ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
๒. อุณณาภพราหมณสูตร
ว่าด้วยอุณณาภพราหมณ์
[๕๑๒] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล พราหมณ์ชื่ออุณณาภะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ท่านพระโคดม อินทรีย์ ๕ ประการนี้ มีอารมณ์ต่างกัน มีโคจรต่างกัน ไม่เสวยอารมณ์อันเป็นโคจรของกันและกัน อินทรีย์ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. จักขุนทรีย์ ๒. โสตินทรีย์ ๓. ฆานินทรีย์ ๔. ชิวหินทรีย์ ๕. กายินทรีย์ ท่านพระโคดม อะไรเป็นที่ยึดเหนี่ยวของอินทรีย์ ๕ ประการนี้ที่มีอารมณ์ต่างกัน มีโคจรต่างกัน ไม่เสวยอารมณ์อันเป็นโคจรของกันและกัน และอะไรเล่าย่อมเสวย อารมณ์อันเป็นโคจรของอินทรีย์ ๕ ประการนี้” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ อินทรีย์ ๕ ประการนี้ มีอารมณ์ ต่างกัน มีโคจรต่างกัน ไม่เสวยอารมณ์อันเป็นโคจรของกันและกัน อินทรีย์ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. จักขุนทรีย์ ๒. โสตินทรีย์ ๓. ฆานินทรีย์ ๔. ชิวหินทรีย์ ๕. กายินทรีย์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า : ๓๒๓}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๔. อินทริยสังยุต]

๕. ชราวรรค ๒. อุณณาภพราหมณสูตร

พราหมณ์ ใจเป็นที่ยึดเหนี่ยวของอินทรีย์ ๕ ประการนี้ที่มีอารมณ์ต่างกัน มีโคจรต่างกัน ไม่เสวยอารมณ์อันเป็นโคจรของกันและกัน และใจย่อมเสวยอารมณ์ อันเป็นโคจรของอินทรีย์ ๕ ประการนี้” “ท่านพระโคดม อะไรเป็นที่ยึดเหนี่ยวของใจ” “พราหมณ์ สติเป็นที่ยึดเหนี่ยวของใจ” “ท่านพระโคดม อะไรเป็นที่ยึดเหนี่ยวของสติ” “พราหมณ์ วิมุตติเป็นที่ยึดเหนี่ยวของสติ” “ท่านพระโคดม อะไรเป็นที่ยึดเหนี่ยวของวิมุตติ” “พราหมณ์ นิพพานเป็นที่ยึดเหนี่ยวของวิมุตติ” “ท่านพระโคดม อะไรเป็นที่ยึดเหนี่ยวของนิพพาน” “พราหมณ์ ท่านล่วงเลยปัญหาไป ไม่สามารถกำหนดที่สุดแห่งปัญหาได้ ด้วยว่า พรหมจรรย์ที่บุคคลอยู่จบแล้ว หยั่งลงสู่นิพพาน มีนิพพานเป็นเบื้องหน้า มีนิพพานเป็นที่สุด” ลำดับนั้น อุณณาภพราหมณ์ชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากที่นั่ง ถวายอภิวาท ทำประทักษิณแล้วจากไป ครั้นอุณณาภพราหมณ์จากไปได้ไม่นาน พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลาย มาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเรือนยอดหรือศาลาเรือนยอด มีหน้าต่างอยู่ ด้านทิศตะวันออก เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น แสง (ดวงอาทิตย์) ส่องเข้าไปทางหน้าต่าง จะปรากฏที่ไหน” “ที่ฝาด้านทิศตะวันตก พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุทั้งหลาย อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน ศรัทธาในตถาคตของ อุณณาภพราหมณ์ตั้งมั่นหยั่งรากลงแล้วมั่นคง อันสมณะหรือพราหมณ์ เทวดาหรือมาร พรหมหรือใครๆ ในโลกให้หวั่นไหวไม่ได้ ถ้าอุณณาภพราหมณ์พึงทำกาละในเวลา นี้ไซร้ ย่อมไม่มีสังโยชน์ที่เป็นเครื่องประกอบให้อุณณาภพราหมณ์ต้องมาสู่โลกนี้อีก”
อุณณาภพราหมณสูตรที่ ๒ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า : ๓๒๔}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๙ หน้าที่ ๓๒๓-๓๒๔. http://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=19&siri=223              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=19&A=5693&Z=5729                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=19&i=966              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=19&item=966&items=9              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=7018              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=19&item=966&items=9              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=7018                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu19              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn48/sn48.042.wlsh.html https://suttacentral.net/sn48.42/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :