ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๑. จูฬราหุโลวาทสูตร

๒. ภิกขุวรรค
หมวดว่าด้วยภิกษุ
๑. จูฬราหุโลวาทสูตร
ว่าด้วยการประทานโอวาทแก่พระราหุล สูตรเล็ก
[๑๐๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้นแล ท่านพระราหุลพักอยู่ ณ ปราสาทชื่ออัมพลัฏฐิกา ครั้นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคทรงออกจากที่หลีกเร้น๑- แล้วเสด็จเข้าไปหาท่าน พระราหุลจนถึงปราสาทชื่ออัมพลัฏฐิกา ท่านพระราหุลได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จ มาแต่ไกล จึงปูลาดอาสนะและตั้งน้ำสำหรับล้างพระบาทไว้ พระผู้มีพระภาคประทับ นั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้วทรงล้างพระบาท ท่านพระราหุลถวายอภิวาทพระ ผู้มีพระภาคแล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร๒- [๑๐๘] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเหลือน้ำหน่อยหนึ่งไว้ในภาชนะน้ำ แล้วรับสั่งเรียกท่านพระราหุลมาตรัสว่า “ราหุล เธอเห็นน้ำที่เหลืออยู่หน่อยหนึ่งใน ภาชนะนี้ไหม” ท่านพระราหุลกราบทูลว่า “เห็น พระพุทธเจ้าข้า” “ราหุล ความเป็นสมณะของบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวเท็จทั้งที่รู้อยู่ ก็มีอยู่หน่อยหนึ่งเหมือนน้ำที่เหลืออยู่หน่อยหนึ่งอย่างนี้” จากนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเทน้ำที่เหลือหน่อยหนึ่งทิ้ง แล้วตรัสกับท่าน พระราหุลว่า “ราหุล เธอเห็นน้ำหน่อยหนึ่งที่เราเททิ้งไหม” “เห็น พระพุทธเจ้าข้า” @เชิงอรรถ : @ ที่หลีกเร้น ในที่นี้หมายถึงผลสมาบัติ (ม.ม.อ. ๒/๑๐๗/๙๓) @ ดูเชิงอรรถที่ ๓ ข้อ ๑ (กันทรกสูตร) หน้า ๑ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๑๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๑. จูฬราหุโลวาทสูตร

“ราหุล ความเป็นสมณะของบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวเท็จทั้งที่รู้อยู่ ก็มีอยู่หน่อยหนึ่งเหมือนน้ำที่เททิ้งแล้วอย่างนี้” จากนั้น พระผู้มีพระภาคทรงคว่ำภาชนะน้ำนั้น แล้วตรัสกับท่านพระราหุลว่า “ราหุล เธอเห็นภาชนะน้ำที่คว่ำนี้ไหม” “เห็น พระพุทธเจ้าข้า” “ราหุล ความเป็นสมณะของบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวเท็จทั้งที่รู้อยู่ ก็เหมือนภาชนะน้ำที่คว่ำแล้วอย่างนี้” จากนั้น พระผู้มีพระภาคทรงหงายภาชนะน้ำนั้น แล้วตรัสกับท่านพระราหุล ว่า “เธอเห็นภาชนะน้ำอันว่างเปล่านี้ไหม” “เห็น พระพุทธเจ้าข้า” “ราหุล ความเป็นสมณะของบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวเท็จทั้งที่รู้อยู่ ก็เหมือนภาชนะน้ำที่ว่างเปล่าอย่างนี้ เปรียบเหมือนช้างต้นมีงางอนงาม เป็นช้างทรง ที่มีชาติกำเนิดดี เคยฝ่าศึกสงครามมาแล้ว บุกบั่นสงครามมาแล้ว ทำการงาน ด้วยเท้าหน้าทั้ง ๒ บ้าง ด้วยเท้าหลังทั้ง ๒ บ้าง ด้วยกายท่อนหน้าบ้าง ด้วยกาย ท่อนหลังบ้าง ด้วยศีรษะบ้าง ด้วยหูทั้ง ๒ บ้าง ด้วยงาทั้ง ๒ บ้าง ด้วยหางบ้าง สงวนไว้แต่งวงเท่านั้น เพราะการที่ช้างสงวนงวงไว้นั้น ควาญช้างมีความเห็น อย่างนี้ว่า ‘ช้างต้น เชือกนี้มีงางอนงาม เป็นช้างทรงที่มีชาติกำเนิดดี เคยฝ่า ศึกสงครามมาแล้ว บุกบั่นสงครามมาแล้ว ทำการงานด้วยเท้าหน้าทั้ง ๒ บ้าง ด้วยเท้าหลังทั้ง ๒ บ้าง ด้วยกายท่อนหน้าบ้าง ด้วยกายท่อนหลังบ้าง ด้วยศีรษะบ้าง ด้วยหูทั้ง ๒ บ้าง ด้วยงาทั้ง ๒ บ้าง ด้วยหางบ้าง สงวนไว้แต่งวงเท่านั้น ชื่อว่า ช้างต้นยังสละไม่ได้กระทั่งชีวิต’ เมื่อใด ช้างต้นมีงางอนงาม เป็นช้างทรงที่มีชาติกำเนิดดี เคยฝ่าศึกสงคราม มาแล้ว บุกบั่นสงครามมาแล้ว ทำการงานด้วยเท้าหน้าทั้ง ๒ บ้าง ด้วยเท้าหลัง ทั้ง ๒ บ้าง ฯลฯ ด้วยหางบ้าง ด้วยงวงบ้าง เพราะการที่ช้างทำการงานด้วยงวงนั้น เมื่อนั้น ควาญช้างจึงมีความเห็นอย่างนี้ว่า ‘ช้างต้นเชือกนี้ มีงางอนงาม เป็นช้างทรง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๑๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๑. จูฬราหุโลวาทสูตร

ที่มีชาติกำเนิดดี เคยฝ่าศึกสงครามมาแล้ว บุกบั่นสงครามมาแล้ว ทำการงานด้วย เท้าหน้าทั้ง ๒ บ้าง ด้วยเท้าหลังทั้ง ๒ บ้าง ด้วยกายท่อนหน้าบ้าง ด้วยกายท่อน หลังบ้าง ด้วยศีรษะบ้าง ด้วยหูทั้ง ๒ บ้าง ด้วยงาทั้ง ๒ บ้าง ด้วยหางบ้าง ด้วยงวงบ้าง ชื่อว่าช้างต้นสละได้กระทั่งชีวิต’ บัดนี้ ‘ไม่มีอะไรที่ช้างต้นจะทำไม่ได้’ แม้ฉันใด ตถาคตก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่กล่าวว่า ‘บุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวเท็จ ทั้งที่รู้อยู่ จะไม่ทำบาปกรรมอะไรเลย’ ราหุล เพราะเหตุนั้นแล เธอพึงสำเหนียกในเรื่องนี้อย่างนี้ว่า ‘เราจักไม่ กล่าวเท็จ แม้เพื่อให้หัวเราะกันเล่น’ เธอพึงสำเหนียกอย่างนี้แล ราหุล”
ทรงสอนให้พิจารณากายกรรม
[๑๐๙] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ราหุล เธอเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร กระจกมีประโยชน์อย่างไร” ท่านพระราหุลทูลตอบว่า “มีประโยชน์สำหรับส่องดู พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อย่างนั้นเหมือนกัน ราหุล บุคคลควรพิจารณาให้ดี แล้วจึงทำกรรมทางกาย พิจารณาให้ดีแล้วจึงทำกรรมทางวาจา พิจารณาให้ดีแล้ว จึงทำกรรมทางใจ ถ้าเธอปรารถนาจะทำกรรมใดทางกาย เธอพึงพิจารณากายกรรมนั้นเสีย ก่อนว่า ‘กายกรรมที่เราปรารถนาจะทำนี้ เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง เพื่อ เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง กายกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์ เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก กระนั้นหรือ’ ถ้าเธอพิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า ‘กายกรรมที่เราปรารถนาจะทำนี้ เป็นไป เพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง กายกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก’ กรรมทางกายเห็นปานนี้ เธออย่าทำเด็ดขาด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๑๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๑. จูฬราหุโลวาทสูตร

แต่ถ้าเธอพิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า ‘กายกรรมที่เราปรารถนาจะทำนี้ไม่เป็นไป เพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง กายกรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก’ กรรมทางกายเห็น ปานนี้เธอควรทำ ราหุล เธอแม้เมื่อกำลังทำกรรมทางกาย ก็พึงพิจารณากายกรรมนั้นแลว่า ‘กายกรรมที่เราจะทำนี้ เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียน ผู้อื่นบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง กายกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็น กำไร มีทุกข์เป็นวิบาก กระนั้นหรือ’ ถ้าเธอพิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า ‘กายกรรมที่เราจะทำนี้ เป็นไปเพื่อเบียดเบียน ตนเองบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง กายกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก’ เธอพึงละกายกรรมเห็น ปานนี้เสีย แต่ถ้าเธอพิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า ‘กายกรรมที่เราจะทำนี้ ไม่เป็นไปเพื่อ เบียดเบียนตนเองบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียน ทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง กายกรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก’ เธอพึงเพิ่มพูน กายกรรมเห็นปานนี้ ราหุล แม้เธอทำกรรมทางกายแล้ว ก็พึงพิจารณากายกรรมนั้นแลว่า ‘กายกรรมที่เราทำแล้วนี้ เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียน ผู้อื่นบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง กายกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็น กำไร มีทุกข์เป็นวิบากกระนั้นหรือ’ ถ้าเธอพิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า ‘กายกรรมที่เราทำแล้วนี้ เป็นไปเพื่อเบียดเบียน ตนเองบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง กายกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก’ กายกรรมเห็นปานนี้ เธอพึงแสดง เปิดเผย ทำให้ง่าย ในศาสดา หรือในเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลาย แล้วสำรวมต่อไป {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๒๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๑. จูฬราหุโลวาทสูตร

แต่ถ้าเธอพิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า ‘กายกรรมที่เราทำแล้วนี้ ไม่เป็นไปเพื่อ เบียดเบียนตนเองบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียน ทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง กายกรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก’ เธอพึงมีปีติ และปราโมทย์ สำเหนียกในกุศลธรรมทั้งหลาย ทั้งกลางวันและกลางคืน อยู่ด้วย กายกรรมนั้นแล
ทรงสอนให้พิจารณาวจีกรรม
[๑๑๐] ราหุล ถ้าเธอปรารถนาจะทำกรรมใดทางวาจา เธอพึงพิจารณา วจีกรรมนั้นเสียก่อนว่า ‘วจีกรรมที่เราปรารถนาจะทำนี้ เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง วจีกรรมนี้เป็น อกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก กระนั้นหรือ’ ถ้าเธอพิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า ‘วจีกรรมที่เราปรารถนาจะทำนี้ เป็นไปเพื่อ เบียดเบียนตนเองบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียน ทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง วจีกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก’ กรรมทาง วาจาเห็นปานนี้ เธออย่าทำเด็ดขาด แต่ถ้าเธอพิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า ‘วจีกรรมที่เราปรารถนาจะทำนี้ ไม่เป็นไป เพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียน ทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง วจีกรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก’ กรรมทางวาจา เห็นปานนี้เธอควรทำ ราหุล เธอแม้เมื่อกำลังทำกรรมทางวาจา ก็พึงพิจารณาวจีกรรมนั้นแลว่า ‘วจีกรรมที่เราจะทำนี้ เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง วจีกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์ เป็นวิบาก กระนั้นหรือ’ ถ้าเธอพิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า วจีกรรมที่เราจะทำนี้ เป็นไปเพื่อเบียดเบียน ตนเองบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง วจีกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก’ เธอพึงละวจีกรรมเห็นปานนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๒๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๑. จูฬราหุโลวาทสูตร

แต่ถ้าเธอพิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า ‘วจีกรรมที่เราจะทำนี้ ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียน ตนเองบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง วจีกรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก’ เธอพึงเพิ่มพูนวจีกรรมเห็นปานนี้ ราหุล แม้เธอทำกรรมทางวาจาแล้ว ก็พึงพิจารณาวจีกรรมนั้นแลว่า ‘วจีกรรม ที่เราทำแล้วนี้ เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เป็นไป เพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง วจีกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก กระนั้นหรือ’ ถ้าเธอพิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า ‘วจีกรรมที่เราทำแล้วนี้ เป็นไปเพื่อ เบียดเบียนตนเองบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียน ทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง วจีกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก’ วจีกรรม เห็นปานนี้ เธอพึงแสดง เปิดเผย ทำให้ง่าย ในศาสดา หรือในเพื่อนพรหมจารี ผู้รู้ทั้งหลาย แล้วสำรวมต่อไป แต่ถ้าเธอพิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า ‘วจีกรรมที่เราทำแล้วนี้ ไม่เป็นไปเพื่อ เบียดเบียนตนเองบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียน ทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง วจีกรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก’ เธอพึงมีปีติ และปราโมทย์ สำเหนียกในกุศลธรรมทั้งหลาย ทั้งกลางวันและกลางคืน อยู่ด้วย วจีกรรมนั้นแล
ทรงสอนให้พิจารณามโนกรรม
[๑๑๑] ราหุล ถ้าเธอปรารถนาจะทำกรรมใดทางใจ เธอพึงพิจารณามโนกรรม นั้นเสียก่อนว่า ‘มโนกรรมที่เราปรารถนาจะทำนี้ เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง มโนกรรมนี้ เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก กระนั้นหรือ’ ถ้าเธอพิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า ‘มโนกรรมที่เราปรารถนาจะทำนี้ เป็นไปเพื่อ เบียดเบียนตนเองบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียน ทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง มโนกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก’ กรรมทางใจ เห็นปานนี้ เธออย่าทำเด็ดขาด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๒๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๑. จูฬราหุโลวาทสูตร

แต่ถ้าเธอพิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า ‘มโนกรรมที่เราปรารถนาจะทำนี้ ไม่ เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อ เบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง มโนกรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก’ กรรมทางใจเห็นปานนี้เธอควรทำ ราหุล เธอแม้เมื่อกำลังทำกรรมทางใจ ก็พึงพิจารณามโนกรรมนั้นแลว่า ‘มโนกรรมที่เราจะทำนี้ เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง มโนกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์ เป็นวิบาก กระนั้นหรือ’ ถ้าเธอพิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า ‘มโนกรรมที่เราจะทำนี้ เป็นไปเพื่อเบียดเบียน ตนเองบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง มโนกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก’ เธอพึงละมโนกรรม เห็นปานนี้ แต่ถ้าเธอพิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า ‘มโนกรรมที่เราจะทำนี้ ไม่เป็นไปเพื่อ เบียดเบียนตนเองบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียน ทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง มโนกรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก’ เธอพึงเพิ่มพูน มโนกรรมเห็นปานนี้ ราหุล แม้เธอทำกรรมทางใจแล้ว ก็พึงพิจารณามโนกรรมนั้นแลว่า ‘มโนกรรม ที่เราทำแล้วนี้ เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง มโนกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มี ทุกข์เป็นวิบาก กระนั้นหรือ’ ถ้าเธอพิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า ‘มโนกรรมที่เราทำแล้วนี้ เป็นไปเพื่อเบียดเบียน ตนเองบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง มโนกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก’ เธอพึงอึดอัด ระอา รังเกียจมโนกรรมเห็นปานนี้ แล้วสำรวมต่อไป {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๒๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๑. จูฬราหุโลวาทสูตร

แต่ถ้าเธอพิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า ‘มโนกรรมที่เราทำแล้วนี้ ไม่เป็นไปเพื่อ เบียดเบียนตนเองบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียน ทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง มโนกรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก’ เธอพึงมีปีติ และปราโมทย์ สำเหนียกในกุศลธรรมทั้งหลาย ทั้งกลางวันและกลางคืน อยู่ด้วย มโนกรรมนั้นแล [๑๑๒] ราหุล สมณะหรือพราหมณ์๑- เหล่าใดเหล่าหนึ่งในอดีตกาล ได้ชำระ กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด พิจารณาดีแล้วจึงได้ชำระกายกรรม พิจารณาดีแล้วจึงได้ชำระวจีกรรม พิจารณาดี แล้วจึงได้ชำระมโนกรรม อย่างนี้แล แม้สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในอนาคตกาล จักชำระกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด ก็พิจารณาดีแล้ว จักชำระกายกรรม พิจารณาดีแล้วจักชำระวจีกรรม พิจารณาดีแล้วจักชำระมโนกรรม อย่างนี้แล ถึงสมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในปัจจุบันกาลกำลัง ชำระกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมอยู่ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด ก็พิจารณาดีแล้วจึงชำระกาย- กรรม พิจารณาดีแล้วจึงชำระวจีกรรม พิจารณาดีแล้วจึงชำระมโนกรรม อย่างนี้แล ราหุล เพราะเหตุนั้นแล เธอพึงสำเหนียกในเรื่องนี้อย่างนี้ว่า ‘เราพิจารณาดี แล้วจักชำระกายกรรม พิจารณาดีแล้วจักชำระวจีกรรม พิจารณาดีแล้วจักชำระ มโนกรรม’ เธอพึงสำเหนียกอย่างนี้แล” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระราหุลมีใจยินดีชื่นชมพระภาษิต ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
จูฬราหุโลวาทสูตรที่ ๑ จบ
@เชิงอรรถ : @ สมณะหรือพราหมณ์ ในที่นี้หมายถึงพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า หรือสาวกของพระตถาคต @(ม.ม.อ. ๒/๑๑๒/๙๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๒๔}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๑๑๗-๑๒๔. http://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=13&siri=11              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=2383&Z=2540                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=125              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=13&item=125&items=8              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=2337              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=13&item=125&items=8              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=2337                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu13              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/13i125-e1.php# https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/13i125-e2.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.061.than.html https://suttacentral.net/mn61/en/sujato https://suttacentral.net/mn61/en/horner



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :