ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 

อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 272261อรรถกถาชาดก 272285
เล่มที่ 27 ข้อ 2285อ่านชาดก 272292อ่านชาดก 272519
อรรถกถา กิงฉันทชาดก
ว่าด้วย โทษที่ฉกฉวยเอาประโยชน์ของคนอื่น
               พระศาสดา เมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภอุโบสถกรรม ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า กึฉนฺโท กิมธิปฺปาโย ดังนี้.
               ความย่อว่า วันหนึ่ง พระศาสดาตรัสถามอุบาสก-อุบาสิกาเป็นอันมากผู้รักษาอุโบสถ ผู้มานั่งเพื่อจะฟังพระธรรมเทศนาอยู่ที่โรงธรรมสภาว่า ดูก่อนอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย พวกท่านรักษาอุโบสถหรือ? เมื่อเขากราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า ท่านทั้งหลายทำการรักษาอุโบสถ จัดว่าได้ทำความดี โบราณกบัณฑิตทั้งหลายได้รับยศอันยิ่งใหญ่ ก็เพราะผลแห่งอุโบสถกรรมกึ่งหนึ่ง
               อันพวกอุบาสกอุบาสิกากราบทูลอาราธนา จึงทรงนำอดีตนิทานมาตรัสดังต่อไปนี้
               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสีโดยธรรม ทรงเป็นผู้มีศรัทธา ปสาทะ ไม่ประมาทในทานศีลและอุโบสถกรรม. ท้าวเธอมีตรัสสั่งแม้กะชนที่เหลือมีอำมาตย์เป็นต้น ให้ตั้งมั่นในกุศลจริยามีทานเป็นต้น.
               แต่ปุโรหิตของพระองค์ มีปกติรีดเลือดเนื้อประชาชน กินสินบน วินิจฉัยอรรถคดีโดยอยุติธรรม. ในวันอุโบสถตรัสสั่งให้ประชาชนมีอำมาตย์เป็นต้นมาเฝ้า แล้วตรัสสั่งว่า พวกท่านทั้งหลายจงมารักษาอุโบสถ. ปุโรหิตก็ไม่ยอมสมาทานอุโบสถ คราวนั้น เมื่อพระราชากำลังทรงซักถามพวกอำมาตย์ว่า ท่านทั้งหลายสมาทานอุโบสถละหรือ? จึงตรัสถามปุโรหิตนั้นผู้รับสินบนและตัดสินอรรถคดีโดยอยุติธรรมในเวลากลางวันแล้วมาสู่ที่เฝ้าว่า ท่านอาจารย์ ท่านสมาทานอุโบสถแล้วหรือ?
               ปุโรหิตนั้นทูลคำเท็จว่า สมาทานแล้ว พะย่ะค่ะ แล้วลงจากปราสาทไป.
               ครั้งนั้น อำมาตย์ผู้หนึ่งท้วงว่า ท่านไม่ได้สมาทานอุโบสถมิใช่หรือ?
               ปุโรหิตนั้นพูดแก้ตัวว่า ข้าพเจ้าบริโภคอาหารเฉพาะในเวลาเท่านั้น และข้าพเจ้ากลับไปเรือนแล้ว จักบ้วนปากอธิษฐานอุโบสถ ไม่บริโภคอาหารในเวลาเย็น ข้าพเจ้าจักรักษาอุโบสถศีลในเวลากลางคืน ด้วยอาการอย่างนี้ ข้าพเจ้าก็จักมีอุโบสถกรรมกึ่งหนึ่ง.
               อำมาตย์ผู้นั้นกล่าวว่า ดีละขอรับ ท่านอาจารย์. เขากลับเรือนแล้วก็ได้กระทำอย่างนั้น.
               อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อปุโรหิตนั้นนั่งอยู่ในศาล. สตรีผู้มีศีลคนหนึ่งมายื่นฟ้องคดี เมื่อไม่ได้โอกาสที่จะกลับไปเรือนจึงคิดว่า เราจักไม่ละเลยอุโบสถกรรม พอใกล้เวลา นางจึงเริ่มบ้วนปาก.
               ขณะนั้น มีผู้นำผลมะม่วงสุกมาให้พราหมณ์ปุโรหิตพวงหนึ่ง. พราหมณ์ปุโรหิตรู้ว่า หญิงนั้นจะสมาทานอุโบสถ จึงหยิบมะม่วงส่งให้ พร้อมกับพูดว่า เจ้าจงรับประทานมะม่วงสุกเหล่านี้ก่อนแล้วจึงสมาทานอุโบสถเถิด. หญิงนั้นก็ได้กระทำตามนั้น. กุศลกรรมของพราหมณ์ปุโรหิตมีเพียงเท่านี้.
               ในเวลาต่อมา พราหมณ์ปุโรหิตนั้นทำกาลกิริยาแล้ว ได้ไปบังเกิดเหนือสิริไสยาสน์ อันอลงกตในวิมานทองอันงามเรืองรอง มีภูมิภาคเป็นรมณียสถาน ในสวนอัมพวัน มีบริเวณ ๓ โยชน์ ใกล้ฝั่งน้ำโกสิกิคงคานทีในหิมวันตประเทศ ดุจคนที่หลับแล้วตื่นขึ้น มีเรือนร่างอันประดับตกแต่งดีแล้ว ทรงรูปโฉมงามสง่าแวดล้อมด้วยนางเทพกัญญาหมื่นหกพันเป็นบริวาร.
               เขาได้เสวยสิริสมบัตินั้น เฉพาะในเวลากลางคืนเท่านั้น.
               ความจริง เทพบุตรนั้นได้เสวยวิบากผลสมกับกรรมที่ตนทำไว้ โดยภาวะเป็นเวมานิกเปรต เพราะฉะนั้น เมื่อเวลาอรุณขึ้น เขาจะต้องไปสู่สวนอัมพวัน. ในขณะที่ย่างเข้าไปสู่สวนอัมพวันเท่านั้น อัตภาพอันเป็นทิพย์ของเขาก็อันตรธานไป เกิดอัตภาพประมาณเท่าลำตาล สูง ๘๐ ศอกแทน ไฟติดทั่วร่างกาย เป็นเหมือนดอกทองกวาวที่บานเต็มที่ฉะนั้น นิ้วแต่ละนิ้วที่มือทั้งสองข้าง มีเล็บโตประมาณเท่าจอบใหญ่. เขาเอาเล็บเหล่านั้นกรีดจิกควักเนื้อข้างหลังของตนออกมากิน เสวยทุกขเวทนาร้องโอดครวญอยู่.
               เมื่อพระอาทิตย์อัสดงคตแล้ว ร่างนั้นก็อันตรธานไป ร่างอันเป็นทิพย์ก็เกิดขึ้นแทน. เหล่านางฟ้อนอันเป็นทิพย์ผู้ประดับตกแต่งแล้วด้วยทิพพาลังการ ต่างถือดุริยางดนตรีมาห้อมล้อมบำเรอ เมื่อจะเสวยมหาสมบัติก็ขึ้นไปยังปราสาทอันเป็นทิพย์ ในสวนอัมพวันอันเป็นรมณียสถาน. เวมานิกเปรตนั้นได้เฉพาะซึ่งสวนอัมพวัน อันมีปริมณฑล ๓ โยชน์ ด้วยผลแห่งการให้ผลมะม่วงแก่สตรีผู้สมาทานอุโบสถ แต่เพราะผลแห่งการกินสินบน ตัดสินคดีโดยอยุติธรรม จึงต้องจิกควักเนื้อหลังของตนกิน และเพราะผลแห่งอุโบสถกรรมกึ่งหนึ่งจึงได้เสวยยศอันเป็นทิพย์แวดล้อมด้วยหญิงฟ้อนหมื่นหกพันเป็นบริวารบำรุงบำเรอด้วยประการฉะนี้.
               กาลนั้น พระเจ้าพาราณสีเห็นโทษในกามารมณ์จึงเสด็จออกทรงผนวชเป็นดาบส ให้กระทำบรรณศาลาที่ภูมิประเทศอันน่ารื่นรมย์ประทับอยู่ ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยอุญฉาจริยวัตร (เที่ยวภิกษาเลี้ยงชีวิต).
               อยู่มาวันหนึ่ง ผลมะม่วงสุกโตประมาณเท่าหม้อเขื่องๆ ตกมาจากสวนอัมพวันนั้น ลอยมาตามกระแสแม่น้ำคงคา มาถึงตรงท่าน้ำซึ่งเป็นที่บริโภคใช้สอยของพระดาบสนั้น. พระดาบสกำลังล้างปากอยู่ เหลือบเห็นผลมะม่วงสุกนั้นลอยมากลางน้ำ จึงลงว่ายน้ำเก็บมานำไปอาศรมบท เก็บไว้ในเรือนไฟ ผ่าด้วยมีดแล้วฉันพอเป็นเครื่องประทังชีวิต ส่วนที่เหลือเอาใบตองปิดไว้ แล้วต่อมาก็ฉันผลมะม่วงนั้นทุกๆ วันจนหมด.
               เมื่อมะม่วงสุกผลนั้นหมดแล้ว ก็ไม่อยากฉันผลไม้อื่นๆ เพราะติดรส จึงตั้งใจว่า จักฉันเฉพาะผลมะม่วงสุกชนิดนั้น จึงไปนั่งคอยดูอยู่ที่ริมแม่น้ำ ตกลงใจว่า ถ้าไม่ได้ผลมะม่วงสุกจักไม่ยอมลุกขึ้น.
               ดาบสนั้นไม่ยอมขบฉัน สู้นั่งคอยดูผลมะม่วงอยู่ที่ริมน้ำนั้นถึง ๖ วัน จนร่างกายซูบซีดเพราะลมและแดดแผดเผา
               ครั้นถึงวันที่เจ็ด นางเทพธิดาผู้รักษาแม่น้ำพิจารณาดูรู้เหตุนั้น แล้วคิดว่า พระดาบสผู้นี้เป็นผู้ตกอยู่ในอำนาจของความอยาก สู้อดอาหารถึง ๗ วัน มานั่งคอยดูแม่น้ำคงคา การที่เราจะไม่ถวายผลมะม่วงสุกแก่ดาบสนี้ไม่สมควรเลย เมื่อดาบสนี้ไม่ได้ผลมะม่วงสุกคงจักมรณภาพ เราจักถวายแก่ท่านจึงมายืนบนอากาศเหนือแม่น้ำคงคา
               เมื่อจะสนทนากับดาบสนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ความว่า
               ดูก่อนพราหมณ์ ท่านมีความพอใจอะไร ประสงค์อะไร ปรารถนาอะไร แสวงหาอะไร จึงมานั่งอยู่แต่ผู้เดียวในเวลาร้อน เพราะเหตุไร ท่านจึงมานั่งดูแม่น้ำ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ฉนฺโท ได้แก่ อัธยาศัย. บทว่า อธิปฺปาโย ได้แก่ ความคิด.
               บทว่า สมฺมสิ ความว่า ท่านปรารถนา(อะไร)? บทว่า ฆมฺมนิ แปลว่า ในฤดูร้อน.
               บทว่า เอสํ แปลว่า แสวงหา.
               นางเทพธิดากล่าวเรียกดาบสนั้นว่า "พราหมณ์" เพราะบวชแล้ว. ท่านอธิบายไว้ว่า ดูก่อนพราหมณ์ ท่านประสงค์อะไร คิดถึงอะไร ปรารถนาอะไร แสวงหาอะไร เพราะต้องการอะไร ท่านจึงมาแลดูแม่น้ำอยู่ที่ฝั่งคงคานี้

               พระดาบสได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถา ๑๐ คาถาความว่า
               หม้อน้ำใหญ่มีรูปทรงงดงามฉันใด ผลมะม่วงสุกอันมีสีกลีบและรสดีเยี่ยมก็มีอุปไมยฉันนั้น
               เราได้เห็นผลมะม่วงนั้นอันกระแสน้ำพัดลอยมาท่ามกลางแม่น้ำ จึงได้หยิบเอามาเก็บไว้ในเรือนไฟ
               แต่นั้นก็วางไว้บนใบตอง ทำวิกัปด้วยมีดเองแล้วก็ฉัน ความหิวและความระหายของเราก็หายไป.
               เราหมดความกระวนกระวายใจ พอมะม่วงหมด เราต้องอดทนต่อความทุกข์ ย่อมไม่ได้ประสบความพอใจในผลไม้ไรๆ อื่น.
               ผลมะม่วงใดเกิดมีแก่ข้าพเจ้า ผลมะม่วงนั้นมีรสอร่อยเป็นเลิศ เป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ คงจักนำความตายมาแก่ข้าพเจ้าแน่ เพราะซูบผอม เนื่องจากอดอาหาร.
               ข้าพเจ้าเก็บผลมะม่วงสุกอันลอยมาจากทะเลในห้วงมหรรณพได้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าผลมะม่วงสุกนั้นคงจักนำความตายมาแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าต้องมานั่งอยู่ที่นี่เพราะเหตุใด เหตุนั้นทั้งหมดข้าพเจ้าบอกท่านแล้ว.
               ข้าพเจ้านั่งอยู่เฉพาะแม่น้ำอันน่ารื่นรมย์ แม่น้ำนี้กว้างขวางมีปลาโลมาใหญ่อาศัยอยู่ น่าจะพึงมีความสบาย ข้าแต่ท่านผู้ยืนอยู่เฉพาะหน้าแห่งเราไม่หนีไป ท่านจงบอกความนั้นแก่เราเถิด.
               ดูก่อนท่านผู้มีร่างกายอันสันทัดงามดี ท่านผู้มีร่างอันงามเช่นกับด้วยทองใบทั้งแผ่น หรือดุจนางพยัคฆี ที่สัญจรไปตามซอกเขา ท่านเป็นใคร หรือว่าท่านมาที่นี่เพื่ออะไร.
               เทพนารีทั้งหลายในเทวโลก ซึ่งเป็นบริจาริกาแห่งทวยเทพในฉกามาพจรสวรรค์ มีอยู่เหล่าใด หรือสตรีมีรูปงามในมนุษยโลกเหล่าใด เทพนารีและสตรีทั้งหลายเหล่านั้นในหมู่เทวดาคนธรรพ์และมนุษย์ ไม่มีที่จะเสมอเหมือนท่านด้วยรูป
               ท่านผู้มีตะโพกอันงามประหนึ่งทอง เราถามท่านแล้ว ขอจงบอกชื่อและเผ่าพันธุ์เถิด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วาริธโร กุมฺโภ ได้แก่ หม้อน้ำ. บทว่า สุปรินาหวา แปลว่า มีทรวดทรงงาม.
               บทว่า วณฺณคนฺธรสุตฺตมํ ความว่า อุดมด้วยสีกลิ่นและรสทั้งหลาย.
               บทว่า ทิสฺวาน เท่ากับ ทิสฺวา แปลว่า เห็นแล้ว.
               บทว่า อมลมชฺฌิเม ได้แก่ ผู้มีทรวดทรงสันทัดปราศจากมลทิน. พระดาบสเมื่อจะสนทนาปราศรัยกับเทวดาจึงกล่าวอย่างนี้.
               บทว่า ปาณิภิ ได้แก่ ด้วยมือทั้งสอง.
               บทว่า อคฺยายตนมาหรี ความว่า ได้นำมาสู่โรงพิธีบูชาไฟของตน.
               บทว่า วิกปฺเปตฺวา ได้แก่ ผ่าตัดแล้ว. ปาฐะเป็น วิกนฺเตตฺวา ดังนี้ก็มี. ยังมีปาฐะเหลืออยู่บทหนึ่งคือบทว่า ขาทึ.
               บทว่า อหาสิ เม ความว่า พอข้าพเจ้าวางมะม่วงลงที่ปลายลิ้นเท่านั้น รสแห่งมะม่วงสุกนั้นแผ่ไปตลอดเส้นเอ็นรับรสทั้ง ๗ พัน จนบำบัดความหิวและความระหายของข้าพเจ้าได้.
               บทว่า อเปตทรโถ ความว่า มีความกระวนกระวายทางกายและใจปราศไปแล้ว เพราะว่า ผลม่ะม่วงสุกนั้นกำจัดความกระวนกระวายของข้าพเจ้าได้ เหมือนบริโภคโภชนะอันมีรสดี.
               บทว่า พยนฺตีภูโต ความว่า ผลมะม่วงนั้นเกิดหมดไป. อธิบายว่า เป็นผู้มีผลมะม่วงสุกสิ้นไปแล้ว.
               บทว่า ทุกฺขกฺขโม ความว่า ประกอบไปด้วยความทุกข์อันไม่น่าชื่นใจ คือด้วยความทนทรมานกาย และความทนทรมานจิต. พระดาบสแสดงความหมายว่า ก็เพราะข้าพเจ้าไม่ถึงความยินดี แม้เล็กน้อยในผลกล้วยและผลขนุนเป็นต้นอย่างอื่น ผลกล้วย ผลขนุนทั้งหมด พอข้าพเจ้าวางแตะลิ้นก็สำเร็จความอิ่มทันที(คือเมื่อไม่อยากกิน).
               บทว่า โสสิตฺวา ความว่า เพราะซูบผอมเนื่องจากอดอาหาร.
               บทว่า ตํ มมํ ความว่า ผลมะม่วงสุกนั้น (คงจักนำความตาย) มาแก่ข้าพเจ้า.
               บทว่า ยสฺส ความว่า ผลมะม่วงใดพึงมี คือผลมะม่วงย่อมมี. ท่านอธิบายว่า ผลาผลอันใดได้ยังประโยชน์ให้สำเร็จแก่ข้าพเจ้า.
               บทว่า วุยฺหมานํ ความว่า กำลังลอยมาในห้วงน้ำ กล่าวคือลำน้ำอันมีกระแสทั้งลึกทั้งกว้าง. อธิบายว่า ข้าพเจ้าเก็บผลมะม่วงสุกขึ้นจากทะเลนั้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ผลมะม่วงสุกนั้นคงนำความตายมาให้ข้าพเจ้า เพราะเมื่อข้าพเจ้าไม่ได้ผลมะม่วงสุกนั้น ชีวิตคงจักไม่เป็นไปได้.
               บทว่า อุปวสามิ ความว่า ข้าพเจ้าถูกความหิวระหายเบียดเบียนแล้วจึงต้องอยู่ในที่นี้.
               บทว่า รมฺมํ ปฏินิสินฺโนสฺมิ ความว่า ข้าพเจ้านั่งอยู่เฉพาะแม่น้ำอันน่ารื่นรมย์.
               บทว่า ปุถุโลมายุตา ปุถู ความว่า แม่น้ำนี้กว้างใหญ่ไพบูลย์อันปลาโลมาใหญ่อยู่อาศัย. อธิบายว่า สถานที่เช่นนี้น่าจะเป็นสถานที่ผาสุกสำหรับข้าพเจ้า.
               บทว่า อปาลยินี แปลว่า ไม่หนีไป.
               พระดาบสเรียกเทพยดานั้นว่า มม สมฺมุขา ฐิเต ข้าแต่ท่านผู้ยืนอยู่เฉพาะหน้าแห่งเรา. ปาฐะว่า อปลามินี ดังนี้ก็มี. อธิบายว่า มีสรีระร่างกายหาตำหนิมิได้ดังทองที่ไล่มลทินโทษออกแล้ว.
               บทว่า กิสฺส วา ความว่า พระดาบสถามว่า หรือท่านมาในที่นี้ด้วยเหตุไร.
               บทว่า รูปปฏฺฏปฺลมตฺถีว ความว่า มีรูปร่างเกลี้ยงเกลาดังแผ่นทองใบ.
               บทว่า พยคฺฆีว ความว่า ดูดุจพยัคฆราชหนุ่มงามแช่มช้อย ด้วยท่าทางเยื้องกราย.
               บทว่า เทวานํ ได้แก่ เทวดาชั้นกามาพจรสวรรค์ทั้ง ๖.
               บทว่า ยา วา มนุสฺสโลกสฺมึ ความว่า หรือสตรีมีรูปร่างในมนุษยโลกเหล่าใด.
               บทว่า รูเปนนฺวาคติตฺถิโย ได้แก่ สตรีผู้สมบูรณ์ด้วยรูปสมบัติ.
               บทว่า นตฺถิ ความว่า โดยที่ตนมุ่งจะสรรเสริญเทพธิดา พระดาบสจึงกล่าวอย่างนี้. ก็พระดาบสนั้นมีความมุ่งหมายว่า (เทพนารีและสตรีทั้งหลายเหล่านั้น) ไม่มีที่จะเสมอเหมือนท่านด้วยรูป.
               บทว่า คนฺธพฺพมานุเส ความว่า ในหมู่คนธรรพ์และมนุษยโลกซึ่งอาศัยกลิ่นหอมที่รากเป็นต้น ประพรม.
               บทว่า จารุปุพฺพงฺคี ความว่า ผู้ประกอบไปด้วยอวัยวะ ตะโพก ขาอ่อนงามดังทอง.
               บทว่า นามญฺจ พนฺธเว ความว่า พระดาบสกล่าวว่าท่านโปรดบอกนามโคตรและเผ่าพันธุ์ของตน แก่ข้าพเจ้าเถิด.

               ลำดับนั้น นางเทพธิดาได้กล่าวคาถา ๘ คาถาความว่า
               ดูก่อนพราหมณ์ดาบส ท่านนั่งอยู่ เฉพาะแม่น้ำโกสิกิคงคาอันน่ารื่นรมย์ใด โกสิกิคงคานั้น มีกระแสอันเชียว เป็นห้วงน้ำใหญ่ ข้าพเจ้าสิงสถิตอยู่ในวิมานอันตั้งอยู่ที่แม่น้ำนั้น.
               มีลำห้วย และลำธาร ไหลมาจากเขาหลายแห่งเกลื่อนกล่นไปด้วยหมู่ไม้นานาพรรณ ย่อมไหลตรงมารวมอยู่ที่ข้าพเจ้าทั้งนั้น.
               ใช่แต่เท่านั้น ยังมีน้ำที่ไหลมาจากป่า มีกระแสไหลเชี่ยว สีเขียวปัด อีกมากหลาย และน้ำที่พวกนาคกระทำให้มีสีวิจิตรต่างๆ ย่อมไหลมาตามกระแสน้ำ.
               แม่น้ำเหล่านั้นย่อมพัดเอาผลมะม่วง ผลชมพู่ ผลขนุนสำมะลอ ผลกระทุ่ม ผลตาล และผลมะเดื่อเป็นอันมากมาเนืองๆ.
               ผลไม้ชนิดใดชนิดหนึ่งที่ฝั่งทั้งสองตกลงในน้ำแล้ว ผลไม้นั้นย่อมเป็นไปในอำนาจแห่งกระแสน้ำของข้าพเจ้า โดยไม่ต้องสงสัย.
               ดูก่อนท่านผู้เป็นปราชญ์ มีปัญญามาก ผู้เป็นใหญ่กว่านรชน ท่านรู้อย่างนี้แล้ว จงฟังข้าพเจ้า ท่านอย่าพอใจความเกี่ยวเกาะด้วยตัณหาอย่างนี้เลย จงเลิกคิดเสียเถิด.
               ดูก่อนพระราชฤาษีผู้ยังรัฐให้เจริญ ข้าพเจ้าไม่เข้าใจว่า ท่านจะเจริญรุ่งเรืองไปได้อย่างไร เมื่อท่านซูบผอมรอความตายอยู่.
               พรหม คนธรรพ์ เทวดา และฤาษีทั้งหลายในโลกนี้ ผู้มีตนอันสำรวมแล้ว เรืองตบะ เริ่มตั้งความเพียร ผู้เรืองยศย่อมรู้ความที่ท่านตกอยู่ในอำนาจแห่งตัณหา อย่างไม่ต้องสงสัยเลย.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โกสิกึ ความว่า ดูก่อนพราหมณ์ดาบส ท่านนั่งอยู่เฉพาะแม่น้ำโกสิกิคงคาอันรื่นรมย์ใด.
               บทว่า ภูสาลยา วุตฺถา ความว่า ข้าพเจ้าอาศัยอยู่ที่แม่น้ำนั้น ซึ่งมีกระแสอันเชี่ยว ประกอบด้วยห้วงน้ำใหญ่. อธิบายว่า ข้าพเจ้าสิงอยู่ที่วิมานอันตั้งอยู่ที่แม่น้ำคงคา.
               บทว่า วรวาริวโหฆวา ความว่า มีน้ำไหลเชี่ยวประกอบด้วยห้วงน้ำใหญ่.
               บทว่า สมฺมุขา ความว่า เทพยดาแสดงว่าห้วยละหานลำธารเขามีประการดังกล่าวแล้ว ย่อมบ่ายหน้าพร้อมมายังเรา เราเป็นประธานของแม่น้ำทั้งหลายเหล่านั้น.
               บทว่า อภิสนฺทนฺติ แปลว่า ย่อมไหลไป. อธิบายว่า นทีธารทั้งหลายอันไหลมาจากที่นั้นๆ ย่อมเข้าไปสู่เรา คือแม่น้ำโกสิกิคงคาสิ้น.
               บทว่า วนโตทา ความว่า ใช่แต่ห้วยละหาน ลำธาร เขาเท่านั้นก็หามิได้ ที่แท้น้ำที่บ่ามาจากป่า คือน้ำที่ไหลมาจากป่านั้นเป็นอันมาก ย่อมไหลไป.
               บทว่า นีลวาริวหินฺธรา ความว่า ทรงไว้ซึ่งห้วงน้ำ กล่าวคือ กระแสน้ำอันประกอบด้วยน้ำสีเขียวดังสีแก้วมณี.
               บทว่า นาคจิตฺโตหา ความว่า น้ำอันประกอบด้วยน้ำ กล่าวคือ สีอันนาคทั้งหลายกระทำให้วิจิตรก็ดี.
               บทว่า วารินา ความว่า นางเทพธิดาแสดงว่า แท้จริงแม่น้ำทั้งหลายจำนวนมากเห็นปานนี้ ย่อมไหลไปตามกระแสน้ำคือยังเราให้เต็มบริบูรณ์ด้วยน้ำทีเดียว.
               บทว่า ตา ได้แก่ แม่น้ำทั้งหลายเหล่านั้น.
               บทว่า อาวหนฺติ ความว่า แม่น้ำทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมพัดพาผลมะม่วงเป็นต้นเหล่านี้เข้ามา.
               ก็บททั้งหลายเหล่านี้ทั้งหมดเป็นปฐมาวิภัตติลงในอรรถแห่งทุติยาวิภัตติ. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ตา เป็นทุติยาวิภัตติ พหุวจนะ.
               บทว่า อาวหนฺติ ความว่า แม่น้ำเหล่านั้นย่อมพัดพาผลมะม่วงเป็นต้นเหล่านี้เข้ามา. อธิบายว่า และผลมะม่วงเป็นต้นอันถูกพัดไปอย่างนี้ ย่อมเข้าไปสู่กระแสของเรา.
               บทว่า โสตสฺส ความว่า ผลไม้ชนิดใดหล่นจากต้นไม้ ที่เกิดอยู่ ณ ริมฝั่งทั้งสองข้าง ลอยไปในน้ำ ผลไม้ชนิดนั้นทั้งหมดเป็นอันเข้าถึงอำนาจแห่งกระแสน้ำของเราทีเดียว ไม่มีข้อสงสัยในเรื่องนี้. เทพธิดานั้นบอกเหตุที่ผลมะม่วงสุกนั้นลอยมาตามกระแสน้ำอย่างนี้.
               บททั้งสองคือ เมธาวี ปุถุปญฺญา เป็นอาลปนะ (คำเรียกร้อง) ทั้งนั้น.
               บทว่า มา โรจย ความว่า ท่านอย่าพอใจความเกี่ยวเกาะด้วยตัณหาอย่างนี้เลย.
               บทว่า ปฏิเสธ แปลว่า จงห้ามเสียเถิด.
               บทว่า ตํ ความว่า นางเทพธิดากล่าวสอนพระราชา.
               บทว่า วุทฺธวํ ได้แก่ ความเจริญด้วยปัญญา คือความเป็นบัณฑิต.
               บทว่า รฏฐาภิวฑฺฒน แปลว่า ท่านราชฤาษีผู้ยังรัฐมณฑลให้เจริญ.
               บทว่า อาจยมาโน ความว่า ท่านจงก่ออัตภาพ คือเจริญด้วยเนื้อและเลือด เป็นหนุ่มแน่นเถิด.
               นางเทพธิดาเรียกพระดาบสนั้นว่า ราชิสิ(ท่านราชฤาษี) ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า ท่านยังเป็นหนุ่ม แต่ซูบผอมเพราะอดอาหาร หวังจะได้ความตายเพราะโลภในมะม่วง เราหาสำคัญความเป็นบัณฑิตเช่นนี้ของท่านไม่.
               บทว่า ตสฺส ความว่า บุคคลใดเป็นผู้ตกอยู่ในอำนาจแห่งตัณหา ย่อมรู้ความที่บุคคลนั้นเป็นผู้ตกอยู่ในอำนาจแห่งตัณหา โดยไม่ต้องสงสัย.
               เมื่อนทีเทพธิดาจะให้ดาบสนั้นเกิดความสังเวช จึงกล่าวอย่างนี้ว่า พรหมผู้ที่ถึงการนับว่าเป็นบิดา คนธรรพ์พร้อมทั้งกามาวจรเทพยดา และฤาษีผู้มีจักษุทิพย์ดังที่กล่าวมาแล้ว ย่อมรู้ความที่บุคคลนั้นเป็นผู้ตกอยู่ในอำนาจตัณหาโดยไม่ต้องสงสัย แต่ข้อที่ท่านผู้มีฤทธิเหล่านั้นรู้ว่า ดาบสชื่อโน้นเป็นผู้ตกอยู่ในอำนาจของตัณหาดังนี้ ไม่น่าอัศจรรย์ ถึงปริจาริกชนของฤาษีผู้เริ่มตั้งความเพียร ผู้ยงยศเหล่านั้น ก็จะรู้เพราะฟังคำของชนเหล่านั้นพูดกันอยู่อีก เพราะขึ้นชื่อว่าความลับของบุคคลผู้ทำความชั่ว ย่อมไม่มี.

               ลำดับนั้น พระดาบสได้กล่าวคาถา ๔ คาถาความว่า
               บาปย่อมไม่เจริญแก่นรชนผู้รู้จักศีลและความไม่เที่ยง ดำรงอยู่เหมือนเราฉะนั้น ซึ่งรู้ธรรมทั้งปวง รู้ความสลายและความจุติแห่งชีวิต ถ้านระนั้นไม่คิดฆ่าบุคคลอื่นผู้มีความสุข.
               ดูก่อนท่านผู้อันหมู่ฤาษีรู้กันทั่วแล้ว ท่านเป็นผู้อันชนผู้ลอยบาปรู้แจ้งแล้วว่า เป็นผู้เกื้อกูลแก่โลก แต่ต้องปรารถนาบาปกรรมแก่ตน เพราะใช้คำบริภาษอันไม่ประเสริฐไพเราะ.
               ดูก่อนท่านผู้มีตะโพกอันผึ่งผาย ถ้าเราจักตายอยู่ที่ริมฝั่งน้ำของท่าน เมื่อเราตายไปแล้ว ความติเตียนก็จักมาถึงท่านโดยไม่ต้องสงสัย.
               ดูก่อนท่านผู้มีสะเอวอันกลมกลึง เพราะฉะนั้นแล ท่านจงรักษาบาปกรรมไว้เถิด อย่าให้คนทั้งปวงติเตียนท่านได้ในภายหลัง ในเมื่อเราตายไปแล้ว.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอวํ วิทิตฺวา ความว่า ข้าพเจ้ารู้จักศีลและความไม่เที่ยงฉันใด บาปย่อมไม่พอกพูน คือไม่เจริญแก่นระผู้รู้แล้วดำรงอยู่ฉันนั้น.
               บทว่า วิทู ได้แก่ ผู้รู้แจ้ง. บทว่า สพฺพธมฺมํ ได้แก่ สุจริตธรรมทุกอย่าง. เพราะในคาถานี้ สุจริตธรรมสามอย่าง ประสงค์เอาเป็นสรรพธรรม.
               บทว่า วิทฺธํสนํ ได้แก่ ความดับ. บทว่า จวนํ ได้แก่ จุติ.
               บทว่า ชีวิตสฺส ได้แก่ อายุ. ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า บาปย่อมไม่พอกพูน คือไม่เจริญแก่พระผู้เป็นบัณฑิต รู้แจ้งแล้วดำรงอยู่อย่างนี้ คือรู้แจ้งซึ่งสุจริตธรรมทั้งปวง และความไม่เที่ยงแห่งชีวิต.
               บทว่า สเจ น เจเตติ วธาย ตสฺส ความว่า ถ้านระนั้นไม่คิด คือไม่ดำริเพื่อจะฆ่าบุคคลอื่นผู้ถึงความสุข ได้แก่ไม่ยังบุคคลอื่น หรือแม้ทรัพย์มรดกของเขาให้พินาศ ก็ข้าพเจ้าไม่คิดเพื่อจะฆ่าใครๆ นั่งคอยดูแม่น้ำทำความอาลัยในมะม่วงสุกอย่างเดียว ท่านตรวจดูได้เห็นอกุศลกรรมอะไรของข้าพเจ้าบ้างเล่า?
               บทว่า อิสิปูคสมญฺญาเต ความว่า ผู้อันหมู่ฤาษีรู้ทั่วแล้วด้วยดี คืออันฤาษีทั้งหลายรับรู้แล้ว.
               บทว่า เอวํ โลกฺยา ความว่า ท่านเป็นผู้อันชนผู้ลอยบาปรู้ทั่วแล้วอย่างนี้ว่า เป็นผู้เกื้อกูลแก่โลก.
               บทว่า สติ นี้เป็นอาลปนะเรียกขานว่า ดูก่อนท่านผู้สวยงามเลอโฉม.
               บทว่า อนริยํ ปริสํภาเส ความว่า ประกอบไปด้วยคำบริภาษ อันไม่งดงาม เป็นต้นว่ารำเลิกถึงบิดามารดาของเขา.
               บทว่า ชิคึสติ ความว่า แม้เมื่อบาปในตัวของข้าพเจ้าไม่มีอยู่เลย ท่านก็มาบริภาษข้าพเจ้าถึงอย่างนี้ ทั้งเพ่งเล็งความตายต่อข้าพเจ้า ชื่อว่าใฝ่แสวงหาบาปกรรม ทำให้เกิดขึ้นแก่ตน.
               บทว่า ตีเร เต ความว่า ที่ริมฝั่งน้ำของท่าน.
               บทว่า ปุถุสุสฺโสณิ ความว่า ประกอบไปด้วยตะโพกอันงดงามผึ่งผาย.
               บทว่า เปเต ความว่า เมื่อข้าพเจ้าตายไปสู่ปรโลกแล้ว เพราะไม่ได้ผลมะม่วงสุก.
               บทว่า ปกฺวกฺขาสิ ความว่า ชนทั้งปวงอย่ากล่าวร้าย ด่าว่า ติเตียน นินทา. ปาฐะว่า ปกฺขตฺถาสิ ดังนี้ก็มี.

               นางเทพธิดาได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถา ๕ คาถาความว่า
               เหตุนั้นข้าพเจ้าทราบแล้วท่านจงอดกลั้นไว้ก่อน ข้าพเจ้าจะยอมตนและให้มะม่วงแก่ท่าน เพราะท่านละกามคุณที่ละได้ยาก แล้วตั้งไว้ซึ่งความสงบและสุจริตธรรม.
               บุคคลใดละสังโยชน์ในก่อนได้ แล้วภายหลังมาตั้งอยู่ในสังโยชน์ ประพฤติอธรรมอยู่ บาปย่อมเจริญแก่บุคคลนั้น.
               มาเถิด ข้าพเจ้าจะนำท่านไปยังสวนมะม่วง ท่านจงเป็นผู้มีความขวนขวายน้อยโดยส่วนเดียวเถิด ข้าพเจ้าจักนำท่านไปในสวนมะม่วงอันร่มเย็น ท่านจงเป็นผู้ไม่ขวนขวายอยู่เถิด.
               ดูก่อนท่านผู้ปราบปรามข้าศึก สวนนั้นเกลื่อนกล่นไปด้วยหมู่นก ที่มัวเมาอยู่ในรสดอกไม้ มีนกกระเรียน นกยูง นกเขา ซึ่งมีสร้อยคออันน่าชม มีหมู่หงส์ส่งเสียงร้องขรม ฝูงนกดุเหว่าที่ร้องปลุกสัตว์ทั้งหลายอยู่ในสวนมะม่วงนั้น.
               ผลมะม่วงในสวนนั้นดกเป็นพวงๆ ดุจฟ่อนฟาง ปลายกิ่งห้อยโน้มลงมา มีทั้งต้นคำ ต้นสน ต้นกระทุ่มและผลตาลสุกห้อยอยู่เรียงราย.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อญฺญาตเมตํ ความว่า เหตุที่ท่านอ้างว่า ความครหาจักมีแก่ท่าน กล่าวอ้างไว้เพื่อต้องการผลมะม่วงสุกนั้น ข้าพเจ้าทราบแล้ว.
               บทว่า อวิสยฺหสาหิ ความว่า ขึ้นชื่อว่าพระราชาทั้งหลายย่อมอดกลั้นสิ่งที่อดกลั้นได้ยาก ด้วยเหตุนั้น นางเทพธิดาเมื่อปรารภถึงเหตุนั้น จึงกล่าวอย่างนี้.
               บทว่า อตฺตานํ ความว่า เมื่อข้าพเจ้าโอบอุ้มท่านพาไปสู่สวนมะม่วง ชื่อว่ายอมถวายตนแก่ท่าน และจะถวายผลมะม่วงสุกนั้นแก่ท่านด้วย.
               บทว่า กามคุเณ ได้แก่ วัตถุกามทั้งหลายอันประดับด้วยกาญจนมาลาและเศวตฉัตร.
               บทว่า สนฺติญฺจ ธมฺมญฺจ ได้แก่ ศีล กล่าวคือสันติอันยังความทุศีลให้สงบระงับ และสุจริตธรรม.
               บทว่า อธิฏฺฐิโตสิ ความว่า ท่านเป็นผู้เข้าถึงคุณธรรมเหล่านี้และเป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในคุณธรรมเหล่านี้.
               บทว่า ปุพฺพสํโยคํ ได้แก่ ข้อผูกพันอันมีในก่อน.
               บทว่า ปจฺฉาสํโยชเน ได้แก่ ข้อผูกพันอันมีในภายหลัง. ท่านอธิบายไว้ดังนี้ ดูก่อนดาบสผู้เจริญ ผู้ใดสละสิริราชสมบัติอันยิ่งใหญ่ แล้วติดในรสตัณหาเพียงแค่ผลมะม่วงสุก ไม่คำนึงถึงลมและแดด สู้นั่งซบเซาอยู่ที่ชายฝั่งน้ำ ผู้นั้นข้ามมหาสมุทรได้ ก็เป็นเช่นกับบุคคลผู้จมลงในที่สุดฝั่ง บุคคลใดเป็นผู้ตกอยู่ในอำนาจรสตัณหา ประพฤติอธรรมอย่างเดียว บาปซึ่งกระทำด้วยอำนาจรสตัณหา ย่อมเพิ่มแก่บุคคลนั้น
               นางเทพธิดานั้นกล่าวตำหนิดาบสอย่างนี้ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า กามํ อปฺโปสฺสุโก ภว ความว่า ท่านต้องเป็นผู้ไม่มีอาลัยอยู่ที่สวนมะม่วง โดยส่วนเดียวเถิด.
               บทว่า ตสฺมึ ความว่า ข้าพเจ้าจักเป็นผู้นำท่านไปที่สวนมะม่วงอันเยือกเย็นนั้น.
               บทว่า ตํ ความว่า เมื่อนางเทพธิดากล่าวอย่างนี้แล้ว จึงอุ้มดาบสขึ้นนอนแนบอก เหาะไปในอากาศ เห็นทิพอัมพวันอันมีปริมณฑลได้ ๓ โยชน์ และได้สดับเสียงแห่งสกุณปักษี แล้วจึงบอกแก่ดาบส กล่าวอย่างนี้ว่า ตํ เป็นต้น.
               บทว่า ปุปฺผรสมตฺเตหิ ความว่า มัวเมาด้วยรสแห่งปุปผชาติ.
               บทว่า วงฺกงฺเคภิ ความว่า สวนอัมพวันนั้นเซ็งแซ่ไปด้วยฝูงนกทั้งหลาย ตัวมีคออันคด และบัดนี้เมื่อนางเทพธิดาจะบอกชื่อนกเหล่านั้น จึงกล่าวคำมีอาทิว่า โกญฺจา (นกกระเรียน) ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทิวิยา แปลว่า อันเป็นทิพย์.
               บทว่า โกยฏฺฐิมธุสาลิยา ความว่า นางเทพธิดาแสดงว่า ทิพสกุณปักษีเหล่านี้ คือ (นกกระเรียน นกยูง นกเขาและนกขุนทอง) ซึ่งมีสร้อยคออันน่าชม ย่อมอยู่ในสวนอัมพวันนี้.
               บทว่า กุชฺชิตา หํสูปเคภิ ความว่า มีฝูงหงส์ขันคูส่งเสียงร้องระงม.
               บทว่า โกกิเลตฺถ ปโพธเร ความว่า นกดุเหว่าทั้งหลายอยู่ในสวนอัมพวันนั้น กู่ก้องร้องปลุกสัตว์ทั้งหลายให้ตื่นอยู่.
               บทว่า อมฺเพตฺถ ความว่า มีต้นมะม่วงอยู่ในสวนอัมพวันนั้น.
               บทว่า วิปฺปสูนคฺคา ความว่า ปลายกิ่งโน้มน้อมลง เพราะเต็มไปด้วยพวงผล.
               บทว่า ปลาลขลสนฺนิภา ความว่า มีผลดกเช่นกับฟ่อนฟางข้าวสาลีเพราะสั่งสมไปด้วยช่อและดอก.
               บทว่า ปกฺกตาลวิลมฺพิโน ความว่า นางเทพธิดาพรรณนาถึงสวนอัมพวันว่า มีผลตาลสุกห้อยย้อยอยู่ไสว และต้นไม้เห็นปานนี้ มีอยู่ในสวนอัมพวันนี้.

               ก็แหละครั้นนางเทพธิดาพรรณนา แล้วพาพระดาบสมาในสวนอัมพวัน แล้วสั่งว่า ท่านโปรดขบฉันผลมะม่วงทั้งหลาย ยังความอยากของตนให้เต็มบริบูรณ์ในสวนอัมพวันนี้ แล้วหลีกไป.
               ครั้นพระดาบสขบฉันผลมะม่วงจนอิ่มสมอยากแล้ว พักผ่อนแล้ว จึงเที่ยวไปในสวนอัมพวัน พบเห็นเปรตนั้นกำลังเสวยทุกข์ (แต่)ไม่สามารถจะพูดอะไรได้ แต่เมื่อพระอาทิตย์อัสดงแล้ว เห็นเปรตนั้นมีหญิงฟ้อนแวดล้อมบำเรอ เสวยทิพยสมบัติอยู่
               จึงกล่าวคาถา ๓ คาถา ความว่า
               ท่านทรงทิพมาลา ผ้าโพกศีรษะ และเครื่องอาภรณ์ล้วนแต่เป็นทิพย์ มีทองต้นแขน ลูบไล้ด้วยจุรณจันทน์ กลางคืนมีหญิง ๑๖,๐๐๐ คนเป็นปริจาริกาบำเรอท่านอยู่ แต่กลางวันต้องเสวยทุกขเวทนา.
               หญิงเหล่านี้ได้เป็นปริจาริกาของท่าน มีถึง ๑๖,๐๐๐ นาง ท่านมีอานุภาพมากอย่างนี้ ไม่เคยมีในมนุษยโลก น่าขนพองสยองเกล้า.
               ในปุริมภพ ท่านทำบาปกรรมอะไรไว้ จึงต้องนำทุกขเวทนามาสู่ตน ท่านทำกรรมอะไรไว้ในมนุษยโลก จึงต้องเคี้ยวกินเนื้อหลังของตนเองในบัดนี้.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มาลี แปลว่า ผู้ทรงมาลาทิพย์.
               บทว่า ติรีฏิ แปลว่า ผู้ทรงผ้าโพกอันเป็นทิพย์.
               บทว่า กายุรี แปลว่า ประดับอาภรณ์ล้วนเป็นทิพย์.
               บทว่า องฺคที ความว่า ประกอบด้วยกำไลมือและแขนอันเป็นทิพย์.
               บทว่า จนฺทนุสฺสโท ความว่า มีร่างกายไล้ทาด้วยจันทน์อันเป็นทิพย์.
               บทว่า ทิวา ความว่า แต่ในเวลากลางวันต้องเสวยมหาทุกขเวทนา.
               บทว่า ยา เตมา ตัดบทเป็น ยา เต อิมา แปลว่า หญิงเหล่านี้.
               บทว่า อพฺภูโต ความว่า ไม่เคยมีเลยในมนุษยโลก.
               บทว่า โลมหํสโน ความว่า ชนเหล่าใดเห็นท่าน ขนของคนเหล่านั้นย่อมชูชัน.
               บทว่า ปุพฺเพ ได้แก่ ในภพก่อน. บทว่า อตฺตทุกฺขาวหํ ความว่า เป็นเหตุนำทุกขเวทนามาสู่ตน.
               บทว่า มนุสฺเสสุ ความว่า ท่านทำกรรมอะไรไว้ในมนุษยโลก จึงต้องมาเคี้ยวกินเนื้อหลังของตนในบัดนี้.

               เปรตจำพระดาบสได้จึงทูลว่า พระองค์คงจำข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้ ข้าพระพุทธเจ้า คือผู้ที่ได้เป็นปุโรหิตของพระองค์ ข้าพระพุทธเจ้าต้องเสวยความสุขในกลางคืนนี้ เพราะผลแห่งอุโบสถกึ่งหนึ่งที่ตนได้ทำมา เพราะอาศัยพระองค์ แต่ที่ได้เสวยทุกขเวทนาในเวลากลางวัน เพราะผลแห่งบาปกรรมที่ทำไว้แล้วเหมือนกัน
               แท้จริง ข้าพระพุทธเจ้าอันพระองค์ทรงตั้งไว้ในตำแหน่งผู้พิพากษา ได้ชำระคดีโดยอยุติธรรมรับสินบน ขูดเลือดเนื้อประชาชนทางเบื้องหลัง เพราะผลแห่งกรรมที่ทำไว้นั้น ตอนกลางวัน ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้เสวยทุกขเวทนานี้
               แล้วกล่าวคาถา ๒ คาถา ความว่า
               ข้าพเจ้าเรียนจบไตรเพท หมกมุ่นอยู่ในกามทั้งหลาย ได้ประพฤติเพื่อความฉิบหายมิใช่ประโยชน์แก่ชนเหล่าอื่นตลอดกาลนาน.
               บุคคลใดเป็นผู้ขูดเลือดเนื้อผู้อื่น บุคคลนั้นย่อมต้องควักเนื้อของตนกิน เช่นเดียวกับข้าพระพุทธเจ้ากินเนื้อหลังของตนอยู่จนทุกวันนี้.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อชฺเฌนานิ ได้แก่ พระเวทย์ทั้งหลาย.
               บทว่า ปฏิคฺคยฺห ความว่า เล่าเรียนทรงจำ.
               บทว่า อจรึ ได้แก่ ปฏิบัติแล้ว.
               บทว่า อหิตายหํ ความว่า ข้าพระพุทธเจ้าได้ปฏิบัติความฉิบหาย มิใช่ประโยชน์.
               บทว่า โย ปิฏฺฐิมํสิโก ความว่า บุคคลใดกินเนื้อหลังของคนอื่น ย่อมเป็นผู้ยุยง ส่อเสียด.
               บทว่า อุกฺกจฺจ แปลว่า ต้องล้วง-ต้องควัก.

               ก็แลครั้นเปรตกราบทูลอย่างนี้แล้ว จึงทูลถามพระดาบสว่า พระองค์เสด็จมาในที่นี้ได้อย่างไร? พระดาบสเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟังโดยพิสดาร.
               เปรตทูลถามอีกว่า ก็บัดนี้พระองค์จะประทับอยู่ในที่นี้ต่อไป หรือจักเสด็จไปที่อื่น?
               พระดาบสตรัสตอบว่า เราหาอยู่ไม่ จักกลับไปสู่อาศรมบทนั่นเทียว.
               เปรตทูลว่า ดีละพระเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าจักบำรุงพระองค์ด้วยผลมะม่วงสุกเป็นประจำ แล้วนำพระดาบสไปในอาศรมบทด้วยอานุภาพของตน ทูลขอปฏิญญาว่า ขอพระองค์อย่าได้มีความกระสัน ประทับอยู่ในที่นี้เถิด แล้วทูลลาไป
               ตั้งแต่นั้นมา เปรตนั้นก็บำรุงพระดาบสด้วยผลมะม่วงสุกเป็นนิตย์.
               พระดาบสเมื่อได้ฉันผลมะม่วงสุกนั้น ก็กระทำกสิณบริกรรม ยังฌานและอภิญญาให้บังเกิด แล้วได้เป็นผู้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.

               พระบรมศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแก่อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายแล้ว
               ทรงประกาศอริยสัจธรรม ในที่สุดแห่งอริยสัจเทศนา บางพวกได้เป็นพระโสดาบัน บางพวกได้เป็นพระสกทาคามี บางพวกได้เป็นพระอนาคามี
               ทรงประชุมชาดกว่า
                         นางเทพธิดาในครั้งนั้น ได้มาเป็น ภิกษุณีอุบลวรรณา
                         ส่วนดาบสได้มาเป็น เราผู้ตถาคต ฉะนี้แล.
               จบอรรถกถากิงฉันทชาดกที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา กิงฉันทชาดก จบ.
อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 272261อรรถกถาชาดก 272285
เล่มที่ 27 ข้อ 2285อ่านชาดก 272292อ่านชาดก 272519
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=9163&Z=9231
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๒๗  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]