ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๑. กุณฑลเกสีเถริยาปทาน

๓. กุณฑลเกสีวรรค
หมวดว่าด้วยพระเถรีชื่อกุณฑลเกสีเป็นต้น
๑. กุณฑลเกสีเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระกุณฑลเกสีเถรี
(พระกุณฑลเกสีเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๑] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ถึงความสำเร็จแห่งธรรมทั้งปวง ทรงเป็นผู้นำ เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป [๒] ครั้งนั้น หม่อมฉันเกิดในตระกูลเศรษฐี ที่มีความรุ่งเรืองด้วยรัตนะต่างๆ ในกรุงหงสวดี เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยความสุขมาก [๓] หม่อมฉันได้เข้าเฝ้าพระมหาวีระพระองค์นั้นแล้วได้ฟังธรรมที่สูงสุด แต่นั้นหม่อมฉันเกิดความเลื่อมใส ได้ถึงพระชินเจ้าเป็นสรณะ [๔] ครั้งนั้น พระชินเจ้าทรงเป็นผู้นำ พระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ประกอบด้วยพระมหากรุณา ทรงตั้งภิกษุณีรูปหนึ่งผู้มีปัญญาดีไว้ในเอตทัคคะว่า ‘เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายผู้ขิปปาภิญญา(รู้ฉับพลัน)’ [๕] หม่อมฉันได้ฟังพุทธพยากรณ์นั้นแล้ว เป็นผู้เบิกบาน ได้ถวายทานแด่พระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่แล้ว ซบศีรษะลงแทบพระยุคลบาท ปรารถนาตำแหน่งนั้น [๖] พระมหาวีรพุทธเจ้าตรัสอนุโมทนาว่า ‘นางผู้เจริญ ตำแหน่งใดที่เธอปรารถนาแล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๕๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๑. กุณฑลเกสีเถริยาปทาน

ตำแหน่งนั้นทั้งปวงจักสำเร็จแก่เธอ เธอจงเป็นผู้มีสุขนิพพานเถิด [๗] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก [๘] สตรีผู้นี้จักมีนามว่ากุณฑลเกสี ผู้เจริญ เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต จักเป็นสาวิกาของพระศาสดาพระองค์นั้น’ [๙] ด้วยกรรมที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้ว จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ [๑๐] หม่อมฉันจุติจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นยามา จุติจากสวรรค์ชั้นยามานั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตนั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี จุติจากสวรรค์ชั้นนิมมานรดีนั้นแล้วไปเกิดในสวรรคชั้นปรนิมมิตวสวัตดี [๑๑] เพราะอำนาจแห่งกรรมนั้น หม่อมฉันเกิดในภพใดๆ ในภพนั้นๆ ก็ได้เป็นพระมเหสีของพระราชา [๑๒] หม่อมฉันจุติจากสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดีนั้นแล้ว มาเกิดในหมู่มนุษย์ ได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ และได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าแผ่นดิน [๑๓] เสวยสมบัติทั้งในเทวโลกและในมนุษยโลก มีความสุขทุกชาติ เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในกัปเป็นอันมาก [๑๔] ในภัทรกัปนี้ พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์ มีพระยศยิ่งใหญ่ พระนามว่ากัสสปะ ตามพระโคตร ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลายเสด็จอุบัติขึ้นแล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๕๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๑. กุณฑลเกสีเถริยาปทาน

[๑๕] ครั้งนั้น พระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกี เป็นใหญ่กว่านรชนในกรุงพาราณสีที่ประเสริฐสุด ทรงเป็นผู้อุปัฏฐากของพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ [๑๖] หม่อมฉันเป็นธิดาคนที่ ๔ ของพระองค์ มีนามปรากฏว่าภิกขุทาสี ได้ฟังธรรมของพระชินเจ้าผู้เลิศแล้วพอใจการบรรพชา [๑๗] แต่พระชนกนาถมิได้ทรงอนุญาตให้หม่อมฉันทั้งหลายบวช ครั้งนั้น หม่อมฉันทั้งหลายไม่เกียจคร้านครองเรือนอยู่ ๒๐,๐๐๐ ปี [๑๘] พระราชกัญญาทั้ง ๗ พระองค์ มีความสุข ประพฤติพรหมจรรย์ตั้งแต่ยังเป็นกุมารี เพลิดเพลินยินดีอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า [๑๙] คือ (๑) พระนางสมณี (๒) พระนางสมณคุตตา (๓) พระนางภิกษุณี (๔) พระนางภิกขุทาสิกา (๕) พระนางธรรมา (๖) พระนางสุธรรมา (๗) พระนางสังฆทาสิกา [๒๐] (พระราชธิดาทั้ง ๗ นั้น ได้กลับชาติมาเกิด) คือ หม่อมฉัน ๑ พระเขมาเถรี ๑ พระอุบลวรรณาเถรี ๑ พระปฏาจาราเถรี ๑ พระกีสาโคตมีเถรี ๑ พระธรรมทินนาเถรี ๑ และคนที่ ๗ เป็นวิสาขามหาอุบาสิกา [๒๑] ด้วยกรรมทั้งหลายที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้ว จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ [๒๒] บัดนี้ เป็นภพสุดท้าย หม่อมฉันเกิดในตระกูลเศรษฐี ที่มีความเจริญในกรุงราชคฤห์ที่อุดมสมบูรณ์ เมื่อครั้งหม่อมฉันยังเป็นสาว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๕๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๑. กุณฑลเกสีเถริยาปทาน

[๒๓] ได้เห็นราชบุรุษนำโจรไปเพื่อประหาร มีความรักในโจรคนนั้น บิดาของหม่อมฉันใช้ทรัพย์ ๑,๐๐๐ ปลดเปลื้องโจรนั้น ให้หลุดพ้นจากการถูกประหาร [๒๔] บิดาทราบจิตใจของหม่อมฉันแล้ว จึงยกหม่อมฉันให้โจรนั้น หม่อมฉันไว้วางใจ เอ็นดู เกื้อกูลโจรคนนั้นยิ่งนัก [๒๕] โจรนั้น มีความโลภในเครื่องประดับของหม่อมฉัน แล้วคิดจะฆ่าหม่อมฉันผู้ช่วยนำเครื่องบวงสรวง ไปยังเหวทิ้งโจรบนภูเขา [๒๖] เวลานั้น หม่อมฉันเมื่อจะรักษาชีวิตของตนไว้ จึงประนมมือไหว้โจรผู้เป็นศัตรูที่ร้ายกาจแล้วกล่าวว่า [๒๗] ‘นายผู้เจริญ สร้อยคอทองคำ แก้วมุกดา และแก้วไพฑูรย์เป็นจำนวนมาก ทั้งหมดนี้ นายเอาไปเถิด จงปล่อยดิฉันไป และจงประกาศดิฉันให้ทราบว่าเป็นทาสีเถิด’ [๒๘] (โจรกล่าวว่า) ‘นี่แม่นาง จงเปลื้องออกมา อย่ามัวรำพันนักเลย เรารู้เพียงว่า ไม่ฆ่าเจ้าผู้มาถึงป่าแล้วไม่ได้’ [๒๙] (หม่อมฉันกล่าวว่า) ‘ตั้งแต่ดิฉันรู้เดียงสา จำความได้ ยังไม่รู้จักรักชายอื่นยิ่งไปกว่าท่านเลย [๓๐] มาเถิด ดิฉันจักกอดท่าน ขอทำประทักษิณท่าน ไหว้ท่าน เพราะดิฉันกับท่านจะไม่มีโอกาสอยู่ร่วมกันอีก’ [๓๑] (เทวดาซึ่งสถิตอยู่ในที่นั้นได้กล่าวว่า) ‘บุรุษเท่านั้นจะเป็นคนฉลาดในฐานะทั้งปวง ก็หาไม่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๕๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๑. กุณฑลเกสีเถริยาปทาน

แม้สตรีผู้มีปัญญาเห็นประจักษ์ในฐานะนั้นๆ ก็เป็นคนฉลาดได้ [๓๒] บุรุษเท่านั้นจะเป็นคนฉลาดในฐานะทั้งปวง ก็หาไม่ แม้สตรีผู้คิดเนื้อความได้ฉับไว ก็เป็นคนฉลาดได้’ [๓๓] ครั้งนั้น หม่อมฉันคิดได้หลายๆ เรื่องอย่างรวดเร็วและฉับไว ดุจบ่อเกิดแห่งปัญญาที่เต็มด้วยความคิดจึงได้ฆ่าศัตรูที่ร้ายกาจ [๓๔] ผู้ใดไม่รู้จักเรื่องที่เกิดขึ้นได้อย่างฉับพลัน ผู้นั้นเป็นคนเขลา ย่อมถูกเขาฆ่าตาย เหมือนโจรซึ่งถูกฆ่าที่ปากเหว [๓๕] ผู้ใดรู้จักเรื่องที่เกิดขึ้นได้อย่างฉับพลัน ผู้นั้นก็พ้นจากพวกศัตรูเบียดเบียน เหมือนที่หม่อมฉันพ้นจากโจรซึ่งเป็นศัตรูในครั้งนั้น [๓๖] เมื่อหม่อมฉันผลักศัตรูตกเหวไปแล้ว ได้เข้าไปบวชยังสำนักของปริพาชกที่ครองผ้าขาว [๓๗] ครั้งนั้น พวกปริพาชกใช้แหนบถอนผมของหม่อมฉัน จนหมดแล้วให้บวช สอนลัทธิให้เนืองๆ [๓๘] หม่อมฉันเรียนลัทธินั้นแล้ว นั่งคนเดียวคิดถึงลัทธิ ซึ่งทำมนุษย์ให้เป็นเยี่ยงสุนัขนั้น [๓๙] ปริพาชกถือผมที่ถอนแล้วโยนไว้ใกล้หม่อมฉันแล้วก็หลีกไป หม่อมฉันเห็นแล้วได้นิมิตเหมือนหมู่หนอนตั้งอยู่ [๔๐] แต่นั้น หม่อมฉันมีความสลดใจลุกขึ้น ได้สอบถามพวกปริพาชกที่มีลัทธิเดียวกัน พวกนั้นบอกว่า ‘ภิกษุศากยบุตรทั้งหลายย่อมรู้เรื่องนั้น’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๖๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๑. กุณฑลเกสีเถริยาปทาน

[๔๑] หม่อมฉันเข้าไปหาพุทธสาวกแล้วถามเรื่องนั้น พุทธสาวกเหล่านั้นพาหม่อมฉัน ไปยังสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด [๔๒] พระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำ ทรงแสดงธรรมแก่หม่อมฉันว่า ‘ขันธ์ อายตนะ และธาตุทั้งหลาย ไม่งาม ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา’ [๔๓] หม่อมฉันได้ฟังพระธรรมของพระองค์แล้ว ชำระธรรมจักษุให้หมดจดโดยวิเศษ รู้แจ้งพระสัทธรรมแล้วได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบท [๔๔] ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าอันหม่อมฉันทูลขอแล้วได้ตรัสว่า ‘เธอจงเป็นภิกษุณีมาเถิด นางผู้เจริญ’ หม่อมฉันอุปสมบทแล้ว ได้เห็นน้ำ [๔๕] รู้จักสังขารที่มีความเกิดและความดับไปด้วยน้ำล้างเท้า คิดว่า ‘สังขารแม้ทั้งปวง ก็เป็นอย่างนั้น’ [๔๖] จากนั้นจิตของหม่อมฉันหลุดพ้นแล้ว เพราะไม่ถือมั่นโดยประการทั้งปวง ในครั้งนั้น พระชินเจ้าทรงตั้งหม่อมฉันไว้ในเอตทัคคะว่า ‘เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลาย ผู้ขิปปาภิญญา’ [๔๗] หม่อมฉันเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์ ในทิพพโสตธาตุและในเจโตปริยญาณ เป็นผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระศาสดา [๔๘] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ทิพยจักษุหม่อมฉันก็ชำระให้หมดจดแล้ว หม่อมฉันทำอาสวะทั้งปวงให้สิ้นไปแล้ว เป็นผู้บริสุทธิ์สะอาดปราศจากมลทิน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๖๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๑. กุณฑลเกสีเถริยาปทาน

[๔๙] พระศาสดาหม่อมฉันก็ปรนนิบัติแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ภาระอันหนักหม่อมฉันก็ปลงลงได้แล้ว ตัณหาที่นำไปสู่ภพหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว [๕๐] กุลบุตรกุลธิดาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้นคือความสิ้นสังโยชน์ทั้งปวง หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ [๕๑] อัตถปฏิสัมภิทาญาณ ธัมมปฏิสัมภิทาญาญ นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ และปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ ของหม่อมฉัน บริสุทธิ์ไพบูลย์ ในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด [๕๒] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ [๕๓] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด เป็นการมาดีแล้วโดยแท้ วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว [๕๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล ได้ทราบว่า พระภัททากุณฑลเกสีภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
กุณฑลเกสีเถริยาปทานที่ ๑ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๖๒}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๔๕๖-๔๖๒. http://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=33&siri=172              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=33&A=5313&Z=5400                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=161              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=161&items=1              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=161&items=1                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/thi-ap21/en/walters



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :