ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย สคาถวรรค

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต]

๑. ปฐมวรรค ๑. ทหรสูตร

๓. โกสลสังยุต
๑. ปฐมวรรค
หมวดที่ ๑
๑. ทหรสูตร
ว่าด้วยสิ่งเล็กน้อย
[๑๑๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ- บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ทรงสนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ ระลึกถึงกันแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่สมควรได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระโคดม ผู้เจริญทรงยืนยันหรือไม่ว่าเป็นผู้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มหาบพิตร ก็บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้องก็ พึงกล่าวว่า ‘พระตถาคตได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว’ เพราะว่าอาตม- ภาพได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว” พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ แม้สมณพราหมณ์บางพวก เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ เป็นผู้มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ คนจำนวนมากยกย่องว่าเป็นคนดี คือ ท่านปูรณะ กัสสปะ ท่านมักขลิ โคศาล ท่านนิครนถ์ นาฏบุตร ท่านสัญชัย เวลัฏฐบุตร ท่านปกุธะ กัจจายนะ ท่านอชิตะ เกสกัมพล สมณพราหมณ์เหล่านั้นเมื่อถูกข้าพระองค์ถามว่า ‘ท่านทั้งหลายยืนยันตนหรือว่า ‘เป็นผู้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ’ ก็ไม่ยืนยัน ว่า ‘เป็นผู้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ’ ส่วนพระโคดมผู้เจริญยังทรงเป็นหนุ่ม โดยพระชาติและยังทรงเป็นผู้ใหม่โดยบรรพชา ทำไมจึงกล้ายืนยันตนเล่า” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มหาบพิตร สิ่ง ๔ อย่างนี้ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่น ว่าเล็กน้อย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๑๒๗}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต]

๑. ปฐมวรรค ๑. ทหรสูตร

สิ่ง ๔ อย่าง อะไรบ้าง คือ ๑. กษัตริย์ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่น ว่ายังทรงพระเยาว์ ๒. งู ไม่ควรดูถูกดูหมิ่น ว่าตัวเล็ก ๓. ไฟ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่น ว่าเล็กน้อย ๔. ภิกษุ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่น ว่ายังหนุ่ม สิ่ง ๔ อย่างนี้แล ไม่ควรดูถูกดูหมิ่น ว่าเล็กน้อย พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถา- ประพันธ์ต่อไปอีกว่า นรชนไม่ควรดูถูกดูหมิ่นกษัตริย์ผู้ถึงพร้อมด้วยชาติตระกูล ผู้เป็นอภิชาติ๑- ผู้มียศ ว่ายังทรงพระเยาว์ เพราะพระองค์ได้เสวยราชสมบัติแล้ว เป็นกษัตริย์จอมมนุษย์ ทรงพิโรธแล้ว จะลงพระราชอาชญาอย่างหนักแก่เขาได้ ฉะนั้นบุคคลเมื่อจะรักษาชีวิตของตน พึงหลีกเลี่ยงการดูถูกดูหมิ่นกษัตริย์นั้น นรชนเห็นงูที่บ้านหรือที่ป่าก็ตาม ไม่ควรดูถูกดูหมิ่น ว่าตัวเล็ก เพราะงูเป็นสัตว์มีพิษไม่ว่าจะมีวรรณะสูงและต่ำ๒- งูนั้นพึงฉกกัดชายหญิงผู้เขลาในกาลบางคราว ฉะนั้นบุคคลเมื่อจะรักษาชีวิตของตน พึงหลีกเลี่ยงการดูถูกดูหมิ่นงูนั้น @เชิงอรรถ : @ ผู้เป็นอภิชาติ หมายถึงผู้เกิดในวรรณะกษัตริย์ซึ่งสูงกว่าวรรณะทั้ง ๓ (คือวรรณะพราหมณ์ วรรณะแพศย์ @และวรรณะศูทร) (สํ.ส.อ. ๑/๑๑๒/๑๒๗) @ มีวรรณะสูงและต่ำ หมายถึงมีสัณฐานต่างกัน (สํ.ส.อ. ๑/๑๑๒/๑๒๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๑๒๘}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต]

๑. ปฐมวรรค ๑. ทหรสูตร

นรชนไม่ควรดูถูกดูหมิ่นไฟที่กินเชื้อมาก ลุกเป็นเปลว ไหม้ดำเป็นทาง ว่าเล็กน้อย เพราะไฟนั้นได้เชื้อแล้วก็กลายเป็นกองไฟใหญ่ พึงลามไหม้ชายหญิงผู้เขลาในกาลบางคราว ฉะนั้นบุคคลเมื่อจะรักษาชีวิตของตน พึงหลีกเลี่ยงการดูถูกดูหมิ่นไฟนั้น อนึ่ง ป่าใดที่ถูกไฟไหม้จนดำแล้ว เมื่อวันคืนล่วงไปๆ พันธุ์หญ้าหรือต้นไม้ยังงอกขึ้นที่ป่านั้นได้ ส่วนผู้ใดถูกเดชภิกษุผู้มีศีลแผดเผา บุตรธิดาและปศุสัตว์ของผู้นั้นย่อมพินาศ ทายาทของเขาก็ย่อมไม่ได้รับทรัพย์มรดก เขาเป็นผู้ไม่มีเครือญาติ ไม่มีทายาท ย่อมเป็นเหมือนตาลยอดด้วน เพราะฉะนั้น บุคคลผู้เป็นบัณฑิต เมื่อพิจารณาเห็นกษัตริย์ผู้มียศ งู ไฟ และภิกษุผู้มีศีลว่าเป็นประโยชน์แก่ตน พึงประพฤติโดยชอบทีเดียว เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระโคดมผู้เจริญ ทรงประกาศธรรมโดยปริยายเป็นอันมาก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยตั้งใจว่า ‘คนมี ตาดีจักเห็นรูปได้’ ฉะนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
ทหรสูตรที่ ๑ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๑๒๙}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๕ หน้าที่ ๑๒๗-๑๒๙. http://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=15&siri=112              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=15&A=2153&Z=2217                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=15&i=322              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=15&item=322&items=6              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=11&A=3203              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=15&item=322&items=6              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=11&A=3203                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu15              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/15i322-e.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn03/sn03.001.than.html https://suttacentral.net/sn3.1/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :