ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] จุลวรรค ภาค ๒
พระอัครสาวกพาภิกษุ ๕๐๐ รูปกลับ
[๓๔๕] ครั้งนั้น พระเทวทัตมีบริษัทหมู่ใหญ่แวดล้อมนั่งแสดงธรรมอยู่ มอง เห็นพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะมาแต่ไกล ครั้นแล้วจึงกล่าวกับภิกษุทั้งหลาย ว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกท่านเห็นไหม ธรรมอันเรากล่าวดีแล้วถึงขนาดพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะอัครสาวกของพระสมณโคดมยังพากันมาหาเรา ชอบใจธรรม ของเรา” เมื่อพระเทวทัตกล่าวอย่างนี้ พระโกกาลิกะได้กล่าวดังนี้ว่า “ท่านเทวทัต ท่าน อย่าเพิ่งวางใจพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ มีความปรารถนาชั่ว ตกอยู่ในอำนาจความปรารถนาชั่ว” พระเทวทัตกล่าวว่า “ท่านอย่าคิดเช่นนั้น พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ นั้นมาดี เพราะชอบใจธรรมของเรา” ทีนั้น พระเทวทัตเชื้อเชิญท่านพระสารีบุตรด้วยอาสนะครึ่งหนึ่งว่า “มาเถิด ท่าน สารีบุตร นิมนต์ท่านนั่งบนอาสนะนี้” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๒๐๕}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๗. สังฆเภทขันธกะ]

๓. ตติยภาณวาร

ท่านพระสารีบุตรห้ามว่า “อย่าเลย ท่าน” แล้วถือเอาอาสนะหนึ่งนั่ง ณ ที่ สมควร แม้ท่านพระมหาโมคคัลลานะก็ถือเอาอาสนะหนึ่งนั่ง ณ ที่สมควร ครั้งนั้น พระเทวทัตชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลายเห็นชัด ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นรื่นเริงด้วยธรรมีกถาสิ้นราตรีไป เป็นอันมาก ได้เชื้อเชิญท่านพระสารีบุตรว่า “ท่านสารีบุตร ภิกษุสงฆ์ยังไม่ง่วง ท่านสารีบุตร ธรรมีกถาของท่านภิกษุทั้งหลายเข้าใจง่าย แต่เราเมื่อยหลัง เราจัก เอนพัก” ท่านพระสารีบุตรรับคำพระเทวทัต จากนั้นพระเทวทัตปูสังฆาฏิ ๔ ชั้น จำวัด โดยข้างเบื้องขวา พระเทวทัตนั้นเหน็ดเหนื่อยจนเผลอสติไม่รู้สึกตัว ครู่เดียวก็หลับไป ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรกล่าวตักเตือนพร่ำสอนภิกษุทั้งหลายด้วยธรรมีกถา ที่เป็นอนุศาสนีประกอบด้วยอาเทสนาปาฏิหาริย์๑- ท่านพระโมคคัลลานะกล่าวตักเตือน พร่ำสอนด้วยธรรมีกถาที่เป็นอนุศาสนีประกอบด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ ครั้งนั้นแล ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดแก่ภิกษุ ทั้งหลายผู้ได้รับการกล่าวตักเตือนพร่ำสอนด้วยธรรมีกถาที่เป็นอนุศาสนีประกอบด้วย อาเทสนาปาฏิหาริย์จากพระสารีบุตรและด้วยธรรมีกถาที่เป็นอนุศาสนีประกอบด้วย อิทธิปาฏิหาริย์จากพระโมคคัลลานะว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา” ต่อมา ท่านพระสารีบุตรได้เรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย พวก เราจะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ผู้ชอบใจธรรมของพระผู้มีพระภาคนั้นจงมา” ลำดับนั้น พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะพาภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูปไป พระเวฬุวัน เวลานั้น พระโกกาลิกะปลุกพระเทวทัตให้ลุกขึ้นด้วยคำว่า “ท่านเทวทัต ลุกขึ้น เถอะ พระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะพาภิกษุไปหมดแล้ว ท่านเทวทัต เราบอก @เชิงอรรถ : @ คือรู้ว่า ภิกษุรูปนี้มีความคิดอย่างไร ภิกษุรูปนั้นมีความคิดอย่างนั้นแล้วแสดงธรรมให้เหมาะแก่ความคิด @ของภิกษุนั้นๆ (วิ.อ. ๓/๓๔๕/๓๘๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๒๐๖}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๗. สังฆเภทขันธกะ]

๓. ตติยภาณวาร

ท่านแล้วมิใช่หรือว่า อย่าไว้ใจพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตรและ พระโมคคัลลานะมีความปรารถนาชั่ว ตกอยู่ในอำนาจความปรารถนาชั่ว” ขณะนั้นโลหิตอุ่นๆ ก็พุ่งออกจากปากพระเทวทัตในที่นั้นเอง ต่อมา พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคนั่ง ณ ที่สมควร ท่านพระสารีบุตรได้ กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ขอประทานพระวโรกาส พวก ภิกษุผู้ประพฤติตามภิกษุผู้ทำลายสงฆ์ พึงอุปสมบทใหม่” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อย่าเลย สารีบุตร เธออย่าพอใจให้ภิกษุที่ประพฤติ ตามภิกษุผู้ทำลายสงฆ์อุปสมบทใหม่เลย สารีบุตร ถ้าเช่นนั้น เธอจงให้ภิกษุที่ ประพฤติตามภิกษุผู้ทำลายสงฆ์แสดงอาบัติถุลลัจจัย สารีบุตร ก็เทวทัตปฏิบัติต่อ เธออย่างไร” ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า พระเทวทัตปฏิบัติเหมือนพระผู้มี พระภาค คือ ชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลายเห็นชัด ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญ แกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นรื่นเริงด้วยธรรมีกถาสิ้นราตรีเป็นอันมากแล้ว ได้ เชื้อเชิญข้าพระองค์ว่า ‘ท่านสารีบุตร ภิกษุสงฆ์ยังไม่ง่วง ท่านสารีบุตร ธรรมีกถา ของท่านภิกษุทั้งหลายเข้าใจง่าย แต่เราเมื่อยหลัง เราจักเอนพัก” [๓๔๖] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรื่อง เคยมีมาแล้ว มีสระใหญ่แห่งหนึ่งอยู่ชายป่า โขลงช้างอาศัยอยู่ใกล้ๆ สระนั้น ช้าง เหล่านั้นลงไปในสระเอางวงถอนเหง้าและรากบัว ล้างให้สะอาดจนไม่มีโคลนตมแล้ว เคี้ยวกินเหง้าและรากบัว เหง้าและรากบัวเป็นอาหารบำรุงพรรณและกำลังของ ช้างเหล่านั้น เพราะเหตุนั้น ช้างเหล่านั้นจึงไม่ล้มหรือไม่ได้รับทุกข์ปางตาย ภิกษุ ทั้งหลาย ส่วนลูกช้างทั้งหลายเอาอย่างช้างใหญ่พากันลงสระนั้น เอางวงถอนเหง้า และรากบัวแล้วไม่ล้างให้สะอาดเคี้ยวกินทั้งที่มีโคลนตม เหง้าและรากบัวจึงไม่บำรุง ผิวพรรณและกำลังของลูกช้างเหล่านั้น ลูกช้างเหล่านั้นจึงล้มและได้รับทุกข์ปางตาย ภิกษุทั้งหลาย เทวทัตทำเลียนแบบเรา จะเสียชีวิตอย่างน่าสมเพช” แล้วได้ตรัส ประพันธ์คาถาว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๒๐๗}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๗. สังฆเภทขันธกะ]

๓. ตติยภาณวาร

“เทวทัตทำเลียนแบบเราจะเสียชีวิต อย่างน่าสมเพช เหมือนลูกช้างเคี้ยวกินเหง้าบัวเปื้อนโคลนตมแล้วจึงล้มไป เพราะทำเลียนแบบช้างใหญ่ที่ขุดดินเคี้ยวกินเหง้าบัว เล่นอยู่ในสระใหญ่ ฉะนั้น
คุณสมบัติของทูต๑-
[๓๔๗] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติ ๘ อย่าง ควรทำ หน้าที่ทูตได้ คุณสมบัติ ๘ อย่าง คือ ๑. รู้จักฟัง ๒. สามารถพูดให้ผู้อื่นฟังได้ ๓. ใฝ่ศึกษา ๔. ทรงจำได้ดี ๕. เป็นผู้รู้ได้เข้าใจชัด ๖. สามารถพูดให้ผู้อื่นเข้าใจได้ ๗. ฉลาดในสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ ๘. ไม่ก่อความทะเลาะวิวาท ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติ ๘ อย่าง ควรทำหน้าที่ทูตได้ ภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรประกอบด้วยคุณสมบัติ ๘ อย่าง คือ ๑. รู้จักฟัง ๒. สามารถพูดให้ผู้อื่นฟังได้ ๓. ใฝ่ศึกษา ๔. ทรงจำได้ดี ๕. เป็นผู้รู้ได้เข้าใจชัด ๖. สามารถพูดให้ผู้อื่นเข้าใจได้ ๗. ฉลาดในสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ ๘. ไม่ก่อความทะเลาะวิวาท ภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรประกอบด้วยคุณสมบัติ ๘ อย่าง ควรทำหน้าที่ทูตได้ ภิกษุผู้เข้าสู่ชุมชนที่โต้เถียงกันอย่างรุนแรงก็ไม่สะทกสะท้าน ไม่ทำคำพูดให้เสียหาย ไม่ปกปิดข่าวสาส์น @เชิงอรรถ : @ องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๑๖/๒๔๒ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๒๐๘}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๗. สังฆเภทขันธกะ]

๓. ตติยภาณวาร

ชี้แจงอย่างไม่มีข้อสงสัย ถูกย้อนถามก็ไม่โกรธ ภิกษุผู้มีลักษณะเช่นนั้นแลควรทำหน้าที่ทูตได้
พระเทวทัตถูกอสัทธรรม ๘ อย่างครอบงำ๑-
[๓๔๘] ภิกษุทั้งหลาย เทวทัตถูกอสัทธรรม ๘ อย่างครอบงำย่ำยีจิต ต้องไป เกิดในอบาย ต้องไปเกิดในนรก ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้ อสัทธรรม ๘ อย่าง คือ ๑. เทวทัตถูกลาภครอบงำย่ำยีจิต ต้องไปเกิดในอบาย ต้องไปเกิดในนรก ดำรงชั่วกัป แก้ไขไม่ได้ ๒. เทวทัตถูกความเสื่อมลาภครอบงำย่ำยีจิต ต้องไปเกิดในอบาย ต้อง ไปเกิดในนรก ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้ ๓. เทวทัตถูกยศครอบงำย่ำยีจิต ต้องไปเกิดในอบาย ต้องไปเกิดในนรก ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้ ๔. เทวทัตถูกความเสื่อมยศครอบงำย่ำยีจิต ต้องไปเกิดในอบาย ต้อง ไปเกิดในนรก ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้ ๕. เทวทัตถูกสักการะครอบงำย่ำยีจิต ต้องไปเกิดในอบาย ต้องไปเกิด ในนรก ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้ ๖. เทวทัตถูกความเสื่อมสักการะครอบงำย่ำยีจิต จักไปเกิดในอบาย จัก ไปเกิดในนรก ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้ ๗. เทวทัตถูกความปรารถนาชั่วครอบงำย่ำยีจิต จักไปเกิดในอบาย จัก ไปเกิดในนรก ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้ ๘. เทวทัตถูกความที่มีมิตรชั่วครอบงำย่ำยีจิต ต้องไปเกิดในอบาย ต้อง ไปเกิดในนรก ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้ ภิกษุทั้งหลาย เทวทัตถูกอสัทธรรม ๘ อย่างเหล่านี้แลครอบงำย่ำยีจิต ต้องไป เกิดในอบาย ต้องไปเกิดในนรก ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้ @เชิงอรรถ : @ องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๗/๒๐๗ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๒๐๙}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๗. สังฆเภทขันธกะ]

๓. ตติยภาณวาร

[๓๔๙] ภิกษุทั้งหลาย ทางที่ดี ภิกษุพึงครอบงำลาภที่เกิดขึ้นอยู่ พึงครอบงำ ความเลื่อมลาภที่เกิดขึ้นอยู่ ... ยศที่เกิดขึ้น ... ความเสื่อมยศที่เกิดขึ้น ... สักการะ ที่เกิดขึ้น ... ความเสื่อมสักการะที่เกิดขึ้น ... ความปรารถนาชั่วที่เกิดขึ้น ... ความ ที่มีมิตรชั่วที่เกิดขึ้นอยู่ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร จึงพึงครอบงำลาภที่เกิดขึ้นอยู่ พึงครอบงำความเสื่อมลาภที่เกิดขึ้น ... ยศที่เกิดขึ้น ... ความเสื่อมยศที่เกิดขึ้น ... สักการะที่เกิดขึ้น ... ความเสื่อมสักการะที่เกิดขึ้น ... ความปรารถนาชั่วที่เกิดขึ้น ... ความมีมิตรชั่วที่เกิดขึ้นอยู่ ภิกษุทั้งหลาย เพราะเมื่อภิกษุไม่ครอบงำลาภที่เกิดขึ้นอยู่ อาสวะและความ เร่าร้อนที่ก่อความคับแค้นทั้งหลายพึงเกิดขึ้น แต่เมื่อภิกษุนั้นครอบงำลาภที่เกิดขึ้น อยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้นทั้งหลายย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ภิกษุทั้งหลาย เพราะเมื่อภิกษุไม่ครอบงำความเสื่อมลาภที่เกิดขึ้นอยู่ ... ยศที่ เกิดขึ้น ... ความเสื่อมยศที่เกิดขึ้น .... สักการะที่เกิดขึ้น ... ความเสื่อมสักการะ ที่เกิดขึ้น ... ความปรารถนาชั่วที่เกิดขึ้น ... ความมีมิตรชั่วที่เกิดขึ้นอยู่ อาสวะและ ความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้นทั้งหลายพึงเกิดขึ้น แต่เมื่อภิกษุนั้นครอบงำความที่ มีมิตรชั่วที่เกิดขึ้นอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้นทั้งหลายย่อมไม่มี แก่ภิกษุนั้น ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แล จึงพึงครอบงำลาภที่เกิดขึ้นอยู่ ... ความเสื่อมลาภที่เกิดขึ้น ... ยศที่เกิดขึ้น ... ความเสื่อมยศที่เกิดขึ้น ... สักการะ ที่เกิดขึ้น ...ความเสื่อมสักการะที่เกิดขึ้น ... ความปรารถนาชั่วที่เกิดขึ้น ... ความที่ มีมิตรชั่วที่เกิดขึ้นอยู่ @เชิงอรรถ : @ อาสวะทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึงอาสวะทั้ง ๔ คือ กามาสวะ ภวาสวะ ทิฎฐาสวะ อวิชชาสวะ @ความเร่าร้อนที่ก่อให้เกิดความคับแค้นทั้งหลาย หมายถึงความเร่าร้อนคือกิเลส ความเร่าร้อนคือวิบาก @ซึ่งก่อความทุกข์ทางกายและใจ เป็นผลที่เกิดจากอาสวะ (สํ.สฬา.อ. ๓/๕๓-๖๒/๑๔, @องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๕๘/๑๔๐, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา. ๓/๕๘/๑๕๔-๑๖๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๒๑๐}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๗. สังฆเภทขันธกะ]

๓. ตติยภาณวาร

ภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นพวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า พวกเราจะครอบงำลาภ ที่เกิดขึ้นอยู่ ความเสื่อมลาภที่เกิดขึ้น ... ยศที่เกิดขึ้น ... ความเสื่อมยศที่เกิดขึ้น ... สักการะที่เกิดขึ้น ... ความเสื่อมสักการะที่เกิดขึ้น ... ความปรารถนาชั่วที่เกิดขึ้น ... ความที่มีมิตรชั่วที่เกิดขึ้นอยู่ ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้แล พระเทวทัตถูกอสัทธรรม ๓ อย่างครอบงำ [๓๕๐] ๑- ภิกษุทั้งหลาย เทวทัตถูกอสัทธรรม ๓ อย่างครอบงำย่ำยีจิต ต้อง ไปเกิดในอบาย ต้องไปเกิดในนรก ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้ อสัทธรรม ๓ อย่าง คือ ๑. ความปรารถนาชั่ว ๒. ความมีมิตรชั่ว ๓. การได้บรรลุคุณวิเศษขั้นต่ำแล้วเลิกเสียกลางคัน
นิคมคาถา
ใครๆ อย่าได้เกิดเป็นคนปรารถนาชั่ว ไม่ว่าในกาลไหนๆ ในโลก เธอทั้งหลายจงรู้จักเทวทัตว่ามีคติเหมือนกับคนปรารถนาชั่ว เทวทัตเป็นที่ยกย่องกันว่าเป็นบัณฑิต เป็นที่รู้กันว่า ได้อบรมตนแล้ว เราได้ฟังมาว่า เทวทัตดุจรุ่งเรืองอยู่ด้วยยศ เทวทัตนั้นสั่งสมความประมาท เบียดเบียนตถาคตนั้น จึงต้องไปเกิดในนรกอเวจี มีประตู ๔ ด้าน น่ากลัว ผู้ใดประทุษร้ายต่อผู้ไม่ประทุษร้ายตอบ ผู้ไม่ทำกรรมชั่ว บาปย่อมถูกต้องเฉพาะผู้นั้นเท่านั้น @เชิงอรรถ : @ ขุ.อิติ. (แปล) ๒๕/๘๙/๔๕๘-๔๖๐ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๒๑๑}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๗. สังฆเภทขันธกะ]

๓. ตติยภาณวาร

ผู้มีจิตประทุษร้าย ไม่มีความเอื้อเฟื้อ รูปใดเบียดเบียนตถาคตผู้เสด็จไปดี มีพระทัยสงบ ด้วยการกล่าวตำหนิ การตำหนิพระองค์ย่อมฟังไม่ขึ้น เปรียบเหมือนผู้ที่ตั้งใจประทุษร้ายมหาสมุทร ด้วยยาพิษจำนวนเป็นหม้อ เขาไม่อาจประทุษร้ายได้ เพราะมหาสมุทรน่ากลัว ภิกษุผู้ดำเนินตามมรรคาของพระพุทธเจ้า หรือพระสาวกพึงถึงความสิ้นทุกข์ได้ บัณฑิตทำพระพุทธเจ้าหรือพระสาวก ให้เป็นกัลยาณมิตรและคบหาท่านเหล่านั้น”


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๗ หน้าที่ ๒๐๕-๒๑๒. http://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=7&siri=54              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=7&A=3897&Z=4077                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=7&i=401              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=7&item=393&items=11              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=7&item=393&items=11                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu7              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd17/en/brahmali#pli-tv-kd17:4.2.1 https://suttacentral.net/pli-tv-kd17/en/horner-brahmali#Kd.17.4.2



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :