ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๘. ยโสธราเถริยาปทาน

๘. ยโสธราเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระยโสธราเถรี
(พระยโสธราเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๓๑๔] สมัยหนึ่ง เมื่อพระผู้ทรงเป็นผู้นำแห่งนรชน ประทับอยู่ ณ เงื้อมภูเขาที่ประเสริฐแห่งหนึ่ง ใกล้กรุงราชคฤห์ ที่น่ารื่นรมย์ มั่งคั่ง [๓๑๕] ยโสธราภิกษุณี ผู้อยู่ในสำนักของภิกษุณี ในนครที่น่ารื่นรมย์นั้น ได้มีความรำพึงอย่างนี้ว่า [๓๑๖] ‘พระเจ้าสุทโธทนมหาราช และพระนางมหาปชาบดีโคตมี พระมหาเถระผู้มีชื่อเสียง และพระเถรีผู้มีฤทธิ์มาก [๓๑๗] ท่านเหล่านั้น ล้วนนิพพานไปแล้ว เหมือนเปลวประทีปหมดเชื้อดับไปฉะนั้น เมื่อพระโลกนาถยังทรงพระชนม์อยู่ แม้เราก็จักบรรลุถึงสิวบท(นิพพาน)’ [๓๑๘] ยโสธราภิกษุณีนั้นครั้นคิดแล้ว จึงพิจารณาดูอายุของตน เห็นอายุสังขาร จะถึงความสิ้นไปในวันนั้นเอง [๓๑๙] จึงถือบาตรและจีวรออกจากที่อยู่ของตน มีภิกษุณี ๑๐๐,๐๐๐ รูปห้อมล้อม [๓๒๐] มีฤทธิ์มาก มีปัญญามาก เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถวายอภิวาท ที่ลายลักษณ์กงจักรของพระศาสดาแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลคำนี้ว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๙๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๘. ยโสธราเถริยาปทาน

[๓๒๑] ‘หม่อมฉันมีอายุได้ ๗๘ ปี ล่วงเข้าปัจฉิมวัยแล้ว ถึงความเป็นผู้มีกายค้อมลงโดยลำดับ ขอกราบทูลลาพระมหามุนี [๓๒๒] หม่อมฉันมีวัยแก่หง่อม ชีวิตของหม่อมฉันมีอยู่นิดหน่อย หม่อมฉันจักละพระองค์ไป ที่พึ่งของตนหม่อมฉันทำไว้แล้ว [๓๒๓] ในกาลปัจฉิมวัยนี้ ความตายเข้ามาปิดล้อมไว้แล้ว ข้าแต่พระมหาวีระ หม่อมฉันจักนิพพานในคืนวันนี้ [๓๒๔] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันไม่มีชาติ ชรา พยาธิ และมรณะ หม่อมฉันจักเข้าถึงนิพพานที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง เป็นบุรีที่ไม่มีความแก่ ความตาย และไม่มีภัย [๓๒๕] บริษัทที่เข้าเฝ้าพระองค์อยู่ รู้จักความผิด จึงขอประทานโทษ เฉพาะพระพักตร์ของพระศาสดา [๓๒๖] ข้าแต่พระมหาวีระ เมื่อหม่อมฉันเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสงสาร หากมีความผิดพลาดในพระองค์ หม่อมฉันกราบทูลว่า ขอพระองค์โปรดยกโทษให้แก่หม่อมฉันด้วยเถิด’ [๓๒๗] พระจอมมุนีทรงสดับคำของพระยโสธราภิกษุณีแล้ว จึงตรัสดังนี้ว่า ‘เมื่อเธอบอกว่าจะลานิพพาน ตถาคตจะไปว่าอะไรเธอให้มากเล่า [๓๒๘] เธอผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของเรา จงแสดงฤทธิ์ และตัดความสงสัยของบริษัททั้งปวงในศาสนาเถิด’ [๓๒๙] พระยโสธราภิกษุณีนั้น ได้ฟังพระดำรัสของพระมุนีพระองค์นั้นแล้ว จึงไหว้พระราชมุนีนั้นกราบทูลคำนี้ว่า [๓๓๐] ‘ข้าแต่พระมหาวีระ หม่อมฉันชื่อยโสธรา เมื่อสมัยที่ยังทรงครองฆราวาสวิสัย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๙๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๘. ยโสธราเถริยาปทาน

เป็นปชาบดีของพระองค์ เกิดในตระกูลศากยะ ตั้งอยู่ในองค์สมบัติของผู้หญิง [๓๓๑] ข้าแต่พระมหาวีระ บรรดาหญิงจำนวน ๑๙๖,๐๐๐ นาง หม่อมฉันเป็นประธาน เป็นใหญ่กว่าหญิงทั้งปวง ในพระราชนิเวศน์ของพระองค์ [๓๓๒] สตรีทั้งหมดประกอบด้วยรูปสมบัติและอาจารสมบัติ แม้ดำรงอยู่ในวัยสาว ก็ยำเกรงหม่อมฉันทุกเมื่อ เหมือนมนุษย์ทั้งหลายยำเกรงเทวดา [๓๓๓] หญิงเหล่านั้นมีนางกษัตริย์ ๑,๐๐๐ นาง เป็นประธาน ร่วมสุขร่วมทุกข์กันอยู่ในพระราชนิเวศน์ของศากยบุตร ปานประหนึ่งเทวดาทั้งหลายในสวนนันทวัน [๓๓๔] เว้นพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกแล้ว เหล่าสตรีผู้ฉลาดล่วงเลยกามภูมิ ตั้งอยู่ในรูปภูมิ มีรูปเช่นกับหม่อมฉันไม่มี’ [๓๓๕] พระยโสธราเถรี ถวายอภิวาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว แสดงฤทธิ์ถวายพระศาสดา แล้วแสดงฤทธิ์มากมายหลายอย่าง [๓๓๖] คือ แสดงกายเท่าภูเขาจักรวาล ศีรษะเท่าอุตตรกุรุทวีป ทวีปทั้ง ๒ ให้เป็นปีกทั้ง ๒ ข้าง ชมพูทวีปให้เป็นลำตัว [๓๓๗] แสดงมหาสมุทรด้านทิศใต้ให้เป็นกำหาง กิ่งไม้ต่างๆ ให้เป็นขนปีก ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ให้เป็นนัยน์ตา ภูเขาพระสุเมรุให้เป็นหงอน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๙๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๘. ยโสธราเถริยาปทาน

[๓๓๘] แสดงภูเขาจักรวาลให้เป็นจะงอยปาก นำต้นหว้า พร้อมทั้งรากเข้ามาใกล้แล้วไหว้และพัดวีพระผู้เป็นผู้นำสัตว์โลก [๓๓๙] แสดงเป็นช้าง ม้า ภูเขา ทะเล ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ภูเขาพระสุเมรุ และเป็นท้าวสักกะจอมเทพ [๓๔๐] กราบทูลว่า ‘ข้าแต่พระมหาวีระ ผู้มีพระจักษุ หม่อมฉันชื่อว่ายโสธรา ขอกราบพระยุคลบาท’ แล้วใช้ดอกบัวบานปิด ๑,๐๐๐ โลกธาตุไว้ [๓๔๑] เนรมิตเป็นพรหมแสดงสุญญตธรรมอยู่ กราบทูลว่า ‘ข้าแต่พระวีระ ผู้มีพระจักษุ หม่อมฉันชื่อว่ายโสธรา ขอกราบพระยุคลบาท’ [๓๔๒] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์ ในทิพพโสตธาตุ และมีความชำนาญในเจโตปริยญาณ [๓๔๓] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ทิพยจักษุหม่อมฉันก็ชำระให้หมดจดแล้ว อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไปแล้ว บัดนี้ ภพใหม่ไม่มี [๓๔๔] ข้าแต่พระมหาวีระ อัตถปฏิสัมภิทาญาณ ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ และปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณของหม่อมฉัน เกิดขึ้นแล้วในสำนักของพระองค์ [๓๔๕] ความพร้อมเพรียงแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก พระองค์ทรงแสดงแล้ว ข้าแต่พระมหามุนี อธิการเป็นอันมากของหม่อมฉัน เพื่อประโยชน์แก่พระองค์ [๓๔๖] ข้าแต่พระมหาวีระผู้เป็นพระมุนี ขอพระองค์พึงหวนระลึกถึงกุศลกรรมเก่าของหม่อมฉันเถิด หม่อมฉันสั่งสมบุญไว้ก็เพื่อประโยชน์แก่พระองค์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๙๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๘. ยโสธราเถริยาปทาน

[๓๔๗] ข้าแต่พระมหาวีระ หม่อมฉันงดเว้นอนาจารในสถานที่ไม่สมควร แม้ชีวิตก็ยอมสละได้เพื่อประโยชน์แก่พระองค์ [๓๔๘] ข้าแต่พระมหามุนี พระองค์ประทานหม่อมฉัน เพื่อต้องการให้เป็นภรรยาของผู้อื่นหลายพันโกฏิกัป ก็เพื่อประโยชน์แก่พระองค์ หม่อมฉันไม่เคยเสียใจในเรื่องนั้นเลย [๓๔๙] ข้าแต่พระมหามุนี พระองค์ประทานหม่อมฉัน เพื่ออุดหนุนผู้อื่นหลายพันโกฏิกัป ก็เพื่อประโยชน์แก่พระองค์ หม่อมฉันไม่เคยเสียใจในเรื่องนั้นเลย [๓๕๐] ข้าแต่พระมหามุนี พระองค์ประทานหม่อมฉัน เพื่อประโยชน์เป็นอาหารหลายพันโกฏิกัป ก็เพื่อประโยชน์แก่พระองค์ หม่อมฉันไม่เคยเสียใจในเรื่องนั้นเลย [๓๕๑] หม่อมฉันยอมสละชีวิตหลายพันโกฏิกัป ด้วยคิดว่าจักกระทำความพ้นภัย จึงยอมสละชีวิตตนเอง [๓๕๒] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันไม่เคยหวงเครื่องประดับ มีผ้านานาชนิดที่ติดตัวอยู่และภัณฑะของหญิง เพื่อประโยชน์แก่พระองค์ [๓๕๓] ข้าแต่พระมหามุนี ทรัพย์ ข้าวเปลือก ปัจจัยเครื่องบริจาค บ้าน นิคม ไร่ นา บุตร ธิดา หม่อมฉันก็บริจาคแล้ว [๓๕๔] ช้าง ม้า โค ทาสี นางบำเรอ มากมายนับไม่ถ้วน หม่อมฉันก็บริจาคแล้ว เพื่อประโยชน์แก่พระองค์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๐๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๘. ยโสธราเถริยาปทาน

[๓๕๕] พระองค์ทรงปรึกษาหม่อมฉันว่า ‘เราจะให้ทานแก่พวกยาจก’ เมื่อพระองค์ให้ทานที่ประเสริฐอยู่ หม่อมฉันก็ไม่เคยเสียใจ [๓๕๖] ข้าแต่พระมหาวีระ หม่อมฉันยอมรับทุกข์ทรมาน มากมายหลายอย่างจนนับไม่ถ้วน ในสงสารเป็นอเนก ก็เพื่อประโยชน์แก่พระองค์ [๓๕๗] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันได้รับสุขก็อนุโมทนา และคราวที่ได้รับทุกข์ก็ไม่เสียใจ เป็นผู้ยินดีแล้วทุกอย่าง เพื่อประโยชน์แก่พระองค์ [๓๕๘] ข้าแต่พระมหามุนี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญธรรม โดยมรรคที่สมควร เสวยสุขและทุกข์แล้ว ได้บรรลุพระโพธิญาณ [๓๕๙] การที่พระองค์และหม่อมฉันพบพระสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกพระนามว่าพรหมเทพ และพระนามว่าโคดม แล้วพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นที่พึ่งสัตว์โลกเหล่าอื่นอีกก็มาก [๓๖๐] ข้าแต่พระมหามุนี อธิการของหม่อมฉันมีมาก เพื่อประโยชน์แก่พระองค์ หม่อมฉันเมื่อแสวงหาพุทธธรรมอยู่ ก็ได้เป็นบาทบริจาริกาของพระองค์ [๓๖๑] ใน ๔ อสงไขยและอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัป พระมหาวีระพระนามว่าทีปังกร ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว [๓๖๒] ประชาชนในปัจจันตประเทศ ต่างมีใจยินดีทูลนิมนต์พระตถาคตแล้ว ช่วยกันแผ้วถางทางซึ่งเป็นที่เสด็จพุทธดำเนิน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๐๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๘. ยโสธราเถริยาปทาน

[๓๖๓] ครั้งนั้น พระองค์เกิดเป็นพราหมณ์นามว่าสุเมธะ กำลังตกแต่งหนทางเพื่อพระสุคต ผู้ทรงเห็นธรรมทั้งปวงกำลังเสด็จมา [๓๖๔] ครั้งนั้น หม่อมฉันได้เกิดในตระกูลพราหมณ์ เป็นหญิงสาวมีนามว่าสุมิตตา เข้าไปสู่สมาคม [๓๖๕] ถือดอกอุบลไป ๘ กำเพื่อบูชาพระศาสดา ได้เห็นพระองค์ผู้เป็นฤาษีผู้ประเสริฐ ในท่ามกลางหมู่ชน [๓๖๖] ครั้งนั้น หม่อมฉันได้เห็นพระองค์ผู้น่าพอใจ ผู้มีความเอ็นดูประทับอยู่นาน ดำเนินผ่านไป จึงได้สำคัญว่าชีวิตของเรามีผล [๓๖๗] ครั้งนั้น หม่อมฉันเห็นความพยายามที่มีผล ของพระองค์ผู้เป็นพระฤาษี ด้วยบุพกรรม แม้จิตของหม่อมฉันก็เลื่อมใสในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า [๓๖๘] หม่อมฉันทำจิตให้เลื่อมใสอย่างยิ่ง ในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นพระฤๅษี มีพระทัยเบิกบาน ข้าแต่พระฤาษี หม่อมฉันมิได้เห็นสิ่งอื่นที่ควรถวาย จึงถวายดอกอุบลแด่พระองค์ พร้อมกับกล่าวว่า [๓๖๙] ‘ข้าแต่พระฤๅษี ดอกอุบล ๕ กำ จงเป็นของท่าน ดอกอุบล ๓ กำ จงเป็นของหม่อมฉัน ข้าแต่พระฤๅษี ดอกบัว ๓ กำของหม่อมฉัน กับดอกบัว ๕ กำของท่านนั้น จงมีผลเสมอกัน เพื่อประโยชน์แก่พระโพธิญาณของท่าน’
ภาณวารที่ ๔ จบ
[๓๗๐] สุเมธมหาฤาษีรับดอกอุบลแล้วบูชาพระพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกร ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ มีบริวารยศมากมาย เสด็จดำเนินมาท่ามกลางชุมชน เพื่อประโยชน์แก่พระโพธิญาณ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๐๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๘. ยโสธราเถริยาปทาน

[๓๗๑] พระมหามุนีผู้มีความเพียรมากพระนามว่าวีรทีปังกร ทอดพระเนตรเห็นพระฤาษี ผู้มีใจสูงแล้ว จึงตรัสพยากรณ์ในท่ามกลางชุมชน [๓๗๒] ข้าแต่พระมหามุนี ในกัปที่หาประมาณมิได้นับจากกัปนี้ไป พระมหามุนีพระนามว่าทีปังกร ทรงพยากรณ์กรรม คือความเป็นผู้ซื่อตรงของหม่อมฉันไว้ว่า [๓๗๓] ‘ท่านฤาษีผู้เป็นใหญ่ อุบาสิกาผู้นี้จักเป็นผู้มีจิตเสมอกัน มีการกระทำเสมอกัน มีปกติทำร่วมกัน จักเป็นที่น่ารักเพราะการกระทำเพื่อประโยชน์แก่ท่าน [๓๗๔] จักเป็นหญิงมีรูปร่างน่าดู น่าชม น่ารักยิ่ง น่าชอบใจ มีวาจาอ่อนหวาน มีฤทธิ์ เป็นธรรมทายาทของท่าน [๓๗๕] อุบาสิกาผู้นี้ จักรักษากุศลธรรมทั้งหลาย เหมือนพวกเจ้าของรักษาเครื่องสมุก [๓๗๖] จะอนุเคราะห์ท่าน จักบำเพ็ญบารมีเพื่อท่าน ละกิเลสได้ดังพญาราชสีห์ละกรงแล้ว จักบรรลุพระโพธิญาณ’ [๓๗๗] ในกัปที่หาประมาณมิได้นับจากกัปนี้ไป พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ดำรัสใดกับหม่อมฉัน หม่อมฉันเมื่ออนุโมทนาพระดำรัสนั้น เป็นผู้ทำอย่างนี้ [๓๗๘] หม่อมฉันทำจิตให้เลื่อมใสในกุศลกรรมที่ได้ทำไว้ดีแล้วนั้น ได้บังเกิดในกำเนิดเทวดาและมนุษย์มากมาย [๓๗๙] ได้เสวยสุขและทุกข์ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เมื่อถึงภพสุดท้ายได้เกิดในศากยตระกูล [๓๘๐] หม่อมฉันมีรูปสมบัติ มีโภคสมบัติ มียศ มีศีล สมบูรณ์ด้วยองค์สมบัติทั้งปวง แต่นั้นได้รับความยำเกรงจากเจ้านายในตระกูลทั้งหลาย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๐๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๘. ยโสธราเถริยาปทาน

[๓๘๑] พรั่งพร้อมด้วยโลกธรรม คือ ลาภ สักการะ สรรเสริญ มีจิตไม่ประกอบด้วยทุกข์ อยู่อย่างผู้ไม่มีภัยแต่ที่ไหนๆ [๓๘๒] สมจริงตามพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ‘ข้าแต่พระพระองค์ผู้แกล้วกล้า ในครั้งนั้น พระองค์ทรงแสดงอุปการะของนารีทั้งหลาย ไว้ภายในพระราชมณเฑียรและในขัตติยบุรีว่า [๓๘๓] นารีผู้มีอุปการะ ๑ นารีผู้เป็นเพื่อนร่วมสุขร่วมทุกข์ ๑ นารีผู้แนะนำประโยชน์ให้ ๑ นารีผู้ทำความอนุเคราะห์ให้ ๑’ [๓๘๔] พระพุทธเจ้ามีจำนวนถึง ๕๐๐ โกฏิ และ ๙๐๐ โกฏิ หม่อมฉันจัดถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้าเหล่านั้น [๓๘๕] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงสดับอธิการ ของหม่อมฉันมีมากมาย พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของชาวโลก มีจำนวนถึง ๑,๑๐๐ โกฏิ [๓๘๖] หม่อมฉันจัดถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้าเหล่านั้น ผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงสดับ อธิการของหม่อมฉันมีมากมาย [๓๘๗] หม่อมฉันจัดถวายมหาทานแก่พระพุทธเจ้า ๒,๐๐๐ โกฏิ และแก่พระพุทธเจ้า ๓,๐๐๐ โกฏิ ผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ [๓๘๘] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ทรงสดับอธิการ ของหม่อมฉันมีมากมาย พระพุทธเจ้ามีจำนวนถึง ๔,๐๐๐ โกฏิ และ ๕,๐๐๐ โกฏิ [๓๘๙] หม่อมฉันจัดถวายมหาทานแก่พระพุทธเจ้าเหล่านั้น ผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงสดับ อธิการของหม่อมฉันมีมากมาย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๐๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๘. ยโสธราเถริยาปทาน

[๓๙๐] พระพุทธเจ้ามีจำนวนถึง ๖,๐๐๐ โกฏิ และ ๗,๐๐๐ โกฏิ หม่อมฉันจัดถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้าเหล่านั้น ผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ [๓๙๑] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงสดับอธิการ ของหม่อมฉันมีมากมาย พระพุทธเจ้ามีจำนวนถึง ๘,๐๐๐ โกฏิ และ ๙,๐๐๐ โกฏิ [๓๙๒] หม่อมฉันจัดถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้าเหล่านั้น ผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงสดับอธิการของหม่อมฉันมีมากมาย [๓๙๓] พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของชาวโลก มีจำนวนถึง ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ หม่อมฉันจัดถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้าเหล่านั้น ผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ [๓๙๔] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงสดับอธิการ ของหม่อมฉันมีมากมาย พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำอื่นๆ มีจำนวนถึง ๙,๐๐๐ โกฏิ [๓๙๕] หม่อมฉันจัดถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้าเหล่านั้น ผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงสดับอธิการของหม่อมฉันมีมากมาย [๓๙๖] พระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ ๘๕ องค์ ๘,๕๐๐ โกฏิ ๓๐ โกฏิ [๓๙๗] หม่อมฉันจัดถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้าเหล่านั้น ผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงสดับอธิการของหม่อมฉันมีมากมาย [๓๙๘] หม่อมฉันจัดถวายมหาทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้ปราศจากราคะจำนวน ๘๘ โกฏิ ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ทรงสดับอธิการของหม่อมฉันมีมากมาย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๐๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๘. ยโสธราเถริยาปทาน

[๓๙๙] หม่อมฉันจัดถวายมหาทานแก่พระขีณาสพ ผู้ปราศจากมลทิน ซึ่งเป็นพุทธสาวกมากมายนับไม่ถ้วน ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ทรงสดับอธิการหม่อมฉันมีมากมาย [๔๐๐] หม่อมฉันจัดถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้สั่งสมไว้ดีแล้วในธรรมทั้งหลาย และแด่พระอริยสงฆ์ทั้งหลายผู้ประพฤติพระสัทธรรมทุกเมื่อ ด้วยประการฉะนี้ บุคคลผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า [๔๐๑] บุคคลควรประพฤติธรรมให้สุจริต ไม่ควรประพฤติธรรมให้ทุจริต เพราะบุคคลผู้ประพฤติธรรม ย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า [๔๐๒] ข้าพระองค์เบื่อหน่ายในสังสารวัฏ จึงออกบวชเป็นบรรพชิตพร้อมด้วยบริวาร ๑,๐๐๐ ครั้นบวชแล้วก็หมดกังวล๑- [๔๐๓] หม่อมฉันละการครองเรือนแล้วบวชเป็นบรรพชิต ยังไม่ทันถึงกึ่งเดือน ก็ได้บรรลุสัจจะ ๔ [๔๐๔] ‘คนเป็นอันมากนำจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และปัจจัยเข้ามาถวายมากมายมิใช่น้อย เหมือนคลื่นในมหาสมุทร [๔๐๕] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ @เชิงอรรถ : @ กังวล หมายถึงกังวล ๓ คือ (๑) กังวลคือราคะ (๒) กังวลคือโทสะ (๓) กังวลคือโมหะ @(ดูเทียบ ที.ปา. (แปล) ๑๑/๓๐๕/๒๖๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๐๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๙. ทสสหัสสเถริยาปทาน

[๔๐๖] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด เป็นการมาดีแล้วโดยแท้ วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว [๔๐๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล [๔๐๘] หม่อมฉันได้รับทุกข์หลายอย่าง และสุขสมบัติหลายอย่าง ถึงความเป็นผู้บริสุทธิ์ ได้สมบัติทุกอย่างด้วยประการฉะนี้ [๔๐๙] บุคคลผู้ถวายตนของตนแด่พระพุทธเจ้า ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ เพื่อต้องการบุญก็ย่อมพรั่งพร้อมด้วยสหาย บรรลุพระนิพพานซึ่งเป็นอสังขตะ [๔๑๐] กรรมทั้งที่เป็นอดีต ปัจจุบันและอนาคตสิ้นไปแล้ว กรรมทั้งปวงของหม่อมฉันสิ้นไปแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ หม่อมฉันขอกราบไหว้พระยุคลบาท ได้ทราบว่า พระยโสธราภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ด้วยประการฉะนี้
ยโสธราเถริยาปทานที่ ๘ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๔๙๖-๕๐๗. http://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=33&siri=179              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=33&A=5882&Z=6046                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=168              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=168&items=1              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=168&items=1                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/thi-ap28/en/walters



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :