ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒
๒. โกสิยวรรค สิกขาบทที่ ๖
เรื่องภิกษุรูปหนึ่ง
[๙๗] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ- *บิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเดินทางไปสู่พระนครสาวัตถี แถบ โกศลชนบท. ขนเจียมเกิดขึ้นแก่เธอในระหว่างทาง จึงภิกษุนั้นได้เอาผ้าอุตราสงค์ห่อขนเจียม เหล่านั้นเดินไป. ชาวบ้านเห็นภิกษุนั้นแล้วพูดสัพยอกว่า ท่านเจ้าข้า ท่านซื้อขนเจียมมาด้วยราคาเท่าไร กำไรจักมีสักเท่าไร. ภิกษุรูปนั้นถูกชาวบ้านพูดสัพยอกได้เป็นผู้เก้อ. ครั้นเธอไปถึงพระนครสาวัตถีแล้ว ทั้งๆ ที่ยืนอยู่นั่นแล ได้โยนขนเจียมเหล่านั้นลง. ภิกษุทั้งหลายจึงถามภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า อาวุโส ทำไมท่านจึงโยนขนเจียมเหล่านั้นลงทั้งๆ ที่ยังยืนอยู่เล่า? ภิกษุรูปนั้นตอบว่า ก็เพราะผมถูกชาวบ้านพูดสัพยอก เหตุขนเจียมเหล่านี้ ขอรับ. ภิกษุทั้งหลายถามว่า อาวุโส ก็ท่านนำขนเจียมเหล่านี้มาจากที่ไกลเท่าไรเล่า? ภิกษุรูปนั้นตอบว่า เกินกว่า ๓ โยชน์ ขอรับ. บรรดาภิกษุผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา ต่างก็ เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนภิกษุจึงได้นำขนเจียมมาไกลเกิน ๓ โยชน์เล่า? แล้วกราบ ทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
ประชุมสงฆ์ทรงสอบถาม
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ใน เพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามภิกษุรูปนั้นว่า ดูกรภิกษุ ข่าวว่าเธอนำขนเจียมมาไกล เกิน ๓ โยชน์ จริงหรือ? ภิกษุรูปนั้นทูลว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
ทรงติเตียน
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนเธอจึงได้นำขนเจียมมาไกลเกิน กว่า ๓ โยชน์ การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว. โดยที่แท้ การกระทำของเธอนั่น เป็นไป เพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่ เลื่อมใสแล้ว.
ทรงบัญญัติสิกขาบท
พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนภิกษุรูปนั้น โดยอเนกปริยาย ดังนี้แล้ว ตรัสโทษแห่งความ เป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความ คลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความ มักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การ ปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย, ทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่ เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลายแล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัย อำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจะ บังเกิดในปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ ยังไม่เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระ- *สัทธรรม ๑ เพื่อถือตามพระวินัย ๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระบัญญัติ
๓๕.๖. อนึ่ง ขนเจียมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้เดินทางไกล, ภิกษุต้องการพึงรับได้, ครั้นรับแล้ว เมื่อคนถือไม่มี พึงถือไปด้วยมือของตนเองตลอดระยะทาง ๓ โยชน์เป็น อย่างมาก, ถ้าเธอถือเอาไปยิ่งกว่านั้น แม้คนถือไม่มี, เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.
เรื่องภิกษุรูปหนึ่ง จบ.
สิกขาบทวิภังค์
[๙๘] บทว่า ... แก่ภิกษุผู้เดินทางไกล ได้แก่ ภิกษุเดินทาง. บทว่า ขนเจียมเกิดขึ้น คือ เกิดขึ้นแต่สงฆ์ก็ตาม แต่คณะก็ตาม แต่ญาติก็ตาม แต่มิตร ก็ตาม แต่ที่บังสุกุลก็ตาม แต่ทรัพย์ของตนก็ตาม. บทว่า ต้องการ คือ เมื่อปรารถนา ก็พึงรับได้. คำว่า ครั้นรับแล้ว ... พึงถือไปด้วยมือของตนเอง ตลอดระยะทาง ๓ โยชน์เป็น อย่างมาก คือ นำไปด้วยมือของตนเองได้ ชั่วระยะทาง ๓ โยชน์ เป็นอย่างไกล. บทว่า เมื่อคนถือไม่มี ความว่า คนอื่น คือ สตรี หรือบุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต สักตนหนึ่ง เป็นผู้ช่วยถือไปไม่มี. คำว่า ถ้าเธอถือเอาไปยิ่งกว่านั้น แม้คนถือไม่มี อธิบายว่า เธอก้าวเกิน ๓ โยชน์ เท้าแรก, ต้องอาบัติทุกกฏ. เท้าที่สอง ขนเจียมเหล่านั้น, เป็นนิสสัคคีย์. เธอยืนอยู่ภายในระยะ ๓ โยชน์ โยนขนเจียมลงนอกระยะ ๓ โยชน์, ก็เป็นนิสสัคคีย์. ซ่อนไว้ในยานพาหนะก็ตาม ในห่อถุงก็ตาม ของคนอื่น ซึ่งเขาไม่รู้ ให้ล่วง ๓ โยชน์ไป, ก็เป็นนิสสัคคีย์. คือ เป็นของ จำต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุพึงเสียสละขนเจียมนั้นอย่างนี้:-
วิธีเสียสละ
เสียสละแก่สงฆ์
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่พรรษากว่า นั่งกระหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านเจ้าข้า ขนเจียมเหล่านี้ของข้าพเจ้าให้ล่วงเลย ๓ โยชน์ เป็นของจำจะสละ, ข้าพเจ้า สละขนเจียมเหล่านี้แก่สงฆ์. ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงรับอาบัติ พึงคืนขนเจียมที่ เสียสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:- ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า. ขนเจียมเหล่านี้ของภิกษุมีชื่อนี้ เป็นของ จำจะสละ, เธอสละแล้วแก่สงฆ์. ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ที่ถึงที่แล้ว, สงฆ์พึงให้ ขนเจียมเหล่านี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้.
เสียสละแก่คณะ
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่ พรรษากว่า นั่งกระหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า:- ท่านเจ้าข้า ขนเจียมเหล่านี้ของข้าพเจ้าให้ล่วง ๓ โยชน์ เป็นของจำจะสละ, ข้าพเจ้า สละขนเจียมเหล่านี้แก่ท่านทั้งหลาย. ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงรับอาบัติ พึงคืนขนเจียมที่ เสียสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:- ท่านทั้งหลาย ขอจงฟังข้าพเจ้า. ขนเจียมเหล่านี้ของภิกษุมีชื่อนี้. เป็นของ จำจะสละ, เธอสละแล้วแก่ท่านทั้งหลาย. ถ้าความพร้อมพรั่งของท่านทั้งหลายถึง ที่แล้ว, ท่านทั้งหลายพึงให้ขนเจียมเหล่านี้แก่ภิกษุมีชื่อ.
เสียสละแก่บุคคล
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า:- ท่าน ขนเจียมเหล่านี้ของข้าพเจ้าให้ล่วงเลย ๓ โยชน์ เป็นของจำจะสละ, ข้าพเจ้าสละ ขนเจียมเหล่านี้แก่ท่าน. ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้รับเสียสละนั้นพึงรับอาบัติ พึงคืนขนเจียมที่เสีย สละให้ด้วยคำว่า ข้าพเจ้าให้ขนเจียมเหล่านี้แก่ท่าน ดังนี้.
บทภาชนีย์
ติกะนิสสัคคิยปาจิตตีย์
[๙๙] เกิน ๓ โยชน์ ภิกษุสำคัญว่าเกิน เดินเลย ๓ โยชน์ไป, เป็นนิสสัคคีย์ ต้อง อาบัติปาจิตตีย์. เกิน ๓ โยชน์ ภิกษุสงสัย เดินเลย ๓ โยชน์ไป, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เกิน ๓ โยชน์ ภิกษุสำคัญว่าหย่อน เดินเลย ๓ โยชน์ไป, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติ ปาจิตตีย์.
ทุกกฏ
หย่อน ๓ โยชน์ ภิกษุสำคัญว่าเกิน ... ต้องอาบัติทุกกฏ. หย่อน ๓ โยชน์ ภิกษุสงสัย ... ต้องอาบัติทุกกฏ.
ไม่ต้องอาบัติ
หย่อน ๓ โยชน์ ภิกษุสำคัญว่าหย่อน ... ไม่ต้องอาบัติ.
อนาปัตติวาร
[๑๐๐] ภิกษุถือไปเพียงระยะ ๓ โยชน์ ๑, ภิกษุถือไปหย่อนระยะ ๓ โยชน์ ๑, ภิกษุ ถือไปก็ดี ถือกลับมาก็ดี เพียงระยะ ๓ โยชน์ ๑, ภิกษุถือไปเพียง ๓ โยชน์ แล้วพักแรมเสีย รุ่งขึ้นถือต่อจากนั้นไปอีก ๑, ขนเจียมถูกโจรชิงไปแล้ว ภิกษุได้คืนมา ถือไปอีก ๑, ขนเจียม ที่สละแล้ว ภิกษุได้คืนมา ถือไปอีก ๑, ภิกษุให้คนอื่นช่วยถือไป ๑, ขนเจียมที่ทำเป็นสิ่งของ แล้วภิกษุถือไป ๑, ภิกษุวิกลจริต ๑, ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑, ไม่ต้องอาบัติแล.
โกสิยวรรค สิกขาบทที่ ๖ จบ.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ บรรทัดที่ ๒๒๖๖-๒๓๗๗ หน้าที่ ๙๕-๙๙. https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=2&A=2266&Z=2377&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=2&siri=16              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=97              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [97-100] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=2&item=97&items=4              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=4657              The Pali Tipitaka in Roman :- [97-100] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=2&item=97&items=4              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=4657              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_2              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-np16/en/brahmali

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :