ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๒. รัฏฐปาลสูตร

๒. รัฏฐปาลสูตร
ว่าด้วยพระรัฏฐปาละ
พราหมณ์และคหบดีชาวเมืองถุลลโกฏฐิตะเข้าเฝ้า
[๒๙๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นกุรุ พร้อมกับภิกษุสงฆ์ หมู่ใหญ่ เสด็จถึงนิคมของชาวกุรุชื่อถุลลโกฏฐิตะ พราหมณ์และคหบดีทั้งหลายชาว ถุลลโกฏฐิตนิคมได้สดับข่าวว่า “ได้ยินว่า พระสมณโคดมเป็นศากยบุตรเสด็จออกผนวชจากศากยะตระกูล ทรงจาริกไปในแคว้นกุรุ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงถุลลโกฏฐิตนิคม ท่านพระโคดมพระองค์นั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ๑- เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้ อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค๒-’ พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ด้วยพระองค์เองแล้วจึง ประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้ เป็นความดีอย่างแท้จริง” ครั้งนั้น พราหมณ์และคหบดีชาวถุลลโกฏฐิตนิคม เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ บางพวกถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวก ทูลสนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกประณมมือไปทางพระผู้มีพระภาคประทับนั่งแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร บางพวก @เชิงอรรถ : @๑-๒ ดูเชิงอรรถที่ ๒-๓ ข้อ ๑๐ (กันทรกสูตร) หน้า ๑๐ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๔๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๒. รัฏฐปาลสูตร

ประกาศชื่อและโคตรในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกก็นั่ง นิ่งอยู่ ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้พราหมณ์และคหบดีชาวถุลลโกฏฐิต- นิคมเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจ ให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา
รัฏฐปาลกุลบุตรขอบวช
[๒๙๔] สมัยนั้น กุลบุตรชื่อรัฏฐปาละ เป็นบุตรของตระกูลชั้นสูงในถุลลโกฏฐิต- นิคมนั้น นั่งอยู่ในบริษัทนั้นด้วย ขณะนั้นเอง รัฏฐปาลกุลบุตรได้คิดว่า “ธรรมตาม ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น เราเข้าใจว่า การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติ พรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วน ดุจสังข์ขัด มิใช่กระทำได้ง่าย ทางที่ดี เราควรโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเถิด” ครั้งนั้น พวกพราหมณ์และคหบดีชาวถุลลโกฏฐิตนิคม ผู้ที่พระผู้มีพระภาค ทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้วต่างชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มี พระภาค ลุกจากที่นั่ง ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วจากไป ลำดับนั้น เมื่อพราหมณ์และคหบดีชาวถุลลโกฏฐิตนิคมจากไปไม่นาน รัฏฐปาลกุลบุตร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบ ทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น ข้าพระองค์ เข้าใจว่า การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วน ดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ข้าพระองค์ปรารถนาจะโกนผมและหนวด นุ่งห่ม ผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ขอข้าพระองค์พึงได้บรรพชา อุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเถิด” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “รัฏฐปาละ มารดาบิดาอนุญาตให้เธอออกจากเรือนบวช เป็นบรรพชิตแล้วหรือ” รัฏฐปาลกุลบุตรกราบทูลว่า “ยังมิได้อนุญาต พระพุทธเจ้าข้า” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๕๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๒. รัฏฐปาลสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “รัฏฐปาละ พระตถาคตทั้งหลายย่อมไม่บวชให้กุลบุตร ที่มารดาบิดายังมิได้อนุญาต” รัฏฐปาลกุลบุตรกราบทูลว่า “ข้าพระองค์จักหาวิธีให้มารดาบิดาอนุญาตให้ ข้าพระองค์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต พระพุทธเจ้าข้า” [๒๙๕] ครั้งนั้น รัฏฐปาลกุลบุตรลุกจากที่นั่ง ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วเข้าไปหามารดาบิดาถึงที่อยู่แล้วกล่าวว่า “คุณพ่อคุณแม่ ธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น ลูกเข้าใจว่า การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะ ประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วน ดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ลูกปรารถนาจะโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิต ขอคุณพ่อคุณแม่โปรดอนุญาตให้ลูกออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเถิด” เมื่อรัฏฐปาลกุลบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว มารดาบิดาของรัฏฐปาลกุลบุตรได้กล่าว ว่า “พ่อรัฏฐปาละ เจ้าเป็นลูกชายคนเดียว เป็นที่รักเป็นที่ชอบใจของพ่อแม่ เจริญเติบโต มาด้วยความสุขสบาย ได้รับการเลี้ยงดูมาอย่างดี ลูกไม่รู้จักความทุกข์แม้แต่น้อย [มาเถิด พ่อรัฏฐปาละ ลูกจงบริโภค จงดื่ม จงให้เขาปรนนิบัติ ลูกเมื่อกำลังบริโภค กำลังดื่ม กำลังให้เขาปรนนิบัติอยู่ จงยินดีบริโภคกามไปพลาง ทำบุญไปพลางเถิด พ่อแม่จะไม่อนุญาตให้ลูกออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต] ถึงลูกจะตายพ่อแม่ก็ไม่ ปรารถนาจะจากลูก เหตุไฉน พ่อแม่จักอนุญาตให้ลูกซึ่งยังมีชีวิตอยู่ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตเล่า” แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓ รัฏฐปาลกุลบุตรได้กล่าวว่า “คุณพ่อคุณแม่ ธรรมตามที่พระผู้มี พระภาคทรงแสดงนั้น ลูกเข้าใจว่า การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วน ดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ลูกปรารถนาจะโกนผม และหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ขอคุณพ่อคุณแม่ โปรดอนุญาตให้ลูกออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเถิด” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๕๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๒. รัฏฐปาลสูตร

แม้ครั้งที่ ๓ มารดาบิดาของรัฐปาลกุลบุตรก็ได้กล่าวว่า “พ่อรัฏฐปาละ เจ้าเป็น ลูกชายคนเดียว เป็นที่รักเป็นที่ชอบใจของพ่อแม่ เจริญเติบโตมาด้วยความสุขสบาย ได้รับการเลี้ยงดูมาอย่างดี ลูกไม่รู้จักความทุกข์แม้แต่น้อย [มาเถิด พ่อรัฏฐปาละ ลูกจงบริโภค จงดื่ม จงให้เขาปรนนิบัติอยู่เถิด ลูกเมื่อกำลังบริโภค กำลังดื่ม กำลัง ให้เขาปรนนิบัติอยู่ จงยินดีบริโภคกามไปพลาง ทำบุญไปพลางเถิด พ่อแม่จะไม่ อนุญาตให้ลูกออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต] ถึงลูกจะตาย พ่อแม่ก็ไม่ปรารถนา จะจากลูก เหตุไฉน พ่อแม่จักอนุญาตให้ลูกซึ่งยังมีชีวิตอยู่ออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิตเล่า”
มารดาบิดาไม่อนุญาตให้บวช
[๒๙๖] ครั้งนั้น รัฏฐปาลกุลบุตรคิดว่า “มารดาบิดาไม่อนุญาตให้เราออก จากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแน่” จึงนอนบนพื้นอันไม่มีเครื่องปูลาด ณ ที่นั้นเอง ด้วยตั้งใจว่า “เราจักตาย หรือจักได้บวชก็ที่ตรงนี้แหละ” เขาจึงไม่บริโภคอาหาร ตั้งแต่ ๑ มื้อ ๒ มื้อ ๓ มื้อ ๔ มื้อ ๕ มื้อ ๖ มื้อ จนถึง ๗ มื้อ ครั้งนั้น มารดาบิดาของรัฏฐปาลกุลบุตรได้กล่าวว่า “พ่อรัฏฐปาละ เจ้าเป็น ลูกชายคนเดียว เป็นที่รักเป็นที่ชอบใจของพ่อแม่ เจริญเติบโตมาด้วยความสุขสบาย ได้รับการเลี้ยงดูมาอย่างดี ลูกไม่รู้จักความทุกข์แม้แต่น้อย จงลุกขึ้นเถิด พ่อรัฏฐปาละ ลูกจงบริโภค จงดื่ม จงให้เขาปรนนิบัติอยู่เถิด ลูกเมื่อกำลังบริโภค กำลังดื่ม กำลัง ให้เขาปรนนิบัติอยู่ จงยินดีบริโภคกาม๑- ไปพลาง ทำบุญ๒- ไปพลางเถิด พ่อแม่จะไม่ อนุญาตให้ลูกออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ถึงลูกจะตาย พ่อแม่ก็ไม่ปรารถนา จะจากลูก เหตุไฉน พ่อแม่จักอนุญาตให้ลูกซึ่งมีชีวิตอยู่ออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิตเล่า จงลุกขึ้นเถิด พ่อรัฏฐปาละ ลูกจงบริโภค จงดื่ม จงให้เขาปรนนิบัติ อยู่เถิด ลูกเมื่อกำลังบริโภค กำลังดื่ม กำลังให้เขาปรนนิบัติอยู่ จงยินดีบริโภค @เชิงอรรถ : @ บริโภคกาม ในที่นี้หมายถึงบริโภคคือใช้สอยโภคสมบัติร่วมกับบุตรและภรรยา (ม.ม.อ. ๒/๒๙๖/๒๑๓) @ ทำบุญ ในที่นี้หมายถึงปรารภพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ กระทำกุศลกรรมมีการเพิ่มให้ทาน @เป็นต้น ถางทางไปสู่สุคติโลกสวรรค์ (ม.ม.อ. ๒/๒๙๖/๒๑๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๕๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๒. รัฏฐปาลสูตร

กามไปพลาง ทำบุญไปพลางเถิด พ่อแม่จะไม่อนุญาตให้ลูกออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิต ถึงลูกจะตาย พ่อแม่ก็ไม่ปรารถนาจะจากลูก เหตุไฉน พ่อแม่จักอนุญาต ให้ลูกซึ่งมีชีวิตอยู่ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเล่า” เมื่อมารดาบิดากล่าวอย่างนี้แล้ว รัฏฐปาลกุลบุตรก็ได้นิ่งเฉย แม้ครั้งที่ ๒ มารดาบิดาของรัฏฐปาลกุลบุตรก็ได้กล่าวว่า ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๒ รัฏฐปาลกุลบุตรก็ได้นิ่งเฉย แม้ครั้งที่ ๓ มารดาบิดาของรัฏฐปาลกุลบุตรก็ได้กล่าวว่า “พ่อรัฏฐปาละ เจ้าเป็นลูกคนเดียว เป็นที่รักเป็นที่ชอบใจของพ่อแม่ เจริญเติบโตมาด้วยความสุขสบาย ได้รับการเลี้ยงดูมาอย่างดี พ่อรัฏฐปาละ ลูกไม่รู้จักความทุกข์แม้แต่น้อย [จงลุกขึ้น เถิด พ่อรัฏฐปาละ ลูกจงบริโภค จงดื่ม จงให้เขาปรนนิบัติอยู่เถิด ลูกเมื่อกำลังบริโภค กำลังดื่ม กำลังให้เขาปรนนิบัติอยู่ จงยินดีบริโภคกามไปพลาง ทำบุญไปพลางเถิด พ่อแม่จะไม่อนุญาตให้ลูกออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต] ถึงลูกจะตาย พ่อแม่ก็ ไม่ปรารถนาจะจากลูก เหตุไฉน พ่อแม่จักอนุญาตให้ลูกซึ่งมีชีวิตอยู่ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตเล่า จงลุกขึ้น พ่อรัฏฐปาละ ลูกจงบริโภค จงดื่ม ฯลฯ ถึงลูก จะตาย พ่อแม่ก็ไม่ปรารถนาจะจากลูก เหตุไฉน พ่อแม่จักอนุญาตให้ลูกซึ่งมีชีวิตอยู่ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเล่า” แม้ครั้งที่ ๓ รัฏฐปาลกุลบุตรก็ได้นิ่งเฉย
เพื่อนช่วยอ้อนวอนขออนุญาตให้บวช
[๒๙๗] ครั้งนั้น พวกเพื่อนของรัฏฐปาลกุลบุตรพากันเข้าไปหารัฏฐปาลกุลบุตร ถึงที่อยู่แล้วได้กล่าวว่า “รัฏฐปาละเพื่อนรัก เพื่อนเป็นลูกชายคนเดียว เป็นที่รักเป็นที่ชอบใจของพ่อแม่ เจริญเติบโตมาด้วยความสุขสบาย ได้รับการเลี้ยงดูมาอย่างดี เพื่อนไม่รู้จักความ ทุกข์แม้แต่น้อยเลย [ลุกขึ้นเถิด รัฏฐปาละเพื่อนรัก เพื่อนจงบริโภค จงดื่ม จงให้เขา ปรนนิบัติอยู่เถิด เมื่อกำลังบริโภค กำลังดื่ม กำลังให้เขาปรนนิบัติอยู่ จงยินดีบริโภค {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๕๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๒. รัฏฐปาลสูตร

กามไปพลาง ทำบุญไปพลางเถิด พ่อแม่จะไม่อนุญาตให้เพื่อนออกจากเรือนบวช เป็นบรรพชิต] ถึงเพื่อนจะตายพ่อแม่ก็ไม่ปรารถนาจะจากเพื่อน เหตุไฉน พ่อแม่ จักยอมอนุญาตให้เพื่อนผู้ยังมีชีวิตอยู่ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเล่า ลุกขึ้นเถิด รัฏฐปาละเพื่อนรัก เพื่อนจงบริโภค จงดื่ม จงให้เขาปรนนิบัติอยู่เถิด เมื่อกำลังบริโภค กำลังดื่ม กำลังให้เขาปรนนิบัติอยู่ จงยินดีบริโภคกามไปพลาง ทำบุญไปพลางเถิด พ่อแม่จะไม่อนุญาตให้เพื่อนออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแน่ ถึงเพื่อนจะตาย พ่อแม่ก็ไม่ปรารถนาจะจากเพื่อน เหตุไฉน พ่อแม่จักอนุญาตให้เพื่อนซึ่งมีชีวิตอยู่ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเล่า ลุกขึ้นเถิด รัฏฐปาละเพื่อนรัก เพื่อนจงบริโภค จงดื่ม จงให้เขาปรนนิบัติอยู่เถิด เมื่อกำลังบริโภค กำลังดื่ม กำลังให้เขาปรนิบัติอยู่ จงยินดีบริโภคกามไปพลางทำบุญไปพลางเถิด พ่อแม่จะไม่อนุญาตให้เพื่อนออกจาก เรือนบวชเป็นบรรพชิต ถึงเพื่อนจะตาย พ่อแม่ก็ไม่ปรารถนาจะจากเพื่อน เหตุไฉน พ่อแม่จักอนุญาตให้เพื่อนซึ่งยังมีชีวิตออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเล่า” เมื่อสหายเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว รัฏฐปาลกุลบุตรก็ได้นิ่งเฉย แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓ พวกเพื่อนของรัฏฐปาลกุลบุตรได้กล่าวว่า “รัฏฐปาละเพื่อนรัก เพื่อนเป็นลูกชายคนเดียว เป็นที่รักเป็นที่ชอบใจของพ่อแม่ เจริญเติบโตมาด้วย ความสุขสบาย ได้รับการเลี้ยงดูมาอย่างดี เพื่อนไม่รู้จักความทุกข์แม้แต่น้อยเลย ลุกขึ้นเถิด รัฏฐปาละเพื่อนรัก เพื่อนจงบริโภค จงดื่ม จงให้เขาปรนนิบัติอยู่เถิด เมื่อกำลังบริโภค กำลังดื่ม กำลังให้เขาปรนนิบัติอยู่ จงยินดีบริโภคกามไปพลาง ทำบุญไปพลางเถิด พ่อแม่จะไม่อนุญาตให้เพื่อนออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ถึงเพื่อนจะตาย พ่อแม่ก็ไม่ปรารถนาจะจากเพื่อน เหตุไฉน พ่อแม่เหล่านั้นจักอนุญาต ให้เพื่อนซึ่งมีชีวิตอยู่ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเล่า ลุกขึ้นเถิด รัฏฐปาละ เพื่อนรัก เพื่อนจงบริโภค จงดื่ม ฯลฯ ถึงเพื่อนจะตาย พ่อแม่ก็ไม่ปรารถนาจะจาก เพื่อน เหตุไฉน พ่อแม่เหล่านั้นจักอนุญาตให้เพื่อนซึ่งมีชีวิตอยู่ออกจากเรือนบวช เป็นบรรพชิตเล่า” แม้ครั้งที่ ๓ รัฏฐปาลกุลบุตรก็นิ่งเฉย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๕๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๒. รัฏฐปาลสูตร

[๒๙๘] ลำดับนั้น พวกเพื่อนของรัฏฐปาลกุลบุตรพากันเข้าไปหามารดาบิดา ของรัฏฐปาลกุลบุตรถึงที่อยู่แล้วกล่าวว่า “คุณพ่อคุณแม่ รัฏฐปาลกุลบุตรนี้ นอนบน พื้นที่ไม่มีเครื่องปูลาด ณ ที่นั้นเองด้วยตั้งใจว่า ‘เราจักตาย หรือจักได้บวชก็ที่ตรงนี้ แหละ’ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่ยอมให้รัฏฐปาลกุลบุตรออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เขาจักตาย ณ ที่ตรงนั้นแน่ แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่อนุญาตให้รัฏฐปาลกุลบุตรออกจาก เรือนบวชเป็นบรรพชิต คุณพ่อคุณแม่ก็ได้เห็นเขาแม้บวชแล้ว หากรัฏฐปาลกุลบุตร จักไม่ยินดีในการออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เขาจะมีทางไปที่ไหนอื่นเล่า ก็จัก กลับมาที่บ้านนี้นั่นเอง ขอคุณพ่อคุณแม่จงอนุญาตให้รัฏฐปาลกุลบุตรออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตเถิด” มารดาบิดากล่าวว่า “ลูกทั้งหลาย พ่อแม่อนุญาตให้รัฏฐปาลกุลบุตรออกจาก เรือนบวชเป็นบรรพชิตได้๑- แต่เขาบวชแล้วต้องมาเยี่ยมพ่อแม่บ้าง” ต่อมา พวกเพื่อนพากันเข้าไปหารัฏฐปาลกุลบุตรถึงที่อยู่แล้วได้กล่าวว่า “เชิญ ลุกขึ้นเถิด รัฏฐปาละเพื่อนรัก คุณพ่อคุณแม่อนุญาตให้เพื่อนออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิตแล้ว แต่เพื่อนบวชแล้วต้องมาเยี่ยมคุณพ่อคุณแม่ของเพื่อนบ้าง”
รัฏฐปาลกุลบุตรบวชและบรรลุพระอรหัต
[๒๙๙] ครั้งนั้น รัฏฐปาลกุลบุตรลุกขึ้นบำรุงร่างกายให้เกิดกำลังแล้ว เข้าไป เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มารดาบิดาอนุญาตให้ข้าพระองค์ออก จากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคทรงให้ข้าพระองค์บวชเถิด” รัฏฐปาลกุลบุตรได้บรรพชาอุปสมบทแล้วในสำนักของพระผู้มีพระภาค ครั้งนั้น เมื่อท่านรัฏฐปาละอุปสมบทแล้วไม่นาน พอได้กึ่งเดือน พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ในถุลลโกฏฐิตนิคมตามความยินดี เสด็จจาริกไปทางกรุงสาวัตถี เสด็จเที่ยวจาริกไป ตามลำดับจนถึงกรุงสาวัตถี ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ วิ.มหา. (แปล) ๑/๒๔-๒๙/๑๗-๒๐ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๕๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๒. รัฏฐปาลสูตร

อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระรัฏฐปาละหลีกออก ไปอยู่รูปเดียว ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ ไม่นานนักก็ทำให้แจ้ง ประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวช เป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน รู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความ เป็นอย่างนี้อีกต่อไป๑-” ท่านพระรัฏฐปาละได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย ครั้งนั้น ท่านพระรัฏฐปาละเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ ปรารถนาจะไปเยี่ยมมารดาบิดา ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตข้าพระองค์” พระผู้มีพระภาคทรงมนสิการกำหนดใจของท่านพระรัฏฐปาละด้วยพระหฤทัยแล้ว ทรงทราบชัดว่า “รัฏฐปาลกุลบุตรไม่สามารถที่จะบอกลาสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์อีก” ลำดับนั้น พระองค์จึงตรัสว่า “รัฏฐปาละ เธอจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด” ต่อจากนั้น ท่านพระรัฏฐปาละลุกจากอาสนะถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำ ประทักษิณแล้วเก็บงำเสนาสนะถือบาตรและจีวรจาริกไปทางถุลลโกฏฐิตนิคม เที่ยวจาริก ไปตามลำดับจนถึงถุลลโกฏฐิตนิคมแล้ว ได้ยินว่า ท่านพระรัฏฐปาละพักอยู่ ณ พระราช- อุทยานชื่อมิคจีระของพระเจ้าโกรัพยะในถุลลโกฏฐิตนิคมนั้น ครั้นเวลาเช้า ท่าน พระรัฏฐปาละครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังถุลลโกฏฐิตนิคม ขณะเที่ยวบิณฑบาตในถุลลโกฏฐิตนิคมตามลำดับตรอก ได้เข้าไปจนถึงนิเวศน์ของ บิดาของตน เวลานั้น บิดาของท่านพระรัฏฐปาละกำลังให้ช่างกัลบกสางผมอยู่ที่ซุ้มประตูกลาง๒- ได้เห็นท่านพระรัฏฐปาละกำลังมาแต่ไกลแล้วได้กล่าวว่า “พวกสมณะโล้นเหล่านี้ บวชลูกชายคนเดียวผู้เป็นที่รักเป็นที่ชอบใจของเรา” @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๕ ข้อ ๑๖ (กันทรกสูตร) หน้า ๑๘ ในเล่มนี้ @ ซุ้มประตูกลาง ในที่นี้หมายถึงซุ้มประตูที่ ๔ ของเรือนที่มี ๗ ซุ้มประตู (ม.ม.อ. ๒/๒๙๙/๒๑๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๕๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๒. รัฏฐปาลสูตร

ครั้งนั้น ท่านพระรัฏฐปาละไม่ได้รับทาน๑- ไม่ได้รับคำตอบที่บ้านบิดาของท่านเอง ที่แท้ได้แต่คำด่าเท่านั้น สมัยนั้น ทาสหญิงของญาติของท่านพระรัฏฐปาละกำลัง จะทิ้งขนมกุมมาสค้างคืน ท่านพระรัฏฐปาละได้กล่าวกับทาสหญิงของญาตินั้นว่า “น้องหญิง ถ้าจะทิ้งสิ่งนั้น ก็จงใส่ในบาตรของอาตมานี้เถิด” ขณะที่ทาสหญิงของญาติของท่านกำลังเกลี่ยขนมกุมมาสค้างคืนนั้นลงในบาตร ก็จำเค้ามือ เท้า และน้ำเสียงของท่านพระรัฏฐปาละได้
พระรัฏฐปาละฉันขนมบูด
[๓๐๐] ครั้งนั้น ทาสหญิงของญาติของท่านพระรัฏฐปาละได้เข้าไปหามารดา ของท่านพระรัฏฐปาละถึงที่อยู่แล้วได้กล่าวว่า “คุณนายเจ้าขา โปรดทราบเถิดว่า ‘พระรัฏฐปาละบุตรของคุณนายกลับมาแล้ว” มารดาของท่านพระรัฏฐปาละกล่าวว่า “หนูเอ๋ย ถ้าเธอพูดจริง ฉันจะปลดปล่อย เธอให้เป็นไท” มารดาของท่านพระรัฏฐปาละ เข้าไปหาบิดาของท่านพระรัฏฐปาละ ถึงที่อยู่แล้วได้กล่าวว่า “เดชะบุญ ท่านคหบดี ท่านรู้ไหม ได้ยินว่า รัฏฐปาลกุลบุตร กลับมาแล้ว” เวลานั้น ท่านพระรัฏฐปาละนั่งพิงฝาเรือนแห่งหนึ่งฉันขนมกุมมาสค้างคืน โยมบิดาเข้าไปหาท่านพระรัฏฐปาละถึงที่อยู่แล้วได้ถามว่า “อะไรกัน พ่อรัฏฐปาละ ลูกฉันขนมกุมมาสค้างคืนหรือ ลูกควรไปเรือนของตน มิใช่หรือ” ท่านพระรัฏฐปาละตอบว่า “คหบดี อาตมภาพผู้ออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิตจะมีเรือนแต่ที่ไหน อาตมภาพไม่มีเรือน อาตมภาพได้ไปเรือนของโยม มาแล้ว ในเรือนนั้น อาตมภาพไม่ได้รับทาน ไม่ได้รับคำตอบเลย ได้แต่คำด่า อย่างเดียว” บิดากล่าวว่า “มาเถิด ลูกรัฏฐปาละ พวกเราจะไปเรือนด้วยกัน” @เชิงอรรถ : @ ทาน ในที่นี้หมายถึงไทยธรรม (ม.ม.อ. ๒/๓๐๐/๒๑๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๕๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๒. รัฏฐปาลสูตร

ท่านพระรัฏฐปาละกล่าวว่า “อย่าเลย คหบดี วันนี้อาตมภาพฉันอิ่มแล้ว” บิดากล่าวว่า “พ่อรัฏฐปาละ ถ้าเช่นนั้น ขอท่านจงรับนิมนต์ฉันภัตตาหารในวัน พรุ่งนี้เถิด” ท่านพระรัฏฐปาละรับนิมนต์โดยดุษณีภาพแล้ว ลำดับนั้น บิดาของท่านพระ รัฏฐปาละทราบอาการที่ท่านพระรัฏฐปาละรับนิมนต์แล้ว จึงเข้าไปยังนิเวศน์ของตน แล้วให้ขนเงินและทองมากองเป็นกองใหญ่ ให้เอาเสื่อลำแพนปิดไว้ แล้วเรียก ภรรยาเก่าของท่านพระรัฏฐปาละมากล่าวว่า “มาเถิดแม่สาวๆ ทั้งหลาย พวกเธอ เคยแต่งตัวด้วยเครื่องประดับสำรับใดแล้ว จึงเป็นที่รักเป็นที่ชอบใจของรัฏฐปาลกุลบุตร เมื่อครั้งก่อน จงแต่งตัวด้วยเครื่องประดับสำรับนั้นเถิด” [๓๐๑] ครั้งนั้น เมื่อล่วงราตรีนั้นไป บิดาของท่านพระรัฏฐปาละได้สั่งให้ ตกแต่งของเคี้ยวของฉันอย่างประณีตไว้ในนิเวศน์ของตน แล้วใช้คนไปบอกเวลา แก่ท่านพระรัฏฐปาละว่า “พ่อรัฏฐปาละได้เวลาแล้ว ภัตตาหารสำเร็จแล้ว” ครั้นเวลาเช้า ท่านพระรัฏฐปาละครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไปยัง นิเวศน์ของบิดาท่านเองแล้วนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้แล้ว บิดาของท่านพระรัฏฐปาละ สั่งให้เปิดกองเงินกองทองนั้น แล้วได้กล่าวกับท่านพระรัฏฐปาละว่า “พ่อรัฏฐปาละ ทรัพย์กองนี้เป็นส่วนของแม่ กองโน้นเป็นส่วนของพ่อ ส่วนอีก กองหนึ่งเป็นของปู่ ทั้งหมดนี้เป็นของลูกผู้เดียว ลูกสามารถที่จะใช้สอยสมบัติไป และทำบุญไปก็ได้ มาเถิด พ่อรัฏฐปาละ ลูกจงลาสิกขาออกมาเป็นคฤหัสถ์ใช้สอย สมบัติ และทำบุญไปเถิด” ท่านพระรัฏฐปาละตอบว่า “คหบดี ถ้าท่านพึงทำตามคำของอาตมภาพได้ ท่านพึงให้คนขนกองเงินกองทองนี้ ใส่เกวียนแล้วให้เขาเข็นไปทิ้งไว้ที่กลางกระแส แม่น้ำคงคาเถิด ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะโสกะ(ความเศร้าโศก) ปริเทวะ(ความ คร่ำครวญ) ทุกข์(ความทุกข์กาย) โทมนัส(ความทุกข์ใจ) และอุปายาส(ความ คับแค้นใจ) มีทรัพย์นั้นเป็นเหตุ จักเกิดขึ้นแก่ท่าน” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๕๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๒. รัฏฐปาลสูตร

ลำดับนั้น พวกภรรยาเก่าของท่านพระรัฏฐปาละจับที่เท้าคนละข้างแล้วได้ถาม ท่านพระรัฏฐปาละว่า “หลวงพี่ นางอัปสรพวกไหนเล่าเป็นต้นเหตุให้หลวงพี่ประพฤติ พรหมจรรย์” พระรัฏฐปาละตอบว่า “น้องหญิง เราไม่ได้ประพฤติพรหมจรรย์ เพราะเหตุแห่ง นางอัปสรทั้งหลาย” ภรรยาเหล่านั้นเสียใจว่า “รัฏฐปาละผู้ลูกเจ้าเรียกพวกเราว่า ‘น้องหญิง” จึงล้ม สลบอยู่ ณ ที่นั้น ครั้งนั้น ท่านพระรัฏฐปาละได้กล่าวกับบิดาว่า “คหบดี ถ้าท่าน จะถวายอาหารก็จงถวายเถิด อย่าให้อาตมภาพลำบากเลย” บิดากล่าวว่า “ฉันเถิด พ่อรัฏฐปาละ ภัตตาหารสำเร็จแล้ว” ต่อจากนั้น บิดาของท่านพระรัฏฐปาละได้อังคาสท่านพระรัฏฐปาละด้วยของเคี้ยว ของฉันอันประณีต ถวายให้ฉันจนอิ่มหนำด้วยมือของตน
พระรัฏฐปาละแสดงธรรม
[๓๐๒] ครั้งนั้น ท่านพระรัฏฐปาละฉันเสร็จละมือจากบาตรแล้วได้ยืนกล่าว คาถาเหล่านี้ว่า “โยมจงดูอัตภาพอันวิจิตร มีกายเป็นแผล๑- ที่คุมกันอยู่๒- กระสับกระส่าย๓- เป็นที่ดำริของชนเป็นอันมาก ไม่มีความยั่งยืนมั่นคง @เชิงอรรถ : @ มีกายเป็นแผล หมายถึงแผลทั้ง ๙ แห่ง (คือ ดวงตา ๒ ช่องหู ๒ ช่องจมูก ๒ ช่องปาก ๑ ช่องปัสสาวะ- @มรรค ๑ ช่องอุจจาระมรรค ๑) (ม.ม.อ. ๒/๓๐๒/๒๑๙) @ ที่คุมกันอยู่ หมายถึงคุมกันอยู่ด้วยกระดูก ๓๐๐ ท่อน ด้วยเส้นเอ็น ๙๐๐ เส้น ปกคลุมด้วยกล้ามเนื้อ @๙๐๐ มัด (ม.ม.อ. ๒/๓๐๒/๒๑๙) @ กระสับกระส่าย หมายถึงความกระสับกระส่ายอยู่เป็นนิจเพราะความแก่ โรคภัย และกิเลส @(ม.ม.อ. ๒/๓๐๒/๒๑๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๕๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๒. รัฏฐปาลสูตร

โยมจงดูรูปอันวิจิตรด้วยแก้วมณีและกุณฑล มีกระดูกอันหนังหุ้มห่อไว้ งามด้วยผ้า เท้าที่ย้อมด้วยครั่งสีสด หน้าที่ไล้ทาด้วยจุรณ พอจะหลอกคนโง่ให้หลงใหลได้ แต่จะหลอกคนผู้แสวงหาฝั่ง(คือนิพพาน)ไม่ได้ ผมที่ตบแต่งเป็นลอนดังตาหมากรุก ตาที่เยิ้มด้วยยาหยอด พอจะหลอกคนโง่ได้ แต่จะหลอกคนที่แสวงหาฝั่งไม่ได้ กายที่มีสภาพเปื่อยเน่าเป็นธรรมดา ซึ่งตกแต่งแล้วเหมือนกล่องยาหยอดตาใหม่ อันงดงามพอจะหลอกคนโง่ได้ แต่จะหลอกคนผู้แสวงหาฝั่งไม่ได้ ท่านเป็นดั่งพรานเนื้อวางบ่วงไว้ แต่เนื้อไม่ติดบ่วง เมื่อพรานเนื้อกำลังคร่ำครวญอยู่ เรากินเหยื่อแล้วก็หลีกไป๑-” ลำดับนั้น ท่านพระรัฏฐปาละยืนกล่าวคาถาเหล่านี้แล้วจึงเข้าไปยังพระราช- อุทยานมิคจีระของพระเจ้าโกรัพยะ แล้วนั่งพักกลางวันอยู่ที่โคนไม้แห่งหนึ่ง [๓๐๓] ครั้งนั้น พระเจ้าโกรัพยะรับสั่งเรียกนายมิควะมาตรัสว่า “มิควะ เพื่อนรัก ท่านจงทำความสะอาดพื้นที่อุทยานมิคจีระ เราจะไปชมพื้นที่อุทยานที่ สะอาด” @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๗๖๙-๗๗๔/๔๖๘-๔๖๙ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๖๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๒. รัฏฐปาลสูตร

นายมิควะทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้ว เมื่อกำลังทำความสะอาดพื้นที่พระ ราชอุทยานมิคจีระอยู่ ได้เห็นท่านพระรัฏฐปาละนั่งพักกลางวันอยู่ที่โคนไม้แห่งหนึ่ง จึงเข้าไปเฝ้าพระเจ้าโกรัพยะถึงที่ประทับ แล้วได้กราบทูลว่า “ขอเดชะ พระราชอุทยานมิคจีระของพระองค์สะอาดแล้ว และในพระราช- อุทยานนั้น มีกุลบุตรชื่อรัฏฐปาละผู้เป็นบุตรแห่งตระกูลชั้นสูงในถุลลโกฏฐิตนิคมนี้ ที่พระองค์ทรงสรรเสริญอยู่เสมอๆ เธอนั่งพักกลางวันอยู่ที่โคนไม้แห่งหนึ่ง” พระเจ้าโกรัพยะตรัสว่า “มิควะเพื่อนรัก ถ้าเช่นนั้น บัดนี้ ควรจะไปที่อุทยาน พวกเราจะเข้าไปหาพระคุณเจ้ารัฏฐปาละในบัดนี้เลย” ครั้งนั้น พระเจ้าโกรัพยะรับสั่งว่า “ของเคี้ยวของบริโภคที่จัดเตรียมไปยังอุทยานนั้น ท่านทั้งหลายจงแจกจ่ายให้หมดเสียเถิด” แล้วรับสั่งให้จัดยานพาหนะคันงามๆ หลายคัน ทรงขึ้นพาหนะคันงามเสด็จออกจากถุลลโกฏฐิตนิคมด้วยยานพาหนะคันงามๆ ตาม เสด็จด้วยราชานุภาพอย่างยิ่งใหญ่เพื่อทรงเยี่ยมท่านพระรัฏฐปาละ เสด็จไปจนสุด ทางที่ยานพาหนะจะไปได้ จึงเสด็จลงจากยาน เสด็จพระราชดำเนินไปด้วยพระบาท พร้อมด้วยบริษัทชั้นสูง เข้าไปหาท่านพระรัฏฐปาละถึงที่อยู่ แล้วได้สนทนาปราศรัย พอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วได้ประทับยืน ณ ที่สมควรได้รับสั่งว่า “นิมนต์พระคุณเจ้ารัฏฐปาละนั่งบนเครื่องลาดนี้เถิด” ท่านพระรัฏฐปาละถวายพระพรว่า “มหาบพิตร อย่าเลย เชิญพระองค์ประทับ นั่งเถิด อาตมภาพนั่งที่อาสนะของอาตมภาพดีอยู่แล้ว” พระเจ้าโกรัพยะ จึงประทับนั่งบนที่ประทับที่ข้าราชบริพารจัดถวาย แล้วได้ตรัส กับท่านพระรัฏฐปาละว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๖๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๒. รัฏฐปาลสูตร

ความเสื่อม ๔ ประการ
[๓๐๔] “พระคุณเจ้ารัฏฐปาละ ความเสื่อม ๔ ประการนี้ ที่คนบางพวกใน โลกนี้ประสบเข้าแล้ว ย่อมโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิต ความเสื่อม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. ความเสื่อมเพราะชรา ๒. ความเสื่อมเพราะความเจ็บไข้ ๓. ความเสื่อมจากทรัพย์สมบัติ ๔. ความเสื่อมจากญาติ ความเสื่อมเพราะชรา เป็นอย่างไร คือ คนบางคนในโลกนี้เป็นคนแก่ คนเฒ่า เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยมา โดยลำดับ เขาพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘บัดนี้ เราเป็นคนแก่แล้ว เป็นคนเฒ่าแล้ว เป็นผู้ใหญ่แล้ว เป็นผู้ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ การที่เราจะได้ครอบครองทรัพย์ สมบัติที่ยังไม่ได้ หรือการที่เราจะทำทรัพย์สมบัติที่ได้แล้วให้เพิ่มพูนขึ้น ไม่ใช่ทำ ได้ง่ายเลย ทางที่ดี เราควรโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตเถิด’ เขาประสบกับความเสื่อมเพราะชรานั้นแล้วจึงโกนผมและ หนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต นี้เรียกว่า ความเสื่อม เพราะชรา ส่วนพระคุณเจ้ารัฏฐปาละ บัดนี้ก็ยังหนุ่มแน่น ผมดำสนิท เป็นหนุ่มอยู่ในวัย แรกเริ่ม ไม่มีความเสื่อมเพราะชรานั้นเลย พระคุณเจ้ารัฏฐปาละรู้เห็นหรือได้ฟังอะไร จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต (๑) ความเสื่อมเพราะความเจ็บไข้ เป็นอย่างไร คือ คนบางคนในโลกนี้มีความเจ็บไข้ มีทุกข์ เจ็บหนัก เขาพิจารณาเห็น ดังนี้ว่า ‘บัดนี้ เราเป็นคนมีความเจ็บไข้ มีทุกข์ เจ็บหนัก การที่เราจะได้ครอบครอง ทรัพย์สมบัติที่ยังไม่ได้ หรือการที่เราจะทำทรัพย์สมบัติที่ได้แล้วให้เพิ่มพูนขึ้น ไม่ใช่ ทำได้ง่ายเลย ทางที่ดี เราควรโกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจาก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๖๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๒. รัฏฐปาลสูตร

เรือนบวชเป็นบรรพชิตเถิด’ เขาประสบกับความเสื่อมเพราะความเจ็บไข้นั้น แล้วจึง โกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต นี้เรียกว่า ความเสื่อมเพราะความเจ็บไข้ ส่วนพระคุณเจ้ารัฏฐปาละ บัดนี้เป็นผู้มีสุขภาพ มีโรคาพาธน้อย ประกอบด้วย ไฟธาตุที่ย่อยอาหารสม่ำเสมอดี ไม่เย็นนักไม่ร้อนนัก ไม่มีความเสื่อมเพราะความ เจ็บไข้นั้นเลย พระคุณเจ้ารัฏฐปาละรู้เห็นหรือได้ฟังอะไร จึงออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิต (๒) ความเสื่อมจากทรัพย์สมบัติ เป็นอย่างไร คือ คนบางคนในโลกนี้ เป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีสมบัติมาก ทรัพย์สมบัติ เหล่านั้นของเขาถึงความสิ้นไปโดยลำดับ เขาพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘เมื่อก่อน เราเป็น คนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีสมบัติมาก ทรัพย์สมบัติเหล่านั้นของเราถึงความสิ้นไปโดย ลำดับแล้ว การที่เราจะได้ครอบครองทรัพย์สมบัติที่ยังไม่ได้ หรือการที่เราจะทำ ทรัพย์สมบัติที่ได้แล้วให้เพิ่มพูนขึ้น ไม่ใช่ทำได้ง่ายเลย ทางที่ดี เราควรโกนผมและ หนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพิตเถิด’ เขาประกอบด้วย ความเสื่อมจากทรัพย์สมบัตินั้น จึงโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต นี้เรียกว่า ความเสื่อมจากทรัพย์สมบัติ ส่วนพระคุณเจ้ารัฏฐปาละเป็นบุตรของตระกูลชั้นสูงในถุลลโกฏฐิตนิคมนี้ ไม่มี ความเสื่อมจากทรัพย์สมบัตินั้น พระคุณเจ้ารัฏฐปาละรู้เห็นหรือได้ฟังอะไรจึงออกจาก เรือนบวชเป็นบรรพชิต (๓) ความเสื่อมจากญาติ เป็นอย่างไร คือ คนบางคนในโลกนี้ มีมิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิตเป็นอันมาก ญาติ เหล่านั้นของเขาถึงความสิ้นไปโดยลำดับ เขาพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘เมื่อก่อน เรามี มิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิตเป็นอันมาก พวกญาติของเรานั้นถึงความสิ้นไป โดยลำดับ การที่เราจะได้ครอบครองทรัพย์สมบัติที่ยังไม่ได้ หรือการที่เราจะทำ ทรัพย์สมบัติที่ได้แล้วให้เพิ่มพูนขึ้น ไม่ใช่ทำได้ง่ายเลย ทางที่ดี เราควรโกนผมและ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๖๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๒. รัฏฐปาลสูตร

หนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเถิด’ เขาประสบกับ ความเสื่อมจากญาตินั้น จึงโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจาก เรือนบวชเป็นบรรพชิต นี้เรียกว่า ความเสื่อมจากญาติ ส่วนพระคุณเจ้ารัฏฐปาละมีมิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิตเป็นอันมากในถุลลโกฏฐิต- นิคมนี้ ไม่มีความเสื่อมจากญาติเลย พระคุณเจ้ารัฏฐปาละรู้เห็นหรือได้ฟังอะไรจึง ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต (๔) พระคุณเจ้ารัฏฐปาละ ความเสื่อม ๔ ประการนี้ ที่คนบางพวกในโลกนี้ประสบ เข้าแล้วจึงโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต พระคุณเจ้ารัฏฐปาละไม่มีความเสื่อม ๔ ประการนั้นเลย พระคุณเจ้ารัฏฐปาละรู้เห็น หรือได้ฟังอะไรจึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต”
ธัมมุทเทส ๔ ประการ
[๓๐๕] ท่านพระรัฏฐปาละถวายพระพรว่า “มหาบพิตร มีอยู่แลที่พระผู้มี พระภาค ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงแสดง ธัมมุทเทส ๔ ประการ ที่อาตมภาพรู้ เห็นและได้ฟังแล้ว จึงออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิต ธัมมุทเทส ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น ทรงแสดงธัมมุทเทสประการที่ ๑ ว่า ‘โลกอันชรานำไป ไม่ยั่งยืน’ ที่อาตมภาพรู้เห็นและได้ฟังแล้ว จึงได้ออกจากเรือนบวช เป็นบรรพชิต ๒. พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น ทรงแสดงธัมมุทเทสประการที่ ๒ ว่า ‘โลกไม่มีผู้ ต้านทาน ไม่เป็นอิสระ’ ที่อาตมภาพรู้เห็นและได้ฟังแล้ว จึงได้ออก จากเรือนบวชเป็นบรรพชิต {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๖๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๒. รัฏฐปาลสูตร

๓. พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น ทรงแสดงธัมมุทเทสประการที่ ๓ ว่า ‘โลกไม่มีอะไร เป็นของตน จำต้องละสิ่งทั้งปวงไป’ ที่อาตมภาพรู้เห็นและได้ฟังแล้ว จึงได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ๔. พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น ทรงแสดงธัมมุทเทสประการที่ ๔ ว่า ‘โลกพร่องอยู่ เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา’ ที่อาตมภาพรู้เห็นและได้ ฟังแล้วจึงได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต มหาบพิตร พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมา- สัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงแสดงธัมมุทเทส ๔ ประการนี้แล ที่อาตมภาพรู้ เห็น และฟังแล้ว จึงได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต” [๓๐๖] พระเจ้าโกรัพยะตรัสถามว่า “ท่านพระรัฏฐปาละกล่าวว่า ‘โลกอันชรา นำไป ไม่ยั่งยืน’ เนื้อความแห่งภาษิตนี้ จะพึงเห็นได้อย่างไร” ท่านพระรัฏฐปาละถวายพระพรว่า “มหาบพิตร พระองค์ทรงเข้าพระทัยความ ข้อนั้นว่าอย่างไร พระองค์เมื่อมีพระชนมายุ ๒๐ พรรษาก็ดี ๒๕ พรรษาก็ดี ทรงศึกษาอย่างคล่องแคล่วในเรื่องช้างก็ดี เรื่องม้าก็ดี เรื่องรถก็ดี เรื่องธนูก็ดี เรื่อง อาวุธก็ดี ทรงมีกำลังพระเพลา ทรงมีกำลังพระพาหา ทรงมีพระวรกายสามารถ ฝ่าศึกสงครามมาแล้ว มิใช่หรือ” “พระคุณเจ้ารัฏฐปาละ โยมเมื่ออายุ ๒๐ ปีก็ดี ๒๕ ปีก็ดี ได้ศึกษาอย่าง คล่องแคล่วในเรื่องช้างก็ดี เรื่องม้าก็ดี เรื่องรถก็ดี เรื่องธนูก็ดี เรื่องอาวุธก็ดี มีกำลังขา มีกำลังแขน มีร่างกายสามารถ เคยฝ่าสงครามมาแล้ว บางครั้งโยม ยังเข้าใจว่ามีฤทธิ์ ไม่เห็นใครเสมอด้วยกำลังของโยมเลย” “มหาบพิตร พระองค์ทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร แม้บัดนี้ พระองค์ ก็ยังมีกำลังพระเพลา มีกำลังพระพาหา มีพระวรกายสามารถฝ่าสงครามได้เหมือน อย่างเดิมหรือ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๖๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๒. รัฏฐปาลสูตร

“พระคุณเจ้ารัฏฐปาละ ข้อนี้หามิได้ บัดนี้ โยมแก่แล้ว เจริญวัยแล้ว เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับแล้ว วัยของโยมล่วงไป ๘๐ ปีแล้ว บางครั้ง โยมคิดว่า ‘จักก้าวเท้าไปทางนี้ก็ไพล่ก้าวไปทางอื่นเสีย” “มหาบพิตร พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมา- สัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงหมายถึงเนื้อความนี้แล จึงตรัสธัมมุทเทสประการที่ ๑ ว่า ‘โลกอันชรานำไป ไม่ยั่งยืน’ ที่อาตมภาพรู้ เห็นและได้ฟังแล้ว จึงออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิต” “พระคุณเจ้ารัฏฐปาละ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ คำว่า ‘โลกอันชรานำไป ไม่ยั่งยืน’ พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น ตรัสไว้ดีแล้ว พระคุณเจ้ารัฏฐปาละ เป็นความจริง โลกอันชรานำไป ไม่ยั่งยืน (๑) ในราชตระกูลนี้ มีหมู่พลช้าง หมู่พลม้า หมู่พลรถ และหมู่พลเดินเท้า ที่จัก ย่ำยีอันตรายของโยมได้ ท่านพระรัฏฐปาละกล่าวว่า ‘โลกไม่มีผู้ต้านทานได้ ไม่เป็น อิสระ’ เนื้อความแห่งภาษิตนี้ จะพึงเห็นได้อย่างไร” “มหาบพิตร พระองค์ทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร พระองค์เคย ประชวรหนักบ้างไหม” “พระคุณเจ้ารัฏฐปาละ โยมเคยเจ็บหนักอยู่ บางครั้ง พวกมิตร อำมาตย์ ญาติ สาโลหิตแวดล้อมโยมอยู่ด้วยสำคัญว่า ‘พระเจ้าโกรัพยะจักสวรรคตในบัดนี้ พระเจ้า โกรัพยะจักสวรรคตในบัดนี้” “มหาบพิตร พระองค์ทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร พระองค์ได้มิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิต(ที่มหาบพิตรจะขอร้อง)ว่า ‘มิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิตผู้ เจริญของเราทั้งหมดที่มีอยู่ จงมาช่วยแบ่งเวทนานี้ไปโดยช่วยเราให้ได้เสวยเวทนา เบาลง’ หรือว่าพระองค์เท่านั้น จะต้องเสวยเวทนานั้น” “พระคุณเจ้ารัฏฐปาละ โยมจะได้มิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิต(ที่โยมจะขอร้อง) ว่า ‘มิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิตทั้งหมดที่มีอยู่ จงมาช่วยแบ่งเวทนานี้ไป ช่วยเราให้ ได้เสวยเวทนาเบาลง’ หามิได้ แต่โยมเองเท่านั้นจะต้องเสวยเวทนานั้น” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๖๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๒. รัฏฐปาลสูตร

''มหาบพิตร พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมา- สัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงหมายถึงเนื้อความนี้แล จึงตรัสธัมมุทเทสประการ ที่ ๒ ว่า ‘โลกไม่มีผู้ต้านทาน ไม่เป็นอิสระ’ ที่อาตมภาพรู้ เห็นและได้ฟังแล้ว จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต” “พระคุณเจ้ารัฏฐปาละ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ คำว่า ‘โลกไม่มีผู้ ต้านทาน ไม่เป็นอิสระ’ พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันต- สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตรัสไว้ดีแล้ว พระคุณเจ้ารัฏฐปาละ เป็นความจริง โลกไม่มีผู้ต้านทาน ไม่เป็นอิสระ (๒) ในราชตระกูลนี้ มีเงินและทองอยู่ที่พื้นดินและในอากาศมากมาย พระคุณเจ้า รัฏฐปาละกล่าวว่า ‘โลกไม่มีอะไรเป็นของตน จำต้องละสิ่งทั้งปวงไป’ เนื้อความแห่ง ภาษิตนี้ จะพึงเห็นได้อย่างไร” “มหาบพิตร พระองค์ทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร บัดนี้ พระองค์ เอิบอิ่ม พรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ ประการ บำเรอพระองค์อยู่ ฉันใด พระองค์จักได้ สมพระราชประสงค์ว่า ‘แม้โลกหน้า เราจักเป็นผู้เอิบอิ่ม พรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ ประการ บำเรอตนอยู่’ ฉันนั้นเหมือนกัน หรือว่าชนเหล่าอื่นจักปกครองทรัพย์ สมบัตินี้ ส่วนพระองค์ก็จักเสด็จไปตามยถากรรม” “พระคุณเจ้ารัฏฐปาละ บัดนี้ โยมเอิบอิ่มพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ ประการ บำเรอตนอยู่ ฉันใด โยมก็จักไม่ได้ตามประสงค์ว่า ‘แม้ในโลกหน้า เราจะเป็นผู้ เอิบอิ่ม พรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ ประการ บำเรอตนอยู่’ ฉันนั้นเหมือนกัน ที่แท้ชนเหล่าอื่นจักปกครองทรัพย์สมบัตินี้ ส่วนโยมก็จักไปตามยถากรรม” “มหาบพิตร พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมา- สัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงหมายถึงเนื้อความนี้แล จึงตรัสธัมมุทเทสประการที่ ๓ ว่า ‘โลกไม่มีอะไรเป็นของตน จำต้องละสิ่งทั้งปวงไป’ ที่อาตมภาพรู้เห็นและได้ฟังแล้ว จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต” “พระคุณเจ้ารัฏฐปาละ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ คำว่า ‘โลกไม่มีอะไร เป็นของตน จำต้องละสิ่งทั้งปวงไป’ พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๖๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๒. รัฏฐปาลสูตร

อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตรัสไว้ดีแล้ว พระคุณเจ้ารัฏฐปาละ เป็นความจริง โลกไม่มีอะไรเป็นของตน จำต้องละสิ่งทั้งปวงไป (๓) ท่านพระรัฏฐปาละกล่าวว่า ‘โลกพร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่ง ตัณหา’ เนื้อความแห่งภาษิตนี้ จะพึงเห็นได้อย่างไร” “มหาบพิตร พระองค์ทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร พระองค์ทรง ปกครองแคว้นกุรุอันอุดมสมบูรณ์อยู่ มิใช่หรือ” “ใช่แล้ว พระคุณเจ้ารัฏฐปาละ โยมปกครองแคว้นกุรุอันอุดมสมบูรณ์อยู่” “มหาบพิตร พระองค์ทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร ราชบุรุษของ พระองค์ที่แคว้นกุรุนี้เป็นที่เชื่อถือได้ เป็นคนมีเหตุผล มาจากทิศตะวันออก เข้ามา เฝ้าพระองค์แล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ขอเดชะมหาราชเจ้า พระองค์ควรทรงทราบว่า ‘ข้าพระองค์มาจากทิศตะวันออก ในทิศนั้น ข้าพระองค์ได้เห็นชนบทใหญ่ มั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ มีประชากรมาก มีพลเมืองหนาแน่น ในชนบทนั้นมีหมู่พลช้าง หมู่พลม้า หมู่พลรถ หมู่พลเดินเท้า มีสัตว์ที่มีเขี้ยวงามาก มีเงินทองทั้งที่ยังไม่ได้ หลอมและที่หลอมแล้วเป็นจำนวนมาก ในชนบทนั้น สตรีเป็นผู้ปกครอง พระองค์ สามารถรบชนะได้ด้วยกำลังพลประมาณเท่านั้น ขอพระองค์จงไปรบเอาเถิด มหา- ราชเจ้า’ พระองค์จะทรงทำอย่างไรกับชนบทนั้น” “พระคุณเจ้ารัฏฐปาละ พวกโยมก็ไปรบเอาชนบทนั้นมาครอบครองเสียนะซิ” “มหาบพิตร พระองค์ทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร ราชบุรุษของ พระองค์ที่แคว้นกุรุนี้เป็นที่เชื่อถือได้ เป็นคนมีเหตุผลมาจากทิศตะวันตก ฯลฯ มาจากทิศเหนือ ฯลฯ มาจากทิศใต้ ฯลฯ มาจากสมุทรฟากโน้น เข้ามาเฝ้า พระองค์ แล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ขอเดชะมหาราชเจ้า พระองค์ควรทรงทราบว่า ‘ข้าพระองค์มาจากสมุทรฟากโน้น ณ ที่นั้น ข้าพระองค์ได้เห็นชนบทใหญ่ มั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ มีประชากรมาก มีพลเมืองหนาแน่น ในชนบทนั้นมีหมู่พลช้าง หมู่พลม้า หมู่พลรถ หมู่พลเดินเท้า มีสัตว์ที่มีเขี้ยวงามาก มีเงินทองทั้งที่ยังไม่ได้ หลอมและที่หลอมแล้วเป็นจำนวนมาก ในชนบทนั้น สตรีเป็นผู้ปกครอง พระองค์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๖๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๒. รัฏฐปาลสูตร

สามารถรบชนะได้ด้วยกำลังพลประมาณเท่านั้น ขอพระองค์จงไปรบเอาเถิด มหา- ราชเจ้า’ พระองค์จะทรงทำอย่างไรกับชนบทนั้น” “พระคุณเจ้ารัฏฐปาละ พวกโยมก็ไปรบเอาชนบทนั้นมาครอบครองเสียนะซิ” “มหาบพิตร พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมา- สัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงหมายถึงเนื้อความนี้แล จึงตรัสธัมมุทเทสประการที่ ๔ ว่า ‘โลกพร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา’ ที่อาตมภาพรู้ เห็น และได้ฟังแล้วจึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต” พระเจ้าโกรัพยะตรัสว่า “พระคุณเจ้ารัฏฐปาละ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ คำว่า ‘โลกพร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา’ นี้พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตรัสไว้ดีแล้ว พระคุณเจ้ารัฏฐปาละ เป็นความจริง โลกพร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาส แห่งตัณหา” (๔) ท่านพระรัฏฐปาละได้กล่าวเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว ได้กล่าวคาถาประพันธ์อื่น อีกต่อไปว่า [๓๐๗] “อาตมาเห็นผู้คนที่มีทรัพย์ในโลก ได้ทรัพย์เครื่องปลื้มใจแล้ว ไม่ยอมให้(ใคร) เพราะความหลง ได้ทรัพย์แล้ว เก็บสะสมไว้ และปรารถนากามคุณยิ่งๆ ขึ้นไป พระราชาทรงกดขี่ ช่วงชิงเอาแผ่นดิน ทรงครอบครองแผ่นดินซึ่งมีสมุทรสาครล้อมรอบ ตลอดสมุทรสาครฝั่งนี้ ยังไม่ทรงพอ ยังปรารถนาจะครอบครองสมุทรสาครฝั่งโน้นอีก ทั้งพระราชาและคนอื่นเป็นจำนวนมาก ยังไม่ปราศจากตัณหาก็เข้าถึงความตาย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๖๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๒. รัฏฐปาลสูตร

ยังไม่เต็มตามที่ต้องการเลย ก็ละทิ้งร่างกายไป เพราะความอิ่มด้วยกามไม่มีในโลก หมู่ญาติพากันสยายผม คร่ำครวญถึงคนที่ตายนั้น และพูดว่า ‘ทำอย่างไรหนอ พวกญาติของเราทั้งหลายจึงจะไม่ตาย’ แต่นั้นก็นำศพนั้นซึ่งห่อผ้าไว้แล้วยกขึ้นสู่เชิงตะกอนแล้วช่วยกันเผา ศพนั้นถูกเขาใช้หลาวแทงเผาอยู่ ละโภคทรัพย์ มีแต่ผ้าผืนเดียว เมื่อคนจะตาย ญาติ มิตร หรือสหายก็ช่วยไม่ได้ ทายาททั้งหลายก็ขนทรัพย์สมบัติของเขาไป ส่วนสัตว์ที่ตายไปก็ย่อมไปตามกรรม เมื่อตายไป ทรัพย์ไรๆ คือ บุตร ภรรยา ทรัพย์ ข้าวของ เงินทอง และแว่นแคว้นก็ติดตามไปไม่ได้ ทรัพย์ช่วยคนให้มีอายุยืนไม่ได้ ทั้งช่วยคนให้ละความแก่ก็ไม่ได้ นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตนั้นว่าน้อยนัก ไม่ยั่งยืน มีความแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา ทั้งคนมั่งมี และคนยากจนก็ย่อมประสบเช่นนั้น ทั้งพาลและบัณฑิตก็ประสบเหมือนกันทั้งนั้น คนพาลนั่นแหละถูกเหตุแห่งทุกข์กระทบเข้า ย่อมหวั่นไหวเพราะความเป็นคนโง่ ส่วนบัณฑิตถูกกระทบเข้าก็ไม่หวั่นไหว เพราะเหตุนั้นแล ปัญญาเท่านั้นเป็นเหตุบรรลุนิพพาน ซึ่งเป็นที่สุดแห่งภพในโลกนี้ จึงประเสริฐกว่าทรัพย์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๗๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๒. รัฏฐปาลสูตร

ก็เพราะยังไม่ได้บรรลุที่สุด คนพาลทั้งหลายจึงทำแต่กรรมชั่ว ในภพน้อยใหญ่เพราะความเขลา ผู้ทำกรรมชั่ว ต้องเวียนว่ายตายเกิด อยู่ในสังสารวัฏร่ำไป คนมีปัญญาน้อย เมื่อเชื่อคนที่ทำกรรมชั่วนั้น ก็ย่อมเวียนว่ายตายเกิดร่ำไป โจรผู้ทำกรรมถูกเขาจับได้ตรงทาง ๓ แยก ย่อมเดือดร้อนเพราะกรรมของตน ฉันใด หมู่สัตว์ผู้ทำกรรมชั่วตายไปแล้ว ย่อมเดือดร้อนในโลกหน้า เพราะกรรมของตน ฉันนั้น เพราะกามทั้งหลายที่งดงาม น่าปรารถนาชวนให้รื่นรมย์ใจ ย่อมย่ำยีจิตโดยสภาวะต่างๆ ฉะนั้น อาตมาเห็นโทษในกามคุณทั้งหลายจึงได้บวช มหาบพิตร สัตว์ทั้งหลายทั้งหนุ่มทั้งแก่ พอร่างแตกสลาย ก็ล่วงไปเหมือนผลไม้สุกงอมร่วงหล่นไป มหาบพิตร อาตมาเห็นความไม่เที่ยงแม้นี้ จึงได้บวช ความเป็นสมณะที่ปฏิบัติไม่ผิดนั่นแหละ ประเสริฐกว่า๑-” ดังนี้แล
รัฏฐปาลสูตรที่ ๒ จบ
@เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๗๗๖-๗๘๘/๔๖๙-๔๗๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๗๑}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๓๔๙-๓๗๑. http://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=13&siri=32              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=6825&Z=7248                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=423              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=13&item=423&items=29              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=5284              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=13&item=423&items=29              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=5284                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu13              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/13i423-e1.php# https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/13i423-e2.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.082.than.html https://suttacentral.net/mn82/en/sujato https://suttacentral.net/mn82/en/bodhi



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :