาการอย่างไร กล่าวบุคคลผู้มีความเพียร ด้วยอาการ อย่างไร และบุคคลบัณฑิตกล่าวว่า เป็นผู้ชื่อว่าอาชาไนยด้วย อาการอย่างไร ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์อันข้าพระองค์ ทูลถามแล้ว ขอจงตรัสพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิด ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรสภิยะ ผู้ใดพิจารณาเวททั้งสิ้น อันเป็นของมีอยู่แห่งสมณะและ พราหมณ์ทั้งหลาย ปราศจากความกำหนัดในเวทนาทั้งปวง ผู้นั้นล่วงเวททั้งหมดแล้ว บัณฑิตกล่าวว่าผู้ถึงเวท ผู้ใด ใคร่ครวญธรรมอันเป็นเครื่องทำให้เนิ่นช้า และนามรูปอันเป็น รากเหง้าแห่งโรค ทั้งภายในทั้งภายนอกแล้ว เป็นผู้หลุดพ้น จากเครื่องผูกอันเป็นรากเหง้าแห่งโรคทั้งปวง ผู้คงที่ เห็นปาน นั้น ผู้นั้นบัณฑิตกล่าวว่าผู้รู้ตาม ผู้ใดงดเว้นจากบาปทั้งหมด ล่วงความทุกข์ในนรกได้แล้ว ดำรงอยู่ ผู้นั้นบัณฑิตกล่าวว่า ผู้มีความเพียร ผู้นั้นมีความแกล้วกล้า มีความเพียร ผู้คงที่ เห็นปานนั้น บัณฑิตกล่าวว่าเป็นนักปราชญ์ ผู้ใดตัดเครื่องผูก อันเป็นรากเหง้าแห่งธรรมเป็นเครื่องข้องทั้งภายในทั้งภายนอก ได้แล้ว หลุดพ้นแล้วจากเครื่องผูกอันเป็นรากเหง้าแห่งธรรม เป็นเครื่องข้องทั้งปวง ผู้คงที่ เห็นปานนั้น ผู้นั้นบัณฑิตกล่าว ว่าเป็นผู้ชื่อว่าอาชาไนย [๓๗๐] ลำดับนั้น สภิยปริพาชก ฯลฯ ได้ทูลถามปัญหาข้อต่อไปกะ พระผู้มีพระภาคว่า บัณฑิตกล่าวบุคคลผู้บรรลุอะไร ว่าผู้ทรงพระสูตร กล่าว บุคคลว่าเป็นอริยะด้วยอาการอย่างไร กล่าวบุคคลว่าผู้มีจรณะ ด้วยอาการอย่างไร และบุคคลบัณฑิตกล่าวว่าเป็นผู้ชื่อว่า ปริพาชกด้วยอาการอย่างไร ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์ อันข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอจงตรัสพยากรณ์แก่ข้าพระองค์ เถิด ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรสภิยะ บัณฑิตกล่าวบุคคลผู้ฟังแล้ว รู้ยิ่งธรรมทั้งมวล ครอบงำธรรม ที่มีโทษและไม่มีโทษอะไรๆ อันมีอยู่ในโลกเสียได้ ไม่มี ความสงสัย หลุดพ้นแล้ว ไม่มีทุกข์ในธรรมมีขันธ์และ อายตนะเป็นต้นทั้งปวง ว่าผู้ทรงพระสูตร บุคคลนั้นรู้แล้ว ตัดอาลัย (และ) อาสวะได้แล้ว ย่อมไม่เข้าถึงการนอนใน ครรภ์ บรรเทาสัญญา ๓ อย่าง และเปือกตม คือ กามคุณแล้ว ย่อมไม่มาสู่กัป บัณฑิตกล่าวว่าเป็นอริยะ ผู้ใดในศาสนานี้ เป็นผู้บรรลุธรรมที่ควรบรรลุเพราะจรณะ เป็นผู้ฉลาด รู้ ธรรมได้ในกาลทุกเมื่อ ไม่ข้องอยู่ในธรรมมีขันธ์เป็นต้น ทั้งปวง มีจิตหลุดพ้นแล้ว ไม่มีปฏิฆะ ผู้นั้นบัณฑิตกล่าวว่า ผู้มีจรณะ ผู้ใดขับไล่กรรมอันมีทุกข์เป็นผล ซึ่งมีอยู่ ทั้งที่ เป็นอดีต อนาคต และเป็นปัจจุบันได้แล้ว มีปรกติกำหนด ด้วยปัญญาเที่ยวไป กระทำมายากับทั้งมานะ ความโลภ ความโกรธ และนามรูปให้มีที่สุดได้แล้ว ผู้นั้นบัณฑิตกล่าว ว่าปริพาชก ผู้บรรลุธรรมที่ควรบรรลุ ฯ [๓๗๑] ลำดับนั้น สภิยปริพาชก ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของ พระผู้มีพระภาคแล้ว มีใจชื่นชม เฟื่องฟู เบิกบาน เกิดปีติโสมนัส ลุกจาก อาสนะ กระทำผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่งแล้วประนมอัญชลีไปทางที่พระผู้มี- *พระภาคประทับอยู่ ได้ชมเชยพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาอันสมควรในที่เฉพาะ พระพักตร์ว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้มีพระปัญญาเสมอด้วยแผ่นดิน พระองค์ทรงกำจัดทิฐิ ๓ และทิฐิ ๖๐ ที่อาศัยคัมภีร์อันเป็น วาทะเป็นประธานของสมณะผู้มีลัทธิอื่น ที่อาศัยอักขระคือ ความหมายรู้กัน (ว่าหญิงว่าชาย) และสัญญาอันวิปริต (ซึ่งเป็นที่ยึดถือ) ทรงก้าวล่วงความมืด คือ โอฆะได้แล้ว พระองค์เป็นผู้ถึงที่สุด ถึงฝั่งแห่งทุกข์ เป็นพระอรหันต์ (ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ) ทรงสำคัญพระองค์ว่าผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว มีความรุ่งเรือง มีความรู้ มีพระปัญญามาก ทรงช่วยข้าพระองค์ ผู้กระทำที่สุดทุกข์ให้ข้ามได้แล้ว เพราะพระองค์ได้ทรง ทราบข้อที่ข้าพระองค์สงสัยแล้ว ทรงช่วยให้ข้าพระองค์ ข้ามพ้นความสงสัย ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมุนี ผู้ทรงบรรลุ ธรรมที่ควรบรรลุในทางแห่งมุนี ผู้ไม่มีกิเลสดุจหลักตอ ผู้เป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์ ข้าพระองค์ขอนอบน้อมแด่พระองค์ พระองค์เป็นผู้สงบดีแล้ว พระองค์ผู้มีพระจักษุ ทรงพยากรณ์ ความสงสัยของข้าพระองค์ที่ได้มีแล้วในกาลก่อนแก่ข้าพระองค์ พระองค์เป็นมุนีผู้ตรัสรู้เองแน่แท้ พระองค์ไม่มีนิวรณ์ อนึ่ง อุปายาสทั้งหมด พระองค์ทรงกำจัดเสียแล้ว ถอนขึ้นได้แล้ว พระองค์เป็นผู้เยือกเย็น เป็นผู้ถึงการฝึกตน มีพระปัญญา เครื่องทรงจำ มีความบากบั่นเป็นนิตย์ในสัจจะ เทวดาทั้งปวง ทั้งสองพวก (คือ อากาสัฏฐเทวดา และภุมมัฏฐเทวดา) ที่อาศัยอยู่ในนารทบรรพต ย่อมชื่นชมต่อพระองค์ผู้ประเสริฐยิ่ง ผู้มีความเพียรใหญ่ ผู้แสดงธรรมเทศนา ข้าแต่พระองค์ ผู้เป็นบุรุษอาชาไนย ข้าพระองค์ขอนอบน้อมแด่พระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นบุรุษอันสูงสุด ข้าพระองค์ขอนอบน้อมแด่ พระองค์ บุคคลผู้เปรียบเสมอพระองค์ ไม่มีในโลก พร้อมทั้งเทวโลก พระองค์เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระศาสดา เป็นมุนีผู้ครอบงำมาร พระองค์ทรงตัดอนุสัย ข้ามโอฆะได้ เองแล้ว ทรงช่วยให้หมู่สัตว์นี้ข้ามได้ด้วย พระองค์ทรง ก้าวล่วงอุปธิ ทำลายอาสวะได้แล้ว พระองค์เป็นดังสีหะ ไม่มีอุปาทาน ทรงละความกลัวและความขลาดได้แล้ว ไม่ทรงติดอยู่ในบุญและบาปทั้งสองอย่าง เปรียบเหมือน ดอกบัวขาบที่งามไม่ติดอยู่ในน้ำฉะนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้มี ความเพียร ขอเชิญพระองค์โปรดเหยียบพระบาทออกมาเถิด สภิยะจะขอถวายบังคมพระบาทของพระศาสดา ฯ [๓๗๒] ลำดับนั้นแล สภิยปริพาชก หมอบลงแทบพระบาทของ พระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้าแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของ ที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูปได้ฉะนั้น ข้าพระองค์นี้ขอถึงซึ่งพระผู้มีพระภาค กับทั้ง พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอให้ข้าพระองค์ พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเถิด ฯ พ. ดูกรสภิยะ ผู้ใดเคยเป็นอัญญเดียรถีย์มาก่อน หวังบรรพชาหวัง อุปสมบทในธรรมวินัยนี้ ผู้นั้นจะต้องอยู่ปริวาส ๔ เดือน เมื่อล่วง ๔ เดือนไปแล้ว ภิกษุทั้งหลายพอใจ จึงยังผู้นั้นผู้อยู่ปริวาสแล้ว ให้บรรพชาอุปสมบทเพื่อความ เป็นภิกษุ ก็แต่ว่าเรารู้ความต่างแห่งบุคคลในข้อนี้ ฯ ส. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าผู้ที่เคยเป็นอัญญเดียรถีย์มาก่อน หวัง บรรพชา หวังอุปสมบทในธรรมวินัยนี้ จะต้องอยู่ปริวาส ๔ เดือน เมื่อล่วง ๔ เดือน ภิกษุทั้งหลายพอใจ จึงยังผู้นั้นผู้อยู่ปริวาสแล้วให้บรรพชาอุปสมบทเพื่อความเป็น ภิกษุไซร้ ข้าพระองค์จักอยู่ปริวาส ๔ ปี เมื่อล่วง ๔ ปีแล้ว ภิกษุทั้งหลายพอใจ ขอจงยังข้าพระองค์ผู้อยู่ปริวาสแล้วให้บรรพชาอุปสมบท เพื่อความเป็นภิกษุเถิด ฯ สภิยปริพาชก ได้บรรพชา อุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้ว ครั้นท่านสภิยะอุปสมบทแล้วไม่นาน หลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ไม่นานนัก ก็กระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์ อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลายผู้ออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้วพรหมจรรย์ อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก ก็ท่านสภิยะได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลายฉะนี้แล ฯ
จบสภิยสูตรที่ ๖
เสลสูตรที่ ๗
[๓๗๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในชนบทชื่ออังคุตตราปะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป เสด็จถึงนิคมของชาวอังคุตตราปะ ชื่ออาปณะ ฯ เกณิยชฎิลได้สดับข่าวมาว่า พระสมณโคดมศากยบุตร ทรงผนวชจาก ศากยสกุล เสด็จจาริกไปในชนบทชื่ออังคุตตราปะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป เสด็จถึงนิคมชื่ออาปณะตามลำดับ ก็กิตติศัพท์อันงาม ของท่านพระโคดมพระองค์นั้นแล ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ... ทรงเบิกบานแล้ว เป็นผู้ จำแนกธรรม พระองค์ทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้ง ชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งเองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ให้รู้ตาม พระองค์ทรงแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง ก็การได้เห็นพระอรหันต์เห็นปานนั้น ย่อมเป็นความดีแล ฯ ครั้งนั้นแล เกณิยชฎิลเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับได้สนทนา ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เกณิยชฎิลเห็นแจ้ง ให้สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา ฯ ลำดับนั้น เกณิยชฎิล อันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง ให้ สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ขอพระโคดมผู้เจริญ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ทรงรับภัตของข้าพระองค์เพื่อเสวยใน วันพรุ่งนี้ พระเจ้าข้า ฯ [๓๗๔] เมื่อเกณิยชฎิลกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัส กะเกณิยชฎิลว่า ดูกรเกณิยะ ภิกษุสงฆ์มีมากถึง ๑,๒๕๐ รูป อนึ่ง ท่านก็ เลื่อมใสในพวกพราหมณ์ยิ่งนัก ฯ แม้ครั้งที่ ๒ เกณิยชฎิลก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดม ผู้เจริญ ภิกษุสงฆ์มีมากถึง ๑,๒๕๐ รูป ทั้งข้าพระองค์เป็นผู้เลื่อมใสในพวกพราหมณ์ ก็จริง ถึงอย่างนั้นก็ขอพระโคดมผู้เจริญพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ทรงรับภัตของ ข้าพระองค์เพื่อเสวยในวันพรุ่งนี้ ... แม้ครั้งที่ ๓ เกณิยชฎิล ... พระผู้มี- *พระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยดุษณีภาพ ลำดับนั้นแล เกณิยชฎิลทราบว่าพระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว ลุกจาก อาสนะ เข้าไปสู่อาศรมของตนแล้ว เรียกมิตร (กรรมกร) อำมาตย์และญาติ สาโลหิตทั้งหลายมากล่าวว่า มิตรอำมาตย์ และญาติสาโลหิตผู้เจริญทั้งหลาย จงฟังข้าพเจ้า ข้าพเจ้านิมนต์พระสมณโคดมพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เพื่อเสวยภัตใน วันพรุ่งนี้ ขอท่านทั้งหลายช่วยข้าพเจ้าขวนขวายด้วยกาย พวกมิตร อำมาตย์ และญาติสาโลหิตทั้งหลายของเกณิยชฎิลรับคำแล้ว บางพวกขุดเตา บางพวก ผ่าฟืน บางพวกล้างภาชนะ บางพวกช่วยตั้งหม้อน้ำ บางพวกปูอาสนะ ส่วน เกณิยชฎิลตกแต่งปะรำเอง ฯ [๓๗๕] ก็สมัยนั้นแล เสลพราหมณ์อาศัยอยู่ในอาปณนิคม เป็นผู้รู้จบ ไตรเพทพร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุและคัมภีร์เกตุภะ พร้อมทั้งประเภทอักษร มีคัมภีร์ อิติหาสเป็นที่ ๕ เป็นผู้เข้าใจตัวบท เข้าใจไวยากรณ์ ชำนาญในคัมภีร์โลกายตะ และตำราทำนายมหาปุริสลักษณะ ทั้งบอกมนต์แก่มาณพ ๓๐๐ คนด้วย ก็สมัยนั้น เกณิยชฎิลเป็นผู้เลื่อมใสในเสลพราหมณ์ยิ่งนัก ฯ ครั้งนั้นแล เสลพราหมณ์แวดล้อมด้วยมาณพ ๓๐๐ คน เดินเที่ยว พักผ่อนอยู่ ได้เข้าไปสู่อาศรมของเกณิยชฎิล ได้เห็นคนบางพวกขุดเตา ฯลฯ บางพวกปูอาสนะ ในอาศรมของเกณิยชฎิล ส่วนเกณิยชฎิลตกแต่งโรงปะรำเอง ครั้นแล้วได้ถามเกณิยชฎิลว่า ท่านเกณิยผู้เจริญ จักมีอาวาหะ วิวาหะ หรือเตรียม จัดมหายัญหรือ หรือท่านได้ทูลเชิญเสด็จพระเจ้าแผ่นดินมคธพระนามว่าพิมพิสาร จอมทัพ พร้อมทั้งรี้พล เพื่อเสวยในวันพรุ่งนี้ ฯ เกณิยชฎิลตอบว่า ท่านเสละผู้เจริญ อาวาหะหรือวิวาหะจะมีแก่ข้าพเจ้า ก็หามิได้ แม้พระเจ้าแผ่นดินมคธพระนามว่าพิมพิสารจอมทัพ พร้อมทั้งรี้พล ข้าพเจ้าก็มิได้ทูลเชิญเพื่อเสวยในวันพรุ่งนี้ แต่ข้าพเจ้าจัดมหายัญ พระสมณโคดม ผู้ศากยบุตร ทรงผนวชจากศากยสกุล เสด็จจาริกไปในชนบทชื่ออังคุตตราปะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป เสด็จถึงนิคมชื่ออาปณะตาม ลำดับ ก็กิตติศัพท์อันงามของท่านพระโคดมนั้นแล ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้เพราะ เหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ ทรงเบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ดังนี้ ข้าพเจ้านิมนต์พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เพื่อ เสวยภัตในวันพรุ่งนี้ ฯ ส. ท่านเกณิยะผู้เจริญ ท่านกล่าวว่า พุทโธ หรือ ฯ ก. ท่านเสละผู้เจริญ ข้าพเจ้ากล่าวว่า พุทโธ ฯ ส. ท่านเกณิยะผู้เจริญ ท่านกล่าวว่า พุทโธ หรือ ฯ ก. ท่านเสละผู้เจริญ ข้าพเจ้ากล่าวว่า พุทโธ ฯ ลำดับนั้นแล เสลพราหมณ์ดำริว่า แม้เสียงประกาศว่า พุทโธ หาได้ยาก ในโลก พระมหาบุรุษผู้ประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ ซึ่งมาในมนต์ ของพวกเรา ย่อมมีคติเป็นสองเท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่น คือ ถ้าอยู่ครองเรือน จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชา เป็นใหญ่ในแผ่นดินมี มหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ทรงชนะแล้ว มีราชอาณาจักรมั่นคง ทรงสมบูรณ์ ด้วยแก้ว ๗ ประการ คือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว คฤหบดีแก้ว ปรินายกแก้วเป็นที่ ๗ พระราชโอรสของพระองค์มีกว่าพัน ล้วนกล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็นวีระกษัตริย์ สามารถย่ำยีกองทัพของข้าศึกได้ พระองค์ทรงชำนะโดยธรรม มิต้องใช้อาชญา มิต้องใช้ศาตรา ทรงครอบครอง แผ่นดินมีสาครเป็นขอบเขต ๑ ถ้าแลเสด็จออกผนวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือกิเลสอันเปิดแล้วในโลก ๑ เสลพราหมณ์ ถามว่า ท่านเกณิยะผู้เจริญ ก็บัดนี้พระโคดมอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เจริญ พระองค์นั้น ประทับอยู่ที่ไหน ฯ [๓๗๖] เมื่อเสลพราหมณ์ถามอย่างนี้แล้ว เกณิยชฎิลได้ยกแขนขวา ขึ้นชี้แล้ว กล่าวกะเสลพราหมณ์ว่า ท่านเสละผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคประทับ อยู่ที่ทิวไม้มีสีเขียวนั่น ฯ ลำดับนั้นแล เสลพราหมณ์พร้อมด้วยมาณพ ๓๐๐ คน เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วกล่าวเตือนมาณพเหล่านั้นว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จงเงียบเสียง ค่อยๆ เดินตามกันมา เพราะท่านผู้เจริญเหล่านั้นเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนราชสีห์ ให้ยินดีได้ยาก ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย เวลาเราสนทนากับ พระสมณโคดม ท่านทั้งหลายอย่าพูดสอดขึ้นในระหว่างถ้อยคำของเรา จงรอให้ ถ้อยคำของเราจบลงก่อน เสลพราหมณ์ได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ ครั้นแล้ว เสลพราหมณ์ได้ตรวจดูมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ ใน พระกายของพระผู้มีพระภาค ก็ได้เห็นมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการโดยมาก เว้นอยู่ ๒ ประการ คือ พระคุยหะเร้นอยู่ในฝัก ๑ พระชิวหาใหญ่ ๑ จึงยัง เคลือบแคลงสงสัยไม่เชื่อไม่เลื่อมใสในมหาปุริสลักษณะ ๒ ประการ ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงดำริว่า เสลพราหมณ์นี้ เห็นมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ ของเราโดยมาก เว้นอยู่ ๒ ประการ คือ คุยหะเร้นอยู่ในฝัก ๑ ชิวหาใหญ่ ๑ จึงยังเคลือบแคลงสงสัยไม่เชื่อไม่เลื่อมใสในมหาปุริสลักษณะ ๒ ประการ ทันใด นั้น พระผู้มีพระภาคทรงบันดาลอิทธาภิสังขาร ให้เสลพราหมณ์ได้เห็นพระคุยหะ เร้นอยู่ฝัก และทรงแลบพระชิวหาสอดเข้าช่องพระกรรณทั้ง ๒ กลับไปมา สอดเข้าช่องพระนาสิกทั้ง ๒ กลับไปมา แผ่ปิดมณฑลพระนลาต เสลพราหมณ์ คิดว่าพระสมณโคดม ทรงประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการบริบูรณ์ ไม่บกพร่อง แต่เราไม่ทราบว่า พระองค์เป็นพระพุทธเจ้าหรือไม่ ก็แลเราได้ ฟังคำของพราหมณ์ทั้งหลายผู้แก่เฒ่าผู้เป็นอาจารย์และปาจารย์กล่าวอยู่ว่า พระผู้มี- *พระภาคเป็นผู้พระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมทรงทำพระองค์ให้ปรากฏ ในเมื่อบุคคลกล่าวถึงคุณของพระองค์ ถ้ากระไรเราพึงชมเชยพระสมณโคดม เฉพาะพระพักตร์ด้วยคาถาอันสมควร ฯ ลำดับนั้นแล เสลพราหมณ์ได้ชมเชยพระผู้มีพระภาคเฉพาะพระพักตร์ ด้วยคาถาอันสมควรว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์มีพระกายบริบูรณ์ สวยงาม ประสูติดีแล้ว มีพระเนตรงาม มีพระฉวีวรรณดุจทองคำ มีพระเขี้ยวขาวดี มีความเพียร อวัยวะใหญ่น้อยเหล่าใด มีแก่คนผู้เกิดดีแล้ว อวัยวะใหญ่น้อยเหล่านั้นทั้งหมดใน พระกายของพระองค์เป็นมหาปุริสลักษณะ พระองค์มี พระเนตรแจ่มใส มีพระพักตร์งาม มีกายใหญ่ตรง มีรัศมี รุ่งเรืองอยู่ในท่ามกลางสมณสงฆ์ดังพระอาทิตย์ พระองค์เป็น ภิกษุมีพระเนตร์งาม มีพระฉวีวรรณงามเปล่งปลั่งดังทองคำ ประโยชน์อะไรด้วยความเป็นสมณะของพระองค์ผู้มีวรรณะอัน อุดมอย่างนี้ พระองค์ควรเป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ประเสริฐ ในราชสมบัติ ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินมีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบ- เขต ผู้ทรงชนะแล้ว ผู้เป็นใหญ่ในชมพูทวีปมีกษัตริย์ ประเทศราชตามเสด็จ ข้าแต่พระโคดม ขอพระองค์ทรง เป็นพระราชาที่พระราชาทรงบูชา เป็นจอมมนุษย์ ครอง ราชสมบัติเถิด ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า [๓๗๗] ดูกรเสลพราหมณ์ เราเป็นพระราชาชั้นเยี่ยมเป็นพระธรรม ราชา เรายังจักรที่ใครๆ พึงให้เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไป โดยธรรม ฯ เสลพราหมณ์กราบทูลว่า พระองค์ทรงปฏิญาณว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ เป็นพระธรรม ราชาชั้นเยี่ยม ข้าแต่พระโคดม พระองค์ตรัสว่า จะยังจักร ให้เป็นไปโดยธรรม ใครหนอเป็นสาวกเสนาบดีของพระองค์ ผู้ประพฤติตามพระศาสดา ใครจะยังธรรมจักรที่พระองค์ให้ เป็นไปแล้วนี้ ให้เป็นไปตาม ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรเสลพราหมณ์ สารีบุตรผู้เกิดตามตถาคต จะยังธรรมจักรอันยอดเยี่ยมที่เรา ให้เป็นไปแล้ว ให้เป็นไปตาม ดูกรพราหมณ์ ธรรมที่ ควรรู้ยิ่ง เราได้รู้ยิ่งแล้ว ธรรมที่ควรให้เจริญ เราได้ให้ เจริญแล้วและธรรมที่ควรละ เราละได้แล้ว เพราะเหตุนั้น เราจึงเป็นพระพุทธะ ดูกรพราหมณ์ ท่านจงขจัดความสงสัย ในเราเสีย จงน้อมใจเชื่อ การได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธะ ทั้งหลายเนืองๆ เป็นกิจที่ได้โดยยาก ความปรากฏเนืองๆ แห่งพระสัมมาสัมพุทธะพระองค์ใดแล หาได้ยากในโลก เรา เป็นพระสัมพุทธะองค์นั้น ผู้เป็นศัลยแพทย์ชั้นเยี่ยม เราเป็น ผู้ประเสริฐไม่มีผู้เปรียบ ย่ำยีมารแลเสนามารเสียได้ ทำปัจจา- มิตรทั้งหมดไว้ในอำนาจไม่มีภัยแต่ที่ไหนๆ บันเทิงอยู่ ฯ เสลพราหมณ์กล่าวว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จงฟังคำนี้ที่พระผู้มีพระภาคมหาวีรบุรุษ ผู้มีจักษุ ผู้เป็นศัลยแพทย์ตรัสอยู่ ดังสีหะบันลืออยู่ในป่า ฉะนั้น ถึงแม้พระองค์จะเป็นผู้เกิดในสกุลต่ำทราม (ก็ตามที) ใครๆ ได้เห็นพระองค์ผู้ประเสริฐไม่มีผู้เปรียบ ย่ำยีมารและ เสนามารเสียได้ จะไม่พึงเลื่อมใส (ไม่มีเลย) ผู้ใดปรารถนา ก็จงตามเรามา หรือผู้ใดไม่ปรารถนาก็จงไปเถิด เราจักบวช ในสำนักของพระสัมมาสัมพุทธะผู้มีปัญญาอันประเสริฐนี้ ถ้า ท่านผู้เจริญชอบใจคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธะ อย่างนี้ ไซร้ แม้พวกเราก็จักบวชในสำนักของพระสัมมาสัมพุทธะ ผู้มีพระปัญญาอันประเสริฐ ฯ พราหมณ์ทั้ง ๓๐๐ เหล่านี้ ได้ประนมอัญชลีทูลขอว่า ข้าแต่ พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทั้งหลาย จักประพฤติพรหม- จรรย์ในสำนักของพระองค์ ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรเสลพราหมณ์ พรหมจรรย์เรากล่าวดีแล้ว ผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ ประกอบด้วยกาล เป็นที่ออกบวชอันไม่เปล่าประโยชน์ ของ บุคคลผู้ไม่ประมาทศึกษาอยู่ ฯ [๓๗๘] เสลพราหมณ์พร้อมกับบริษัทได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของ พระผู้มีพระภาค ครั้งนั้นแล พอล่วงราตรีนั้นไป เกณิยชฎิล สั่งให้ตกแต่ง ขาทนียะโภชนียาหารอันประณีตไว้ในอาศรมของตน เสร็จแล้วให้กราบทูลภัตกาล แด่พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถึงเวลาแล้ว ภัตเสร็จแล้ว ลำดับ นั้น เป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไป ยังอาศรมของเกณิยชฎิล ครั้นแล้ว ประทับนั่งเหนืออาสนะที่เขาปูลาดถวาย พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ลำดับนั้นเกณิยชฎิล อังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็น ประมุข ให้อิ่มหนำสำราญด้วยขาทนียะโภชนียาหารอันประณีต ด้วยมือของตน เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ ชักพระหัตถ์จากบาตรแล้ว เกณิยชฎิลถืออาสนะ ต่ำแห่งหนึ่ง นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งพระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาแก่ เกณิยชฎิลด้วยพระคาถาเหล่านี้ว่า ยัญทั้งหลายมีการบูชาไฟเป็นประมุข ฉันท์ทั้งหลายมีสาวิตติ ฉันท์เป็นประมุข พระราชาเป็นประมุขของมนุษย์ทั้งหลาย สมุทรสาครเป็นประมุขของแม่น้ำทั้งหลาย พระจันทร์เป็นประมุข ของดาวนักษัตร์ทั้งหลาย พระอาทิตย์เป็นประมุขของความร้อน ทั้งหลาย พระสงฆ์แล เป็นประมุขของบุคคลทั้งหลายผู้มุ่งบุญ บูชาอยู่ ฯ [๓๗๙] ครั้น พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาแก่เกณิยชฎิลด้วยพระคาถา เหล่านี้แล้ว เสด็จลุกจากอาสนะหลีกไป ลำดับนั้นแล ท่านพระเสละพร้อมด้วย บริษัท หลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ไม่ นานนักก็ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลายออก บวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่น เพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็ท่านพระเสละพร้อมด้วยบริษัท ได้เป็นพระอรหันต์ องค์หนึ่งๆ ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท่านพระเสละ พร้อม ทั้งบริษัทได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้ห่มจีวรเฉวียงบ่า ข้างหนึ่ง ประนมอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ได้กราบทูลพระผู้มีพระ ภาคด้วยคาถาว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุ ข้าพระองค์ทั้งหลายถึง สรณะในวันที่ ๘ แต่วันนี้ไป เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์ ทั้งหลาย ฝึกฝนตนอยู่ในศาสนาของพระองค์ ๗ ราตรี พระ- องค์เป็นพระพุทธเจ้า เป็นศาสดา เป็นมุนีครอบงำมาร ทรง ตัดอนุสัยแล้ว เป็นผู้ข้ามได้เองแล้ว ทรงช่วยเหลือหมู่สัตว์นี้ให้ ข้ามได้ พระองค์ทรงก้าวล่วงอุปธิได้แล้ว ทรงทำลายอาสวะ ทั้งหลายแล้ว ไม่ทรงถือมั่น ทรงละความกลัวและความ ขลาดได้แล้ว ดังสีหะ ภิกษุ ๓๐๐ รูปนี้ยืนประนมอัญชลีอยู่ ข้าแต่พระวีรเจ้า ขอพระองค์ทรงเหยียดพระบาทยุคลเถิด ท่านผู้ประเสริฐทั้งหลาย จงถวายบังคมพระบาทยุคลของ- พระศาสดา ฯ
จบเสลสูตรที่ ๗
สัลลสูตรที่ ๘
[๓๘๐] ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ไม่มีเครื่องหมาย ใครๆ รู้ ไม่ได้ ทั้งลำบาก ทั้งน้อย และประกอบด้วยทุกข์ สัตว์ ทั้งหลาย ผู้เกิดแล้ว จะไม่ตายด้วยความพยายามอันใด ความพยายามอันนั้นไม่มีเลย แม้อยู่ได้ถึงชราก็ต้องตาย เพราะสัตว์ทั้งหลายมีอย่างนี้เป็นธรรมดา ผลไม้สุกงอมแล้ว ชื่อว่าย่อมมีภัยเพราะจะต้องร่วงหล่นไปในเวลาเช้า ฉันใด สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดแล้ว ชื่อว่าย่อมมีภัย เพราะจะต้องตาย เป็นนิตย์ ฉันนั้น ภาชนะดินที่นายช่างทำแล้วทุกชนิด มี ความแตกเป็นที่สุด แม้ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ก็ ฉันนั้น ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งคนเขลา ทั้งคนฉลาด ล้วน ไปสู่อำนาจของมฤตยู มีมฤตยูเป็นที่ไปในเบื้องหน้าด้วยกัน ทั้งหมด เมื่อสัตว์เหล่านั้นถูกมฤตยูครอบงำแล้ว ต้องไป ปรโลก บิดาจะป้องกันบุตรไว้ก็ไม่ได้ หรือพวกญาติจะ ป้องกันพวกญาติไว้ก็ไม่ได้ ท่านจงเห็น เหมือนเมื่อหมู่ ญาติของสัตว์ทั้งหลายผู้จะต้องตาย กำลังแลดูรำพันอยู่โดย ประการต่างๆ สัตว์ผู้จะต้องตายผู้เดียวเท่านั้นถูกมฤตยูนำไป เหมือนโคที่บุคคลจะพึงฆ่าถูกนำไปตัวเดียวฉะนั้น ความตาย และความแก่กำจัดสัตว์โลกอยู่อย่างนี้ เพราะเหตุนั้น นัก- ปราชญ์ทั้งหลายทราบชัดสภาพของโลกแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก ท่านย่อมไม่รู้ทางของผู้มาหรือผู้ไป ไม่เห็นที่สุดทั้งสองอย่าง ถึงจะคร่ำครวญไปก็ไร้ประโยชน์ ถ้าผู้คร่ำครวญหลงเบียด เบียนตนอยู่จะยังประโยชน์อะไรๆ ให้เกิดขึ้นได้ไซร้ บัณฑิต ผู้เห็นแจ้งก็พึงกระทำความคร่ำครวญนั้น บุคคลจะถึงความ สงบใจได้ เพราะการร้องไห้ เพราะความเศร้าโศก ก็หาไม่ ทุกข์ย่อมเกิดแก่ผู้นั้นยิ่งขึ้น และสรีระของผู้นั้นก็จะซูบซีด บุคคลผู้เบียดเบียนตนเอง ย่อมเป็นผู้ซูบผอม มีผิวพรรณ เศร้าหมอง สัตว์ทั้งหลายผู้ละไปแล้ว ย่อมรักษาตนไม่ได้ ด้วยความรำพันนั้น การรำพันไร้ประโยชน์ คนผู้ทอดถอน ถึงบุคคลผู้ทำกาละแล้ว ยังละความเศร้าโศกไม่ได้ ตกอยู่ ในอำนาจแห่งความเศร้าโศก ย่อมถึงทุกข์ยิ่งขึ้น ท่านจง เห็นคนแม้เหล่าอื่นผู้เตรียมจะดำเนินไปตามยถากรรม (และ) สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ผู้มาถึงอำนาจแห่งมัจจุแล้ว กำลัง พากันดิ้นรนอยู่ทีเดียว ก็สัตว์ทั้งหลายย่อมสำคัญด้วยอาการ ใดๆ อาการนั้นๆ ย่อมแปรเป็นอย่างอื่นไปในภายหลัง ความ พลัดพรากกัน เช่นนี้ย่อมมีได้ ท่านจงดูสภาพแห่งโลกเถิด มาณพแม้จะพึงเป็นอยู่ร้อยปีหรือยิ่งกว่านั้น ก็ต้องพลัดพราก จากหมู่ญาติ ต้องละทิ้งชีวิตไว้ในโลกนี้ เพราะเหตุนั้น บุคคล ฟังพระธรรมเทศนาของพระอรหันต์แล้ว เห็นคนผู้ล่วงลับ ทำกาละแล้ว กำหนดรู้อยู่ว่า บุคคลผู้ล่วงลับทำกาละแล้ว นั้น เราไม่พึงได้ว่า จงเป็นอยู่อีกเถิด ดังนี้ พึงกำจัดความ รำพันเสีย บุคคลพึงดับไฟที่ไหม้ลุกลามไปด้วยน้ำ ฉันใด นรชนผู้เป็นนักปราชญ์ มีปัญญา เฉลียวฉลาด พึงกำจัด ความเศร้าโศกที่เกิดขึ้นเสีย โดยฉับพลันเหมือนลมพัดนุ่น ฉะนั้น คนผู้แสวงหาความสุขเพื่อตน พึงกำจัดความรำพัน ความทะยานอยากและความโทมนัสของตน พึงถอนลูกศร คือกิเลสของตนเสีย เป็นผู้มีลูกศร คือ กิเลสอันถอนขึ้น แล้ว อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยแล้วถึงความสงบใจ ก้าว ล่วงความเศร้าโศกได้ทั้งหมด เป็นผู้ไม่มีความเศร้าโศก เยือกเย็น ฉะนี้แล ฯ
จบสัลลสูตรที่ ๘
วาเสฏฐสูตรที่ ๙
[๓๘๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ราวป่าอิจฉานงคลวันใกล้ อิจฉานังคลคาม ก็สมัยนั้น พราหมณ์มหาศาลผู้มีชื่อเสียงเป็นอันมาก คือ จังกีพราหมณ์ ตารุกขพราหมณ์ โปกขรสาติพราหมณ์ ชาณุสโสณีพราหมณ์ โตเทยยพราหมณ์ และพราหมณ์มหาศาลผู้มีชื่อเสียงเหล่าอื่น อาศัยอยู่ใน อิจฉานังคลคาม ครั้งนั้นแล วาเสฏฐมาณพและภารทวาชมาณพ เดินพักผ่อนอยู่ ได้สนทนากันในระหว่างว่า ท่านผู้เจริญ บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์ด้วยเหตุ อย่างไร ภารทวาชมาณพกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญบุคคลผู้เป็นอุภโตสุชาต ทั้งฝ่ายมารดาและฝ่ายบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดดีตลอด ๗ ชั่วบรรพ- *บุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียนได้ด้วยอ้างถึงชาติ บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์ด้วย เหตุเพียงเท่านี้ ฯ วาเสฏฐมาณพกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ บุคคลเป็นผู้มีศีลและถึง พร้อมด้วยวัตร บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล ฯ ภารทวาชมาณพไม่สามารถจะให้วาเสฏฐมาณพยินยอมได้เลย และวาเสฏฐ มาณพก็ไม่สามารถจะให้ภารทวาชมาณพยินยอมได้ ฯ ลำดับนั้นแล วาเสฏฐมาณพจึงกล่าวกะภารทวาชมาณพว่า ท่านภารทวาชะ พระสมณโคดมผู้ศากยบุตรนี้ เสด็จออกผนวชจากศากยสกุล ประทับอยู่ ณ ราวป่าอิจฉานังคลวัน ใกล้อิจฉานังคลคาม ก็กิตติศัพท์อันงามของท่านพระโคดม พระองค์นั้นขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ท่านภารทวาชะ เราทั้งสองจงไปเฝ้า พระสมณโคดมเถิด ครั้นแล้วจักทูลถามเนื้อความนี้ พระสมณโคดมจักตรัส พยากรณ์แก่เราด้วยประการใด เราจักทรงจำข้อความนั้นไว้ด้วยประการนั้น ฯ ภารทวาชมาณพ รับคำวาเสฏฐมาณพแล้ว ลำดับนั้น วาเสฏฐมาณพ และภารทวาชมาณพ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนา ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว วาเสฏฐมาณพได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า [๓๘๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งสองเป็นผู้มีไตรวิชชา อันอาจารย์ยกย่องและรับรอง ข้าพระองค์เป็นศิษย์ผู้ใหญ่ ของโปกขรสาติพราหมณ์ ภารทวาชมาณพนี้ เป็นศิษย์ผู้ใหญ่ ของตารุกขพราหมณ์ ข้าพระองค์ทั้งสองเป็นผู้ถึงความสำเร็จ ในเวทที่อาจารย์ผู้มีไตรวิชชาบอกแล้ว เป็นผู้เข้าใจตัวบท และเป็นผู้ชำนาญไวยากรณ์ ในเวท เช่นกับอาจารย์ ข้าแต่ พระโคดม ข้าพระองค์ทั้งสองมีการโต้เถียงกันเพราะการอ้าง ถึงชาติ ภารทวาชมาณพกล่าวว่า บุคคลเป็นพราหมณ์เพราะ ชาติ ส่วนข้าพระองค์กล่าวว่า บุคคลเป็นพราหมณ์เพราะ กรรม ข้าแต่พระโคดมผู้มีพระจักษุ ขอพระองค์จงทรงทราบ อย่างนี้ ข้าพระองค์ทั้งสองนั้นไม่สามารถจะให้กันและกัน ยินยอมได้ จึงพากันมาเพื่อจะทูลถามพระองค์ผู้ปรากฏว่า เป็น พระสัมพุทธะ ข้าแต่พระโคดม ข้าพระองค์ทั้งสอง ประนม อัญชลีเข้ามาถวายนมัสการพระองค์ผู้ปรากฏว่า เป็นพระ สัมพุทธะในโลก เหมือนชนทั้งหลาย ประนมอัญชลีเข้ามา ไหว้นมัสการพระจันทร์อันเต็มดวง ฉะนั้น ข้าพระองค์ทั้งสอง ขอทูลถามพระโคดมผู้มีพระจักษุ ผู้อุบัติขึ้นดีแล้วในโลกว่า บุคคลเป็นพราหมณ์เพราะชาติหรือเพราะกรรม ขอพระองค์ จงตรัสบอกแก่ข้าพระองค์ทั้งสองผู้ไม่รู้ ด้วยอาการที่ข้า พระองค์ทั้งสองจะพึงรู้จักพราหมณ์เถิด ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรวาเสฏฐะ เราจักพยากรณ์แก่ท่านทั้งหลายตามลำดับตามสมควร สัตว์ ทั้งหลายมีความแตกต่างกันโดยชาติ เพราะชาติของสัตว์ เหล่านั้น มีประการต่างๆ กัน ท่านทั้งหลายย่อมรู้จัก หญ้าและต้นไม้ แต่หญ้าและต้นไม้ ก็ไม่ยอมรับว่าเป็น หญ้าเป็นต้นไม้ หญ้าและต้นไม้เหล่านั้นมีสัณฐานสำเร็จ มาแต่ชาติ เพราะชาติของมันต่างๆ กัน แต่นั้นท่าน ทั้งหลายจงรู้จัก หนอน ตั๊กแตน มดดำ และมดแดง สัตว์ เหล่านั้นมีสัณฐานสำเร็จมาแต่ชาติ เพราะชาติของมัน ต่างๆ กัน ท่านทั้งหลายจงรู้จักสัตว์ ๔ เท้า ทั้งตัวเล็ก ตัวใหญ่ สัตว์เหล่านั้นมีสัณฐานสำเร็จมาแต่ชาติ เพราะ ชาติของมันต่างๆ กัน ต่อแต่นั้น ท่านทั้งหลายจงรู้จัก ปลาที่เกิดในน้ำเที่ยวไปในน้ำ ปลาเหล่านั้นมีสัณฐานสำเร็จ มาแต่ชาติ เพราะชาติของมันมีต่างๆ กัน ถัดจากนั้น ท่านทั้งหลายจงรู้จักนกที่บินไปในเวหา นกเหล่านั้นมีสัณฐาน สำเร็จมาแต่ชาติ เพราะชาติของมันต่างๆ กัน เพศที่ สำเร็จมาแต่ชาติเป็นอันมาก ไม่มีในมนุษย์ทั้งหลาย เหมือน อย่างสัณฐานที่สำเร็จมาแต่ชาติเป็นอันมากในชาติเหล่านี้ ฉะนั้น การกำหนดด้วยผม ศีรษะ หู นัยน์ตา ปาก จมูก ริมฝีปาก คิ้ว คอ บ่า ท้อง หลัง ตะโพก อก ที่แคบ เมถุน มือ เท้า นิ้วมือ เล็บ แข้ง ขา วรรณะ หรือเสียง ว่าผมเป็นต้น ของพราหมณ์เป็นเช่นนี้ ของกษัตริย์ เป็นเช่นนี้ย่อมไม่มีเลย เพศที่สำเร็จมาแต่ชาติไม่มีใน มนุษย์ทั้งหลายเลย เหมือนอย่างสัณฐานที่สำเร็จมาแต่ ชาติในชาติเหล่าอื่น ฉะนั้น ความแตกต่างกันแห่งสัณฐาน มีผมเป็นต้นนี้ ที่สำเร็จมาแต่กำเนิด ย่อมไม่มีในสรีระ ของตนๆ เฉพาะในตัวมนุษย์ทั้งหลายเลย แต่ความต่าง กันในมนุษย์ทั้งหลาย บัณฑิตกล่าวไว้โดยสมัญญา ดูกร วาเสฏฐะ ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ก็ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดผู้หนึ่ง อาศัยโครักขกรรมเลี้ยงชีพ ผู้นั้นเป็นชาวนา มิใช่ พราหมณ์ ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ก็ใน หมู่มนุษย์ ผู้ใดผู้หนึ่งเลี้ยงชีพด้วยศิลปะเป็นอันมาก ผู้ นั้นเป็นศิลปิน มิใช่พราหมณ์ ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจง รู้อย่างนี้ว่า ก็ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดผู้หนึ่ง อาศัยการค้า ขายเลี้ยงชีพ ผู้นั้นเป็นพ่อค้ามิใช่พราหมณ์ ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ก็ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดผู้หนึ่งเลี้ยงชีวิต ด้วยการรับใช้ผู้อื่น ผู้นั้นเป็นผู้รับใช้ มิใช่พราหมณ์ ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ก็ในหมู่มนุษย์ ผู้ ใดผู้หนึ่งอาศัยการลักทรัพย์เลี้ยงชีพ ผู้นั้นเป็นโจร มิใช่ พราหมณ์ ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ก็ใน หมู่มนุษย์ ผู้ใดผู้หนึ่งอาศัยลูกศรและศาตราเลี้ยงชีพ ผู้นั้น เป็นนักรบอาชีพ มิใช่พราหมณ์ ดูกรวาเสฏฐะ ท่าน จงรู้อย่างนี้ว่า ก็ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดผู้หนึ่งเลี้ยงชีพด้วยความ เป็นปุโรหิต ผู้นั้นเป็นผู้ยังบุคคลให้บูชา มิใช่เป็นพราหมณ์ ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ก็ในหมู่มนุษย์ ผู้ใด ผู้หนึ่งปกครองบ้านและแว่นแคว้น ผู้นั้นเป็นพระราชา มิใช่พราหมณ์ ก็เราหากล่าวผู้เกิดแต่กำเนิดในท้องมารดา ว่าเป็นพราหมณ์ไม่ ผู้นั้นเป็นผู้ชื่อว่าโภวาที ผู้นั้นแล ยังเป็นผู้มีเครื่องกังวล เรากล่าวบุคคลผู้ไม่มีเครื่องกังวล ผู้ไม่ถือมั่น ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้ตัดสังโยชน์ได้ทั้ง หมด ไม่สะดุ้งเลย ล่วงธรรมเป็นเครื่องข้องแล้ว พราก โยคะทั้ง ๔ ได้แล้ว ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้ที่ตัด ชะเนาะคือความโกรธ เชือก คือ ตัณหา หัวเงื่อน คือ ทิฐิ ๖๒ พร้อมทั้งสายโยง คือ อนุสัยเสียได้ ผู้มีลิ่ม สลักอันถอดแล้ว ผู้ตรัสรู้แล้ว ว่าเป็นพราหมณ์ เรา กล่าวผู้ไม่ประทุษร้าย อดกลั้นได้ซึ่งคำด่าว่า การทุบตีและ การจองจำ ผู้มีกำลังคือขันติ ผู้มีหมู่พลคือขันตี ว่าเป็น พราหมณ์ เรากล่าวผู้ไม่โกรธ มีวัตร มีศีล ไม่มีกิเลส อันฟูขึ้น ฝึกตนแล้ว ทรงไว้ซึ่งร่างกายมีในที่สุด ว่าเป็น พราหมณ์ เรากล่าวผู้ไม่ติดอยู่ในกามทั้งหลาย ดุจน้ำไม่ ติดอยู่ในใบบัว ดุจเมล็ดพันธุ์ผักกาดไม่ติดอยู่บนปลาย เหล็กแหลม ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้รู้ชัดความสิ้นไป แห่งทุกข์ของตน ในศาสนานี้แล ผู้ปลงภาระแล้ว พรากกิเลสได้หมดแล้ว ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้มีปัญญา ลึกซึ้ง มีเมธา ผู้ฉลาดในทางและมิใช่ทาง ผู้บรรลุถึง ประโยชน์อันสูงสุด ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้ไม่เกี่ยวข้อง ด้วยคน ๒ พวก คือ คฤหัสถ์และบรรพชิต ไม่มีความ อาลัยเที่ยวไป มีความปรารถนาน้อย ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้วางอาชญาในสัตว์ทั้งหลาย ทั้งผู้ที่สะดุ้งและ มั่นคง ไม่ฆ่าเอง ไม่ใช้ผู้อื่นให้ฆ่า ว่าเป็นพราหมณ์ เรา กล่าวผู้ไม่ปองร้าย ผู้ดับเสียได้ในผู้ที่มีอาชญาในตน ผู้ไม่ ยึดถือในผู้ที่มีความยึดถือ ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้ที่ทำ ราคะ โทสะ มานะ และมักขะ ให้ตกไปแล้ว ดุจเมล็ด พันธุ์ผักกาดตกไปจากปลายเหล็กแหลม ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้เปล่งถ้อยคำไม่หยาบ ให้รู้ความกันได้ เป็นคำจริง ซึ่งไม่เป็นเหตุทำใครๆ ให้ข้องอยู่ ว่าเป็นพราหมณ์ ก็เรา กล่าวผู้ไม่ถือเอาสิ่งของยาวหรือสั้น น้อยหรือใหญ่ งาม และไม่งาม ซึ่งเจ้าของมิได้ให้แล้วในโลก ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้ไม่มีความหวังทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า ผู้สิ้น หวัง พรากกิเลสได้หมดแล้ว ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าว ผู้ไม่มีความอาลัย รู้แล้วทั่วถึง ไม่มีความสงสัย หยั่งลงสู่ นิพพาน ได้บรรลุแล้วโดยลำดับ ว่าเป็นพราหมณ์ เรา กล่าวผู้ละทิ้งบุญและบาปทั้ง ๒ ล่วงธรรมเป็นเครื่องข้องได้ แล้ว ไม่มีความเศร้าโศก ปราศจากธุลี บริสุทธิ์แล้ว ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้มีความยินดีในภพหมดสิ้นแล้ว ผู้บริสุทธิ์ มีจิตผ่องใส ไม่ขุ่นมัวดุจพระจันทร์ที่ปราศจาก มลทิน ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้ล่วงทางอ้อม หล่ม สงสาร โมหะเสียได้ เป็นผู้ข้ามถึงฝั่ง เพ่งฌาน ไม่หวั่น ไหว ไม่มีความสงสัย ดับกิเลสได้แล้วเพราะไม่ถือมั่น ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้ละกามในโลกนี้ได้เด็ดขาด เป็นผู้ไม่มีเรือน บวชเสียได้ มีกามราคะหมดสิ้นแล้ว ว่า เป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้ละตัณหาในโลกนี้ได้เด็ดขาด เป็น ผู้ไม่มีเรือน งดเว้น มีตัณหาและภพหมดสิ้นแล้ว ว่าเป็น พราหมณ์ เรากล่าวผู้ละโยคะที่เป็นของมนุษย์ แล้วล่วง โยคะที่เป็นของทิพย์เสียได้ ผู้พรากแล้วจากโยคะทั้งปวง ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้ละความยินดีและความไม่ยินดี เป็นผู้เยือกเย็น หาอุปธิมิได้ ผู้ครอบงำโลกทั้งปวง มีความ เพียร ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้รู้จุติและอุปบัติของสัตว์ ทั้งหลาย โดยอาการทั้งปวง ผู้ไม่ข้อง ไปดี ตรัสรู้แล้ว ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้ที่เทวดา คนธรรพ์ และมนุษย์รู้ คติไม่ได้ ผู้สิ้นอาสวะแล้ว เป็นพระอรหันต์ ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้ไม่มีเครื่องกังวลในขันธ์ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ไม่มีเครื่องกังวล ไม่ยึดถือ ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้องอาจ ประเสริฐ เป็นนักปราชญ์ แสวงหาคุณ ใหญ่ชนะมาร ไม่มีความหวั่นไหว ล้างกิเลสหมด ตรัสรู้ แล้ว ว่าเป็นพราหมณ์ เรากล่าวผู้ระลึกชาติก่อนๆ ได้ เห็นสวรรค์และอบาย และถึงความสิ้นไปแห่งชาติแล้ว ว่า เป็นพราหมณ์ นามและโคตรที่เขากำหนดกัน เป็นบัญญัติใน โลก นามและโคตรมาแล้วเพราะการรู้ตามกันมา ญาติ สาโลหิตทั้งหลาย กำหนดไว้ในกาลที่บุคคลเกิดแล้วนั้นๆ นามและโคตรที่กำหนดกันแล้วนี้ เป็นความเห็นของพวก คนผู้ไม่รู้ ซึ่งสืบเนื่องกันมาสิ้นกาลนาน พวกคนผู้ไม่รู้ ย่อมกล่าวว่าบุคคลเป็นพราหมณ์เพราะชาติ แต่บุคคลเป็น พราหมณ์เพราะชาติก็หามิได้ แต่เป็นพราหมณ์เพราะกรรม ไม่เป็นพราหมณ์ก็เพราะกรรม เป็นชาวนาก็เพราะกรรม เป็นศิลปิน เป็นพ่อค้า เป็นผู้รับใช้ เป็นโจร เป็นนักรบ อาชีพ เป็นปุโรหิต และแม้เป็นพระราชา ก็เพราะกรรม บัณฑิตทั้งหลายผู้มีปรกติเห็นปฏิจจสมุปบาท ฉลาดในกรรม และวิบาก ย่อมเห็นกรรมตามความเป็นจริงอย่างนี้ โลก ย่อมเป็นไปเพราะกรรม หมู่สัตว์ย่อมเป็นไปเพราะกรรม สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นเครื่องผูกพัน เปรียบเหมือนหมุด แห่งรถที่แล่นไปอยู่ ฉะนั้น บุคคลเป็นพราหมณ์เพราะกรรม อันประเสริฐนี้ คือ ตบะ สัญญมะ พรหมจรรย์ และ ทมะ กรรมนี้ นำความเป็นพราหมณ์ที่สูงสุดมาให้ บุคคล ผู้ถึงพร้อมด้วยไตรวิชชา เป็นคนสงบ มีภพใหม่สิ้นไปแล้ว เป็นพราหมณ์ผู้องอาจของบัณฑิตทั้งหลายผู้รู้แจ้งอยู่ ท่านจง รู้อย่างนี้เถิดวาเสฏฐะ ฯ [๓๘๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว วาเสฏฐมาณพ และ ภารทวาชมาณพ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิต ของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระองค์ทั้งสองว่าเป็น อุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ
จบวาเสฏฐสูตรที่ ๙
โกกาลิกสูตรที่ ๑๐
[๓๘๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล โกกาลิกภิกษุ เข้า ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ เป็นผู้มีความปรารถนาลามก ตกอยู่ในอำนาจแห่งความ ปรารถนาลามก พระเจ้าข้า ฯ [๓๘๕] เมื่อโกกาลิกภิกษุกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัส กะโกกาลิกภิกษุว่า โกกาลิกะ เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้ โกกาลิกะ เธออย่าได้ กล่าวอย่างนี้ เธอจงยังจิตให้เลื่อมใสในสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด สารีบุตร และโมคคัลลานะมีศีลเป็นที่รัก ฯ แม้ครั้งที่ ๒ โกกาลิกภิกษุก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงชักนำข้าพระองค์ให้จงใจเชื่อ ให้เลื่อมใส ก็จริง แต่พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นผู้มีความปรารถนาลามก แม้ครั้งที่ ๒ พระ ผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสกะโกกาลิกภิกษุว่า โกกาลิกะ เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้ โกกา- *ลิกะ เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้เลย เธอจงยังจิตให้เลื่อมใสในสารีบุตรและ โมคคัลลานะเถิด สารีบุตรและโมคคัลลานะมีศีลเป็นที่รัก ฯ แม้ครั้งที่ ๓ ... ลำดับนั้นแล โกกาลิกภิกษุลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป เมื่อโกกาลิกภิกษุหลีกไปแล้วไม่นานนัก ได้มีต่อม ประมาณเมล็ดพันธุ์ผักกาดเกิดขึ้นทั่วกาย ครั้นแล้ว เป็นต่อมประมาณเท่าเมล็ด ถั่วเขียว เท่าเมล็ดถั่วดำ เท่าเมล็ดพุดซา เท่าผลพุดซา เท่าผลมะขามป้อม เท่า ผลมะตูมอ่อน เท่าผลขนุนอ่อน แตกหัวแล้ว หนองและเลือดไหลออก ลำดับ นั้น โกกาลิกภิกษุมรณภาพเพราะอาพาธนั้นเอง ครั้นโกกาลิกภิกษุมรณภาพแล้ว ก็ย่อมอุบัติในปทุมนรก เพราะจิตคิดอาฆาตในพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ครั้งนั้นแล ท้าวสหัมบดีพรหม เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว มีรัศมีงามยิ่ง ทำพระ เชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ โกกาลิกภิกษุมรณภาพแล้ว ครั้นแล้วอุบัติในปทุมนรก เพราะ จิตคิดอาฆาตในพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ท้าวสหัมบดีพรหมครั้นกราบ ทูลดังนี้แล้ว กระทำประทักษิณแล้ว ได้อันตรธานไปในที่นั้นเอง ฯ ครั้นพอล่วงราตรีนั้นไป พระผู้มีพระภาคตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อคืนนี้ เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว ท้าวสหัมบดีพรหม มีรัศมีอัน งามยิ่ง ทำวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วยืน อยู่ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวกะเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โกกา- *ลิกภิกษุมรณภาพแล้วอุบัติในปทุมนรก เพราะจิตคิดอาฆาตในพระสารีบุตร และ พระโมคคัลลานะ ท้าวสหัมบดีพรหม ครั้นกล่าวดังนี้แล้ว กระทำประทักษิณ แล้ว ได้อันตรธานหายไปในที่นั้นเอง ฯ [๓๘๖] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถาม พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ประมาณอายุในปทุมนรกนานเพียงใด พระเจ้าข้า ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ ประมาณอายุในปทุมนรกนานนัก การนับประมาณอายุในปทุมนรกนั้นว่า เท่านี้ปี เท่านี้ร้อยปี เท่านี้พันปี หรือว่า เท่านี้แสนปี ไม่ใช่ทำได้ง่าย ฯ ภ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระองค์สามารถจะทรงกระทำการเปรียบ เทียบได้หรือไม่ พระเจ้าข้า ฯ พระผู้มีพระภาคทรงรับว่า สามารถ ภิกษุ ดังนี้แล้ว ตรัสว่า ดูกรภิกษุ เปรียบเหมือนเกวียนที่บรรทุกงาหนัก ๒๐ หาบของชาวโกศล เมื่อล่วงไปได้ ร้อยปี พันปี แสนปี บุรุษพึงหยิบเมล็ดงาขึ้นจากเกวียนนั้นออกทิ้งเมล็ดหนึ่งๆ ดูกรภิกษุ เกวียนที่บรรทุกงาหนัก ๒๐ หาบของชาวโกศลนั้น จะพึงถึงความ สิ้นไปโดยลำดับนี้เร็วเสียกว่า แต่อัพพุทนรกหนึ่งจะไม่พึงถึงความสิ้นไปได้เลย ดูกรภิกษุ ๒๐ อัพพุทนรกเป็นหนึ่งนิรัพพุทนรก ๒๐ นิรัพพุทนรกเป็นหนึ่ง อัพพนรก ๒๐ อัพพนรกเป็นหนึ่งอหหนรก ๒๐ อหหนรกเป็นหนึ่งอฏฏนรก ๒๐ อฏฏนรกเป็นหนึ่งกุมุทนรก ๒๐ กุมุทนรกเป็นหนึ่งโสคันธิกนรก ๒๐ โสคันธินรกเป็นหนึ่งอุปลกนรก ๒๐ อุปลกนรกเป็นหนึ่งปุณฑรีกนรก ๒๐ ปุณฑรีก นรกเป็นหนึ่งปทุมนรก อย่างนี้ ก็โกกาลิกภิกษุอุบัติในปทุมนรกเพราะจิตคิด อาฆาตในสารีบุตรและโมคคัลลานะ ฯ พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า [๓๘๗] ก็วาจาหยาบเช่นกับขวาน เกิดในปากของบุรุษแล้ว เป็น เหตุตัดรอนตนเองของบุรุษผู้เป็นพาล ผู้กล่าวคำทุพภาษิต ผู้ ใดสรรเสริญคนที่ควรนินทา หรือนินทาคนที่ควรสรรเสริญ ผู้นั้นย่อมก่อโทษเพราะปาก ย่อมไม่ได้ความสุขเพราะโทษ นั้น การแพ้ด้วยทรัพย์เพราะเล่นการพนันเป็นโทษเพียง เล็กน้อย โทษของผู้ที่ยังใจให้ประทุษร้ายในท่านผู้ปฏิบัติดีนี้ แล เป็นโทษมากกว่า บุคคลตั้งวาจาและใจอันลามกไว้แล้ว เป็นผู้ติเตียนพระอริยะเจ้า ย่อมเข้าถึงนรกตลอดกาลประมาณ ด้วยการนับปี ๑๐๐,๐๐๐ นิรัพพุทะและ ๔๐ อัพพุทะ ผู้ กล่าวคำเท็จย่อมเข้าถึงนรก อนึ่ง ผู้ทำกรรมอันลามกแล้ว กล่าวว่าไม่ได้ทำ ก็ย่อมเข้าถึงนรกอย่างเดียวกัน แม้คนทั้ง สองนั้นเป็นมนุษย์มีกรรมอันเลวทราม ละไปแล้วย่อมเป็นผู้ เสมอกันในโลกเบื้องหน้า ผู้ใดประทุษร้ายต่อคนผู้ไม่ประทุษ ร้าย ผู้เป็นบุรุษหมดจด ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวน บาปย่อม กลับมาถึงผู้เป็นพาลนั้นเอง เหมือนธุลีละเอียดที่บุคคลซัดไป ทวนลมฉะนั้น ผู้ที่ประกอบเนืองๆ ในคุณคือความโลภ ไม่มีศรัทธา กระด้าง ไม่รู้ความประสงค์ของผู้ขอ มีความ ตระหนี่ ประกอบเนืองๆ ในคำส่อเสียด ย่อมบริภาษผู้อื่น ด้วยวาจา แน่ะคนผู้มีปากเป็นหล่ม กล่าวคำอันไม่จริง ผู้ ไม่ประเสริฐ ผู้กำจัดความเจริญ ผู้ลามก ผู้กระทำความชั่ว ผู้เป็นบุรุษในที่สุด มีโทษ เป็นอวชาต ท่านอย่าได้พูด มากในที่นี้ อย่าเป็นสัตว์นรก ท่านย่อมเกลี่ยธุลี คือ กิเลส ลงในตนเพื่อกรรมมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล ท่านผู้ทำกรรมหยาบ ยังติเตียนสัตบุรุษ ท่านประพฤติทุจริตเป็นอันมากแล้วย่อม ไปสู่มหานรกสิ้นกาลนาน กรรมของใครๆ ย่อมฉิบหายไปไม่ ได้เลย บุคคลมาได้รับกรรมนั้นแล เป็นเจ้าของแห่งกรรมนั้น (เพราะ) คนเขลาผู้ทำกรรมหยาบ ย่อมเห็นความทุกข์ในตน ในปรโลก ผู้ทำกรรมหยาบย่อมเข้าถึงสถานที่อันนายนิรยบาล นำขอเหล็กมา ย่อมเข้าถึงหลาวเหล็กอันคมกริบและย่อม เข้าถึงก้อนเหล็กแดงโชติช่วง เป็นอาหารอันสมควรแก่กรรม ที่ตนทำไว้อย่างนั้น สัตว์นรกทั้งหลายจะพูดก็พูดไม่ได้ จะ วิ่งหนีก็ไม่ได้ ไม่ได้ที่ต้านทานเลย นายนิรยบาลลากขึ้นภูเขา ถ่านเพลิง สัตว์นรกนั้นนอนอยู่บนถ่านเพลิงอันลาดไว้ ย่อม เข้าไปสู่กองไฟอันลุกโพลง พวกนายนิรยบาลเอาข่ายเหล็ก พัน ตีด้วยค้อนเหล็กในที่นั้น สัตว์นรกทั้งหลายย่อมไปสู่ โรรุวนรกที่มืดทึบ ความมืดทึบนั้นแผ่ไปเหมือนกลุ่มหมอก ฉะนั้น ก็ทีนั้น สัตว์นรกทั้งหลาย ย่อมเข้าไปสู่หม้อเหล็ก อันไฟลุกโพลง ลอยฟ่องอยู่ ไหม้อยู่ในหม้อเหล็กนั้นอันไฟ ลุกโพลงสิ้นกาลนาน ก็ผู้ทำกรรมหยาบจะไปสู่ทิศใดๆ ก็ หมกไหม้อยู่ในหม้อเหล็กอันเปื้อนด้วยหนองและเลือดในทิศ นั้นๆ ลำบากอยู่ในหม้อเหล็กนั้น ผู้ทำกรรมหยาบหมกไหม้ อยู่ในน้ำอันเป็นที่อยู่ของหมู่หนอน ในหม้อเหล็กนั้นๆ แม้ ฝั่งเพื่อจะไปก็ไม่มีเลย เพราะกระทะครอบอยู่โดยรอบมิดชิด ในทิศทั้งปวง และยังมีป่าไม้มีใบเป็นดาบคม สัตว์นรก ทั้งหลายย่อมเข้าไปสู่ป่าไม้ ถูกดาบใบไม้ตัดหัวขาด พวกนาย นิรยบาล เอาเบ็ดเกี่ยวลิ้นออกแล้ว ย่อมเบียดเบียนด้วยการ ดึงออกมาๆ ก็ลำดับนั้น สัตว์นรกทั้งหลายย่อมเข้าถึงแม่น้ำด่าง อันเป็นหล่ม ย่อมเข้าถึงคมมีดโกนอันคมกริบ สัตว์นรกทั้งหลาย ผู้กระทำบาป เป็นผู้เขลา ย่อมตกลงไปบนคมมีดโกนนั้นเพราะ ได้กระทำบาปไว้ ก็สุนัขดำ สุนัขด่าง และสุนัขจิ้งจอก ย่อม รุมกัดกินสัตว์นรกทั้งหลาย ผู้ร้องไห้อยู่ที่นั้น ฝูงกาดำ แร้ง นกตะกรุม และกาไม่ดำ ย่อมรุมกันจิกกิน คนผู้ทำกรรม หยาบ ย่อมเห็นความเป็นไปในนรกนี้ยากหนอ เพราะฉะนั้น นรชนพึงเป็นผู้ทำกิจที่ควรทำในชีวิตที่ยังเหลืออยู่นี้ และไม่ พึงประมาท เกวียนบรรทุกงา ผู้รู้ทั้งหลายนับแล้วนำเข้าไป เปรียบในปทุมนรก เป็น ๕๑,๒๐๐ โกฏิ นรกเป็นทุกข์ เรากล่าวแล้วในพระสูตรนี้ เพียงใด สัตว์ทั้งหลายผู้ทำ กรรมหยาบ พึงอยู่ในนรกแม้นั้น ตลอดกาลนานเพียงนั้น เพราะฉะนั้น บุคคลพึงกำหนดรักษาวาจา ใจ ให้เป็นปรกติ ในผู้สะอาด มีศีลเป็นที่รักและมีคุณดีงามทั้งหลาย ฯ
จบโกกาลิกสูตรที่ ๑๐
นาลกสูตรที่ ๑๑
[๓๘๘] อสิตฤาษีอยู่ในที่พักกลางวัน ได้เห็นท้าวสักกะจอมเทพ และเทวดาคณะไตรทสผู้มีใจชื่นชม มีปีติโสมนัส ยกผ้า ทิพย์ขึ้นเชยชมอยู่อย่างเหลือเกิน ในที่อยู่อันสะอาด ครั้น แล้วจึงกระทำความนอบน้อม แล้วได้ถามเทวดาทั้งหลาย ผู้มีใจเบิกบานบันเทิงในที่นั้นว่า เพราะเหตุไรหมู่เทวดาจึง เป็นผู้ยินดีอย่างเหลือเกิน ท่านทั้งหลายยกผ้าทิพย์ขึ้นแล้ว รื่นรมย์อยู่เพราะอาศัยอะไร แม้คราวใด ได้มีสงครามกับ พวกอสูร พวกเทวดาชนะ พวกอสูรปราชัย แม้คราวนั้น ขนลุกพองเช่นนี้ก็มิได้มี เทวดาทั้งหลายได้เห็นเหตุอะไร ซึ่ง ไม่เคยมีมา จึงพากันเบิกบาน เปล่งเสียงชมเชย ขับร้อง ประโคม ปรบมือ และฟ้อนรำกันอยู่ เราขอถามท่าน ทั้งหลายผู้อยู่บนยอดเขาสิเนรุ ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงช่วยขจัดความสงสัยของเราโดยเร็วเถิด ฯ เทวดาทั้งหลายกล่าวว่า พระโพธิสัตว์ผู้เป็นรัตนะอันประเสริฐนั้น หาผู้เปรียบมิได้ ได้เกิดแล้วในมนุษย์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุข ที่ป่าลุมพินีวันในคามชนบทของเจ้าศากยะทั้งหลาย เพราะ เหตุนั้น เราทั้งหลายจึงพากันยินดี เบิกบานอย่างเหลือเกิน พระโพธิสัตว์นั้น เป็นอัครบุคคลผู้สูงสุดกว่าสรรพสัตว์ เป็น ผู้องอาจกว่านรชน สูงสุดกว่าหมู่สัตว์ทั้งมวลเหมือนสีหะผู้มี กำลัง ครอบงำหมู่เนื้อบันลืออยู่ จักทรงประกาศธรรมจักร ที่ป่าอิสิปตนะ ฯ อสิตฤาษีได้ฟังเสียงที่เทวดาทั้งหลายกล่าวแล้วก็รีบลง (จาก ชั้นดาวดึงส์) เข้าไปยังที่ประทับของพระเจ้าสุทโธทนะ นั่ง ณ ที่นั้นแล้ว ได้ทูลถามเจ้าศากยะทั้งหลายว่า พระกุมาร ประทับ ณ ที่ไหน แม้อาตมภาพประสงค์จะเฝ้า ลำดับนั้น เจ้าศากยะทั้งหลายได้ทรงแสดงพระกุมารผู้รุ่งเรือง เหมือน ทองคำที่ปากเบ้าซึ่งนายช่างทองผู้เฉลียวฉลาดหลอมดีแล้ว ผู้ รุ่งเรืองด้วยศิริ มีวรรณะไม่ทราม แก่อสิตฤาษี อสิตฤาษี ได้เห็นพระกุมารผู้รุ่งเรืองเหมือนเปลวไฟ เหมือนพระจันทร์ อันบริสุทธิ์ ซึ่งโคจรอยู่ในนภากาศ สว่างไสวกว่าหมู่ดาว เหมือนพระอาทิตย์พ้นแล้วจากเมฆ แผดแสงอยู่ในสรทกาล ก็เกิดความยินดีได้ปีติอันไพบูลย์ เทวดาทั้งหลายกั้นเศวตฉัตร มีซี่เป็นอันมาก และประกอบด้วยมณฑลตั้งพันไว้ในอากาศ จามรด้ามทองทั้งหลายตกลงอยู่ บุคคลผู้ถือจามรและเศวตฉัตร ย่อมไม่ปรากฏ ฤาษีผู้ทรงชฎาชื่อกัณหศิริ ได้เห็นพระกุมาร ดุจแท่งทองบนผ้ากัมพลแดง และเศวตฉัตรที่กั้นอยู่บน พระเศียร เป็นผู้มีจิตเฟื่องฟู ดีใจ ได้รับเอาด้วยมือทั้งสอง ครั้นแล้ว อสิตฤาษีผู้เรียนจบลักษณะมนต์ พิจารณาพระราช กุมารผู้ประเสริฐ มีจิตเลื่อมใส ได้เปล่งถ้อยคำว่า พระกุมาร นี้ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า สูงสุดกว่าสัตว์สองเท้า ทีนั้น อสิตฤาษี หวนระลึกถึงการบรรลุอรูปฌานของตน เป็นผู้เสียใจถึงน้ำตา ตก เจ้าศากยะทั้งหลายได้ทอดพระเนตรเห็นอสิตฤาษีร้องไห้ จึงตรัสถามว่า ถ้าอันตรายจักมีในพระกุมารหรือหนอ อสิต- ฤาษีได้ทูลเจ้าศากยะทั้งหลายผู้ทอดพระเนตรเห็นแล้ว ไม่ทรง พอพระทัยว่า อาตมภาพระลึกถึงกรรมอันไม่เป็นประโยชน์ เกื้อกูลในพระกุมารหามิได้ อนึ่ง แม้อันตรายก็จักไม่มีแก่ พระกุมารนี้ พระกุมารนี้เป็นผู้ไม่ทราม ขอมหาบพิตรทั้งหลาย จงเป็นผู้ดีพระทัยเถิด พระกุมารนี้จักทรงบรรลุพระสัพพัญ- ญุตญาณ พระกุมารนี้จักทรงเห็นนิพพานอันบริสุทธิ์อย่างยิ่ง ทรงหวังประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก จักทรงประกาศธรรม- จักร พรหมจรรย์ของพระกุมารนี้จักแพร่หลาย แต่อายุของ อาตมภาพ จักไม่ดำรงอยู่ได้นานในกาลนี้ อาตมภาพจัก กระทำกาละเสียในระหว่างนี้ จักไม่ได้ฟังธรรมของพระกุมาร ผู้มีความเพียรไม่มีบุคคลผู้เสมอ เพราะเหตุนั้น อาตมภาพจึง เป็นผู้เร่าร้อนถึงความพินาศ ถึงความทุกข์ อสิตฤาษียังปีติ อันไพบูลย์ให้เกิดแก่เจ้าศากยะทั้งหลายแล้ว ออกจากพระ ราชวัง ไปประพฤติพรหมจรรย์ เมื่อจะอนุเคราะห์หลาน ของตน ได้ให้หลานสมาทานในธรรมของพระผู้มีพระภาคผู้มี ความเพียรไม่มีบุคคลผู้เสมอ แล้วกล่าวว่า ในกาลข้างหน้า เจ้าได้ยินเสียงอันระบือไปว่า พุทโธ ดังนี้ไซร้ พระผู้มี พระภาค ได้ทรงบรรลุพระสัมโพธิญาณแล้ว ย่อมทรงเปิด เผยทางปรมัตถธรรม เจ้าจงไปทูลสอบถามด้วยตนเอง ใน สำนักของพระองค์ แล้วประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระผู้มี พระภาคพระองค์นั้นเถิด อสิตฤาษีนั้นผู้มีปรกติเห็นนิพพาน อันบริสุทธิ์อย่างยิ่งในอนาคต มีใจเกื้อกูลเช่นนั้น ได้สั่งสอน นาลกดาบส นาลกดาบสเป็นผู้สั่งสมบุญไว้ รักษาอินทรีย์ รอคอยพระชินสีห์อยู่ นาลกดาบสได้ฟังเสียงประกาศในการ ที่พระชินสีห์ทรงประกาศธรรมจักรอันประเสริฐ ได้ไปเฝ้า พระชินสีห์ผู้องอาจกว่าฤาษีแล้ว เป็นผู้เลื่อมใส ได้ทูลถาม ปฏิปทาอันประเสริฐของมุนีกะพระชินสีห์ ผู้เป็นมุนีผู้ ประเสริฐ ในเมื่อเวลาคำสั่งสอนของอสิตฤาษีมาถึงเข้า ฉะนี้แล ฯ
จบวัตถุกถา
[๓๘๙] ข้าพระองค์ ได้รู้ตามคำของอสิตฤาษีโดยแท้ เพราะเหตุนั้น ข้าแต่พระโคดม ข้าพระองค์ทูลถามพระองค์ผู้ถึงฝั่งแห่งธรรม ทั้งปวง พระองค์อันข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอจงตรัสบอก มุนีและปฏิปทาอันสูงสุดของมุนี แห่งบรรพชิตผู้แสวงหาการ เที่ยวไปเพื่อภิกษา แก่ข้าพระองค์เถิด ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า เราจักบัญญัติปฏิปทาของมุนีที่บุคคลทำได้ยากให้เกิดความยินดี ได้ยาก แก่ท่าน เอาเถิดเราจักบอกปฏิปทาของมุนีนั้นแก่ท่าน ท่านจงอุปถัมภ์ตน จงเป็นผู้มั่นคงเถิด พึงกระทำการด่าและ การไหว้ในบ้านให้เสมอกัน พึงรักษาความประทุษร้ายแห่งใจ พึงเป็นผู้สงบไม่มีความเย่อหยิ่งเป็นอารมณ์ อารมณ์ที่สูงต่ำมี อุปมาด้วยเปลวไฟในป่า ย่อมมาสู่คลองจักษุเป็นต้น เหล่านารี ย่อมประเล้าประโลมมุนี นารีเหล่านั้น อย่าพึงประเล้าประโลม ท่าน มุนีละกามทั้งหลายทั้งที่ดีแล้ว งดเว้นจากเมถุนธรรม ไม่ยินดียินร้าย ในสัตว์ทั้งหลายผู้สะดุ้งและมั่นคง พึงกระทำ ตนให้เป็นอุปมาว่า เราฉันใด สัตว์เหล่านี้ก็ฉันนั้น สัตว์ เหล่านี้ ฉันใด เราก็ฉันนั้น ดังนี้แล้ว ไม่พึงฆ่าเอง ไม่ พึงใช้ผู้อื่นให้ฆ่า มุนีละความปรารถนาและความโลภในปัจจัย ที่ปุถุชนข้องอยู่แล้ว เป็นผู้มีจักษุ พึงปฏิบัติปฏิปทาของมุนีนี้ พึงข้ามความทะเยอทะยานในปัจจัย ซึ่งเป็นเหตุแห่งมิจฉาชีพ ที่หมายรู้กันว่านรกนี้เสีย พึงเป็นผู้มีท้องพร่อง (ไม่เห็น แก่ท้อง) มีอาหารพอประมาณ มีความปรารถนาน้อย ไม่มี ความโลภเป็นผู้หายหิว ไม่มีความปรารถนาด้วยความปรารถนา ดับความเร่าร้อนได้แล้วทุกเมื่อ มุนีนั้นเที่ยวไปรับบิณฑบาต แล้ว พึงไปยังชายป่า เข้าไปนั่งอยู่ที่โคนต้นไม้ พึงเป็นผู้ ขวนขวายในฌาน เป็นนักปราชญ์ ยินดีแล้วในป่า พึงทำจิต ให้ยินดียิ่ง เพ่งฌานอยู่ที่โคนต้นไม้ ครั้นเมื่อล่วงราตรีไป แล้ว พึงเข้าไปสู่บ้าน ไม่ยินดีโภชนะที่ยังไม่ได้ และ โภชนะที่เขานำไปแต่บ้าน ไปสู่บ้านแล้ว ไม่พึงเที่ยวไปใน สกุลโดยรีบร้อน ตัดถ้อยคำเสียแล้ว ไม่พึงกล่าววาจาเกี่ยว ด้วยการแสวงหาของกิน มุนีนั้นคิดว่า เราได้สิ่งใด สิ่งนี้ยัง ประโยชน์ให้สำเร็จ เราไม่ได้ก็เป็นความดี ดังนี้แล้ว เป็น ผู้คงที่ เพราะการได้และไม่ได้ทั้งสองอย่างนั้นแล ย่อมก้าว ล่วงทุกข์เสียได้ เปรียบเหมือนบุรุษแสวงหาผลไม้ เข้าไปยัง ต้นไม้แล้ว แม้จะได้ แม้ไม่ได้ ก็ไม่ยินดี ไม่เสียใจ วางจิตเป็นกลางกลับไป ฉะนั้น มุนีมีบาตรในมือเที่ยวไปอยู่ ไม่เป็นใบ้ ก็สมมุติว่าเป็นใบ้ ไม่พึงหมิ่นทานว่าน้อย ไม่พึง ดูแคลนบุคคลผู้ให้ ก็ปฏิปทาสูงต่ำพระพุทธสมณะประกาศ แล้ว มุนีทั้งหลาย ย่อมไม่ไปสู่นิพพานถึงสองครั้ง นิพพาน นี้ควรถูกต้องครั้งเดียวเท่านั้น หามิได้ ก็ภิกษุผู้ไม่มีตัณหา ตัด กระแสกิเลสได้แล้ว ละกิจน้อยใหญ่ได้เด็ดขาดแล้ว ย่อม ไม่มีความเร่าร้อน ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เราจักบอกปฏิปทาของมุนีแก่ท่าน ภิกษุผู้ปฏิบัติปฏิปทาของ มุนี พึงเป็นผู้มีคมมีดโกนเป็นเครื่องเปรียบ กดเพดานไว้ด้วย ลิ้นแล้ว พึงเป็นผู้สำรวมที่ท้อง มีจิตไม่ย่อหย่อน และไม่ พึงคิดมาก เป็นผู้ไม่มีกลิ่นดิบ อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยแล้ว มีพรหมจรรย์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า พึงศึกษาเพื่อการนั่งผู้เดียว และเพื่อประกอบภาวนาที่สมณะพึงอบรม ท่านผู้เดียวแล จักอภิรมย์ความเป็นมุนีที่เราบอกแล้วโดยส่วนเดียว ทีนั้นจง ประกาศไปตลอดทั้งสิบทิศ ท่านได้ฟังเสียงสรรเสริญ ของ นักปราชญ์ทั้งหลายผู้เพ่งฌาน ผู้สละกามแล้ว แต่นั้นพึง กระทำหิริและศรัทธาให้ยิ่งขึ้นไป เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เป็นสาวก ของเราได้ ท่านจะรู้แจ่มแจ้งซึ่งคำที่เรากล่าวนั้นได้ ด้วยการ แสดงแม่น้ำทั้งหลาย ทั้งในเหมืองและหนอง แม่น้ำห้วย ย่อมไหลดังโดยรอบ แม่น้ำใหญ่ย่อมไหลนิ่ง สิ่งใดพร่อง สิ่งนั้นย่อมดัง สิ่งใดเต็ม สิ่งนั้นสงบ คนพาลเปรียบด้วย หม้อน้ำที่มีน้ำครึ่งหนึ่ง บัณฑิตเปรียบเหมือนห้วงน้ำที่เต็ม สมณะกล่าวถ้อยคำใดมากที่เข้าถึงประโยชน์ประกอบด้วย ประโยชน์ รู้ถ้อยคำนั้นอยู่ ย่อมแสดงธรรม สมณะผู้นั้นรู้ อยู่ ย่อมกล่าวถ้อยคำมาก สมณะใดรู้อยู่ สำรวมตน สมณะ นั้นรู้เหตุที่ไม่นำประโยชน์เกื้อกูล และความสุขมาให้แก่สัตว์ ทั้งหลาย ย่อมไม่กล่าวมาก สมณะผู้นั้นเป็นมุนี ย่อมควร ซึ่งปฏิปทาของมุนี สมณะนั้นได้ถึงธรรมเครื่องเป็นมุนีแล้ว ฯ
จบนาลกสูตรที่ ๑๑
ทวยตานุปัสสนาสูตรที่ ๑๒
[๓๙๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ บุพพาราม ปราสาทของนาง วิสาขามิคารมารดา ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล เมื่อราตรีเพ็ญมีพระจันทร์ เต็มดวงในวันอุโบสถที่ ๑๕ ค่ำ พระผู้มีพระภาคอันภิกษุสงฆ์แวดล้อมประทับนั่ง อยู่ในอัพโภกาส ทรงชำเลืองเห็นภิกษุสงฆ์สงบนิ่ง จึงตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าจะพึงมีผู้ถามว่า จะมีประโยชน์อะไร เพื่อการฟังกุศลธรรม อันเป็นอริยะ เป็นเครื่องนำออกไป อันให้ถึงปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ แก่ท่าน ทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงตอบเขาอย่างนี้ว่า มีประโยชน์เพื่อรู้ธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างตามความเป็นจริง ถ้าจะพึงมีผู้ถามว่า ท่านทั้งหลายกล่าวอะไรว่าเป็นธรรม ๒ อย่าง พึงตอบเขาอย่างนี้ว่า การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ข้อที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้เป็นข้อที่ ๒ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างโดย ชอบเนืองๆ อย่างนี้ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่ พึงหวัง ผล ๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ อรหัตตผลในปัจจุบันนี้ หรือเมื่อยังมีความ ถือมั่นเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี ฯ พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลงแล้ว จึง ได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า [๓๙๑] ชนเหล่าใดไม่รู้ทุกข์ เหตุเกิดแห่งทุกข์ ธรรมชาติเป็นที่ ดับทุกข์ไม่มีส่วนเหลือ โดยประการทั้งปวง และไม่รู้มรรค อันให้ถึงความเข้าไประงับทุกข์ ชนเหล่านั้นเสื่อมแล้วจาก เจโตวิมุติและปัญญาวิมุติ เป็นผู้ไม่ควรเพื่อจะทำที่สุดแห่ง ทุกข์ได้ เป็นผู้เข้าถึงชาติและชราแท้ ส่วนชนเหล่าใดรู้ทุกข์ เหตุเกิดแห่งทุกข์ ธรรมชาติเป็นที่ดับทุกข์ไม่มีส่วนเหลือ โดยประการทั้งปวง และรู้มรรคอันให้ถึงความเข้าไประงับทุกข์ ชนเหล่านั้น ถึงพร้อมแล้วด้วยเจโตวิมุติและปัญญาวิมุติ เป็น ผู้ควรที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ และเป็นผู้ไม่เข้าถึงชาติและ ชรา ฯ [๓๙๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าจะพึงมีผู้ถามว่า การพิจารณาเห็นธรรม เป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบเนืองๆ จะพึงมีโดยปริยายอย่างอื่นบ้างไหม พึงตอบ เขาว่าพึงมี ถ้าเขาพึงถามว่า พึงมีอย่างไรเล่า พึงตอบว่า การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะอุปธิปัจจัย นี้เป็นข้อ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะอุปธิทั้งหลายนี้เองดับไป เพราะสำรอกโดย ไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็น เนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่าง โดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถา ประพันธ์ต่อไปอีกว่า ทุกข์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีเป็นอันมากในโลก ย่อมเกิดเพราะ อุปธิเป็นเหตุ ผู้ใดแลไม่รู้ย่อมกระทำอุปธิ ผู้นั้นเป็นผู้เขลา ย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อยๆ เพราะเหตุนั้น ผู้พิจารณาเห็นเหตุเกิด แห่งทุกข์เนืองๆ ทราบชัดอยู่ ไม่พึงทำอุปธิ ฯ [๓๙๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าจะพึงมีผู้ถามว่า การพิจารณาเห็นธรรม เป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบเนืองๆ พึงมีโดยปริยายอย่างอื่นบ้างไหม ควรตอบ เขาว่า พึงมี ถ้าเขาถามว่า พึงมีอย่างไรเล่า พึงตอบเขาว่า การพิจารณาเห็น เนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย นี้เป็นข้อที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะอวิชชานั่นเองดับไปเพราะ สำรอกโดยไม่มีเหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัส คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า อวิชชานั้นเอง เป็นคติของสัตว์ทั้งหลายผู้เข้าถึงชาติมรณะ และสงสารอันมีความเป็นอย่างนี้ และความเป็นอย่างอื่น บ่อยๆ อวิชชา คือ ความหลงใหญ่นี้ เป็นความเที่ยงอยู่สิ้น กาลนาน สัตว์ทั้งหลายผู้ไปด้วยวิชชาเท่านั้น ย่อมไม่ไปสู่ ภพใหม่ ฯ [๓๙๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า การพิจารณาเห็น เนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะสังขารเป็นปัจจัย นี้เป็นข้อที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะสังขารทั้งหลายนั่นเองดับไป เพราะสำรอกโดยไม่มีเหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่าง โดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะสังขารเป็น ปัจจัย เพราะสังขารทั้งหลายดับโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด ภิกษุรู้โทษนี้ว่า เพราะสังขารเป็นปัจจัย ทุกข์จึงเกิดขึ้น เพราะความสงบแห่งสังขารทั้งมวล สัญญาทั้งหลายจึงดับ ความสิ้นไปแห่งทุกข์ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้ ภิกษุรู้ความ สิ้นไปแห่งทุกข์นี้โดยถ่องแท้ บัณฑิตทั้งหลายผู้เห็นชอบ ผู้ถึงเวทย์ รู้โดยชอบแล้ว ครอบงำกิเลสเป็นเครื่องประกอบ ของมารได้แล้ว ย่อมไม่ไปสู่ภพใหม่ ฯ [๓๙๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า การพิจารณาเห็น เนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นี้เป็นข้อที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะวิญญาณนั่นเองดับเพราะสำรอก โดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณา เห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ จึงตรัสคาถา ประพันธ์ต่อไปอีกว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะวิญญาณเป็น ปัจจัย เพราะวิญญาณดับโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด ภิกษุ รู้โทษนี้ว่า ทุกข์ย่อมเกิดขึ้น เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยดังนี้ แล้ว ย่อมเป็นผู้หายหิว ดับรอบแล้วเพราะความเข้าไปสงบ แห่งวิญญาณ ฯ [๓๙๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า การพิจารณาเห็น เนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดเพราะผัสสะเป็นปัจจัย นี้เป็นข้อที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะผัสสะนั่นเองดับเพราะสำรอก โดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณา เห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ จึงตรัสคาถา ประพันธ์ต่อไปอีกว่า ความสิ้นไปแห่งสังโยชน์ ของชนทั้งหลายผู้อันผัสสะ ครอบงำแล้ว ผู้แล่นไปตามกระแสแห่งภวตัณหา ผู้ดำเนิน ไปแล้วสู่หนทางผิด ย่อมอยู่ห่างไกล ส่วนชนเหล่าใด กำหนดรู้ผัสสะด้วยปัญญา ยินดีแล้วในธรรมเป็นที่เข้าไปสงบ ชนแม้เหล่านั้น เป็นผู้หายหิวดับรอบแล้ว เพราะการดับไป แห่งผัสสะ ฯ [๓๙๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า การพิจารณาเห็น เนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะเวทนาเป็นปัจจัย นี้เป็นข้อที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะเวทนานั่นเองดับเพราะสำรอก โดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณา เห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถา ประพันธ์ต่อไปว่า ภิกษุรู้เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ สุขเวทนา หรือทุกขเวทนา กับอทุกขมสุขเวทนา ที่มีอยู่ทั้งภายในและภายนอกว่า เวทนานี้เป็นเหตุแห่งทุกข์ มีความสาปสูญไปเป็นธรรมดา มีความทรุดโทรมไปเป็นธรรมดา ถูกต้องด้วยอุทยัพพยญาณ แล้ว เห็นความเสื่อมไปอยู่ ย่อมรู้แจ่มแจ้ง ความเป็นทุกข์ ในเวทนานั้นอย่างนี้ เพราะเวทนาทั้งหลายสิ้นไปนั้นเอง ทุกข์จึงไม่เกิด ฯ [๓๙๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า การพิจารณาเห็น เนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะตัณหาเป็นปัจจัย นี้เป็นข้อที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะตัณหานั่นเองดับเพราะสำรอก โดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณา เห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถา ประพันธ์ต่อไปอีกว่า บุรุษผู้มีตัณหาเป็นเพื่อนสอง ท่องเที่ยวไปสิ้นกาลนาน ย่อม ไม่ล่วงพ้นสงสารอันมีความเป็นอย่างนี้ และความเป็นอย่างอื่น ไปได้ ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ตัณหาเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์ เป็นผู้ มีตัณหาปราศจากไปแล้ว ไม่ถือมั่น มีสติ พึงเว้นรอบ ฯ [๓๙๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า การพิจารณาเห็น เนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะอุปาทานเป็นปัจจัย นี้เป็นข้อที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะอุปาทานนั่นเองดับเพราะสำรอก โดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณา เห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถา ประพันธ์ต่อไปอีกว่า ภพย่อมมีเพราะอุปาทานเป็นปัจจัย สัตว์ผู้เกิดแล้วย่อมเข้าถึง ทุกข์ ต้องตาย นี้เป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์ เพราะเหตุนั้น บัณฑิตทั้งหลายรู้แล้วโดยชอบ รู้ยิ่งความสิ้นไปแห่งชาติแล้ว ย่อมไม่ไปสู่ภพใหม่ เพราะความสิ้นไปแห่งอุปาทาน ฯ [๔๐๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า การพิจารณาเห็น เนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะความริเริ่มเป็นปัจจัย นี้เป็นข้อที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะการริเริ่มนั่นเองดับเพราะสำรอก โดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณา เห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถา ประพันธ์ต่อไปอีกว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะความริเริ่ม เป็นปัจจัย เพราะความริเริ่มดับโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ทุกข์ย่อมเกิดขึ้นเพราะความริเริ่มเป็นปัจจัย ดังนี้แล้ว สละคืนความริเริ่มได้ทั้งหมดแล้ว น้อมไปใน นิพพานทีไม่มีความริเริ่ม ถอนภวตัณหาขึ้นได้แล้ว มีจิตสงบ มีชาติสงสารสิ้นแล้ว ย่อมไม่มีภพใหม่ ฯ [๔๐๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า การพิจารณาเห็น เนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะอาหารเป็นปัจจัย นี้เป็นข้อที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะอาหารทั้งหมดนั่นเองดับเพราะ สำรอกโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะอาหารเป็น ปัจจัย เพราะอาหารทั้งหลายดับโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด ภิกษุผู้ตั้งอยู่ในธรรม ผู้ถึงเวทย์ รู้โทษนี้ว่า ทุกข์ย่อมเกิดขึ้น เพราะอาหารเป็นปัจจัย ดังนี้แล้ว กำหนดรู้อาหารทั้งปวง เป็นผู้อันตัณหาไม่อาศัยในอาหารทั้งหมด รู้โดยชอบซึ่ง นิพพานอันไม่มีโรค พิจารณาแล้วเสพปัจจัย ๔ ย่อมไม่เข้า ถึงการนับว่า เป็นเทวดาหรือมนุษย์ เพราะอาสวะทั้งหลาย หมดสิ้นไป ฯ [๔๐๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า การพิจารณาเห็น เนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะความหวั่นไหวเป็น ปัจจัย นี้เป็นข้อที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะความหวั่นไหวทั้งหลาย นั่นเองดับไปเพราะสำรอกโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒ ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะความ- หวั่นไหวเป็นปัจจัย เพราะความหวั่นไหวดับไม่มีเหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ทุกข์ย่อมเกิดขึ้นเพราะความ หวั่นไหวเป็นปัจจัย ดังนี้ เพราะเหตุนั้นแล ภิกษุสละตัณหา แล้ว ดับสังขารทั้งหลายได้แล้ว เป็นผู้ไม่มีความหวั่นไหว ไม่ถือมั่น แต่นั้นพึงเว้นรอบ ฯ [๔๐๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า การพิจารณาเห็น เนืองๆ ว่า ความดิ้นรนย่อมมีแก่ผู้อันตัณหา ทิฐิ และมานะอาศัยแล้ว นี้เป็น ข้อที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ผู้ที่ตัณหา ทิฐิ และมานะไม่อาศัยแล้ว ย่อม ไม่ดิ้นรน นี้เป็นข้อที่ ๒ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรม เป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า ผู้อันตัณหา ทิฐิ และมานะไม่อาศัยแล้ว ย่อมไม่ดิ้นรน ส่วน ผู้อันตัณหา ทิฐิ และมานะอาศัยแล้ว ถือมั่นอยู่ ย่อมไม่ล่วงพ้น สงสารอันมีความเป็นอย่างนี้ และความเป็นอย่างอื่นไปได้ ภิกษุรู้โทษนี้ว่า เป็นภัยใหญ่ในเพราะนิสสัย คือ ตัณหา ทิฐิและมานะทั้งหลายแล้ว เป็นผู้อันตัณหา ทิฐิและมานะไม่ อาศัยแล้ว ไม่ถือมั่น มีสติ พึงเว้นรอบ ฯ [๔๐๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า การพิจารณาเห็น เนืองๆ ว่า อรูปภพละเอียดกว่ารูปภพ นี้เป็นข้อที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า นิโรธละเอียดกว่าอรูปภพ นี้เป็นข้อ ๒ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็น เนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถา ประพันธ์ต่อไปอีกว่า สัตว์เหล่าใดผู้เข้าถึงรูปภพ และตั้งอยู่ในอรูปภพ สัตว์ เหล่านั้นเมื่อยังไม่รู้ชัดซึ่งนิพพานก็ยังเป็นผู้จะต้องมาสู่ภพใหม่ ส่วนชนเหล่าใดกำหนดรู้รูปภพแล้ว (ไม่) ดำรงอยู่ด้วยดี ในอรูปภพ ชนเหล่านั้นน้อมไปในนิพพานทีเดียว เป็นผู้ละ มัจจุเสียได้ ฯ [๔๐๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ พึงตอบเขาว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย นามรูปที่โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ที่หมู่สัตว์พร้อมทั้ง สมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์เล็งเห็นว่า นามรูปนี้เป็นของจริง พระอริยเจ้า ทั้งหลายเห็นด้วยดีแล้วด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า นามรูปนั่นเป็น ของเท็จ นี้เป็นอนุปัสสนาข้อที่ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นิพพานที่โลกพร้อมทั้ง เทวโลก มารโลก พรหมโลก ที่หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและ มนุษย์เล็งเห็นว่า นิพพานนี้เป็นของเท็จ พระอริยเจ้าทั้งหลายเห็นด้วยดีแล้ว ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า นิพพานนั้นเป็นของจริง นี้เป็นอนุปัสสนา ข้อที่ ๒ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า ท่านผู้มีความสำคัญในนามรูป อันเป็นของมิใช่ตนว่าเป็นตน จงดูโลกพร้อมทั้งเทวโลก ผู้ยึดมั่นแล้วในนามรูป ซึ่งสำคัญ นามรูปนี้ว่า เป็นของจริง ก็ชนทั้งหลายย่อมสำคัญ (นามรูป) ด้วยอาการใดๆ นามรูปนั้น ย่อมเป็นอย่างอื่นไปจากอาการ ที่เขาสำคัญนั้นๆ นามรูปของผู้นั้นแล เป็นของเท็จ เพราะ นามรูป มีความสาปสูญไปเป็นธรรมดา นิพพานมีความ ไม่สาปสูญไปเป็นธรรมดา พระอริยเจ้าทั้งหลายรู้นิพพานนั้น โดยความเป็นจริง พระอริยเจ้าเหล่านั้นแล เป็นผู้หายหิว ดับรอบแล้ว เพราะตรัสรู้ของจริง ฯ [๔๐๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าจะพึงมีผู้ถามว่า การพิจารณาเห็นธรรม เป็นธรรม ๒ อย่างเนืองๆ โดยชอบ จะพึงมีโดยปริยายอย่างอื่นบ้างไหม พึงตอบเขาว่า พึงมี ถ้าเขาถามว่าพึงมีอย่างไรเล่า พึงตอบเขาว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อิฏฐารมณ์ที่โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ที่หมู่สัตว์พร้อมทั้ง สมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์เล็งเห็นว่า เป็นสุข พระอริยเจ้าทั้งหลายเห็น ด้วยดีแล้วด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงว่านั่นเป็นทุกข์ นี้เป็นอนุปัสสนา ข้อที่ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นิพพานที่โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ที่หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์เล็งเห็นว่า นี้เป็นทุกข์ พระอริยะเจ้าทั้งหลายเห็นด้วยดีแล้วด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงว่า นั่น เป็นสุข นี้เป็นอนุปัสสนาข้อที่ ๒ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรม เป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบเนืองๆ อย่างนี้ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจ เด็ดเดี่ยว พึงหวังผล ๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ อรหัตตผลในปัจจุบันนี้ หรือเมื่อยังมีความถือมั่นเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี ฯ พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า รูป เสียง กลิ่น รส ผัสสะ และธรรมารมณ์ล้วนน่า- ปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ มีประมาณเท่าใด โลกกล่าว ว่ามีอยู่ อารมณ์ ๖ อย่างเหล่านี้ โลกพร้อมทั้งเทวโลกสมมติ กันว่าเป็นสุข แต่ว่าธรรมเป็นที่ดับอารมณ์ ๖ อย่างนี้ ชน- เหล่านั้นสมมติกันว่าเป็นทุกข์ ความดับแห่งเบญจขันธ์ พระอริยะเจ้าทั้งหลายเห็นว่าเป็นสุข ความเห็นขัดแย้งกันกับ โลกทั้งปวงนี้ ย่อมมีแก่บัณฑิตทั้งหลายผู้เห็นอยู่ ชนเหล่าอื่น กล่าววัตถุกามใดโดยความเป็นสุข พระอริยเจ้าทั้งหลาย กล่าววัตถุกามนั้นโดยความเป็นทุกข์ ชนเหล่าอื่นกล่าวนิพพาน ใดโดยความเป็นทุกข์ พระอริยเจ้าทั้งหลายผู้รู้แจ้งกล่าว นิพพานนั้นโดยความเป็นสุข ท่านจงพิจารณาธรรมที่รู้ได้ยาก ชนพาลทั้งหลายผู้ไม่รู้แจ้ง พากันลุ่มหลงอยู่ในโลกนี้ ความ มืดตื้อย่อมมีแก่ชนพาลทั้งหลายผู้ถูกอวิชชาหุ้มห่อแล้ว ผู้ไม่ เห็นอยู่ ส่วนนิพพาน เป็นธรรมชาติเปิดเผยแก่สัตบุรุษ ผู้เห็นอยู่ เหมือนอย่างแสงสว่าง ฉะนั้น ชนทั้งหลายเป็นผู้ ค้นคว้า ไม่ฉลาดต่อธรรม ย่อมไม่รู้แจ้งนิพพานที่มีอยู่ในที่ ใกล้ ชนทั้งหลายผู้ถูกภวราคะครอบงำแล้ว แล่นไปตาม กระแสภวตัณหา ผู้เข้าถึงวัฏฏะอันเป็นบ่วงแห่งมารเนืองๆ ไม่ตรัสรู้ธรรมนี้ได้โดยง่าย นอกจากพระอริยเจ้าทั้งหลาย ใครหนอย่อมควรจะรู้บท คือ นิพพานที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย ตรัสรู้ดีแล้ว พระอริยเจ้าทั้งหลายเป็นผู้ไม่มีอาสวะเพราะรู้ โดยชอบ ย่อมปรินิพพาน ฯ [๔๐๗] พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลงแล้ว ภิกษุ เหล่านั้นมีใจชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาค ก็และเมื่อพระผู้มีพระภาค ตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้อยู่ จิตของภิกษุประมาณ ๖๐ รูป หลุดพ้นแล้วจากอาสวะ ทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น ดังนี้แล ฯ
จบทวยตานุปัสสนาสูตรที่ ๑๒
-----------------------------------------------------
รวมหัวข้อประจำเรื่องในพระสูตรนี้ คือ
สัจจะ อุปธิ อวิชชา สังขาร วิญญาณเป็นที่ ๕ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน อารัมภะ อาหาร ความหวั่นไหว ความดิ้นรน รูป และ สัจจะกับทุกข์ รวมเป็น ๑๖ ฯ
จบมหาวรรคที่ ๓
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. ปัพพชาสูตร ๒. ปธานสูตร ๓. สุภาษิตสูตร ๔. สุนทริกสูตร ๕. มาฆสูตร ๖. สภิยสูตร ๗. เสลสูตร ๘. สัลลสูตร ๙. วาเสฏฐสูตร ๑๐. โกกาลิกสูตร ๑๑. นาลกสูตร ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร สูตร ๑๒ สูตรเหล่านี้ ท่านเรียกว่า มหาวรรค ดังนี้แล ฯ
-----------------------------------------------------
สุตตนิบาต อัฏฐกวรรคที่ ๔
กามสูตรที่ ๑
[๔๐๘] ถ้าว่าวัตถุกามจะสำเร็จแก่สัตว์ผู้ปรารถนาอยู่ไซร้ สัตว์ ปรารถนาสิ่งใดได้สิ่งนั้นแล้ว ก็ย่อมเป็นผู้มีใจเอิบอิ่มแน่แท้ ถ้าเมื่อสัตว์นั้นปรารถนาอยู่ เกิดความอยากได้แล้ว กาม เหล่านั้นย่อมเสื่อมไปไซร้ สัตว์นั้นย่อมย่อยยับเหมือนถูก ลูกศรแทง ฉะนั้น ผู้ใดงดเว้นกามทั้งหลาย เหมือนอย่าง บุคคลเว้นศีรษะงูด้วยเท้าของตน ผู้นั้นเป็นผู้มีสติ ย่อมก้าว ล่วงตัณหาในโลกนี้ได้ นรชนใดย่อมยินดีกามเป็นอันมาก คือ นา ที่ดิน เงิน โค ม้า ทาสกรรมกร เหล่าสตรีและพวก พ้อง กิเลสทั้งหลายอันมีกำลังน้อย ย่อมครอบงำย่ำยีนรชน นั้นได้ อันตรายทั้งหลายก็ย่อมย่ำยีนรชนนั้น แต่นั้นทุกข์ ย่อมติดตามนรชนผู้ถูกอันตรายครอบงำ เหมือนน้ำไหลเข้าสู่ เรือที่แตกแล้ว ฉะนั้น เพราะฉะนั้น สัตว์พึงเป็นผู้มีสติ ทุกเมื่อ งดเว้นกามทั้งหลายเสีย สัตว์ละกามเหล่านั้นได้แล้ว พึงข้ามโอฆะได้เหมือนบุรุษวิดเรือแล้วพึงไปถึงฝั่ง ฉะนั้น ฯ
จบกามสูตรที่ ๑
คุหัฏฐกสูตรที่ ๒
[๔๐๙] นรชนผู้ข้องอยู่ในถ้ำคือกาย ถูกกิเลสเป็นอันมากปกปิดไว้ แล้ว ดำรงอยู่ด้วยอำนาจกิเลสมีราคะเป็นต้น หยั่งลงในกาม คุณเครื่องทำจิตให้ลุ่มหลง นรชนผู้เห็นปานนั้นแล เป็นผู้ ไกลจากวิเวก เพราะว่ากามคุณทั้งหลายในโลก ไม่ใช่ละได้ โดยง่ายเลย กามคุณทั้งหลายมีความปรารถนาเป็นเหตุ เนื่อง ด้วยความยินดีในภพ เปลื้องออกได้โดยยาก คนอื่นจะเปลื้อง ออกให้ไม่ได้เลย นรชนทั้งหลายมุ่งหวังกามในอนาคตบ้าง ในอดีตบ้าง คร่ำครวญถึงกามเหล่านี้ที่เคยมีแล้วบ้าง อันตน เปลื้องเองได้ยาก และคนอื่นก็เปลื้องให้ไม่ได้ สัตว์เหล่านั้น ยินดี ขวนขวาย ลุ่มหลงอยู่ในกามทั้งหลาย ไม่เชื่อถือถ้อย คำของบัณฑิตมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ตั้งอยู่แล้วในธรรมอันไม่ สงบ ถูกทุกข์ครอบงำแล้ว ย่อมรำพันอยู่ว่า เราจุติจากโลก นี้แล้ว จักเป็นอย่างไรหนอ เพราะเหตุนั้นแล สัตว์พึงศึกษา ไตรสิกขาในศาสนานี้แหละ พึงรู้ว่าสิ่งอะไรๆ ในโลกไม่ เป็นความสงบ ไม่พึงประพฤติความไม่สงบเพราะเหตุแห่ง สิ่งนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตนั้นว่าเป็นของน้อยนัก เราเห็นหมู่สัตว์นี้ ผู้เป็นไปในอำนาจความอยากในภพ ทั้งหลาย กำลังดิ้นรนอยู่ในโลก นรชนทั้งหลายผู้เลวทราม ย่อมบ่นเพ้ออยู่ในปากมัจจุราช นรชนเหล่านั้น ยังไม่ ปราศจากความอยากในภพและมิใช่ภพทั้งหลายเลย ท่าน ทั้งหลายจงดูชนทั้งหลายผู้ถือว่าสิ่งนั้นๆ เป็นของเรา กำลัง ดิ้นรนอยู่ เหมือนปลาในแอ่งน้ำน้อยมีกระแสขาดสิ้นแล้ว ดิ้นรนอยู่ ฉะนั้น นรชนเห็นโทษแม้นั้นแล้ว ไม่พึงประพฤติ เป็นคนถือว่าสิ่งนั้นๆ เป็นของเรา ไม่กระทำความติดข้องอยู่ ในภพทั้งหลาย พึงกำจัดความพอใจในที่สุดทั้ง ๒ (มีผัสสะ และเหตุเกิดแห่งสัมผัสสะเป็นต้น) กำหนดรู้ผัสสะแล้ว ไม่กำหนัดตามในธรรมทั้งปวงมีรูปเป็นต้น ติเตียนตนเอง เพราะข้อใด อย่าทำข้อนั้น เป็นนักปราชญ์ไม่ติดอยู่ในรูปที่ได้ เห็นและเสียงที่ได้ฟังเป็นต้น กำหนดรู้สัญญาแล้วพึงข้าม โอฆะ เป็นมุนีไม่ติดอยู่ในอารมณ์ที่ควรหวงแหน ถอนลูกศร คือ กิเลสออกเสีย ไม่ประมาทเที่ยวไปอยู่ ย่อมไม่ปรารถนา โลกนี้และโลกหน้า ฉะนี้แล ฯ
จบคุหัฏฐกสูตรที่ ๒
ทุฏฐัฏฐกสูตรที่ ๓
[๔๑๐] เดียรถีย์บางพวก มีใจประทุษร้าย ย่อมติเตียนโดยแท้ แม้อนึ่ง พวกชนที่ฟังคำของเดียรถีย์เหล่านั้นแล้ว ปลงใจ เชื่อจริง ก็ติเตียน แต่มุนีย่อมไม่เข้าถึงการติเตียนที่เกิดขึ้น แล้ว เพราะเหตุนั้น มุนีย่อมไม่มีหลักตอ คือ ราคะ โทสะ และโมหะ ในโลกไหนๆ บุคคลผู้ถูกความพอใจครอบงำ แล้ว ตั้งมั่นอยู่ในความชอบใจ จะพึงล่วงทิฐิของตนได้ อย่างไรเล่า บุคคลกระทำทิฐิเหล่านั้นให้บริบูรณ์ด้วยตนเอง รู้อย่างใด ก็พึงกล่าวอย่างนั้น ผู้ใดไม่ถูกเขาถามเลย กล่าว อวดอ้างศีลและวัตรของตนแก่ผู้อื่น ผู้ฉลาดทั้งหลายกล่าว ผู้นั้นว่า ผู้ไม่มีอริยธรรม ผู้ใดกล่าวอวดตนด้วยตนเอง ผู้ฉลาดทั้งหลายกล่าวการอวดของผู้นั้นว่า ผู้นี้ไม่มีอริยธรรม ส่วนภิกษุผู้สงบ มีตนดับแล้ว ไม่กล่าวอวดในศีลทั้งหลายว่า เราเป็นผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยศีล ผู้ฉลาดทั้งหลายกล่าวภิกษุ นั้นว่า มีอริยธรรม ภิกษุใดไม่มีกิเลสเครื่องฟูขึ้นในโลก ไหนๆ ผู้ฉลาดทั้งหลายกล่าวการไม่กล่าวอวดของภิกษุ นั้นว่า ภิกษุนี้มีอริยธรรม ธรรม คือ ทิฐิอันปัจจัยกำหนด ปรุงแต่งแวดล้อม ไม่ผ่องแผ้ว ย่อมมีแก่ผู้ใด ผู้นั้นเป็น อย่างนี้ เพราะเหตุที่ผู้นั้นเห็นอานิสงส์ มีคติวิเศษเป็นต้นใน ตน ฉะนั้นจึงเป็นผู้อาศัยทิฐินั้นอันละเอียด อาศัยความกำเริบ นรชนตัดสินธรรมที่ตนยึดมั่นแล้วในธรรมทั้งหลาย ไม่พึง ล่วงการยึดมั่นด้วยทิฐิได้โดยง่ายเลย เพราะเหตุนั้น นรชน ย่อมยึดถือและถือมั่นธรรม ในเพราะความยึดมั่นด้วยทิฐิ เหล่านั้น ก็บุคคลผู้มีปัญญา ไม่มีทิฐิอันปัจจัยกำหนดแล้ว ในภพและมิใช่ภพ ในโลกไหนๆ บุคคลผู้มีปัญญานั้น ละมายาและมานะได้แล้ว จะพึงถึงการนับเข้าในคติพิเศษใน ในนรกเป็นต้น ด้วยคติพิเศษอะไร บุคคลผู้มีปัญญานั้น ไม่มีตัณหาและทิฐิ ก็บุคคลผู้มีตัณหาและทิฐิ ย่อมเข้าถึง วาทะในธรรมทั้งหลาย ผู้นั้นจะพึงกล่าวกะพระขีณาสพผู้ไม่มี ตัณหาและทิฐิว่า ผู้กำหนัดหรือว่าผู้ประทุษร้ายได้อย่างไร ด้วยความกำหนัดหรือความประทุษร้ายอะไร ความเห็นว่า เป็นตน หรือความเห็นว่าขาดสูญ ย่อมไม่มีแก่พระขีณาสพ นั้นเลย เพราะพระขีณาสพนั้น ละทิฐิได้ทั้งหมดในอัตภาพ นี้ ฉะนี้แล ฯ
จบทุฏฐัฏฐกสูตรที่ ๓
สุทธัฏฐกสูตรที่ ๔
[๔๑๑] คนพาลผู้ประกอบด้วยทิฐิ สำคัญเอาเองว่าเราได้เห็นบุคคล ผู้บริสุทธิ์เป็นบุคคลผู้ยิ่งใหญ่หาโรคมิได้ ความหมดจดด้วยดี ย่อมมีได้แก่นรชนด้วยการเห็น เมื่อคนพาลนั้นสำคัญเอาเอง อย่างนี้ รู้ว่า ความเห็นนั้นเป็นความเห็นยิ่ง แม้เป็นผู้เห็น บุคคลผู้บริสุทธิ์เนืองๆ ก็ย่อมเชื่อว่า ความเห็นนั้นเป็น มรรคญาณ ถ้าว่าความบริสุทธิ์ย่อมมีได้แก่นรชนด้วยการเห็น หรือนรชนนั้นย่อมละทุกข์ได้ด้วยมรรค อันไม่บริสุทธิ์อย่าง อื่นจากอริยมรรค นรชนผู้เป็นอย่างนี้ย่อมบริสุทธิ์ไม่ได้เลย ก็คนมีทิฐิ ย่อมกล่าวยกย่องความเห็นนั้นของคนผู้กล่าว อย่างนั้น พราหมณ์ไม่กล่าวความบริสุทธิ์โดยมิจฉาทิฐิญาณ อย่างอื่นจากอริยมรรคญาณ ที่เกิดขึ้นในเพราะรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง ศีล พรต และในเพราะอารมณ์ที่ได้ทราบ พราหมณ์นั้นไม่ติดอยู่ในบุญและบาป ละความเห็นว่าเป็นตน เสียได้ ไม่กระทำในบุญและบาปนี้ ชนผู้ประกอบด้วยทิฐิ เป็นผู้กล่าวความบริสุทธิ์โดยทางมรรคอย่างอื่นเหล่านั้น ละ ศาสดาเบื้องต้นเสีย อาศัยศาสดาอื่น อันตัณหาครอบงำ ย่อมข้ามธรรมเป็นเครื่องข้องไม่ได้ ชื่อว่าถือเอาธรรมนั้น ด้วย สละธรรมนั้นด้วย เปรียบเหมือนวานรจับและปล่อย กิ่งไม้ที่ตรงหน้าเสียเพื่อจับกิ่งอื่น ฉะนั้น สัตว์ผู้ข้องอยู่ ในกามสัญญา สมาทานวัตรเองแล้ว ไปเลือกหาศาสดาดี และเลว ส่วนพระขีณาสพผู้มีปัญญาเสมอด้วยแผ่นดิน ผู้มีความรู้แจ้ง ตรัสรู้ธรรมด้วยเวทคือมรรคญาณ ย่อมไม่ ไปเลือกหาศาสดาดีและเลว พระขีณาสพนั้นครอบงำมาร และเสนาในธรรมทั้งปวง คืออารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่ ได้เห็น ได้ฟัง หรือได้ทราบ ใครๆ จะพึงกำหนดพระขีณาสพ ผู้บริสุทธิ์ ผู้เห็นความบริสุทธิ์ เป็นผู้มีหลังคาคือกิเลสอัน เปิดแล้ว ผู้เที่ยวไปอยู่ ด้วยการกำหนดด้วยตัณหาและทิฐิ อะไรในโลกนี้ พระขีณาสพทั้งหลาย ย่อมไม่กำหนดด้วย ตัณหาหรือด้วยทิฐิ ย่อมไม่กระทำตัณหาและทิฐิไว้ใน เบื้องหน้า พระขีณาสพเหล่านั้นย่อมไม่กล่าวว่า ความบริสุทธิ์ ล่วงส่วนด้วยอกิริยาทิฐิและสัสสตทิฐิ ท่านสละกิเลสเครื่อง ยึดมั่นและเครื่องร้อยรัดอันเนื่องอยู่ในจิตสันดานได้แล้วย่อม ไม่กระทำความหวังในโลกไหนๆ พราหมณ์ผู้ล่วงแดนกิเลสได้ ไม่มีความยึดถือวัตถุหรืออารมณ์อะไร เพราะได้รู้หรือเพราะ ได้เห็นเป็นผู้ไม่มีความยินดีด้วยราคะ เป็นผู้ปราศจากราคะ ไม่กำหนัดแล้ว พราหมณ์นั้น ไม่มีความยึดถือวัตถุและ อารมณ์อะไรๆ ว่าสิ่งนี้เป็นของยิ่งในโลกนี้ ฉะนี้แล ฯ
จบสุทธัฏฐกสูตรที่ ๔
ปรมัฏฐกสูตรที่ ๕
[๔๑๒] บุคคลในโลกยึดถือในทิฐิทั้งหลายว่า สิ่งนี้เป็นอย่างยิ่ง ย่อมกระทำศาสดาเป็นต้นของตนให้เป็นผู้ประเสริฐ กล่าว ผู้อื่นนอกจากศาสดาเป็นต้นของตนนั้นว่า เลวทั้งหมด เพราะ เหตุนั้น บุคคลนั้นจึงไม่ล่วงพ้นความวิวาทไปได้ บุคคลนั้น เห็นอานิสงส์อันใดในตนกล่าวคือ ทิฐิ ที่เกิดขึ้นในสิ่งเหล่านี้ คือ ในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง ศีล พรต หรืออารมณ์ ที่ได้ทราบ บุคคลนั้นยึดมั่นอานิสงส์ในทิฐิของตนนั้นแลว่า ประเสริฐที่สุด เห็นศาสดาอื่นทั้งหมดโดยความเป็นคนเลว อนึ่ง บุคคลผู้อาศัยศาสดาของตนแล้ว เห็นศาสดาอื่น เป็นคนเลว เพราะความเห็นอันใด ท่านผู้ฉลาดทั้งหลาย กล่าวความเห็นนั้นว่า เป็นกิเลสเครื่องร้อยรัด เพราะฉะนั้น แหละ ภิกษุไม่พึงยึดมั่นรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ หรือศีลและพรต แม้ทิฐิก็ไม่พึงกำหนด ด้วยญาณ หรือแม้ด้วยศีลและพรตในโลก ไม่พึงนำตนเข้า ไปเปรียบว่า เป็นผู้เสมอเขา ไม่พึงสำคัญว่า เป็นผู้เลว กว่าเขา หรือว่าเป็นผู้วิเศษกว่าเขา ภิกษุนั้นละความเห็นว่า เป็นตนได้แล้ว ไม่ถือมั่นอยู่ ย่อมไม่กระทำนิสัย (ตัณหา นิสัยและทิฐินิสัย) แม้ในญาณ ไม่เป็นผู้แล่นไปเข้าพวก ในสัตว์ทั้งหลายผู้แตกต่างกันด้วยอำนาจทิฐิต่างๆ ย่อมไม่ กลับมาแม้สู่ทิฐิอะไรๆ พราหมณ์ในโลกนี้ไม่มีตัณหาใน ส่วนสุดทั้ง ๒ มีผัสสะเป็นต้นเพื่อความเกิดบ่อยๆ ในโลกนี้ หรือในโลกอื่น ไม่มีความยึดมั่นอะไรๆ ไม่มีสัญญาอันปัจจัย กำหนดแล้วแม้แต่น้อย ในรูปที่ได้เห็น ในเสียงที่ได้ฟัง หรือในอารมณ์ที่ได้ทราบ ในโลกนี้ เพราะได้ตัดสินธรรม ที่ตนยึดถือแล้วในธรรมทั้งหลาย ใครๆ จะพึงกำหนดพราหมณ์ นั้นผู้ไม่ถือมั่นทิฐิ ด้วยการกำหนดด้วยตัณหาหรือด้วยการ กำหนดด้วยทิฐิอะไรๆ ในโลกนี้ พราหมณ์ทั้งหลายย่อมไม่ กำหนดด้วยตัณหาหรือทิฐิ ย่อมไม่กระทำตัณหาและทิฐิไว้ใน เบื้องหน้า แม้ธรรมคือทิฐิทั้งหลาย พราหมณ์เหล่านั้นก็มิได้ ปกปิดไว้ พราหมณ์ผู้อันใครๆ จะพึงนำไปด้วยศีลและพรต ไม่ได้ ถึงฝั่ง คือ นิพพานแล้ว เป็นผู้คงที่ ย่อมไม่กลับมา หากิเลสทั้งหลายอีก ฉะนั้นแล ฯ
จบปรมัฏฐกสูตรที่ ๕
ชราสูตรที่ ๖
[๔๑๓] ชีวิตนี้น้อยนัก สัตว์ย่อมตายแม้ภายใน ๑๐๐ ปี ถ้าแม้สัตว์ เป็นอยู่เกิน (๑๐๐ ปี) ไปไซร้ สัตว์นั้นก็ย่อมตายแม้เพราะ ชราโดยแท้แล ชนทั้งหลายย่อมเศร้าโศก เพราะสิ่งที่ตน ยึดถือว่าเป็นของเรา สิ่งที่เคยหวงแหนเป็นของเที่ยงไม่มีเลย บุคคลเห็นว่า สิ่งนี้มีความเป็นไปต่างๆ มีอยู่ ดังนี้แล้ว ไม่พึงอยู่ครองเรือน บุรุษย่อมสำคัญสิ่งใดว่า สิ่งนี้เป็นของเรา จำต้องละสิ่งนั้นไปแม้เพราะความตาย บัณฑิตผู้นับถือ พระพุทธเจ้าว่าเป็นของเรา ทราบข้อนี้แล้ว ไม่พึงน้อมไป ในความเป็นผู้ถือว่าสิ่งนั้นๆ เป็นของเรา บุคคลผู้ตื่นขึ้นแล้ว ย่อมไม่เห็นอารมณ์อันประจวบด้วยความฝัน แม้ฉันใด บุคคล ย่อมไม่เห็นบุคคลผู้ที่ตนรักทำกาละล่วงไปแล้ว แม้ฉันนั้น บุคคลย่อมกล่าวขวัญกันถึงชื่อนี้ ของคนทั้งหลายผู้อันตนได้ เห็นแล้วบ้าง ได้ฟังแล้วบ้าง ชื่อเท่านั้นที่ควรกล่าวขวัญถึง ของบุคคลผู้ล่วงไปแล้ว จักยังคงเหลืออยู่ ชนทั้งหลาย ผู้ยินดีแล้วในสิ่งที่ตนถือว่าเป็นของเรา ย่อมละความโศก ความร่ำไรและความตระหนี่ไม่ได้ เพราะเหตุนั้น มุนีทั้งหลาย ผู้เห็นนิพพานเป็นแดนเกษม ละอารมณ์ที่เคยหวงแหนได้ เที่ยวไปแล้ว บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการไม่แสดงตนในภพ อัน ต่างด้วยนรกเป็นต้น ของภิกษุผู้ประพฤติหลีกเร้น ผู้เสพที่นั่ง อันสงัด ว่าเป็นการสมควร มุนีไม่อาศัยแล้วในอายตนะ ทั้งปวง ย่อมไม่กระทำสัตว์หรือสังขารให้เป็นที่รักทั้งไม่กระทำ สัตว์หรือสังขารให้เป็นที่เกลียดชัง ย่อมไม่ติดความร่ำไรและ ความตระหนี่ ในสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รักและเป็นที่เกลียด ชังนั้น เปรียบเหมือนน้ำไม่ติดอยู่บนใบไม้ ฉะนั้น หยาด น้ำย่อมไม่ติดอยู่บนใบบัว น้ำย่อมไม่ติดอยู่ที่ใบปทุม ฉันใด มุนีย่อมไม่ติดในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง หรืออารมณ์ที่ ได้ทราบ ฉันนั้น ผู้มีปัญญาย่อมไม่สำคัญด้วยรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง หรืออารมณ์ที่ได้ทราบ ย่อมไม่ปรารถนาความ บริสุทธิ์ด้วย (มรรคอย่างอื่น) ทางอื่น ผู้มีปัญญานั้น ย่อมไม่ ยินดี ย่อมไม่ยินร้าย ฉะนี้แล ฯ
จบชราสูตรที่ ๖
ติสสเมตเตยยสูตรที่ ๗
ท่านพระติสสเมตเตยยะทูลถามปัญหาว่า [๔๑๔] ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ขอพระองค์จงตรัสบอกความคับแค้น แห่งบุคคลผู้ประกอบเมถุนธรรมเนืองๆ เถิด ข้าพระองค์ ทั้งหลายได้สดับคำสั่งสอนของพระองค์แล้ว จักศึกษาใน วิเวก ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรเมตเตยยะ ความคับแค้นของบุคคลผู้ประกอบเมถุนธรรมมีอยู่ บุคคลผู้ ประกอบเมถุนธรรม ย่อมลืมแม้คำสั่งสอน และย่อมปฏิบัติ ผิด นี้เป็นกิจไม่ประเสริฐในบุคคลนั้น บุคคลใดประพฤติอยู่ผู้ เดียวในกาลก่อนแล้ว เสพเมถุนธรรม (ในภายหลัง) บัณฑิตทั้งหลายกล่าวบุคคลนั้นว่า เป็นคนมีกิเลสมากในโลก เหมือนยวดยานที่แล่นไปใกล้เหว ฉะนั้น ยศและเกียรติ คุณในกาลก่อนของบุคคลนั้น ย่อมเสื่อม บุคคลเห็นโทษ แม้นี้แล้ว ควรศึกษาไตรสิกขาเพื่อละเมถุนธรรม ผู้ใดไม่ละ เมถุนธรรม ผู้นั้นถูกความดำริครอบงำแล้ว ซบเซาอยู่ เหมือนคนกำพร้า ฉะนั้น ผู้นั้นฟังเสียงอันระบือไปของชน เหล่าอื่นแล้ว เป็นผู้เก้อเขินเช่นนั้น อนึ่ง ผู้ใดอันวาทะ ของบุคคลอื่นตักเตือนแล้ว ยังกระทำกายทุจริตเป็นต้น ผู้นี้ แหละพึงเป็นผู้มีเครื่องผูกใหญ่ ย่อมถือเอาโทษแห่งมุสาวาท บุคคลอันผู้อื่นรู้กันดีแล้วว่าเป็นบัณฑิต อธิษฐานการเที่ยวไป ผู้เดียว แม้ในภายหลังประกอบในเมถุนธรรม ย่อมมัวหมอง เหมือนคนงมงาย ฉะนั้น มุนีในศาสนานี้รู้โทษในเบื้องต้น และเบื้องปลายนี้แล้ว ควรกระทำการเที่ยวไปผู้เดียวให้มั่นคง ไม่ควรเสพเมถุนธรรม ควรศึกษาวิเวกเท่านั้น การประพฤติ วิเวกนี้ เป็นกิจอันสูงสุดของพระอริยเจ้าทั้งหลาย มุนีไม่ ควรสำคัญตนว่าเป็นผู้ประเสริฐด้วยวิเวกนั้น มุนีนั้นแลย่อม อยู่ใกล้นิพพาน หมู่สัตว์ผู้ยินดีแล้วในกามทั้งหลาย ย่อมรัก ใคร่ต่อมุนีผู้สงัดแล้วเที่ยวไปอยู่ ผู้ไม่มีความห่วงใยในกาม ทั้งหลาย ผู้ข้ามโอฆะได้แล้ว ฉะนี้แล ฯ
จบติสสเมตเตยยสูตรที่ ๗
ปสูรสูตรที่ ๘
[๔๑๕] สมณพราหมณ์ผู้ประกอบด้วยทิฐิ ย่อมกล่าวว่า ความบริสุทธิ์ว่ามีอยู่ในธรรมนี้เท่านั้น ไม่กล่าวความบริสุทธิ์ ในธรรมเหล่าอื่น สมณพราหมณ์เป็นอันมาก กล่าวความดี งามในศาสดาของตนเป็นต้นที่ตนอาศัยแล้ว ถือมั่นอยู่ใน สัจจะเฉพาะอย่าง (มีคำว่าโลกเที่ยงเป็นต้น) สมณพราหมณ์ เจ้าทิฐิ ๒ พวกนั้น ประสงค์จะกล่าวโต้ตอบกัน เข้าไปสู่ บริษัทแล้ว ย่อมโต้เถียงกันและกันว่าเป็นคนเขลา สมณ- พราหมณ์เหล่านั้นต้องการแต่ความสรรเสริญ เป็นผู้มีความ สำคัญว่า เราทั้งหลายเป็นคนฉลาดอาศัยศาสดาของกันและ กันเป็นต้นแล้ว ย่อมกล่าวคำทะเลาะกัน บุคคลปรารถนาแต่ ความสรรเสริญ ขวนขวายหาถ้อยคำวิวาท กระทบกระเทียบ กันในท่ามกลางบริษัท แต่กลับเป็นผู้เก้อเขินในเพราะวาทะ อันผู้ตัดสินปัญหาไม่ทำให้เลื่อมใส บุคคลนั้นเป็นผู้แสวงหา โทษ ย่อมโกรธเพราะความนินทา ผู้พิจารณาปัญหาทั้งหลาย กล่าววาทะใดของบุคคลนั้นอันตนไม่ทำให้เลื่อมใสแล้วว่าเป็น วาทะเสื่อมสิ้น บุคคลผู้มีวาทะเสื่อมแล้วนั้น ย่อมคร่ำครวญ เศร้าโศก ทอดถอนใจว่า ท่านผู้นี้กล่าวสูงเกินเราไป ความ วิวาทเหล่านี้เกิดแล้วในพวกสมณะ ความกระทบกระทั่งกัน ย่อมมีในเพราะวาทะเหล่านี้ บุคคลเห็นโทษแม้นี้แล้ว พึง เว้นความทะเลาะกันเสีย ความสรรเสริญและลาภ ย่อมไม่มี เป็นอย่างอื่นไปเลย ก็หรือบุคคลนั้นกล่าววาทะในท่ามกลาง บริษัท เป็นผู้อันบุคคลสรรเสริญแล้วในเพราะทิฐินั้น ย่อม รื่นเริงใจสูงขึ้นเพราะต้องการชัยชนะและมานะนั้นได้ถึงความ ต้องการชัยชนะนั้นสมใจนึก การยกตนของบุคคลนั้น เป็น พื้นแห่งความกระทบกัน และบุคคลนั้นย่อมกล่าวถึงการ ถือตัวและการดูหมิ่นผู้อื่น บุคคลเห็นโทษแม้นี้แล้ว พึงเว้น ความทะเลาะกันเสีย ผู้ฉลาดทั้งหลาย ย่อมไม่กล่าวความ บริสุทธิ์ด้วยการทะเลาะกันนั้น บุคคลผู้เจ้าทิฐิปรารถนาพบ บุคคลเจ้าทิฐิผู้เป็นปฏิปักษ์กัน ย่อมคำราม เปรียบเหมือน ทหารผู้กล้าหาญ ซึ่งพระราชาทรงเลี้ยงแล้วด้วยราชขาทนียา- หาร ปรารถนาพบทหารผู้เป็นปฏิปักษ์กัน ย่อมคำราม ฉะนั้น ดูกรท่านผู้องอาจ บุคคลเจ้าทิฐิเป็นปฏิปักษ์ของท่านนั้น มีอยู่ ณ ที่ใด ท่านจงไป ณ ที่นั้นเถิด กิเลสชาติเพื่อการรบนี้ ไม่มีในกาลก่อนเลย (กิเลสชาตินั้นเราผู้ตถาคตละเสียแล้ว ณ ควงแห่งไม้โพธินั้นแล) สมณพราหมณ์เหล่าใดถือรั้น ทิฐิแล้ว ย่อมวิวาทกันและย่อมกล่าวว่า สิ่งนี้เท่านั้นจริง ท่านผู้กระทำความเป็นข้าศึกในวาทะ (ถ้อยคำ) ที่เกิดขึ้น จงกล่าวทุ่มเถียงกะสมณพราหมณ์เหล่านั้นเถิด พราหมณ์เหล่า นั้นไม่มีในที่นี้เลย ส่วนพระอรหันตขีณาสพทั้งหลาย กำจัด เสนา คือกิเลสให้พินาศแล้ว ไม่กระทำความเห็นให้ผิดไป จากความเห็น เที่ยวไปอยู่ ดูกรปสุระ ท่านจะได้สู้รบโต้ ตอบอะไร ในพระอรหันต์ผู้ไม่มีความยึดถือว่าสิ่งนี้ประเสริฐ ในโลกนี้ ถ้าท่านคิดถึงทิฐิทั้งหลายอยู่ด้วยใจ ถึงความตรึกไป ต่างๆ ถือเอาความเป็นคู่แข่งขันกับพระพุทธะผู้กำจัดกิเลส ได้แล้วไซร้ ท่านจะสามารถเพื่อถือเอาความเป็นคู่แข่งขันให้ สำเร็จไม่ได้เลย ฯ
จบปสูรสูตรที่ ๘
มาคันทิยสูตรที่ ๙
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า [๔๑๖] ความพอใจในเมถุนธรรม ไม่ได้มีแก่เราเพราะได้เห็นนาง ตัณหานางอรดีและนางราคาเลย ความพอใจในเมถุนธรรม อย่างไรจักมีเพราะได้เห็นสรีระแห่งธิดาของท่านอันเต็มไปด้วย มูตรและคูถเล่า เราไม่ปรารถนาจะถูกต้องสรีระแห่งธิดาของ ท่านนั้นแม้ด้วยเท้า ฯ มาคันทิยพราหมณ์ทูลว่า ถ้าพระองค์ไม่ทรงปรารถนานางแก้วเช่นนี้ ที่พระราชาผู้เป็น จอมนระเป็นอันมากทรงปรารถนากันแล้วไซร้ พระองค์ตรัส ทิฐิ ศีล พรต ชีวิต และการเข้าถึงภพของพระองค์เช่นไร หนอ ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมาคันทิยะ กิจที่เราวินิจฉัยในธรรม คือ ทิฐิ ๖๒ แล้วจึงยึดถือเอาว่า เรากล่าวทิฐินี้ว่า ข้อนี้เท่านั้นจริง ข้ออื่นเปล่า ดังนี้ ย่อม ไม่มีแก่เราและเราเห็นโทษในทิฐิทั้งหลายอยู่ ไม่ได้ยึดถือ ทิฐิอะไรๆ เมื่อค้นคว้าสัจจะทั้งหลาย ก็ได้เห็นนิพพาน กล่าวคือความสงบ ณ ภายใน ฯ มาคันทิยพราหมณ์ทูลว่า ทิฐิเหล่าใด ที่สัตว์ทั้งหลายได้วินิจฉัยกำหนดไว้แล้ว ข้าแต่ พระองค์ผู้เป็นมุนี พระองค์ไม่ได้ยึดถือทิฐิเหล่านั้นเลย ตรัส เนื้อความนี้ได้ว่า ความสงบ ณ ภายใน เนื้อความนั้นอัน นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศไว้อย่างไรหนอ ขอพระองค์จงตรัส บอกแก่ข้าพระองค์เถิด ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมาคันทิยะ เราไม่ได้กล่าวความบริสุทธิ์ด้วยการเห็น การฟัง การรู้ ทั้ง ด้วยศีลและพรต เราไม่กล่าวความบริสุทธิ์เว้นจากการเห็น จากการฟัง จากการรู้ จากศีลและพรต ก็บุคคลสละธรรม เป็นไปในฝ่ายดำมีทิฐิเป็นต้นเหล่านี้แล้ว ไม่ถือมั่น เป็นผู้สงบ ไม่อาศัยธรรมอะไรแล้วไม่พึงปรารถนาภพ ฯ มาคันทิยพราหมณ์ทูลว่า ได้ยินว่า ถ้าพระองค์ไม่ตรัสความบริสุทธิ์ด้วยการเห็น การ ฟัง การรู้ ทั้งศีลและพรต พระองค์ไม่ตรัสความบริสุทธิ์ เว้นจากการเห็น จากการฟัง จากการรู้ จากศีลและพรต ข้าพระองค์ย่อมสำคัญธรรมเป็นที่งงงวย ทีเดียวด้วยว่า ชน บางพวกยังเชื่อความบริสุทธิ์ด้วยการเห็น ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมาคันทิยะ ก็ท่านอาศัยการเห็นถามอยู่บ่อยๆ ได้ถึงความหลงใหลไปใน ทิฐิที่ท่านยึดมั่นแล้ว และท่านก็ไม่ได้เห็นสัญญาแม้แต่น้อย แต่ความสงบ ณ ภายในที่เรากล่าวแล้วนี้ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงตั้งอยู่โดยความเป็นผู้หลง ผู้ใดย่อมสำคัญด้วยมานะ หรือด้วยทิฐิว่า เราเป็นผู้เสมอเขาวิเศษกว่าเขา หรือเลวกว่า เขา ผู้นั้นพึงวิวาท เพราะมานะหรือทิฐินั้น ผู้ใดไม่หวั่นไหว ในการถือตัวว่า เสมอเขา วิเศษกว่าเขาดังนี้เป็นต้น ผู้นั้น ย่อมไม่มีการวิวาท บุคคลผู้มีมานะและทิฐิอันละได้แล้วนั้น ชื่อว่าเป็นพราหมณ์ จะพึงกล่าวอะไรว่า สิ่งนี้เท่านั้นจริง หรือจะพึงวิวาทเพราะมานะหรือทิฐิอะไรว่า ของเราจริง ของ ท่านเท็จ อนึ่ง ความสำคัญว่าเสมอเขาหรือว่าไม่เสมอเขา ย่อมไม่มีในผู้ใด ผู้นั้นจะพึงโต้ตอบวาทะกับใครๆ มุนีละอาลัย ได้แล้ว ไม่ระลึกถึงอารมณ์เครื่องกำหนดหมาย ไม่กระทำ ความสนิทสนมในชาวบ้าน เป็นผู้สงัดจากกามทั้งหลาย ไม่ ทำอัตภาพให้เกิดต่อไป ไม่พึงกล่าวถ้อยคำแก่งแย่งกับคน บุคคลผู้ประเสริฐ สงัดแล้วจากธรรมมีทิฐิเป็นต้นเหล่าใด พึงเที่ยวไปในโลก ไม่พึงถือเอาธรรมมีทิฐิเป็นต้นเหล่านั้นขึ้น กล่าว มุนีผู้มีถ้อยคำสงบ ไม่กำหนัดยินดี ไม่ติดอยู่ในกาม และในโลก เหมือนดอกปทุม มีก้านเป็นหนาม เกิดในน้ำ โคลนตม ไม่ติดอยู่ด้วยน้ำและโคลนตม ฉะนั้น บุคคลผู้ ถึงเวทคือมรรค ๔ เป็นผู้ไม่ดำเนินไปด้วยทิฐิ บุคคลนั้นไม่ กลับมาสู่มานะด้วยการทราบ อันต่างด้วยอารมณ์ มีรูปที่ได้ ทราบแล้วเป็นต้น บุคคลนั้นไม่เป็นผู้สำเร็จแล้วด้วยตัณหา มานะ และทิฐินั้น บุคคลนั้น แม้กรรมและสุตะพึงนำไป ไม่ได้ บุคคลนั้นอันสิ่งใดสิ่งหนึ่งน้อมนำเข้าไปไม่ได้แล้ว ในนิเวศน์ คือ ตัณหาและทิฐิ กิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งหลาย ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้คลายสัญญาได้แล้ว ความหลงทั้งหลาย ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้หลุดพ้นแล้วด้วยปัญญา ชนเหล่าใดยึด ถือกามสัญญาและทิฐิ ชนเหล่านั้นกระทบกระทั่งกันและกัน เที่ยวไปอยู่ในโลก ฯ
จบมาคันทิยสูตรที่ ๙
ปุราเภทสูตรที่ ๑๐
พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า [๔๑๗] บุคคลผู้มีความเห็นอย่างไร มีศีลอย่างไร บัณฑิตจึงกล่าวว่า เป็นผู้สงบ ท่านพระโคดมพระองค์ผู้อันข้าพระองค์ถามแล้ว ขอจงตรัสบอกนระผู้สูงสุดแก่ข้าพเจ้าเถิด พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ฯ ผู้ใดปราศจากตัณหาก่อนแต่สรีระแตก เป็นผู้ไม่อาศัย (กาล อันเป็นอดีตอนาคต) เบื้องต้นและเบื้องปลาย อันใครๆ จะ พึงนับว่า เป็นผู้ยินดีแล้วใน (กาลอันเป็นปัจจุบัน) ท่าม- กลางไม่ได้ ความมุ่งหวังของผู้นั้นย่อมไม่มี เรากล่าวผู้นั้นว่า เป็นผู้สงบ ผู้ใดไม่โกรธ ไม่สะดุ้ง ไม่โอ้อวด ไม่คะนอง พูดด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน ผู้นั้นแล เป็นมุนีผู้สำรวมแล้ว ด้วยวาจา ผู้ใดไม่ทะเยอทะยานในสิ่งที่ยังไม่มาถึง ไม่ เศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว เป็นผู้มีปรกติเห็นความสงัดใน ผัสสะ อันใครๆ จะนำไปในทิฐิทั้งหลายไม่ได้เลย ผู้ใด ปราศจากกิเลส ไม่หลอกลวง มีปรกติไม่ทะเยอะทะยาน ไม่ตระหนี่ ไม่คะนอง ไม่เป็นที่เกลียดชัง ไม่ประกอบใน คำส่อเสียด เว้นจากความเชยชมในกามคุณอันเป็นวัตถุน่า ยินดี ทั้งไม่ประกอบในการดูหมิ่น เป็นผู้ละเอียดอ่อน มี ปฏิภาณ ไม่เชื่อต่อใครๆ ไม่กำหนัดยินดี ไม่ศึกษา เพราะ ใคร่ลาภ ไม่โกรธเคืองในเพราะความไม่มีลาภ และเป็นผู้ ไม่พิโรธ ไม่ยินดีในรสด้วยตัณหา เป็นผู้วางเฉย มีสติทุก เมื่อ ไม่สำคัญตัวว่าเสมอเขา ว่าวิเศษกว่าเขา ว่าเลวกว่าเขาใน โลก กิเลสอันฟูขึ้นทั้งหลาย ของผู้นั้น ย่อมไม่มี ฯ ตัณหานิสสัยและทิฐินิสสัยของผู้ใดไม่มี ผู้นั้นรู้ธรรมแล้ว เป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยแล้ว ความทะยานอยากเพื่อ ความมีหรือเพื่อความไม่มี ของผู้ใดไม่มี เรากล่าวผู้นั้นผู้ไม่มี ความห่วงใยในกามทั้งหลายว่า เป็นผู้สงบ กิเลสเครื่องร้อยรัด ทั้งหลายของผู้ใดไม่มี ผู้นั้นข้ามตัณหาได้แล้ว บุตร ธิดา สัตว์ เลี้ยง ไร่นาและที่ดินของผู้ใดไม่มี แม้ความเห็นว่าเป็นตัวตน ก็ดี ความเห็นว่าไม่เป็นตัวตนก็ดี อันใครๆ ย่อมไม่ได้ใน ผู้นั้น ปุถุชนหรือสมณพราหมณ์จะพึงกล่าวกะผู้นั้น (ว่าผู้ ยินดีแล้ว หรือผู้ประทุษร้ายแล้ว) โดยโทษมีราคะเป็นต้นใด โทษมีราคะเป็นต้นนั้น ไม่ใช่เป็นความมุ่งหวังของผู้นั้น เพราะเหตุนั้น ผู้นั้นย่อมไม่หวั่นไหว ในเพราะถ้อยคำ ทั้งหลาย มุนีผู้ปราศจากความกำหนัดยินดี ไม่มีความตระหนี่ ย่อมไม่กล่าวยกย่องในบุคคลผู้ประเสริฐกว่า ผู้เสมอกัน หรือ ผู้เลวกว่า ผู้ไม่มีกัปปะ (คือตัณหาแลทิฐิ) ย่อมไม่มาสู่กัปปะ ผู้ใดไม่มีความหวงแหนว่าของตนในโลก ไม่เศร้าโศกเพราะ สิ่งที่ไม่มีอยู่ และไม่ลำเอียงในธรรมทั้งหลาย ผู้นั้นแล เรา กล่าวว่าเป็นผู้สงบ ฯ
จบปุราเภทสูตรที่ ๑๐
กลหวิวาทสูตรที่ ๑๑
พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า [๔๑๘] ความทะเลาะ ความวิวาท ความร่ำไร ความเศร้าโศก กับ ทั้งความตระหนี่ ความถือตัว ความดูหมิ่นผู้อื่น และทั้งคำ ส่อเสียด เกิดจากอะไร ธรรมเครื่องเศร้าหมองเหล่านั้นเกิด จากอะไร ขอเชิญพระองค์จงตรัสบอกเนื้อความที่ข้าพระองค์ ถามนั้นเถิด ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ความทะเลาะ ความวิวาท ความร่ำไร ความเศร้าโศก กับ ทั้งความตระหนี่ ความถือตัว ความดูหมิ่นผู้อื่น และทั้งคำ ส่อเสียด เกิดจากของที่รัก ความทะเลาะ ความวิวาท ประกอบเข้าแล้วด้วยความตระหนี่ ก็เมื่อความวิวาทเกิดแล้ว คำส่อเสียดย่อมเกิด ฯ พระพุทธนิมิตตรัสถามต่อไปว่า ความรักในโลกเล่ามีอะไรเป็นเหตุ แม้อนึ่ง ชนเหล่าใดมี กษัตริย์เป็นต้น มีความโลภ เที่ยวไปในโลก ความโลภของ ชนมีกษัตริย์เป็นต้นเหล่านั้น มีอะไรเป็นเหตุ ความหวังและ ความสำเร็จของนรชนซึ่งมีในสัมปรายภพมีอะไรเป็นเหตุ ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ความรักในโลกมีความพอใจเป็นเหตุ แม้อนึ่ง ชนเหล่าใดมี กษัตริย์เป็นต้น มีความโลภเที่ยวไปในโลก ความโลภของ ชนมีกษัตริย์เป็นต้นเหล่านั้น มีความพอใจเป็นเหตุ ความ หวังและความสำเร็จของนรชน ซึ่งมีในสัมปรายภพ มีความ พอใจนี้เป็นเหตุ ฯ พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า ความพอใจในโลกเล่ามีอะไรเป็นเหตุ แม้การวินิจฉัย คือ ตัณหาและทิฐิก็ดี ความโกรธ โทษแห่งการกล่าวมุสา และ ความสงสัยก็ดี ที่พระสมณะตรัสแล้ว เกิดจากอะไร ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า บัณฑิตทั้งหลาย กล่าวสุขเวทนาและทุกขเวทนาใดว่า เป็น ความยินดีและความไม่ยินดีในโลก ความพอใจย่อมเกิด เพราะอาศัยสุขเวทนาและทุกขเวทนานั้น สัตว์ในโลก เห็น ความเสื่อมไปและความเกิดขึ้นในรูปทั้งหลายแล้ว ย่อม กระทำการวินิจฉัย ความโกรธ โทษแห่งการกล่าวมุสา และ ความสงสัยธรรมแม้เหล่านี้ เมื่อความยินดีและความไม่ยินดี ทั้งสองอย่างนั่นแหละมีอยู่ ก็ย่อมเกิดขึ้นได้ บุคคลผู้มีความ สงสัยพึงศึกษาเพื่อทางแห่งญาณ ท่านผู้เป็นสมณะรู้แล้ว จึง กล่าวธรรมทั้งหลาย ฯ พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า ความยินดีและความไม่ยินดี มีอะไรเป็นเหตุ เมื่อธรรมอะไร ไม่มี ธรรมเหล่านี้จึงไม่มี ขอพระองค์จงตรัสบอกอรรถ คือ ทั้งความเสื่อมไปและทั้งความเกิดขึ้น (แห่งความยินดีและ ความไม่ยินดี) นี้ว่า มีสิ่งใดเป็นเหตุแก่ข้าพระองค์เถิด ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ความยินดี ความไม่ยินดี มีผัสสะเป็นเหตุ เมื่อผัสสะไม่มี ธรรมเหล่านี้จึงไม่มี เราขอบอกอรรถ คือ ทั้งความเสื่อมไป และทั้งความเกิดขึ้นนี้ ว่ามีผัสสะนี้เป็นเหตุแก่ท่าน ฯ พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า ผัสสะในโลกเล่า มีอะไรเป็นเหตุ อนึ่ง ความหวงแหนเกิด จากอะไร เมื่อธรรมอะไรไม่มี ความถือว่าสิ่งนี้เป็นของเราจึง ไม่มี เมื่อธรรมอะไรไม่มี ผัสสะจึงไม่ถูกต้อง ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ผัสสะอาศัยนามและรูปจึงเกิดขึ้น ความหวงแหนมีความ ปรารถนาเป็นเหตุ เมื่อความปรารถนาไม่มี ความถือว่าสิ่งนี้ เป็นของเราจึงไม่มี เมื่อรูปไม่มี ผัสสะจึงไม่ถูกต้อง ฯ พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า เมื่อบุคคลปฏิบัติอย่างไร รูปจึงไม่มี อนึ่ง สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี อย่างไรจึงไม่มี ขอพระองค์โปรดตรัสบอกอาการที่รูปและสุข ทุกข์นี้ไม่มีแก่ข้าพระองค์เถิด ข้าพระองค์มีใจดำริว่า เราควรรู้ ความข้อนั้น ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า บุคคลเป็นผู้ไม่มีสัญญาด้วยสัญญาเป็นปรกติ เป็นผู้ไม่มี สัญญาด้วยสัญญาอันผิดปรกติ เป็นผู้ไม่มีสัญญาก็มิใช่ เป็น ผู้มีสัญญาว่าไม่มีก็มิใช่ เมื่อบุคคลปฏิบัติแล้วอย่างนี้ รูปจึง ไม่มี เพราะว่าธรรมเป็นส่วนแห่งความเนิ่นช้า มีสัญญา เป็นเหตุ ฯ พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า ข้าพระองค์ได้ถามความข้อใดกะพระองค์ พระองค์ก็ได้ทรง แสดงความข้อนั้นแก่ข้าพระองค์แล้ว ข้าพระองค์ขอถามความ ข้ออื่นกะพระองค์ ขอเชิญพระองค์ตรัสบอกความข้อนั้นเถิด ก็สมณพราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิตพวกหนึ่งในโลกนี้ ย่อมกล่าว ความบริสุทธิ์ของสัตว์ว่าเป็นยอดด้วยเหตุเพียงเท่านี้ หรือว่า ย่อมกล่าวความบริสุทธิ์อย่างอื่นอันยิ่งไปกว่ารูปสมาบัตินี้ ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ก็สมณพราหมณ์ผู้มีวาทะว่าเที่ยง พวกหนึ่ง (มีความถือตัวว่า) เป็นบัณฑิตในโลกนี้ ย่อมกล่าวอรูปสมาบัตินี้ว่า เป็นความ บริสุทธิ์ของสัตว์แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ สมณพราหมณ์ผู้มี วาทะว่าขาดสูญพวกหนึ่ง เป็นผู้มีวาทะว่าตนเป็นคนฉลาดใน อนุปาทิเสสนิพพาน ย่อมโต้เถียงสมณพราหมณ์ผู้มีวาทะว่า เที่ยงเหล่านั้นแหละ ส่วนท่านผู้เป็นมุนี รู้บุคคลเจ้าทิฐิเหล่า นั้นว่า เป็นผู้อาศัยสัสสตทิฐิและอุจเฉททิฐิ ท่านผู้เป็นมุนีนั้น เป็นนักปราชญ์ พิจารณารู้ผู้อาศัยทิฐิทั้งหลายแล้ว รู้ธรรม โดยลักษณะมีความไม่เที่ยงและเป็นทุกข์เป็นต้น หลุดพ้น แล้ว ย่อมไม่ทะเลาะวิวาทกับใคร ย่อมไม่มาเพื่อความเกิด บ่อยๆ ฯ
จบกลหวิวาทสูตรที่ ๑๑
จูฬวิยูหสูตรที่ ๑๒
พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า [๔๑๙] สมณพราหมณ์ทั้งหลายยึดมั่นอยู่ในทิฐิของตนๆ ถือมั่นทิฐิ แล้ว ปฏิญาณว่าพวกเราเป็นผู้ฉลาด ย่อมกล่าวต่างๆ กันว่า ผู้ใดรู้อย่างนี้ ผู้นั้นชื่อว่ารู้ธรรมคือทิฐิ ผู้นั้นคัดค้านธรรมคือ ทิฐินี้อยู่ ชื่อว่าเป็นผู้เลวทราม สมณพราหมณ์ทั้งหลายถือมั่น ทิฐิแม้ด้วยอาการอย่างนี้ ย่อมโต้เถียงกัน และกล่าวว่า ผู้อื่น เป็นคนเขลา ไม่ฉลาด วาทะของสมณพราหมณ์สองพวกนี้ วาทะไหนเป็นวาทะจริงหนอ เพราะว่าสมณพราหมณ์ทั้งหมด นี้ ต่างก็กล่าวกันว่าเป็นคนฉลาด ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า หากว่าผู้ใดไม่ยินยอมตามธรรม คือ ความเห็นของผู้อื่น ผู้นั้น เป็นคนพาล คนเขลา เป็นคนมีปัญญาทราม ชนเหล่านี้ ทั้งหมดก็เป็นคนพาล เป็นคนมีปัญญาต่ำทราม เพราะว่าชน เหล่านี้ทั้งหมดถือมั่นอยู่ในทิฐิ ก็หากว่าชนเหล่านั้นเป็นคน ผ่องใสอยู่ในทิฐิของตนๆ จัดว่าเป็นคนมีปัญญาบริสุทธิ์ เป็นคนฉลาด มีความคิดไซร้ บรรดาคนเจ้าทิฐิเหล่านั้น ก็จะ ไม่มีใครๆ เป็นผู้มีปัญญาต่ำทราม เพราะว่าทิฐิของชนแม้ เหล่านั้น ล้วนเป็นทิฐิเสมอกัน เหมือนทิฐิของพวกชนนอกนี้ อนึ่ง ชนทั้งสองพวกได้กล่าวกันและกันว่าเป็นผู้เขลา เพราะ ความเห็นใด เราไม่กล่าวความเห็นนั้นว่าแท้ เพราะเหตุที่ชน เหล่านั้น ได้กระทำความเห็นของตนๆ ว่าสิ่งนี้เท่านั้นจริง (สิ่งอื่นเปล่า) ฉะนั้นแล ชนเหล่านั้น จึงตั้งคนอื่นว่า เป็นผู้เขลา ฯ พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า สมณพราหมณ์แต่ละพวก กล่าวทิฐิใดว่าเป็นความจริงแท้ แม้สมณพราหมณ์พวกอื่นก็กล่าวทิฐินั้นว่า เป็นความเท็จ ไม่จริง สมณพราหมณ์ทั้งหลายมาถือมั่น (ความจริงต่างๆ กัน) แม้ด้วยอาการอย่างนี้แล้ว ก็วิวาทกันเพราะเหตุไร สมณพราหมณ์ทั้งหลาย จึงไม่กล่าวสัจจะให้เป็นหนึ่งลง ไปได้ ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า สัจจะมีอย่างเดียวเท่านั้น สัจจะที่สองไม่มี ผู้ที่ทราบชัดมา ทราบชัดอยู่ จะต้องวิวาทกันเพราะสัจจะอะไรเล่า สมณ- พราหมณ์เหล่านั้น ย่อมกล่าวสัจจะทั้งหลายให้ต่างกันออกไป ด้วยตนเอง เพราะเหตุนั้น สมณพราหมณ์ทั้งหลาย จึงไม่ กล่าวสัจจะให้เป็นหนึ่งลงไปได้ ฯ พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า เพราะเหตุไรหนอ สมณพราหมณ์ผู้เป็นเจ้าลัทธิทั้งหลาย กล่าวยกตนว่าเป็นคนฉลาด จึงกล่าวสัจจะให้ต่างกันไป สัจจะ มากหลายต่างๆ กัน จะเป็นอันใครๆ ได้สดับมา หรือว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้น ระลึกตามความคาดคะเนของตน ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า สัจจะมากหลายต่างๆ กัน เว้นจากสัญญาว่าเที่ยงเสีย ไม่มี ในโลกเลย ก็สมณพราหมณ์ทั้งหลายมากำหนดความคาด คะเนในทิฐิทั้งหลาย (ของตน) แล้ว จึงกล่าวทิฐิธรรมอัน เป็นคู่กันว่า จริงๆ เท็จๆ ก็บุคคลเจ้าทิฐิ อาศัยทิฐิธรรม เหล่านี้ คือ รูปที่ได้เห็นบ้าง เสียงที่ได้ฟังบ้าง อารมณ์ที่ได้ ทราบบ้าง ศีลและพรตบ้าง จึงเป็นผู้เห็นความบริสุทธิ์ และ ตั้งอยู่ในการวินิจฉัยทิฐิแล้วร่าเริงอยู่ กล่าวว่า ผู้อื่นเป็นคน เขลาไม่ฉลาด บุคคลเจ้าทิฐิย่อมติเตียนบุคคลอื่นว่าเป็นผู้เขลา ด้วยทิฐิใด กล่าวยกตนว่าเป็นผู้ฉลาดด้วยลำพังตน ย่อมติเตียน ผู้อื่นกล่าวทิฐินั้นเอง บุคคลยกตนว่าเป็นคนฉลาด ด้วยทิฐิ นั้น ชื่อว่าเจ้าทิฐินั้นเต็มไปด้วยความเห็นว่าเป็นสาระยิ่ง และมัวเมาเพราะมานะ มีมานะบริบูรณ์ อภิเษกตนเองด้วย ใจว่า เราเป็นบัณฑิต เพราะว่าทิฐินั้น ของเขาบริบูรณ์แล้ว อย่างนั้น ก็ถ้าว่าบุคคลนั้นถูกเขาว่าอยู่ จะเป็นคนเลวทราม ด้วยถ้อยคำของบุคคลอื่นไซร้ ตนก็จะเป็นผู้มีปัญญาต่ำทราม ไปด้วยกัน อนึ่ง หากว่าบุคคลจะเป็นผู้ถึงเวท เป็นนักปราชญ์ ด้วยลำพังตนเองไซร้ สมณพราหมณ์ทั้งหลายก็ไม่มีใครเป็น ผู้เขลา ชนเหล่าใดกล่าวยกย่องธรรม คือ ทิฐิอื่นจากนี้ไป ชนเหล่านั้นผิดพลาด และไม่บริบูรณ์ด้วยความหมดจด เดียรถีย์ทั้งหลายย่อมกล่าวแม้อย่างนี้โดยมาก เพราะว่า เดียรถีย์เหล่านั้นยินดีนักด้วยความยินดีในทิฐิของตน เดียรถีย์ ทั้งหลาย กล่าวความบริสุทธิ์ในธรรม คือทิฐินี้เท่านั้น หากล่าว ความบริสุทธิ์ในธรรมเหล่าอื่นไม่ เดียรถีย์ทั้งหลาย โดยมาก เชื่อมั่นแม้ด้วยอาการอย่างนี้ เดียรถีย์ทั้งหลาย รับรองอย่าง หนักแน่นในลัทธิของตนนั้น อนึ่ง เดียรถีย์รับรองอย่างหนัก- แน่นในลัทธิของตน จะพึงตั้งใครอื่นว่าเป็นผู้เขลาในลัทธินี้เล่า เดียรถีย์นั้น เมื่อกล่าวผู้อื่นว่าเป็นผู้เขลา เป็นผู้มีธรรมไม่ บริสุทธิ์ ก็พึงนำความทะเลาะวิวาทมาให้แก่ตนฝ่ายเดียว เดียรถีย์นั้น ตั้งอยู่ในการวินิจฉัยทิฐิแล้ว นิรมิตศาสดาเป็น ต้นขึ้นด้วยตนเอง ก็ต้องวิวาทกันในโลกยิ่งขึ้นไป บุคคลละ การวินิจฉัยทิฐิทั้งหมดแล้ว ย่อมไม่กระทำความทะเลาะวิวาท ในโลก ฉะนี้แล ฯ
จบจูฬวิยูหสูตรที่ ๑๒
มหาวิยูหสูตรที่ ๑๓
พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า [๔๒๐] บุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่งถือมั่นอยู่ในทิฐิ ย่อมโต้เถียงวิวาท กันว่า สิ่งนี้เท่านั้นจริง บุคคลทั้งหมดนั้น ย่อมนำความนินทา มาเนืองๆ หรือย่อมได้ความสรรเสริญในที่นั้นบ้าง ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า บุคคลเหล่านั้นบางคราวได้ความสรรเสริญบ้าง ผลคือความ สรรเสริญนั้นน้อยนัก ไม่พอแก่ความสงบ เราย่อมกล่าวผล แห่งความวิวาทกัน ๒ ประการ คือ ความนินทาและความ สรรเสริญ บัณฑิตเห็นโทษในผลแห่งการวิวาทแม้นี้แล้ว เห็นนิพพานมิใช่ภูมิแห่งการวิวาท ว่าเป็นธรรมเกษม ไม่พึง วิวาทกัน ฯ พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า ทิฐิเหล่าใดเหล่าหนึ่งเป็นอันมาก บัณฑิตผู้รู้แจ้งย่อมไม่เข้าไป ใกล้ทิฐิทั้งปวงนั้น บัณฑิตผู้รู้แจ้งนั้น เป็นผู้ไม่เข้าไปใกล้ จะพึงถึงธรรมที่ควรเข้าไปใกล้อะไร จึงจะไม่ทำความชอบใจ ในรูปที่ได้เห็น ในเสียงที่ได้ฟัง ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ชนบางพวกผู้มีศีลอันอุดม สำคัญอยู่ว่าศีลเท่านั้นเป็นธรรม อุดม จึงกล่าวความบริสุทธิ์ด้วยการสำรวม ชนเหล่านั้น สมาทานวัตรแล้วตั้งมั่นอยู่ ด้วยคิดว่า เราทั้งหลายควรศึกษา ความบริสุทธิ์ของศาสดานั้นในทิฐินี้เท่านั้น ชนเหล่านั้นอัน ภพนำเข้าไปแล้ว กล่าวว่า เราทั้งหลายเป็นผู้ฉลาด ถ้าบุคคล เป็นผู้เคลื่อนจากศีลและพรตแล้วไซร้ บุคคลนั้นยังกรรมให้ ผิดไปแล้วก็ไม่หวั่นไหว ยังคร่ำครวญและปรารถนาความ บริสุทธิ์อยู่ เหมือนบุคคลอยู่ปราศจากเรือน เสื่อมแล้วจาก พวก พึงปรารถนาเรือนหรือพวก ฉะนั้น อนึ่ง อริยสาวก ละศีล พรต ธรรมที่มีโทษและไม่มีโทษทั้งสิ้นนี้ แล้วไม่ ปรารถนาว่า ธรรมชาตินี้บริสุทธิ์ ธรรมชาตินี้ไม่บริสุทธิ์ เว้นแล้วจากความบริสุทธิ์และความไม่บริสุทธิ์ ไม่ถือมั่นทิฐิ แล้วพึงเที่ยวไป ฯ พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า สมณพราหมณ์ทั้งหลาย อาศัยทิฐินั้นหรือความเกลียดบาป แม้อนึ่ง อาศัยรูปที่ได้เห็นแล้ว เสียงที่ได้ฟังแล้ว หรือ อารมณ์ที่ได้ทราบแล้ว เป็นผู้ระลึกแล่นพ้นไปจากอกิริยทิฐิ ยังไม่ปราศจากตัณหาในภพและมิใช่ภพแล้ว ย่อมทอดถอน ถึงความบริสุทธิ์ ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ก็ความดิ้นรนทั้งหลาย ย่อมมีแก่ผู้ปรารถนาความหวั่นไหว มีอยู่ในวัตถุที่ตนกำหนดแล้ว การจุติและการอุบัติในภพนี้ ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด ผู้นั้นจะพึงหวั่นไหวจะพึงดิ้นรนในอารมณ์ ไหนๆ เพราะเหตุอะไร ฯ พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า สมณพราหมณ์พวกหนึ่งกล่าวธรรมใดว่า เป็นธรรมอย่างยิ่ง ส่วนสมณพราหมณ์เหล่าอื่นกล่าวธรรมนั้นแหละว่า เป็นธรรม เลวทราม วาทะของสมณพราหมณ์ทั้งสองพวกนี้ วาทะอย่าง ไหนจริงหนอ เพราะสมณพราหมณ์ทั้งหมดนี้แล เป็นผู้กล่าว อวดอ้างว่าตนเป็นผู้ฉลาด ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า สมณพราหมณ์ทั้งหลายกล่าวธรรมของตนนั่นแหละ ว่าเป็น ธรรมบริบูรณ์ แต่กลับกล่าวธรรมของผู้อื่น ว่าเป็นธรรม เลวทราม สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ต่างยึดถือทิฐิแม้ ด้วยอาการอย่างนี้แล้ว ย่อมวิวาทกัน สมณพราหมณ์ ทั้งหลายกล่าวทิฐิของตนๆ ว่า เป็นของจริง ฯ พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า ถ้าว่าบุคคลพึงเป็นผู้เลวทราม เพราะการติเตียนของบุคคลอื่น ไซร้ ใครๆ จะไม่พึงเป็นผู้วิเศษในธรรมทั้งหลาย เพราะว่า สมณพราหมณ์เป็นอันมาก ย่อมกล่าวธรรมของบุคคลอื่น โดยความเป็นธรรมเลวทราม ในธรรมของตน กล่าวว่า เป็นธรรมมั่นคง ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ย่อมสรรเสริญหนทางเครื่องดำเนิน ของตนอย่างใด การบูชาธรรมของตนของสมณพราหมณ์ เหล่านั้น ก็ยังเป็นไปอยู่อย่างนั้น หากว่าวาทะทั้งปวง จะพึงเป็นของแท้ไซร้ ความบริสุทธิ์ของสมณพราหมณ์ผู้ มีถ้อยคำต่างๆ กันเหล่านั้นก็จะเป็นผลเฉพาะตนๆ เท่านั้น ฯ พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า ญาณที่ผู้อื่นจะพึงนำไปไม่มีแก่พราหมณ์ การวินิจฉัยในธรรม คือ ทิฐิทั้งหลายว่าข้อนี้แหละจริง ดังนี้แล้ว ยึดถือไว้ ไม่ มีแก่พราหมณ์ เพราะเหตุนั้น พราหมณ์จึงล่วงความวิวาท เสียได้ พราหมณ์นั้นย่อมไม่เห็นธรรมอื่น โดยความ เป็นธรรมประเสริฐเลย ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เดียรถีย์บางพวกกล่าวอยู่ว่า เรารู้ เราเห็น สิ่งที่เรารู้เราเห็น นี้ เป็นอย่างนั้นแล ดังนี้ จึงเชื่อความบริสุทธิ์ด้วยทิฐิ ถ้าว่าเดียรถีย์ได้เห็นแล้วไซร้ ประโยชน์อะไรเล่าด้วยความ เห็นนั้นแก่ตน เพราะว่าเดียรถีย์ทั้งหลาย ก้าวล่วง อริยมรรคเสียแล้วย่อมกล่าวความบริสุทธิ์ด้วยธรรมอย่างอื่น ฯ พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า นรชนเมื่อเห็นย่อมเห็นนามรูป และครั้นเห็นแล้วจักรู้ทั่ว ถึงนามรูปเหล่านั้นทีเดียว โดยความเป็นของเที่ยง และ โดยความเป็นสุข นรชนนั้น จะเห็นนามรูปมากหรือน้อย โดยความเป็นของเที่ยงและเป็นสุข ก็จริง ถึงกระนั้น ผู้ ฉลาดทั้งหลาย ย่อมไม่กล่าวความบริสุทธิ์ด้วยความเห็น นั้นเลย ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ชนผู้ทำทิฐิที่ตนกำหนดไว้ในเบื้องหน้า มีปรกติกล่าวตาม ความมั่นใจ ไม่ใช่เป็นผู้อันบุคคลอื่นพึงจะแนะนำได้ง่าย เลย ผู้นั้นอาศัยครูคนใดแล้ว ก็เป็นผู้กล่าวความดีงาม ในครูคนนั้น ผู้นั้นเป็นผู้กล่าวความบริสุทธิ์ ได้เห็นความ ถ่องแท้ในทิฐิของตน ฯ พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า พราหมณ์รู้แล้ว ย่อมไม่เข้าถึงเครื่องกำหนด คือ ตัณหาและ ทิฐิ ไม่แล่นไปด้วยทิฐิ และไม่มีตัณหาทิฐิเครื่อง ผูกพันด้วยญาณ อนึ่ง พราหมณ์นั้น ได้รู้สมบัติ คือ ทิฐิ ทั้งหลายเป็นอันมากแล้ววางเฉย ชนเหล่าอื่นย่อมยึดถือ ทิฐิเหล่านั้น ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า มุนีในโลกนี้ สละกิเลสเครื่องร้อยรัดเสียแล้ว เมื่อผู้อื่นเกิด วิวาทกัน ก็ไม่แล่นไปเข้าพวกเขา มุนีนั้นเป็นผู้สงบ เมื่อผู้อื่นไม่สงบ ก็เป็นผู้มีอุเบกขาอยู่ ท่านไม่มีการยึดถือ ชนเหล่าอื่นย่อมยึดถือ ฯ พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า มุนีละอาสวะเบื้องต้น (คือส่วนที่ล่วงแล้ว) เสีย ไม่ทำ อาสวะใหม่ (คือส่วนที่เป็นปัจจุบัน) ไม่เป็นผู้ลำเอียงเพราะ ความพอใจ อนึ่ง มุนีนั้นจะเป็นผู้ยึดมั่นกล่าวก็หาไม่ มุนีนั้น เป็นนักปราชญ์ หลุดพ้นแล้วจากทิฐิทั้งหลาย ไม่ติเตียน ตน ไม่ติดอยู่ในโลก ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า มุนีนั้น เป็นผู้ไม่มีมารและเสนามารในธรรมทั้งปวง คือ อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่ได้เห็นแล้ว ได้ฟังแล้ว หรือได้ ทราบแล้ว ปลงภาระลงแล้ว หลุดพ้นแล้ว เป็นผู้ไม่มี เครื่องกำหนด ไม่เข้าไปยินดี ไม่มีความปรารถนา ฉะนี้แล ฯ
จบมหาวิยูหสูตรที่ ๑๓
ตุวฏกสูตรที่ ๑๔
พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า [๔๒๑] ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ ผู้- สงัด และมีความสงบเป็นที่ตั้ง ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ภิกษุ เห็นอย่างไรจึงไม่ถือมั่นธรรมอะไรๆ ในโลก ย่อมดับ ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ภิกษุพึงปิดกั้นเสียซึ่งธรรมทั้งปวง อันเป็นรากเหง้าแห่งส่วน ของธรรมเป็นเครื่องยังสัตว์ให้เนิ่นช้าซึ่งเป็นไปอยู่ว่า เป็นเรา ด้วยปัญญา ตัณหาอย่างใดอย่างหนึ่งพึงบังเกิดขึ้น ณ ภายใน ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติศึกษาทุกเมื่อ เพื่อปราบตัณหาเหล่านั้น ภิกษุพึงรู้ยิ่งธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ณ ภายใน หรือภายนอก ไม่พึงกระทำความถือตัวด้วยธรรมนั้น สัตบุรุษทั้งหลายไม่ กล่าวความดับนั้นเลย ภิกษุไม่พึงสำคัญว่า เราเป็นผู้ประเสริฐ กว่าเขา เสมอเขาหรือเลวกว่าเขา ด้วยความถือตัวนั้น ถูกผู้อื่นถามด้วยคุณหลายประการ ก็ไม่พึงกำหนดตนตั้งอยู่ โดยนัยเป็นต้นว่า เราบวชแล้วจากสกุลสูง ภิกษุพึงสงบ ระงับภายในเทียว ไม่พึงแสวงหาความสงบโดยอุบายอย่างอื่น ความเห็นว่าตัวตน ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้สงบแล้ว ณ ภายใน อนึ่ง ความเห็นว่าไม่มีตัวตน คือ เห็นว่าขาดสูญ จักมีแต่ ที่ไหน คลื่นไม่เกิดที่ท่ามกลางแห่งสมุทร สมุทรนั้นตั้งอยู่ ไม่หวั่นไหว ฉันใด ภิกษุพึงเป็นผู้มั่นคง ไม่หวั่นไหวใน อิฐผลมีลาภเป็นต้น ฉันนั้น ภิกษุไม่พึงกระทำกิเลสเครื่อง ฟูขึ้นมีราคะเป็นต้น ในอารมณ์ไหนๆ ฯ พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้มีจักษุเปิดแล้ว ขอพระองค์ได้ตรัสบอก ธรรมที่ทรงเห็นด้วยพระองค์เองอันนำเสียซึ่งอันตราย (ขอ พระองค์จงมีความเจริญ) ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์ จงตรัสบอกข้อปฏิบัติ และศีลเครื่องให้ผู้รักษาพ้นจากทุกข์ หรือสมาธิเถิด ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ภิกษุไม่พึงเป็นผู้โลเลด้วยจักษุเลย พึงปิดกั้นโสตเสียจาก ถ้อยคำของชาวบ้าน (ดิรัจฉานกถา) ไม่พึงกำหนัดยินดีในรส และไม่พึงถือสิ่งอะไรๆ ในโลกว่าเป็นของเรา เมื่อตนอัน ผัสสะถูกต้องแล้ว ในกาลใด ในกาลนั้น ภิกษุไม่พึงกระทำ ความร่ำไร ไม่พึงปรารถนาภพในที่ไหนๆ และไม่พึงหวั่นไหว ในเพราะอารมณ์ที่น่ากลัว ภิกษุได้ข้าว น้ำ ของเคี้ยว หรือ แม้ผ้าแล้ว ไม่พึงกระทำการสั่งสมไว้และเมื่อไม่ได้สิ่งเหล่า นั้น ก็ไม่พึงสะดุ้งดิ้นรน พึงเป็นผู้เพ่งฌาน ไม่พึงโลเล ด้วยการเที่ยว พึงเว้นจากความคะนอง ไม่พึงประมาท อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุพึงอยู่ในที่นั่งและที่นอนอันเงียบเสียง ไม่ พึงนอนมาก พึงมีความเพียร เสพความเป็นผู้ตื่นอยู่พึงละเสีย ให้เด็ดขาดซึ่งความเกียจคร้าน ความล่อลวง ความร่าเริง การ เล่นเมถุนธรรมกับทั้งการประดับ ภิกษุผู้นับถือพระพุทธเจ้าว่า เป็นของเรา ไม่พึงประกอบอาถรรพ์ ตำราทำนายฝัน ทำนาย ลักษณะนักขัตฤกษ์ การทำนายเสียงสัตว์ร้อง การทำยาให้ หญิงมีครรภ์ และการเยียวยารักษา ภิกษุไม่พึงหวั่นไหว เพราะนินทา เมื่อเขาสรรเสริญก็ไม่พึงเห่อเหิม พึงบรรเทา ความโลภ พร้อมทั้งความตระหนี่ ความโกรธและคำส่อเสียด เสีย ภิกษุไม่พึงขวนขวายในการซื้อการขาย ไม่พึงกระทำ การกล่าวติเตียนในที่ไหนๆ และไม่พึงคลุกคลีในชาวบ้าน ไม่พึงเจรจากะชนเพราะความใคร่ลาภ ภิกษุไม่พึงเป็นผู้พูด โอ้อวด ไม่พึงกล่าววาจาประกอบปัจจัยมีจีวรเป็นต้น ไม่พึง ศึกษาความเป็นผู้คะนอง ไม่พึงกล่าวถ้อยคำเถียงกัน ภิกษุ พึงเป็นผู้มีสัมปชัญญะ ไม่พึงนิยมในการกล่าวมุสา ไม่พึง กระทำความโอ้อวด อนึ่ง ไม่พึงดูหมิ่นผู้อื่นด้วยความเป็นอยู่ ปัญญา ศีลและพรต ภิกษุถูกผู้อื่นเสียดสีแล้ว ได้ฟังวาจา มากของสมณะทั้งหลายหรือของชนผู้พูดมาก ไม่พึงโต้ตอบ ด้วยคำหยาบ เพราะสัตบุรุษทั้งหลายย่อมไม่กระทำความเป็น ข้าศึก ภิกษุรู้ทั่วถึงธรรมนี้แล้ว ค้นคว้าพิจารณาอยู่ รู้ความ ดับกิเลสว่าเป็นความสงบดังนี้แล้ว พึงเป็นผู้มีสติศึกษา ทุกเมื่อ ไม่พึงประมาทในศาสนาของพระโคดม ก็ภิกษุนั้น พึงเป็นผู้ครอบงำอารมณ์มีรูปเป็นต้น อันอารมณ์มีรูปเป็นต้น ครอบงำไม่ได้ เป็นผู้เห็นธรรมที่ตนเห็นเอง ประจักษ์แก่ตน เพราะเหตุนั้นแล ภิกษุผู้ไม่ประมาท พึงนอบน้อมศึกษา ไตรสิกขาอยู่เนืองๆ ในศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระองค์ นั้นทุกเมื่อเทอญ ฯ
จบตุวฏกสูตรที่ ๑๔
อัตตทัณฑสูตรที่ ๑๕
[๔๒๒] ภัยเกิดแล้วแต่อาชญาของตน ท่านทั้งหลายจงเห็นคน ผู้ทะเลาะกัน เราจักแสดงความสลดใจตามที่เราได้สลดใจ มาแล้ว เราได้เห็นหมู่สัตว์กำลังดิ้นรนอยู่ (ด้วยตัณหา และทิฐิ) เหมือนปลาในแอ่งน้ำน้อย ฉะนั้น ภัยได้เข้ามา ถึงเราแล้ว เพราะได้เห็นคนทั้งหลายผู้พิโรธกันและกัน โลก โดยรอบหาแก่นสารมิได้ ทิศทั้งปวงหวั่นไหวแล้ว เรา ปรารถนาความต้านทานแก่ตนอยู่ ไม่ได้เห็นสถานที่อะไรๆ อันทุกข์มีชราเป็นต้นไม่ครอบงำแล้ว เราไม่ได้มีความยินดี เพราะได้เห็นสัตว์ทั้งหลาย ผู้อันทุกข์มีชราเป็นต้นกระทบแล้ว ผู้ถึงความพินาศ อนึ่ง เราได้เห็นกิเลสดุจลูกศรมีราคะเป็นต้น ยากที่สัตว์จะเห็นได้ อันอาศัยหทัยในสัตว์เหล่านี้ สัตว์ถูก กิเลสดุจลูกศรมีราคะเป็นต้นใดเสียบติดอยู่แล้ว ย่อมแล่น ไปยังทิศทั้งปวง บัณฑิตถอนกิเลสดุจลูกศรมีราคะเป็นต้น นั้นออกได้แล้ว ย่อมไม่แล่นไปยังทิศและไม่จมลงในโอฆะ ทั้งสี่ (อารมณ์ที่น่ายินดีเหล่าใดมีอยู่ในโลก) หมู่มนุษย์ย่อม พากันเล่าเรียนศิลป เพื่อให้ได้ซึ่งอารมณ์ที่น่ายินดีเหล่านั้น กุลบุตรผู้เป็นบัณฑิต ไม่พึงขวนขวายในอารมณ์ที่น่ายินดี เหล่านั้น พึงเบื่อหน่ายกามทั้งหลายโดยประการทั้งปวงแล้ว พึงศึกษานิพพานของตน มุนีพึงเป็นผู้มีสัจจะ ไม่คะนอง ไม่มีมายา ละการส่อเสียดเสีย เป็นผู้ไม่โกรธ พึงข้ามความ โลภอันลามกและความตระหนี่เสีย นรชนพึงครอบงำความ หลับ ความเกียจคร้าน ความท้อแท้เสีย ไม่พึงอยู่ร่วมด้วย ความประมาท ไม่พึงดำรงอยู่ในการดูหมิ่นผู้อื่น พึงมีใจน้อม ไปในนิพพาน ไม่พึงน้อมไปในการกล่าวมุสา ไม่พึงกระทำ ความเสน่หาในรูปและพึงกำหนดรู้ความถือตัว พึงเว้นเสียจาก ความผลุนผลันแล้วเที่ยวไป ไม่พึงเพลิดเพลินถึงอารมณ์ที่ล่วง มาแล้ว ไม่พึงกระทำความพอใจในอารมณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ไม่พึงเศร้าโศกถึงอารมณ์ที่กำลังละไปอยู่ ไม่พึงเป็นผู้อาศัย ตัณหา เรากล่าวความกำหนัดยินดีว่าเป็นโอฆะอันใหญ่หลวง กล่าวตัณหาว่า เป็นเครื่องกระซิบใจ ทำใจให้แล่นไปใน อารมณ์ต่างๆ กล่าวตัณหาว่าเป็นอารมณ์แอบใจทำใจให้ กำเริบ เปือกตมคือกามยากที่สัตว์จะล่วงไปได้ พราหมณ์ ผู้เป็นมุนี ไม่ปลีกออกจากสัจจะแล้ว ย่อมตั้งอยู่บนบก คือ นิพพาน มุนีนั้นแล สละคืนอายตนะทั้งหมดแล้วโดย- ประการทั้งปวง เรากล่าวว่า เป็นผู้สงบ มุนีนั้นแลเป็นผู้รู้ เป็นผู้ถึงเวท รู้สังขตธรรมแล้วอันตัณหาและทิฐิไม่อาศัย เป็นอยู่ในโลกโดยชอบ ย่อมไม่ทะเยอทะยานต่ออะไรๆ ในโลกนี้ ผู้ใดข้ามกามทั้งหลาย และธรรมเป็นเครื่องข้องยาก ที่สัตว์จะล่วงได้ในโลกนี้ได้แล้ว ผู้นั้นตัดกระแสตัณหาขาด แล้ว ไม่มีเครื่องผูกพัน ย่อมไม่เศร้าโศก ย่อมไม่เพ่งเล็ง ท่านจงทำกิเลสชาติเครื่องกังวลในอดีตให้เหือดแห้ง กิเลส ชาติเครื่องกังวลในอนาคตอย่าได้มีแก่ท่าน ถ้าว่าท่านจักไม่ถือ เอาในปัจจุบันไซร้ ท่านจักเป็นผู้สงบเที่ยวไป ผู้ใดไม่มี ความยึดถือในนามรูปว่าเป็นของเราโดยประการทั้งปวง และ ไม่เศร้าโศกเพราะเหตุแห่งนามรูปอันไม่มี ผู้นั้นแลย่อมไม่ เสื่อมในโลก ผู้ใดไม่มีกิเลสเครื่องกังวลว่า สิ่งนี้ของเรา และว่า สิ่งนี้ของผู้อื่น ผู้นั้นไม่ประสบการยึดถือในสิ่งนั้น ว่าเป็นของเราอยู่ ย่อมไม่เศร้าโศกว่า ของเราไม่มี บุคคลใด ย่อมไม่เศร้าโศกว่า ของเราไม่มี เราเป็นผู้ถูกถามถึงบุคคล ผู้ไม่หวั่นไหว จะบอกอานิสงส์ ๔ อย่างในบุคคลนั้น ดังนี้ว่า บุคคลนั้นไม่มีความขวนขวาย ไม่กำหนัดยินดี ไม่มีความ หวั่นไหวเป็นผู้เสมอในอารมณ์ทั้งปวง ธรรมชาติเครื่องปรุง แต่งอะไรๆ ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่หวั่นไหวผู้รู้แจ้ง ผู้นั้นเว้นแล้ว จากการปรารภมีปุญญาภิสังขารเป็นต้น ย่อมเห็นความ ปลอดโปร่งในที่ทุกสถาน มุนีย่อมไม่กล่าวยกย่องตนใน บุคคลผู้เสมอกัน ผู้ต่ำกว่า ผู้สูงกว่า มุนีนั้นเป็นผู้สงบ ปราศจากความตระหนี่ ย่อมไม่ยึดถือ ไม่สละธรรมอะไรๆ ในบรรดาธรรมมีรูปเป็นต้น ฯ
จบอัตตทัณฑสูตรที่ ๑๕
สารีปุตตสูตรที่ ๑๖
(ท่านพระสารีบุตรทูลถามว่า) [๔๒๓] พระศาสดาผู้มีพระวาจาไพเราะอย่างนี้ เสด็จมาแต่ชั้นดุสิต สู่แผ่นดิน ข้าพระองค์ยังไม่ได้เห็นหรือไม่ได้ยินต่อใครๆ ใน กาลก่อนแต่นี้เลย พระองค์ผู้มีพระจักษุ ย่อมปรากฏแก่มนุษย์ ทั้งหลาย เหมือนปรากฏแก่โลกพร้อมด้วยเทวดา ฉะนั้น พระองค์ผู้เดียวบรรเทาความมืดได้ทั้งหมด ทรงถึงความยินดี ในเนกขัมมะ ศิษย์ทั้งหลายมีกษัตริย์เป็นต้นเป็นอันมาก มา เฝ้าพระองค์ผู้เป็นพุทธะ ผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยแล้ว ผู้ คงที่ ไม่หลอกลวง เสด็จมาแล้วสู่แผ่นดิน ณ เมืองสังกัสสะ นี้ ด้วยปัญหามีอยู่ เมื่อภิกษุเกลียดชังแต่ทุกข์มีชาติเป็นต้น อยู่ เสพที่นั่งอันสงัด คือ โคนไม้ ป่าช้า หรือที่นั่งอันสงัด ในถ้ำแห่งภูเขา ในที่นอนอันเลวและประณีต ความขลาด กลัวซึ่งเป็นเหตุจะไม่ทำให้ภิกษุหวั่นไหว ในที่นอนและที่นั่ง อันไม่มีเสียงกึกก้องนั้น มีประมาณเท่าไร อันตรายในโลก ของภิกษุผู้จะไปยังทิศที่ไม่เคยไป ซึ่งภิกษุจะพึงครอบงำเสีย ในที่นอนและที่นั่งอันสงัด มีประมาณเท่าไร ภิกษุนั้นพึงมี ถ้อยคำอย่างไร พึงมีโคจรในโลกนี้อย่างไร ภิกษุผู้มีใจเด็ด เดี่ยว พึงมีศีลและวัตรอย่างไร สมาทานสิกขาอะไร จึงเป็น ผู้มีจิตแน่วแน่ มีปัญญารักษาตน มีสติ พึงกำจัดมลทิน ของตน เหมือนนายช่างทองกำจัดมลทินของทอง ฉะนั้น ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสารีบุตร ถ้าว่าธรรมเป็นเครื่องอยู่สำราญ และธรรมที่สมควรนี้ใด ของภิกษุผู้เกลียดชังแต่ทุกข์มีชาติเป็นต้น ผู้ใคร่จะตรัสรู้ เสพอยู่ซึ่งที่นั่งและที่นอนอันสงัดมีอยู่ไซร้ เราจะกล่าวธรรม เป็นเครื่องอยู่สำราญและธรรมที่สมควรนั่นตามที่รู้ แก่เธอ ภิกษุผู้เป็นปราชญ์ มีสติ ประพฤติอยู่ในเขตแดนของตน ไม่พึงกลัวแต่ภัย ๕ อย่าง คือ เหลือบ ยุง สัตว์เสือกคลาน ผัสสะแห่งมนุษย์ (มีมนุษย์ผู้เป็นโจรเป็นต้น) สัตว์สี่เท้า ภิกษุผู้แสวงหากุศลธรรมอยู่เนืองๆ ไม่พึงสะดุ้งแม้ต่อเหล่า- ชนผู้ประพฤติธรรมอื่นนอกจากสหธรรมิก แม้ได้เห็นเหตุ การณ์อันนำมาซึ่งความขลาดเป็นอันมากของชนเหล่านั้น และ อันตรายเหล่าอื่น ก็พึงครอบงำเสียได้ ภิกษุอันผัสสะแห่งโรค คือ ความหิว เย็นจัด ร้อนจัด ถูกต้องแล้ว พึงอดกลั้นได้ ภิกษุนั้นเป็นผู้อันโรคเหล่านั้นถูกต้องแล้วด้วยอาการต่างๆ ก็ มิได้ทำโอกาสให้แก่อภิสังขารเป็นต้น พึงบากบั่นกระทำความ เพียรให้มั่นคงไม่พึงกระทำการขโมย ไม่พึงกล่าวคำมุสา พึง แผ่เมตตาไปยังหมู่สัตว์ทั้งที่สะดุ้งและมั่นคง ในกาลใด พึง รู้เท่าความที่ใจเป็นธรรมชาติขุ่นมัว ในกาลนั้น พึงบรรเทา เสียด้วยคิดว่า นี้เป็นฝักฝ่ายแห่งธรรมดำ ไม่พึงลุอำนาจแห่ง ความโกรธและการดูหมิ่นผู้อื่น พึงขุดรากเหง้าแห่งความโกรธ และการดูหมิ่นผู้อื่นเหล่านั้นแล้วดำรงอยู่ เมื่อจะครอบงำ ก็พึงครอบงำความรักหรือความไม่รักเสียโดยแท้ ภิกษุผู้ประ- กอบด้วยปีติอันงาม มุ่งบุญเป็นเบื้องหน้าพึงข่มอันตรายเหล่า นั้นเสีย พึงครอบงำความไม่ยินดีในที่นอนอันสงัด พึงครอบงำ ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความร่ำไรทั้ง ๔ อย่าง ผู้เป็นเสขะ ไม่มี ความกังวลเที่ยวไป พึงปราบวิตกอันเป็นที่ตั้งแห่งความร่ำไร เหล่านี้ว่าเราจักบริโภคอะไร หรือว่าเราจักบริโภคที่ไหน เมื่อ คืนนี้เรานอนเป็นทุกข์นัก ค่ำวันนี้เราจักนอนที่ไหน ภิกษุนั้น ได้ข้าวและที่อยู่ในกาลแล้วพึงรู้จักประมาณ (ในกาลรับและ ในกาลบริโภค) เพื่อความสันโดษในศาสนานี้ ภิกษุนั้น คุ้มครองแล้วในปัจจัยเหล่านั้น สำรวมระวังเที่ยวไปในบ้าน ถึงใครๆ ด่าว่าเสียดสีก็ไม่พึงกล่าววาจาหยาบ พึงเป็นผู้มีจักษุ ทอดลงและไม่พึงโลเลด้วยเท้า พึงเป็นผู้ขวนขวายในฌาน เป็นผู้ตื่นอยู่โดยมาก ปรารภอุเบกขา มีจิตตั้งมั่นดี พึงตัดเสีย ซึ่งธรรมเป็นที่อยู่แห่งวิตกและความคะนอง ภิกษุผู้อัน อุปัชฌายะเป็นต้นตักเตือนแล้วด้วยวาจา พึงเป็นผู้มีสติยินดี รับคำตักเตือนนั้น พึงทำลายตะปู คือความโกรธในสพรหม- จารีทั้งหลาย พึงเปล่งวาจาอันเป็นกุศล ไม่ให้ล่วงเวลา ไม่ พึงคิดในการกล่าวติเตียนผู้อื่น ต่อแต่นั้น พึงเป็นผู้มีสติ ศึกษาเพื่อปราบธุลี ๕ อย่างในโลก ครอบงำความกำหนัดยินดี ในรูป เสียง กลิ่น รส และผัสสะ ครั้นปราบความ พอใจในธรรมเหล่านี้ได้แล้ว พึงเป็นผู้มีสติ มีจิตหลุดพ้น ด้วยดี พิจารณาธรรมอยู่โดยชอบ โดยกาลอันสมควร มีจิตแน่วแน่ พึงกำจัดความมืดเสียได้ ฉะนี้แล ฯ
จบสารีปุตตสูตรที่ ๑๖
จบอัฏฐกวรรคที่ ๔
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. กามสูตร ๒. คุหัฏฐกสูตร ๓. ทุฏฐัฏฐสูตร ๔. สุทธัฏฐกสูตร ๕. ปรมัฏฐกสูตร ๖. ชราสูตร ๗. ติสสเมตเตยยสูตร ๘. ปสูรสูตร ๙. มาคันทิยสูตร ๑๐. ปุราเภทสูตร ๑๑. กลหวิวาทสูตร ๑๒. จูฬวิยูหสูตร ๑๓. มหาวิยูหสูตร ๑๔. ตุวฏกสูตร ๑๕. อัตตทัณฑสูตร ๑๖. สารีปุตตสูตร
พระสูตรเหล่านี้ทั้งหมดมี ๘ วรรค ด้วยประการฉะนี้ ฯ
-----------------------------------------------------
สุตตนิบาต ปารายนวรรคที่ ๕
วัตถุกถา
[๔๒๔] พราหมณ์พาวรีผู้ถึงฝั่งแห่งมนต์ ปรารถนาซึ่งความเป็นผู้ไม่มี กังวล ได้จากบุรีอันเป็นที่รื่นรมย์แห่งชาวโกศล ไปสู่ทักขิณา- ปถชนบท พราหมณ์นั้นอยู่ที่ใกล้ฝั่งแม่น้ำโคธาวรี ใกล้ พรมแดนแห่งแคว้นอัสสกะและแคว้นมุฬกะ ด้วยการแสวง หาผลไม้ ชาวบ้านที่อาศัยพราหมณ์พาวรีนั้น ก็เป็นผู้ ไพบูลย์ พราหมณ์พาวรีได้บูชามหายัญ ด้วยส่วยอันเกิดแต่ กสิกรรมเป็นต้นในบ้านนั้น ครั้นบูชามหายัญแล้วได้กลับ เข้าไปสู่อาศรม เมื่อพราหมณ์พาวรีนั้นกลับเข้าไปสู่อาศรม แล้ว พราหมณ์อื่นเดินเท้าเสียดสีกัน ฟันเขลอะ ศีรษะ เกลือกกลั้วด้วยธุลี ได้มาทำให้พราหมณ์พาวรีสะดุ้ง ก็พราหมณ์ นั้นเข้าไปหาพราหมณ์พาวรีแล้วขอทรัพย์ ๕๐๐ พราหมณ์พาวรี เห็นพราหมณ์นั้นแล้ว ได้เชื้อเชิญด้วยอาสนะไต่ถามถึงสุข และทุกข์ แล้วได้กล่าวว่า ไทยธรรมวัตถุอันใดของเรา ไทยธรรมวัตถุทั้งปวงนั้น เราสละเสียสิ้นแล้ว ดูกรพราหมณ์ ท่านจงเชื่อเราเถิด ทรัพย์ ๕๐๐ ของเราไม่มี ฯ พราหมณ์นั้นกล่าวว่า เมื่อเราขออยู่ ถ้าท่านไม่ให้ไซร้ ในวันที่ ๗ ศีรษะของท่าน จะแตก ๗ เสี่ยง พราหมณ์ผู้หลอกลวงนั้นกระทำกลอุบาย แล้ว ได้กล่าวคำจะให้เกิดความกลัว ฯ พราหมณ์พาวรีฟังคำของพราหมณ์นั้นแล้ว เป็นผู้มีทุกข์ ซูบซีด ไม่บริโภคอาหาร เพรียบพร้อมด้วยลูกศรคือความโศก อนึ่ง เมื่อพราหมณ์พาวรีคิดอยู่อย่างนี้ ใจก็ไม่ยินดีในฌาน ฯ เทวดาผู้ปรารถนาประโยชน์ เห็นพราหมณ์พาวรีมีทุกข์ สะดุ้งหวาดหวั่น จึงเข้าไปหาพราหมณ์พาวรีแล้วได้กล่าวว่า พราหมณ์นั้นไม่รู้จักศีรษะ เป็นผู้หลอกลวง ต้องการทรัพย์ ไม่มีความรู้ในธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะ ตกไป ฯ พราหมณ์พาวรีถามว่า บัดนี้ ท่านรู้จักข้าพเจ้า ข้าพเจ้าถามท่านแล้วขอท่านจงบอก ธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป แก่ ข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าจะฟังคำของท่าน ฯ เทวดาตอบว่า แม้เราก็ไม่รู้ธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะ ตกไป เราไม่มีความรู้ในธรรมทั้ง ๒ นี้ ปัญญาเป็นเครื่อง เห็นธรรมอันเป็นศีรษะและธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ย่อม มีแก่พระชินเจ้าทั้งหลาย ฯ พราหมณ์พาวรีถามว่า ก็บัดนี้ ใครเล่าในปฐพีมณฑลนี้ ย่อมรู้ ดูกรเทวดา ขอท่านจงบอกบุคคลผู้รู้ธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุ ให้ศีรษะตกไปนั้นแก่ข้าพเจ้าเถิด ฯ เทวดาตอบว่า ดูกรพราหมณ์ พระผู้มีพระภาคผู้ศากยบุตรลำดับพระวงศ์ของ พระเจ้าโอกกากราช มีพระรัศมีรุ่งเรือง เป็นนายกของโลก เสด็จออกผนวชจากพระนครกบิลพัสดุ์ เป็นผู้ตรัสรู้ด้วย พระองค์เอง ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง ทรงบรรลุอภิญญา และทศพลญาณครบถ้วน ทรงมีพระจักษุในสรรพธรรม ทรง บรรลุธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งกรรมทั้งปวง ทรงน้อมไปใน ธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นตรัสรู้แล้ว ในโลก มีพระจักษุ ทรงแสดงธรรม ท่านจงไปทูลถาม พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเถิด พระองค์จักตรัสพยากรณ์ ข้อความนั้นแก่ท่าน ฯ พราหมณ์พาวรีได้ฟังคำว่า สัมพุทโธ เป็นผู้มีใจเฟื่องฟู มีความโศกเบาบาง และได้ปีติอันไพบูลย์ พราหมณ์พาวรี นั้นมีใจชื่นชมเบิกบาน เกิดความโสมนัส จึงถามเทวดานั้น ว่า พระโลกนาถประทับอยู่ในคามนิคมหรือในชนบทไหน ข้าพเจ้าจะพึงไปนมัสการพระสัมพุทธเจ้าผู้อุดมกว่าสัตว์ได้ ในที่ใด ฯ เทวดาตอบว่า พระชินเจ้าผู้ศากยบุตร ทรงมีพระปัญญามาก มีพระปัญญา ประเสริฐ กว้างขวาง ทรงปราศจากธุระ หาอาสวะมิได้ องอาจกว่านระ ทรงรู้ธรรมเป็นศีรษะและธรรมเป็นเหตุให้ ศีรษะตกไป ประทับอยู่ในมันทิรสถานของชนชาวโกศล ในพระนครสาวัตถี ฯ ลำดับนั้น พราหมณ์พาวรี เรียกพราหมณ์ทั้งหลายผู้ถึงฝั่งแห่ง มนต์ซึ่งเป็นศิษย์มาสั่งว่าดูกรมาณพทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจง มาเถิด เราจักบอกแก่ท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงฟังคำ ของเรา ความปรากฏแห่งพระสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดอันสัตว์ ได้ยากเนืองๆ ในโลกนี้ วันนี้ พระสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ปรากฏว่าเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก ท่านทั้งหลายจงรีบไป เมืองสาวัตถี เข้าเฝ้าพระสัมพุทธเจ้าผู้อุดมกว่าสัตว์เถิด ฯ พราหมณ์ผู้เป็นศิษย์ทั้งหลายซักถามด้วยคาถาว่า ข้าแต่ท่านพราหมณ์ บัดนี้ ข้าพเจ้าทั้งหลายได้เห็นแล้วจะพึง รู้ว่า ท่านผู้นี้เป็นพระสัมพุทธเจ้าด้วยอุบายอย่างไรเล่า ขอ ท่านจงบอกอุบายที่ข้าพเจ้าทั้งหลายจะพึงรู้จักพระสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้นแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายผู้ไม่รู้เถิด ฯ พราหมณ์พาวรีกล่าวว่า ก็มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ มาแล้วในมนต์ทั้งหลาย อันพราหมณาจารย์ทั้งหลายพยากรณ์ไว้บริบูรณ์แล้วตามลำดับ ว่ามหาปุริสลักษณะทั้งหลาย มีอยู่ในวรกายของพระมหา- บุรุษใด พระมหาบุรุษนั้น มีคติเป็น ๒ เท่านั้น คติที่ ๓ ไม่มีเลย คือ ถ้าพระมหาบุรุษนั้นอยู่ครองเรือน จะพึงชนะ ทั่วปฐพีนี้ จะทรงปกครองโดยธรรม ด้วยไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศาตรา ถ้าออกบวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยม มีหลังคาคือกิเลส อันเปิดแล้ว ท่านทั้งหลายจงถามถึงชาติ โคตร ลักษณะ มนต์ และศิษย์เหล่าอื่นอีกและถามถึงศีรษะและธรรมเป็นเหตุ ให้ศีรษะตกไปด้วยใจเทียว ถ้าว่าท่านนั้นจักเป็นพระพุทธเจ้า ผู้ทรงเห็นธรรมอันหาเครื่องกางกั้นมิได้ไซร้ จักวิสัชนา ปัญหาอันท่านทั้งหลายถามด้วยใจด้วยวาจาได้ ฯ พราหมณ์มาณพผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คน คือ อชิตะ ๑ ติสส- เมตเตยยะ ๑ ปุณณกะ ๑ เมตตคู ๑ โธตกะ ๑ อุปสีวะ ๑ นันทะ ๑ เหมกะ ๑ โตเทยยะ ๑ กัปปะ ๑ ชตุกัณณี ผู้เป็นบัณฑิต ๑ ภัทราวุธะ ๑ อุทยะ ๑ โปสาลพราหมณ์ ๑ โมฆราชผู้มีเมธา ๑ ปิงคิยะผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ๑ พราหมณ์ มาณพทั้งปวง คนหนึ่งๆ เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ ปรากฏแก่ โลกทั้งปวง เป็นผู้เพ่งฌาน มีปัญญาทรงจำ อันวาสนา ในก่อนอบรมแล้ว ทรงชฏาหนังเสือเหลือง ได้ฟังคำของ พราหมณ์พาวรีแล้ว อภิวาทพราหมณ์พาวรี กระทำประทักษิณ แล้ว บ่ายหน้าต่อทิศอุดร มุ่งไปยังที่ตั้งแห่งแว่นแคว้นมุฬกะ เมืองมาหิสสติ ในคราวนั้น เมืองอุชเชนี เมืองโคนัทธะ เมืองเวทิสะ เมืองวนนคร เมืองโกสัมพี เมืองสาเกต เมืองสาวัตถีอันเป็นเมืองอุดม เมืองเสตพยะ เมืองกบิลพัสดุ์ เมืองกุสินารามันทิรสถาน (เมืองมันทิระ) เมืองปาวาโภคนคร เมืองเวสาลี เมืองราชคฤห์ และปาสาณกเจดีย์อันเป็น รมณียสถานที่น่ารื่นรมย์ใจ พราหมณ์มาณพทั้งหลายพากัน ยินดีได้รีบด่วนขึ้นสู่เจติยบรรพต เหมือนบุคคลผู้กระหายน้ำ ยินดีน้ำเย็น เหมือนพ่อค้ายินดีลาภใหญ่ และเหมือนบุคคล ถูกความร้อนแผดเผายินดีร่มเงา ฉะนั้น ก็ในสมัยนั้น พระผู้มีพระภาค อันภิกษุสงฆ์แวดล้อมแล้ว ทรงแสดงธรรม แก่ภิกษุทั้งหลายอยู่ ประหนึ่งราชสีห์บันลืออยู่ในป่า ฉะนั้น อชิตมาณพได้เห็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระรัศมีเรื่อเรือง เหลืองอ่อน ถึงความบริบูรณ์ดังดวงจันทร์ในวันเพ็ญ ลำดับนั้น อชิตมาณพได้เห็นพระอวัยวะอันบริบูรณ์ ในพระกายของ พระผู้มีพระภาคนั้น มีความร่าเริงยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้ทูลถามปัญหาด้วยใจว่าขอพระองค์จงตรัสบอกอ้าง (ชาติ) อายุ โคตร พร้อมทั้งลักษณะ และขอได้ตรัสบอกการถึง ความสำเร็จในมนต์ทั้งหลายแห่งอาจารย์ของข้าพระองค์เถิด พราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ของข้าพระองค์ย่อมบอกมนต์กะศิษย์มี ประมาณเท่าไร พระเจ้าข้า ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ก็พราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ของท่านนั้น มีอายุร้อยยี่สิบปี ชื่อพาวรีโดยโคตร ลักษณะในกายของพราหมณ์พาวรีนั้น มี ๓ ประการ พราหมณ์พาวรีนั้นเรียนจบไตรเพท ในตำรา ทำนายมหาปุริสลักษณะ คือ คัมภีร์อิติหาสพร้อมทั้งคัมภีร์ นิฆัณฑุศาสตร์และเกฏุภศาสตร์ ถึงซึ่งความสำเร็จในธรรม แห่งพราหมณ์ของตนย่อมบอกมนต์กะมาณพ ๕๐๐ ฯ อชิตมาณพทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สูงสุดกว่านรชน ขอพระองค์จงค้นคว้าลักษณะ ทั้งหลายของพราหมณ์พาวรี ขอทรงประกาศตัดความทะเยอ ทะยาน อย่าให้ข้าพระองค์มีความสงสัยเถิด ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรมาณพ พราหมณ์พาวรีนั้น ย่อมปกปิดมุขมณฑล (หน้า) ด้วยชิวหาได้ มีอุณาโลมชาติในระหว่างคิ้ว มี คุยหฐานอยู่ในฝักท่านจงรู้อย่างนี้เถิด ฯ ชนทั้งปวงไม่ได้ยินใครๆ ผู้ถามเลย ได้ฟังปัญหาที่พระผู้มี- พระภาคทรงพยากรณ์แล้ว (นึกคิดอยู่) คิดพิศวงอยู่ เกิด ความโสมนัสประนมอัญชลี (สรรเสริญ) ว่า พระผู้มีพระภาค เป็นอะไรหนอ เป็นเทวดาหรือเป็นพรหม หรือเป็นท้าว สุชัมบดีจอมเทพ เมื่อปัญหาอันผู้ถามถามแล้วด้วยใจ ข้อ ปัญหานั้นไฉนมาแจ่มแจ้งแก่พระผู้มีพระภาคได้ ฯ อชิตมาณพทูลถามด้วยใจต่อไปว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ท่านพราหมณ์พาวรีถามถึงธรรมเป็น ศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ขอพระองค์ตรัส พยากรณ์ข้อนั้นกำจัดความสงสัยของพวกข้าพระองค์ผู้เป็นฤาษี เสียเถิด ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ท่านจงรู้เถิดว่า อวิชชาชื่อว่าธรรมเป็นศีรษะ วิชชาประกอบ ด้วยศรัทธา สติ สมาธิ ฉันทะ และวิริยะ ชื่อว่าเป็น ธรรมเครื่องให้ศีรษะตกไป ลำดับนั้น อชิตมาณพมีความ โสมนัสเป็นอันมาก เบิกบานใจ กระทำหนังเสือเหลือง เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง หมอบลงแทบพระบาทยุคลด้วยเศียร เกล้า กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้นิรทุกข์ ผู้มีพระจักษุ พราหมณ์พาวรีผู้เจริญ มีจิตเบิกบาน ดีใจ พร้อมด้วยศิษย์ ทั้งหลายขอไหว้พระบาทยุคล (ของพระผู้มีพระภาค) ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมาณพ พราหมณ์พาวรีพร้อมด้วยศิษย์ทั้งหลาย จงเป็น ผู้ถึงความสุขเถิด แม้ถึงท่านก็จงเป็นผู้ถึงความสุข จงเป็น อยู่สิ้นกาลนานเถิด ก็ท่านทั้งหลายมีโอกาสอันเราได้กระทำ แล้ว ปรารถนาในใจเพื่อจะถามปัญหาข้อใดข้อหนึ่ง ก็จง ถามความสงสัยทุกๆ อย่างของพราหมณ์พาวรีหรือของท่าน ทั้งปวงเถิด อชิตมาณพมีโอกาสอันพระสัมพุทธเจ้ากระทำแล้ว นั่งลงประนมอัญชลี ทูลถามปัญหาทีแรกกะพระตถาคต ณ ที่นั้น ฉะนี้แล ฯ
จบวัตถุกถา
อชิตปัญหาที่ ๑
[๔๒๕] อชิตมาณพทูลถามปัญหาว่า โลกคือหมู่สัตว์อันอะไรหุ้มห่อไว้ โลกย่อมไม่แจ่มแจ้งเพราะ อะไร พระองค์ตรัสอะไรว่า เป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้ อะไร เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรอชิตะ โลกอันอวิชชาหุ้มห่อไว้ โลกไม่แจ่มแจ้งเพราะความตระหนี่ (เพราะความประมาท) เรากล่าวตัณหา ว่าเป็นเครื่องฉาบ ทาโลกไว้ ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น ฯ อ. กระแสทั้งหลายย่อมไหลไปในอารมณ์ทั้งปวง อะไรเป็น เครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย ขอพระองค์จงตรัสบอกเครื่องกั้น กระแสทั้งหลาย กระแสทั้งหลายอันบัณฑิตย่อมปิดได้ด้วย ธรรมอะไร ฯ พ. ดูกรอชิตะ สติเป็นเครื่องกั้นกระแสในโลก เรากล่าวสติว่า เป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย กระแสเหล่านั้นอันบัณฑิต ย่อมปิดได้ด้วยปัญญา ฯ อ. ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ปัญญา สติ และนามรูป ธรรม ทั้งหมดนี้ย่อมดับไป ณ ที่ไหน พระองค์อันข้าพระองค์ทูลถาม แล้ว ขอจงตรัสบอกปัญหาข้อนี้แก่ข้าพระองค์เถิด ฯ พ. ดูกรอชิตะ เราจะบอกปัญหาที่ท่านได้ถามแล้วแก่ท่าน นาม และรูปย่อมดับไปไม่มีส่วนเหลือ ณ ที่ใด สติและปัญญานี้ ย่อมดับไป ณ ที่นั้นเพราะความดับแห่งวิญญาณ ฯ อ. ชนเหล่าใดผู้มีธรรมอันพิจารณาเห็นแล้ว และชนเหล่าใดผู้ยัง ต้องศึกษาอยู่เป็นอันมากมีอยู่ในโลกนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้ นิรทุกข์ พระองค์ผู้มีปัญญารักษาตน อันข้าพระองค์ ทูลถามแล้ว ขอจงตรัสบอกความเป็นไปของชนเหล่านั้นแก่ข้า พระองค์เถิด ฯ พ. ภิกษุไม่กำหนัดยินดีในกามทั้งหลาย มีใจไม่ขุ่นมัว ฉลาดใน ธรรมทั้งปวง มีสติ พึงเว้นรอบ ฯ
จบอชิตมาณวกปัญหาที่ ๑
ติสสเมตเตยยปัญหาที่ ๒
[๔๒๖] ติสสเมตเตยยมาณพทูลถามปัญหาว่า ใครชื่อว่าผู้ยินดีในโลกนี้ ความหวั่นไหวทั้งหลายย่อมไม่มีแก่ ใคร ใครรู้ส่วนทั้งสอง (คืออดีตกับอนาคต) แล้วไม่ติดอยู่ ในส่วนท่ามกลาง (ปัจจุบัน) ด้วยปัญญา พระองค์ตรัส สรรเสริญใครว่า เป็นมหาบุรุษ ใครล่วงตัณหาเครื่องร้อยรัดใน โลกนี้ได้ ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรเมตเตยยะ ภิกษุเห็นโทษในกามทั้งหลายแล้วประพฤติพรหมจรรย์ มี ตัณหาปราศไปแล้ว มีสติทุกเมื่อ พิจารณาเห็นธรรมแล้ว ดับกิเลสได้แล้ว ชื่อว่าผู้ยินดีในโลกนี้ ความหวั่นไหว ทั้งหลายย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ภิกษุนั้นรู้ซึ่งส่วนทั้งสองแล้ว ไม่ติดอยู่ในส่วนท่ามกลางด้วยปัญญา เรากล่าวสรรเสริญ ภิกษุนั้นว่าเป็นมหาบุรุษ ภิกษุนั้นล่วงตัณหาเครื่องร้อยรัดใน โลกนี้เสียได้ ฯ
จบติสสเมตเตยยมาณวกปัญหาที่ ๒
ปุณณกปัญหาที่ ๓
[๔๒๗] ปุณณกมาณพทูลถามปัญหาว่า ข้าพระองค์มีความต้องการด้วยปัญหา จึงมาเฝ้าพระองค์ผู้ไม่มี ความหวั่นไหว ผู้ทรงเห็นรากเหง้ากุศลและอกุศล สัตว์ ทั้งหลายผู้เกิดเป็นมนุษย์ในโลกนี้ คือ ฤาษี กษัตริย์ พราหมณ์ เป็นอันมาก อาศัยอะไร จึงบูชายัญแก่เทวดา ทั้งหลาย ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ ขอพระองค์จงตรัสบอกความข้อนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด ฯ พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า ดูกรปุณณกะ สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดเป็นมนุษย์เหล่าใดเหล่าหนึ่งเป็นอันมากใน โลกนี้ คือ ฤาษี กษัตริย์ พราหมณ์ ปรารถนาความเป็น มนุษย์เป็นต้น อาศัยของมีชรา จึงบูชายัญแก่เทวดา ทั้งหลาย ฯ ป. สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดเป็นมนุษย์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง เป็นอันมาก ในโลกนี้ คือ ฤาษี กษัตริย์ พราหมณ์ บูชายัญแก่เทวดา ทั้งหลาย ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้นิรทุกข์ สัตว์ทั้งหลายผู้ เกิดเป็นมนุษย์เหล่านั้น เป็นคนไม่ประมาทในยัญ ข้ามพ้น ชาติและชราได้บ้างแลหรือ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ ขอทูลถามพระองค์ ขอพระองค์ตรัสบอกความข้อนั้นแก่ ข้าพระองค์เถิด ฯ พ. ดูกรปุณณกะ สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดเป็นมนุษย์เหล่านั้น ย่อม มุ่งหวัง ย่อมชมเชย ย่อมปรารถนา ย่อมบูชา ย่อมรำพัน ถึงกาม ก็เพราะอาศัยลาภ เรากล่าวว่า สัตว์เหล่านั้นประกอบ การบูชา ยังเป็นคนกำหนัดยินดีในภพ ไม่ข้ามพ้นชาติและชรา ไปได้ ฯ ป. ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ถ้าหากว่าสัตว์เหล่านั้นผู้ประกอบการ บูชา ไม่ข้ามพ้นชาติและชราไปได้ด้วยยัญญวิธีทั้งหลายไซร้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าในเทวโลกและมนุษยโลก ข้ามพ้น ชาติและชราไปได้ในบัดนี้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ ขอทูลถามพระองค์ ขอพระองค์จงตรัสบอกความข้อนั้นแก่ ข้าพระองค์เถิด ฯ พ. ดูกรปุณณกะ ผู้ใดไม่มีความหวั่นไหว (ดิ้นรน) ในโลก ไหนๆ เพราะได้พิจารณาเห็นธรรมที่ยิ่งและหย่อนในโลก ผู้นั้นสงบแล้ว ไม่มีความประพฤติชั่วอันจะทำให้มัวหมอง ดุจควันไฟ ไม่มีกิเลสอันกระทบจิต หาความ (ปรารถนา) หวังมิได้ เรากล่าวว่า ผู้นั้นข้ามพ้นชาติและชราไปได้ แล้ว ฯ
จบปุณณกมาณวกปัญหาที่ ๓
เมตตคูปัญหาที่ ๔
[๔๒๘] เมตตคูมาณพทูลถามปัญหาว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ ขอ พระองค์จงตรัสบอกข้อความนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด ข้าพระองค์ ย่อมสำคัญพระองค์ว่าทรงถึงเวท มีจิตอันอบรมแล้ว ความ ทุกข์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกเป็นอันมาก มีมาแล้วแต่ อะไร ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรเมตตคู ท่านได้ถามเราถึงเหตุเป็นแดนเกิดแห่งทุกข์ เราจะบอกเหตุ นั้นแก่ท่านตามที่รู้ ความทุกข์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกเป็น อันมาก ย่อมเกิดเพราะอุปธิเป็นเหตุ ผู้ใดไม่รู้แจ้งย่อมกระทำ อุปธิ ผู้นั้นเป็นคนเขลา ย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อยๆ เพราะ ฉะนั้น เมื่อบุคคลมารู้ชัด เห็นชาติว่าเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์ ไม่พึงกระทำอุปธิ ฯ ม. ข้าพระองค์ได้ทูลถามความข้อใด พระองค์ก็ทรงแสดงความ ข้อนั้นแก่ข้าพระองค์แล้ว ข้าพระองค์ขอทูลถามความข้ออื่นอีก ขอเชิญพระองค์จงตรัสบอกความข้อนั้นเถิด นักปราชญ์ ทั้งหลายย่อมข้ามโอฆะ คือ ชาติ ชรา โสกะและปริเทวะ ได้อย่างไรหนอ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมุนี ขอพระองค์จง ตรัสพยากรณ์ธรรมอันเป็นเครื่องข้ามโอฆะให้สำเร็จประโยชน์ แก่ข้าพระองค์เถิด เพราะว่าธรรมนี้ พระองค์ทรงทราบชัด แล้วด้วยประการนั้น ฯ พ. ดูกรเมตตคู เราจักแสดงธรรมแก่ท่านในธรรมที่เราได้เห็น แล้ว เป็นธรรมประจักษ์แก่ตนที่บุคคลทราบชัดแล้ว พึง เป็นผู้มีสติ ดำเนินข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ในโลกเสียได้ ฯ ม. ข้าแต่พระองค์ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ก็ข้าพระองค์ยินดีอย่าง ยิ่ง ซึ่งธรรมอันสูงสุดที่บุคคลทราบชัดแล้ว เป็นผู้มีสติ พึงดำเนินข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ในโลก เสียได้ ฯ พ. ดูกรเมตตคู ท่านรู้ชัดซึ่งส่วนอย่างใดอย่างหนึ่งในส่วนเบื้อง บน (คืออนาคต) ในส่วนเบื้องต่ำ (คืออดีต) และแม้ใน ส่วนเบื้องขวางสถานกลาง (คือปัจจุบัน) จงบรรเทาความ เพลิดเพลินและความยึดมั่นในส่วนเหล่านั้นเสีย วิญญาณ (ของท่าน) จะไม่พึงตั้งอยู่ในภพ ภิกษุผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ อย่างนี้ มีสติ ไม่ประมาท ได้รู้แจ้งแล้วเที่ยวไปอยู่ ละความ ถือมั่นว่าของเราได้แล้ว พึงละทุกข์ คือ ชาติ ชรา โสกะ และปริเทวะในอัตภาพนี้เสีย ฯ ม. ข้าพระองค์ยินดีอย่างยิ่งซึ่งพระวาจานี้ ของพระองค์ผู้แสวงหา คุณอันใหญ่ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้โคตมโคตร ธรรมอัน ไม่มีอุปธิพระองค์ทรงแสดงชอบแล้ว พระองค์ทรงละทุกข์ได้ แน่แล้ว เพราะว่าธรรมนี้พระองค์ทรงรู้แจ้งชัดแล้วด้วยประการ นั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมุนี พระองค์พึงทรงสั่งสอนชน เหล่าใดไม่หยุดยั้ง แม้ชนเหล่านั้นก็พึงละทุกข์ได้เป็นแน่ ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ เพราะเหตุนั้นข้าพระองค์จึงได้มา ถวายบังคมพระองค์ ด้วยคิดว่า แม้ไฉน พระผู้มีพระภาค พึงทรงสั่งสอนข้าพระองค์ไม่หยุดหย่อนเถิด ฯ พ. ท่านพึงรู้ผู้ใดว่าเป็นพราหมณ์ผู้ถึงเวท ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ไม่ติดข้องอยู่ในกามภพ ผู้นั้นแลข้ามโอฆะนี้ได้แน่แล้ว ผู้ นั้นข้ามถึงฝั่งแล้ว เป็นผู้ไม่มีตะปู คือ กิเลส ไม่มีความ สงสัย นรชนนั้นรู้แจ้งแล้วแล เป็นผู้ถึงเวทในศาสนานี้ สละ ธรรมเป็นเครื่องข้องนี้ในภพน้อยและภพใหญ่ (ในภพและ มิใช่ภพ) เสียได้แล้ว เป็นผู้มีตัณหาปราศไปแล้ว ไม่มี กิเลสอันกระทบจิต หาความหวังมิได้ เรากล่าวว่าผู้นั้นข้าม ชาติและชราได้แล้ว ฯ
จบเมตตคูมาณวกปัญหาที่ ๔
โธตกปัญหาที่ ๕
[๔๒๙] โธตกมาณพได้ทูลถามปัญหาว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ ขอ พระองค์จงตรัสบอกข้อความนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด ข้าแต่ พระองค์ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ข้าพระองค์ปรารถนาอย่างยิ่ง ซึ่งพระวาจาของพระองค์ ข้าพระองค์ได้ฟังพระสุรเสียงของ พระองค์แล้ว พึงศึกษาธรรมเป็นเครื่องดับกิเลสของตน ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรโธตกะ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงมีปัญญารักษาตน มีสติกระทำความเพียร ในศาสนานี้เถิด ท่านจงฟังเสียงแต่สำนักของเรานี้แล้ว พึง ศึกษาธรรมเป็นเครื่องดับกิเลสของตนเถิด ฯ ธ. ข้าพระองค์เห็นพระองค์ผู้เป็นพราหมณ์หากังวลมิได้ ทรงยัง พระกายให้เป็นไปอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก ข้าแต่ พระองค์ผู้มีพระจักษุรอบคอบ เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์ขอ ถวายบังคมพระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้ศากยะ ขอพระองค์ จงทรงปลดเปลื้องข้าพระองค์เสียจากความสงสัยเถิด ฯ พ. ดูกรโธตกะ เราจักไม่อาจเพื่อจะปลดเปลื้องใครๆ ผู้ยังมี ความสงสัยในโลกให้พ้นไปได้ ก็ท่านรู้ทั่วถึงธรรมอัน ประเสริฐอยู่ จะข้ามโอฆะนี้ได้ด้วยอาการอย่างนี้ ฯ ธ. ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นพรหม ขอพระองค์จงทรงพระกรุณาสั่ง สอนธรรมเป็นที่สงัดกิเลส ที่ข้าพระองค์ควรจะรู้แจ้ง และ ขอพระองค์ทรงพระกรุณาสั่งสอนไม่ให้ข้าพระองค์ขัดข้องอยู่ เหมือนอากาศเถิด ข้าพระองค์อยู่ในที่นี้นี่แหละ จะพึงเป็น ผู้ไม่อาศัยแอบอิงเที่ยวไป ฯ พ. ดูกรโธตกะ เราจักแสดงธรรมเครื่องระงับกิเลสแก่ท่าน ใน ธรรมที่เราได้เห็นแล้วเป็นธรรมประจักษ์แก่ตน ที่บุคคลได้รู้ แจ้งแล้วเป็นผู้มีสติ พึงดำเนินข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ ต่างๆ ในโลกเสียได้ ฯ ธ. ข้าแต่พระองค์ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ก็ข้าพระองค์ยินดี อย่างยิ่ง ซึ่งธรรมเป็นเครื่องระงับกิเลสอันสูงสุด ที่บุคคลได้ รู้แจ้งแล้ว เป็นผู้มีสติ พึงดำเนินข้ามตัณหาอันซ่านไปใน อารมณ์ต่างๆ ในโลกเสียได้ ฯ พ. ดูกรโธตกะ ท่านรู้ชัดซึ่งส่วนอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งในส่วน เบื้องบน (คืออนาคต) ทั้งในส่วนเบื้องต่ำ (คืออดีต) แม้ ในส่วนเบื้องขวางสถานกลาง (คือปัจจุบัน) ท่านรู้แจ้งสิ่ง นั้นว่า เป็นเครื่องข้องอยู่ในโลก อย่างนี้แล้ว อย่าได้ทำ ตัณหาเพื่อภพน้อยและภพใหญ่เลย ฯ
จบโธตกมาณวกปัญหาที่ ๕
อุปสีวปัญหาที่ ๖
[๔๓๐] อุปสีวมาณพทูลถามปัญหาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ศากยะ ข้าพระองค์ผู้เดียวไม่อาศัยธรรมหรือ บุคคลอะไรแล้ว ไม่สามารถจะข้ามห้วงน้ำใหญ่คือกิเลสได้ ข้าแต่พระองค์ผู้สมันตจักษุ ขอพระองค์จงตรัสบอกที่หน่วง เหนี่ยว อันข้าพระองค์พึงอาศัยข้ามห้วงน้ำคือกิเลสนี้ แก่ ข้าพระองค์เถิด ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรอุปสีวะ ท่านจงเป็นผู้มีสติ เพ่งอากิญจัญญายตนสมาบัติ อาศัยอารมณ์ ว่า ไม่มี ดังนี้แล้วข้ามห้วงน้ำคือกิเลสเสียเถิด ท่านจงละกาม ทั้งหลายเสีย เป็นผู้เว้นจากความสงสัย เห็นธรรมเป็นที่สิ้น ไปแห่งตัณหาให้แจ่มแจ้งทั้งกลางวันกลางคืนเถิด ฯ อุ. ผู้ใดปราศจากความกำหนัดยินดีในกามทั้งปวงละสมาบัติอื่น เสีย อาศัยอากิญจัญญายตนสมาบัติ น้อมใจลงในสัญญา วิโมกข์ (คืออากิญจัญญายตนสมาบัติ ธรรมเปลื้องสัญญา) เป็นอย่างยิ่ง ผู้นั้นเป็นผู้ไม่หวั่นไหว พึงตั้งอยู่ในอากิญจัญ- ญายตนพรหมโลกนั้นแลหรือ ฯ พ. ดูกรอุปสีวะ ผู้ใดปราศจากความกำหนัดยินดีในกามทั้งปวง ละสมาบัติอื่นเสีย อาศัยอากิญจัญญายตนสมาบัติ น้อมใจ ลงในสัญญาวิโมกข์เป็นอย่างยิ่ง ผู้นั้นเป็นผู้ไม่หวั่นไหวพึงตั้ง อยู่ในอากิญจัญญายตนพรหมโลกนั้น ฯ อุ. ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักษุ ถ้าผู้นั้นเป็นผู้ไม่หวั่นไหว พึง ตั้งอยู่ในอากิญจัญญายตนพรหมโลกนั้นสิ้นปีแม้มากไซร้ ผู้ นั้นพึงพ้นจากทุกข์ต่างๆ ในอากิญจัญญายตนพรหมโลกนั้น แหละ พึงเป็นผู้เยือกเย็น หรือว่าวิญญาณของผู้เช่นนั้น พึง เกิดเพื่อถือปฏิสนธิอีก ฯ พ. ดูกรอุปสีวะ มุนีพ้นแล้วจากนามกาย ย่อมถึงการตั้งอยู่ไม่ได้ ไม่ถึงการนับ เปรียบเหมือนเปลวไฟอันถูกกำลังลมพัดไป แล้ว ย่อมถึงการตั้งอยู่ไม่ได้ ไม่ถึงการนับ ฉะนั้น ฯ อุ. ท่านผู้นั้นถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ท่านผู้นั้นไม่มีหรือว่าท่านผู้นั้น เป็นผู้ไม่มีโรค ด้วยความเป็นผู้เที่ยง ข้าแต่พระองค์ผู้ เป็นมุนี ขอพระองค์จงตรัสพยากรณ์ความข้อนั้นให้สำเร็จ ประโยชน์แก่ข้าพระองค์เถิด เพราะว่าธรรมนั้นพระองค์ ทรงรู้แจ้งแล้วด้วยประการนั้น ฯ พ. ดูกรอุปสีวะ ท่านผู้ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ไม่มีประมาณ ชน ทั้งหลายจะพึงกล่าวท่านผู้นั้นด้วยกิเลสมีราคะเป็นต้นใด กิเลส มีราคะเป็นต้นนั้นของท่านไม่มี เมื่อธรรม (มีขันธ์เป็นต้น) ทั้งปวง ท่านเพิกถอนขึ้นได้แล้ว แม้ทางแห่งถ้อยคำทั้งหมด ก็เป็นอันท่านเพิกถอนขึ้นได้แล้ว ฯ
จบอุปสีวมาณวกปัญหาที่ ๖
นันทปัญหาที่ ๗
[๔๓๑] นันทมาณพผู้ทูลถามปัญหาว่า ชนทั้งหลายกล่าวว่า มุนีทั้งหลายมีอยู่ในโลก ชนทั้งหลาย กล่าวบุคคลว่าเป็นมุนีนี้นั้น ด้วยอาการอย่างไรหนอ ชน ทั้งหลายกล่าวบุคคลผู้ประกอบด้วยญาณ หรือผู้ประกอบ ด้วยความเป็นอยู่ ว่าเป็นมุนี ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรนันทะ ผู้ฉลาดในโลกนี้ ไม่กล่าวบุคคลว่าเป็นมุนี ด้วย ความเห็น ด้วยความสดับ หรือด้วยความรู้ (ด้วยศีลและ วัตร) ชนเหล่าใดกำจัดเสนามารให้พินาศแล้ว ไม่มีความ ทุกข์ ไม่มีความหวัง เที่ยวไปอยู่ เรากล่าวชนเหล่านั้นว่า เป็นมุนี ฯ น. ข้าแต่พระผู้มีพระภาค สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง กล่าวความบริสุทธิ์ด้วยความเห็นบ้าง ด้วยการฟังบ้าง ด้วย ศีลและพรตบ้าง ด้วยมงคลตื่นข่าวเป็นต้นเป็นอันมากบ้าง ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้นิรทุกข์ สมณพราหมณ์เหล่านั้น ประพฤติอยู่ในทิฐิของตนนั้น ตามที่ตนเห็นว่าเป็นเครื่อง บริสุทธิ์ ข้ามพ้นชาติและชราได้บ้างหรือไม่ ข้าแต่พระ ผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ ขอพระองค์ ตรัสบอกความข้อนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด ฯ พ. ดูกรนันทะ สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง กล่าว ความบริสุทธิ์ด้วยความเห็นบ้าง ด้วยการฟังบ้าง ด้วยศีล และพรตบ้าง ด้วยมงคลตื่นข่าวเป็นต้นเป็นอันมากบ้าง สมณพราหมณ์เหล่านั้นประพฤติอยู่ในทิฐิของตนนั้น ตาม ที่ตนเห็นว่าเป็นเครื่องบริสุทธิ์ก็จริง ถึงอย่างนั้น เรากล่าวว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้น ข้ามพ้นชาติและชราไปไม่ได้ ฯ น. สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง กล่าวความบริสุทธิ์ด้วยการ เห็นบ้าง ด้วยการฟังบ้าง ด้วยศีลและพรตบ้าง ด้วยมงคลตื่น ข่าวเป็นต้นเป็นอันมากบ้าง ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมุนี ถ้าพระองค์ ตรัสว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นข้ามโอฆะไม่ได้แล้ว ข้าแต่พระ องค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าในเทวโลกและ มนุษยโลก ข้ามพ้นชาติและชราได้แล้วในบัดนี้ ข้าแต่ พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ ขอพระ องค์จงตรัสบอกความข้อนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด ฯ พ. ดูกรนันทะ เราไม่กล่าวว่า สมณพราหมณ์ทั้งหมดอันชาติ และชราหุ้มห่อไว้แล้ว แต่เรากล่าวว่า คนเหล่าใดในโลก นี้ ละเสียซึ่งรูปที่ได้เห็นแล้วก็ดี เสียงที่ได้ฟังแล้วก็ดี อารมณ์ที่ได้ทราบแล้วก็ดี ละเสียแม้ซึ่งศีลและพรตทั้งหมด ก็ดี ละเสียซึ่งมงคลตื่นข่าวเป็นต้น เป็นอันมากทั้งหมด ก็ดี กำหนดรู้ตัณหาแล้ว เป็นผู้หาอาสวะมิได้ คนเหล่า นั้นแลข้ามโอฆะได้แล้ว ฯ น. ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้โคดม ข้าพระองค์ยินดียิ่งซึ่งพระ ดำรัสของพระองค์ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ธรรมอันไม่มีอุปธิ พระองค์ทรงแสดงชอบแล้ว แม้ข้าพระองค์ก็กล่าวว่า คน เหล่าใดในโลกนี้ ละเสียซึ่งรูปที่ได้เห็นแล้วก็ดี เสียงที่ ได้ฟังแล้วก็ดี อารมณ์ที่ได้ทราบแล้วก็ดี ละเสียแม้ซึ่งศีลและ พรตทั้งหมดก็ดี ละเสียซึ่งมงคลตื่นข่าวเป็นต้นเป็นอันมากทั้ง หมดก็ดี กำหนดรู้ตัณหาแล้ว เป็นผู้หาอาสวะมิได้ คนเหล่านั้น ข้ามโอฆะได้แล้ว ฉะนี้แล ฯ
จบนันทมาณวกปัญหาที่ ๗
เหมกปัญหาที่ ๘
[๔๓๒] เหมกมาณพทูลถามปัญหาว่า (ก่อนแต่ศาสนาของพระโคดม) อาจารย์เหล่าใดได้พยากรณ์ ลัทธิของตนแก่ข้าพระองค์ ในกาลก่อนว่า เหตุนี้ได้ เป็นมาแล้วอย่างนี้ๆ จักเป็นอย่างนี้ๆ คำพยากรณ์ทั้งหมด ของอาจารย์เหล่านั้น ไม่ประจักษ์แก่ตน คำพยากรณ์ ทั้งหมดนั้น เป็นเครื่องทำความตรึกให้ทวีมากขึ้น (ข้าพระ องค์ไม่ยินดีในคำพยากรณ์นั้น) ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมุนี ขอ พระองค์จงตรัสบอกธรรมเป็นเครื่องกำจัดตัณหา อันซ่าน ไปในอารมณ์ต่างๆ ในโลกแก่ข้าพระองค์เถิด ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรเหมกะ ชนเหล่าใดได้รู้ทั่วถึงบท คือ นิพพาน อันไม่แปรผัน เป็นที่บรรเทาฉันทราคะในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง และ สิ่งที่ได้ทราบ อันน่ารัก ณ ที่นี้ เป็นผู้มีสติ มีธรรมอันเห็น แล้ว ดับกิเลสได้แล้ว ชนเหล่านั้นสงบระงับแล้ว มีสติ ข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ในโลกได้แล้ว ฯ
จบเหมกมาณวกปัญหาที่ ๘
โตเทยยปัญหาที่ ๙
[๔๓๓] โตเทยยมาณพทูลถามปัญหาว่า ผู้ใดไม่มีกามทั้งหลาย ไม่มีตัณหา และข้ามความสงสัยได้ แล้ว ความพ้นวิเศษของผู้นั้นเป็นอย่างไร ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรโตเทยยะ ผู้ใดไม่มีกามทั้งหลาย ไม่มีตัณหา และข้ามความสงสัยได้ แล้ว ความพ้นวิเศษอย่างอื่นของผู้นั้นไม่มี ฯ ต. ผู้นั้นไม่มีความปรารถนา หรือยังปรารถนาอยู่ ผู้นั้นเป็น ผู้มีปัญญา หรือยังเป็นผู้มีปรกติกำหนดด้วยปัญญาอยู่ ข้า แต่พระองค์ผู้ศากยะ ข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งมุนีได้อย่างไร ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุรอบคอบ ขอพระองค์จงตรัสบอก มุนีนั้นให้แจ้งชัดแก่ข้าพระองค์เถิด ฯ พ. ดูกรโตเทยยะ ผู้นั้นไม่มีความปรารถนา และไม่เป็นผู้ ปรารถนาอยู่ด้วย ผู้นั้นเป็นคนมีปัญญามิใช่เป็นผู้มีปรกติ กำหนดด้วยปัญญาอยู่ด้วย ท่านจงรู้จักมุนี ว่าเป็นผู้ไม่มี กิเลสเครื่องกังวลไม่ข้องอยู่แล้วในกามและภพแม้อย่างนี้ ฯ
จบโตเทยยมาณวกปัญหาที่ ๙
กัปปปัญหาที่ ๑๐
[๔๓๔] กัปปมาณพทูลถามปัญหาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ขอพระองค์จงตรัสบอกซึ่งธรรมอัน เป็นที่พึ่งของชนทั้งหลาย ผู้อันชราและมรณะครอบงำแล้ว ดุจที่พึ่งของชนทั้งหลายผู้อยู่ในท่ามกลางสาคร เมื่อคลื่น เกิดแล้ว มีภัยใหญ่ฉะนั้น อนึ่ง ขอพระองค์จงตรัสบอก ที่พึ่งแก่ข้าพระองค์โดยอุบายที่ทุกข์นี้ไม่พึงมีอีกเถิด ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรกัปปะ เราจะบอกธรรม อันเป็นที่พึ่งของชนทั้งหลาย ผู้อันชรา และมรณะครอบงำแล้ว ดุจที่พึ่งของชนทั้งหลายผู้อยู่ใน ท่ามกลางสาคร เมื่อคลื่นเกิดแล้ว มีภัยใหญ่ แก่ท่าน ธรรมชาติไม่มีเครื่องกังวล ไม่มีความถือมั่น นี้เป็นที่พึ่ง หาใช่ อย่างอื่นไม่ เรากล่าวที่พึ่งอันเป็นที่สิ้นไปแห่งชราและมรณะว่า นิพพาน ชนเหล่าใดรู้นิพพานนั้นแล้ว มีสติ มีธรรมอันเห็น แล้วดับกิเลสได้แล้ว ชนเหล่านั้นไม่อยู่ใต้อำนาจของมาร ไม่เดินไปในทางของมาร ฯ
จบกัปปมาณวกปัญหาที่ ๑๐
ชตุกัณณีปัญหาที่ ๑๑
[๔๓๕] ชตุกัณณีมาณพทูลถามปัญหาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร ข้าพระองค์ได้ฟังพระองค์ผู้ไม่ ใคร่กาม จึงมาเฝ้าเพื่อทูลถามพระองค์ผู้ล่วงห้วงน้ำคือ กิเลสเสียได้ ไม่มีกาม ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระเนตรคือพระ สัพพัญญุตญาณเกิดพร้อมแล้ว ขอพระองค์ตรัสบอกทาง สันติ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์จงตรัสบอกทาง สันตินั้นแก่ข้าพระองค์ตามจริงเถิด เพราะว่าพระผู้มีพระภาค ทรงมีเดช ครอบงำกามทั้งหลายเสียแล้วด้วยเดช เหมือน พระอาทิตย์มีเดช คือ รัศมี ครอบงำปฐพีด้วยเดชไปอยู่ใน อากาศ ฉะนั้น ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้มีปัญญาดังแผ่นดิน ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมเครื่องละชาติละชรา ณ ที่นี้ ที่ข้า พระองค์ควรจะรู้แจ้ง แก่ข้าพระองค์ผู้มีปัญญาน้อยเถิด ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรชตุกัณณี ท่านได้เห็นซึ่ง เนกขัมมะโดยความเป็นธรรมอันเกษมแล้ว จงนำความ กำหนัดในกามทั้งหลายเสียให้สิ้นเถิด อนึ่ง กิเลสชาติเครื่อง กังวลที่ท่านยึดไว้แล้ว (ด้วยอำนาจตัณหาและทิฐิ) ซึ่งควร จะปลดเปลื้องเสีย อย่ามีแล้วแก่ท่าน กิเลสเครื่องกังวลใด ได้มีแล้วในกาลก่อน ท่านจงทำกิเลสเครื่องกังวลนั้นให้ เหือดแห้งเสียเถิด กิเลสเครื่องกังวลในภายหลัง อย่าได้มี แก่ท่าน ถ้าท่านจักไม่ถือเอากิเลสเครื่องกังวลในท่ามกลาง ไซร้ ท่านจักเป็นผู้สงบเที่ยวไป ดูกรพราหมณ์ เมื่อ ท่านปราศจากความกำหนัดในนามและรูปแล้วโดยประการทั้ง ปวง อาสวะทั้งหลาย อันเป็นเหตุให้ไปสู่อำนาจแห่งมัจจุราช ก็ย่อมไม่มีแก่ท่าน ฯ
จบชตุกัณณีมาณวกปัญหาที่ ๑๑
ภัทราวุธปัญหาที่ ๑๒
[๔๓๖] ภัทราวุธมาณพทูลถามปัญหาว่า ข้าพระองค์ขอทูลวิงวอนพระองค์ ผู้ทรงละอาลัย ตัดตัณหา เสียได้ ไม่หวั่นไหว ละความเพลิดเพลิน ข้ามห้วงน้ำคือ กิเลสได้แล้วพ้นวิเศษแล้ว ละธรรมเครื่องให้ดำริ มีพระปัญญา ดี ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร ชนในชนบทต่างๆ ประสงค์จะฟังพระดำรัสของพระองค์ มาพร้อมกันแล้ว จากชนบททั้งหลาย ได้ฟังพระดำรัสของพระองค์ผู้ประเสริฐ แล้ว จักกลับไปจากที่นี้ ขอพระองค์จงตรัสพยากรณ์แก่ชน ในชนบทต่างๆ เหล่านั้นให้สำเร็จประโยชน์เถิด เพราะ ธรรมนี้พระองค์ทรงรู้แจ้งแล้วด้วยประการนั้น ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรภัทราวุธะ หมู่ชนควรจะนำเสียซึ่งตัณหา เป็นเครื่องถือมั่นทั้งปวง ในส่วนเบื้องบน เบื้องต่ำ และในส่วนเบื้องขวางสถาน กลาง ให้สิ้นเชิง เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายย่อมถือมั่นสิ่งใดๆ ในโลก มารย่อมติดตามสัตว์ได้เพราะสิ่งนั้นแหละ เพราะ เหตุนั้น ภิกษุเมื่อรู้ชัดอยู่ มาเล็งเห็นหมู่สัตว์ ผู้ติดข้องอยู่ แล้วในวัฏฏะ อันเป็นบ่วงแห่งมารนี้ว่า เป็นหมู่สัตว์ติดข้อง อยู่แล้วเพราะการถือมั่นดังนี้ พึงเป็นผู้มีสติ ไม่ถือมั่นเครื่อง กังวลในโลกทั้งปวง ฯ
จบภัทราวุธมาณวกปัญหาที่ ๑๒
อุทยปัญหาที่ ๑๓
[๔๓๗] อุทยมาณพทูลถามปัญหาว่า ข้าพระองค์มีความต้องการปัญหา จึงมาเฝ้าพระองค์ผู้เพ่งฌาน ปราศจากธุลี ทรงนั่งโดยปรกติ ทรงทำกิจเสร็จแล้ว ไม่มี อาสวะ ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง ขอพระองค์จงตรัสบอก ธรรมอันเป็นเครื่องพ้นที่ควรรู้ทั่วถึง สำหรับทำลายอวิชชา เถิด ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรอุทยะ เรากล่าวธรรมเป็นเครื่องละความพอใจในกาม และโทมนัส ทั้งสองอย่าง เป็นเครื่องบรรเทาความง่วงเหงา เป็นเครื่อง ห้ามความรำคาญ บริสุทธิ์ดีเพราะอุเบกขาและสติ มีความ ตรึกถึงธรรมแล่นไปในเบื้องหน้า ว่าเป็นธรรมเครื่องพ้นที่ ควรรู้ทั่วถึงสำหรับทำลายอวิชชา ฯ อุ. โลกมีธรรมอะไรประกอบไว้ ธรรมชาติอะไรเป็นเครื่อง พิจารณา (เป็นเครื่องสัญจร) ของโลกนั้น เพราะละธรรม อะไรได้เด็ดขาด ท่านจึงกล่าวว่า นิพพาน ฯ พ. โลกมีความเพลิดเพลินประกอบไว้ ความตรึกไปต่างๆ เป็น เครื่องพิจารณา (เป็นเครื่องสัญจร) ของโลกนั้น เพราะ ละตัณหาได้เด็ดขาด ท่านจึงกล่าวว่า นิพพาน ฯ อุ. เมื่อบุคคลระลึกอย่างไรเที่ยวไปอยู่ วิญญาณจึงจะดับ ข้าพระองค์ทั้งหลายมาเฝ้าเพื่อทูลถามพระองค์ ข้าพระองค์ ทั้งหลาย ขอฟังพระดำรัสของพระองค์ ฯ พ. เมื่อบุคคลไม่เพลิดเพลินเวทนา ทั้งภายในและภายนอก ระลึกอย่างนี้เที่ยวไปอยู่ วิญญาณจึงจะดับ ฯ
จบอุทยมาณวกปัญหาที่ ๑๓
โปสาลปัญหาที่ ๑๔
[๔๓๘] โปสาลมาณพทูลถามปัญหาว่า ข้าพระองค์มีความต้องการด้วยปัญหา จึงได้มาเฝ้าพระองค์ พระผู้มีพระภาคผู้ทรงแสดงอ้างสิ่งที่ล่วงไปแล้ว (พระปรีชา ญาณในกาลอันเป็นอดีต) ไม่ทรงหวั่นไหว ทรงตัดความ สงสัยได้แล้ว ทรงบรรลุถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง ข้าแต่ พระผู้มีพระภาคผู้ศากยะ ข้าพระองค์ขอทูลถามถึงญาณ ของบุคคลผู้มีความสำคัญในรูปก้าวล่วงเสียแล้ว ละรูป กายได้ทั้งหมด เห็นอยู่ว่าไม่มีอะไรน้อยหนึ่งทั้งภายในและ ภายนอก บุคคลเช่นนั้นควรแนะนำอย่างไร ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรโปสาละ พระตถาคตทรงรู้ยิ่ง ซึ่งภูมิเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณทั้งปวง ทรง ทราบบุคคลนั้นผู้ยังดำรงอยู่ ผู้น้อมไปแล้วในอากิญจัญ- ญายตนสมาบัติเป็นต้น ผู้มีอากิญจัญญายตนสมาบัติเป็นต้น นั้นเป็นที่ไปในเบื้องหน้า ผู้ที่เกิดในอากิญจัญญายตนสมาบัติ ว่ามีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องประกอบ ดังนี้แล้ว แต่นั้น ย่อมเห็นแจ้งในอากิญจัญญายตนสมาบัตินั้น ญาณของ บุคคลนั้นผู้เป็นพราหมณ์ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว เป็นญาณ อันถ่องแท้อย่างนี้ ฯ
จบโปสาลมาณวกปัญหาที่ ๑๔
โมฆราชปัญหาที่ ๑๕
[๔๓๙] โมฆราชมาณพทูลถามปัญหาว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้ศากยะ ข้าพระองค์ได้ทูลถามปัญหา ถึงสองครั้งแล้ว พระองค์ผู้มีพระจักษุไม่ทรงพยากรณ์แก่ ข้าพระองค์ แต่ข้าพระองค์ได้สดับมาว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นเทพฤาษี จะทรงพยากรณ์ในครั้งที่สาม (ข้าพระองค์จึง ขอทูลถามว่า) โลกนี้ โลกอื่น พรหมโลกกับทั้งเทวโลก ข้าพระองค์ย่อมไม่ทราบความเห็นของพระองค์ผู้โคดม ผู้- เรืองยศ ข้าพระองค์มีความต้องการด้วยปัญหา จึงได้มาเฝ้า พระองค์ (ผู้มีปรกติเห็นก้าวล่วงวิสัยของสัตว์โลก) ผู้มี ปรกติเห็นธรรมอันงามอย่างนี้ บุคคลผู้พิจารณาเห็นโลก อย่างไร มัจจุราชจึงจะไม่เห็น ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรโมฆราช ท่านจงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ พิจารณาเห็นโลกโดย ความเป็นของว่างเปล่าเถิด จงถอนความตามเห็นว่าเป็นตัวตน เสียแล้ว พึงเป็นผู้ข้ามพ้นมัจจุราชได้ด้วยอาการอย่างนี้ บุคคลผู้พิจารณาเห็นโลกอยู่อย่างนี้ มัจจุราชจึงจะไม่เห็น ฯ
จบโมฆราชมาณวกปัญหาที่ ๑๕
ปิงคิยปัญหาที่ ๑๖
[๔๔๐] ปิงคิยมาณพทูลถามปัญหาว่า ข้าพระองค์เป็นคนแก่แล้ว มีกำลังน้อย ผิวพรรณเศร้าหมอง นัยน์ตาทั้งสองของข้าพระองค์ไม่ผ่องใส (เห็นไม่จะแจ้ง) หูสำหรับฟังก็ไม่สะดวก ขอข้าพระองค์อย่าได้เป็นคนหลง ฉิบหายเสียในระหว่างเลย ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมที่ ข้าพระองค์ควรรู้ ซึ่งเป็นเครื่องละชาติและชราในอัตภาพนี้ เสียเถิด ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรปิงคิยะ ชนทั้งหลายได้เห็นเหล่าสัตว์ผู้เดือดร้อนอยู่ เพราะรูปทั้งหลาย แล้ว ยังเป็นผู้ประมาทก็ย่อยยับอยู่เพราะรูปทั้งหลาย ดูกร- ปิงคิยะเพราะเหตุนั้น ท่านจงเป็นคนไม่ประมาทละรูปเสีย เพื่อความไม่เกิดอีก ฯ ปิ. ทิศใหญ่สี่ ทิศน้อยสี่ ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ รวมเป็น สิบทิศ สิ่งไรๆ ในโลกที่พระองค์ไม่ได้เห็น ไม่ได้ฟัง ไม่ได้ทราบ หรือไม่ได้รู้แจ้ง มิได้มี ขอพระองค์จงตรัส บอกธรรมที่ข้าพระองค์ควรรู้ เป็นเครื่องละชาติและชราใน อัตภาพนี้เถิด ฯ พ. ดูกรปิงคิยะ เมื่อท่านเห็นหมู่มนุษย์ผู้ถูกตัณหาครอบงำแล้ว เกิดความเดือดร้อน อันชราถึงรอบข้าง ดูกรปิงคิยะ เพราะ เหตุนั้น ท่านจงเป็นคนไม่ประมาทละตัณหาเสีย เพื่อความ ไม่เกิดอีก ฯ
จบปิงคิยมาณวกปัญหาที่ ๑๖
[๔๔๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปาสาณเจดีย์ในมคธชนบท ได้ตรัสปารายนสูตรนี้ อันพราหมณ์มาณพ ๑๖ คน ผู้เป็น บริวารของพราหมณ์พาวรี ทูลอาราธนาแล้ว ได้ตรัสพยากรณ์ ปัญหา แม้หากว่าการกบุคคลรู้ทั่วถึงอรรถรู้ทั่วถึงธรรมแห่ง ปัญหาหนึ่งๆ แล้วพึงปฏิบัติธรรมอันสมควรแก่ธรรมไซร้ การกบุคคลนั้น ก็พึงถึงฝั่งโน้นแห่งชราและมรณะได้แน่แท้ เพราะธรรมเหล่านี้ เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่การถึงฝั่งโน้น เพราะเหตุนั้น คำว่าปรายนะ จึงเป็นชื่อแห่งธรรมปริยายนี้ ฯ [๔๔๒] พราหมณ์มาณพผู้อาราธนาทูลถามปัญหา ๑๖ คนนั้น คือ อชิตมาณพ ๑ ติสสเมตเตยยมาณพ ๑ ปุณณกมาณพ ๑ เมตตคูมาณพ ๑ โธตกมาณพ ๑ อุปสีวมาณพ ๑ นันทมาณพ ๑ เหมกมาณพ ๑ โตเทยยมาณพ ๑ กัปปมาณพ ๑ ชตุกัณณี- มาณพผู้เป็นบัณฑิต ๑ ภัทราวุธมาณพ ๑ อุทยมาณพ ๑ โปสาลพราหมณ์มาณพ ๑ โมฆราชมาณพผู้มีปัญญา ๑ ปิงคิยมาณพผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ๑ พราหมณ์มาณพทั้ง ๑๖ คนนี้ ได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ทรงมี จรณะอันสมบูรณ์ พราหมณ์มาณพทั้ง ๑๖ คน ได้เข้าไปเฝ้า ทูลถามปัญหาอันละเอียด กะพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด พระพุทธเจ้าผู้เป็นมุนีได้ตรัสพยากรณ์ปัญหาที่พราหมณ์มาณพ เหล่านั้นทูลถามแล้วตามจริงแท้ ทรงให้พราหมณ์มาณพ ทั้งหลายยินดีแล้ว ด้วยการตรัสพยากรณ์ปัญหาทุกๆ ปัญหา พราหมณ์มาณพทั้ง ๑๖ คนเหล่านั้น อันพระพุทธเจ้าผู้เป็น เผ่าพันธุ์ พระอาทิตย์ผู้มีจักษุให้ยินดีแล้ว ได้ประพฤติ พรหมจรรย์ในสำนักของพระพุทธเจ้า ผู้มีพระปัญญาอัน ประเสริฐ เนื้อความแห่งปัญหาหนึ่งๆ ที่พระพุทธเจ้าทรง- แสดงแล้วด้วยประการใด ผู้ใดพึงปฏิบัติตามด้วยประการนั้น ก็พึงจากฝั่งนี้ไปถึงฝั่งโน้นได้ ผู้นั้นเจริญมรรคอันอุดมอยู่ ก็พึงจากฝั่งนี้ไปถึงฝั่งโน้นได้ ธรรมปริยายนั้นเป็นทางเพื่อไป สู่ฝั่งโน้น เพราะฉะนั้น ธรรมปริยายนั้นจึงชื่อว่า ปรายนะ ฯ [๔๔๓] ปิงคิยมาณพกล่าวคาถาว่า อาตมาจักขับตามภาษิตเครื่องไปยังฝั่งโน้น (อาตมาขอกล่าว ตามที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงเห็นแล้วด้วยพระญาณ) พระ- พุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ปราศจากมลทิน มีพระปัญญากว้างขวาง ไม่มีความใคร่ ทรงดับกิเลสได้แล้ว จะพึงตรัสมุสาเพราะ เหตุอะไร เอาเถิด อาตมาจักแสดงวาจาที่ควรเปล่งอันประกอบ ด้วยคุณของพระพุทธเจ้า ผู้ทรงละความหลงอันเป็นมลทิน ได้แล้ว ทรงละความถือตัวและความลบหลู่ได้เด็ดขาด ดูกร ท่านพราหมณาจารย์ พระพุทธเจ้าทรงบรรเทาความมืด มี พระจักษุรอบคอบ ทรงถึงที่สุดของโลก ทรงล่วงภพได้ ทั้งหมด ไม่มีอาสวะ ทรงละทุกข์ได้ทั้งปวง มีพระนามตาม ความเป็นจริงว่า พุทโธอันอาตมาเข้าเฝ้าแล้ว นกพึงละป่าเล็ก แล้วมาอยู่อาศัยป่าใหญ่อันมีผลไม้มาก ฉันใด อาตมา มาละ คณาจารย์ผู้มีความเห็นน้อยแล้ว ได้ประสบพระพุทธเจ้าผู้มี ความเห็นประเสริฐ เหมือนหงส์โผลงสู่สระใหญ่ แม้ฉันนั้น ก่อนแต่ศาสนาของพระโคดม อาจารย์เหล่าใด ได้พยากรณ์ ลัทธิของตนแก่อาตมาในกาลก่อนว่า เหตุนี้ได้เป็นมาแล้ว อย่างนี้ จักเป็นอย่างนี้ คำพยากรณ์ของอาจารย์เหล่านั้น ทั้งหมด ไม่ประจักษ์แก่ตน คำพยากรณ์ทั้งหมดนั้น เป็น เครื่องทำความตรึกให้ทวีมากขึ้น (อาตมาไม่พอใจในคำ พยากรณ์นั้น) พระโคดมพระองค์เดียวทรงบรรเทาความมืด สงบระงับ มีพระรัศมีโชติช่วง มีพระปัญญาเป็นเครื่อง ปรากฏดุจแผ่นดิน มีพระปัญญากว้างขวาง ได้ทรงแสดงธรรม อันบุคคลพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีจัญไร หาอุปมาในที่ไหนๆ มิได้ แก่อาตมา ฯ พราหมณ์พาวรีผู้อาจารย์กล่าวคาถาถามพระปิงคิยะว่า ท่านปิงคิยะ พระโคดมพระองค์ใด ได้ทรงแสดงธรรมอัน บุคคลพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีจัญไร หาอุปมาในที่ไหนๆ มิได้แก่ท่าน เพราะเหตุไร หนอ ท่านจึงอยู่ปราศจากพระโคดมพระองค์นั้น ผู้มีพระ- ปัญญาเป็นเครื่องปรากฏดุจแผ่นดิน มีพระปัญญากว้างขวาง สิ้นกาลแม้ครู่หนึ่งเล่า ฯ พระปิงคิยะกล่าวคาถาตอบพราหมณ์พาวรีผู้อาจารย์ว่า ท่านพราหมณ์ พระโคดมพระองค์ใด ได้ทรงแสดงธรรมอัน บุคคลพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีจัญไร หาอุปมาในที่ไหนๆ มิได้ แก่อาตมา อาตมา มิได้อยู่ปราศจากพระโคดมพระองค์นั้น ผู้มีพระปัญญาเป็น เครื่องปรากฏดุจแผ่นดิน มีพระปัญญากว้างขวาง สิ้นกาล แม้ครู่หนึ่ง ท่านพราหมณ์ อาตมาไม่ประมาททั้งกลางคืน กลางวัน เห็นอยู่ซึ่งพระพุทธเจ้าผู้โคดมพระองค์นั้นด้วยใจ เหมือนเห็นด้วยจักษุ ฉะนั้น อาตมานมัสการอยู่ซึ่งพระ- พุทธเจ้าผู้โคดมพระองค์นั้นตลอดราตรี อาตมามาสำคัญความ ไม่อยู่ปราศจากพระพุทธเจ้าผู้โคดมพระองค์นั้น ด้วยความไม่ ประมาทนั้น ศรัทธา ปีติ มานะ และสติของอาตมา ย่อมน้อมไปในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าผู้โคดม พระ- พุทธเจ้าผู้โคดมผู้มีพระปัญญากว้างขวาง ประทับอยู่ยังทิศาภาค ใดๆ อาตมานั้นเป็นผู้นอบน้อมไปโดยทิศาภาคนั้นๆ นั่นแล ร่างกายของอาตมาผู้แก่แล้ว มีกำลังและเรี่ยวแรงน้อยนั่นเอง ท่านพราหมณ์ อาตมาไปสู่พระพุทธเจ้าด้วยการไปแห่งความ ดำริเป็นนิตย์ เพราะว่าใจของอาตมาประกอบแล้วด้วยพระ- พุทธเจ้านั้น อาตมานอนอยู่บนเปือกตม คือกาม ดิ้นรนอยู่ (เพราะตัณหา) ลอยจากเกาะหนึ่งไปสู่เกาะหนึ่ง ครั้งนั้นอาตมา ได้เห็นพระสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงข้ามโอฆะได้แล้ว ไม่มีอาสวะ ฯ (ในเวลาจบคาถานี้ พระผู้มีพระภาคทรงทราบความแก่กล้าแห่งอินทรีย์ ของพระปิงคิยะและพราหมณ์พาวรีแล้ว ประทับอยู่ ณ นครสาวัตถีนั้นเอง ทรงเปล่งพระรัศมีดุจทองไปแล้ว พระปิงคิยะกำลังนั่งพรรณนาพระพุทธคุณแก่ พราหมณ์พาวรีอยู่ ได้เห็นพระรัศมีแล้วคิดว่า นี้อะไร เหลียวแลไป ได้เห็น พระผู้มีพระภาคประหนึ่งประทับอยู่เบื้องหน้าตน จึงบอกแก่พราหมณ์พาวรีว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมาแล้ว พราหมณ์พาวรีได้ลุกจากอาสนะประคองอัญชลียืนอยู่ แม้พระผู้มีพระภาค เมื่อจะทรงแผ่พระรัศมีแสดงพระองค์แก่พราหมณ์พาวรี ทรงทราบธรรมเป็นที่สบายของพระปิงคิยะและพราหมณ์พาวรีทั้งสองแล้ว เมื่อจะ ตรัสเรียกแต่พระปิงคิยะองค์เดียว จึงได้ตรัสพระคาถานี้ว่า) ดูกรปิงคิยะ พระวักกลิ พระภัทราวุธะ และพระอาฬวีโคดม เป็นผู้มีศรัทธาน้อมลงแล้ว (ได้บรรลุอรหัตด้วยศรัทธาธุระ) ฉันใด แม้ท่านก็จงปล่อยศรัทธาลง ฉันนั้น ดูกรปิงคิยะ เมื่อท่านน้อมลงด้วยศรัทธาปรารภวิปัสสนา โดยนัยเป็นต้นว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ก็จักถึงนิพพาน อันเป็นฝั่งโน้นแห่ง วัฏฏะอันเป็นบ่วงแห่งมัจจุราช ฯ พระปิงคิยะเมื่อจะประกาศความเลื่อมใสของตนจึงกราบทูลว่า ข้าพระองค์นี้ย่อมเลื่อมใสอย่างยิ่ง เพราะได้ฟังพระวาจาของ พระองค์ผู้เป็นมุนี พระองค์มีกิเลสดุจหลังคาอันเปิดแล้ว ตรัสรู้แล้วด้วยพระองค์เอง ไม่มีกิเลสดุจเสาเขื่อน ทรงมี ปฏิภาณ ทรงทราบธรรมเป็นเหตุกล่าวว่าประเสริฐยิ่ง ทรง- ทราบธรรมชาติทั้งปวง ทั้งเลวและประณีต พระองค์เป็น ศาสดาผู้กระทำที่สุดแห่งปัญหาทั้งหลาย แก่เหล่าชนผู้มีความ สงสัยปฏิญาณอยู่ นิพพานอันกิเลสมีราคะเป็นต้นไม่พึงนำ ไปได้ เป็นธรรมไม่กำเริบ หาอุปมาในที่ไหนๆ มิได้ ข้าพระองค์จักถึงอนุปาทิเสสนิพพานธาตุแน่แท้ ข้าพระองค์ ไม่มีความสงสัยในนิพพานนี้เลย ขอพระองค์จงทรงจำ ข้าพระองค์ว่า เป็นผู้มีจิตน้อมไปแล้ว (ในนิพพาน) ด้วย ประการนี้แล ฯ
จบปารายนวรรคที่ ๕
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในสุตตนิบาตนี้ คือ
[๔๔๔] ๑. อุรคสูตร ๒. ธนิยสูตร ๓. ขัคควิสาณสูตร ๔. กสิภารทวาชสูตร ๕. จุนทสูตร ๖. ปราภวสูตร ๗. วสลสูตร ๘. เมตตสูตร ๙. เหมวตสูตร ๑๐. อาฬวกสูตร ๑๑. วิชยสูตร ๑๒. มุนีสูตร วรรคที่ ๑ นี้มีเนื้อความ ดีมาก รวมพระสูตรได้ ๑๒ สูตร พระผู้มีพระภาคผู้มี- พระจักษุหามลทินมิได้ ทรงจำแนกแสดงไว้ดีแล้ว บัณฑิต ทั้งหลายได้สดับกันมาว่า อุรควรรค ฯ ๑. รตนสูตร ๒. อามคันธสูตร ๓. หิริสูตร ๔. มังคลสูตร ๕. สุจิโลมสูตร ๖. ธรรมจริยสูตร ๗. พราหมณธรรม- มิกสูตร ๘. นาวาสูตร ๙. กึสีลสูตร ๑๐. อุฏฐานสูตร ๑๑. ราหุลสูตร ๑๒. วังคีสสูตร ๑๓. สัมมาปริพพาชนียสูตร ๑๔. ธรรมิกสูตร วรรคที่ ๒ นี้รวมพระสูตรได้ ๑๔ สูตร พระผู้มีพระภาคทรงจำแนกไว้ดีแล้ว ในวรรคที่ ๒ นั้น บัณฑิตทั้งหลายกล่าววรรคที่ ๒ นั้นว่า จุฬกวรรค ฯ ๑. ปัพพัชชาสูตร ๒. ปธานสูตร ๓. สุภาษิตสูตร ๔. สุนทริกสูตร ๕. มาฆสูตร ๖. สภิยสูตร ๗. เสลสูตร ๘. สัลลสูตร ๙. วาเสฏฐสูตร ๑๐. โกกาลิกสูตร ๑๑. นาลกสูตร ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร วรรคที่ ๓ นี้ รวมพระสูตรได้ ๑๒ สูตร พระผู้มีพระภาคทรงจำแนกไว้ ดีแล้วในวรรคที่ ๓ บัณฑิตได้สดับกันมามีชื่อว่า มหาวรรค ฯ ๑. กามสูตร ๒. คุหัฏฐกสูตร ๓. ทุฏฐัฏฐกสูตร ๔. สุทธัฏฐกสูตร ๕. ปรมัฏฐกสูตร ๖. ชราสูตร ๗. ติสสเมตเตยยสูตร ๘. ปสูรสูตร ๙. มาคันทิยสูตร ๑๐. ปุราเภทสูตร ๑๑. กลหวิวาทสูตร ๑๒. จูฬวิยูหสูตร ๑๓. มหาวิยูหสูตร ๑๔. ตุวฏกสูตร ๑๕. อัตตทัณฑสูตร ๑๖. สาริปุตตสูตร วรรคที่ ๔ นี้รวมพระสูตรได้ ๑๖ สูตร พระผู้มีพระภาคทรงจำแนกไว้ดีแล้วในวรรคที่ ๔ บัณฑิต- ทั้งหลายกล่าววรรคที่ ๔ นั้นว่า อัฏฐกวรรค ฯ พระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐในคณะ ประทับอยู่ ณ ปาสาณก- เจดีย์อันประเสริฐ อันบุคคลตกแต่งไว้ดีแล้ว ในมคธชนบท เป็นรัมณียสถาน เป็นประเทศอันสวยงาม เป็นที่อยู่อาศัย แห่งบุคคลผู้มีบุญอันได้กระทำไว้แล้ว อนึ่ง ได้ยินว่า พระผู้มี พระภาคอันพราหมณ์ ๑๖ คน ทูลถามปัญหาแล้ว ได้ทรง ประกาศประทานธรรมกะชนทั้งสองพวกผู้มาประชุมกันเต็มที่ ณ ปาสาณกเจดีย์ ในบริษัทประมาณ ๑๒ โยชน์ เพราะการ ถามโสฬสปัญหา พระผู้มีพระภาคผู้ทรงชนะ ผู้เลิศกว่าสัตว์ ได้ทรงแสดงธรรมอันประกาศอรรถบริบูรณ์ด้วยพยัญชนะ เป็นที่เกิดความเกษมอย่างยิ่ง เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่โลก พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าสัตว์ ได้ทรงแสดงพระสูตรอันวิจิตร ด้วยธรรมเป็นอันมาก เป็นเหตุให้ปลดเปลื้องกิเลสทั้งปวง ได้ทรงแสดงพระสูตร อันประกอบด้วยบทแห่งพยัญชนะ และ อรรถ มีความเปรียบเทียบซึ่งหมายรู้กันแล้วด้วยอักขระอัน มั่นคง เป็นส่วนแห่งความแจ่มแจ้งแห่งวิจารณญาณของโลก พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าสัตว์ ได้ทรงแสดงพระสูตรอันไม่มี มลทินเพราะมลทินคือราคะ มลทินคือโทสะ มลทินคือโมหะ เป็นส่วนแห่งธรรมปราศจากมลทิน เป็นส่วนแห่งความ แจ่มแจ้งแห่งวิจารณญาณของโลก ได้ทรงแสดงพระสูตรอัน ประเสริฐ อันไม่มีมลทินเพราะมลทินคือกิเลส มลทินคือ ทุจริต เป็นส่วนแห่งธรรมปราศจากมลทิน เป็นส่วนแห่ง ความแจ่มแจ้งแห่งวิจารณญาณของโลก ได้ทรงแสดงพระสูตร อันประเสริฐเป็นเหตุปลดเปลื้องอาสวะ กิเลสเป็นเครื่องผูก กิเลสเป็นเครื่องประกอบ นิวรณ์ และมลทินทั้ง ๓ ของ โลกนั้น พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าสัตว์ ได้ทรงแสดงพระสูตร อันประเสริฐหามลทินมิได้ เป็นเครื่องบรรเทาความเศร้า หมองทุกอย่าง เป็นเครื่องคลายความกำหนัด ไม่มีความ หวั่นไหว ไม่มีความโศก เป็นธรรมอันละเอียด ประณีตและ เห็นได้ยาก ได้ทรงแสดงพระสูตรอันประเสริฐ อันหักราน ราคะและโทสะให้สงบ เป็นเครื่องตัดกำเนิด ทุคติ วิญญาณ ๕ ความยินดีในพื้นฐาน คือ ตัณหา เป็นเครื่องต้านทานและเป็น เครื่องพ้น ได้ทรงแสดงพระสูตรอันประเสริฐ ลึกซึ้งเห็น ได้ยากและละเอียดอ่อน มีอรรถอันละเอียดบัณฑิตควรรู้แจ้ง เป็นส่วนแห่งความแจ่มแจ้งแห่งวิจารณญาณของโลก ได้ทรง แสดงพระสูตรอันประเสริฐ ดุจดอกไม้เครื่องประดับอันยั่งยืน ๙ ชนิด อันจำแนกอินทรีย์ ฌานและวิโมกข์ มีมรรคมีองค์ ๘ เป็นยานอย่างประเสริฐ พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าสัตว์ ได้ทรง แสดงพระสูตรอันประเสริฐ ปราศจากมลทิน บริสุทธิ์ เปรียบด้วยห้วงน้ำวิจิตรด้วยรตนะ เสมอด้วยดอกไม้ มีเดช อันเปรียบด้วยพระอาทิตย์ พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าสัตว์ ได้ทรงแสดงพระสูตรอันประเสริฐ ปลอดโปร่ง เกษม ให้สุข เย็นสงบ มีประโยชน์อย่างยิ่งในการต่อต้านมัจจุ เป็นเหตุ ให้เห็นนิพพานอันดับกิเลสสนิทดีแล้วของโลกนั้น ฯ
จบสุตตนิบาต
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ บรรทัดที่ ๗๖๐๐-๑๑๖๑๓ หน้าที่ ๓๓๓-๕๐๑. https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=7600&Z=11613&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8], [9], [10], [11], [12], [13], [14], [15], [16], [17], [18], [19], [max20]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=25&siri=239              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=313              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [313-444] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=25&item=313&items=132              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=28&A=6737              The Pali Tipitaka in Roman :- [313-444] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=25&item=313&items=132              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=28&A=6737              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ https://84000.org/tipitaka/read/?index_25              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/25i294-e.php#sutta12 https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/snp/snp.1.12.than.html https://suttacentral.net/snp1.12/en/mills https://suttacentral.net/snp1.12/en/sujato

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :