ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒
๔. โภชนวรรค สิกขาบทที่ ๖
เรื่องภิกษุ ๒ รูป
[๕๐๔] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น ภิกษุ ๒ รูปเดินทางไกลไปยังพระนครสาวัตถี ในโกศลชนบท. ภิกษุรูปหนึ่งประพฤติอนาจาร. ภิกษุผู้เป็นเพื่อนจึงเตือนเธอว่า อาวุโส ท่าน อย่าได้ทำอย่างนั้น เพราะมันไม่สมควร. เธอได้ผูกใจเจ็บในภิกษุเพื่อนนั้น. ครั้นภิกษุ ๒ รูปนั้น ไปถึงพระนครสาวัตถีแล้ว พอดีเวลานั้นในพระนครสาวัตถีมีสังฆภัตของประชาชนหมู่หนึ่ง. ภิกษุผู้เป็นเพื่อนฉันเสร็จห้ามภัตแล้ว. ภิกษุรูปที่ผูกใจเจ็บไปสู่ตระกูลญาติรับบิณฑบาตมาแล้วเข้า ไปหาภิกษุที่เป็นเพื่อนนั้น. ครั้นแล้วได้กล่าวคำนี้กะเธอว่า อาวุโส นิมนต์ฉัน. ภิกษุผู้เป็นเพื่อนปฏิเสธว่า พอแล้ว อาวุโส ผมบริบูรณ์แล้ว. รูปที่ผูกใจเจ็บแค่นไค้ว่า อาวุโส บิณฑบาตอร่อย นิมนต์ฉันเถิด. ครั้นภิกษุผู้เป็นเพื่อนถูกภิกษุผู้ผูกใจเจ็บนั้นแค่นไค้ จึงได้ฉันบิณฑบาตนั้น. รูปที่ผูกใจเจ็บจึงพูดต่อว่าภิกษุผู้เป็นเพื่อนว่า อาวุโส ท่านได้สำคัญผมว่าเป็นผู้ที่ท่านควร ว่ากล่าว ท่านเองฉันเสร็จห้ามภัตแล้ว ยังฉันโภชนะอันมิใช่เดนได้. ภิกษุผู้เป็นเพื่อนค้านว่า อาวุโส ท่านควรบอกมิใช่หรือ รูปที่ผูกใจเจ็บพูดแย้งว่า อาวุโส ท่านต้องถามมิใช่หรือ ครั้นแล้วภิกษุผู้เป็นเพื่อนได้แจ้งเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย. บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ต่างก็ เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนภิกษุจึงได้นำไปปวารณาภิกษุผู้ฉันเสร็จห้ามภัตแล้วด้วยโภชนะ อันมิใช่เดนเล่า ... แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
ทรงสอบถาม
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุนั้นว่า ดูกรภิกษุ ข่าวว่าเธอนำไปปวารณาภิกษุผู้ฉัน เสร็จห้ามภัตแล้วด้วยโภชนะอันมิใช่เดนจริงหรือ? ภิกษุนั้นทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงได้นำไปปวารณาภิกษุ ผู้ฉันเสร็จห้ามภัตแล้วโดยโภชนะอันมิใช่เดนเล่า การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความ เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ... . ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระบัญญัติ
๕๘.๖. อนึ่ง ภิกษุใดรู้อยู่ เพ่งจะหาโทษให้ นำไปปวารณาภิกษุผู้ฉันเสร็จ ห้ามภัตแล้ว ด้วยของเคี้ยวก็ดี ด้วยของฉันก็ดี อันมิใช่เดน บอกว่า นิมนต์เถิด ภิกษุ เคี้ยวก็ตาม ฉันก็ตาม พอเธอฉันแล้ว เป็นปาจิตตีย์.
เรื่องภิกษุ ๒ รูป จบ.
สิกขาบทวิภังค์
[๕๐๕] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ... . บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ ชื่อว่า ภิกษุ ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้. บทว่า ภิกษุ หมายถึงภิกษุรูปอื่น. ที่ชื่อว่า ฉันเสร็จ คือ ฉันโภชนะ ๕ อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยที่สุด แม้ฉันด้วยปลาย หญ้าคา.
ลักษณะห้ามภัต
ที่ชื่อว่า ห้ามภัตแล้ว คือ กำลังฉันอาหารอยู่ ๑ ทายกนำโภชนะมาถวายอีก ๑ ทายกอยู่ในหัตถบาส ๑ ทายกน้อมถวาย ๑ ภิกษุห้ามเสีย ๑.
ลักษณะของมิใช่เดน
ที่ชื่อว่า มิใช่เดน คือ ของที่ยังมิได้ทำให้เป็นกัปปิยะ ๑ ภิกษุมิได้รับประเคน ๑ ภิกษุมิได้ยกขึ้นส่งให้ ๑ ทำนอกหัตถบาส ๑ ภิกษุยังฉันไม่เสร็จทำ ๑ ภิกษุฉันเสร็จ ห้ามภัต แล้ว ลุกจากอาสนะแล้ว ทำ ๑ ภิกษุมิได้พูดว่าทั้งหมดนั่นพอแล้ว ๑ ของนั้นมิใช่เป็นเดน ภิกษุอาพาธ ๑ นี้ชื่อว่า มิใช่เดน.
ลักษณะของเคี้ยว
ที่ชื่อว่า ของเคี้ยว คือเว้นโภชนะ ๕ ของที่เป็นยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก นอกนั้นชื่อว่า ของเคี้ยว.
ลักษณะของฉัน
ที่ชื่อว่า ของฉัน ได้แก่โภชนะ ๕ คือ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ. บทว่า นำไปปวารณา คือ บอกว่า จงรับของตามที่ต้องการ. ที่ชื่อว่า รู้อยู่ คือ รู้เอง หรือรูปอื่นบอกเธอ หรือภิกษุนั้นบอก. ที่ชื่อว่า เพ่งจะหาโทษให้ คือ เพ่งเล็งว่า จักท้วง จักเตือน จักท้วงซ้ำ จักเตือนซ้ำ ซึ่งภิกษุนี้ จักทำให้เป็นผู้เก้อ ด้วยโทษข้อนี้. ภิกษุนำไป ต้องอาบัติทุกกฏ. ภิกษุรับไว้ตามคำของเธอด้วยตั้งใจว่า จักเคี้ยว จักฉัน ภิกษุผู้นำไป ต้องอาบัติทุกกฏ. ขณะกลืน ภิกษุผู้นำไป ต้องอาบัติทุกกฏ ทุกๆ คำกลืน เมื่อภิกษุนั้นฉันเสร็จ ภิกษุ ผู้นำไป ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
บทภาชนีย์
[๕๐๖] ห้ามภัตแล้ว ภิกษุสำคัญว่าห้ามภัตแล้ว นำไปปวารณาด้วยของเคี้ยวก็ดี ของ ฉันก็ดี อันมิใช่เดน ต้องอาบัติปาจิตตีย์. ห้ามภัตแล้ว ภิกษุสงสัย นำไปปวารณาด้วยของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี อันมิใช่เดน ต้องอาบัติทุกกฏ. ห้ามภัตแล้ว ภิกษุสำคัญว่ายังมิได้ห้ามภัต นำไปปวารณาด้วยของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี อันมิใช่เดน ไม่ต้องอาบัติ. ภิกษุนำยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก ไปเพื่อประสงค์เป็นอาหาร ต้องอาบัติทุกกฏ. ภิกษุรับไว้ตามคำของภิกษุผู้นำไปด้วยตั้งใจว่า จักเคี้ยว จักฉัน ภิกษุผู้นำไป ต้องอาบัติ ทุกกฏ. ขณะกลืน ภิกษุผู้นำไปต้องอาบัติทุกกฏ ทุกๆ คำกลืน. ยังมิได้ห้ามภัต ภิกษุสำคัญว่า ห้ามภัตแล้ว ... ต้องอาบัติทุกกฏ. ยังมิได้ห้ามภัต ภิกษุสงสัย ... ต้องอาบัติทุกกฏ.
ไม่ต้องอาบัติ
ยังมิได้ห้ามภัต ภิกษุสำคัญว่ายังมิได้ห้ามภัต ... ไม่ต้องอาบัติ.
อนาปัตติวาร
[๕๐๗] ภิกษุให้ทำเป็นเดนแล้วให้ ๑ ภิกษุให้ด้วยบอกว่า จงให้ทำเป็นเดนแล้วจึงฉัน เถิด ๑ ภิกษุให้ด้วยบอกว่า จงนำไปเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุอื่น ๑ ภิกษุให้อาหารที่เหลือของ ภิกษุอาพาธ ๑ ภิกษุให้ด้วยบอกว่า ในเมื่อมีเหตุสมควร จงฉันยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
โภชนวรรค สิกขาบทที่ ๖ จบ.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ บรรทัดที่ ๑๐๗๙๐-๑๐๘๗๒ หน้าที่ ๔๕๑-๔๕๔. https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=2&A=10790&Z=10872&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=2&siri=72              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=504              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [504-507] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=2&item=504&items=4              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=8693              The Pali Tipitaka in Roman :- [504-507] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=2&item=504&items=4              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=8693              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_2              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc36/en/brahmali

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :