ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑
สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๒
เรื่องพระอุทายี
[๓๗๕] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระอุทายีอยู่ในป่า วิหารท่านงดงาม น่าดู น่าชม มีห้องกลาง มีระเบียงโดยรอบ เตียงตั่ง ฟูกหมอน จัดไว้เรียบร้อย น้ำฉัน น้ำใช้ ตั้งไว้ดีแล้ว บริเวณเตียนสะอาด ประชาชนเป็นอันมากพากันมาชมวิหารของท่าน พระอุทายี แม้พราหมณ์คนหนึ่งกับภรรยาก็เข้าไปหาท่านพระอุทายี แล้วได้กล่าวกะท่านว่า พวกผม อยากชมวิหารของท่าน ท่านพระอุทายีกล่าวเชิญว่า ถ้าเช่นนั้น เชิญชมเถิดพราหมณ์ แล้วถือ ลูกดาลไขลิ่มผลักบานประตูเข้าไป แม้พราหมณ์นั้นก็ตามหลังท่านพระอุทายีเข้าไป ส่วนพราหมณีตามหลังพราหมณ์เข้าไป ขณะนั้น ท่านพระอุทายีเดินไปเปิดบานหน้าต่างบางตอน ปิดบานหน้าต่างบางตอนรอบห้อง แล้วย้อนมาทางหลัง จับอวัยวะน้อยใหญ่ของพราหมณีนั้น ครั้นพราหมณ์นั้นสนทนากับท่านพระอุทายีแล้ว ก็ลากลับไป พราหมณ์นั้นดีใจเปล่งวาจา แสดงความยินดีว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้ อยู่ในป่าเช่นนี้ยังมีอัธยาศัยดี แม้ท่านพระอุทายีอยู่ในป่าเช่นนี้ ก็ยังมีอัธยาศัยดี เมื่อพราหมณ์กล่าวอย่างนี้แล้ว พราหมณีได้กล่าวกะพราหมณ์นั้นว่า พระอุทายีจะมี อัธยาศัยดีแต่ไหน เพราะพระอุทายีได้จับอวัยวะน้อยใหญ่ของดิฉันเหมือนที่ท่านจับดิฉัน พอได้ทราบดั่งนั้น พราหมณ์จึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะว่า พระสมณะเชื้อสายพระ- *ศากยบุตรเหล่านี้ เป็นผู้ไม่ละอาย ทุศีล พูดเท็จ พระสมณะเหล่านี้ยังจักปฏิญาณว่า เป็น ผู้ประพฤติธรรม ประพฤติเรียบร้อย ประพฤติพรหมจรรย์ พูดจริง มีศีล มีกัลยาณธรรม ดังนี้เล่า ความเป็นสมณะของพระสมณะเหล่านี้ไม่มี ความเป็นพราหมณ์ของพระสมณะเหล่านี้ไม่มี ความเป็นสมณะของพระสมณะเหล่านี้พินาศแล้ว ความเป็นพราหมณ์ของพระสมณะเหล่านี้พินาศ แล้ว ความเป็นสมณะของพระสมณะเหล่านี้จะมีแต่ไหน ความเป็นพราหมณ์ของสมณะเหล่านี้ จะมีแต่ไหน พระสมณะเหล่านี้ปราศจากความเป็นสมณะแล้ว พระสมณะเหล่านี้ปราศจาก ความเป็นพราหมณ์แล้ว ไฉน พระสมณะอุทายี จึงได้จับต้องอวัยวะน้อยใหญ่ของภรรยาเรา ต่อไปกุลสตรี กุลธิดา กุลกุมารี สะใภ้ผู้มีสกุล กุลทาสี จักไม่กล้าไปสู่อารามหรือวิหาร เพราะ ถ้าไป พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านั้นก็จะพึงประทุษร้ายเขา ภิกษุทั้งหลายได้ยินพราหมณ์นั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดาที่เป็นผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน ท่านพระอุทายี จึงได้ถึงกายสังสัคคะกับมาตุคามเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี พระภาค.
ประชุมสงฆ์ทรงบัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค รับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามท่านพระอุทายีว่า ดูกรอุทายี ข่าวว่าเธอถึงกาย สังสัคคะกับมาตุคามจริงหรือ? ท่านพระอุทายีทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่นไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนเธอจึงได้ถึงกายสังสัคคะกับ มาตุคามเล่า ดูกรโมฆบุรุษ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยอเนกปริยาย เพื่อคลายความกำหนัด ไม่ใช่ เพื่อมีความกำหนัด เพื่อความพราก ไม่ใช่เพื่อความประกอบ เพื่อความไม่ถือมั่น ไม่ใช่เพื่อ มีความถือมั่น มิใช่หรือ เมื่อธรรมชื่อนั้น อันเราแสดงแล้วเพื่อคลายความกำหนัด เธอยัง จักคิดเพื่อมีความกำหนัด เราแสดงเพื่อความพรากเธอยังจักคิดเพื่อความประกอบ เราแสดงเพื่อ ความไม่ถือมั่น เธอยังจักคิดเพื่อมีความถือมั่น ดูกรโมฆบุรุษ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยอเนกปริยาย เพื่อเป็นที่สำรอกราคะ เพื่อเป็น สร่างความเมา เพื่อบรรเทาความระหาย เพื่อเพิกถอนอาลัย เพื่อเข้าไปตัดวัฏฏะ เพื่อสิ้นตัณหา เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับทุกข์ เพื่อความไม่มีกิเลสเครื่องร้อยรัด มิใช่หรือ การละกามเราก็บอกแล้ว การกำหนดรู้ความหมายในกาม การกำจัดความระหาย ในกาม การเพิกถอนความตรึกอันเกี่ยวด้วยกาม การระงับความกลัดกลุ้มเพราะกาม เราก็บอกไว้ แล้วโดยอเนกปริยาย มิใช่หรือ ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่ เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว อันที่แท้ การกระทำของเธอนั่น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวก ที่เลื่อมใสแล้ว ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงติเตียนท่านพระอุทายีโดยอเนกปริยายแล้ว ทรงติโทษแห่ง- *ความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ทรงสรรเสริญคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคน บำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียรโดยอเนกปริยาย แล้วทรงทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัย อำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจะ บังเกิดในปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ ยังไม่เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระ- *สัทธรรม ๑ เพื่อถือตามพระวินัย ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:
พระบัญญัติ
๖. ๒. อนึ่ง ภิกษุใดกำหนัดแล้ว มีจิตแปรปรวนแล้ว ถึงความเคล้าคลึงด้วย กายกับมาตุคาม คือจับมือก็ตาม จับช้องผมก็ตาม ลูบคลำอวัยวะอันใดอันหนึ่งก็ตาม เป็นสังฆาทิเสส.
เรื่องพระอุทายี จบ.
สิกขาบทวิภังค์
[๓๗๖] บทว่า อนึ่ง...ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด มีการงานอย่างใด มีชาติ อย่างใด มีชื่ออย่างใด มีโคตรอย่างใด มีปกติอย่างใด มีธรรมเครื่องอยู่อย่างใด มีอารมณ์ อย่างใด เป็นเถระก็ตาม เป็นนวกะก็ตาม เป็นมัชฌิมะก็ตาม ผู้นี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อนึ่ง...ใด บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะ อรรถว่า ประพฤติภิกขาจริยวัตร ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า ทรงผืนผ้าที่ถูกทำลายแล้ว ชื่อว่า ภิกษุ โดยสมญา ชื่อว่า ภิกษุ โดยปฏิญญา ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นเอหิภิกษุ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้อุปสมบทแล้วด้วยไตรสรณคมน์ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้เจริญ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า มีสารธรรม ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นพระ- *เสขะ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นพระอเสขะ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้อัน สงฆ์พร้อมเพรียงกันอุปสมบทให้แล้วด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ บรรดา ภิกษุเหล่านั้น ภิกษุนี้ใด ที่สงฆ์พร้อมเพรียงกันอุปสมบทให้แล้วด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่ กำเริบควรแก่ฐานะ ภิกษุนี้ พระผู้มีพระภาคทรงประสงค์ว่า ภิกษุ ในอรรถนี้ ที่ชื่อว่า กำหนัดแล้ว คือ มีความยินดี มีความเพ่งเล็ง มีจิตปฏิพัทธ์ บทว่า แปรปรวนแล้ว ความว่า จิตที่ถูกราคะย้อมแล้วก็แปรปรวน ที่ถูกโทสะประ- *ทุษร้ายแล้วก็แปรปรวน ที่ถูกโมหะให้ลุ่มหลงแล้วก็แปรปรวน แต่ที่ว่าแปรปรวนในอรรถนี้ ทรง- *ประสงค์จิตที่ถูกราคะย้อมแล้ว ที่ชื่อว่า มาตุคาม ได้แก่หญิงมนุษย์ ไม่ใช่หญิงยักษ์ ไม่ใช่หญิงเปรต ไม่ใช่สัตว์ดิรัจฉาน ตัวเมีย โดยที่สุด แม้เด็กหญิงที่เกิดในวันนั้น ไม่ต้องพูดหญิงผู้ใหญ่ บทว่า กับ คือ ด้วยกัน คำว่า ถึงความเคล้าคลึงด้วยกาย คือ ที่เรียกกันว่าความประพฤติล่วงเกิน ที่ชื่อว่า มือ คือ หมายตั้งแต่ข้อศอกถึงปลายเล็บ ที่ชื่อว่า ช้องผม คือ เป็นผมล้วนก็มี แซมด้วยด้ายก็มี แซมด้วยดอกไม้ก็มี แซม ด้วยเงินก็มี แซมด้วยทองก็มี แซมด้วยแก้วมุกดาก็มี แซมด้วยแก้วมณีก็มี ที่ชื่อว่า อวัยวะ คือ เว้นมือและช้องผมเสีย นอกนั้นชื่อว่าอวัยวะ. [๓๗๗] ที่ชื่อว่า ลูบคลำ คือ ถูก คลำ ลูบลง ลูบขึ้น ทับ อุ้ม ฉุด ผลัก กด บีบ จับ ต้อง. [๓๗๘] ที่ชื่อว่า ถูก คือเพียงถูกต้อง ที่ชื่อว่า คลำ คือจับเบาๆ ไปข้างโน้นข้างนี้ ที่ชื่อว่า ลูบลง คือลูบลงเบื้องล่าง ที่ชื่อว่า ลูบขึ้น คือลูบขึ้นเบื้องบน ที่ชื่อว่า ทับ คือกด ข้างล่าง ที่ชื่อว่า อุ้ม คือยกขึ้นข้างบน ที่ชื่อว่า ฉุด คือรั้งมา ที่ชื่อว่า ผลัก คือผลักไป ที่ชื่อว่า กด คือจับอวัยวะ กดลง ที่ชื่อว่า บีบ คือบีบกับวัตถุบางอย่าง ที่ชื่อว่า จับ คือ จับเฉยๆ ที่ชื่อว่า ต้อง คือเพียงต้องตัว. [๓๗๙] บทว่า สังฆาทิเสส ความว่า สงฆ์เท่านั้นให้ปริวาส เพื่ออาบัตินั้นได้ ชักเข้า อาบัติเดิมได้ ให้มานัตได้ เรียกเข้าหมู่ได้ ไม่ใช่คณะมากรูปด้วยกัน ไม่ใช่บุคคลรูปเดียว เพราะ ฉะนั้นจึงตรัสเรียกว่า สังฆาทิเสส คำว่า สังฆาทิเสส เป็นการขนานนาม คือเป็นชื่อของอาบัติ นิกายนั้นแล แม้เพราะเหตุนั้น จึงตรัสเรียกว่า สังฆาทิเสส.

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑ บรรทัดที่ ๑๓๑๕๒-๑๓๒๖๐ หน้าที่ ๕๐๕-๕๐๙. https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=1&A=13152&Z=13260&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=1&siri=39              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=1&i=375              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [377-381] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=1&item=377&items=5              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=415              The Pali Tipitaka in Roman :- [377-381] https://84000.org/tipitaka/read/roman_item_s.php?book=1&item=377&items=5              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=415              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ https://84000.org/tipitaka/read/?index_1              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-ss2/en/brahmali

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :