ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
๓. มฆเทวสูตร
เรื่องพระเจ้ามฆเทวะ
[๔๕๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่อัมพวัน ของพระเจ้ามฆเทวะ ใกล้เมืองมิถิลา. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแย้มพระสรวลให้ปรากฏ ณ ประเทศแห่งหนึ่ง. ลำดับนั้น ท่าน พระอานนท์ได้มีความคิดว่า อะไรหนอเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัยให้พระผู้มีพระภาคทรงแย้ม พระสรวล พระตถาคตทั้งหลายไม่ทรงแย้มพระสรวลโดยหาเหตุมิได้ ดังนี้แล้ว จึงทำจีวรเฉวียงบ่า ข้างหนึ่ง ประนมอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอ เป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ให้พระผู้มีพระภาคทรงแย้มพระสรวล พระตถาคตทั้งหลายไม่ทรง แย้มพระสรวลโดยหาเหตุมิได้. [๔๕๓] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ เรื่องเคยมีมาแล้ว ในเมืองมิถิลานี้แหละ ได้มีพระราชาพระนามว่ามฆเทวะ ทรงประกอบในธรรม เป็นพระธรรมราชา เป็นพระมหาราชาผู้ ทรงตั้งอยู่ในธรรม ทรงประพฤติราชธรรมในพราหมณ์คหบดี ในชาวนิคมและชาวชนบท ทรง รักษาอุโบสถทุกวันที่สิบสี่สิบห้าและแปดค่ำแห่งปักษ์. ดูกรอานนท์ ครั้งนั้น ด้วยล่วงปีเป็น อันมาก ล่วงร้อยปีเป็นอันมาก ล่วงพันปีเป็นอันมาก พระเจ้ามฆเทวะ รับสั่งกะช่างกัลบกว่า ดูกรเพื่อนกัลบก ท่านเห็นผมหงอกเกิดบนศีรษะของเราเมื่อใด พึงบอกเราเมื่อนั้น. ช่างกัลบก ทูลรับพระเจ้ามฆเทวะว่า อย่างนั้น ขอเดชะแล้ว. ด้วยล่วงปีเป็นอันมาก ล่วงร้อยปีเป็นอันมาก ล่วงพันปีเป็นอันมาก ช่างกัลบกได้เห็นพระเกศาหงอกเกิดบนพระเศียรของพระเจ้ามฆเทวะ แล้วได้กราบทูลว่า เทวทูตปรากฏแก่พระองค์แล้ว พระเกศาหงอกเกิดบนพระเศียรแล้วเห็น ปรากฏอยู่. พระเจ้ามฆเทวะตรัสว่า ดูกรเพื่อนกัลบก ถ้าอย่างนั้น ท่านจงเอาแหนบถอนผมหงอก นั้นให้ดี แล้ววางลงที่กระพุ่มมือของเราเถิด. ช่างกัลบกทูลรับสั่งของพระเจ้ามฆเทวะ แล้วจึงเอาแหนบถอนพระเกศาหงอกนั้นด้วยดี แล้ววางไว้ที่กระพุ่มพระหัตถ์ของพระเจ้ามฆเทวะ. ครั้งนั้น พระเจ้ามฆเทวะพระราชทานบ้านส่วย แก่ช่างกัลบก แล้วโปรดให้พระราชกุมารผู้เป็นพระราชบุตรองค์ใหญ่มาเฝ้า แล้วรับสั่งว่า ดูกรพ่อกุมาร เทวทูตปรากฏแก่เราแล้ว ผมหงอกเกิดที่ศีรษะแล้วปรากฏอยู่ ก็กามทั้งหลายที่เป็น ของมนุษย์ เราได้บริโภคแล้ว เวลานี้เป็นสมัยที่จะแสวงหากามทั้งหลายที่เป็นทิพย์ มาเถิด พ่อกุมาร เจ้าจงครองราชสมบัตินี้ ส่วนเราจักปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะออกจาก เรือนบวชเป็นบรรพชิต ดูกรพ่อกุมาร ส่วนเจ้า เมื่อใดพึงเห็นผมหงอกเกิดบนศีรษะ เมื่อนั้น เจ้าพึงให้บ้านส่วยแก่ช่างกัลบก พึงพร่ำสอนราชกุมารผู้เป็นพระราชบุตรองค์ใหญ่ในการที่จะเป็น พระราชาให้ดี แล้วปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเถิด เจ้าพึงประพฤติตามวัตรอันงามที่เราตั้งไว้แล้วนี้ เจ้าอย่าได้เป็นบุรุษคนสุดท้ายของเราเลย เมื่อยุค บุรุษใดเป็นไปอยู่ วัตรอันงามเห็นปานนี้ขาดสูญไป ยุคบุรุษนั้นชื่อว่า เป็นบุรุษคนสุดท้ายของ ราชบรรพชิตนั้น. ดูกรพ่อกุมาร เจ้าจะพึงประพฤติตามวัตรอันงามที่เราตั้งไว้แล้วนี้ได้ด้วยประการ ใด เรากล่าวอย่างนี้กะเจ้าด้วยประการนั้น เจ้าอย่าได้เป็นบุรุษคนสุดท้ายของเราเลย.
พระเจ้ามฆเทวะออกผนวช
[๔๕๔] ดูกรอานนท์ ครั้งนั้น พระเจ้ามฆเทวะครั้นพระราชทานบ้านส่วยแก่ช่างกัลบก และทรงพร่ำสอนพระราชกุมารผู้เป็นพระราชบุตรองค์ใหญ่ในการที่จะเป็นพระราชาให้ดีแล้ว ทรง ปลงพระเกศาและพระมัสสุ ทรงนุ่งห่มผ้ากาสายะ เสด็จออกจากพระราชนิเวศน์ ทรงผนวช เป็นบรรพชิต ที่มฆเทวัมพวันนี้แล. ท้าวเธอทรงมีพระหฤทัยประกอบด้วยเมตตา ทรงแผ่ไป ทั่วทิศหนึ่งอยู่. ในทิศที่สอง ในทิศที่สาม ในทิศที่สี่ก็เหมือนกัน. ทรงมีพระหฤทัยประกอบด้วย เมตตา อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน แผ่ไป ทั่วโลก โดยมุ่งประโยชน์แก่สัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ทั้งในทิศเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง ด้วยประการฉะนี้. ทรงมีพระหฤทัยประกอบด้วยกรุณา ... ทรงมีพระหฤทัยประกอบ ด้วยมุทิตา ... ทรงมีพระหฤทัยประกอบด้วยอุเบกขา ... แผ่ไปทั่วทิศหนึ่งอยู่ ในทิศที่สอง ในทิศที่สาม ในทิศที่สี่ก็เหมือนกัน ทรงมีพระหฤทัยประกอบด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์ เป็น มหัคคตะ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน แผ่ไปทั่วโลก โดยมุ่งประโยชน์ แก่สัตว์ทุกเหล่าในที่ทุกสถานทั้งในทิศเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวางด้วยประการฉะนี้. ดูกรอานนท์ ก็พระเจ้ามฆเทวะทรงเล่นเป็นพระกุมารอยู่แปดหมื่นสี่พันปี ทรงดำรงความเป็นอุปราชแปดหมื่น สี่พันปี เสวยราชสมบัติแปดหมื่นสี่พันปี เสด็จออกจากพระราชนิเวศน์ทรงผนวชเป็นบรรพชิต ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ที่มฆเทวัมพวันนี้แลแปดหมื่นสี่พันปี. พระองค์ทรงเจริญพรหมวิหารสี่แล้ว เมื่อสวรรคตได้เสด็จเข้าถึงพรหมโลก.
พระราชบุตรของพระเจ้ามฆเทวะออกผนวช
[๔๕๕] ดูกรอานนท์ ครั้งนั้น พระราชบุตรของพระเจ้ามฆเทวะ โดยล่วงปีไปเป็น อันมาก ล่วงร้อยปีเป็นอันมาก ล่วงพันปีเป็นอันมาก รับสั่งกะช่างกัลบกว่า ดูกรเพื่อนกัลบก ท่านเห็นผมหงอกเกิดบนศีรษะของเราเมื่อใด พึงบอกแก่เราเมื่อนั้น. ครั้งนั้น ช่างกัลบกรับรับสั่ง ของพระราชบุตรแห่งพระเจ้ามฆเทวะว่า อย่างนั้น ขอเดชะ ด้วยล่วงปีเป็นอันมาก ล่วงร้อยปี เป็นอันมาก ล่วงพันปีเป็นอันมาก ช่างกัลบกได้เห็นพระเกศาหงอกเกิดบนพระเศียรของ พระราชบุตรแห่งพระเจ้ามฆเทวะ แล้วได้กราบทูลว่า เทวทูตปรากฏแก่พระองค์แล้ว พระเกศา หงอกเกิดบนพระเศียรเห็นปรากฏอยู่. พระราชบุตรของพระเจ้ามฆเทวะตรัสว่า ดูกรเพื่อนกัลบก ถ้าอย่างนั้นท่านจงเอาแหนบ ถอนผมหงอกนั้นให้ดี แล้ววางในกระพุ่มมือของเราเถิด. ช่างกัลบกรับรับสั่งของพระราชบุตรแห่งพระเจ้ามฆเทวะ แล้วจึงเอาแหนบถอนพระเกศา หงอกนั้นด้วยดี แล้ววางไว้ในกระพุ่มพระหัตถ์ของพระราชบุตรแห่งพระเจ้ามฆเทวะ. ครั้งนั้น พระราชบุตรของพระเจ้ามฆเทวะ พระราชทานบ้านส่วยแก่ช่างกัลบก แล้วโปรดให้พระราชกุมาร ผู้เป็นพระราชบุตรองค์ใหญ่มาเฝ้าแล้วได้ตรัสว่า ดูกรพ่อกุมาร เทวทูตปรากฏแก่เราแล้ว ผมหงอก เกิดบนศีรษะแล้วเห็นปรากฏอยู่ กามทั้งหลายที่เป็นของมนุษย์เราบริโภคแล้ว เวลานี้เป็นสมัย ที่จะแสวงหากามอันเป็นทิพย์ มาเถิดพ่อกุมาร เจ้าจงครองราชสมบัตินี้ ส่วนเราจักปลงผมและ หนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ถ้าแม้เจ้าพึงเห็นผมหงอกเกิดบนศีรษะ เมื่อใด เมื่อนั้น เจ้าพึงให้บ้านส่วยแก่ช่างกัลบก แล้วพร่ำสอนราชกุมารผู้เป็นบุตรคนใหญ่ในการ ที่จะเป็นพระราชาให้ดี แล้วพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิต พึงประพฤติตามวัตรอันงามนี้ที่เราตั้งไว้แล้ว เจ้าอย่าได้เป็นบุรุษคนสุดท้ายของเราเลย เมื่อยุคบุรุษใดเป็นไปอยู่ วัตรอันงามเห็นปานนี้ขาดสูญไป ยุคบุรุษนั้นชื่อว่าเป็นบุรุษคนสุดท้าย ของราชบรรพชิตนั้น. ดูกรพ่อกุมาร เจ้าจะพึงประพฤติวัตรอันงามที่เราตั้งไว้แล้วนี้ได้ด้วยประการ ใด เรากล่าวอย่างนี้กะเจ้าด้วยประการนั้น เจ้าอย่าได้เป็นบุรุษคนสุดท้ายของเราเลย. [๔๕๖] ดูกรอานนท์ ครั้งนั้น พระราชบุตรของพระเจ้ามฆเทวะ ครั้นพระราชทาน บ้านส่วยแก่ช่างกัลบก ทรงพร่ำสอนพระราชกุมารผู้เป็นพระราชบุตรองค์ใหญ่ในการที่จะเป็น พระราชาให้ดีแล้ว ทรงปลงพระเกศาและพระมัสสุ ทรงครองผ้ากาสายะ แล้วเสด็จออกจาก พระราชนิเวศน์ ทรงผนวชเป็นบรรพชิตอยู่ในมฆเทวัมพวันนี้แล. ท้าวเธอมีพระหฤทัยประกอบ ด้วยเมตตา ทรงแผ่ไปทั่วทิศหนึ่งอยู่. ในทิศที่สอง ในทิศที่สาม ในทิศที่สี่ก็เหมือนกัน. มีพระหฤทัยประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความ เบียดเบียน ทรงแผ่ไปทั่วโลก โดยมุ่งประโยชน์แก่สัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ทั้งในทิศ เบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง ด้วยประการฉะนี้. มีพระหฤทัยประกอบด้วยกรุณา ... มีพระหฤทัย ประกอบด้วยมุทิตา ... มีพระหฤทัยประกอบด้วยอุเบกขา ทรงแผ่ไปทั่วทิศหนึ่งอยู่ ในทิศที่สอง ในทิศที่สาม ในทิศที่สี่ก็เหมือนกัน มีพระหฤทัยประกอบด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน แผ่ไปทั่วโลก โดยมุ่งประโยชน์แก่สัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ทั้งในทิศเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง ด้วยประการฉะนี้. ดูกรอานนท์ พระราชบุตรของพระเจ้ามฆเทวะ ทรงเล่นเป็นพระกุมารแปดหมื่นสี่พันปี ทรงดำรงความเป็น อุปราชแปดหมื่นสี่พันปี เสวยราชสมบัติแปดหมื่นสี่พันปี เสด็จออกจากพระราชนิเวศน์ทรงผนวช เป็นบรรพชิต ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ที่มฆเทวัมพวันนี้แล แปดหมื่นสี่พันปี. พระองค์ทรงเจริญ พรหมวิหารสี่แล้ว เมื่อสวรรคต ได้เสด็จเข้าถึงพรหมโลก.
พระราชบุตรพระราชนัดดาออกผนวช
[๔๕๗] ดูกรอานนท์ ก็พระราชบุตรพระราชนัดดาของพระเจ้ามฆเทวะสืบวงศ์นั้นมา แปดหมื่นสี่พันชั่วกษัตริย์ ได้ปลงพระเกศาและมัสสุ ทรงครองผ้ากาสายะ เสด็จออกจาก พระราชนิเวศน์ ทรงผนวชเป็นบรรพชิต ณ มฆเทวัมพวันนี้แล. ท้าวเธอเหล่านั้นมีพระหฤทัย ประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปทั่วทิศหนึ่งอยู่. ในทิศที่สอง ในทิศที่สาม ในทิศที่สี่ก็เหมือนกัน มีพระหฤทัยประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความ เบียดเบียน แผ่ไปทั่วโลก โดยมุ่งประโยชน์แก่สัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ทั้งในทิศเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ด้วยประการฉะนี้. มีพระหฤทัยประกอบด้วยกรุณา ... มีพระหฤทัยประกอบด้วย มุทิตา ... มีพระหฤทัยประกอบด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน แผ่ไปทั่วโลกทั้งปวง โดยมุ่งประโยชน์แก่สัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ทั้งในทิศเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง ด้วยประการฉะนี้. ท้าวเธอเหล่านั้น ทรงเล่นเป็น พระกุมารแปดหมื่นสี่พันปี ดำรงความเป็นอุปราชแปดหมื่นสี่พันปี เสวยราชสมบัติแปดหมื่น สี่พันปี เสด็จออกจากพระราชนิเวศน์ทรงผนวชเป็นบรรพชิตประพฤติพรหมจรรย์อยู่ที่มฆเทวัม- *พวันนี้แล แปดหมื่นสี่พันปี. พระองค์ทรงเจริญพรหมวิหารสี่แล้ว เมื่อสวรรคต ได้เสด็จเข้าถึง พรหมโลก พระเจ้านิมิราชเป็นพระราชาองค์สุดท้ายแห่งราชบรรพชิตเหล่านั้น เป็นพระราชา ประกอบในธรรม เป็นพระธรรมราชา เป็นพระมหาราชาผู้ทรงสถิตอยู่ในธรรม ทรงประพฤติธรรม ในพราหมณ์คหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท ทรงรักษาอุโบสถทุกวันที่สิบสี่ ที่สิบห้า และที่แปด แห่งปักข์.
พระเจ้านิมิราชรักษาอุโบสถ
[๔๕๘] ดูกรอานนท์ เรื่องเคยมีมาแล้ว อันตรากถานี้เกิดขึ้นแล้วแก่เทวดาชั้นดาวดึงส์ ผู้นั่งประชุมกัน ณ สภาชื่อสุธรรมาว่า ดูกรผู้เจริญ เป็นลาภของชนชาววิเทหะหนอ ดูกรผู้เจริญ ชนชาววิเทหะได้ดีแล้วหนอ ที่พระเจ้านิมิราชของเขาเป็นพระราชาประกอบในธรรม เป็นพระธรรม ราชา เป็นพระมหาราชาผู้ทรงสถิตอยู่ในธรรม ทรงประพฤติธรรมในพราหมณ์คหบดี ชาวนิคม และชาวชนบท และทรงรักษาอุโบสถทุกวันที่สิบสี่ ที่สิบห้า และที่แปดแห่งปักข์
ท้าวสักกะเชิญเสด็จพระเจ้านิมิราชสู่ดาวดึงส์
[๔๕๙] ดูกรอานนท์ ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพตรัสเรียกเทวดาชั้นดาวดึงส์มาว่า ดูกร ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ท่านทั้งหลายปรารถนาจะเห็นพระเจ้านิมิราชหรือไม่? เทวดาชั้นดาวดึงส์ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ข้าพระองค์ทั้งหลายปรารถนาจะเห็น พระเจ้านิมิราช. ดูกรอานนท์ สมัยนั้น ในวันอุโบสถ ที่สิบห้า พระเจ้านิมิราชทรงสนานพระกาย ทั่วพระเศียรแล้ว ทรงรักษาอุโบสถ เสด็จขึ้นปราสาทอันประเสริฐประทับนั่งอยู่ชั้นบน. ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงหายไปในหมู่เทวดาชั้นดาวดึงส์ ไปปรากฏเฉพาะพระพักตร์พระเจ้านิมิราช เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้ออก หรือพึงคู้แขนที่เหยียดเข้า ฉะนั้น. แล้วได้ตรัสว่า ข้าแต่มหาราช เป็นลาภของพระองค์ ข้าแต่มหาราช พระองค์ได้ดีแล้ว เทวดาชั้นดาวดึงส์ นั่ง ประชุมกันสรรเสริญอยู่ในสุธรรมาสภาว่า ดูกรท่านผู้เจริญ เป็นลาภของชนชาววิเทหะหนอ ดูกร ท่านผู้เจริญ ชนชาววิเทหะได้ดีแล้วหนอ ที่พระเจ้านิมิราชผู้ทรงธรรม เป็นพระธรรมราชา เป็นพระมหาราชาผู้สถิตอยู่ในธรรม ทรงประพฤติธรรมในพราหมณ์คหบดี ชาวนิคมและชาว ชนบท และทรงรักษาอุโบสถทุกวันที่สิบสี่ ที่สิบห้า และที่แปดแห่งปักข์ ข้าแต่มหาราช เทวดาชั้นดาวดึงส์ปรารถนาจะเห็นพระองค์ หม่อมฉันจักส่งรถม้าอาชาไนยเทียมม้าพันหนึ่งมาให้ พระองค์ พระองค์พึงขึ้นประทับทิพยานเถิด อย่าทรงหวั่นพระทัยเลย. พระเจ้านิมิราชทรงรับ ด้วยอาการนิ่งอยู่. ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงทราบว่า พระเจ้านิมิราชทรงรับเชิญแล้ว ทรงหายไปในที่เฉพาะพระพักตร์พระเจ้านิมิราช มาปรากฏในเทวดาชั้นดาวดึงส์ เปรียบเหมือน บุรุษมีกำลังพึงเหยียดแขนที่คู้ออก หรือพึงคู้แขนที่เหยียดเข้าฉะนั้น.
พระเจ้านิมิราชทอดพระเนตรนรกสวรรค์
[๔๖๐] ดูกรอานนท์ ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพ ตรัสเรียกมาตลีเทพบุตรผู้รับใช้มาว่า ดูกรเพื่อนมาตลี มาเถิดท่าน จงเทียมรถม้าอาชาไนยอันเทียมม้าพันหนึ่ง แล้วเข้าไปเฝ้าพระเจ้า นิมิราช จงทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่มหาราช รถม้าอาชาไนยเทียมด้วยม้าพันหนึ่งนี้ ท้าวสักกะจอมเทพ ทรงส่งมารับพระองค์ พระองค์พึงเสด็จขึ้นประทับทิพยานเถิด อย่าทรงหวั่นพระทัยเลย. มาตลี- *เทพบุตรผู้รับใช้ทูลรับ รับสั่งของท้าวสักกะจอมเทพ แล้วเทียมรถม้าอาชาไนยอันเทียมด้วยม้า พันหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระเจ้านิมิราชแล้วทูลว่า ข้าแต่มหาราช รถม้าอาชาไนยอันเทียมด้วยม้า พันหนึ่งนี้ ท้าวสักกะจอมเทพทรงส่งมารับพระองค์ เชิญเสด็จขึ้นประทับทิพยานเถิด อย่าทรง หวั่นพระทัยเลย อนึ่ง ทางสำหรับสัตว์ผู้มีกรรมอันลามก เสวยผลของกรรมอันลามกทางหนึ่ง ทางสำหรับสัตว์ผู้มีกรรมอันงาม เสวยผลของกรรมอันงามทางหนึ่ง ข้าพระองค์จะเชิญเสด็จ พระองค์โดยทางไหน? พระเจ้านิมิราชตรัสว่า ดูกรมาตลี จงนำเราไปโดยทางทั้งสองนั่นแหละ. มาตลีเทพบุตรผู้รับใช้ นำเสด็จพระเจ้านิมิราชถึงสุธรรมาสภา. ท้าวสักกะจอมเทพ ทอดพระเนตร เห็นพระเจ้านิมิราชกำลังเสด็จมาแต่ไกล แล้วได้ตรัสว่า ข้าแต่มหาราช เชิญเสด็จ มาเถิด ข้าแต่มหาราช พระองค์เสด็จมาดีแล้ว เทวดาชั้นดาวดึงส์ประชุมสรรเสริญอยู่ในสุธรรมา สภาว่า ดูกรท่านผู้เจริญ เป็นลาภของชนชาววิเทหะหนอ ชนชาววิเทหะได้ดีแล้วหนอ ที่พระเจ้า นิมิราชผู้ทรงธรรม เป็นพระธรรมราชา เป็นพระมหาราชาผู้สถิตอยู่ในธรรม ทรงประพฤติธรรม ในพราหมณ์คหบดี ชาวนิคมและชนบท และทรงรักษาอุโบสถทุกวันที่สิบสี่ ที่สิบห้า และที่แปด แห่งปักข์ ข้าแต่มหาราช เทวดาชั้นดาวดึงส์ปรารถนาจะพบเห็นพระองค์ ขอเชิญพระองค์จง อภิรมย์อยู่ในเทวดาทั้งหลายด้วยเทวานุภาพเถิด. พระเจ้านิมิราชตรัสว่า อย่าเลย พระองค์ผู้นิรทุกข์ ขอจงนำหม่อมฉันกลับไปยังเมือง มิถิลาในมนุษย์โลกนั้นเถิด หม่อมฉันจักได้ประพฤติธรรมอย่างนั้นในพราหมณ์คหบดี ชาวนิคม และชาวชนบท และจักได้รักษาอุโบสถทุกวันที่สิบสี่ ที่สิบห้า และที่แปดแห่งปักข์เถิด. ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพตรัสเรียกมาตลีเทพบุตรผู้รับใช้มาว่า ดูกรเพื่อนมาตลี ท่าน จงเทียมรถม้าอาชาไนยอันเทียมด้วยม้าพันหนึ่ง แล้วนำพระเจ้านิมิราชกลับไปยังเมืองมิถิลาใน มนุษย์โลกนั้น มาตลีเทพบุตรผู้รับใช้ทูลรับรับสั่งของท้าวสักกะจอมเทพแล้ว เทียมรถม้าอาชาไนย อันเทียมด้วยม้าพันหนึ่ง แล้วนำพระเจ้านิมิราชกลับไปยังเมืองมิถิลาในมนุษยโลกนั้น.
พระเจ้านิมิราชทรงเห็นพระเกศาหงอกออกผนวช
[๔๖๑] ดูกรอานนท์ ได้ยินว่า สมัยนั้น พระราชาเป็นใหญ่ ทรงประพฤติธรรมใน พราหมณ์คหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท และทรงรักษาอุโบสถทุกวันที่สิบสี่ ที่สิบห้า และที่แปด แห่งปักข์. ครั้งนั้น ด้วยล่วงปีเป็นอันมาก ล่วงร้อยปีเป็นอันมาก ล่วงพันปีเป็นอันมาก พระเจ้า นิมิราชตรัสกะช่างกัลบกว่า ดูกรเพื่อนกัลบก ท่านเห็นผมหงอกเกิดขึ้นบนศีรษะของเราเมื่อใด พึงบอกแก่เราเมื่อนั้น. ช่างกัลบกทูลรับรับสั่งพระเจ้านิมิราชว่า อย่างนั้น ขอเดชะ. ด้วยล่วงปี เป็นอันมาก ล่วงร้อยปีเป็นอันมาก ล่วงพันปีเป็นอันมาก ช่างกัลบกได้เห็นพระเกศาหงอก เกิดขึ้นบนพระเศียรพระเจ้านิมิราช จึงได้กราบทูลว่า เทวทูตปรากฏแก่พระองค์แล้ว พระเกศา หงอกเกิดขึ้นบนเศียรแล้วเห็นปรากฏอยู่. พระเจ้านิมิราชตรัสว่า ดูกรเพื่อนกัลบก ถ้าอย่างนั้น ท่านจงเอาแหนบถอนผมหงอก นั้นให้ดี แล้ววางไว้ในกระพุ่มมือของเรา. ช่างกัลบกทูลรับรับสั่งพระเจ้านิมิราช แล้วเอาแหนบถอนพระเกศาหงอกนั้นด้วยดี วาง ไว้ในกระพุ่มพระหัตถ์ของพระเจ้านิมิราช. ครั้งนั้น พระราชาพระราชทานบ้านส่วยแก่ช่างกัลบก แล้วโปรดให้พระราชกุมารผู้เป็นราชบุตรองค์ใหญ่มาเฝ้า แล้วตรัสว่า พ่อกุมาร เทวทูตปรากฏ แก่เราแล้ว ผมหงอกเกิดขึ้นบนศีรษะแล้วเห็นปรากฏอยู่ ก็กามทั้งหลายอันเป็นของมนุษย์เรา บริโภคแล้วนี้เป็นสมัยที่เราจะแสวงหากามอันเป็นทิพย์ มาเถิดเจ้า เจ้าจงครองราชสมบัตินี้ ส่วนเราจักปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ดูกรกุมาร ถ้าแม้เจ้าพึงเห็นผมหงอกเกิดขึ้นบนศีรษะเมื่อใด เมื่อนั้น เจ้าพึงให้บ้านส่วยแก่ช่างกัลบก พร่ำสอนราชกุมารผู้เป็นพระราชบุตรองค์ใหญ่ ในการที่จะเป็นพระราชาให้ดีแล้วปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเถิด พึงประพฤติตามวัตรอันงามที่เราตั้งไว้แล้ว นี้ เจ้าอย่าได้เป็นบุรุษคนสุดท้ายของเราเลย เมื่อยุคบุรุษใดเป็นไปอยู่ วัตรอันงามเห็นปานนี้ ขาดสูญไป ยุคบุรุษนั้นชื่อว่าเป็นบุรุษคนสุดท้ายแห่งราชบรรพชิตนั้น. ดูกรพ่อกุมาร เจ้าจะพึง ประพฤติตามวัตรอันงามที่เราตั้งไว้แล้วนี้ได้ด้วยประการใด เรากล่าวอย่างนี้กะเจ้าด้วยประการนั้น เจ้าอย่าได้เป็นบุรุษคนสุดท้ายของเราเลย. [๔๖๒] ดูกรอานนท์ ครั้งนั้น พระเจ้านิมิราชครั้นพระราชทานบ้านส่วยแก่ช่างกัลบก ทรงพร่ำสอนราชกุมารผู้เป็นพระราชบุตรองค์ใหญ่ในการที่จะเป็นพระราชาให้ดีแล้ว ทรงปลงพระ เกศาและพระมัสสุ ทรงครองผ้ากาสายะ เสด็จออกจากพระราชนิเวศน์ ทรงผนวชเป็นบรรพชิต. ท้าวเธอมีพระหฤทัยประกอบด้วยเมตตา ทรงแผ่ไปทั่วทิศหนึ่งอยู่. ในทิศที่สอง ในทิศที่สาม ในทิศที่สี่ก็เหมือนกัน มีพระหฤทัยประกอบด้วยเมตตา อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ หาประมาณ มิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ทรงแผ่ไปทั่วโลก โดยมุ่งประโยชน์แก่สัตว์ทุกเหล่าในที่ ทุกสถาน ทั้งในทิศเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง ด้วยประการฉะนี้. มีพระหฤทัยประกอบด้วย กรุณา ... มีพระหฤทัยประกอบด้วยมุทิตา ... มีพระหฤทัยประกอบด้วยอุเบกขา ทรงแผ่ไปทั่ว ทิศหนึ่งอยู่ ในทิศที่สอง ในทิศที่สาม ในทิศที่สี่ก็เหมือนกัน มีพระหฤทัยประกอบด้วยอุเบกขา อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ทรงแผ่ไปทั่วโลก โดยมุ่งประโยชน์แก่สัตว์ทุกเหล่าในที่ทุกสถาน ทั้งในทิศเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง ด้วยประการฉะนี้. ดูกรอานนท์ ก็พระเจ้านิมิราชทรงเล่นเป็นพระกุมารแปดหมื่นสี่พันปี ทรงดำรง ความเป็นอุปราชแปดหมื่นสี่พันปี เสวยราชสมบัติแปดหมื่นสี่พันปี เสด็จออกจากพระราชนิเวศน์ ทรงผนวชเป็นบรรพชิตประพฤติพรหมจรรย์อยู่ที่มฆเทวัมพวันนี้แล. แปดหมื่นสี่พันปี พระองค์ เจริญพรหมวิหารสี่แล้ว เมื่อสวรรคตได้เสด็จเข้าถึงพรหมโลก.
พระเจ้ากฬารชนกเป็นอันติมบุรุษ
[๔๖๓] ดูกรอานนท์ ก็พระเจ้านิมิราชมีพระราชบุตรพระนามว่ากฬารชนก. พระราชกุมาร นั้นมิได้เสด็จออกจากพระราชนิเวศน์ ทรงผนวชเป็นบรรพชิต. ท้าวเธอทรงตัดกัลยาณวัตรนั้นเสีย. ชื่อว่าเป็นบุรุษคนสุดท้ายแห่งราชบรรพชิตนั้น. ดูกรอานนท์ เธอพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า สมัยนั้น พระเจ้ามฆเทวะซึ่งทรงตั้งกัลยาณวัตรนั้นเป็นผู้อื่นแน่. แต่ข้อนั้นเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น. สมัยนั้น เราเป็นพระเจ้ามฆเทวะ. เราตั้งกัลยาณวัตรนั้นไว้ ประชุมชนผู้เกิด ณ ภายหลังประพฤติ ตามกัลยาณวัตรที่เราตั้งไว้แล้วนั้น. แต่กัลยาณวัตรนั้นไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลาย กำหนัด เพื่อดับสนิท เพื่อสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เป็นไปเพียง เพื่ออุบัติในพรหมโลกเท่านั้น. ส่วนกัลยาณวัตรที่เราตั้งไว้ในบัดนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับสนิท เพื่อสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน โดยส่วนเดียว. ก็กัลยาณวัตรที่เราตั้งไว้ในบัดนี้ ซึ่งเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับสนิท เพื่อสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน โดยส่วนเดียว นั้นเป็นไฉน? คือ มรรคมีองค์ ๘ เป็นอริยะนี้แล คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ กัลยาณวัตรที่เราตั้งไว้ในบัดนี้ นี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับสนิท เพื่อสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อพระนิพพาน โดยส่วนเดียว. ดูกรอานนท์ เธอทั้งหลายจะพึงประพฤติตาม กัลยาณวัตรที่เราตั้งไว้แล้วนี้ได้ด้วยประการใด เรากล่าวอย่างนี้กะเธอทั้งหลาย ด้วยประการนั้น เธอทั้งหลายอย่าเป็นบุรุษคนสุดท้ายของเราเลย เมื่อยุคบุรุษใดเป็นไปอยู่ กัลยาณวัตรเห็นปานนี้ ขาดสูญไป ยุคบุรุษนั้นชื่อว่าเป็นบุรุษคนสุดท้ายของบุรุษเหล่านั้น เธอทั้งหลายจะพึงประพฤติ ตามกัลยาณวัตรที่เราตั้งไว้แล้วนี้ได้ด้วยประการใด เรากล่าวอย่างนี้กะเธอทั้งหลายด้วยประการนั้น เธอทั้งหลายอย่าได้ชื่อว่าเป็นบุรุษคนสุดท้ายของเราเลย. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระอานนท์ยินดีชื่นชมพระภาษิตของ พระผู้มีพระภาคแล้ว ดังนี้แล.
จบ มฆเทวสูตร ที่ ๓.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ บรรทัดที่ ๗๒๔๙-๗๔๗๓ หน้าที่ ๓๑๖-๓๒๕. https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=7249&Z=7473&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=13&siri=33              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=452              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [452-463] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=13&item=452&items=12              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=5653              The Pali Tipitaka in Roman :- [452-463] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=13&item=452&items=12              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=5653              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ https://84000.org/tipitaka/read/?index_13              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/13i452-e1.php# https://suttacentral.net/mn83/en/sujato https://suttacentral.net/mn83/en/horner

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :