ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๐ สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค
คิลานสูตร
[๕๘๓] ก็สมัยนั้นแล จิตตคฤหบดีป่วย เป็นทุกข์ มีไข้หนัก ครั้งนั้น แล อารามเทวดา วนเทวดา รุกขเทวดา (และ) เทวดาที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้ เป็นยา หญ้าและพญาไม้ มาร่วมประชุมกันแล้วกล่าวกับจิตตคฤหบดีว่า ดูกร- *คฤหบดี ท่านจงปรารถนาว่า ขอให้เราเป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชในอนาคตเถิด เมื่อพวกเทวดากล่าวอย่างนี้แล้ว จิตตคฤหบดีจึงได้กล่าวกะเทวดาเหล่านั้นว่า แม้ การเป็นเช่นนั้นก็เป็นของไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน จำจะต้องละไป ฯ [๕๘๔] เมื่อจิตตคฤหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว พวกมิตรสหายญาติสาโลหิต ของจิตตคฤหบดีได้กล่าวกะจิตตคฤหบดีว่า ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุตรนาย ท่านจงตั้ง สติไว้ อย่าเพ้อไป ฯ จิตต. ฉันได้พูดอะไรออกไปบ้างหรือ ที่เป็นเหตุให้พวกท่านทั้งหลาย กล่าวกะฉันอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุตรนาย ท่านจงตั้งสติไว้ อย่าเพ้อไป ฯ มิตร. ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุตรนาย ท่านได้พูดอย่างนี้ว่า แม้การเป็นเช่นนั้น ก็เป็นของไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน จำจะต้องละไป ฯ จิตต. จริงอย่างนั้น อารามเทวดา วนเทวดา รุกขเทวดา (และ) เทวดา ที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้เป็นยา หญ้าและพญาไม้ได้กล่าวกะเราอย่างนี้ว่า ดูกรคฤหบดี ท่านจงตั้งปรารถนาว่า ขอให้เราได้เป็นพระเจ้าจักรวรรดิราชในอนาคตกาล ฉันจึง ได้กล่าวกะเทวดาเหล่านั้นว่า แม้การเป็นเช่นนั้นก็เป็นของไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน จำจะ ต้องละไป ฯ มิตร. ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุตรนาย ก็อารามเทวดา วนเทวดา รุกขเทวดา (และ) เทวดาที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้เป็นยา หญ้าและพญาไม้เหล่านั้น เห็น อำนาจประโยชน์อะไร จึงได้กล่าวว่า ดูกรคฤหบดี ท่านจงปรารถนาว่า ขอให้ เราได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชในอนาคตเถิด ฯ จิตต. อารามเทวดา วนเทวดา รุกขเทวดา (และ) เทวดาที่สิงสถิต อยู่ที่ต้นไม้เป็นยา หญ้าและพญาไม้เหล่านั้น มีความคิดอย่างนี้ว่า จิตตคฤหบดี ผู้นี้เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ถ้าเธอจักปรารถนาว่า ขอให้เราได้เป็นพระเจ้า- *จักรพรรดิราชในอนาคตไซร้ การปรารถนาด้วยใจของเธอผู้มีศีลนี้จักสำเร็จได้ เพราะศีลบริสุทธิ์ ผู้ประกอบด้วยธรรมย่อมเพิ่มกำลังให้ผู้ที่ประกอบด้วยธรรม อารามเทวดา วนเทวดา รุกขเทวดา (และ) เทวดาที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้เป็นยา หญ้าและพญาไม้เหล่านั้น เห็นอำนาจประโยชน์ดังกล่าวมานี้ จึงได้กล่าวว่า ดูกรคฤหบดี ท่านจงปรารถนาว่า ขอให้เราได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชในอนาคต เถิด ฉันจึงได้กล่าวกะเทวดาเหล่านั้นว่า แม้การเป็นเช่นนั้นก็เป็นของไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน จำจะต้องละไป ฯ มิตร. ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุตรนาย ถ้าเช่นนั้น ขอท่านจงกล่าวสอนพวก ข้าพเจ้าบ้าง ฯ [๕๘๕] จิตต. ฉะนั้น พวกท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่า พวกเราจักประกอบ ด้วยศรัทธาอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาค พระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็น ศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม พวกเราจักประกอบด้วยศรัทธาอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า พระธรรมอันพระ- *ผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว อันผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียก ให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนจะพึงรู้เฉพาะตน พวกเราจักประกอบด้วย ศรัทธาอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ ปฏิบัติดีแล้ว ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเป็นธรรม ปฏิบัติชอบ นี่คือคู่แห่งบุรุษ ๔ ได้แก่บุรุษบุคคล ๘ นี้คือพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรกระทำอัญชลี เป็นนาบุญ ของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งไปกว่า อนึ่ง ไทยธรรมทุกชนิดในตระกูล จักเป็น ของควรแบ่งกับท่านผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม พวกท่านพึงศึกษาอย่างนี้แล ครั้งนั้น แล จิตตคฤหบดี ครั้นแนะนำมิตรสหายญาติสาโลหิตให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ และจาคะแล้ว ได้กระทำกาละ (ตาย) ฯ
จบสูตรที่ ๑๐
จบจิตตคหปติปุจฉา ฯ
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. สังโยชนสูตร ๒. อิสิทัตตสูตรที่ ๑ ๓. อิสิทัตตสูตรที่ ๒ ๔. มหกสูตร ๕. กามภูสูตรที่ ๑ ๖. กามภูสูตรที่ ๒ ๗. โคทัตตสูตร ๘. นิคัณฐสูตร ๙. อเจลสูตร ๑๐. คิลานสูตร ฯ
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘ บรรทัดที่ ๗๖๗๔-๗๗๓๒ หน้าที่ ๓๓๒-๓๓๔. https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=18&A=7674&Z=7732&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=18&siri=266              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=18&i=583              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [583-585] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=18&item=583&items=3              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=3567              The Pali Tipitaka in Roman :- [583-585] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=18&item=583&items=3              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=3567              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ https://84000.org/tipitaka/read/?index_18              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/18i537-e.php#sutta10 https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn41/sn41.010.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn41/sn41.010.wlsh.html https://suttacentral.net/sn41.10/en/sujato

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :