ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
๒. เวรัญชกสูตร
ว่าด้วยชาวเมืองเวรัญชา
เหตุปัจจัยนำไปสุคติและทุคติ
[๔๔๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ- บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พวกพราหมณ์และคหบดีชาวเมืองเวรัญชา พักอยู่ในกรุงสาวัตถีด้วยกรณียกิจบางอย่าง ได้ฟังข่าวว่า “ท่านพระสมณโคดมเป็นศากยบุตรเสด็จออกผนวชแล้วจากศากยตระกูล ประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ท่าน พระโคดมพระองค์นั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มี พระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อม ด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๔๘๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]

๒. เวรัญชกสูตร

พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้ง สมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ด้วยพระองค์เองแล้วทรงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามใน ที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์เช่นนี้เป็นความดีอย่างแท้จริง” ครั้งนั้น พวกพราหมณ์และคหบดีชาวเมืองเวรัญชาเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ บางพวกถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวก ได้ทูลสนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกัน แล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกประนมมือต่อพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกประกาศชื่อ และโคตรในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกก็นั่งนิ่งอยู่ ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้สัตว์บางพวกใน โลกนี้หลังจากตายแล้วไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ หลังจากตายแล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย สัตว์บางพวก ในโลกนี้ หลังจากตายแล้วไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะความประพฤติ ไม่สม่ำเสมอ คือความประพฤติอธรรมเป็นเหตุ พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย สัตว์บางพวกในโลกนี้ หลังจากตายแล้วจะไป เกิดในสุคติโลกสวรรค์ เพราะความประพฤติสม่ำเสมอ คือความประพฤติธรรม เป็นเหตุ” พราหมณ์และคหบดีเหล่านั้นทูลว่า “เนื้อความแห่งธรรมที่ท่านพระโคดมตรัส ไว้โดยย่อไม่ทรงชี้แจงให้พิสดาร ข้าพระองค์ทั้งหลายไม่ทราบโดยพิสดารได้ ขอท่าน พระโคดมจงแสดงเนื้อความแห่งธรรมที่พระองค์ตรัสไว้โดยย่อไม่ทรงชี้แจงให้พิสดาร แก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย โดยวิธีที่ข้าพระองค์ทั้งหลายจะพึงทราบโดยพิสดารเถิด” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น ท่าน ทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” พวกพราหมณ์และคหบดีชาวเมืองเวรัญชาทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มี พระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๔๘๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]

๒. เวรัญชกสูตร

อกุศลกรรมบถ ๑๐
[๔๔๕] “พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย บุคคลผู้ประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือ ผู้ประพฤติอธรรมทางกายมี ๓ จำพวก บุคคลผู้ประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติ อธรรมทางวาจามี ๔ จำพวก บุคคลผู้ประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติอธรรม ทางใจมี ๓ จำพวก บุคคลผู้ประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติอธรรมทางกายมี ๓ จำพวก ไหนบ้าง คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ๑. เป็นผู้ฆ่าสัตว์ คือ เป็นคนหยาบช้า มีมือเปื้อนเลือด ปักใจอยู่ในการ ฆ่าและการทุบตี ไม่มีความละอาย ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์ทั้งปวง ๒. เป็นผู้ลักทรัพย์ คือ เป็นผู้ถือเอาทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้ม ใจของผู้อื่น ซึ่งอยู่ในบ้านหรือในป่าที่เจ้าของมิได้ให้ ด้วยจิตเป็นเหตุขโมย ๓. เป็นผู้ประพฤติผิดในกาม คือ เป็นผู้ประพฤติล่วงในสตรีที่อยู่ในปกครอง ของมารดา ฯลฯ บุคคลผู้ประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติอธรรมทางกายมี ๓ จำพวก อย่างนี้แล บุคคลผู้ประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติอธรรมทางวาจามี ๔ จำพวก ไหนบ้าง คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ๑. เป็นผู้พูดเท็จ คือ อยู่ในสภา ฯลฯ เป็นผู้กล่าวเท็จทั้งที่รู้ ฯลฯ ๒. เป็นผู้พูดส่อเสียด คือ ฟังความฝ่ายนี้แล้วไปบอกฝ่ายโน้น ฯลฯ พูดแต่ถ้อยคำที่ก่อความแตกแยกกัน ๓. เป็นผู้พูดคำหยาบ คือ พูดแต่คำหยาบคาย กล้าแข็ง ฯลฯ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๔๘๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]

๒. เวรัญชกสูตร

๔. เป็นผู้พูดเพ้อเจ้อ คือ พูดไม่ถูกเวลา พูดคำที่ไม่จริง ฯลฯ ไม่มีที่ กำหนด ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ โดยไม่เหมาะแก่เวลา บุคคลผู้ประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติอธรรมทางวาจามี ๔ จำพวก อย่างนี้แล บุคคลผู้ประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติอธรรมทางใจมี ๓ จำพวก ไหนบ้าง คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ๑. เป็นผู้เพ่งเล็งอยากได้ของเขา ฯลฯ ‘ทำอย่างไร ทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์ เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นจะพึงเป็นของเรา’ ๒. เป็นผู้มีจิตพยาบาท คือ มีจิตคิดร้ายว่า ‘ขอให้สัตว์เหล่านี้จงถูกฆ่า ฯลฯ หรืออย่าได้มี’ ๓. เป็นมิจฉาทิฏฐิ คือ มีความเห็นวิปริตว่า ‘ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล ฯลฯ สอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง ก็ไม่มีในโลก’ บุคคลผู้ประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติอธรรมทางใจมี ๓ จำพวก อย่างนี้แล พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย สัตว์บางพวกในโลกนี้หลังจากตายแล้วไปเกิดใน อบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือ ความประพฤติ อธรรมเป็นเหตุ อย่างนี้
กุศลกรรมบถ ๑๐
[๔๔๖] พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย บุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ ประพฤติธรรมทางกายมี ๓ จำพวก บุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติ ธรรมทางวาจามี ๔ จำพวก บุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรม ทางใจมี ๓ จำพวก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๔๘๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]

๒. เวรัญชกสูตร

บุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมทางกายมี ๓ จำพวก ไหนบ้าง คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ๑. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ คือ วางทัณฑาวุธ และศัสตราวุธ มีความละอาย มีความเอ็นดู มุ่งประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่ ๒. เป็นผู้ละเว้นขาดจากจากการลักทรัพย์ คือ ไม่ถือเอาทรัพย์อันเป็น อุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่น ซึ่งอยู่ในบ้านหรือในป่าที่เจ้าของมิได้ให้ ด้วยจิตเป็นเหตุขโมย ๓. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม คือ ไม่เป็นผู้ประพฤติ ล่วงในสตรีที่อยู่ในปกครองของมารดา ฯลฯ บุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมทางกายมี ๓ จำพวก อย่างนี้แล บุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมทางวาจามี ๔ จำพวก ไหนบ้าง คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ๑. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดเท็จ คือ อยู่ในสภา ฯลฯ ไม่กล่าวเท็จ ทั้งที่รู้อยู่ ฯลฯ ๒. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดส่อเสียด ฯลฯ พูดแต่ถ้อยคำที่ สร้างสรรค์ความสามัคคี ๓. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดคำหยาบ ฯลฯ พูดแต่คำไม่มีโทษ ๔. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ฯลฯ มีที่อ้างอิง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ เหมาะแก่เวลา บุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมทางวาจามี ๔ จำพวก อย่างนี้แล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๔๘๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]

๒. เวรัญชกสูตร

บุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมทางใจ ๓ จำพวก ไหนบ้าง คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ๑. เป็นผู้ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา คือ ไม่เพ่งเล็งอยากได้ทรัพย์อันเป็น อุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นว่า ‘ทำอย่างไร ทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์ เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นจะพึงเป็นของเรา’ ๒. เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท คือ ไม่มีจิตคิดร้ายว่า ‘ขอสัตว์เหล่านี้ จง เป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีจิตพยาบาท ไม่มีทุกข์ มีสุข รักษาตนเถิด’ ๓. เป็นสัมมาทิฏฐิ คือ มีความเห็นไม่วิปริตว่า ‘ทานที่ให้แล้วมีผล ยัญที่บูชาแล้วมีผล ฯลฯ ผู้ทำให้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญา อันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งมีอยู่ในโลก’ บุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมทางใจมี ๓ จำพวก อย่างนี้แล พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย สัตว์บางพวกในโลกนี้หลังจากตายแล้ว ไปเกิด ในสุคติโลกสวรรค์ เพราะความประพฤติสม่ำเสมอ คือความประพฤติธรรมเป็นเหตุ อย่างนี้
ผลแห่งความประพฤติสม่ำเสมอ
[๔๔๗] พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือ ผู้ประพฤติธรรมจะพึงหวังว่า ‘ทำอย่างไรหนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเกิดใน พวกขัตติยมหาศาล’ เป็นไปได้ที่หลังจากตายแล้ว บุคคลนั้นจะพึงเกิดในพวก ขัตติยมหาศาล ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้นเป็นผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือ เป็นผู้ประพฤติธรรม อย่างนั้นแล ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมจะพึงหวังว่า ‘ทำอย่างไร หนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเกิดในพวกพราหมณมหาศาล ฯลฯ เราพึงเกิดใน พวกคหบดีมหาศาล’ เป็นไปได้ที่หลังจากตายแล้ว บุคคลนั้นจะพึงเกิดในคหบดี- มหาศาล ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้นเป็นผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือเป็น ผู้ประพฤติธรรม อย่างนั้นแล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๔๘๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]

๒. เวรัญชกสูตร

ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมจะพึงหวังว่า ‘ทำอย่างไร หนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเกิดในเทพชั้นจาตุมหาราช’ เป็นไปได้ที่หลังจาก ตายแล้ว บุคคลนั้นจะพึงเกิดในเทพชั้นจาตุมหาราช ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะ บุคคลนั้นเป็นผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือเป็นผู้ประพฤติธรรม อย่างนั้นแล ถ้าบุคคลประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมจะพึงหวังว่า ‘ทำอย่างไร หนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเกิดในเทพชั้นดาวดึงส์ ฯลฯ เทพชั้นยามา ... เทพชั้นดุสิต ... เทพชั้นนิมมานรดี ... เทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ... เทพผู้นับเนื่อง ในหมู่พรหม’ เป็นไปได้ที่หลังจากตายแล้ว บุคคลนั้นจะพึงเกิดในเทพผู้นับเนื่อง ในหมู่พรหม ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้นเป็นผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือ เป็นผู้ประพฤติธรรม อย่างนั้นแล ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมจะพึงหวังว่า ‘ทำอย่างไร หนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเกิดในเทพชั้นอาภา’ เป็นไปได้ที่หลังจากตายแล้ว บุคคลนั้นจะพึงเกิดในเทพชั้นอาภา ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้น เป็นผู้ ประพฤติสม่ำเสมอ คือเป็นผู้ประพฤติธรรม อย่างนั้นแล ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมจะพึงหวังว่า ‘ทำอย่างไร หนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเกิดในเทพชั้นปริตตาภา ... เทพชั้นอัปปมาณาภา ... เทพชั้นอาภัสสรา ... เทพชั้นปริตตสุภา ... เทพชั้นอัปปมาณสุภา ... เทพชั้นสุภกิณหา ... เทพชั้นเวหัปผลา ... เทพชั้นอวิหา ... เทพชั้นอตัปปา ... เทพชั้นสุทัสสา ... เทพชั้นสุทัสสี ... เทพชั้นอกนิฏฐภพ ... เทพผู้เข้าถึงอากาสานัญจายตนภพ ... เทพผู้เข้าถึงวิญญาณัญจายตนภพ ... เทพผู้เข้าถึงอากิญจัญญายตนภพ ... เทพผู้ เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนภพ’ เป็นไปได้ที่หลังจากตายแล้ว บุคคลนั้นจะพึง เกิดในเทพผู้เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนภพ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคล นั้นเป็นผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือเป็นผู้ประพฤติธรรม อย่างนั้นแล พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติ ธรรมจะพึงหวังว่า ‘ทำอย่างไรหนอ เราพึงทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๔๘๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]

๒. เวรัญชกสูตร

อันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’ เป็น ไปได้ที่บุคคลนั้นจะพึงทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะ อาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะ บุคคลนั้นเป็นผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือเป็นผู้ประพฤติธรรม อย่างนั้นแล”
ชาวเมืองเวรัญชาถึงพระรัตนตรัย
[๔๔๘] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พวกสมณพราหมณ์และ คหบดีชาวเมืองเวรัญชาได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่าน พระโคดมทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่างๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงาย ของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทางหรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์ทั้งหลายนี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้ง พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ทั้งหลายว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต” ดังนี้แล
เวรัญชกสูตรที่ ๒ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๔๘๗}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๔๘๐-๔๘๗. http://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=12&siri=42              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=9056&Z=9219                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=488              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=12&item=488&items=5              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=8&A=6189              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=12&item=488&items=5              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=8&A=6189                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu12              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/12i488-e1.php# https://suttacentral.net/mn42/en/sujato https://suttacentral.net/mn42/en/horner



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :