ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย นิทานวรรค

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [๑. นิทานสังยุต]

๖. ทุกขวรรค ๑. ปริวีมังสนสูตร

๖. ทุกขวรรค
หมวดว่าด้วยทุกข์
๑. ปริวีมังสนสูตร
ว่าด้วยการพิจารณา
[๕๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมา ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาค จึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ ภิกษุเมื่อพิจารณา จึงชื่อว่าพิจารณา เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ ทุกประการ” “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์ทั้งหลาย มีพระผู้มีพระภาค เป็นหลัก มีพระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาคเป็นที่พึ่ง ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส เฉพาะพระผู้มีพระภาคเท่านั้นที่จะทรงอธิบายเนื้อความ แห่งภาษิตนั้นให้แจ่มแจ้งได้ ภิกษุทั้งหลายฟังต่อจากพระผู้มีพระภาคแล้วจักทรงจำไว้” “ถ้าเช่นนั้น เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับ สนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาว่า ‘ชรา และมรณะนี้ใด มีทุกข์หลายอย่างนับไม่ถ้วนเกิดขึ้นในโลก ชราและมรณะที่เป็นทุกข์ นี้มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิดหนอ เมื่อ อะไรมี ชราและมรณะจึงมี เมื่ออะไรไม่มี ชราและมรณะจึงไม่มี’ เธอพิจารณาอยู่ จึงรู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘ชราและมรณะนี้ใด มีทุกข์หลายอย่างนับไม่ถ้วนเกิดขึ้นในโลก ทุกข์นี้ มีชาติเป็นเหตุ มีชาติเป็นเหตุเกิด มีชาติเป็นกำเนิด มีชาติเป็นแดนเกิด เมื่อชาติมี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๖ หน้า : ๙๙}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [๑. นิทานสังยุต]

๖. ทุกขวรรค ๑. ปริวีมังสนสูตร

ชราและมรณะจึงมี เมื่อชาติไม่มี ชราและมรณะจึงไม่มี” เธอรู้ชัดชราและมรณะ รู้ชัดความเกิดแห่งชราและมรณะ รู้ชัดความดับแห่งชราและมรณะ รู้ชัดปฏิปทาอัน เหมาะสมที่ให้ถึงความดับแห่งชราและมรณะ และเธอเป็นผู้ปฏิบัติอย่างนั้น ชื่อว่าผู้ มีปกติประพฤติตามธรรม เราเรียกภิกษุนี้ว่า เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์ เพื่อ ความดับแห่งชราและมรณะโดยชอบ ทุกประการ อีกประการหนึ่ง ภิกษุเมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาว่า ‘ชาตินี้ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด เมื่ออะไรมี ชาติจึงมี เมื่ออะไรไม่มี ชาติจึงไม่มี’ เธอพิจารณาอยู่ จึงรู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘ชาติมีภพเป็นเหตุ มีภพเป็นเหตุเกิด มีภพเป็นกำเนิด มีภพเป็นแดนเกิด เมื่อภพมี ชาติจึงมี เมื่อภพ ไม่มี ชาติจึงไม่มี’ เธอรู้ชัดชาติ รู้ชัดความเกิดแห่งชาติ รู้ชัดความดับแห่งชาติ รู้ชัดปฏิปทาอันเหมาะสมที่ให้ถึงความดับแห่งชาติ และเธอผู้ปฏิบัติอย่างนั้น ชื่อว่า ผู้มีปกติประพฤติตามธรรม เราเรียกภิกษุนี้ว่า เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์เพื่อ ความดับชาติโดยชอบ ทุกประการ อีกประการหนึ่ง ภิกษุเมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาว่า ‘ภพนี้มีอะไรเป็นเหตุ ฯลฯ อุปาทานนี้มีอะไรเป็นเหตุ ... ตัณหานี้มีอะไรเป็นเหตุ ... เวทนานี้มีอะไรเป็นเหตุ ... ผัสสะนี้มีอะไรเป็นเหตุ ... สฬายตนะนี้มีอะไรเป็นเหตุ ... นามรูปนี้มีอะไรเป็นเหตุ ... วิญญาณนี้มีอะไรเป็นเหตุ ... อีกประการหนึ่ง ภิกษุเมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาว่า ‘สังขารเหล่านี้มีอะไร เป็นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด เมื่ออะไรมี สังขาร ทั้งหลายจึงมี เมื่ออะไรไม่มี สังขารทั้งหลายจึงไม่มี’ เธอพิจารณาอยู่ จึงรู้ชัดอย่างนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๖ หน้า : ๑๐๐}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [๑. นิทานสังยุต]

๖. ทุกขวรรค ๑. ปริวีมังสนสูตร

ว่า ‘สังขารทั้งหลายมีอวิชชาเป็นเหตุ มีอวิชชาเป็นเหตุเกิด มีอวิชชาเป็นกำเนิด มีอวิชชาเป็นแดนเกิด เมื่ออวิชชามี สังขารทั้งหลายจึงมี เมื่ออวิชชาไม่มี สังขาร ทั้งหลายจึงไม่มี’ ภิกษุนั้นรู้ชัดสังขารทั้งหลาย จึงรู้ชัดความเกิดแห่งสังขาร รู้ชัดความดับแห่ง สังขาร รู้ชัดปฏิปทาอันเหมาะสมที่ให้ถึงความดับแห่งสังขาร และเธอผู้ปฏิบัติ อย่างนั้น ชื่อว่าผู้มีปกติประพฤติตามธรรม ภิกษุทั้งหลาย เราเรียกภิกษุนี้ว่า เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์ เพื่อความดับ แห่งสังขารโดยชอบ ทุกประการ บุรุษบุคคล๑- นี้ตกอยู่ในอวิชชา ถ้าสังขารที่เป็นบุญปรุงแต่ง วิญญาณก็ ประกอบด้วยบุญ ถ้าสังขารที่เป็นบาปปรุงแต่ง วิญญาณก็ประกอบด้วยบาป ถ้าสังขารที่เป็นอาเนญชาปรุงแต่ง วิญญาณก็ประกอบด้วยอาเนญชา ในกาลใด ภิกษุละอวิชชาได้แล้ว วิชชาเกิดขึ้น ในกาลนั้น ภิกษุนั้นก็ไม่ปรุงแต่งปุญญาภิสังขาร๒- อปุญญาภิสังขาร๓- และอาเนญชาภิสังขาร๔- เพราะกำจัดอวิชชาได้ เพราะมีวิชชา เกิดขึ้น เมื่อไม่ปรุงแต่ง ไม่จงใจ ก็ไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก เมื่อไม่ถือมั่น ก็ไม่ สะดุ้งกลัว เมื่อไม่สะดุ้งกลัว ก็ปรินิพพานเฉพาะตน รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบ พรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’ @เชิงอรรถ : @ บุรุษบุคคล ในที่นี้เป็นพระดำรัสที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกตามสมมติของชาวโลก เพราะพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ @มีกถา ๒ อย่าง คือ (๑) สมมติกถา ถ้อยคำสมมติ ตรัสตามที่โลกสมมติ เช่น ตรัสว่า สัตว์ นระ บุรุษ ติสสะ @นาคเป็นต้น (๒) ปรมัตถกถา ถ้อยคำโดยปรมัตถ์ตรัสตามสภาวธรรม เช่นตรัสว่า ขันธ์ ธาตุ อายตนะ @เป็นต้น พระพุทธเจ้าเมื่อจะทรงแสดงปรมัตถกถา ก็ไม่ทรงลืมที่จะตรัสสมมติกถา ทั้งนี้เพื่อให้เวไนยสัตว์ @ได้เข้าใจธรรมะนั่นเอง (สํ.นิ.อ. ๒/๕๑/๘๘) @ ปุญญาภิสังขาร คืออภิสังขารที่เป็นบุญ สภาพที่ปรุงแต่งกรรมฝ่ายดี ได้แก่ กุศลเจตนาที่เป็นกามาวจร @และรูปาวจร (สํ.นิ.อ. ๒/๕๑/๘๙, ขุ.ม.อ. ๒๕/๒๑๖) @ อปุญญาภิสังขาร คืออภิสังขารที่เป็นปฏิปักษ์ต่อบุญคือเป็นบาป สภาพที่ปรุงแต่งกรรมฝ่ายชั่ว ได้แก่ @อกุศลเจตนาทั้งหลาย (สํ.นิ.อ. ๒/๕๑/๘๙, ขุ.ม.อ. ๒๕/๒๑๖) @ อาเนญชาภิสังขาร คืออภิสังขารที่เป็นอาเนญชา สภาพที่ปรุงแต่งภพอันมั่นคง ไม่หวั่นไหว ได้แก่ กุศล- @เจตนาที่เป็นอรูปาวจร ๔ หมายเอาภาวะจิตที่มั่นคงแน่วแน่ด้วยสมาธิแห่งจตุตถฌาน (สํ.นิ.อ. ๒/๕๑/๘๙, @ขุ.ม.อ. ๒๕/๒๑๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๖ หน้า : ๑๐๑}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [๑. นิทานสังยุต]

๖. ทุกขวรรค ๑. ปริวีมังสนสูตร

ถ้าภิกษุนั้นเสวยสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า ‘สุขเวทนานั้นไม่เที่ยง’ รู้ชัดว่า ‘ไม่น่า หมกมุ่น’ รู้ชัดว่า ‘ไม่น่าเพลิดเพลิน’ ถ้าเธอเสวยทุกขเวทนา ก็รู้ชัดว่า ‘ทุกขเวทนา นั้นไม่เที่ยง’ รู้ชัดว่า ‘ไม่น่าหมกมุ่น’ รู้ชัดว่า ‘ไม่น่าเพลิดเพลิน’ ถ้าเธอเสวย อทุกขมสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า ‘อทุกขมสุขเวทนานั้นไม่เที่ยง’ รู้ชัดว่า ‘ไม่น่าหมกมุ่น’ รู้ชัดว่า ‘ไม่น่าเพลิดเพลิน’ ถ้าเธอเสวยสุขเวทนา ก็เป็นผู้ปราศจาก(กิเลส) เสวย สุขเวทนานั้น ถ้าเธอเสวยทุกขเวทนา ก็เป็นผู้ปราศจาก(กิเลส) เสวยทุกขเวทนานั้น ถ้าเธอเสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็เป็นผู้ปราศจาก(กิเลส) เสวยอทุกขมสุขเวทนานั้น ภิกษุนั้นเมื่อเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยเวทนาที่มีกาย เป็นที่สุด’ เมื่อเสวยเวทนาที่มีชีวิตเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยเวทนาที่มีชีวิต เป็นที่สุด’ รู้ชัดว่า ‘หลังจากตายแล้ว การเสวยอารมณ์ทั้งหมด ไม่น่าเพลิดเพลิน จักเย็น จักเหลืออยู่เพียงสรีรธาตุในโลกนี้เท่านั้น’ เปรียบเหมือนบุรุษยกหม้อที่ร้อนออกจากเตาเผาหม้อ วางบนพื้นที่เรียบ ไออุ่นที่หม้อนั้นพึงหายไป เหลืออยู่เพียงกระเบื้องหม้อเท่านั้น อุปมานี้ฉันใด อุปไมย ก็ฉันนั้น ภิกษุเมื่อเสวยเวทนาที่มีกายเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยเวทนาที่มีกาย เป็นที่สุด’ เมื่อเสวยเวทนาที่มีชีวิตเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยเวทนาที่มีชีวิตเป็น ที่สุด’ รู้ชัดว่า ‘หลังจากตายแล้ว การเสวยอารมณ์ทั้งหมด ไม่น่าเพลิดเพลิน จักเย็น จักเหลืออยู่เพียงสรีรธาตุในโลกนี้เท่านั้น’ เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ภิกษุผู้ขีณาสพพึงปรุงแต่ง ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อาเนญชาภิสังขารบ้างหรือ” “ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” “อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสังขารทั้งหลายไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะสังขารดับ วิญญาณพึงปรากฏหรือ” “ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๖ หน้า : ๑๐๒}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [๑. นิทานสังยุต]

๖. ทุกขวรรค ๑. ปริวีมังสนสูตร

“อีกอย่างหนึ่ง เมื่อวิญญาณไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะวิญญาณดับ นามรูปพึงปรากฏหรือ” “ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” “อีกอย่างหนึ่ง เมื่อนามรูปไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะนามรูปดับ สฬายตนะพึงปรากฏหรือ” “ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” “อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสฬายตนะไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะพึงปรากฏหรือ” “ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” “อีกอย่างหนึ่ง เมื่อผัสสะไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะผัสสะดับ เวทนาพึง ปรากฏหรือ” “ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” “อีกอย่างหนึ่ง เมื่อเวทนาไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะเวทนาดับ ตัณหา พึงปรากฏหรือ” “ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” “อีกอย่างหนึ่ง เมื่อตัณหาไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะตัณหาดับ อุปาทาน พึงปรากฏหรือ” “ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” “อีกอย่างหนึ่ง เมื่ออุปาทานไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะอุปาทานดับ ภพ พึงปรากฏหรือ” “ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๖ หน้า : ๑๐๓}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [๑. นิทานสังยุต]

๖. ทุกขวรรค ๒. อุปาทานสูตร

“อีกอย่างหนึ่ง เมื่อภพไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะภพดับ ชาติพึง ปรากฏหรือ” “ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” “อีกอย่างหนึ่ง เมื่อชาติไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะชาติดับ ชราและมรณะ พึงปรากฏหรือ” “ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” “ดีละ ดีละ ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงสำคัญ จงเชื่อ น้อมใจเชื่อข้อความ นั้นอย่างนั้นเถิด จงหมดความเคลือบแคลงสงสัยในข้อนั้นเถิด นั่นแลคือที่สุด แห่งทุกข์”
ปริวีมังสนสูตรที่ ๑ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๖ หน้าที่ ๙๙-๑๐๔. http://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=16&siri=47              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=16&A=2166&Z=2278                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=16&i=188              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=16&item=188&items=8              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=12&A=1937              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=16&item=188&items=8              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=12&A=1937                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๖ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu16              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/16i188-e.php# https://suttacentral.net/sn12.51/en/sujato https://suttacentral.net/sn12.51/en/bodhi



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :