ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 

อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 272104อรรถกถาชาดก 272124
เล่มที่ 27 ข้อ 2124อ่านชาดก 272142อ่านชาดก 272519
อรรถกถา หังสชาดก
ว่าด้วย หงส์สุมุขะผู้ภักดี
               พระศาสดา เมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภการสละชีวิตของพระอานนทเถระนั่นแล ตรัสพระธรรมเทศนานี้
               มีคำเริ่มต้นว่า เอเต หํสา ปกฺกมนฺติ ดังนี้.
               ความพิสดารว่า แม้ในครั้งนั้น เมื่อภิกษุทั้งหลายกล่าวสรรเสริญคุณของพระอานนทเถระอยู่ ณ โรงธรรมสภา พระบรมศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ? เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้ แม้ในชาติปางก่อน อานนท์ก็เคยสละชีวิตเพื่อประโยชน์แก่เรา เหมือนกัน
               แล้วทรงนำอดีตนิทานมาแสดง ดังต่อไปนี้.
               ในอดีตกาล มีพระราชาทรงพระนามว่า พหุปุตตกะ เสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระนางเทวีทรงพระนามว่า เขมา ได้เป็นพระอัครมเหสีของพระองค์.
               กาลครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เจ้าบังเกิดในกำเนิดพญาหงส์ทอง มีหงส์เก้าหมื่นเป็นบริวาร อาศัยอยู่ ณ จิตตกูฏบรรพต.
               แม้ในคราวนั้น พระบรมราชเทวีก็ทรงพระสุบินนิมิต โดยนัยที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง จึงกราบทูลการที่จะทรงสดับธรรมเทศนาของพญาหงส์ทอง และความแพ้พระครรภ์แก่พระราชา. แม้พระราชาก็ตรัสถามเสวกามาตย์ว่า ชื่อว่าหงส์ทองมีอยู่ที่ไหน ก็แลครั้นทรงสดับว่าอยู่ที่จิตตกูฏบรรพต จึงมีพระบรมราชโองการให้ขุดสระขึ้น ขนานนามว่า เขมาโบกขรณี แล้วเพาะพันธุ์ธัญชาติสำหรับเป็นอาหารแห่งสุวรรณหงส์มีประการต่างๆ ให้ประกาศโฆษณาพระราชทานอภัยแก่ฝูงหงส์ทั้งหลาย ในมุมสระทั้ง ๔ แล้ว แต่งบุตรนายพรานคนหนึ่งไว้ให้คอยจับหงส์ทั้งหลาย.
               ก็แลอาการที่พระเจ้าพหุปุตตกะทรงแต่งตั้งนายพรานไว้ดักหงส์ก็ดี สภาวะที่นายพรานคอยต้อนหงส์ให้ลงสระนั้นก็ดี อาการที่กำหนดดักบ่วงไว้ในเวลาที่พญาหงส์ทองมา แล้วกราบทูลให้พระราชาทรงทราบก็ดี อาการที่กำหนดพระมหาสัตว์ติดบ่วงก็ดี กิริยาที่สุมุขหงส์เสนาบดี ไม่เห็นมหาสัตว์มาในฝูงหงส์ทั้ง ๓ เหล่านั้นแล้วย้อนกลับไปดูก็ดี
               ข้อความทั้งปวงนี้ จักมีแจ้งใน มหาหังสชาดก
               แม้ในชาดกนี้ พระมหาสัตว์เจ้าครั้นติดบ่วงคันแร้ว จึงทอดตัวลงกับหลักบ่วงนั่นเอง ชูคอแลดูทางที่หมู่หงส์บินไป ได้เห็นสุมุขหงส์เสนาบดีบินกลับมา จึงดำริว่า ในเวลาที่สุมุขหงส์มาถึงแล้ว เราจักลองใจดู
               เมื่อสุมุขหงส์เสนาบดีมาถึงแล้ว จึงกล่าวคาถา ๓ คาถา ความว่า
               ฝูงหงส์เหล่านั้น มีผิวกายอร่ามงามเรืองรองดังทองคำ ถูกภัยคุกคามแล้ว มีตัวงอบินหนีไป ดูก่อนสุมุขะ ท่านจงหลบหลีกไปตามใจปรารถนาเถิด.
               หมู่ญาติทั้งหลายละทิ้งเราผู้ติดบ่วงไว้ผู้เดียว ไม่ห่วงใย พากันบินหนีไป ท่านผู้เดียว จะมัวห่วงอยู่ทำไม.
               ดูก่อนสุมุขะผู้ประเสริฐ จะมัวพะวงอยู่ทำไม ท่านควรบินหนีเอาตัวรอด เพราะความเป็นสหายในเราผู้ติดบ่วงไม่มี ท่านหลบหลีกไปเสียเถิด อย่ายังความเพียรให้เสื่อมเสีย เพราะความไม่มีทุกข์เลย จงรีบบินหนีไปตามใจปรารถนาเถิด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภยเมริตา ความว่า อันภัยเผชิญหน้า คือถูกภัยคุกคาม และหวั่นไหวเพราะภัย.
               พระมหาสัตว์เรียกฝูงหงส์นั้นแหละ แม้ด้วยคำทั้งสองว่า หริตฺตจ เหมวณฺณ.
               ด้วยบทว่า กามํ นี้ พระมหาสัตว์กล่าวหมายความว่า ดูก่อนสุนทรมุขเสนาบดีผู้มีผิวงามดังทองคำ ท่านจงหลบหลีกเอาตัวรอดไปเถิด ประโยชน์อะไรด้วยการหวนย้อนกลับมาในที่นี้.
               บทว่า โอหาย ความว่า ละทิ้งเราไว้ผู้เดียวไม่เหลียวแล บินหนีไป.
               บทว่า อนเปกฺขมานา ความว่า หมู่ญาติของเราแม้เหล่านั้น ไม่สนใจเหลียวแลดูเราเลย บินหนีไป.
               บทว่า ปเตว แปลว่า โดดหนีไปทีเดียว.
               บทว่า มา อนีฆาย ความว่า ท่านไปจากที่นี่แล้ว อย่าละเลยความเพียรเสีย เพราะเหตุที่ท่านได้เป็นผู้นิราศปราศจากทุกข์ อันจะพึงถึงนี้เลย.

               ลำดับนั้น หงส์สุมุขเสนาบดีจับอยู่ที่หลังเปลือกตม กล่าวคาถาความว่า
               ข้าแต่ท้าวธตรฐมหาราช ถึงพระองค์จะถูกทุกข์ภัยครอบงำ ข้าพระพุทธเจ้าก็จักไม่ละทิ้งพระองค์ไป จักเป็นหรือตาย ข้าพระพุทธเจ้าก็จักอยู่ร่วมกับพระองค์.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทุกฺขปเรโต ความว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ถึงแม้พระองค์จะมีมรณทุกข์คุกคามอยู่เฉพาะหน้า ข้าพระพุทธเจ้าจะไม่ละทิ้งพระองค์ไปเสียแม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้เท่านั้น.

               เมื่อหงส์สุขุมเสนาบดีเปล่งสีหนาทอย่างนี้แล้ว
               ท้าวธตรฐมหาราชกล่าวคาถาความว่า
               ดูก่อนสุมุขเสนาบดี ท่านกล่าวคำใด คำนั้นเป็นคำดีงามของพระอริยเจ้า อนึ่ง เราเมื่อจะทดลองท่านดู จึงพูดว่าจงหลบไปเสีย.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอตทริยสฺส ความว่า ท่านกล่าวคำใดว่าจะไม่ทิ้งเราไป คำนั้นเป็นคำดี อุดมสมเป็นคำของพระอริยเจ้า ผู้ถึงพร้อมด้วยอาจาระ.
               บทว่า ปตฺเต ตํ ความว่า อนึ่ง เราได้กล่าวอย่างนี้ ใช่ว่ามีความประสงค์จะละทิ้งท่านก็หามิได้ ที่แท้ต้องการจะทดลองใจท่าน จึงได้แกล้งพูดคำว่า ไปเสียเถิด. อธิบายว่า ได้กล่าวคำว่าท่านจงบินไปเสีย.

               เมื่อหงส์ทั้งสองเหล่านั้นกำลังสนทนากันอยู่นั่นเอง บุตรของนายพรานถือไม้วิ่งมาโดยเร็ว สุมุขเสนาบดีจึงพูดปลอบใจท้าวธตรฐมหาราช พลางผินหน้าไปหานายพราน บินไปทำความเคารพ แล้วกล่าวสรรเสริญคุณของพญาหงส์.
               ทันใดนั้นเอง บุตรนายพรานได้มีจิตอ่อนลง หงส์สุมุขเสนาบดีรู้ว่าบุตรนายพรานมีจิตอ่อนลงแล้ว จึงบินกลับไปยืนปลอบใจพญาหงส์อยู่.
               ฝ่ายบุตรนายพรานเข้าไปหาพญาหงส์ แล้วกล่าวคาถาที่ ๖ ความว่า
               ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐสูงสุดกว่าหงส์ทั้งหลาย วิสัยปักษีทิชากรสัญจรไปในอากาศ ย่อมบินไปสู่ทางโดยที่มิใช่ทางได้ พระองค์ไม่ทรงทราบบ่วงแต่ที่ไกลดอกหรือ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปเทน ปทํ ความว่า ดูก่อนมหาราช ทิชาชาติสัญจรไปในอากาศเช่นท่าน ย่อมนำทางในอากาศ อันมิใช่ทางบินไปได้.
               บทว่า น พุชฺฌิ ความว่า บุตรนายพรานถามว่า ท่านมีสภาพเห็นปานนี้ ไยจึงไม่เฉลียวใจ คือไม่รู้ว่ามีบ่วงนี้แต่ที่ไกลเล่า.

               พระมหาสัตว์ตอบว่า
               คราวใดจะมีความเสื่อม คราวนั้นเมื่อถึงคราวจะสิ้นชีพ สัตว์แม้จะติดบ่วงติดข่าย ก็ย่อมไม่รู้สึก.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยทา ปราภโว ความว่า ดูก่อนนายพรานผู้สหาย ความเสื่อม คือความไม่เจริญ ได้แก่ความพินาศจะมีในกาลใด กาลนั้นเมื่อถึงคราวสิ้นชีวิต แม้สัตว์จะติดข่ายติดบ่วง ก็ย่อมจะรู้ไม่ได้.

               นายพรานชื่นชมยินดีถ้อยคำของพญาหงส์
               เมื่อจะสนทนากับหงส์สุมุขเสนาบดี จึงกล่าวคาถา ๓ คาถา ความว่า
               ฝูงหงส์เหล่านั้น มีกายอร่ามงามเรืองรองดังทองคำ ถูกภัยคุกคามแล้ว มีตัวงอพากันบินหนีไป ท่านเท่านั้นมัวพะวงอยู่.
               หงส์เหล่านั้นกินและดื่มแล้ว ก็พากันบินหนีไป มิได้มีความห่วงใยบินไปสิ้น ก็ตัวท่านผู้เดียวเท่านั้นเฝ้าพะวักพะวน.
               หงส์ตัวนี้เป็นอะไรกับท่านหนอ ท่านพ้นแล้วจากบ่วง ทำไมจึงมาเป็นห่วงหงส์ผู้ติดบ่วงอยู่เล่า หงส์ทั้งหลายต่างพากันทอดทิ้งไป ไยเล่าท่านผู้เดียว จึงมัวพะวงอยู่.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตฺวญฺเจนํ ความว่า นายพรานถามว่า ไยท่านจึงมัวพะวงอยู่กับพญาหงส์.
               บทว่า อุปาสสิ แปลว่า ยังจะเข้าไปใกล้.

               หงส์สุมุขเสนาบดีกล่าวว่า
               หงส์ตัวนั้นเป็นราชาของเรา เป็นมิตรสหายเสมอด้วยชีวิตของเรา เราจักไม่ทอดทิ้งท่านไป จนตราบเท่าวันตาย.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยาว กาลสฺส ปริยายํ ความว่า ดูก่อนบุตรนายพราน เราจักไม่ทอดทิ้งพญาหงส์นั้นเลย จนกว่าจะถึงที่สุดกาลสิ้นชีวิต.

               นายพรานได้ฟังดังนั้น มีจิตเลื่อมใส คิดว่า ถ้าเราจักประพฤติผิดในหงส์ทองผู้สมบูรณ์ด้วยศีลเหล่านี้อย่างนี้ แม้แผ่นดินก็จะพึงให้ช่องแก่เรา ประโยชน์อะไรด้วยยศศักดิ์ ทรัพย์สมบัติที่เราจักได้จากสำนักพระราชา เราจักปล่อยพญาหงส์นั้นไป ดังนี้แล้ว กล่าวคาถาความว่า
               ท่านปรารถนาจะสละชีวิต เพราะเหตุแห่งสหาย เราก็จักปล่อยสหายของท่านไป ขอพญาหงส์จงไปตามความประสงค์ของท่านเถิด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โย จ ตฺวํ เท่ากับ โย นาม ตฺวํ แปลว่าขึ้นชื่อว่าท่านผู้ใด.
               บทว่า โส โยค อหํ แปลว่า เรานั้น. อธิบายว่า พญาหงส์นี้จะเป็นไปตามอำนาจความประสงค์ของท่าน คือจงอยู่ในสถานที่แห่งเดียวกับท่านเถิด.

               ก็แล นายพรานครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็ปลดท้าวธตรฐออกจากหลักบ่วง นำไปยังขอบสระ แก้บ่วงออกแล้วชำระล้างโลหิต ด้วยจิตอ่อนโยนไปด้วยกรุณา แล้วจัดแจงตบแต่งเส้นเอ็นเป็นต้น ให้เรียบร้อยเป็นอันดี ด้วยอำนาจมุทุจิตของนายพราน และด้วยอานุภาพแห่งบารมีที่พระมหาสัตว์บำเพ็ญมา เท้าที่มีบาดแผลก็มีหนังและขนงอกขึ้นในขณะนั้น แม้ริ้วรอยที่บ่วงผูกพันก็ไม่ปรากฏ.
               หงส์สุมุขเสนาบดีแลดูพระโพธิสัตว์แล้วมีจิตยินดี
               เมื่อจะกระทำอนุโมทนา จึงกล่าวคาถาความว่า
               ดูก่อนนายพราน วันนี้ข้าพเจ้าได้เห็นพญาหงส์ผู้เป็นใหญ่ในหมู่ทิชาชาติ พ้นจากบ่วงแล้ว ย่อมชื่นชมยินดี ฉันใด ขอท่านพร้อมกับหมู่ญาติทั้งปวง จงชื่นชมยินดีฉันนั้นเถิด.


               นายพรานได้ฟังดังนั้นแล้ว กล่าวว่า ข้าแต่เจ้า เชิญท่านทั้งสองไปเถิด.
               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์จึงถามนายพรานนั้นว่า ดูก่อนสหาย ท่านมาดักเราเพื่อประโยชน์ของตัวหรือมาดักโดยอาณัติของผู้อื่น เมื่อนายพรานบอกเหตุนั้นแล้ว จึงไตร่ตรองทบทวนดูว่า เราจากที่นี้ไปยังจิตตกูฏบรรพตทีเดียวดี หรือว่าไปสู่พระนครดี ดังนี้
               แล้วตกลงใจว่า เมื่อเราไปพระนคร แม้บุตรนายพรานก็จะได้ทรัพย์สมบัติ แม้ความแพ้พระครรภ์ของพระเทวีก็จะระงับ มิตรธรรมของสุมุขเสนาบดีก็จักปรากฏ กำลังแห่งญาณของเราก็จักปรากฏเหมือนกัน ทั้งเราจักได้สระเขมาโบกขรณี เป็นที่ให้อภัยแก่ปักษีทั้งหลาย การที่เราไปสู่พระนครของพระเจ้าพาราณสีนั้นดีแน่ ดังนี้
               แล้วจึงกล่าวกะนายพรานว่า ดูก่อนนายพราน ท่านจงเอาเราทั้งสองใส่หาบ นำไปเฝ้ายังสำนักของพระราชาเถิด ถ้าหากว่าพระราชาจะทรงพระเมตตาโปรดปล่อยพวกเราไซร้ พระองค์ก็จักโปรดปล่อยพวกเราไปเอง.
               นายพรานกล่าวชี้แจงว่า ข้าแต่ท่านผู้เป็นเจ้า ขึ้นชื่อว่าพระราชาทั้งหลายร้ายกาจนัก ท่านทั้งสองจงไปเสียเถิด
               พญาหงส์กล่าวว่า แม้นายพรานเช่นท่าน พวกเรายังทำให้ใจอ่อนลงได้ อันการที่จะให้พระราชาทรงโปรดปราน เป็นภารธุระของข้าพเจ้า สหายจงนำพวกเราไปเฝ้าเถิด.
               นายพรานก็ได้ทำตามนั้นทุกประการ.
               พระราชาทอดพระเนตรเห็นหงส์ทั้งสองเท่านั้น ก็เกิดความชื่นชมโสมนัส โปรดให้หงส์ทั้งสองพักจับอยู่ที่ตั่งทอง พระราชทานข้าวตอกคลุกน้ำผึ้งให้ดื่มน้ำเจือด้วยน้ำผึ้งแล้ว ทรงประคองอัญชลีตรัสวิงวอนขอให้แสดงธรรมกถา
               พญาหงส์รู้ชัดว่า พระเจ้าพาราณสีทรงยินดีใคร่จะทรงธรรม จึงมีความยินดีได้ทำปฏิสันถารขึ้นก่อน.
               คาถาสนทนาโต้ตอบระหว่างพญาหงส์กับพระราชา มีลำดับดังต่อไปนี้
               (พญาหงส์ทูลว่า) พระองค์ผู้ทรงพระเจริญทรงเกษมสำราญดีหรือ โรคาพยาธิมิได้เบียดเบียนพระองค์หรือ รัฐสีมาอาณาจักรของพระองค์นี้ สมบูรณ์ดีหรือ พระองค์ทรงปกครองประชาราษฎร์โดยธรรมหรือ.
               (พระราชาตรัสตอบว่า) ดูก่อนพญาหงส์ เราเกษมสำราญดี ทั้งโรคาพยาธิก็มิได้เบียดเบียน รัฐสีมาอาณาจักรของเรานี้ ก็สมบูรณ์ดี เราปกครองราษฏรโดยธรรม.
               (พญาหงส์ทูลว่า) โทษผิดบางประการ ในหมู่อำมาตย์ราชเสวกทั้งหลายของพระองค์ ไม่มีอยู่หรือ หมู่ศัตรูห่างไกลจากพระองค์ เหมือนเงาที่ไม่เจริญด้านทิศทักษิณอยู่แลหรือ.
               (พระราชาตรัสตอบว่า) โทษผิดบางประการ ในหมู่อำมาตย์ราชเสวกทั้งหลายของเรา แม้น้อยหนึ่งไม่มีเลย อนึ่ง หมู่ศัตรูก็ห่างไกลจากเรา เหมือนเงาย่อมไม่เจริญทางด้านทิศทักษิณฉะนั้น.
               (พญาหงส์ทูลว่า) พระมเหสีของพระองค์มิได้ทรงประพฤติล่วงละเมิดพระทัย ทรงเชื่อฟัง ทรงปราศรัยน่ารัก พรักพร้อมไปด้วยบุตรสมบัติ รูปสมบัติและยศสมบัติ ยังเป็นที่โปรดปรานของพระองค์อยู่หรือประการใด.
               (พระราชาตรัสตอบว่า) พระมเหสีของเราเป็นเช่นนั้น ทรงเชื่อฟังมิได้คิดนอกใจ ทรงปราศรัยน่ารัก พรักพร้อมไปด้วยบุตรสมบัติ รูปสมบัติและยศสมบัติ เป็นที่โปรดปรานของเราอยู่.
               (พญาหงส์ทูลว่า) พระราชโอรสของพระองค์มีจำนวนมากทรงอุบัติมาเป็นศรีสวัสดิ์ในรัฐสีมาอันเจริญ ทรงสมบูรณ์ด้วยปรีชาเฉลียวฉลาด ต่างพากันบันเทิง รื่นเริงพระทัย แต่ที่นั้นๆ อยู่แลหรือ.
               (พระราชาตรัสตอบว่า) ดูก่อนพญาหงส์ธตรฐ เราชื่อว่ามีบุตรมากถึง ๑๐๑ องค์ ขอท่านได้โปรดชี้แจงกิจที่ควรแก่บุตรเหล่านั้นด้วยเถิด เธอเหล่านั้นจะไม่ดูหมิ่นโอวาทคำสั่งสอนของท่านเลย.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กุสลํ ได้แก่ ความเป็นผู้ไม่มีโรค.
               บทว่า อนามยํ นี้ เป็นไวพจน์ของบทว่า กุสลํ นั่นแหละ.
               บทว่า ผีตํ ความว่า พญาหงส์ทูลถามว่า (พระโรคมิได้เบียดเบียนหรือ)แว่นแคว้นนี้ของพระองค์กว้างขวาง มีภิกษาหาได้ง่าย ทั้งพระองค์ทรงอนุศาสน์พร่ำสอนชาวแว่นแคว้นโดยธรรมบ้างหรือ?
               บทว่า โทโส แปลว่า ความผิด.
               บทว่า ฉายา ทกฺขิณโตริว ความว่า เงามีหน้าตรงต่อทิศทักษิณ ย่อมไม่เจริญฉันใด พวกอมิตรไพรีของพระองค์ย่อมไม่เจริญฉันนั้น หรือประการใด?
               บทว่า สาทิสี ความว่า ก็พระมเหสีของพระองค์ผู้ทัดเทียมกัน ด้วยชาติสมบัติ โภคสมบัติ และโคตรตระกูล ประเทศเห็นปานนี้ มิได้ทรงประพฤตินอกพระทัย.
               บทว่า อสฺสวา แปลว่า เชื่อถ้อยฟังคำ.
               บทว่า ปุตฺตรูปยสูเปตา ความว่า พรักพร้อมด้วยบุตรสมบัติ รูปสมบัติและยศสมบัติ.
               บทว่า ปญฺญาชเวน ความว่า พญาหงส์ทูลถามว่า พระราชโอรสทรงยังปัญญาให้แล่นไปด้วยกำลังปัญญา แล้วสามารถเพื่อจะวินิจฉัยกิจการนั้นๆ ได้.
               บทว่า สมฺโมทนฺติ ตโต ตโต ความว่า พระราชโอรสเหล่านั้นยังพากันทรงบันเทิงอยู่ในที่ประกอบกิจการนั้นๆ หรือประการใด.
               บทว่า มยา สุตา ความว่า พระราชาตรัสตอบว่า โอรสทั้งหลายปรากฏแล้วเพราะเรา ทั้งโลกก็เรียกเราว่าพระเจ้าพหุปุตตกราช คือพูดกันว่า โอรสเหล่านั้นเป็นผู้มีกิตติศัพท์ฟุ้งขจรไป เพราะเราว่า อาศัยเราแพร่หลายเกิดปรากฏด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า เตสํ ตฺวํ กิจฺจมกฺขาหิ ความว่า ท่านโปรดชี้แจงกิจที่ควรทำแก่โอรสเหล่านั้นของเราด้วยว่า ราชโอรสทั้งหลายจงทำสิ่งนี้ๆ.
               บทว่า นาวรุชฺฌนฺติ นี้พระราชาตรัสโดยพระประสงค์ว่า จงให้โอวาทแก่โอรสของเราเหล่านั้น ดังนี้ทีเดียว.

               พระมหาสัตว์ทรงสดับพระดำรัสนั้นแล้ว เมื่อจะถวายโอวาทแก่พระโอรสเหล่านั้น ได้กล่าวคาถา ๕ คาถา ความว่า
               แม้ถ้าว่ากุลบุตรเป็นผู้เข้าถึงชาติกำเนิดหรือวินัย แต่กระทำความเพียรในภายหลัง เมื่อธุรกิจเกิดขึ้น ย่อมต้องจมอยู่ในห้วงอันตราย.
               ช่องทางรั่วไหลแห่งโภคสมบัติเป็นต้น ก็จะเกิดขึ้นอย่างใหญ่หลวง กับกุลบุตรผู้มีปัญญาง่อนแง่นนั้น กุลบุตรนั้นย่อมมองเห็นได้แต่รูปที่หยาบๆ เหมือนความมืดในราตรีฉะนั้น.
               กุลบุตรผู้ประกอบความเพียรในสิ่งอันไม่เป็นสาระว่า เป็นสาระ ก็ย่อมไม่ประสบความรู้เลยทีเดียว ย่อมจะจมลงในห้วงอันตรายอย่างเดียว เหมือนกวางวิ่งโลดโผนไปในซอกผา ตกจมเหวลงไปในระหว่างทางฉะนั้น.
               ถึงหากว่านรชนจะเป็นผู้มีชาติเลวทราม แต่เป็นผู้มีความขยันหมั่นเพียร มีปัญญา ประกอบด้วยอาจาระและศีล ย่อมจะรุ่งเรืองสุกใสเหมือนกองไฟในยามราตรี ฉะนั้น.
               ขอพระองค์ทรงทำข้อนั้นนั่นแลให้เป็นข้อเปรียบเทียบ แล้วจงให้พระโอรสดำรงอยู่ในวิชา กุลบุตรผู้มีปัญญาย่อมงอกงามขึ้น ดังพืชในนางอกงามขึ้นเพราะน้ำฝน ฉะนั้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วินเยน วา ได้แก่อาจาระ มรรยาท.
               บทว่า ปจฺฉา กุรุเต โยคํ ความว่า หากว่ากุลบุตรใดไม่ทำการประกอบ คือความเพียรในการศึกษาศิลปวิทยาที่ควรศึกษาในเวลาที่ยังเป็นเด็ก ทำการศึกษาต่อภายหลังคือเมื่อเวลาแก่ กุลบุตรเห็นปานนี้นั้น ย่อมจมลงในทุกข์หรืออันตรายเห็นปานนั้นในภายหลัง คือไม่สามารถเพื่อจะช่วยเหลือตนเองได้.
               บทว่า ตสฺส สํหีรปญฺญสฺส ความว่า เพราะกุลบุตรนั้นไม่ได้รับการศึกษา แต่นั้น(ความเสื่อมโภคสมบัติจึงเกิด) แก่เขาผู้มีปัญญาไม่แน่นอน มีความรู้ไม่มั่นคง.
               บทว่า วิวโร ได้แก่ ช่องคือความเสื่อมแห่งโภคสมบัติเป็นต้น.
               บทว่า รตฺติมนฺโธ ได้แก่ ความมืดบอดในราตรี.
               ท่านกล่าวอธิบายไว้ดังนี้ ความมืดในราตรี คือความมืดบอดในราตรี ย่อมเห็นได้แต่รูปหยาบๆ อย่างเดียว โดยแสงพระจันทร์เป็นต้นในราตรี ไม่สามารถจะเห็นรูปละเอียดๆ ได้ฉันใด กุลบุตรผู้ไม่ได้รับการศึกษามีปัญญาง่อนแง่นฉันนั้น เมื่อภัยอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่สามารถจะเห็นกิจการอันละเอียดสุขุมได้ เห็นได้เฉพาะกิจการที่หยาบๆ ฉะนั้น เพราะฉะนั้นควรที่จะโปรดให้พระโอรสทั้งหลายของพระองค์ เล่าเรียนศึกษา ในเวลาที่พระโอรสยังทรงพระเยาว์ทีเดียว.
               บทว่า อสาเร ได้แก่ ในเวทสมัยอันติดต่อในโลก อันไร้สาระ.
               บทว่า สารโยคญฺญ ความว่า สำคัญว่า ลัทธิสมัยนี้ประกอบด้วยสาระ.
               บทว่า มตึ นเตฺวว วินฺทติ ความว่า แม้จะศึกษามากมาย ย่อมไม่ได้ปัญญาความรอบรู้เลย.
               บทว่า คิริทุคฺคสฺมึ ความว่า เปรียบเหมือนกวางเดินทางมาสู่สถานที่อยู่ของตน สำคัญที่อันไม่ราบเรียบว่าราบเรียบ วิ่งโลดโผนไปในซอกผาโดยกำลังเร็ว ย่อมตกห้วงเหวจมลงไปในระหว่าง หาถึงที่อยู่ไม่ ฉันใด กุลบุตรผู้เห็นปานนี้นั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน เล่าเรียนลัทธิพระเวทย์อันเนื่องในโลกอันไร้สาระด้วยความสำคัญว่าเป็นสาระ ย่อมจะถึงความพินาศใหญ่ เพราะฉะนั้น พระองค์โปรดให้พระโอรสทั้งหลายของพระองค์ศึกษาประกอบในกิจทั้งหลายอันเนื่องด้วยประโยชน์ นำความเจริญมาให้.
               บทว่า นิเส อคฺคีว ความว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า คนเราแม้จะเกิดในกำเนิดต่ำทราม แต่เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยคุณสมบัติ มีความขยันหมั่นเพียรเป็นต้น ย่อมสว่างไสวได้เหมือนกองไฟ ในราตรีฉะนั้น.
               บทว่า เอตํ เว ความว่า พระองค์โปรดทำการเปรียบเทียบความมืดในราตรี กับกองไฟที่ข้าพเจ้ากราบทูลมา แล้วให้โอรสทั้งหลายของพระองค์ดำรงอยู่ในวิชาความรู้ คือโปรดให้ประกอบในสิกขาทั้งหลาย อันควรแก่การศึกษาเถิด เพราะกุลบุตรผู้ประกอบด้วยวิชาอย่างนี้แล้ว เป็นผู้มีปัญญาเครื่องทรงจำย่อมงอกงามคือเจริญด้วยเกียรติยศและโภคสมบัติ เหมือนพืชย่อมงอกงามขึ้นในนาอันดีทั้งหลาย เพราะน้ำฝนฉะนั้น.

               พระมหาสัตว์แสดงธรรมถวายพระราชาอยู่อย่างนี้ จนตลอดคืนยังรุ่ง ความแพ้พระครรภ์ของพระเทวีก็สงบระงับ.
               ในเวลารุ่งอรุณนั้นเอง พระมหาสัตว์ให้พระราชาดำรงอยู่ในศีล ถวายโอวาทด้วยอัปปมาทกถา แล้วทูลลาออกไปสู่จิตตกูฏบรรพตนั่นแหละ โดยสีหบัญชรด้านทิศอุดร พร้อมกับหงส์สุมุขเสนาบดี.

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย แม้ในกาลก่อน อานนท์นี้ก็ได้สละชีวิตเพื่อประโยชน์แก่เราอย่างนี้เหมือนกัน
               แล้วทรงประชุมชาดกว่า
                         นายพรานในครั้งนั้น ได้มาเป็น พระฉันนะ
                         พระราชาได้มาเป็น พระสารีบุตร
                         พระเทวีได้มาเป็น นางเขมาภิกษุณี
                         หมู่หงส์ได้มาเป็น หมู่ศากยราช
                         หงส์สุมุขเสนาบดีได้มาเป็น พระอานนท์
                         ส่วนพญาหงส์ได้มาเป็น เราผู้ตถาคต ฉะนี้แล.
               จบอรรถกถาหังสชาดกที่ ๖               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา หังสชาดก จบ.
อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 272104อรรถกถาชาดก 272124
เล่มที่ 27 ข้อ 2124อ่านชาดก 272142อ่านชาดก 272519
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=8400&Z=8465
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๒๗  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]