ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวรรค ภาค ๑
๒๕. อัญญติตถิยปุพพกถา
ว่าด้วยภิกษุผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์
ติตถิยปริวาส
[๘๖] สมัยนั้น ภิกษุผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ถูกพระอุปัชฌาย์ว่ากล่าวโดยชอบธรรม ได้โต้เถียงพระอุปัชฌาย์ ไปเข้ารีตเดียรถีย์ดังเดิมแล้วกลับมาขออุปสมบทกับภิกษุอีก ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เคยเป็นอัญเดียรถีย์ถูกพระ อุปัชฌาย์ว่ากล่าวโดยชอบธรรม ได้โต้เถียงพระอุปัชฌาย์ ไปเข้ารีตเดียรถีย์ดังเดิม มาแล้ว สงฆ์ไม่พึงให้อุปสมบท ภิกษุทั้งหลาย แม้ผู้อื่นที่เคยเป็นอัญเดียรถีย์ หวัง บรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้ พึงให้ผู้นั้นอยู่ปริวาส ๔ เดือน” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๑๓๗}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๒๕. อัญญติตถิยปุพพกถา

วิธีให้ติตถิยปริวาส
ภิกษุทั้งหลาย ก็แลสงฆ์พึงให้ติตถิยปริวาสอย่างนี้ ก่อนอื่นพึงให้กุลบุตรที่เคย เป็นอัญเดียรถีย์ปลงผมและหนวด ให้ครองผ้ากาสายะ ให้ห่มผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ให้กราบเท้าภิกษุทั้งหลาย ให้นั่งกระโหย่ง ให้ประนมมือแล้วสั่งว่า “เธอจงกล่าวอย่างนี้” แล้วให้ว่าสรณคมน์ดังนี้
ไตรสรณคมน์
ว่าด้วยการถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ
ข้าพเจ้า ขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ข้าพเจ้า ขอถึงพระธรรมเป็นสรณะ ข้าพเจ้า ขอถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ ข้าพเจ้า ขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ แม้ครั้งที่ ๒ ข้าพเจ้า ขอถึงพระธรรมเป็นสรณะ แม้ครั้งที่ ๒ ข้าพเจ้า ขอถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ แม้ครั้งที่ ๒ ข้าพเจ้า ขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ แม้ครั้งที่ ๓ ข้าพเจ้า ขอถึงพระธรรมเป็นสรณะ แม้ครั้งที่ ๓ ข้าพเจ้า ขอถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ แม้ครั้งที่ ๓ ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรที่เคยเป็นอัญเดียรถีย์นั้น พึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าเฉวียง บ่าข้างหนึ่ง กราบเท้าภิกษุทั้งหลาย นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวคำขอติตถิย ปริวาสอย่างนี้ว่า
คำขอติตถิยปริวาสและกรรมวาจาให้ติตถิยปริวาส
ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้ามีชื่อนี้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ หวังอุปสมบทในพระธรรม วินัยนี้ ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้านั้นขอปริวาส ๔ เดือนต่อสงฆ์ พึงขอแม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ พึงขอแม้ครั้งที่ ๓ ฯลฯ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๑๓๘}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๒๕. อัญญติตถิยปุพพกถา

ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้นี้มีชื่อนี้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ หวัง อุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้ เธอขอปริวาส ๔ เดือนต่อสงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว พึงให้ปริวาส ๔ เดือนแก่ผู้มีชื่อนี้ซึ่งเคยเป็นอัญเดียรถีย์ นี่เป็นญัตติ ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้นี้มีชื่อนี้เคยเป็นอัญเดียรถีร์ หวังอุปสมบท ในพระธรรมวินัยนี้ เธอขอปริวาส ๔ เดือนต่อสงฆ์ สงฆ์ให้ปริวาส ๔ เดือนแก่ผู้มีชื่อ นี้ซึ่งเคยเป็นอัญเดียรถีย์ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการให้ปริวาส ๔ เดือนแก่ผู้มีชื่อนี้ ซึ่งเคยเป็นอัญเดียรถีย์ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง ปริวาส ๔ เดือน สงฆ์ให้แล้วแก่ผู้มีชื่อนี้ซึ่งเคยเป็นอัญเดียรถีย์ สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือเอาความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้ [๘๗] ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ เป็นผู้ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดี อย่างนี้ เป็นผู้ปฏิบัติมิให้สงฆ์ยินดีอย่างนี้
ข้อปฏิบัติที่มิให้สงฆ์ยินดี
ภิกษุทั้งหลาย ก็กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติมิให้สงฆ์ยินดี อย่างไร ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ เข้าหมู่บ้านเช้าเกินไป กลับสายเกินไป๑- แม้เช่นนี้ก็ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติมิให้สงฆ์ยินดี ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ เป็นผู้มีหญิง แพศยาเป็นโคจร๒- มีหญิงม่ายเป็นโคจร มีสาวเทื้อเป็นโคจร มีบัณเฑาะก์เป็นโคจร หรือมีภิกษุณีเป็นโคจร แม้เช่นนี้ก็ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติมิให้สงฆ์ยินดี @เชิงอรรถ : @ เข้าหมู่บ้านเช้าเกินไป หมายถึงเข้าไปบิณฑบาตยังหมู่บ้าน ในเวลาที่ภิกษุทั้งหลายทำวัตร @กลับสายเกินไป หมายถึงมัวแต่คุยเรื่องของชาวบ้านกับสตรี บุรุษ เด็กชาย และเด็กหญิงเป็นต้นในตระกูล @ทั้งหลาย ฉันในตระกูลเหล่านั้น เมื่อภิกษุทั้งหลายเก็บบาตรและจีวรแล้วเรียนบาลีและอรรถกถาอยู่ หรือ @หลีกเร้นอยู่ กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ผู้นั้นจึงกลับมาไม่ทำอุปัชฌายวัตร อาจริยวัตร เข้าไปที่พักแล้ว @นอน (วิ.อ. ๓/๘๗/๕๑) @ มีหญิงแพศยาเป็นโคจร หมายถึงไปมาหาสู่หญิงแพศยาด้วยปรารถนาความเป็นมิตร มีความคุ้นเคยกับ @หญิงแพศยา (วิ.อ. ๓/๘๗/๕๑, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๘๗/๒๙๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๑๓๙}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๒๕. อัญญติตถิยปุพพกถา

ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ เป็นผู้ไม่ขยัน เกียจคร้านในการงานใหญ่น้อยของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ไม่ประกอบด้วยปัญญา เครื่องพิจารณาอันเป็นอุบายในการงานเหล่านั้น ไม่อาจทำ ไม่อาจจัด แม้เช่นนี้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติมิให้สงฆ์ยินดี ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ เป็นผู้ไม่มีฉันทะ แรงกล้าในอุทเทส ในปริปุจฉา๑- ในอธิสีล อธิจิต อธิปัญญา แม้เช่นนี้ก็ชื่อว่าเป็น ผู้ปฏิบัติมิให้สงฆ์ยินดี ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ออกจากลัทธิ ของครูใด เมื่อมีผู้กล่าวติเตียนครูนั้น กล่าวติเตียนความเห็นของครูนั้น ความ ชอบใจของครูนั้น ความพอใจของครูนั้น ความยึดถือของครูนั้น ก็โกรธ ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ เมื่อมีผู้กล่าวติเตียนพระพุทธ พระธรรม หรือพระสงฆ์ กลับพอใจ ร่าเริง ชอบใจ ก็หรือออกจากลัทธิของครูใด เมื่อมีผู้กล่าวสรรเสริญครูนั้น กล่าว สรรเสริญความเห็นของครูนั้น ความชอบใจของครูนั้น ความพอใจของครูนั้น ความยึดถือของครูนั้น ย่อมพอใจ ร่าเริง ชอบใจ เมื่อกล่าวสรรเสริญพระพุทธ พระธรรม หรือพระสงฆ์ กลับโกรธ ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ ข้อนี้เป็นเครื่องสอบสวน ในข้อปฏิบัติที่ไม่ชวนให้สงฆ์ยินดีของกุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ ภิกษุทั้งหลาย ก็กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติมิให้สงฆ์ยินดี อย่างนี้ กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ผู้ปฏิบัติมิให้สงฆ์ยินดีอย่างนี้มาแล้ว ไม่พึงให้ อุปสมบท
ข้อปฏิบัติที่ให้สงฆ์ยินดี
ภิกษุทั้งหลาย ก็กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดีอย่างไร ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์นี้ เข้าหมู่บ้านไม่เช้านัก กลับไม่สายนัก แม้เช่นนี้ก็ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดี @เชิงอรรถ : @ อุทเทส หมายถึงการเรียนบาลี @ปริปุจฉา หมายถึงอรรถกถา (วิ.อ. ๓/๘๗/๕๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๑๔๐}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๒๕. อัญญติตถิยปุพพกถา

ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ ไม่เป็นผู้มีหญิง แพศยาเป็นโคจร ไม่มีหญิงม่ายเป็นโคจร ไม่มีสาวเทื้อเป็นโคจร ไม่มีบัณเฑาะก์ เป็นโคจร หรือไม่มีภิกษุณีเป็นโคจร แม้เช่นนี้ก็ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดี ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ เป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านในการงานใหญ่น้อยของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ประกอบด้วยปัญญา เครื่องพิจารณาอันเป็นอุบายในการงานเหล่านั้น อาจทำ อาจจัด แม้เช่นนี้ก็ชื่อว่า เป็นผู้ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดี ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ เป็นผู้มีฉันทะ แรงกล้าในอุทเทส ในปริปุจฉา ในอธิสีล อธิจิต อธิปัญญา แม้เช่นนี้ก็ชื่อว่าเป็นผู้ ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดี ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ออกจากลัทธิของ ครูใด เมื่อมีผู้กล่าวติเตียนครูนั้น กล่าวติเตียนความเห็นของครูนั้น ความชอบใจ ของครูนั้น ความพอใจของครูนั้น ความยึดถือของครูนั้น ย่อมพอใจ ร่าเริง ชอบใจ เมื่อเขากล่าวติเตียนพระพุทธ พระธรรม หรือพระสงฆ์ กลับโกรธ ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ ก็หรือออกจากลัทธิของครูใด เมื่อเขากล่าวสรรเสริญครูนั้น กล่าวสรรเสริญความ เห็นของครูนั้น ความชอบใจของครูนั้น ความพอใจของครูนั้น ความยึดถือของ ครูนั้น ย่อมโกรธ ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ เมื่อเขากล่าวสรรเสริญพระพุทธ พระธรรม หรือพระสงฆ์ ย่อมพอใจ ร่าเริง ชอบใจ ข้อนี้เป็นเครื่องสอบสวนในข้อปฏิบัติที่ชวน ให้สงฆ์ยินดีของกุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ ภิกษุทั้งหลาย ก็กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดีอย่างนี้ กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ผู้ปฏิบัติให้สงฆ์ยินดีอย่างนี้ มาแล้ว พึงให้อุปสมบท
เรื่องอัญเดียรถีย์เปลือยไม่โกนผม
ภิกษุทั้งหลาย ถ้ากุลบุตรผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์เปลือยกายมา พึงแสวงหาจีวร ซึ่งมีอุปัชฌาย์เป็นเจ้าของ ถ้ายังไม่ปลงผมมา สงฆ์พึงอปโลกน์เพื่อปลงผม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๑๔๑}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๒๖. ปัญจาพาธวัตถุ

เรื่องชฎิลบูชาไฟ
ภิกษุทั้งหลาย พวกชฎิลบูชาไฟมาแล้ว พึงให้อุปสมบท ไม่ต้องให้ปริวาสแก่ พวกเธอ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะชฎิลเหล่านั้นเป็นกรรมวาที เป็นกิริยวาที๑-
เรื่องอัญเดียรถีย์ศากยะ
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าศากยะโดยกำเนิดเคยเป็นอัญเดียรถีย์มา ศากยะนั้นมาแล้ว พึงให้อุปสมบท ไม่ต้องให้ปริวาสแก่ศากยะนั้น เราให้สิทธิพิเศษส่วนนี้เฉพาะแก่หมู่ ญาติ
อัญญติตถิยปุพพกถา จบ
ภาณวารที่ ๗ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๑๓๗-๑๔๒. http://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=4&siri=30              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=4&A=2764&Z=2875                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=4&i=100              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=4&item=100&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=1107              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=4&item=100&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=1107                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu4              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/04i001-e.php#topic38 https://suttacentral.net/pli-tv-kd1/en/brahmali#pli-tv-kd1:38.1.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd1/en/horner-brahmali#Kd.1.37.2



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :