ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 

อ่านชาดก 280001อ่านชาดก 280525อรรถกถาชาดก 280600
เล่มที่ 28 ข้อ 600อ่านชาดก 280687อ่านชาดก 281045
อรรถกถา มโหสถชาดก
ว่าด้วย พระมโหสถบัณฑิตทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี

หน้าต่างที่   ๘ / ๑๒.

               ดูก่อนสหายสุวบัณฑิต ความสุขมีแก่ฉันและความสบายก็มี อนึ่ง ข้าวตอกกับน้ำผึ้งฉันก็ได้เพียงพอ. ดูก่อนสหาย ท่านมาแต่ไหน หรือว่าใครใช้ท่านมา ก่อนแต่นี้ ฉันไม่เคยเห็นท่าน หรือได้ยินเลย.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า หริตปกฺโข ได้แก่ มีปีกเสมอด้วยใบไม้เขียว. บทว่า เวยฺยาวจฺจํ ความว่า มโหสถกล่าวกะนกสุวบัณฑิต ซึ่งมาจับที่ตักในเมื่อตนกล่าวว่า มานี่สหาย เจ้าจงทำการขวนขวายของเราอย่างหนึ่ง ซึ่งผู้อื่นที่เป็นมนุษย์ไม่อาจทำได้. เมื่อนกสุวบัณฑิตถามว่า ข้าพเจ้าจะทำอะไรนาย. มโหสถก็กล่าวว่า สหาย คนอื่นเว้นพระเจ้าจุลนีและพราหมณ์เกวัฏ ย่อมไม่รู้เหตุที่พราหมณ์เกวัฏมาโดยความเป็นทูต คนสองคนเท่านั้นนั่งปรึกษากันในห้องบรรทมของพระเจ้าจุลนี. แต่มีนางนกสาลิกาที่พระเจ้าปัญจาลราชนั้นเลี้ยงไว้ในที่บรรทม. ได้ยินว่า นางนกสาลิกานั้นรู้ความลับนั้น. เจ้าจงไปในที่นั้น ทำความคุ้นเคยประกอบด้วยเมถุนกับนางนกสาลิกานั้น. ถามความลับของพระเจ้าจุลนีและพราหมณ์เกวัฏ กะนางนกสาลิกานั้นโดยพิสดาร. จงถามนางนกสาลิกานั้นในประเทศที่มิดชิด อย่างที่ใครๆ อื่นจะไม่รู้เรื่องนั้น. ก็ถ้าใครได้ยินเสียงของเจ้า ชีวิตของเจ้าจะไม่มี ฉะนั้น. เจ้าจงถามค่อยๆ ในที่มิดชิด. บทว่า สา เนสํ สพฺพํ ความว่า นางนกสาลิกานั้นรู้ความลับทุกอย่างของชนทั้งสองเหล่านั้น คือพระเจ้าจุลนีและพราหมณ์เกวัฏผู้โกสิยโคตร.
               บทว่า อาโม ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สุวโปดกนั้นอันมโหสถบัณฑิตทำสักการะโดยนัยก่อนนั่นแล ส่งไปแล้ว. รับคำของมโหสถว่า เออ ไหว้พระมหาสัตว์ทำประทักษิณ แล้วบินออกทางสีหบัญชรที่เปิดไว้. ไปนครชื่ออริฏฐปุระ ในแคว้นสีพี ด้วยความเร็วปานลม. กำหนดประพฤติเหตุในประเทศนั้น แล้วไปสำนักของนางนกสาลิกา. ไปอย่างไร ก็สุวโปดกนั้นจับที่ยอดแหลม อันเป็นทองของพระราชนิเวศน์. ส่งเสียงอย่างไพเราะอาศัยราคะ. เพราะเหตุไร นางนกสาลิกาได้ฟังเสียงนี้แล้วจักส่งเสียงรับ เป็นสัญญาให้รู้ว่าฉันจักไปหา. แม้นางนกสาลิกานั้นได้ฟังเสียงของสุวโปดกแล้ว ก็จับที่สุวรรณบัญชรใกล้ที่บรรทมของพระราชา มีจิตกำหนัดด้วยราคะ ส่งเสียงรับสามครั้ง. สุวโปดกบินไปหน่อยหนึ่ง ส่งเสียงบ่อยๆ เกาะที่ธรณีสีหบัญชร โดยลำดับ. ตามกระแสเสียงที่นางนกสาลิกากระทำ ตรวจดูว่าไม่มีอันตราย บินไปสำนักของนางนกสาลิกานั้น. นางนกสาลิกาได้กล่าวกะสุวโปดกในที่นี้ว่า มาเถิดสหาย จงจับที่สุวรรณบัญชร. สุวโปดกก็บินไปจับ. บทว่า อามนฺตยี ความว่า สุวโปดกนั้นบินไปอย่างนี้แล้ว ประสงค์จะทำความคุ้นเคยประกอบด้วยเมถุน จึงเรียกนางนกสาลิกานั้น. บทว่า สุฆรํ ได้แก่ กรงงาม เพราะความเป็นที่อยู่ในกรงทอง. บทว่า เวเส ได้แก่ ประกอบด้วยเพศ คือมีชาติตามเพศ. ได้ยินว่า นกสาลิกาชื่อว่า มีชาติตามเพศในหมู่นกทั้งหลาย. เหตุนั้น จึงเรียกนกสาลิกานั้นอย่างนี้. บทว่า ตว ความว่า เรากล่าวในเรือนงามของท่าน. บทว่า กจฺจิ เต มธุนา ลาชา ความว่า สุวโปดกถามว่า เธอได้ข้าวตอกกับน้ำผึ้งดอกหรือ. บทว่า กุโต นุ สมฺม อาคมฺม ความว่า นางนกสาลิกาถามว่า แน่ะสหาย ท่านมาจากไหน เข้าไปในที่นี้. บทว่า กสฺส วา ความว่า หรือว่าใครส่งท่านมาในที่นี้.
               สุวโปดกได้ฟังคำของนางนกสาลิกาแล้ว คิดว่า ถ้าเราบอกว่ามาแต่มิถิลา นางนกสาลิกานี้แม้ถึงความตาย ก็จักไม่ทำความคุ้นเคยกับเรา ก็เรากำหนดนครอริฏฐปุระ ในแคว้นสีพีมาแล้ว ฉะนั้น เราจักทำมุสาวาทกล่าวว่า พระเจ้าสีวิราชทรงส่งมาแต่ที่นั้น คิดฉะนี้ แล้วจึงกล่าวว่า
               ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่เขาเลี้ยงไว้ในที่บรรทม บนปราสาทของพระเจ้าสีวิราช พระราชาพระองค์นั้นเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม โปรดให้ปล่อยสัตว์ทั้งหลายที่ถูกขังจากที่ขังนั้นๆ.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พนฺเธ ความว่า พระราชาพระองค์นั้นโปรดให้ปล่อยสัตว์ทั้งปวงจากที่ขัง เพราะความที่พระองค์เป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม. เมื่อโปรดให้ปล่อยอย่างนี้ พระองค์ตรัสว่า พวกท่านจงเชื่อเราปล่อยมันไป ข้าพเจ้านั้นออกจากกรงทองที่เปิดไว้ ถือเอาอาหารในที่นั้นๆ ตามที่ปรารถนา ภายนอกปราสาท แล้วอยู่ในกรงทองนั่นเอง ไม่เหมือนเธอซึ่งอยู่ในกรงเท่านั้น ตลอดกาลเป็นนิจอย่างนี้.
               ลำดับนั้น นางนกสาลิกาให้ข้าวตอกคลุกน้ำผึ้ง ที่วางอยู่ในกระเช้าทองและน้ำผึ้งเพื่อตนแก่สุวโปดก. แล้วถามว่า แน่ะสหาย ท่านมาแต่ที่ไกล มาในที่นี้เพื่อประสงค์อะไร. สุวโปดกได้ฟังคำนางนกสาลิกา ใคร่จะฟังความลับ จึงมุสาวาทกล่าวว่า
               นางนกสาลิกาตัวหนึ่งพูดอ่อนหวาน เป็นภรรยาของฉัน เหยี่ยวได้ฆ่านางนกสาลิกานั้นเสีย ในห้องที่บรรทมต่อหน้าฉันผู้อยู่ในกรงงามซึ่งเห็นอยู่.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตสฺส เมกา ความว่า นางนกสาลิกาตัวหนึ่งเป็นภรรยาของฉันนั้น. บทว่า ทุติยาสิ ความว่า ได้เป็นภรรยา. บทว่า มญฺชุภาณิกา แปลว่า พูดไพเราะ.
               ลำดับนั้น นางนกสาลิกาถามสุวโปดกว่า ก็อย่างไรเหยี่ยวจึงได้ฆ่าภรรยาของท่านเสีย. สุวโปดกเมื่อจะบอกแก่นางนกสาลิกา จึงกล่าวว่า เธอจงฟัง. วันหนึ่งพระราชาของฉันเสด็จไปเล่นน้ำ ตรัสเรียกฉันไปตามเสด็จ. ฉันจึงพาภรรยาไปตามเสด็จเล่นน้ำ กลับมากับพระราชานั้น ขึ้นปราสาทกับพระองค์พาภรรยาออกมาจากกรง จับอยู่ที่โพรงตำหนักยอดเพื่อผึ่งสรีระ ขณะนั้นมีเหยี่ยวตัวหนึ่งบินมาเพื่อโฉบ เราทั้งสองผู้ออกจากตำหนักยอด ฉันกลัวแต่ภัย คือความตายบินหนีโดยเร็ว แต่นางนกสาลิกาคราวนั้นมีครรภ์แก่ เพราะฉะนั้น นางจึงไม่อาจหนี. ทีนั้น เหยี่ยวก็ยังนางให้ตายต่อหน้าฉัน ผู้เห็นอยู่แล้วพาหนีไป. ทีนั้น พระราชาของฉันทอดพระเนตร เห็นฉันร้องไห้ด้วยความโศกถึงนาง. จึงตรัสถามว่า เจ้าร้องไห้ทำไม. ได้ทรงฟังความข้อนั้นแล้วรับสั่งว่า พอละเจ้า อย่าร้องไห้ จงแสวงหาภรรยาอื่น. เมื่อฉันได้ฟังรับสั่งจึงกราบทูลว่า ประโยชน์อะไรด้วยภรรยาอื่น ผู้ไม่มีอาจารมรรยาท ไม่มีศีล แม้ที่นำมาแล้ว ผู้เดียวเที่ยวไปดีกว่า. รับสั่งว่า แน่ะสหาย ข้าเห็นนางนกสาลิกาตัวหนึ่ง ถึงพร้อมด้วยศีลาจารวัตร เช่นกับภรรยาของเจ้า. ก็นางนกสาลิกาเห็นปานนี้ เขาเลี้ยงไว้ในที่บรรทมของพระเจ้าจุลนีมีอยู่. เจ้าจงไปในที่นั้น ถามใจของเขาดู ให้เขาทำโอกาส. ถ้าเจ้าชอบใจเขา จงมาบอกแก่เรา ภายหลังเราหรือพระเทวี จักไปนำนางนั้นมาด้วยบริวารใหญ่ ตรัสฉะนี้ แล้วทรงส่งฉันมาในที่นี้ ฉันจึงมาด้วยเหตุนั้น กล่าวฉะนี้แล้ว สุวโปดกจึงกล่าวว่า
               ฉันรักใคร่ต่อเธอจึงมาในสำนักของเธอ ถ้าเธอพึงให้โอกาส เราทั้งสองก็จะได้อยู่ร่วมกัน.

               นางนกสาลิกาได้ฟังคำของสุวโปดกก็ดีใจ แต่ยังไม่ให้สุวโปดกรู้ว่าตนปรารถนา ทำเป็นไม่ปรารถนากล่าวว่า
               นกแขกเต้าก็พึงรักใคร่กับนางนกแขกเต้า นกสาลิกาก็พึงรักใคร่กับนางนกสาลิกา การที่นกแขกเต้าจะอยู่ร่วมกับนางนกสาลิกา ดูกระไรอยู่.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุโว ความว่า แน่ะสหายสุวบัณฑิต นกแขกเต้านั่นแลพึงรักใคร่นางนกแขกเต้า ซึ่งมีชาติเสมอกันของตน. บทว่า กีทิโส ความว่า ชื่อว่าการอยู่ร่วมของนกที่มีชาติไม่เสมอกัน จะเป็นอย่างไร. เพราะนกแขกเต้าเห็นนางนกแขกเต้าที่มีชาติเสมอกัน ก็จักละนางนกสาลิกาแม้เชยชิดกันมานาน. ความพลัดพรากจากของรักนั้นจักเป็นไปเพื่อทุกข์ใหญ่ ฉะนั้น. แต่ไหนแต่ไรมา ชื่อว่าการอยู่ร่วมของนกที่มีชาติไม่เสมอกัน ย่อมไม่เหมาะสมเลย.
               สุวโปดกได้ฟังดังนั้นจึงคิดว่า นางนกสาลิกานี้หาได้ห้ามเราไม่ ยังทำการบริหารอีกด้วย คงจักปรารถนาเราเป็นแน่. เราจักให้นางนกสาลิกานี้เชื่อถือ เราด้วยอุปมาต่างๆ. คิดฉะนี้แล้ว จึงกล่าวว่า
               เออก็ผู้ใดใคร่ในกามกับนางจัณฑาล ผู้นั้นทั้งหมดย่อมเป็นเช่นกับนางจัณฑาลนั้น เพราะว่าบุคคลไม่เป็นเช่นเดียวกัน ในเพราะกามย่อมไม่มี.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จณฺฑาลิกามปิ ได้แก่ ซึ่งนางจัณฑาล. บทว่า สทิโส ความว่า การอยู่ร่วมกันทุกอย่างย่อมเป็นเช่นเดียวกันทั้งนั้น เพราะมีจิตเป็นเช่นเดียวกัน. บทว่า กาเม ความว่า เพราะในเรื่องกาม จิตเท่านั้นเป็นประมาณ ชาติหาเป็นประมาณไม่.
               ก็แลครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว สุวบัณฑิตเมื่อจะนำเรื่องอดีตมาชี้แจง เพื่อแสดงความต่างชาติกันไม่เป็นประมาณ ในหมู่มนุษย์ก่อน. จึงกล่าวคาถา เป็นลำดับว่า
               พระราชมารดาของพระเจ้าสีวี พระนามว่า ชัมพาวดี มีอยู่. พระนางเป็นหญิงจัณฑาล ได้เป็นพระมเหสีที่รักของพระเจ้าวาสุเทพกัณหโคตร.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ชมฺพาวตี ความว่า พระชนนีของพระเจ้าสีพีราช พระนามว่า ชัมพาวดี. ได้เป็นหญิงจัณฑาล พระนางได้เป็นพระอัครมเหสีที่รักของพระเจ้าวาสุเทพ ผู้เป็นพี่ชายของพี่น้อง ๑๐ คนของกัณหายนโคตร.
               ได้ยินว่า วันหนึ่งพระเจ้าวาสุเทพเสด็จออกจากกรุงทวารวดี ประพาสพระราชอุทยาน ทอดพระเนตรเห็นกุมาริการูปงามคนหนึ่งเป็นจัณฑาล จากบ้านคนจัณฑาลเข้าสู่พระนครด้วยธุระบางอย่าง ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง. พระองค์มีจิตปฏิพัทธ์ มีรับสั่งให้ถามว่า ชาติอะไร. แม้ได้สดับว่า ชาติจัณฑาล ก็ยังมีรับสั่งให้ถามว่า มีสามีหรือไม่. ทรงสดับว่า ยังไม่มีสามี. จึงพานางกุมาริกานั้นกลับจากที่นั้นทีเดียว. นำไปพระราชนิเวศน์ ทรงตั้งเป็นอัครมเหสี. พระนางนั้นประสูติพระโอรสพระนามว่า สีวี. เมื่อพระราชบิดาสวรรคตแล้ว พระเจ้าสีวีจึงครองราชสมบัติในกรุงทวาราวดี. สุวโปดกกล่าวคำนี้ หมายเอาเจ้าสีวีนั้น.
               สุวบัณฑิตนำอุทาหรณ์นี้มาอย่างนี้. แล้วกล่าวว่า กษัตริย์แม้เห็นปานนี้ ยังสำเร็จสังวาสกับหญิงจัณฑาล. ใครจะว่าอะไรในเราทั้งสอง ซึ่งเป็นสัตว์ดิรัจฉานเล่า. ความชอบใจในการร่วมประเวณีกันและกันต่างหาก เป็นข้อสำคัญ. กล่าวฉะนี้แล้ว เมื่อจะชักอุทาหรณ์อื่นมาอีก จึงกล่าวว่า
               กินรีชื่อรัตนวดีมีอยู่ แม้นางก็ได้ร่วมรักกะดาบสชื่อวัจฉะ มนุษย์ทั้งหลายร่วมอภิรมย์กับมฤดีก็มี มนุษย์และสัตว์ไม่เป็นเช่นเดียวกัน ในเพราะกามย่อมไม่มี.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วจฺฉํ ความว่า กะดาบสผู้มีชื่ออย่างนั้น. ก็กินรีนั้นได้ร่วมรักกะดาบสนั้นอย่างไร. ในอดีตกาล มีพราหมณ์คนหนึ่งเห็นโทษในกามทั้งหลาย จึงละยศใหญ่ออกบวชเป็นฤๅษี สร้างบรรณศาลาอยู่ ณหิมวันตประเทศ. กินนรเป็นจำนวนมากอยู่ ณ ถ้ำแห่งหนึ่งใกล้บรรณศาลาของฤๅษีนั้น. แมงมุมตัวหนึ่งอยู่ ณ ประตูถ้ำนั้น. มันได้กัดศีรษะของกินนรเหล่านั้น ดื่มกินโลหิต. ธรรดากินนรทั้งหลายหากำลังมิได้ เป็นชาติขลาด. แม้แมงมุมตัวนั้นก็ใหญ่โตมาก กินนรทั้งหลายไม่อาจจะทำอะไรมันได้ จึงเข้าไปหาดาบสนั้น. ทำปฏิสันถารแล้ว ดาบสถามถึงเหตุที่มา. จึงพากันบอกว่า มีแมงมุมตัวหนึ่งประหารชีวิตของพวกข้าพเจ้า. พวกข้าพเจ้าไม่เห็นผู้อื่นจะเป็นที่พึ่งได้. ขอท่านจงฆ่ามันเสีย ทำความสวัสดีแก่พวกข้าพเจ้า. ดาบสได้ฟังคำดังนั้น ก็รุกรานว่า พวกเองไปเสีย. บรรพชิตทั้งหลาย เช่นเราไม่ทำปาณาติบาต. บรรดากินนรเหล่านั้น มีกินรีชื่อรัตนาวดี ยังไม่มีผัว. กินนรเหล่านั้นจึงตกแต่งกินรีรัตนวดีนั้น แล้วพาไปหาดาบส. กล่าวว่า กินรีนี้จงเป็นผู้บำเรอเท้าท่าน. ท่านจงฆ่าปัจจามิตรของพวกเราเสีย. ดาบสเห็นกินรีรัตนวดีก็มีจิตปฏิพัทธ์ จึงสำเร็จร่วมอภิรมย์กับกินรีนั้น แล้วไปยืนที่ประตูถ้ำ. ตีแมงมุมออกมาหากิน ด้วยค้อนให้สิ้นชีวิต. ดาบสนั้นอยู่สมัครสังวาสกับกินรีนั้น มีบุตรธิดาแล้วทำกาลกิริยา ณ ที่นั้นแล. กินรีรัตนวดีนั้นรักใคร่ดาบสชื่อวัจฉะ ด้วยประการฉะนี้. สุวโปดกนำอุทาหรณ์นี้มา เมื่อจะแสดงว่า วัจฉดาบสเป็นมนุษย์ ยังสำเร็จสังวาสกับกินรีนั้นผู้เป็นดิรัจฉานได้. จะกล่าวไย ถึงเราทั้งสองเป็นนกเป็นดิรัจฉาน ด้วยกันจะร่วมสังวาสกันไม่ได้เล่า. จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า มนุษย์ทั้งหลายร่วมอภิรมย์ด้วยมฤคีอยู่ ดังนี้. มนุษย์เราทั้งหลายอยู่ร่วมกับดิรัจฉานมีอยู่ คือปรากฏอยู่ ด้วยประการฉะนี้.
               นางนกสาลิกานั้น ได้ฟังคำของสุวโปดกแล้ว กล่าวว่า ข้าแต่นาย ขึ้นชื่อว่าจิตจะเป็นอย่างเดียวไปตลอดกาล ย่อมไม่มี. ฉันกลัวแต่ความพลัดพรากจากท่านที่รักจ๊ะสหาย. สุวบัณฑิตแม้นั้นเป็นผู้ฉลาดในมายาสตรี ฉะนั้น เมื่อจะทดลองนางนกสาลิกา จึงกล่าวคาถาอีกว่า
               เอาเถอะ แม่สาลิกาผู้พูดเพราะ ฉันจักไปละ เพราะถ้อยคำของเธอนั้นเป็นเหตุให้รู้ประจักษ์ เธอดูหมิ่นฉันนัก.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปจฺจกฺขานุปทํ เหตํ ความว่า คำที่เธอกล่าวทั้งหมดนั้นเป็นแนวทางให้รู้ประจักษ์ คือเป็นเหตุให้รู้ประจักษ์. บทว่า อติมญฺญสิ ความว่า เธอล่วงเกินดูหมิ่นฉันแน่ว่า นกแขกเต้านี้ย่อมปรารถนาเท่านั้น เธอไม่รู้สารสำคัญของฉัน. พระราชาก็บูชาฉัน ฉันหาภรรยาได้ไม่ยาก ฉันจักแสวงหานกตัวอื่นเป็นภรรยา ฉันจักไปละ.
               นางนกสาลิกาได้ฟังคำของสุวโปดก เป็นเหมือนหัวจะแตก เป็นเหมือนถูกกามรดี ที่เกิดขึ้นพร้อมด้วยการเห็นสุวโปดกนั้น ตามเผาผลาญอยู่. ทำทีเป็นไม่ปรารถนา ด้วยมายาสตรีของตน. ได้กล่าวหนึ่งคาถาครึ่งว่า
               ดูก่อนมาธูรสุวบัณฑิต สิริย่อมไม่มีแก่ผู้ด่วนได้ ขอเชิญท่านอยู่ ณ ที่นี้จนกว่าจะได้เห็นพระราชา จนได้ฟังเสียงตะโพน และได้เห็นอานุภาพของพระราชา.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น สิรี ความว่า แน่ะสหายสุวบัณฑิต สิริย่อมไม่มีแก่ผู้ด่วนได้. งานที่ผู้ด่วนได้กระทำย่อมไม่งาม. ขึ้นชื่อว่าการครองเรือนนั้นหนักยิ่ง ต้องคิดพิจารณาก่อนจึงทำ. ขอเชิญท่านอยู่ในที่นี้ จนกว่าจะได้เห็นพระราชาของพวกเราผู้ประกอบด้วยยศใหญ่. บทว่า โสสิ ความว่า ท่านจักได้ฟังเสียงตะโพนเสียงขับร้อง และเสียงประโคมดนตรีอื่นๆ ที่เหล่านารีผู้มีรูปโฉมอุดมมีลีลา เสมอด้วยกินรีบรรเลงอยู่ในเวลาสายัณห์ และจักได้เห็นอานุภาพและสิริโสภาคอันยิ่งใหญ่ของพระราชา. ท่านจะด่วนไปทำไมเล่าสหาย. แม้ข้ออ้างท่านก็ยังไม่รู้ อยู่ก่อนเถิด ฉันจักให้รู้จักภายหลัง.
               ลำดับนั้น นกทั้งสองก็กระทำเมถุนสังวาสในสายัณหสมัยนั้นเอง มีความสามัคคีบันเทิงอยู่ร่วมเป็นที่รักกัน. ครานั้น สุวโปดกคิดว่า บัดนี้นางนกสาลิกาจักไม่ซ่อนความลับแก่เรา ควรที่เราจักถามนางแล้วไปในทำนองนี้ จึงกล่าวว่า แน่ะสาลิกา. อะไรหรือนาย. ฉันอยากจะถามอะไรเจ้าสักหน่อย. ถามเถิดนาย. เรื่องนั้นงดไว้ก่อน วันนี้เป็นวันมงคลของเรา ไว้วันอื่นฉันจักรู้. นางนกสาริกากล่าวว่า ถ้าคำที่ถามประกอบด้วยมงคล ก็จงถาม ถ้ามิใช่ ก็อย่าเพิ่งถาม. สุวบัณฑิตตอบว่า กถานั้นเป็นมงคลกถา ที่รัก. ถ้าเช่นนั้นก็จงถามเถิด. ลำดับนั้น สุวบัณฑิตกล่าวว่า ถ้าเธออยากฟังเรื่องนั้น ฉันก็จักกล่าวแก่เธอ. เมื่อจะถามความลับนั้น จึงกล่าวหนึ่งคาถากึ่งว่า
               เสียงเซ็งแซ่นี้ ฉันได้ยินภายนอกชนบทว่า พระราชธิดาของพระเจ้าปัญจาลราชมีพระฉวีวรรณดังดาวประกายพรึก พระเจ้ากรุงปัญจาลราชจักถวายพระราชธิดานั้น แก่ชาววิเทหรัฐ คือจักมีการอภิเษกระหว่างพระเจ้าวิเทหราชกับพระราชธิดานั้น.

               เนื้อความของคาถานั้นมีว่า เสียงเซ็งแซ่นี้มาก บทว่า ติโรชนปเท สุโต ความว่า ปรากฏคือรู้กันทั่ว คือแผ่ไปในรัฐอื่นในชนบทอื่น แผ่ไปอย่างไร พระราชธิดาของพระเจ้าปัญจาลราช รุ่งเรืองราวกะดาวประกายพรึก มีพระฉวีวรรณเสมอด้วยดาวประกายพรึกนั้น มีอยู่. พระเจ้าปัญจาลราชจักประทานพระราชธิดานั้นแก่ชาววิเทหรัฐ. บทว่า โส วิวาโห ภวิสฺสติ ความว่า ฉันได้ฟังเสียงที่แผ่ไปอย่างนี้นั้น. จึงคิดว่า กุมาริกานี้ทรงพระรูปโฉมอุดม และพระเจ้าวิเทหราชก็เป็นข้าศึกของพระเจ้าจุลนี. พระราชาอื่นๆที่อยู่ในอำนาจของพระเจ้าจุลนีพรหมทัตก็มีอยู่เป็นอันมาก. พระเจ้าจุลนีไม่ประทานแก่พระราชาเหล่านั้น. เหตุไร จึงจะประทานพระราชธิดาแก่พระเจ้าวิเทหราชเสีย.
               นางนกสาลิกาได้ฟังคำของสุวบัณฑิตนั้นแล้ว จึงกล่าวอย่างนี้ว่า นาย. เพราะเหตุไร ท่านจึงกล่าวอวมงคลในวันมงคล. สุวโปดกจึงย้อนถามว่า ฉันกล่าวว่ามงคล เธอกล่าวว่าอวมงคล. นี่อะไรกันนาย การทำมงคลเห็นปานนี้ จงอย่าได้มีแก่ชนเหล่านั้นแม้เป็นอมิตร . สุวโปดกให้นางนกสาลิกาแจ้งเรื่อง นางว่าไม่กล้าพูด. สุวโปดกจึงว่า ที่รัก จำเดิมแต่กาลที่เธอบอกความลับที่เธอรู้แก่ฉันไม่ได้. การร่วมอภิรมย์กันฉันสามีภรรยา ก็ชื่อว่าไม่มี. นางนกสาลิกาถูกสุวโปดกแค่นไค้นักก็กล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านจงฟัง. แล้วกล่าวว่า
               แน่ะมาธูระ การที่เหล่าอมิตรทำวิวาหมงคลเช่นนี้ เหมือนกับการที่พระเจ้าปัญจาลราชจักทำวิวาหมงคล พระราชธิดากับพระเจ้าวิเทหราช ขออย่าได้มีเลย.

               ครั้นนางนกสาลิกากล่าวคาถานี้แล้ว สุวโปดกซักถามอีกว่า เพราะเหตุไร เธอกล่าวถ้อยคำเห็นปานนี้. จึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟัง ฉันจะกล่าวโทษในเรื่องนี้แก่ท่านอีก แล้วกล่าวคาถานอกนี้ว่า
               พระราชาผู้เป็นจอมทัพแห่งชาวปัญจาละ จักทรงนำพระเจ้าวิเทหราชมาแล้ว แต่นั้น ก็จักฆ่าพระเจ้าวิเทหราชเสีย เพราะพระเจ้าจุลนีมิใช่สหายของพระเจ้าวิเทหราช.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตโต นํ ฆาตยิสฺสติ ความว่า พระเจ้าวิเทหราชจักเสด็จมาพระนครนี้ในกาลใด. พระเจ้าจุลนีจักไม่ทรงทำความเป็นสหาย คือมิตรธรรมด้วยพระเจ้าวิเทหราชในกาลนั้น. จักไม่ประทานพระราชธิดาแก่พระเจ้าวิเทหราชนั้น แม้เพื่อทอดพระเนตร. ได้ยินว่า พระเจ้าวิเทหราชนั้นมีอรรถธรรมานุศาสน์อยู่คนหนึ่ง ชื่อมโหสถบัณฑิต. พระเจ้าจุลนีจักฆ่ามโหสถนั้นพร้อมกับพระเจ้าวิเทหราช. พราหมณ์เกวัฏปรึกษากับพระเจ้าจุลนีว่า เราจักฆ่าคนทั้งสองนั้นเสียแล้ว ดื่มชัยบาน. จึงไปกรุงมิถิลา เพื่อจับมโหสถนั้นมา.
               นางนกสาลิกาบอกความลับแก่สุวบัณฑิตโดยไม่เหลือ ด้วยประการฉะนี้. สุวบัณฑิตได้ฟังดังนั้นแล้ว จึงกล่าวชมเกวัฏว่า อาจารย์เกวัฏเป็นคนฉลาดในอุบาย. การฆ่าพระเจ้าวิเทหราชเสียด้วยอุบายเห็นปานนี้ น่าอัศจรรย์. แล้วกล่าวว่า ประโยชน์อะไรด้วยอวมงคลเห็นปานนี้แก่เรา นิ่งเสียนอนกันเถิด. รู้ความสำเร็จแห่งกิจที่มา อยู่กับนางนกสาลิกานั้นในราตรีนั้น แล้วกล่าวว่า ที่รัก ฉันจักไปแคว้นสีวี ทูลความที่ฉันได้ภรรยาที่ชอบใจ แด่พระเจ้าสีวีและพระเทวี. แล้วกล่าวเพื่อให้นางนกสาลิกาอนุญาตให้ตนไปว่า
               เอาเถิด เธอจงอนุญาตให้ฉันไปสัก ๗ ราตรี เพียงให้ฉันได้กราบทูลพระเจ้าสีวิราชและพระมเหสีว่า ฉันได้อยู่ในสำนักของนางนกสาลิกาแล้ว.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มเหสิโน ได้แก่ พระมเหสีของพระเจ้าสีวิราชนั้น. บทว่า อาวสโถ ได้แก่ ที่เป็นอยู่. บทว่า อุปนฺติกํ ความว่า ครั้งนั้น สุวโปดกกล่าวว่า ฉันจักบอกพระราชาและพระเทวีทั้งสองนั้นว่า เชิญเสด็จไปสำนักของนางนกสาลิกานั้น ดังนี้. ในวันที่ ๘ จักนำมาที่นี้ จักพาเธอไปด้วยบริวารใหญ่ เธออย่าได้กระวนกระวาย จนกว่าฉันจะมา.
               นางนกสาลิกาได้ฟังดังนั้น ไม่ปรารถนาจะแยกกับสุวโปดกเลย แต่ไม่อาจจะปฏิเสธคำของเขาได้ จึงกล่าวคาถา เป็นลำดับว่า
               เอาเถิด ฉันอนุญาตให้ท่านไปประมาณ ๗ ราตรี ถ้าท่านไม่กลับมายังสำนักของฉันโดย ๗ ราตรี ฉันจะสำคัญตัวฉันว่าหยั่งลงแล้ว สงบแล้ว ท่านจักมาในเมื่อฉันตายแล้ว.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มญฺเญ โอกนฺตสนฺตํ มํ ความว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น ฉันจะกำหนดตัวฉันว่าปราศจากชีวิตแล้ว. เมื่อท่านไม่มาในวันที่ ๘ จักมาเมื่อฉันตายแล้ว เพราะฉะนั้น ท่านอย่ามัวชักช้า.
               ฝ่ายสุวบัณฑิตกล่าวด้วยวาจาว่า ที่รัก เธอพูดอะไร แม้ฉันเมื่อไม่เห็นเธอในวันที่ ๘ จะมีชีวิตอยู่ที่ไหนได้. แต่ใจคิดว่า เจ้าจะเป็นหรือตาย ก็ไม่มีประโยชน์อะไรแก่เรา. บินขึ้นบ่ายหน้าไปสีวีรัฐ ไปได้หน่อยหนึ่งยังกลับมาสำนักของนางนกสาลิกานั้นอีก กล่าวว่า ที่รัก ฉันไม่เห็นรูปสิริของเธอ ไม่อาจจะทิ้งเธอไปได้ ฉะนั้น ฉันจึงกลับมา. กล่าวฉะนี้ แล้วบินขึ้นอีก ไปกรุงมิถิลา ลงจับที่จะงอยบ่ามโหสถบัณฑิต พระมหาสัตว์อุ้มขึ้นไปบนปราสาทด้วยสัญญานั้น แล้วไต่ถาม. จึงแจ้งประพฤติเหตุนั้นทั้งหมดแก่มโหสถ. ฝ่ายมโหสถก็ได้ให้ สิ่งตอบแทนความชอบแก่สุวโปดกนั้นโดยนัยหนหลัง นั่นแล.
               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า
               ลำดับนั้นแล นกมาธูรสุวบัณฑิตได้บินไปแจ้งแก่มโหสถว่า คำนี้เป็นคำของนางนกสาลิกา.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สาลิกาย วจนํ อิทํ ความว่า สุวโปดกได้แจ้ง ข้อความทั้งปวงโดยพิสดารว่า คำนี้เป็นคำของนางนกสาลิกา.
               พระมหาสัตว์ได้ฟังดังนั้นจึงดำริว่า เมื่อเราไม่อยากให้เสด็จ พระราชาก็จักเสด็จ. ครั้นเสด็จไปแล้วก็จักถึงความพินาศใหญ่. ทีนั้น เมื่อพระราชาประทานยศเห็นปานนี้แก่เรา เราจักถือตามพระราชดำรัสไว้ในใจ แล้วไม่สนองพระเดชพระคุณของพระองค์. ความครหาก็จักมีแก่เรา. เพราะฉะนั้น เราจักล่วงหน้าไปก่อนพระองค์. แล้วเฝ้าพระเจ้าจุลนี สร้างนครเป็นที่ประทับอยู่แห่งพระเจ้าวิเทหราช. ทำให้เป็นนครที่จำแนกดีแล้ว. ให้ทำอุโมงค์เป็นทางเดินยาวราว ๑ คาวุต อุโมงค์ใหญ่ราวกึ่งโยชน์. แล้วอภิเษกพระนางปัญจาลจันที ราชธิดาของพระเจ้าจุลนีพรหมทัต ให้เป็นบาทบริจาริกาแห่งพระราชาของเรา. ในเมื่อพระราชาร้อยเอ็ดพร้อมด้วยพลนิกาย ๑๘ อักโขภิณีแวดล้อมตั้งอยู่ เราจักปลดเปลื้องพระราชาของเราให้พ้นไป ดุจเปลื้องดวงจันทร์จากปากอสุรินทรราหู ฉะนั้น. แล้วพาเสด็จสู่พระนครมิถิลา ชื่อว่าราชกรณียกิจที่จะมีมาของพระราชาต้องเป็นภารธุระแห่งเรา. เมื่อมโหสถดำริอย่างนี้ ก็เกิดปีติในสรีระ ด้วยกำลังแห่งความปีติ. มโหสถเมื่อจะเปล่งอุทาน จึงกล่าวกึ่งคาถาว่า
               บุคคลบริโภคโภคสมบัติในเรือนของผู้ใด พึงประพฤติให้เป็นประโยชน์แก่ผู้นั้นทีเดียว.

               เนื้อความของกึ่งคาถานั้นมีว่า บุรุษผู้เป็นบัณฑิตได้อิสริยยศใหญ่ บริโภคโภคสมบัติแต่สำนักของพระราชาใด พึงประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์ ที่เกื้อกูล ที่เป็นความเจริญ แด่พระราชานั้น. แม้จะทรงด่าบริภาษ ประหาร จับคอคร่าออกไปก็ตาม ด้วยทวารทั้งสาม มีกายทวารเป็นต้น. บัณฑิตทั้งหลายไม่พึงทำกรรม คือการประทุษร้ายมิตรเลย.
               ครั้นดำริดังนี้แล้ว ก็อาบน้ำแต่งตัว ไปเฝ้าพระเจ้าวิเทหราช ถวายบังคมแล้วยืน ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง กราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ พระองค์จักเสด็จไปอุตตรปัญจาลนครหรือ. พระราชาตรัสตอบว่า เออ จะไป เมื่อเราไม่ได้นางปัญจาลจันที จะต้องการอะไรด้วยราชสมบัติ เจ้าอย่าทิ้งเรา จงไปกับเรา ประโยชน์ ๒ ประการ คือเราได้นารีรัตนะ และราชไมตรีของพระเจ้าจุลนีกับเรา จักตั้งมั่น จักสำเร็จ เพราะเหตุเราทั้งสองไปในกรุงปัญจาละนั้น. ลำดับนั้น มโหสถเมื่อจะทูลว่า ถ้าอย่างนั้น ข้าพระองค์จักไปก่อนสร้างพระราชนิเวศน์เพื่อพระองค์. พระองค์ควรเสด็จไป ในเมื่อข้าพระองค์ส่งข่าวมากราบทูล. เมื่อทูลอย่างนี้แล้ว ได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า
               ข้าแต่พระจอมประชาชน เอาเถิด ข้าพระองค์จักไปสู่ปัญจาลบุรีที่น่ารื่นรมย์ดีก่อน เพื่อสร้างพระราชนิเวศน์ถวายแด่พระเจ้าวิเทหราชผู้ทรงยศ. ข้าแต่บรมกษัตริย์ ครั้นข้าพระองค์สร้างพระราชนิเวศน์ถวายแล้ว ส่งข่าวมากราบทูลพระองค์เมื่อใด พระองค์พึงเสด็จไปเมื่อนั้น.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เวเทหสฺส ได้แก่ แด่พระองค์ผู้เป็นพระเจ้าวิเทหราช. บทว่า เอยฺยาสิ แปลว่า พึงเสด็จมา.
               พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงสดับดังนั้น ก็ทั้งทรงร่าเริง ทั้งทรงโสมนัส ด้วยเข้าพระหฤทัยว่า มโหสถไม่ทิ้งเรา จึงดำรัสว่า แน่ะพ่อมโหสถ เมื่อพ่อไปก่อน พ่อควรจะได้อะไรไปบ้าง. ครั้นมโหสถกราบทูลตอบว่า ควรได้พลและพาหนะไป. จึงตรัสว่า พ่อปรารถนาสิ่งใด จงเอาสิ่งนั้นไป. มโหสถจึงกราบทูลว่า ขอพระองค์โปรดให้เปิดเรือนจำ ๔ เรือน ให้ถอดเครื่องจำ คือโซ่ตรวนแห่งโจรทั้งหลาย ส่งไปกับข้าพระองค์. ครั้นพระราชทานพระราชานุญาตให้ทำตามชอบใจ จึงให้เปิดเรือนจำ ให้พวกโจรที่กล้า เป็นทหารใหญ่ผู้สามารถยังกิจการในที่ที่ไปแล้วๆ ให้เสร็จ. แล้วกล่าวว่า เจ้าทั้งหลายจงบำรุงเรา. แล้วให้สิ่งของแก่ชนเหล่านั้น แล้วพาเสนา ๑๘ เหล่าผู้ฉลาดในศิลปะต่างๆ มีช่างไม้ ช่างเหล็ก ช่างหนัง ช่างศิลา ช่างเขียน ช่างอิฐเป็นต้นไป ให้เอาเครื่องอุปกรณ์เป็นอันมาก มีมีดขวานจอบเสียมเป็นต้นไปด้วย เป็นผู้มีกองพลใหญ่ห้อมล้อมออกจากนครไป.
               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น ตรัสว่า
               ลำดับนั้น มโหสถบัณฑิตได้ไปสู่บุรีที่น่ารื่นรมย์ดีของพระเจ้าปัญจาลราชก่อน เพื่อสร้างพระราชนิเวศน์ถวายพระเจ้าวิเทหราชผู้ทรงยศ.

               ฝ่ายพระมหาสัตว์ เมื่อไปในที่ทั้งหลายนั้น ก็ให้สร้างบ้าน บ้านหนึ่งในระยะทางโยชน์หนึ่งๆ แล้วกล่าวกะอมาตย์คนหนึ่งๆว่า ท่านทั้งหลายจงเตรียมจัดช้างม้าและรถไว้. ในกาลเมื่อ พระเจ้าวิเทหราชรับพระนางปัญจาลจันทีกลับไป แล้วพาพระราชาเสด็จไป. ห้ามเหล่าปัจจามิตร อย่าให้ประทุษร้ายได้ ให้เสด็จถึงกรุงมิถิลาโดยเร็ว. สั่งฉะนี้ แล้ววางอมาตย์คนหนึ่งๆ ไว้. ก็ครั้นมโหสถไปถึงฝั่งคงคา จึงเรียกอมาตย์ชื่ออานันทกุมาร มาสั่งส่งไปว่า ดูก่อนอานันทะ ท่านจงพาช่างไม้ ๓๐๐ คนไปเหนือคงคา. ให้ถือเอาไม้แก่น สร้างเรือประมาณ ๓๐๐ ลำ แล้วถากไม้ในที่นั้นนั่นแหละ. บรรทุกไม้เบาๆ ในเรือเอามาโดยพลัน เพื่อต้องการสร้างเมือง. ส่วนมโหสถเองขึ้นเรือข้ามฟากไปฝั่งโน้น นับทางด้วยหมายเท้าก้าวไป จำเดิมแต่สถานที่ขึ้นจากเรือ ก็กำหนดว่า ที่นี้กึ่งโยชน์. อุโมงค์ใหญ่จักมีในที่นี้. นครที่ตั้งพระราชนิเวศน์แห่งพระเจ้าวิเทหราช จักมีในที่นี้. จำเดิมแต่พระราชนิเวศน์นี้ อุโมงค์เป็นทางเดินจักมีในที่ราว ๑ คาวุตจนถึงพระราชมณเฑียร. กำหนดฉะนี้ แล้วเข้าไปสู่กรุงอุตตรปัญจาละ. พระเจ้าจุลนีทรงสดับว่า มโหสถมาถึงก็ทรงโสมนัสยิ่งว่า บัดนี้ ความปรารถนาของเราจักสำเร็จ เราจักเห็นหลังแห่งเหล่าปัจจามิตร. เมื่อมโหสถมา พระเจ้าวิเทหราชจักมาไม่ช้า. ทีนั้น เราจักฆ่าข้าศึกทั้งสองเสีย เสวยราชสมบัติในชมพูทวีปทั้งสิ้น. กรุงอุตตรปัญจาละทั้งสิ้นเอิกเกริกโกลาหลว่า ได้ยินว่า ผู้นี้ชื่อมโหสถบัณฑิต ได้ยินว่า พระราชาร้อยเอ็ดอันมโหสถนี้ให้หนีไป ราวกะบุคคลไล่กาให้หนีไป ด้วยก้อนดิน. พระมหาสัตว์ไปสู่พระทวารในขณะที่ชาวเมืองดูชมรูปสมบัติของตนอยู่ ให้กราบทูลพระเจ้าจุลนีให้ทรงทราบ. ครั้นได้รับพระราชานุญาตให้เข้าเฝ้า จึงเข้าไปถวายบังคมพระราชายืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง.
               ลำดับนั้น พระเจ้าจุลนีทรงทำปฏิสันถาร ตรัสถามมโหสถว่า พระราชาของเจ้าจักเสด็จมาเมื่อไร. มโหสถทูลว่า จักเสด็จมาในกาลเมื่อ ข้าพระองค์ส่งข่าวไปทูล. พระเจ้าจุลนีตรัสถามว่า ก็ตัวเจ้ามาเพื่อประโยชน์อะไร. มโหสถทูลว่า มาเพื่อสร้างพระราชนิเวศน์แห่งพระราชาของข้าพระองค์. พระเจ้าจุลนีตรัสว่า ดีแล้ว. แต่นั้น ก็โปรดให้พระราชทานเสบียงแก่เสนาของมโหสถ และพระราชทานสิ่งของเป็นอันมาก และเรือนที่อยู่แก่มโหสถ. แล้วตรัสว่า แน่ะพ่อ เจ้าอย่าเดือดร้อน จงทำราชการที่ควรทำอยู่กับข้า จนกว่าพระราชาของเจ้าจะเสด็จมา. ได้ยินว่า มโหสถขึ้นไปสู่พระราชนิเวศน์ ยืนอยู่แทบเชิงบันไดได้กำหนดว่า ประตูอุโมงค์อันเป็นทางเดิน จักมีในที่นี้. ความปริวิตกได้มีแก่มโหสถว่า พระเจ้าจุลนีตรัสว่า เจ้าจงทำกิจที่ควรทำแก่พวกเราบ้าง ดังนี้. ในเมื่อขุดอุโมงค์ ก็ควรจะให้ทำอย่างที่บันไดนี้จะไม่ทรุดลง. ลำดับนั้น มโหสถจึงกราบทูลพระเจ้าจุลนีอย่างนี้ว่า ข้าแต่สมมติเทพ เมื่อข้าพระองค์เข้ามาเฝ้ายืนอยู่ที่เชิงบันได ตรวจดูนวกรรมในที่นี้ เห็นโทษที่บันไดใหญ่. ถ้าข้อความที่กราบทูลนี้ชอบด้วยพระราชดำริ ข้าพระองค์จะเอาไม้ทั้งหลายมาปูลาดลงให้เป็นที่พอใจ. พระเจ้าจุลนีทรงอนุญาต มโหสถกำหนดดีแล้วว่า ช่องประตูอุโมงค์จักมีในที่นี้ จึงให้นำบันไดออกเสีย ให้ปูลาดแผ่นกระดาน เพื่อต้องการมิให้มีฝุ่นในที่ที่จะเป็นประตูอุโมงค์. แล้วพาดบันไดไว้ตามเดิมมิให้หวั่นไหว มิให้ทรุดลงได้. เมื่อพระราชาไม่ทรงทราบโทษที่จะพึงมีก็เข้าพระหฤทัยว่า มโหสถทำด้วยความภักดีในเรา.
               มโหสถให้ทำนวกรรมตลอดวันนั้นอย่างนี้แล้ว. รุ่งขึ้น จึงกราบทูลพระเจ้าจุลนีว่า ข้าแต่สมมติเทพ ถ้าข้าพระองค์พึงเลือกหา สถานที่ประทับแห่งพระราชาของข้าพระองค์. ข้าพระองค์พึงปฏิบัติทำให้ชอบใจ. พระเจ้าจุลนีตรัสว่า ดีแล้วพ่อบัณฑิต ยกเสียแต่พระราชนิเวศน์ของข้า. นอกนี้ในกรุงทั้งหมด เจ้าปรารถนาที่ใดเป็นพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าวิเทหราช เจ้าจงเอาที่นั้น. มโหสถกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พวกข้าพระองค์เป็นแขกมา ประชาชนคนของพระองค์ที่เป็นคนสนิทมีมาก. คนเหล่านั้นครั้นเมื่อข้าพระองค์เอาเรือนของเขา ก็จักเกิดทะเลาะกับพวกข้าพระองค์. เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จักทำอะไรกับพวกเหล่านั้นได้. พระเจ้าจุลนีตรัสว่า ดูก่อนบัณฑิต เจ้าอย่าถือเอาคำของพวกนั้น. สถานที่ใดเจ้าชอบใจ เจ้าจงถือเอาสถานที่นั้นทีเดียว. มโหสถจึงกราบทูลต่อไปว่า ข้าแต่สมมติเทพ พวกนั้นจักมากราบทูลพระองค์บ่อยๆ ความสำราญแห่งพระหฤทัยของพระองค์ และแห่งใจของข้าพระองค์จักไม่มี. ก็ถ้าว่าพระองค์ทรงปรารถนา คนรักษาประตูควรเป็นคนของข้าพระองค์. จนกว่าข้าพระองค์จักหาสถานที่เป็นพระราชนิเวศน์แห่งพระราชาของข้าพระองค์ได้. แต่นั้นพวกนั้นเข้าประตูไม่ได้ ก็จักไม่มา. เมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ก็จักทรงพระสำราญ และข้าพระองค์ก็จักสบายใจ. พระราชาจุลนีทรงอนุญาต. พระมหาสัตว์ตั้งคนของตนไว้ในที่ทั้งปวงคือที่เชิงบันได หัวบันได และประตูใหญ่ สั่งว่าพวกเจ้าอย่าให้ใครๆ เข้าไป.
               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ไปสู่ตำหนักพระราชมารดาของพระเจ้าจุลนีก่อน แล้วสั่งคนทั้งหลายว่า เจ้าทั้งหลายจงจัดการรื้อตำหนัก. คนใช้เหล่านั้นก็ปรารภ เพื่อจะรื้ออิฐและขุดดินตั้งแต่ซุ้มประตู. พระราชชนนีของพระเจ้าจุลนีได้สดับข่าวนั้น จึงเสด็จมารับสั่งว่า พวกเจ้าจะให้รื้อตำหนักของข้าเพื่ออะไร. ชนเหล่านั้นจึงทูลตอบว่า มโหสถให้รื้อใคร่เพื่อให้สร้างพระราชนิเวศน์แห่งพระราชาของตน. พระราชชนนีจึงตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น อยู่ด้วยกันในตำหนักนี้ก็แล้วกัน. ชนเหล่านั้นทูลตอบว่า พลพาหนะของพระราชาแห่งพวกข้าพระองค์มีมาก ตำหนักนี้ย่อมไม่พอกันอยู่. ข้าพระองค์จักให้สร้างที่ประทับใหม่ให้ใหญ่. พระราชชนนีจึงรับสั่งว่า พวกเจ้าไม่รู้จักข้า ข้าเป็นพระราชมารดาของพระเจ้าจุลนี ข้าจักไปหาลูกข้า จักรู้กันเดี๋ยวนี้. ชนเหล่านั้นจึงทูลว่า ข้าพระองค์จักรื้อตามพระราชดำรัส ถ้าพระองค์อาจ ก็จงห้าม. พระนางสลากเทวีกริ้ว รับสั่งว่า ข้ารู้จักกิจที่ข้าพึงทำแก่พวกเจ้าเดี๋ยวนี้. ตรัสแล้วเสด็จไปประตูพระราชนิเวศน์. ลำดับนั้น คนเฝ้าประตูก็ห้ามพระราชมารดาว่า แกอย่าเข้าไป. พระราชมารดาตรัสว่า ข้าเป็นพระราชชนนี. ชนเหล่านั้นก็ทูลว่า พวกข้าพระองค์ไม่ทราบ. พระเจ้าจุลนีตรัสสั่งไว้ว่า อย่าให้ใครๆ เข้าไป. เพราะฉะนั้น พระองค์จงเสด็จกลับไปเสีย. พระนางสลากเทวีเมื่อไม่ทอดพระเนตรเห็นที่พึ่งอันพึงยึดถือ ก็เสด็จกลับมาทอดพระเนตรตำหนักของพระองค์ ประทับยืนอยู่. ลำดับนั้น ชนผู้หนึ่งจึงทูลพระนางนั้นว่า แกทำอะไรในที่นี้ จงไปๆ. ว่าแล้วลุกขึ้น ไสพระศอให้ล้มลงยังภูมิภาค. พระนางเจ้าทรงดำริว่า พวกนี้พระราชาลูกเราสั่งแล้วแน่ ใครไม่สามารถจะทำอย่างนี้ ด้วยประการอื่น. เราจักไปหามโหสถ จึงเสด็จไปหามโหสถ ตรัสว่า แน่ะพ่อมโหสถ ท่านให้รื้อตำหนักข้าพเจ้าเพราะอะไร. มโหสถไม่พูดกับพระนางเจ้า แต่บุรุษผู้ยืนอยู่ในที่ใกล้ทูลว่า พระนางจะตรัสอะไรกะมโหสถ พระนางเจ้าจึงรับสั่งว่า มโหสถให้รื้อตำหนักข้าพเจ้าเพื่ออะไร. บุรุษนั้นทูลว่า เพื่อทำที่ประทับแห่งพระเจ้าวิเทหราช. พระราชมารดารับสั่งว่า เมืองใหญ่ถึงเพียงนี้ ทำไมจะหาที่ทำพระราชนิเวศน์ในที่อื่นไม่ได้ เจ้าจงรับสินบนแสนกหาปณะนี้ แล้วให้ทำพระราชนิเวศน์ในสถานที่อื่นเถิด. บุรุษนั้นทูลตอบว่า ดีแล้ว พระแม่เจ้า. ข้าพระองค์จักให้ละตำหนักของพระนาง แต่พระนางอย่ารับสั่งการที่ข้าพระองค์รับสินบนแก่ใครๆ. เพราะว่าชนเหล่าอื่นจะพากันให้สินบนแก่พระองค์แล้วไม่อยากละเรือนของตน. พระนางสลากเทวีรับสั่งตอบว่า การที่ข้าพูดให้ใครรู้นั้น เป็นที่น่าอายแก่ข้าว่า พระราชมารดาได้ให้สินบน ดังนี้. เพราะฉะนั้น ข้าจักไม่บอกแก่ใคร. บุรุษนั้นทูลรับว่า ดีแล้ว. แล้วรับเอากหาปณะ ๑ แสนจากพระนาง. ก็ละตำหนักนั้นไปเรือนเกวัฏ ให้ทำเหมือนกับทำแก่ตำหนักพระนางสลากเทวีนั้น. เกวัฏโกรธไปสู่ราชทวาร เหล่าคนรักษาประตูก็ประหารที่หลังเกวัฏด้วยซีกไม้ไผ่ หนังที่หลังเกวัฏก็เป็นแนวขึ้น เกวัฏไม่เห็นจะพึ่งอะไรได้ก็กลับบ้านให้กหาปณะ ๑ แสนแก่บุรุษนั้น. มโหสถถือเอาสถานที่ตั้งเรือนในนครทั้งสิ้นด้วยอุบายนี้. รับสินบนได้กหาปณะในที่นั้นๆ ประมาณ ๙ โกฏิ. พระโพธิสัตว์พิจารณาในนครทั้งสิ้นแล้วไปเฝ้าพระเจ้าจุลนี พระราชาตรัสถามว่า เป็นอย่างไร พ่อบัณฑิต. สถานที่ตั้งพระราชนิเวศน์เจ้าหาได้หรือยัง. มโหสถกราบทูลว่า ชื่อว่าใครจะไม่ให้ ย่อมไม่มี. แต่ครั้นเมื่อเรือนอันข้าพระองค์ถือเอา ชนเจ้าของก็ย่อมลำบาก การทำความที่ชนเหล่านั้นต้องพลัดพรากจากของรัก ไม่สมควรแก่ข้าพระองค์. เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จักสร้างพระนครให้เป็น สถานที่ประทับแห่งพระราชาของข้าพระองค์. ในที่โน้นระหว่างคงคากับพระนครนี้ ในที่ ๑ คาวุตแต่ที่นี้ ภายนอกพระนครนี้.
               พระเจ้าจุลนีได้ทรงสดับก็ยินดี ด้วยทรงเห็นว่า การรบกันภายในเมืองเป็นการลำบาก เสนาฝ่ายเราหรือเสนาฝ่ายอื่นก็อาจรู้ยาก. การทำยุทธนาการภายนอกเมืองเป็นการง่าย จักได้ไม่ต้องทุบตีกันตายในเมือง. ทรงเห็นฉะนี้ จึงตรัสว่า ดีแล้วพ่อ เจ้าจงให้สร้างในสถานที่ที่เจ้ากำหนดเถิด. มโหสถกราบทูลว่า ข้าพระองค์จักให้ทำในที่ ที่กราบทูลและขอพระราชทานอนุญาตแล้วนั้น. ชาวพระนครอย่าพึงไปสู่ที่ทำนวกรรมของข้าพระองค์ เพื่อหาฟืนและใบไม้ เพราะว่าเมื่อชาวเมืองไป จักเกิดทะเลาะวิวาทกัน. ด้วยเหตุนั้นนั่นแหละ ความสำราญพระราชหฤทัยจักไม่มีแด่พระองค์ และความสบายใจก็จักไม่มีแก่ข้าพระองค์. พระเจ้าจุลนีตรัสว่า ดีแล้ว พ่อบัณฑิต เจ้าจงห้ามไม่ให้ใครไปยังประเทศนั้น. มโหสถทูลต่อไปว่า ข้าแต่สมมติเทพ ช้างทั้งหลายของข้าพระองค์ ชอบเล่นน้ำ. เมื่อน้ำเกิดขุ่นมัวขึ้น ถ้าชาวเมืองจักขัดเคืองพวกข้าพระองค์ว่า จำเดิมแต่มโหสถมา พวกเราไม่ได้ดื่มน้ำใส. ขอพระองค์กรุณาอดกลั้นในเรื่องนี้ อย่ากริ้วพวกข้าพระองค์. พระเจ้าจุลนีตรัสว่า ช้างทั้งหลายของพวกเจ้า พวกเจ้าจงปล่อยให้เล่นเถิด. ตรัสฉะนี้ แล้วให้ป่าวร้องว่า ผู้ใดออกจากที่นี้ ไปสู่ที่สร้างพระนครของมโหสถ จักปรับไหมผู้นั้นพันกหาปณะ.
               มโหสถถวายบังคมลาพระเจ้าจุลนีพาพวกของตนออกจากพระนคร ปรารภเพื่อสร้างพระนครในสถานที่กำหนดไว้. ให้สร้างบ้านชื่อคัคคลิริมฝั่งคงคาฟากโน้น ให้ช้างม้ารถพาหนะโคมีกำลังอยู่ในบ้านนั้น พิจารณาการสร้างพระนคร แบ่งการงานทั้งปวงว่า ชนเท่านี้ทำกิจชื่อนี้เป็นต้น และได้เริ่มการงานในอุโมงค์ ประตูอุโมงค์ใหญ่อยู่ริมฝั่งคงคา. ชนทั้งหลายราว ๖,๐๐๐ คนขุดอุโมงค์ใหญ่ นำกรวดทรายที่เทลงๆ นั้น คงคาก็ขุ่นมัวไหลไป ชาวเมืองก็พากันกล่าวว่า ตั้งแต่มโหสถมา พวกเราไม่ได้ดื่มน้ำใส คงคาขุ่นมัวไหลไป เหตุเป็นอย่างไรหนอ. ลำดับนั้น บุรุษที่มโหสถวางไว้ก็แจ้งแก่ชาวเมืองว่า ได้ยินว่า หมู่ช้างของมโหสถเล่นน้ำ ทำให้น้ำในคงคาขุ่นเป็นตม. เพราะเหตุนั้น คงคาจึงขุ่นมัวไหลไป. ธรรมดาว่าความประสงค์ของพระโพธิสัตว์ทั้งหลายย่อมสำเร็จ. เพราะเหตุนั้น รากไม้ ศิลา กรวดทั้งปวงในอุโมงค์ ย่อมจมหายไปในพื้นดิน. ประตูแห่งอุโมงค์ซึ่งเป็นทางเดินอยู่ในเมืองนั้น ชนทั้งหลายราว ๓,๐๐๐ คนขุดอุโมงค์ซึ่งเป็นทางเดิน ให้บรรจุกรวดทรายด้วยถุงหนังไปถมในนครนั้น ให้คลุกเคล้าดินและทรายที่เทไว้ๆ กับน้ำก่อกำแพง และทำกิจอื่นๆ ด้วย.
               ประตูทางเข้ามหาอุโมงค์มีทางในเมือง ประกอบด้วยประตูเป็นคู่ มียนตร์สูง ๑๘ ศอก ก็ในเมื่อเหยียบกดเครื่องสลักห้ามอันหนึ่งเข้า ประตูนั้นก็เปิด. ก่ออิฐ ๒ ข้างแห่งมหาอุโมงค์แล้วให้ฉาบปูน ปูไม้บังเบื้องบนเอาดินเหนียวยาอุดช่องแล้วทาขาว ก็ในอุโมงค์นั้นมีประตูทั้งหมด คือประตูใหญ่ ๘๐ ประตูน้อย ๖๔ ทุกประตูประกอบด้วยยนตร์. ในเมื่อเหยียบกดเครื่องสลักห้ามอันหนึ่งเข้า ประตูทั้งหมดก็ปิด. ในเมื่อเหยียบกดเครื่องสลักห้ามอันหนึ่งเข้า ประตูทั้งหมดก็เปิด. โคมดวงไฟมีมากกว่าร้อย มี ๒ ข้างของมหาอุโมงค์ โคมดวงไฟทั้งสิ้นประกอบด้วยยนตร์ ครั้นเมื่อเปิดยนตร์อันหนึ่ง โคมดวงไฟก็เปิดสว่างพร้อมกันหมด. ครั้นเมื่อปิดยนตร์อันหนึ่ง โคมดวงไฟก็ปิดมืดพร้อมกันหมด.
               ก็ห้องบรรทมร้อยเอ็ดห้องสำหรับพระราชาร้อยเอ็ด มีอยู่ ๒ ข้างแห่งมหาอุโมงค์ ทอดเครื่องลาดต่างๆ ไว้ในห้องบรรทมทุกห้อง. ที่ประทับนั่งแห่งหนึ่งๆ ยกเศวตฉัตรไว้ทุกแห่ง รูปสตรีทำด้วยเส้นป่านรูปหนึ่งๆ งดงามยิ่ง ตั้งไว้อาศัยพระราชสีหาสน์และพระราชมหาสยนะองค์หนึ่งๆ ประดิษฐานไว้แล้ว ถ้าว่า บุคคลไม่จับต้องรูปนั้น ก็ไม่อาจรู้ว่าไม่ใช่รูปคน. อนึ่ง พวกช่างเขียนผู้ฉลาดได้ทำจิตรกรรมเขียนอย่างวิจิตรต่างๆ ทั้ง ๒ ข้างแห่งมหาอุโมงค์ แสดงภาพทั้งปวงไว้ในอุโมงค์แบ่งเขียนเป็นต้นว่า ภาพสักกเทวราชเยื้องกราย มีหมู่เทวดาแวดล้อมและเขาสิเนรุ เขาบริภัณฑ์ สาคร มหาสาคร ทวีป ๔ ป่าหิมพานต์ สระอโนดาต พื้นศิลา ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ สวรรค์ชั้นกามาพจร มีจาตุมหาราชิกาเป็นต้นและสมบัติ ๗ ประการ เกลี่ยกรวดทรายซึ่งมีสีดุจแผ่นเงินที่ภาคพื้น แสดงดอกปทุมห้อยตามช่องเบื้องบน แสดงร้านตลาดขายของมีประการต่างๆ ทั้ง ๒ ข้าง. ห้อยพวงของหอมพวงบุปผชาติเป็นต้นในที่นั้นๆ ประดับอุโมงค์เป็นราวกะสุธรรมาเทพสภา.
               ฝ่ายช่าง ๓๐๐ คน ที่มโหสถให้ไปทำทัพสมภาระแห่งพระราชนิเวศน์ และให้ต่อเรือบรรทุกมานั้น ก็ได้ต่อเรือ ๓๐๐ ลำ บรรทุกทัพสัมภาระที่แต่งเสร็จแล้ว มาทางคงคาแจ้งแก่มโหสถ. มโหสถนำทัพสัมภาระเหล่านั้นไปเป็นเครื่องประกอปใช้การในพระนคร แล้วให้นำเรือทั้งหลายไปรักษาไว้ในที่ปกปิด. สั่งว่า เหล่าเจ้าจงนำมาในวันที่เราสั่ง. การก่อสร้างทั้งปวงในพระนครที่แล้วเสร็จ คือคูน้ำ คูเปือกตม คูแห้ง กำแพงสูง ๑๘ ศอก ป้อมประตูเมือง ซุ้มประตูเมือง พระราชนิเวศน์เป็นต้น โรงช้างเป็นต้น และสระโบกขรณี มหาอุโมงค์ ชังฆอุโมงค์ พระนครทั้งหมดนี้แล้วเสร็จ ๔ เดือน ด้วยประการฉะนี้.
               ต่อนั้นล่วงมาได้ ๔ เดือน พระมหาสัตว์ได้ส่งทูตไปเพื่อเชิญเสด็จพระเจ้าวิเทหราชเสด็จมา.
               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น ตรัสว่า
               มโหสถสร้างพระราชนิเวศน์เพื่อพระเจ้าวิเทหราชผู้ทรงยศเสร็จแล้ว ภายหลังจึงส่งทูตทูลพระเจ้าวิเทหราชว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอเชิญพระองค์เสด็จมาบัดนี้ พระราชนิเวศน์ที่สร้างเพื่อพระองค์สำเร็จแล้ว.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปาหิณี แปลว่า ส่งไปแล้ว.

.. อรรถกถา มโหสถชาดก
อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]
อ่านชาดก 280001อ่านชาดก 280525อรรถกถาชาดก 280600
เล่มที่ 28 ข้อ 600อ่านชาดก 280687อ่านชาดก 281045
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=28&A=3861&Z=4327
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๑๗  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]