ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๒. อัตตวรรค ๒. อุปนันทสักยปุตตเถรวัตถุ

๑๒. อัตตวรรค
หมวดว่าด้วยตน
๑. โพธิราชกุมารวัตถุ
เรื่องโพธิราชกุมาร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่โพธิราชกุมาร ดังนี้) [๑๕๗] ถ้าบุคคลรู้ว่าตนเป็นที่รัก ก็ควรรักษาตนนั้นไว้ให้ดี บัณฑิตพึงประคับประคองตนไว้ให้ได้๑- อย่างน้อยยามใดยามหนึ่งใน ๓ ยาม๒-
๒. อุปนันทสักยปุตตเถรวัตถุ
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตรเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุหนุ่ม ๒ รูป ดังนี้) [๑๕๘] บัณฑิตพึงตั้งตนไว้ในคุณธรรมที่เหมาะสมก่อน แล้วสอนคนอื่นในภายหลัง๓- จึงจะไม่มัวหมอง๔- @เชิงอรรถ : @ ประคับประคองตน ในที่นี้หมายถึงถ้าเป็นคฤหัสถ์ก็ควรทำบุญ มีทานและศีล เป็นต้น ถ้าเป็นบรรพชิต @ก็ควรขวยขวายทำวัตรปฏิบัติศึกษาพระปริยัติและเจริญกัมมัฏฐาน (ขุ.ธ.อ. ๖/๕) @ ยาม ในที่นี้หมายถึงวัย ได้แก่ ระยะของอายุ มี ๓ คือ ปฐมวัย มัชฌิมวัย และปัจฉิมวัย (ขุ.ธ.อ. ๖/๔-๕) @ หมายถึงเมื่อบัณฑิตประสงค์จะสอนผู้อื่นด้วยคุณธรรมมีความมักน้อย เป็นต้น หรือด้วยปฏิปทาของอริยวงศ์ @ตนเองจะต้องดำรงอยู่ในคุณธรรมนั้นก่อน (ขุ.ธ.อ. ๖/๘) @ ไม่มัวหมอง หมายถึงไม่ถูกนินทา (ขุ.ธ.อ. ๖/๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๘๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๑. ชราวรรค ๕. มหากาลอุปาสกวัตถุ

๓. ปธานิกติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระปธานิกติสสเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป ดังนี้) [๑๕๙] บุคคลสอนผู้อื่นอย่างไร ก็พึงทำตนอย่างนั้น ผู้ที่ฝึกตนดีแล้ว จึงควรฝึก(ผู้อื่น) เพราะตนนั่นแลฝึกได้ยากยิ่ง
๔. กุมารกัสสปมาตาวัตถุ
เรื่องมารดาของพระกุมารกัสสปเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๑๖๐] ตนแลเป็นที่พึ่งของตน๑- บุคคลอื่นใครเล่า จะเป็นที่พึ่งได้ เพราะบุคคลที่ฝึกตนดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งอันได้โดยยาก
๕. มหากาลอุปาสกวัตถุ
เรื่องมหากาลอุบาสก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๑๖๑] บาปที่ตนเองทำ เกิดในตน มีตนเป็นแดนเกิด ย่อมทำลายคนมีปัญญาทราม เหมือนเพชรที่เกิดจากหินทำลายแก้วมณี ฉะนั้น @เชิงอรรถ : @ ตนแลเป็นที่พึ่งของตน หมายถึงตนเองเท่านั้นที่จะสามารถทำกุศลแล้วเข้าถึงสวรรค์ หรือบรรลุมรรคผล @ได้ที่พึ่งที่ได้ยากคืออรหัตตผล ไม่มีใครอื่นจะทำให้ได้ (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๘๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๒. อัตตวรรค ๘. กาลเถรวัตถุ

๖. เทวทัตตวัตถุ
เรื่องพระเทวทัต
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๑๖๒] ความทุศีลโดยสิ้นเชิง๑- ย่อมรึงรัดอัตภาพของบุคคลผู้ทุศีลไว้ ดุจเถาวัลย์ที่รึงรัดต้นสาละไว้ เขาย่อมทำตนให้วิบัติดุจโจรปรารถนาให้เขาวิบัติ ฉะนั้น
๗. สังฆเภทปริสักกนวัตถุ
เรื่องความพยายามเพื่อทำลายสงฆ์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอานนท์ปรารภถึงพระเทวทัต ดังนี้) [๑๖๓] กรรมที่ไม่ดี และไม่มีประโยชน์แก่ตน ทำได้ง่าย ส่วนกรรมที่ดี และมีประโยชน์ ทำได้ยากอย่างยิ่ง
๘. กาลเถรวัตถุ
เรื่องพระกาลเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระกาลเถระและชนทั้งหลาย ดังนี้) [๑๖๔] ผู้มีปัญญาทราม อาศัยทิฏฐิชั่ว คัดค้านคำสอนของพระอริยะ ผู้เป็นพระอรหันต์ ผู้ดำรงอยู่โดยธรรม การคัดค้านและทิฏฐิชั่วนั้น เกิดขึ้นมาเพื่อทำลายตนเอง เหมือนขุยไผ่ทำลายต้นไผ่ ฉะนั้น @เชิงอรรถ : @ ความทุศีลโดยสิ้นเชิง ในที่นี้หมายถึงตัณหาที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยทวารทั้ง ๖ (ขุ.ธ.อ. ๖/๒๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๘๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๒. อัตตวรรค ๑๐. อัตตทัตถเถรวัตถุ

๙. จูฬกาลอุปาสกวัตถุ
เรื่องจูฬกาลอุบาสก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่จูฬกาลอุบาสก ดังนี้) [๑๖๕] ตนทำบาปกรรมเอง ก็เศร้าหมองเอง๑- ตนไม่ทำบาปกรรมเอง ก็บริสุทธิ์เอง ความบริสุทธิ์ และไม่บริสุทธิ์ เป็นของเฉพาะตน คนอื่นจะทำคนอื่นให้บริสุทธิ์ไม่ได้๒-
๑๐. อัตตทัตถเถรวัตถุ
เรื่องพระอัตตทัตถเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอัตตทัตถเถระ ดังนี้) [๑๖๖] บุคคลไม่ควรให้ประโยชน์ตน๓- เสียไป เพราะประโยชน์คนอื่นแม้มาก เมื่อรู้ประโยชน์ตนแล้ว ก็ควรขวนขวายในประโยชน์ตน
อัตตวรรคที่ ๑๒ จบ
@เชิงอรรถ : @ เศร้าหมองเอง หมายถึงเสวยทุกข์ในอบาย คือ นรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เปรต อสุรกาย (ขุ.ธ.อ. ๖/๒๕) @ ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๘/๔๑, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๓๓/๑๖๖, อภิ.ก. ๓๗/๗๔๓/๔๓๕-๔๓๖ @ ประโยชน์ตน หมายถึงอริยผล ในที่นี้ ตรัสมุ่งกัมมัฏฐานเป็นหลัก (ขุ.ธ.อ. ๖/๒๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๘๔}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๘๑-๘๔. http://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=25&siri=21              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=692&Z=720                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=22              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=25&item=22&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=23&A=1              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=25&item=22&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=23&A=1                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu25              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/25i022-e1.php# https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/25i022-e2.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/dhp/dhp.12.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/dhp/dhp.12.budd.html https://suttacentral.net/dhp157-166/en/anandajoti https://suttacentral.net/dhp157-166/en/buddharakkhita https://suttacentral.net/dhp157-166/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :