ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 

อ่านชาดก 280001อ่านชาดก 280525อรรถกถาชาดก 280600
เล่มที่ 28 ข้อ 600อ่านชาดก 280687อ่านชาดก 281045
อรรถกถา มโหสถชาดก
ว่าด้วย พระมโหสถบัณฑิตทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี

หน้าต่างที่   ๑๑ / ๑๒.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กากปตนกํ ยถา ความว่า เป็นราวกะว่า บ้านที่ทิ้งไว้ใกล้ฝั่งทะเล เกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงกา ที่มาด้วยกลิ่นหอมของปลา.
               พระเจ้าจุลนีได้ทรงสดับดังนั้น ก็ทรงสะทกสะท้านด้วยความโศก เกิดแต่ความพลัดพรากจากกษัตริย์ทั้ง ๔. พระองค์ก็ทรงพิโรธพระโพธิสัตว์เกินเปรียบ ดุจงูพิษถูกตีด้วยท่อนไม้ว่า ความทุกข์ของเรานี้เกิดขึ้น เพราะอาศัยบุตรคฤหบดี. มโหสถเห็นพระอาการกริ้วของพระเจ้าจุลนี จึงคิดว่า พระราชาผู้มีพระยศใหญ่พระองค์นี้ พึงเบียดเบียนเราด้วยขัตติยมานะ ด้วยสามารถแห่งความโกรธ ในกาลบางคราวว่า เราจะต้องการด้วยกษัตริย์ทั้ง ๔ ไปทำไม ไฉน เราจะทำพระนางนันทาเทวีให้เป็นเหมือนพระราชานี้ยังไม่เคยเห็น พึงสรรเสริญสรีรวรรณแห่งพระนางนั้น ทีนั้น พระราชาก็จะทรงระลึกถึงพระนางนั้น ก็จักไม่ทำอะไรๆ แก่เราด้วยทรงรักใคร่ในพระมเหสีของพระองค์ ด้วยทรงคะนึงว่า ถ้าเราฆ่ามโหสถเสีย เราก็จักไม่ได้สตรีรัตนะ เห็นปานนี้. มโหสถคิดฉะนี้ แล้วยืนอยู่บนปราสาทเพื่อการรักษาตัว ได้นำแขนซึ่งมีวรรณะดุจวรรณะแห่งทองคำ ออกในระหว่างรัตกัมพล เมื่อจะสรรเสริญพระนางนั้น ด้วยสามารถแห่งอันกราบทูลมรรคาที่พระนางนั้นเสด็จไป จึงทูลว่า
               ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระนางนันทาเทวีเสด็จไปแล้วจากอุโมงค์นี้ เป็นผู้มีพระสรีราพยพอันงามสรรพ มีพระโสณีควรเปรียบกับแผ่นทองคำธรรมชาติ มีปกติตรัสประภาษไพเราะเสนาะ ดังเสียงลูกหงส์.
               ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระนางนันทาเทวี อันข้าพระองค์นำเสด็จออกไปจากอุโมงค์นี้ เป็นผู้มีสรรพางค์งามน่าทัศนา ทรงพระภูษาโกไสยมีพระรูปอำไพ ดุจสุวรรณสายรัดพระองค์นั้น ก็งามทำด้วยกาญจนวิจิตร มีพระบาทสดใสพระโลหิตขึ้นแดงอันแถลงเบญจกัลยาณี ชี้ไว้เป็นแบบด้วยสามารถแห่งพระฉวี พระมังสา พระเกศา พระเส้นเอ็น และพระอัฐิงามดี มีสายรัดพระองค์แก้วมณีแกมสุวรรณ
               ดวงพระเนตรนั้นเปรียบกับตานกพิราบ มีพระสรีรภาพอันโสภณ ริมพระโอฐแดง ดุจผลตำลึงสุกก็ปานกัน มีบั้นพระองค์บางอย่างประหนึ่งจะรวบกำรอบทีเดียว มีบั้นพระองค์เล็กเรียวดุจเถานาคลดาเกิดแล้วดี แลดุจกาญจนไพที พระศกของพระนางนันทาเทวียาวดำ ปลายช้อยเล็กน้อย ดุจปลายมีด.
               พระนางเจ้านั้นมีดวงพระเนตรเขื่อง ราวกะดวงตาแห่งลูกมฤค ๑ ขวบเกิดดีแล้ว หรือดุจเปลวเพลิงในเหมันตฤดู. แม่น้ำใกล้ภูผาหรือหมู่ไม้ดาดาษไปด้วยไม้ไผ่เล็กๆ ย่อมงดงาม ฉันใด. เส้นพระโลมชาติก็อ่อนงดงาม ฉันนั้น. พระนางมีพระเพลางามดังงวงกุญชรงาม. มีพระถันยุคลดังคู่ผลมะพลับทองงามเป็นที่หนึ่ง มีพระสัณฐานพึงพอดี ไม่สูงนักไม่ต่ำนัก. พระโลมาของพระนางเจ้านั้น มีพองามไม่มากเกิน.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิโต ท่านแสดงถึงอุโมงค์. บทว่า โกสุมฺภผลกสุสฺโสณี ความว่า มีพระโสณีงามปานแผ่นทองคำอันไพศาล. บทว่า หํสคคฺครภาณินี ความว่า ประกอบด้วยการเปล่งเสียงเสนาะไพเราะจับใจ คล้ายเสียงลูกหงส์ที่เที่ยวหากินอยู่. บทว่า โกเสยฺยวสนา ได้แก่ ทรงผ้าไหมขจิตด้วยทอง. บทว่า สามา ได้แก่ มีสรีระดังทอง. บทว่า ปาเรวตกฺขี ความว่า มีดวงพระเนตรเช่นกับนกพิราบ ในฐานอันเลิศทั้งหลายในประสาททั้งห้า. บทว่า สุตนู แปลว่า มีพระสรีระงาม. บทว่า พิมฺโพฏฺฐา ได้แก่ มีริมพระโอฐแดงดังผลตำลึงสุก. บทว่า ตนุมชฺฌิมา ความว่า มีบั้นพระองค์บางดังว่าจะกำได้รอบ. บทว่า สุชาตา ภุชคลฏฺฐีว ความว่า มีบั้นพระองค์งามดุจหน่อไม้มีสีแดงต้องลมไหว ในเวลาเมื่อทรงเยื้องกรายงามไพโรจน์ ดุจเถานาคลดาเกิดดีแล้ว. บทว่า เวทีว ความว่า มีบั้นพระองค์ปานกาญจนไพที. บทว่า อีสกคฺคปเวลฺลิตา ความว่า พระเกศาช้อยที่ปลายนิดหน่อย ชื่อว่า ปลายช้อยเล็กน้อย ช้อยดุจปลายมีด. บทว่า มิคจฺฉาปีว ความว่า ประกอบด้วยดวงตาเขื่อง ดุจลูกมฤค ๑ ขวบเกิดที่เชิงเขา. บทว่า เหมนฺตคฺคิสิขาริว ความว่า งามดุจเปลวไฟในฤดูหนาว เพราะมีแสงสว่าง. บทว่า ขุทฺทเวฬุภิ ความว่า งามด้วยแถวโลมชาติบางๆ เหมือนอย่างแม่น้ำที่ดาดาษด้วยไม้ไผ่เล็กๆ ย่อมงามฉะนั้น. บทว่า กลฺยาณี ความว่า ประกอบด้วยความงาม ๕ อย่าง คืองามผิว งามเนื้อ งามผม งามเส้นเอ็นและงามกระดูก. บทว่า ปฐมา ติมฺพรุตฺถนี ความว่า พระนางนันทาเทวีนั้นมีพระยุคลถันชิดกัน สมบูรณ์ด้วยสัณฐาน ปานประหนึ่งคู่แห่งผลมะพลับทองที่วางไว้บนแผ่นทองฉะนั้น งามเป็นที่หนึ่ง คือสูงสุด.
               เมื่อพระมหาสัตว์พรรณนา รูปสิริของพระนางนันทาเทวีอย่างนี้แล้ว พระนางเธอได้เป็นเหมือนพระเจ้าจุลนีไม่เคยได้ทอดพระเนตรเห็นมาก่อน พระองค์เกิดความเสน่หามีกำลัง.
               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทราบว่า พระเจ้าจุลนีมีความเสน่หาเกิดขึ้น จึงได้กล่าวคาถา เป็นลำดับไปว่า
               ข้าแต่พระองค์ผู้มีพาหนะสมบูรณ์ด้วยสิริ พระองค์ทรงยินดีด้วยการทิวงคตของพระนางนันทาเทวีเป็นแน่ ข้าพระองค์และพระนางนันทาเทวี จะไปสู่สำนักยมราชเป็นแน่.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สิริพาหน ความว่า มโหสถกล่าวว่า ข้าแต่พระมหาราชผู้มีพาหนะถึงพร้อมด้วยสิริ พระองค์ย่อมทรงยินดีด้วยการทิวงคตของพระนางนันทาเทวี ผู้ทรงพระรูปอันอุดมอย่างนี้แน่. บทว่า คจฺฉาม ความว่า ก็ถ้าพระองค์จักฆ่าข้าพระองค์ พระราชาของข้าพระองค์ก็จักฆ่าพระนางนันทาเทวีอย่างเดียวกัน เพราะฉะนั้น พระนางนันทาเทวีและข้าพระองค์ก็จักไปสำนักของยมราช ยมราชเห็นข้าพระองค์ทั้งสองแล้ว ก็จักให้พระนางนันทาเทวีแก่ข้าพระองค์เท่านั้น เมื่อข้าพระองค์แม้ตายแล้วก็ยังได้นางแก้วเช่นนั้น จักเสียประโยชน์อะไรเล่า ข้าพระองค์แลไม่เห็นความเสื่อมเพราะตัวต้องตาย พระเจ้าข้า. ได้ยินว่า มโหสถกราบทูลพระเจ้าจุลนีอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               พระมหาสัตว์สรรเสริญพระนางนันทาเทวีในฐานะเท่านี้ หาสรรเสริญกษัตริย์อีก ๓ องค์ไม่ ด้วยประการฉะนี้ เพราะเหตุไร เพราะธรรมดาสัตว์ทั้งหลายย่อมไม่ทำสิเนหาอาลัยในชนอื่นๆ ดุจในภรรยาที่รัก หรือว่าชนทั้งหลาย เมื่อไม่ระลึกถึงมารดา ก็จักไม่ระลึกถึงบุตรและธิดา เพราะเหตุนั้น พระโพธิสัตว์จึงสรรเสริญพระนางนันทาเทวีเท่านั้น ไม่สรรเสริญพระราชมารดา เพราะทรงพระชราแล้ว. ในเมื่อพระมหาสัตว์สรรเสริญพระนางนันทาเทวีด้วยเสียงอ่อนหวาน พระนางนันทาเทวีก็ได้เป็นเหมือนมาประทับอยู่หน้าที่นั่งพระเจ้าจุลนี แต่นั้น พระเจ้าจุลนีจึงทรงคิดว่า ยกมโหสถบัณฑิตเสีย บุคคลอื่นที่ชื่อว่าสามารถจะพามเหสีที่รักของเรามาให้แก่เรา ย่อมไม่มี. ลำดับนั้น เมื่อพระเจ้าจุลนีทรงระลึกพระนางเจ้านั้น ความโศกก็เกิดขึ้น พระโพธิสัตว์จึงทูลเล้าโลมพระเจ้าจุลนีว่า พระองค์อย่าทรงวิตกเลย พระราชเทวี พระราชโอรส และพระราชชนนีของพระองค์ทั้ง ๓ องค์จักเสด็จกลับมา ข้าพระองค์กลับไปนั่นแหละเป็นกำหนดแน่ ในการเสด็จกลับแห่งกษัตริย์ทั้ง ๓ องค์นั้น เพราะฉะนั้น ขอพระองค์วางพระหฤทัยเสียเถิด พระเจ้าข้า.
               ลำดับนั้น พระเจ้าจุลนีทรงคิดว่า เราให้ทำการพิทักษ์รักษาเมืองของเราเป็นอันดี แล้วมาตั้งล้อมอุปการนครนี้ด้วยพลพาหนะถึงเท่านี้ มโหสถยังนำพระเทวีโอรสธิดา และพระชนนีของเรา จากเมืองเราซึ่งรักษาดีแล้วอย่างนี้ไปให้พระเจ้าวิเทหราชได้ และเมื่อพวกเราตั้งล้อมอยู่อย่างนี้ มโหสถยังพระเจ้าวิเทหราชทั้งพลพาหนะให้หนีไป แม้สักคนหนึ่งก็หามีใครรู้ไม่ มโหสถรู้เล่ห์กลอันเป็นทิพย์หรือ หรือเพียงอุบายบังตาหนอ. เมื่อจะตรัสถามข้อความกะมโหสถ จึงตรัสคาถาว่า
               เจ้ารู้เล่ห์กลอันเป็นทิพย์ หรือเจ้าได้ทำอุบายเพียงบังตา ในการที่เจ้าปล่อยพระเจ้าวิเทหราชผู้เป็นศัตรูของข้า ซึ่งตกอยู่ในเงื้อมมือข้าแล้ว.

               มโหสถได้ฟังรับสั่งจึงทูลว่า ข้าพระองค์รู้เล่ห์กลอันเป็นทิพย์ จริงอยู่ บัณฑิตทั้งหลายย่อมเรียนเล่ห์กลอันเป็นทิพย์ไว้ ครั้นเมื่อภัยมาถึง ก็ปลดเปลื้องตนบ้าง ผู้อื่นบ้างให้พ้นทุกข์. ทูลฉะนี้ แล้วทูลว่า
               ข้าแต่พระมหาราชเจ้า บัณฑิตทั้งหลายในโลกนี้ ย่อมบรรลุเล่ห์กลอันเป็นทิพย์ บัณฑิตชนผู้มีความรู้เหล่านั้น จึงเปลื้องตนจากทุกข์ได้. เหล่าโยธารุ่นหนุ่มเป็นคนฉลาด เป็นทหารขุดอุโมงค์ของข้าพระองค์ มีอยู่. พระเจ้าวิเทหราชเสด็จไปกรุงมิถิลา โดยทางที่ทหารเหล่านี้ทำไว้.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทิพฺพมายีธ ตัดบทเป็น ทิพฺพมายํ อิธ. บทว่า มาณวปุตฺต ได้แก่ เหล่าโยธารุ่นหนุ่มผู้บำรุง. บทว่า เยสํ กเตน ได้แก่ ที่พวกเขาทำไว้. บทว่า มคฺเคน ได้แก่ โดยอุโมงค์ที่ตกแต่งไว้.
               พระเจ้าจุลนีได้ทรงสดับคำนี้แล้ว ก็ใคร่จะทอดพระเนตรอุโมงค์ โดยทรงคิดว่า มโหสถแจ้งว่า ได้ยินว่า พระเจ้าวิเทหราชได้เสด็จไปโดยอุโมงค์ที่ตกแต่งไว้ อุโมงค์เป็นอย่างไรหนอ. ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์รู้ว่า พระเจ้าจุลนีมีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรอุโมงค์ จึงคิดว่า พระราชาใคร่จะทอดพระเนตรอุโมงค์ เราจักแสดงอุโมงค์แก่พระองค์. เมื่อจะแสดง จึงได้กล่าวคาถานี้ว่า
               เชิญเถิด พระเจ้าข้า ขอเชิญพระองค์ทอดพระเนตรอุโมงค์ที่ได้สร้างไว้ดีแล้ว งามรุ่งเรืองด้วยระเบียบแห่งกองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ ซึ่งสำเร็จดีแล้วตั้งอยู่.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า หตฺถีนํ ความว่า ขอเชิญพระองค์ทอดพระเนตรอุโมงค์ที่งามรุ่งเรือง ด้วยระเบียบแห่งกองพลช้างเป็นต้นเหล่านี้ ที่นายช่างทำด้วยโปตถกรรม (การแกะสลัก) และจิตรกรรม (การเขียนภาพ) มีแสงสว่างเป็นอย่างเดียวกัน เช่นกับเทวสภาที่ตกแต่งแล้ว.
               ก็แลครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว มโหสถได้ทูลต่อไปว่า อุโมงค์ซึ่งตกแต่งแล้ว ข้าพระองค์ให้สร้างไว้ด้วยปัญญาของข้าพระองค์ เป็นราวกะปรากฏแล้วในที่ตั้งขึ้นแห่งดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ พระองค์จงทอดพระเนตรประตูใหญ่ ๘๐ ประตูน้อย ๖๔ ห้องนอน ๑๐๑ โคมดวงประทีป ๑๐๑ พระองค์ จงเป็นผู้พร้อมเพรียงบันเทิงกับด้วยข้าพระองค์ เสด็จเข้าไปสู่อุปการนครกับด้วยราชบริพาร. ทูลฉะนี้ แล้วให้เปิดประตูเมือง. พระเจ้าจุลนี พระราชาร้อยเอ็ดแวดล้อมเสด็จเข้าสู่เมือง. พระมหาสัตว์ลงจากปราสาท ถวายบังคมพระเจ้าจุลนี พาพระราชาพร้อมด้วยราชบริพารเข้าสู่อุโมงค์. พระเจ้าจุลนีทอดพระเนตรเห็นอุโมงค์ราวกะเทวสภา. เมื่อจะทรงพรรณนาคุณแห่งพระโพธิสัตว์ จึงตรัสว่า
               ดูก่อนมโหสถ บัณฑิตทั้งหลายเช่นนี้ เหล่านี้อย่างตัวเจ้าอยู่ในเรือน ในแว่นแคว้นแห่งผู้ใด เป็นลาภของชาววิเทหรัฐและชาวกรุงมิถิลา ผู้ได้อยู่ร่วมกับผู้นั้น.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิเทหานํ ความว่า เป็นลาภของชาววิเทหะ คือของชนบทที่เป็นบ่อเกิด คือเป็นที่ตั้งขึ้นแห่งเหล่าบัณฑิตเห็นปานนี้หนอ. บทว่า ยสฺสิเม อีทิสา ความว่า บัณฑิตทั้งหลายผู้ฉลาดในอุบายเหล่านี้ คือเห็นปานนี้ อยู่ในเรือนเดียวกัน ในประเทศเดียวกัน หรือในแว่นแคว้นเดียวกัน ของผู้ใดเป็นลาภของผู้นั้นหนอ. บทว่า ยถา ตฺวมสิ ความว่า ชนทั้งหลายย่อมได้เพื่ออันอยู่ในรัฐเดียวกัน ในชนบทเดียวกัน ในนครเดียวกัน ในเรือนเดียวกัน กับบัณฑิตเช่นนั้นเหมือนอย่างตัวท่านนั่นแหละ เป็นลาภของชนเหล่านั้น คือของชาววิเทหรัฐและชาวกรุงมิถิลา ผู้ได้อยู่ร่วมกับท่าน. พระเจ้าจุลนีพรหมทัตมีพระดำรัสดังนี้.
               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ได้แสดงห้องนอน ๑๐๑ ห้องแด่พระเจ้าจุลนี. ครั้นประตูห้องหนึ่งเปิด ประตูทั้งหมดก็เปิด. ครั้นประตูห้องหนึ่งปิด ประตูทั้งหมดก็ปิด. เมื่อพระราชาทอดพระเนตรพลางเสด็จไปข้างหน้า มโหสถโดยเสด็จไปข้างหลัง เสนาทั้งปวงก็เข้าไปสู่อุโมงค์ พระราชาเสด็จออกจากอุโมงค์ มโหสถรู้ว่าเสด็จออก จึงตามออกมาบ้าง ไม่ให้ชนทั้งปวงออก ปิดประตูอุโมงค์เหยียบเครื่องสลักยนตร์ ประตูใหญ่ ๘๐ ประตูน้อย ๖๔ ประตูห้องนอน ๑๐๑ และโคมดวงประทีป ๑๐๑ ก็ปิดพร้อมกัน อุโมงค์ทั้งสิ้นก็มืดราวกะโลกันตนรก. มหาชนทั้งกลัวทั้งสะดุ้งอันมรณภัยคุกคามแล้ว พระมหาสัตว์หยิบดาบซึ่งตนเข้าไปฝังทรายไว้เมื่อวานนี้ แล้วโดดขึ้นจากพื้นสู่อากาศสูง ๑๘ ศอก แล้วกลับลงมาจากอากาศ จับพระหัตถ์พระเจ้าจุลนีพรหมทัตไว้ เงื้อดาบให้ตกพระหฤทัยทูลถามว่า ราชสมบัติในสกลชมพูทวีปเป็นของใคร. พระราชากลัวตรัสตอบว่า เป็นของเธอ. แล้วตรัสว่า เธอจงให้อภัยแก่ข้า. มโหสถทูลว่า พระองค์อย่าตกพระหฤทัยกลัวเลย พระเจ้าข้า. ข้าพระองค์จับดาบด้วยใคร่จะปลงพระชนม์ก็หาไม่ ข้าพระองค์จับเพื่อจะสำแดงปัญญานุภาพของข้าพระองค์. ทูลฉะนี้ แล้วถวายดาบนั้นต่อพระหัตถ์พระราชา. ลำดับนั้น มโหสถทูลพระราชาผู้ทรงถือดาบประทับยืนอยู่ว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ถ้าพระองค์ทรงใคร่จะฆ่าข้าพระองค์ ก็จงฆ่าด้วยดาบเล่มนี้. ถ้าพระองค์ทรงใคร่จะพระราชทานอภัย ก็จงพระราชทาน. พระราชาตรัสตอบว่า ดูก่อนบัณฑิต ข้าให้อภัยแก่เธอจริงๆ เธออย่าคิดอะไรเลย. พระราชาจุลนีพรหมทัตกับมโหสถโพธิสัตว์ทั้งสองต่างจับดาบทำสาบาน เพื่อไม่ประทุษร้ายต่อกันและกัน. ลำดับนั้น พระเจ้าจุลนีตรัสกะพระโพธิสัตว์ว่า ดูก่อนบัณฑิต เธอเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยกำลังปัญญาอย่างนี้ เหตุไรไม่เอาราชสมบัติเสีย. มโหสถทูลตอบว่า ถ้าพระองค์อยากได้ ก็จะฆ่าพระราชาในสกลชมพูทวีปเสียในวันนี้แล้วเอาราชสมบัติ ก็แต่การฆ่าผู้อื่นแล้วถือเอายศ นักปราชญ์ทั้งหลายไม่สรรเสริญ.
               ลำดับนั้น พระราชาตรัสว่า ดูก่อนบัณฑิต มหาชนออกจากอุโมงค์ไม่ได้ก็คร่ำครวญ เธอจงเปิดประตูอุโมงค์ให้ชีวิตทานแก่มหาชน. มโหสถเปิดประตูอุโมงค์ อุโมงค์ทั้งสิ้นก็มีแสงสว่างเป็นอันเดียวกัน. มหาชนกลับได้ความยินดี พระราชาทั้งปวงออกจากอุโมงค์กับเสนาไปสู่สำนักมโหสถ. มโหสถสถิตอยู่ ณ พลับพลาอันกว้างขวางกับพระราชาจุลนี. ลำดับนั้น พระราชาเหล่านั้นตรัสกะมโหสถว่า พวกข้าพเจ้าได้ชีวิตเพราะอาศัยท่าน ถ้าท่านไม่เปิดประตูอุโมงค์อีกครู่เดียว ข้าพเจ้าทั้งปวงก็จักถึงความตายในอุโมงค์นั้น นั่นเอง. มโหสถทูลตอบว่า ข้าแต่มหาราชทั้งหลาย พระองค์ไม่เสียพระชนมชีพเพราะอาศัยข้าพระองค์ แต่ในบัดนี้ก็หาไม่. แม้ในกาลก่อน พระองค์ก็ได้อาศัยข้าพระองค์ จึงยังดำรงพระชนมชีพอยู่. พระราชาเหล่านั้นตรัสถามว่า เมื่อไร บัณฑิต. มโหสถบันฑิตจึงทูลว่า ถ้าอย่างนั้น ขอพระองค์ทรงฟัง ทรงระลึกถึงกาล เมื่อพระเจ้าจุลนียึดราชสมบัติในชมพูทวีปทั้งสิ้นได้ ยกเสียแต่เมืองของพวกข้าพระองค์ แล้วกลับอุตตรปัญจาลราชธานี แล้วจัดแต่งสุรา เพื่อดื่มชัยบานในสวนหลวง ได้หรือไม่. พระราชาเหล่านั้นรับว่า ระลึกได้.
               มโหสถจึงทูลว่า ในกาลนั้น พระราชาจุลนีกับเกวัฏผู้มีความคิดชั่ว ประกอบกิจนั้นเพื่อปลงพระชนม์เหล่าพระองค์ ด้วยสุราที่ประกอบด้วยยาพิษและมัจฉมังสะเป็นต้น. ทีนั้น ข้าพระองค์จึงรำพึงว่า เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ เหล่าพระองค์จงอย่าได้เสียพระชนมชีพ โดยหาที่พึ่งมิได้เลย. คิดในใจดังนี้ จึงส่งพวกคนของข้าพระองค์ไป ให้ทำลายภาชนะทั้งปวง ทำลายความคิดของพวกนั้นเสีย ได้ให้ชีวิตทานแด่พระองค์ทั้งหลาย. พระราชาเหล่านั้นทั้งหมดได้สดับคำของมโหสถ ก็มีพระมนัสหวาดเสียว จึงทูลถามพระเจ้าจุลนีว่า จริงหรือไม่ พระเจ้าข้า. พระเจ้าจุลนีตรัสตอบว่า จริง ดิฉันเชื่อถ้อยคำของอาจารย์เกวัฏได้ทำอย่างนั้น มโหสถบัณฑิตได้กล่าวจริงทีเดียว. พระราชาเหล่านั้นต่างสวมกอดพระมหาสัตว์ ตรัสว่า แน่ะบัณฑิต ท่านได้เป็นที่พึ่งของพวกข้าพเจ้า พวกข้าพเจ้าได้รอดชีวิตเพราะท่าน. ตรัสฉะนี้ แล้วบูชาพระโพธิสัตว์ด้วยราชาภรณ์ทั้งปวง. มโหสถทูลพระเจ้าจุลนีอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระองค์อย่าได้ทรงคิดเลย นั่นเป็นโทษของการซ่องเสพด้วยมิตรลามกนั่นเอง ขอพระองค์ยังพระราชาเหล่านั้นให้งดโทษ. พระราชาพรหมทัตตรัสว่า เราได้ทำกรรมเห็นปานนี้แก่พวกท่าน เพราะอาศัยคนชั่ว นั่นเป็นความผิดของข้าพเจ้า ท่านทั้งหลายจงงดโทษแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจักไม่ทำกรรมเห็นปานนี้อีก. รับสั่งฉะนี้ แล้วให้พระราชาเหล่านั้นขมาโทษ. พระราชาเหล่านั้นแสดงโทษกะกันและกัน แล้วเป็นผู้พร้อมเพรียง ชื่นชมต่อกัน.
               ลำดับนั้น พระเจ้าจุลนีให้นำ ขาทนียะและโภชนียะเป็นอันมาก และดนตรีของหอมดอกไม้เป็นต้นมา เล่นอยู่ในอุโมงค์กับด้วยกษัตริย์ทั้งปวงตลอดสัปดาห์ แล้วเข้าสู่พระนคร ให้ทำสักการะใหญ่แก่พระมหาสัตว์ แวดล้อมไปด้วยพระราชาร้อยเอ็ด ประทับนั่ง ณ พื้นพระราชมณเฑียร ตรัสด้วยมีพระราชประสงค์ จะให้มโหสถบัณฑิตอยู่ในราชสำนักของพระองค์ ว่า
               ข้าจะให้เครื่องเลี้ยงชีพ การบริหาร เบี้ยเลี้ยงและบำเหน็จเพิ่มขึ้น ๒ เท่า และให้โภคสมบัติอันไพบูลย์อื่นๆ เจ้าจงใช้สอยสิ่งที่ปรารถนา จงรื่นรมย์เถิด อย่ากลับไปหาพระเจ้าวิเทหราชเลย พระเจ้าวิเทหราชจักทำอะไรได้.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วุตฺตึ ได้แก่ เครื่องเป็นไปแห่งชีวิตที่อาศัยได้. บทว่า ปริหารํ ได้แก่ ให้คามและนิคม. บทว่า ภตฺตํ ได้แก่ อาหาร. บทว่า เวตนํ ได้แก่ เสบียง. บทว่า โภเค ความว่า ข้าจะให้โภคสมบัติอันไพบูลย์แม้อื่นๆ แก่เจ้า.
               ฝ่ายมโหสถบัณฑิต เมื่อจะทูลห้ามพระเจ้าจุลนี ได้ทูลว่า
               ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ผู้ใดสละท่านผู้ชุบเลี้ยงตน เพราะเหตุแห่งทรัพย์ ผู้นั้นย่อมถูกตนเองและผู้อื่นติเตียนทั้งสองฝ่าย. พระเจ้าวิเทหราชยังทรงพระชนม์อยู่เพียงใด ข้าพระองค์ไม่พึงเป็นราชบุรุษของพระราชาอื่นเพียงนั้น.
               ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ผู้ใดสละท่านผู้ชุบเลี้ยงตน เพราะเหตุแห่งทรัพย์ ผู้นั้นย่อมถูกตนเองและผู้อื่นติเตียนทั้งสองฝ่าย. พระเจ้าวิเทหราชยังดำรงพระชนม์อยู่เพียงใด ข้าพระองค์ไม่พึงอยู่ในแว่นแคว้นของพระราชาอื่นเพียงนั้น.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อตฺตโน จ ปรสฺส จ ความว่า บุคคลย่อมติเตียนตนด้วยตนว่า บาปเห็นปานนี้ อันเราผู้สละท่านผู้ชุบเลี้ยงตน เพราะเหตุแห่งทรัพย์กระทำแล้ว แม้ผู้อื่นก็ย่อมติเตียนด้วยเหตุนี้ว่า ผู้นี้มีธรรมเลวทราม สละท่านผู้ชุบเลี้ยงตนมาเพราะเหตุแห่งทรัพย์ เพราะเหตุนั้น เมื่อพระเจ้าวิเทหราชยังดำรงพระชนม์อยู่ ข้าพระองค์ไม่อาจอยู่ในแว่นแคว้นของพระราชาอื่นได้.
               ลำดับนั้น พระเจ้าจุลนีตรัสกะมโหสถว่า แน่ะบัณฑิต ถ้าอย่างนั้น ท่านจงให้ปฏิญญาว่าจะมาในนครนี้ ในเมื่อพระราชาของท่านทิวงคตแล้ว. มโหสถทูลสนองว่า ดีแล้ว พระเจ้าข้า เมื่อข้าพระองค์ยังมีชีวิตอยู่จักมา. ลำดับนั้น พระเจ้าจุลนีพรหมทัตทรงทำมหาสักการะแก่พระโพธิสัตว์ตลอดสัปดาห์ ครั้นล่วงไปอีกสัปดาห์ เวลาที่มโหสถทูลลา เมื่อจะตรัสว่า แน่ะบัณฑิต ข้าให้สิ่งนี้ๆ แก่เจ้า จึงตรัสคาถาว่า
               ดูก่อนมโหสถบัณฑิต ข้าให้ทอง ๑,๐๐๐ นิกขะ และบ้าน ๘๐ บ้านในแคว้นกาสีแก่เจ้า. ข้าให้ทาสี ๔๐๐ คน และภรรยา ๑๐๐ คนแก่เจ้า เจ้าจงพาเสนางคนิกรทั้งปวงไปโดยสวัสดีเถิด.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิกฺขสหสฺสํ ความว่า ๕ สุวัณณะเป็น ๑ นิกขะ ให้ทอง ๑,๐๐๐ นิกขะ. บทว่า คาเม ความว่า บ้านเหล่าใดเก็บส่วยได้ปีละหนึ่งแสนกหาปณะ ข้าให้บ้านเหล่านั้นแก่เจ้า. บทว่า กาสิสุ ได้แก่ ในแคว้นของประชาชนชาวกาสี.
               กาสิกรัฐนั้นอยู่ใกล้วิเทหรัฐ เพราะฉะนั้น พระเจ้าจุลนีจึงประทานบ้าน ๘๐ บ้านในกาสิกรัฐนั้นแก่มโหสถ. ฝ่ายมโหสถทูลพระเจ้าจุลนีว่า พระองค์อย่าทรงวิตกถึงพระราชวงศ์เลย ข้าพระองค์ได้ทูลพระราชาของข้าพระองค์ไว้ ในกาลเมื่อพระองค์เสด็จไปกรุงมิถิลาว่า ขอพระองค์จงตั้งพระนางนันทาเทวีไว้ในที่พระราชชนนี จงตั้งพระปัญจาลจันทกุมารไว้ในที่พระกนิษฐภาดา. ทูลฉะนั้น แล้วได้อภิเษกพระนางปัญจาลจันทีราชธิดาของพระองค์กับพระเจ้าวิเทหราช แล้วจึงได้ส่งเสด็จพระเจ้าวิเทหราช. ข้าพระองค์จักส่งพระราชมารดา พระนางนันทาเทวี และพระราชโอรสของพระองค์กลับมาโดยเร็วทีเดียว. พระเจ้าจุลนีพรหมทัตตรัสว่า ดีแล้ว พ่อบัณฑิต. แล้วยังมโหสถให้รับฝากข้าชายหญิงโคกระบือ และเครื่องประดับ และทองเงินช้างม้ารถอันตกแต่งแล้วเป็นต้น ที่พึงพระราชทานแก่พระราชธิดา ด้วยพระดำรัสว่า เจ้าพึงให้ทรัพย์เหล่านี้แก่พระปัญจาลจันทีราชบุตรีข้า. เมื่อทรงพิจารณากิจอันควรทำแก่เสนาพาหนะ จึงตรัสว่า
               พวกเจ้าจงให้อาหารแก่ช้างและม้าเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า เพียงใด จงเลี้ยงดูกองรถและกองราบให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำ เพียงนั้น.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยาว ความว่า มิใช่เพิ่มเป็นสองเท่าอย่างเดียวเท่านั้น พระเจ้าจุลนีตรัสว่า จงให้อาหารมีข้าวเหนียวและข้าวสาลีเป็นต้นแก่ช้างและม้าทั้งหลายจนเพียงพอ. บทว่า ตปฺเปนฺตุ ความว่า จงให้เท่าที่ไปไม่ลำบากในระหว่างทาง ให้อิ่มหนำ.
               ก็แลครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว เมื่อทรงส่งมโหสถบัณฑิตไป พระเจ้าจุลนีตรัสว่า
               พ่อบัณฑิต เจ้าจงพากองช้าง กองม้า กองรถ กองราบไป ขอพระเจ้าวิเทหมหาราช จงทอดพระเนตรเห็นเจ้าผู้ไปถึงกรุงมิถิลา.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มิถิลํ คตํ ความว่า ขอพระเจ้าวิเทหราชจงทอดพระเนตรเห็นเจ้าถึงกรุงมิถิลาโดยสวัสดี.
               พระเจ้าจุลนีทรงทำสักการะใหญ่แก่มโหสถบัณฑิตแล้วทรงส่งไป ด้วยประการฉะนี้. แม้พระราชาร้อยเอ็ดเหล่านั้น ก็ทำมหาสักการะประทานบรรณาการเป็นอันมาก. ฝ่ายเหล่าบุรุษที่มโหสถวางไว้ในสำนักของพระราชาร้อยเอ็ดเหล่านั้น ก็แวดล้อมมโหสถ. มโหสถเดินทางไปด้วยบริวารมาก ในระหว่างทางได้ส่งคนไปเก็บส่วยแต่บ้านที่พระเจ้าจุลนีประทาน ถึงวิเทหรัฐ. ฝ่ายอาจารย์เสนกะได้วางคนไว้ในระหว่างทางสั่งว่า เจ้าจงดูพระเจ้าจุลนีเสด็จมาหรือไม่เสด็จมา และบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งมา จงบอกข้า. ฝ่ายคนผู้รับคำสั่งของเสนกะเห็นมโหสถมาแต่ไกลราว ๓ โยชน์จึงมาแจ้งแก่เสนกะว่า มโหสถมากับบริวารเป็นอันมาก เสนกะได้ฟังประพฤติเหตุ จึงได้ไปสู่ราชสำนัก. ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราชประทับอยู่ ณ พื้นปราสาท ทอดพระเนตรภายนอกทางพระแกลเห็นกองทัพใหญ่. ทรงรำพึงว่า เสนาของมโหสถน้อย ก็เสนานี้ปรากฏว่ามากเหลือเกิน พระเจ้าจุลนีเสด็จมากระมังหนอ. ทรงรำพึงดังนี้ ก็ทั้งทรงกลัวทั้งทรงสะดุ้ง เมื่อจะตรัสถามอาจารย์ทั้ง ๔ จึงตรัสว่า
               เสนา คือ กองช้าง กองม้า กองรถ กองราบนั้นปรากฏมากมาย เป็นจตุรงคินีเสนาที่น่ากลัว บัณฑิตทั้งหลายสำคัญอย่างไรหนอ.

               ลำดับนั้น เสนกะ เมื่อจะกราบทูลข้อความนั้น จึงกล่าวว่า
               ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ความยินดีอย่างสูงสุด ย่อมปรากฏเฉพาะแด่พระองค์ มโหสถพากองทัพทั้งปวงมาถึงแล้ว โดยสวัสดี.

               พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงฟังคำของเสนกะ จึงตรัสว่า ดูก่อนท่านเสนกะ เสนาของมโหสถบัณฑิตน้อย ก็แต่นี่มากมาย. เสนกะทูลตอบว่า มโหสถจักทำให้พระเจ้าจุลนีทรงเลื่อมใส พระเจ้าจุลนีทรงเลื่อมใส แล้วจักพระราชทานเสนาแก่มโหสถ. พระเจ้าวิเทหราช จึงให้เอากลองตีป่าวร้อง ในพระนครว่า ชาวเมืองทั้งหลายจงตกแต่งพระนครต้อนรับมโหสถบัณฑิต ชาวพระนครก็ทำตามประกาศ. มโหสถเข้าพระนครไปสู่ราชสำนัก ถวายบังคมพระเจ้าวิเทหราชแล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง.
               ลำดับนั้น พระเจ้าวิเทหราชเสด็จลุกขึ้น สวมกอดมโหสถ แล้วประทับเหนือบัลลังก์อันประเสริฐ เมื่อจะทรงทำปฏิสันถาร จึงตรัสว่า
               คน ๔ คน นำคนตายไปทิ้งไว้ในป่าช้าแล้วกลับไป ฉันใด พวกเราทิ้งเจ้าไว้ในกัปปิลรัฐแล้วกลับมาในที่นี้ ก็ฉันนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น เจ้าเปลื้องตนพ้นมาได้ เพราะเหตุอะไร เพราะปัจจัยอะไร หรือเพราะผลอะไร.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จตุโร ชนา ความว่า แน่ะบัณฑิต คน ๔ คนนำคนตายไปป่าช้าด้วยเตียง ทิ้งคนตายนั้นไว้ในป่าช้านั้น ไม่เหลียวแลไป ฉันใด. พวกเราทิ้งเจ้าไว้ในกัปปิลรัฐมาที่นี้ ก็ฉันนั้น. บทว่า วณฺเณน ได้แก่ ด้วยเหตุ. บทว่า เหตุนา ได้แก่ ด้วยปัจจัย. บทว่า อตฺถชาเตน ได้แก่ ด้วยผล. บทว่า ปริโมจยิ ความว่า พระเจ้าวิเทหราชตรัสถามมโหสถว่า เจ้าตกอยู่ในเงื้อมมือของข้าศึก เปลื้องตนพ้นมาได้ ด้วยเหตุอะไร ด้วยปัจจัยอะไร ด้วยผลอะไร.
               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทูลตอบว่า
               ข้าแต่พระจอมวิเทหรัฐ ข้าพระองค์ป้องกันข้อความด้วยข้อความ ป้องกันความคิดด้วยความคิด พระเจ้าข้า. ใช่แต่เท่านั้น ข้าพระองค์ยังป้องกันพระราชา ดังสาครกั้นล้อมชมพูทวีปไว้ ฉะนั้น.

               เนื้อความของคาถานั้นว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ข้าพระองค์ป้องกันข้อความที่พวกนั้นคิดไว้ ด้วยข้อความที่ข้าพระองค์คิดแล้ว. ข้าพระองค์ป้องกันความคิดที่พวกนั้นคิดไว้ ด้วยความคิดของข้าพระองค์. ใช่แต่เท่านั้น ข้าพระองค์ยังได้ป้องกันพระราชาแม้นั้น ผู้มีพระราชาร้อยเอ็ดเป็นบริวาร ถึงเพียงนี้ทีเดียว ดุจสาครกั้นล้อมชมพูทวีปไว้ ฉะนั้น. มโหสถกล่าวกรรมที่ตนทำทั้งหมด โดยพิสดาร.
               พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงสดับดังนั้นแล้ว ทรงโสมนัส ลำดับนั้น มโหสถบัณฑิต เมื่อจะทูลถึงบรรณาการที่พระเจ้าจุลนีพระราชทานแก่ตนให้ทรงทราบ จึงทูลว่า
               พระเจ้าจุลนีพระราชทานทอง ๑,๐๐๐ มิกขะ บ้าน ๘๐ บ้านในแคว้นกาสี ทาสี ๔๐๐ คนและภรรยา ๑๐๐ คนแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์ได้พา เสนางคนิกรของข้าพระองค์ทั้งหมดมาในที่นี้ โดยสวัสดี.

               แต่นั้น พระราชาทรงยินดีร่าเริงเหลือเกิน เมื่อจะตรัสสรรเสริญคุณของพระมหาสัตว์ จึงทรงเปล่งอุทานนั้น นั่นแลว่า
               แน่ะเสนกาจารย์ การอยู่ร่วมด้วยเหล่าบัณฑิตเป็นสุขดีหนอ เพราะว่ามโหสถปลดเปลื้องพวกเรา ผู้ตกอยู่ในเงื้อมมือข้าศึก ดุจบุคคลปลดเปลื้องฝูงนกที่ติดอยู่ในกรง หรือฝูงปลาที่ติดอยู่ในแห ฉะนั้น.

               ฝ่ายเสนกบัณฑิต เมื่อจะรับพระราชดำรัส ได้กล่าวคาถานั้น นั่นแลว่า
               ข้าแต่พระมหาราชเจ้า บัณฑิตทั้งหลายนำความสุขมาแท้จริง อย่างนี้ทีเดียว มโหสถปลดเปลื้องพวกเราผู้ตกอยู่ในเงื้อมมือข้าศึก ดุจบุคคลปลดเปลื้องฝูงนกที่ติดอยู่ในกรง หรือฝูงปลาที่ติดอยู่ในแห ฉะนั้น.

               ลำดับนั้น พระเจ้าวิเทหราชให้ตีกลองป่าวร้องในพระนครว่า ชาวเมืองจงเล่นมหรสพใหญ่ตลอดสัปดาห์ คนเหล่าใดมีความรักในตัวเรา คนเหล่านั้นทั้งหมด จงทำสักการะและสัมมานะ แก่มโหสถบัณฑิตเถิด.
               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น ตรัสว่า
               ชาวเมืองซึ่งนับว่าเกิดในแคว้นมคธ จงดีดพิณทั้งปวง จงตีกลองเล็กกลองใหญ่และมโหระทึก จงพากันโห่ร้องบันลือเสียงให้เซ็งแซ่.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาหญฺญนฺตุ ได้แก่ จงประโคมดนตรี. บทว่า มาคธา สํขา ความว่า นับว่าเกิดในมคธรัฐ. บทว่า ทุนฺทภี ได้แก่ กองใหญ่.
               ลำดับนั้น ชาวเมืองและชาวชนบทเหล่านั้น ตามปกติก็ใคร่จะกระทำ สักการะแก่มโหสถบัณฑิตอยู่แล้ว. ครั้นได้ยินเสียงกลองป่าวร้อง ก็ได้ทำสักการะกันเหลือล้น.
               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น ตรัสว่า
               พวกฝ่ายใน พวกกุมาร พ่อค้า พราหมณ์ กองช้าง กองม้า กองรถ กองราบ ชาวชนบทและชาวนิคม ร่วมกันนำข้าวน้ำเป็นอันมาก มาให้แก่มโหสถบัณฑิต. ชนเป็นอันมากได้เห็นมโหสถบัณฑิตกลับมาสู่กรุงมิถิลา ก็พากันเลื่อมใส. ครั้นมโหสถบัณฑิตถึงแล้ว ก็โบกผ้าอยู่ทั่วไป.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โอโรธา จ ความว่า พวกฝ่ายในมีพระนางอุทุมพรเทวีเป็นต้น.
               บทว่า อภิหารยุํ ความว่า ให้นำไปยิ่ง คือส่งไป. บทว่า พหุชฺชโน ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ชนเป็นอันมากทั้งชาวพระนคร ทั้งชาวบ้านสี่ประตูเมือง ทั้งชาวชนบท ได้เลื่อมใสแล้ว. บทว่า ทิสฺวา ปณฺฑิตมาคเต ความว่า เมื่อมโหสถบัณฑิตมากรุงมิถิลา เห็นมโหสถบัณฑิตนั้น. บทว่า ปวตฺตถ ความว่า เมื่อมโหสถบัณฑิตถึงกรุงมิถิลา มหาชนดีใจกล่าวว่า มโหสถบัณฑิตนี้ปลดเปลื้องพระราชาของพวกเรา ที่ตกอยู่ในอำนาจของปัจจามิตรให้ปลอดภัยก่อน ภายหลังยังพระราชาร้อยเอ็ด ให้ขมาโทษกันและกันทำให้สามัคคีกัน ยังพระเจ้าจุลนีให้เลื่อมใส พาเอายศใหญ่ที่พระเจ้าจุลนีประทานมาแล้ว ได้โบกผ้ากันอยู่ทั่วไป.
               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ไปสู่ราชสำนัก ในวันสุดมหรสพ กราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ควรที่พระองค์จะส่งพระราชมารดา พระราชเทวี และพระราชโอรสของพระเจ้าจุลนี ไปเสียโดยเร็ว. พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงฟังคำมโหสถ ก็ตรัสว่า ดีแล้วพ่อ เจ้าจงส่งไปเสีย. มโหสถทำสักการะใหญ่แก่กษัตริย์ทั้ง ๓ นั้น และทำสักการสัมมานะแก่เสนาผู้มากับตน. ส่งกษัตริย์ทั้ง ๓ แม้นั้นกับพวกชนของตนไปด้วยบริวารเป็นอันมาก ส่งภรรยา ๑๐๐ คนและทาสี ๔๐๐ คน ที่พระเจ้าจุลนีพระราชทานแก่ตน มอบถวายไปกับพระนางนันทาเทวี และส่งแม้เสนีผู้มากับด้วยตน ไปกับชนเหล่านั้น.
               พระนางนันทาเทวีสวมกอดพระธิดา จุมพิตที่พระเศียรแล้วตรัสว่า แม่ลาเจ้าละ แม่ไปละ. ตรัสฉะนี้ ทรงกันแสงคร่ำครวญด้วยศัพท์สำเนียงอันดัง. ฝ่ายพระนางปัญจาลจันทีผู้พระธิดา ทรงกราบพระราชมารดาแล้วทรงโศกาดูร ทูลว่า พระมารดาอย่าละทิ้งลูกก่อน. กษัตริย์ทั้ง ๓ ออกจากพระนคร ด้วยบริวารเป็นอันมากถึงอุตตรปัญจาลนครโดยลำดับ. ลำดับนั้น พระเจ้าจุลนีพรหมทัตตรัสถามพระราชมารดาว่า ข้าแต่พระมารดา พระเจ้าวิเทหราชทรงทำอนุเคราะห์แด่พระองค์ อย่างไร. พระนางเจ้าสลากราชชนนีตรัสตอบว่า พ่อตรัสอะไร พระเจ้าวิเทหราชตั้งแม่ไว้ในฐานเป็นเทวดาได้ทำสักการะแก่เรา ตั้งนันทาเทวีไว้ในฐานเป็นพระราชมารดา ตั้งพ่อปัญจาลจันทกุมารในฐานเป็นราชกนิษฐภาดา. พระเจ้าจุลนีได้ทรงสดับพระราชชนนีรับสั่ง ก็ทรงยินดียิ่งนัก แล้วส่งบรรณาการเป็นอันมากไปถวายพระเจ้าวิเทหราช. จำเดิมแต่นั้น กษัตริย์เจ้าพระนครทั้ง ๒ ก็พร้อมเพรียง ชื่นชม อยู่แล.
               จบมหาอุมมังคกัณฑ์

.. อรรถกถา มโหสถชาดก
อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]
อ่านชาดก 280001อ่านชาดก 280525อรรถกถาชาดก 280600
เล่มที่ 28 ข้อ 600อ่านชาดก 280687อ่านชาดก 281045
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=28&A=3861&Z=4327
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๑๗  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]