ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย นิทานวรรค
๕. ภูมิชสูตร
ว่าด้วยพระภูมิชะ
[๒๕] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ... เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระภูมิชะออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็น เข้าไปหาท่านพระ- สารีบุตรถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันกับท่าน พระสารีบุตรแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ครั้นแล้ว ท่านพระภูมิชะได้ถามท่านพระสารีบุตร ดังนี้ว่า “ท่านพระสารีบุตร สมณพราหมณ์ฝ่ายกรรมวาทะพวกหนึ่งบัญญัติว่า สุขและ ทุกข์เป็นสิ่งที่ตนกระทำเอง สมณพราหมณ์ฝ่ายกรรมวาทะพวกหนึ่งบัญญัติว่า สุขและทุกข์เป็นสิ่งที่คนอื่น กระทำให้ สมณพราหมณ์ฝ่ายกรรมวาทะพวกหนึ่งบัญญัติว่า สุขและทุกข์เป็นสิ่งที่ตน กระทำเองด้วย และเป็นสิ่งที่คนอื่นกระทำให้ด้วย สมณพราหมณ์ฝ่ายกรรมวาทะพวกหนึ่งบัญญัติว่า สุขและทุกข์เกิดขึ้นเพราะ อาศัยเหตุที่ตนกระทำเองก็มิใช่ และคนอื่นกระทำให้ก็มิใช่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๖ หน้า : ๔๘}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [๑. นิทานสังยุต]

๓. ทสพลวรรค ๕. ภูมิชสูตร

ในวาทะเหล่านี้ พระผู้มีพระภาคของเราทั้งหลาย ตรัสไว้อย่างไร ตรัสบอกไว้ อย่างไร และเราทั้งหลายจะตอบอย่างไร จึงจะชื่อว่าพูดตรงตามที่พระผู้มีพระภาค ตรัสไว้ ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำเท็จ ชื่อว่ากล่าวแก้อย่างสมเหตุสมผล ทั้งไม่มีการคล้อยตามคำเช่นนั้นที่จะเป็นเหตุให้ถูกตำหนิได้” “ท่านผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สุขและทุกข์เป็นสภาวะที่อาศัยปัจจัย เกิดขึ้น อาศัยปัจจัยอะไร คืออาศัยผัสสะ บุคคลผู้กล่าวถ้อยคำเช่นนี้ จึงชื่อว่าเป็น ผู้พูดตรงตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำเท็จ ชื่อว่ากล่าวแก้อย่างสมเหตุสมผล ทั้งไม่มีการคล้อยตามคำเช่นนั้นที่จะเป็นเหตุให้ถูก ตำหนิได้ ในวาทะทั้ง ๔ นั้น สุขและทุกข์ที่พวกสมณพราหมณ์ฝ่ายกรรมวาทะบัญญัติว่า เป็นสิ่งที่ตนกระทำเอง ก็เกิดขึ้นเพราะผัสสะเป็นปัจจัย สุขและทุกข์ที่พวกสมณพราหมณ์ ฝ่ายกรรมวาทะ ฯลฯ สุขและทุกข์ที่พวกสมณพราหมณ์ฝ่ายกรรมวาทะ ฯลฯ สุข และทุกข์ที่พวกสมณพราหมณ์ฝ่ายกรรมวาทะบัญญัติว่า เกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุที่ ตนกระทำเองก็มิใช่ และคนอื่นกระทำให้ก็มิใช่ ก็เกิดขึ้นเพราะผัสสะเป็นปัจจัย ในวาทะทั้ง ๔ นั้น เป็นไปไม่ได้ที่พวกสมณพราหมณ์ฝ่ายกรรมวาทะบัญญัติว่า สุขและทุกข์เป็นสิ่งที่ตนกระทำเอง จะเสวยสุขและทุกข์เว้นจากผัสสะ เป็นไปไม่ได้ที่ พวกสมณพราหมณ์ฝ่ายกรรมวาทะ ฯลฯ เป็นไปไม่ได้ที่พวกสมณพราหมณ์ฝ่าย กรรมวาทะบัญญัติว่า สุขและทุกข์เกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุที่ตนกระทำเองก็มิใช่ และ คนอื่นกระทำให้ก็มิใช่ จะเสวยสุขและทุกข์เว้นจากผัสสะ” ท่านพระอานนท์ได้ฟังการสนทนาปราศรัยของท่านพระสารีบุตรกับท่าน พระภูมิชะแล้ว ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ครั้นแล้ว ได้กราบทูลคำสนทนาทั้งหมดของ ท่านพระสารีบุตรกับท่านพระภูมิชะแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ อานนท์ ตามที่สารีบุตรพยากรณ์นั้นชื่อว่า พึงพยากรณ์โดยชอบ เรากล่าวว่า สุขและทุกข์เป็นสภาวะที่อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น อาศัย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๖ หน้า : ๔๙}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [๑. นิทานสังยุต]

๓. ทสพลวรรค ๕. ภูมิชสูตร

ปัจจัยอะไร คืออาศัยผัสสะ บุคคลผู้กล่าวถ้อยคำเช่นนี้ จึงชื่อว่าเป็นผู้พูดตรงตามที่ เรากล่าวไว้ ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่เราด้วยคำเท็จ ชื่อว่ากล่าวแก้อย่างสมเหตุสมผล ทั้งไม่มี การคล้อยตามคำเช่นนั้นที่จะเป็นเหตุให้ถูกตำหนิได้ ในวาทะทั้ง ๔ นั้น สุขและทุกข์ที่พวกสมณพราหมณ์ฝ่ายกรรมวาทะบัญญัติว่า เป็นสิ่งที่ตนกระทำเอง ก็เกิดขึ้นเพราะผัสสะเป็นปัจจัย สมณพราหมณ์ฝ่ายกรรมวาทะ ฯลฯ สมณพราหมณ์ฝ่ายกรรมวาทะ ฯลฯ สุขและทุกข์ที่พวกสมณพราหมณ์ฝ่าย กรรมวาทะบัญญัติว่า เกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุที่ตนกระทำเองก็มิใช่ ที่คนอื่นกระทำให้ ก็มิใช่นั้น ก็เกิดขึ้นเพราะผัสสะเป็นปัจจัย ในวาทะทั้ง ๔ นั้น เป็นไปไม่ได้ที่พวกสมณพราหมณ์ฝ่ายกรรมวาทะบัญญัติว่า สุขและทุกข์เป็นสิ่งที่ตนกระทำเอง จะเสวยสุขและทุกข์เว้นจากผัสสะ สมณพราหมณ์ ฝ่ายกรรมวาทะ ฯลฯ สมณพราหมณ์ฝ่ายกรรมวาทะ ฯลฯ สมณพราหมณ์ฝ่าย กรรมวาทะบัญญัติว่า สุขและทุกข์เกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุที่ตนกระทำเองก็มิใช่ และ คนอื่นกระทำให้ก็มิใช่ จะเสวยสุขและทุกข์เว้นจากผัสสะ เมื่อกายมีอยู่ สุขและทุกข์ที่เป็นไปในภายใน จึงเกิดขึ้น เพราะความจงใจทางกาย เป็นเหตุ หรือว่าเมื่อวาจามีอยู่ สุขและทุกข์ที่เป็นไปในภายใน จึงเกิดขึ้น เพราะความ จงใจทางวาจาเป็นเหตุ หรือว่าเมื่อใจมีอยู่ สุขและทุกข์ที่เป็นไปในภายใน จึงเกิดขึ้น เพราะความจงใจทางใจเป็นเหตุ และเพราะอวิชชาเป็นปัจจัยด้วย บุคคลปรุงแต่งกายสังขาร ซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์ที่เป็นไปในภายในเกิด ขึ้นด้วยตนเองบ้าง ปรุงแต่งกายสังขาร ซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์ที่เป็นไปใน ภายในเกิดขึ้นเพราะคนอื่นบ้าง บุคคลรู้สึกตัวอยู่ ปรุงแต่งกายสังขาร ซึ่งเป็นปัจจัย ให้สุขและทุกข์ที่เป็นไปในภายในเกิดขึ้นบ้าง ไม่รู้สึกตัวอยู่ ปรุงแต่งกายสังขาร ซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์ที่เป็นไปในภายในเกิดขึ้นบ้าง บุคคลปรุงแต่งวจีสังขาร ซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์ที่เป็นไปในภายในเกิดขึ้น ด้วยตนเองบ้าง ปรุงแต่งวจีสังขาร ซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์ที่เป็นไปในภายใน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๖ หน้า : ๕๐}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [๑. นิทานสังยุต]

๓. ทสพลวรรค ๖. อุปวาณสูตร

เกิดขึ้นเพราะคนอื่นบ้าง บุคคลรู้สึกตัวอยู่ ฯลฯ บ้าง ไม่รู้สึกตัวอยู่ ปรุงแต่งวจี- สังขาร ซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์ที่เป็นไปในภายในเกิดขึ้นบ้าง บุคคลปรุงแต่งมโนสังขาร ซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์ที่เป็นไปในภายในเกิดขึ้น ด้วยตนเองบ้าง ปรุงแต่งมโนสังขาร ซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์ที่เป็นไปในภายใน เกิดขึ้นเพราะคนอื่นบ้าง บุคคลรู้สึกตัวอยู่ ฯลฯ บ้าง ไม่รู้สึกตัวอยู่ ปรุงแต่งมโน- สังขาร ซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์ที่เป็นไปในภายในเกิดขึ้นบ้าง อานนท์ อวิชชาแทรกอยู่แล้วในธรรมเหล่านี้ เพราะอวิชชานั้นแหละดับไปไม่ เหลือด้วยวิราคะ กายซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์ที่เป็นไปในภายในเกิดขึ้นนั้น จึงไม่มี วาจาซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์ที่เป็นไปในภายในเกิดขึ้นนั้น จึงไม่มี มโนซึ่งเป็น ปัจจัยให้สุขและทุกข์ที่เป็นไปในภายในเกิดขึ้นนั้น จึงไม่มี เขตไม่มี ฯลฯ วัตถุไม่มี ฯลฯ อายตนะไม่มี ฯลฯ หรืออธิกรณ์ซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์ที่เป็นไปในภายใน เกิดขึ้นนั้น ไม่มี”
ภูมิชสูตรที่ ๕ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๖ หน้าที่ ๔๘-๕๑. http://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=16&siri=21              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=16&A=931&Z=1011                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=16&i=79              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=16&item=79&items=6              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=12&A=1459              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=16&item=79&items=6              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=12&A=1459                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๖ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu16              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/16i064-e.php#sutta5 https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn12/sn12.025.than.html https://suttacentral.net/sn12.25/en/sujato https://suttacentral.net/sn12.25/en/bodhi



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :