ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
ปฏิสัมภิทาสูตรที่ ๒
[๓๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งปฏิสัมภิทา ๔ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ ธรรม ๗ ประการเป็นไฉน คือ สารีบุตรในธรรมวินัยนี้ เมื่อจิตหดหู่ ย่อมรู้ชัดตาม เป็นจริงว่า จิตของเราหดหู่ จิตท้อแท้ในภายใน ก็รู้ชัดตามเป็นจริงว่า จิตของเราท้อแท้ในภายใน หรือจิตที่ฟุ้งซ่านไปภายนอก ก็รู้ชัดตามเป็นจริงว่า จิตของเราฟุ้งซ่านไปภายนอก เวทนาย่อมเกิดขึ้น ย่อมปรากฏ ย่อมถึงการตั้งอยู่ ไม่ได้ สารีบุตรทราบแล้ว สัญญาย่อมเกิดขึ้น ย่อมปรากฏ ย่อมถึงการตั้งอยู่ ไม่ได้ สารีบุตรทราบแล้ว วิตกย่อมเกิดขึ้น ย่อมปรากฏ ย่อมถึงการตั้งอยู่ไม่ได้ สารีบุตรทราบแล้ว จิตในธรรมเป็นที่สบาย ไม่สบาย เลว ประณีต ดำ ขาว และเป็นปฏิภาคกัน อันสารีบุตรเรียนดีแล้ว มนสิการดีแล้ว ทรงไว้ดีแล้ว แทงตลอดดีแล้ว ด้วยปัญญา ดูกรภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรผู้ประกอบด้วยธรรม ๗ ประการนี้แล ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งปฏิสัมภิทา ๔ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ ฯ
จบสูตรที่ ๘
วสสูตรที่ ๑
[๓๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ ย่อมยัง จิตให้เป็นไปในอำนาจได้ และไม่เป็นไปตามอำนาจของจิต ธรรม ๗ ประการ เป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ฉลาดในสมาธิ ๑ ฉลาดในการเข้าสมาธิ ๑ ฉลาดในการตั้งอยู่แห่งสมาธิ ๑ ฉลาดในการออกแห่งสมาธิ ๑ ฉลาดในความ พร้อมมูลแห่งสมาธิ ๑ ฉลาดรู้ในอารมณ์แห่งสมาธิ ๑ ฉลาดในอภินิหารแห่ง สมาธิ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๗ ประการนี้แล ย่อมยัง จิตให้เป็นไปในอำนาจได้ และไม่เป็นไปตามอำนาจของจิต ฯ
จบสูตรที่ ๙
วสสูตรที่ ๒
[๓๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรผู้ประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ ย่อมยังจิตให้เป็นไปในอำนาจได้ และไม่เป็นไปตามอำนาจของจิต ธรรม ๗ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ฉลาดใน สมาธิ ๑ ฉลาดในการเข้าสมาธิ ๑ ฉลาดในการตั้งอยู่แห่งสมาธิ ๑ ฉลาดในการ ออกแห่งสมาธิ ๑ ฉลาดในความพร้อมมูลแห่งสมาธิ ๑ ฉลาดในอารมณ์แห่ง สมาธิ ๑ ฉลาดในอภินิหารแห่งสมาธิ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรผู้ประกอบ ด้วยธรรม ๗ ประการนี้แล ย่อมยังจิตให้เป็นไปในอำนาจได้ และไม่เป็นไปตาม อำนาจของจิต ฯ
จบสูตรที่ ๑๐
นิททสสูตรที่ ๑
[๓๙] ครั้งนั้นแล เวลาเช้า ท่านพระสารีบุตรนุ่งแล้ว ถือบาตรและ จีวร เข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านคิดว่า เราจะเที่ยวไป บิณฑบาตในพระนครสาวัตถีก็ยังเช้านัก อย่ากระนั้นเลย เราควรเข้าไปยังอาราม ของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเถิด ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรเข้าไปยังอารามของ พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ได้สนทนาปราศรัยกับพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ครั้น ผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ก็สมัยนั้น พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกกำลังนั่งประชุมสนทนากันว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านผู้ใดผู้หนึ่งประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ ๑๒ ปี ควรจะเรียกว่า ภิกษุผู้นิททสะ ๑- ท่านพระสารีบุตรไม่ยินดี ไม่คัดค้านคำกล่าวของพวก อัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น ครั้นแล้วลุกจากที่นั่งหลีกไปด้วยตั้งใจว่า เราจะรู้ ทั่วถึงเนื้อความแห่งภาษิตนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาค ลำดับนั้น ท่านพระ @๑. คำว่า นิททสะ แปลว่า ไม่ใช่สิบ เป็นลัทธิชนิดหนึ่งของพวกอัญญเดียรถีย์ @ปริพาชก สารีบุตรเที่ยวไปบิณฑบาตในพระนครสาวัตถีแล้ว กลับจากบิณฑบาต ในเวลา ปัจฉาภัต เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทาน พระวโรกาส เวลาเช้า ข้าพระองค์นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาต ยังพระนครสาวัตถี ข้าพระองค์คิดว่า เราจะเที่ยวไปบิณฑบาตในพระนครสาวัตถี ก็ยังเช้านัก อย่ากระนั้นเลย เราควรเข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ลำดับนั้น ข้าพระองค์เข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ได้สนทนา ปราศรัยกับพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกัน ไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ก็สมัยนั้น พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก กำลังนั่งประชุมสนทนากันว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านผู้ใดผู้หนึ่งประพฤติ พรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ ๑๒ ปี ควรเรียกว่า ภิกษุผู้นิททสะ แต่ ข้าพระองค์ไม่ยินดี ไม่คัดค้านคำกล่าวของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น ครั้นแล้วลุกจากอาสนะหลีกไปด้วยตั้งใจว่า เราจะรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งภาษิตนี้ใน สำนักของพระผู้มีพระภาค ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์อาจหรือหนอ เพื่อ ทรงบัญญัติภิกษุผู้นิททสะ ด้วยเหตุเพียงการนับพรรษาอย่างเดียว ในธรรม วินัยนี้ ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสารีบุตร จะไม่มีใครๆ อาจเพื่อบัญญัติ ภิกษุผู้นิททสะด้วยเหตุเพียงนับพรรษาอย่างเดียว ในธรรมวินัยนี้ ดูกรสารีบุตร วัตถุแห่งนิททสะ ๗ ประการนี้ เรากระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ประกาศ แล้ว ๗ ประการเป็นไฉน ดูกรสารีบุตร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีฉันทะกล้า ในการสมาทานสิกขา และมีความรักอย่างลึกซึ้งในการสมาทานสิกขาต่อไป ๑ มีฉันทะกล้าในการฟังธรรม และมีความรักอย่างลึกซึ้งในการฟังธรรมต่อไป ๑ มีฉันทะกล้าในการกำจัดความอยาก และมีความรักอย่างลึกซึ้งในการกำจัดความ อยากต่อไป ๑ มีฉันทะกล้าในการหลีกออกเร้น และมีความรักอย่างลึกซึ้งในการ หลีกออกเร้นต่อไป ๑ มีฉันทะกล้าในการปรารภความเพียร และมีความรักอย่าง ลึกซึ้งในการปรารภความเพียรต่อไป ๑ มีฉันทะกล้าในสติเครื่องรักษาตัว และมี ความรักอย่างลึกซึ้งในสติเครื่องรักษาตัวต่อไป ๑ มีฉันทะกล้าในการแทงตลอด ด้วยทิฐิ และมีความรักอย่างลึกซึ้งในการแทงตลอดด้วยทิฐิต่อไป ๑ ดูกรสารีบุตร วัตถุแห่งนิททสะ ๗ ประการนี้แล เรากระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ประกาศ แล้ว ดูกรสารีบุตร ภิกษุผู้ประกอบด้วยวัตถุแห่งนิททสะ ๗ ประการนี้แล ถ้า ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ ๑๒ ปี ก็ควรจะเรียกได้ว่า ภิกษุผู้ นิททสะ ถ้าประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ ๒๔ ปี ก็ดี ... ๓๖ ปีก็ดี ... ๔๘ ปีก็ดี ก็ควรจะเรียกได้ว่า ภิกษุผู้นิททสะ ฯ
จบสูตรที่ ๑๑
นิททสสูตรที่ ๒
[๔๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้พระนคร โกสัมพี ครั้งนั้น เป็นเวลาเช้า ท่านพระอานนท์นุ่งแล้วถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังพระนครโกสัมพี ครั้งนั้นท่านคิดว่า เราจะเที่ยวไปบิณฑบาต ในพระนครโกสัมพี ก็ยังเช้านัก อย่ากระนั้นเลย เราควรเข้าไปยังอารามของ พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเถิด ลำดับนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปยังอารามของ พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ได้สนทนาปราศรัยกับพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ก็สมัยนั้น พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกกำลังนั่งประชุมสนทนากันว่า ท่านผู้มีอายุ ทั้งหลาย ท่านผู้ใดผู้หนึ่งประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ ๑๒ ปี ควรจะ เรียกว่า ภิกษุผู้นิททสะ ท่านพระอานนท์ไม่ยินดี ไม่คัดค้านคำกล่าวของพวก อัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น ครั้นแล้ว ลุกจากอาสนะหลีกไปด้วยตั้งใจว่า เราจะรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งคำกล่าวของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกในสำนัก ของ พระผู้มีพระภาค ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ได้เที่ยวบิณฑบาตในพระนครโกสัมพี กลับจากบิณฑบาตในเวลาปัจฉาภัต เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส เวลาเช้า ข้าพระองค์นุ่งแล้วถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังพระนครโกสัมพี ข้าพระองค์ได้คิดว่า เราจะเที่ยวไปบิณฑบาต ในพระนครโกสัมพี ก็ยังเช้านัก อย่ากระนั้นเลย เราควรเข้าไปยังอารามของ พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ลำดับนั้น ข้าพระองค์เข้าไปยังอารามของพวก อัญญเดียรถีย์ปริพาชกได้สนทนาปราศรัยกับพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ครั้นผ่าน การปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ก็สมัยนั้น พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกกำลังนั่งประชุมสนทนากันว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านผู้ใดผู้หนึ่งประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบ ๑๒ ปี ควรเรียกว่า ภิกษุผู้นิททสะ แต่ข้าพระองค์ไม่ยินดี ไม่คัดค้านคำกล่าวของพวกอัญญเดียรถีย์ ปริพาชกเหล่านั้น ครั้นแล้วลุกจากอาสนะหลีกไป ด้วยคิดว่า เราจะรู้ทั่วถึง เนื้อความของภาษิตนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาค ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ อาจหรือหนอ เพื่อทรงบัญญัติภิกษุผู้นิททสะ ด้วยเหตุเพียงนับพรรษาอย่างเดียว ในธรรมวินัยนี้ ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ไม่มีใครๆ อาจเพื่อบัญญัติภิกษุ ผู้นิททสะ ด้วยเหตุเพียงนับพรรษาอย่างเดียวในธรรมวินัยนี้ ดูกรอานนท์ วัตถุ แห่งนิททสะ ๗ ประการนี้ เรากระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ประกาศแล้ว ๗ ประการเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา ๑ มีหิริ ๑ มีโอตตัปปะ ๑ เป็นพหูสูต ๑ ปรารภความเพียร ๑ มีสติ ๑ มีปัญญา ๑ ดูกรอานนท์ วัตถุแห่งนิททสะ ๗ ประการนี้แล เรากระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอัน ยิ่งเอง ประกาศแล้ว ดูกรอานนท์ ภิกษุผู้ประกอบด้วยวัตถุแห่งนิททสะ ๗ ประการนี้แล ถ้าประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบ ๑๒ ปีก็ดี ควรจะ เรียกได้ว่า ภิกษุผู้นิททสะ ถ้าประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบ ๒๔ ปีก็ดี ... ๓๖ ปีก็ดี ... ๔๘ ปีก็ดี ก็ควรจะเรียกได้ว่า ภิกษุผู้นิททสะ ฯ
จบสูตรที่ ๑๒
จบเทวตาวรรคที่ ๔
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อัปปมาทสูตร ๒. หิรีมาสูตร ๓. สุวจสูตรที่ ๑ ๔. สุวจสูตร ที่ ๒ ๕. สขสูตรที่ ๑ ๖. สขสูตรที่ ๒ ๗. ปฏิสัมภิทาสูตรที่ ๑ ๘. ปฏิสัมภิทาสูตรที่ ๒ ๙. วสสูตรที่ ๑ ๑๐. วสสูตรที่ ๒ ๑๑. นิททสสูตร ที่ ๑ ๑๒. นิททสสูตรที่ ๒
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ บรรทัดที่ ๘๑๙-๙๔๘ หน้าที่ ๓๗-๔๒. https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=23&A=819&Z=948&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=23&siri=36              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=23&i=36              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [36-40] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=23&item=36&items=5              The Pali Tipitaka in Roman :- [36-40] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=23&item=36&items=5              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ https://84000.org/tipitaka/read/?index_23              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/23i029-e.php#sutta8 https://suttacentral.net/an7.39/en/sujato

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :