ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]

๕. พหุธาตุกสูตร

๕. พหุธาตุกสูตร
ว่าด้วยธาตุมากอย่าง
[๑๒๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียก ภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภัย๑- ทั้งปวงที่เกิดขึ้น ล้วนเกิดจากคนพาล มิใช่เกิดจาก บัณฑิต อุปัททวะ๒- ทั้งปวงที่เกิดขึ้น ล้วนเกิดจากคนพาล มิใช่เกิดจากบัณฑิต อุปสรรค๓- ทั้งปวงที่เกิดขึ้น ล้วนเกิดจากคนพาล มิใช่เกิดจากบัณฑิต ภัยทั้งปวงที่เกิดขึ้น ล้วนเกิดจากคนพาล มิใช่เกิดจากบัณฑิต อุปัททวะ ทั้งปวงที่เกิดขึ้น ล้วนเกิดจากคนพาล มิใช่เกิดจากบัณฑิต อุปสรรคทั้งปวงที่เกิดขึ้น ล้วนเกิดจากคนพาล มิใช่เกิดจากบัณฑิต เปรียบเหมือนไฟที่ลุกลามจากเรือนไม้อ้อ หรือเรือนหญ้า ไหม้แม้เรือนยอดที่เขาโบกทั้งภายในและภายนอก ลมพัดเข้าไม่ได้ มีบานประตูปิดมิดชิด หน้าต่างปิดสนิท ฉะนั้น คนพาลมีภัย บัณฑิตไม่มีภัย คนพาลมีอุปัททวะ บัณฑิตไม่มีอุปัททวะ คนพาลมีอุปสรรค บัณฑิตไม่มีอุปสรรค ภัยไม่มีจากบัณฑิต อุปัททวะไม่มีจาก บัณฑิต อุปสรรคไม่มีจากบัณฑิต๔- @เชิงอรรถ : @ ภัย ในที่นี้หมายถึงความสะดุ้งกลัวแห่งจิต เช่น การได้ทราบข่าวว่าโจรจะปล้นแล้วเกิดความสะดุ้งกลัว @(ม.อุ.อ. ๓/๑๒๔/๗๑, องฺ.ติก.อ. ๒/๑/๗๗) @ อุปัททวะ ในที่นี้หมายถึงภาวะที่จิตฟุ้งซ่าน เช่น เมื่อรู้ว่าโจรจะปล้นก็ระส่ำระสายพยายามจะหนีพร้อมกับ @ขนของไปด้วยเท่าที่พอจะถือติดมือไปได้ (ม.อุ.อ. ๓/๑๒๔/๗๑, องฺ.ติก.อ. ๒/๑/๗๗) @ อุปสรรค ในที่นี้หมายถึงอาการที่มีความขัดข้อง เช่น การถูกโจรล้อมบ้านจุดไฟปิดประตูไม่ให้หนีไปได้ @และฆ่าแล้วชิงเอาทรัพย์ทั้งหมดไป (ม.อุ.อ. ๓/๑๒๔/๗๑, องฺ.ติก.อ. ๒/๑/๗๗) @ ดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๑/๑๔๐ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๑๖๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]

๕. พหุธาตุกสูตร

เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายจักเป็น บัณฑิต” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไรหนอ จึงควรเรียกว่า ‘ภิกษุผู้เป็นบัณฑิต มีปัญญาเครื่องไตร่ตรอง” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เพราะภิกษุเป็นผู้ฉลาดในธาตุ ฉลาดใน อายตนะ ฉลาดในปฏิจจสมุปบาท และฉลาดในฐานะและอฐานะ อานนท์ ด้วย เหตุมีประมาณเท่านี้แล จึงควรเรียกว่า ‘ภิกษุผู้เป็นบัณฑิต มีปัญญาเครื่องไตร่ตรอง”
ผู้ฉลาดในธาตุ
[๑๒๕] ท่านพระอานนท์ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไร จึงควรเรียกว่า ‘ภิกษุผู้ฉลาดในธาตุ” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ ธาตุ ๑๘ ประการนี้ คือ ๑. จักขุธาตุ (ธาตุคือจักขุประสาท) ๒. รูปธาตุ (ธาตุคือรูปารมณ์) ๓. จักขุวิญญาณธาตุ (ธาตุคือจักขุวิญญาณ) ๔. โสตธาตุ (ธาตุคือโสตประสาท) ๕. สัททธาตุ (ธาตุคือสัททารมณ์) ๖. โสตวิญญาณธาตุ (ธาตุคือโสตวิญญาณ) ๗. ฆานธาตุ (ธาตุคือฆานประสาท) ๘. คันธธาตุ (ธาตุคือคันธารมณ์) ๙. ฆานวิญญาณธาตุ (ธาตุคือฆานวิญญาณ) ๑๐. ชิวหาธาตุ (ธาตุคือชิวหาประสาท) ๑๑. รสธาตุ (ธาตุคือรสารมณ์) ๑๒. ชิวหาวิญญาณธาตุ (ธาตุคือชิวหาวิญญาณ) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๑๖๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]

๕. พหุธาตุกสูตร

๑๓. กายธาตุ (ธาตุคือกายประสาท) ๑๔. โผฏฐัพพธาตุ (ธาตุคือโผฏฐัพพารมณ์) ๑๕. กายวิญญาณธาตุ (ธาตุคือกายวิญญาณ) ๑๖. มโนธาตุ (ธาตุคือมโน) ๑๗. ธัมมธาตุ (ธาตุคือธรรมารมณ์) ๑๘. มโนวิญญาณธาตุ (ธาตุคือมโนวิญญาณ) อานนท์ เพราะเหตุที่ภิกษุรู้เห็นธาตุ ๑๘ ประการนี้แล จึงควรเรียกว่า ‘ภิกษุผู้ฉลาดในธาตุ” (๑) “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีบรรยายอื่นอีกไหม ที่ควรเรียกว่า ‘ภิกษุผู้ฉลาด ในธาตุ” “อานนท์ มีธาตุ ๖ ประการนี้ คือ ๑. ปฐวีธาตุ ๒. อาโปธาตุ ๓. เตโชธาตุ ๔. วาโยธาตุ ๕. อากาสธาตุ ๖. วิญญาณธาตุ อานนท์ เพราะเหตุที่ภิกษุรู้เห็นธาตุ ๖ ประการนี้แล จึงควรเรียกว่า ‘ภิกษุผู้ฉลาดในธาตุ” (๒) “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีบรรยายอื่นอีกไหม ที่ควรเรียกว่า ‘ภิกษุผู้ฉลาด ในธาตุ” “อานนท์ มีธาตุ ๖ ประการนี้ คือ ๑. สุขธาตุ (ธาตุคือสุข) ๒. ทุกขธาตุ (ธาตุคือทุกข์) ๓. โสมนัสสธาตุ (ธาตุคือโสมนัส) ๔. โทมนัสสธาตุ (ธาตุคือโทมนัส) ๕. อุเปกขาธาตุ (ธาตุคืออุเบกขา) ๖. อวิชชาธาตุ (ธาตุคืออวิชชา) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๑๖๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]

๕. พหุธาตุกสูตร

อานนท์ เพราะเหตุที่ภิกษุรู้เห็นธาตุ ๖ ประการนี้แล จึงควรเรียกว่า ‘ภิกษุผู้ฉลาดในธาตุ” (๓) “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีบรรยายอื่นอีกไหม ที่ควรเรียกว่า ‘ภิกษุ ผู้ฉลาดในธาตุ” “อานนท์ มีธาตุ ๖ ประการ คือ ๑. กามธาตุ (ธาตุคือกาม) ๒. เนกขัมมธาตุ (ธาตุคือเนกขัมมะ) ๓. พยาบาทธาตุ (ธาตุคือพยาบาท) ๔. อพยาบาทธาตุ (ธาตุคืออพยาบาท) ๕. วิหิงสาธาตุ (ธาตุคือวิหิงสา) ๖. อวิหิงสาธาตุ (ธาตุคืออวิหิงสา) อานนท์ เพราะเหตุที่ภิกษุรู้เห็นธาตุ ๖ ประการนี้แล จึงควรเรียกว่า ‘ภิกษุผู้ฉลาดในธาตุ” (๔) “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีบรรยายอื่นอีกไหม ที่ควรเรียกว่า ‘ภิกษุ ผู้ฉลาดในธาตุ” “อานนท์ มีธาตุ ๓ ประการนี้ คือ ๑. กามธาตุ (ธาตุคือกามารมณ์) ๒. รูปธาตุ (ธาตุคือรูปารมณ์) ๓. อรูปธาตุ (ธาตุคืออรูปารมณ์) อานนท์ เพราะเหตุที่ภิกษุรู้เห็นธาตุ ๓ ประการนี้แล จึงควรเรียกว่า ‘ภิกษุผู้ฉลาดในธาตุ” (๕) “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีบรรยายอื่นอีกไหม ที่ควรเรียกว่า ‘ภิกษุผู้ฉลาด ในธาตุ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๑๖๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]

๕. พหุธาตุกสูตร

“อานนท์ มีธาตุ ๒ ประการนี้ คือ ๑. สังขตธาตุ (ธาตุคือสังขตธรรม) ๒. อสังขตธาตุ (ธาตุคืออสังขตธรรม) อานนท์ เพราะเหตุที่ภิกษุรู้เห็นธาตุ ๒ ประการนี้แล จึงควรเรียกว่า ‘ภิกษุผู้ฉลาดในธาตุ” (๖)
ผู้ฉลาดในอายตนะ
[๑๒๖] “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไร จึงควรเรียกว่า ‘ภิกษุผู้ฉลาดในอายตนะ” “อานนท์ อายตนะภายในและภายนอก อย่างละ ๖ ประการนี้ คือ ๑. จักขุ(ตา)คู่กับรูป ๒. โสตะ(หู)คู่กับสัททะ(เสียง) ๓. ฆานะ(จมูก)คู่กับคันธะ(กลิ่น) ๔. ชิวหา(ลิ้น)คู่กับรส ๕. กายคู่กับโผฏฐัพพะ ๖. มโน(ใจ)คู่กับธรรมารมณ์ อานนท์ เพราะเหตุที่ภิกษุรู้เห็นอายตนะภายในและภายนอก อย่างละ ๖ ประการนี้แล จึงควรเรียกว่า ‘ภิกษุผู้ฉลาดในอายตนะ” “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไร จึงควรเรียกว่า ‘ภิกษุผู้ ฉลาดในปฏิจจสมุปบาท” “อานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้อย่างนี้ว่า ‘เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะ สิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ คือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๑๖๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]

๕. พหุธาตุกสูตร

เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ อุปายาสจึงมี ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีได้ด้วยประการฉะนี้ แต่เพราะอวิชชาดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีได้ด้วยประการฉะนี้‘๑- อานนท์ ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล จึงควรเรียกว่า ‘ภิกษุผู้ฉลาดในปฏิจจ สมุปบาท” @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๔/๑-๓/๒-๖, ที.ม. (แปล) ๑๐/๕๗-๖๑/๓๑-๓๕, ๙๖-๑๑๖/๕๗-๖๖, @องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๖๒/๒๔๒-๒๔๓, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๗/๑๑๓, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๔/๕๕-๕๖, @อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๒๒๕-๓๕๓/๒๑๘-๓๐๕ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๑๖๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]

๕. พหุธาตุกสูตร

ผู้ฉลาดในฐานะและอฐานะ
[๑๒๗] “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไร จึงควรเรียกว่า ‘ภิกษุผู้ฉลาดในฐานะและอฐานะ” “อานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ รู้ชัดว่า ‘เป็นไปไม่ได้๑- ที่บุคคลผู้ถึงพร้อม ด้วยทิฏฐิ๒- พึงยึดถือสังขารไรๆ โดยความเป็นสภาวะเที่ยง แต่เป็นไปได้๓- ที่ปุถุชน๔- พึงยึดถือสังขารไรๆ โดยความเป็นสภาวะเที่ยง’ รู้ชัดว่า ‘เป็นไปไม่ได้ที่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิพึงยึดถือสังขารไรๆ โดย ความเป็นสุข แต่เป็นไปได้ที่ปุถุชนพึงยึดถือสังขารไรๆ โดยความเป็นสุข’ รู้ชัดว่า ‘เป็นไปไม่ได้ที่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิพึงยึดถือธรรมไรๆ โดย ความเป็นอัตตา แต่เป็นไปได้ที่ปุถุชนพึงยึดถือธรรมไรๆ โดยความเป็นอัตตา’ [๑๒๘] รู้ชัดว่า ‘เป็นไปไม่ได้ที่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิพึงฆ่ามารดา แต่ เป็นไปได้ที่ปุถุชนพึงฆ่ามารดา’ รู้ชัดว่า ‘เป็นไปไม่ได้ที่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิพึงฆ่าบิดา แต่เป็นไปได้ที่ ปุถุชนพึงฆ่าบิดา’ รู้ชัดว่า ‘เป็นไปไม่ได้ที่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิพึงฆ่าพระอรหันต์ แต่เป็น ไปได้ที่ปุถุชนพึงฆ่าพระอรหันต์’ รู้ชัดว่า ‘เป็นไปไม่ได้ที่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิพึงมีจิตคิดประทุษร้าย ทำ ร้ายตถาคตให้ห้อเลือด แต่เป็นไปได้ที่ปุถุชนพึงมีจิตประทุษร้าย ทำร้ายตถาคตให้ ห้อเลือด’ @เชิงอรรถ : @ เป็นไปไม่ได้ หมายถึงปฏิเสธฐานะ(เหตุ) และปฏิเสธโอกาส(ปัจจัย) ที่ให้เป็นไปได้ @(ม.อุ.อ. ๓/๑๒๗/๗๔, องฺ.เอกก.อ. ๑/๒๖๘/๔๐๒) @ บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึงพระอริยบุคคลชั้นโสดาบันขึ้นไป เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสัมมาทิฏฐิ @คือความเห็นชอบ (ม.อุ.อ. ๓/๑๒๗/๗๔, องฺ.เอกก.อ. ๑/๒๖๘/๔๐๒) @ เป็นไปได้ ในที่นี้หมายถึงยอมรับฐานะ(เหตุ) ที่ให้เป็นไปได้ (ม.อุ.อ. ๓/๑๒๗/๗๔, @องฺ.เอกก.อ. ๑/๒๖๘/๔๐๒) @ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๘๗ (มหาปุณณมสูตร) หน้า ๙๙ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๑๖๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]

๕. พหุธาตุกสูตร

รู้ชัดว่า ‘เป็นไปไม่ได้ที่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิพึงทำลายสงฆ์ แต่เป็นไปได้ ที่ปุถุชนพึงทำลายสงฆ์’ รู้ชัดว่า ‘เป็นไปไม่ได้ที่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิพึงนับถือศาสดาอื่น แต่เป็น ไปได้ที่ปุถุชนพึงนับถือศาสดาอื่น’ [๑๒๙] รู้ชัดว่า ‘เป็นไปไม่ได้ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์พึง เสด็จอุบัติพร้อมกันในโลกธาตุเดียวกัน๑- แต่เป็นไปได้ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์เดียว พึงเสด็จอุบัติในโลกธาตุเดียว’ รู้ชัดว่า ‘เป็นไปไม่ได้ที่พระเจ้าจักรพรรดิ ๒ พระองค์พึงเสด็จอุบัติพร้อมกัน ในโลกธาตุเดียวกัน แต่เป็นไปได้ที่พระเจ้าจักรพรรดิพระองค์เดียวพึงเสด็จอุบัติใน โลกธาตุเดียว‘๒- [๑๓๐] รู้ชัดว่า ‘เป็นไปไม่ได้ที่สตรีพึงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ เป็นไปได้ที่บุรุษพึงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า’ รู้ชัดว่า ‘เป็นไปไม่ได้ที่สตรีพึงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ แต่เป็นไปได้ที่บุรุษพึง เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ’ รู้ชัดว่า ‘เป็นไปไม่ได้ที่สตรีพึงครองความเป็นท้าวสักกะ ฯลฯ เป็นมาร ฯลฯ เป็นพรหม แต่เป็นไปได้ที่บุรุษพึงครองความเป็นท้าวสักกะ ฯลฯ เป็นมาร ฯลฯ เป็นพรหม’ [๑๓๑] รู้ชัดว่า ‘เป็นไปไม่ได้ที่กายทุจริตจะพึงเกิดผลที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ แต่เป็นไปได้ที่กายทุจริตจะพึงเกิดผลที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่า พอใจ’ รู้ชัดว่า ‘เป็นไปไม่ได้ที่วจีทุจริต ฯลฯ เป็นไปไม่ได้ที่มโนทุจริตจะพึงเกิดผล ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ แต่เป็นไปได้ที่วจีทุจริต ฯลฯ แต่เป็นไปได้ที่ มโนทุจริตจะพึงเกิดผล ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ’ @เชิงอรรถ : @ โลกธาตุเดียวกัน หมายถึงจักรวาลเดียวกัน (องฺ.เอกก.อ. ๑/๒๗๗/๔๑๓) @ ดูเทียบ องฺ.เอกก. (แปล) ๒๐/๒๖๘-๒๗๗/๓๓-๓๔ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๑๖๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]

๕. พหุธาตุกสูตร

รู้ชัดว่า ‘เป็นไปไม่ได้ที่กายสุจริตจะพึงเกิดผลที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ แต่เป็นไปได้ที่กายสุจริตจะพึงเกิดผลที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ’ รู้ชัดว่า ‘เป็นไปไม่ได้ที่วจีสุจริต ฯลฯ เป็นไปไม่ได้ที่มโนสุจริตจะพึงเกิดผลที่ ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ แต่เป็นไปได้ที่วจีสุจริต ฯลฯ แต่เป็น ไปได้ที่มโนสุจริต จะพึงเกิดผลที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ’ รู้ชัดว่า ‘เป็นไปไม่ได้ที่บุคคลผู้เพียบพร้อม๑- ด้วยกายทุจริต หลังจาก ตายแล้ว จะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เพราะความเพียบพร้อมด้วยกายทุจริตเป็น เหตุเป็นปัจจัย แต่เป็นไปได้ที่บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยกายทุจริต หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะความเพียบพร้อมด้วยกายทุจริต เป็นเหตุเป็นปัจจัย’ รู้ชัดว่า ‘เป็นไปไม่ได้ที่บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยวจีทุจริต หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เพราะความเพียบพร้อมด้วยวจีทุจริตเป็นเหตุเป็นปัจจัย แต่เป็นไปได้ที่บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยวจีทุจริต ฯลฯ แต่เป็นไปได้ที่บุคคลผู้เพียบ พร้อมด้วยมโนทุจริต หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะความเพียบพร้อมด้วยมโนทุจริตเป็นเหตุเป็นปัจจัย’ รู้ชัดว่า ‘เป็นไปไม่ได้ที่บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยกายสุจริต หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะความเพียบพร้อมด้วยกายสุจริต เป็นเหตุเป็นปัจจัย แต่เป็นไปได้ที่บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยกายสุจริต หลังจากตาย แล้ว จะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เพราะความเพียบพร้อมด้วยกายสุจริตเป็นเหตุ เป็นปัจจัย’ @เชิงอรรถ : @ เพียบพร้อม ในที่นี้หมายถึงความเพียบพร้อม ๕ ประการ คือ (๑) เพียบพร้อมด้วยการสั่งสม @เพราะสั่งสมกุศลกรรมและอกุศลกรรม (๒) เพียบพร้อมด้วยเจตนา เพราะจงใจในการก่อกุศลกรรมและ @อกุศลกรรม (๓) เพียบพร้อมด้วยกรรม เพราะกรรมที่สัตว์สั่งสมไว้ตราบเท่าที่ยังไม่ได้บรรลุอรหัตตผล @(๔) เพียบพร้อมด้วยวิบาก เพราะเสวยผลของกรรมที่สั่งสมไว้ (๕) เพียบพร้อมด้วยการอุบัติ เพราะ @เกิดในนรก ครรภ์มารดา หรือเทวโลก ตราบเท่าที่ยังไม่บรรลุอรหัตตผล (ม.อุ.อ. ๓/๑๓๑/๘๗-๘๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๑๖๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]

๕. พหุธาตุกสูตร

รู้ชัดว่า ‘เป็นไปไม่ได้ที่บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยวจีสุจริต ฯลฯ เป็นไปไม่ได้ ที่บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยมโนสุจริต หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะความเพียบพร้อมด้วยมโนสุจริตนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัย แต่เป็นไปได้ที่บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยวจีสุจริต ฯลฯ แต่เป็นไปได้ที่บุคคลผู้ เพียบพร้อมด้วยมโนสุจริต หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เพราะ ความเพียบพร้อมด้วยมโนสุจริตเป็นเหตุเป็นปัจจัย’๑- อานนท์ ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล จึงควรเรียกว่า ‘ภิกษุผู้ฉลาดในฐานะ และอฐานะ’ [๑๓๒] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า “น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ธรรมบรรยายนี้ชื่ออะไร พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เพราะเหตุนั้นแล เธอจงจำธรรมบรรยายนี้ไว้ว่าชื่อ พหุธาตุกะ๒- บ้าง ชื่อจตุปริวัฏฏะ๓- บ้าง ชื่อธัมมาทาสะ๔- บ้าง ชื่ออมตทุนทุภี๕- บ้าง ชื่ออนุตตรสังคามวิชยะ๖- บ้าง” @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ องฺ.เอกก. (แปล) ๒๐/๒๖๘-๒๙๕/๓๓-๓๖ @ พหุธาตุกะ แปลว่า ธาตุมากอย่าง ที่เรียกธรรมบรรยายนี้ว่า ธาตุมากอย่าง เพราะอธิบายเกี่ยวกับ @ธาตุ ๑๘ บ้าง ธาตุ ๖ บ้าง เป็นต้น (ม.อุ.อ. ๓/๑๓๒/๘๙) @ จตุปริวัฏฏะ แปลว่า วงเวียน ๔ วงเวียน ที่เรียกธรรมบรรยายนี้ว่า วงเวียน เพราะอธิบายวงเวียน ๔ @คือ ธาตุ อายตนะ ปฏิจจสมุปบาท และฐานะกับอฐานะ (ม.อุ.อ. ๓/๑๓๒/๘๙) @ ธัมมาทาสะ แปลว่า แว่นส่องธรรม ที่เรียกธรรมบรรยายนี้ว่า แว่นส่องธรรม เพราะใช้ส่องดูธรรมได้ @เหมือนใช้กระจกส่องดูเงาหน้า ฉะนั้น (ม.อุ.อ. ๓/๑๓๒/๘๙) @ อมตทุนทุภี แปลว่า กลองอมตธรรม ที่เรียกธรรมบรรยายนี้ว่า กลองอมตธรรม เพราะพระโยคาวจร @ศึกษาปฏิบัติวิปัสสนาตามที่กล่าวไว้ในสูตรนี้แล้วสามารถย่ำยีกิเลสทั้งหลายจนประสบชัยชนะคืออรหัตตผลได้ @เหมือนนักรบผู้ทำหน้าที่ย่ำยีข้าศึกถือกลองรบเข้าประจัญบานกับข้าศึกฝ่ายตรงข้ามจนประสบชัยชนะฉะนั้น @(ม.อุ.อ. ๓/๑๓๒/๘๙) @ อนุตตรสังคามวิชยะ แปลว่า ตำราพิชัยสงครามอันยอดเยี่ยม ที่เรียกธรรมบรรยายนี้ว่า ตำรา @พิชัยสงครามอันยอดเยี่ยม เพราะพระโยคาวจรถืออาวุธคือวิปัสสนา สามารถกำจัดกองกิเลสจนประสบ @ชัยชนะคืออรหัตตผลได้ เหมือนนักรบเข้าสู่สงครามถืออาวุธ ๕ ประการ กำจัดกองทัพฝ่ายตรงข้ามได้ @ชัยชนะฉะนั้น (ม.อุ.อ. ๓/๑๓๒/๘๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๑๖๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]

๖. อิสิคิลิสูตร

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระอานนท์มีใจยินดีชื่นชมพระ ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
พหุธาตุกสูตรที่ ๕ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๑๖๐-๑๗๐. http://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=14&siri=15              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=3432&Z=3646                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=234              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=14&item=234&items=13              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=1803              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=14&item=234&items=13              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=1803                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu14              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/14i234-e.php# https://suttacentral.net/mn115/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :