ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 

อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 270990อรรถกถาชาดก 270997
เล่มที่ 27 ข้อ 997อ่านชาดก 271007อ่านชาดก 272519
อรรถกถา ทัพพปุปผกชาดก
ว่าด้วย โทษของการโต้เถียงกัน
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภพระอุปนันทศากยบุตร แล้วจึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า อนุตีรจารี ภทฺทนฺเต ดังนี้.
               ดังจะกล่าวโดยย่อ
               ท่านบวชในพระศาสนาแล้ว ละคุณธรรมมีความปรารถนาน้อยเป็นต้น ได้เป็นผู้มีความทะยานอยากมาก. ในวันเข้าพรรษาท่านยึดครองวัดไว้ ๒,๓ วัด คือวางร่มหรือรองเท้าไว้วัดหนึ่ง ไม้เท้าคนแก่หรือหม้อน้ำไว้อีกวัดหนึ่ง ตนเองก็อยู่วัดหนึ่ง.
               ท่านจำพรรษาที่วัดในชนบทวัดหนึ่ง สอนปฏิปทาอันเป็นวงศ์ของพระอริยเจ้า ที่แสดงถึงความสันโดษในปัจจัยแก่ภิกษุทั้งหลายแจ่มชัด เหมือนยกพระจันทร์ขึ้นในอากาศ ก็ปานกันว่า ธรรมดาภิกษุควรเป็นผู้มักน้อย.
               ภิกษุทั้งหลายได้ฟังคำนั้นแล้ว พากันทิ้งบาตรและจีวรที่น่าชอบใจ รับเอาบาตรดินเหนียวและผ้าบังสุกุล. ท่านให้ภิกษุทั้งหลายวางของเหล่านั้นไว้ ณ ที่อยู่ท่าน ออกพรรษาปวารณาแล้ว บรรทุกเต็มเกวียนไปพระเชตวันมหาวิหาร ถูกเถาวัลย์เกี่ยวเท้า ที่ด้านหลังวัดป่าแห่งหนึ่ง ในระหว่างทาง เข้าใจว่า จักต้องมีของอะไรที่เราควรได้ในวัดนี้แน่นอน แล้วจึงแวะวัดนั้น.
               ในวัดนั้น ภิกษุแก่คือหลวงตา จำพรรษาอยู่ ๒ รูป. ท่านได้ผ้าสาฎกเนื้อหยาบ ๒ ผืนและผ้ากัมพล เนื้อละเอียดผืนหนึ่งไม่อาจจะแบ่งกันได้ เห็นท่านมาดีใจว่า พระเถระจักแบ่งให้พวกเราได้แน่ จึงพากันเรียนท่านว่า ใต้เท้าขอรับ พวกกระผมไม่สามารถแบ่งผ้าจำนำพรรษานี้ได้ พวกกระผมจะมีการวิวาทกัน เพราะผ้าจำนำพรรษานี้ ขอใต้เท้า จงแบ่งผ้านี้ให้แก่พวกกระผม. ท่านรับปากว่า ดีแล้ว ผมจักแบ่งให้แล้วได้แบ่งผ้าสาฎกเนื้อหยาบให้ภิกษุ ๒ รูป บอกว่า ผืนนี้คือผ้ากัมพลตกแก่ผมผู้เป็นพระวินัยธร แล้วก็หยิบเอาผ้ากัมพล หลีกไป.
               พระเถระแม้เหล่านั้น ยังมีความอาลัยในผ้ากัมพล จึงพากันไปเชตวันมหาวิหารพร้อมกับท่านอุปนันทะนั้นนั่นแหละ ได้บอกเนื้อความนั้นแก่ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพระวินัยธร แล้วกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ มีหรือไม่หนอ การที่พระวินัยธรทั้งหลายกินของที่ริบมาได้อย่างนี้.
               ภิกษุทั้งหลายเห็นกองบาตรและจีวร ที่พระอุปนันทะนำมาแล้ว พูดว่า ท่านผู้มีอายุ ท่านมีบุญมากหรือ? ท่านจึงได้บาตรและจีวรมาก. ท่านบอกทุกอย่างว่า ท่านผู้มีอายุ ผมจักมีบุญแต่ที่ไหน? บาตรและจีวรนี้ผมได้มาด้วยอุบายนี้.
               ภิกษุทั้งหลายพากันตั้งเรื่องขึ้นในธรรมสภาว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ท่านอุปนันทศากยบุตรมีตัณหามาก มีความโลภมาก.
               พระศาสดาเสด็จมาถึงแล้วตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เธอทั้งหลายนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร? เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่าด้วยเรื่องชื่อนี้ ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย พระอุปนันทะไม่ทำสิ่งที่เหมาะสมแก่ปฏิปทา ธรรมดาว่าภิกษุ เมื่อจะบอกปฏิปทาแก่ผู้อื่น ควรจะทำให้เหมาะสมแก่ตนก่อน แล้วจึงให้โอวาทผู้อื่นในภายหลัง.
               ครั้นทรงแสดงธรรม ด้วยคาถาในธรรมบทนี้ว่า :-
               คนควรตั้งตนเองไว้ในที่เหมาะสมก่อน ภายหลังจึงพร่ำสอนผู้อื่น ผู้ฉลาดไม่ควรจะมัวหมอง.

               แล้วตรัสว่า พระอุปนันทะไม่ใช่มีความโลภมากแต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อแต่ก่อน เธอก็มีความโลภมากเหมือนกัน และก็ไม่ใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อน เธอก็ริบสิ่งของของภิกษุเหล่านี้เหมือนกัน แล้วได้ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.
               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้เป็นรุกขเทวดาที่ฝั่งแม่น้ำ.
               ครั้งนั้น สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งชื่อมายาวี คือเจ้าเล่ห์ พาเมียไปอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่งใกล้ฝั่งแม่น้ำ. อยู่มาวันหนึ่ง สุนัขจิ้งจอกตัวเมียพูดกับตัวผู้ว่า พี่ฉันเกิดแพ้ท้องแล้ว ฉันอยากกินเนื้อที่ยังมีเลือดสดๆ อยู่. สุนัขจิ้งจอกตัวผู้บอกว่า น้องอย่าท้อใจ พี่จักนำมาให้น้องให้ได้ จึงเดินไปริมฝั่งน้ำ ถูกเถาวัลย์คล้องขา จึงได้เดินไปตามฝั่งนั้นเอง.
               ขณะนั้น นาก ๒ ตัวคือตัวหนึ่งเที่ยวหากินน้ำลึกเป็นปกติ ส่วนตัวหนึ่งเที่ยวหากินตามฝั่งเป็นปกติ กำลังเสาะแสวงหาปลา ได้หยุดยืนอยู่ที่ตลิ่ง. บรรดานาก ๒ ตัวนั้น ตัวเที่ยวหากินน้ำลึก เห็นปลาตะเพียนแดงตัวใหญ่ จึงดำน้ำไปโดยเร็วคาบหางปลาไว้ได้. แต่ปลาแรงมากฉุดนากไป. นากตัวที่เที่ยวหากินน้ำลึกจึงเจรจาตกลงกับนากอีกตัวหนึ่งว่า ปลาตัวใหญ่จักพอกินสำหรับเราทั้ง ๒ มาเถอะ จงเป็นสหายผู้ร่วมงานของเรา.
               แล้วกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :-
               ดูก่อนสหายนาก ผู้เที่ยวหากินตามฝั่ง ขอท่านจงมีความเจริญ จงตามฉันมาเถิด ฉันคาบปลาตัวใหญ่ไว้ แล้วมันลากฉันไปด้วยกำลังเร็ว.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สหายมนุธาว มํ ความว่า สหายจงตามฉันมา. อักษรท่านกล่าวไว้ด้วยอำนาจสนธิ. มีคำอธิบายว่า ขอสหายจงตามฉันมาคาบท่อนหางไว้ เหมือนฉันไม่ท้อถอยเพราะการจับปลาตัวนี้ ฉะนั้น.

               นากอีกตัวหนึ่ง ได้ยินคำนั้นแล้ว จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-
               ดูก่อนนากผู้เที่ยวหากินในน้ำลึก ขอท่านจงมีความเจริญ ท่านจงคาบไว้ให้มั่นด้วยกำลัง เราจักยกปลานั้นขึ้นเหมือนครุฑยกนาคขึ้น ฉะนั้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ถามสา ความว่า ด้วยกำลัง. บทว่า อุทฺธริสฺสามิ ความว่า จักนำออกไป. บทว่า สุปณฺโณ อุรคมฺมิว ความว่า เหมือนครุฑยกงูขึ้น ฉะนั้น.

               ลำดับนั้น นากทั้ง ๒ ตัวนั้นร่วมกันนำปลาตะเพียนแดงออกมาได้ วางให้ตายอยู่บนบกเกิดการทะเลาะกันว่า แบ่งสิ แกแบ่งสิ แล้วไม่อาจแบ่งกันได้ จึงหยุดนั่งกันอยู่. ขณะนั้น สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งเข้ามาถึงที่นั้น. นากเหล่านั้นเห็นแล้ว ทั้ง ๒ ตัวจึงพากันต้อนรับแล้ว พูดว่า สหายทรรพบุบผา ปลาตัวนี้ พวกเราจับได้ร่วมกัน เมื่อพวกเราไม่สามารถจะแบ่งกันได้ จึงเกิดขัดแย้งกันขึ้น ขอเชิญท่านแบ่งปลาให้พวกเราเท่าๆ กันเถิด
               แล้วได้กล่าวคาถาที่ ๓ ว่า :-
               สหายทรรพบุบผา พวกเราเกิดทะเลาะกันขึ้น ขอท่านจงฟังเรา ดูก่อนสหาย ขอจงระงับความบาดหมางกัน ขอให้ข้อพิพาทจงสงบลง.


               พึงทราบวินิจฉัยในคาถานั้น นากเรียกสุนัขจิ้งจอกว่าทรรพบุบผา เพราะมันมีสีเหมือนดอกหญ้าคา. บทว่า เมธคํ ได้แก่การทะเลาะกัน.

               สุนัขจิ้งจอกได้ยินถ้อยคำของนากเหล่านั้นแล้ว
               เมื่อจะแสดงถึงปรีชาสามารถของตน จึงกล่าวคาถานี้ว่า :-
               เราเป็นผู้พิพากษามาก่อน ได้พิจารณาคดีมาแล้วมากมายสหาย เราจะระงับความบาดหมางกัน ข้อพิพาทจงสงบลง.


               สุนัขจิ้งจอกครั้นกล่าวคาถานี้แล้ว เมื่อจะแบ่งปลา จึงกล่าวคาถานี้ว่า :-
               สหายผู้เที่ยวหากินตามฝั่ง ท่อนหางจักเป็นของเจ้า แต่ท่อนหัวจักเป็นของผู้เที่ยวหากินในน้ำลึก ส่วนอีกท่อนกลางนี้จักเป็นของผู้ตัดสิน.


               บรรดาคาถาทั้ง ๒ นั้น คาถาที่ ๑ มีเนื้อความดังนี้.
               เราเคยเป็นผู้พิพากษาของพระราชาทั้งหลายมาก่อน เรานั้นนั่งในศาลพิจารณาคดีมามากทีเดียว คือคดีมากมาย ของพราหมณ์และคหบดีทั้งหลายเหล่านั้นๆ เราพิจารณา คือวินิจฉัยมาแล้ว เรานั้นจักไม่อาจพิจารณาคดีของสัตว์ ๔ เท้าทั้งหลาย ผู้มีชาติเสมอกัน เช่นท่านทั้งหลายได้อย่างไร เราจะระงับความร้าวราญของท่านทั้งหลาย สหาย ความวิวาทบาดหมางกัน จงสงบคือระงับไป เพราะอาศัยเรา. ก็แหละ ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว มันก็แบ่งปลาเป็น ๓ ส่วนแล้วบอกว่า ดูก่อนนากตัวเที่ยวหากินตามฝั่ง เจ้าจงคาบเอาท่อนหาง ท่อนหัวจงเป็นของตัวเที่ยวหากินในน้ำลึก.
               บทว่า อจฺจายํ มชฺฌิโม ขณฺโฑ ความว่า อีกส่วนท่อนกลางนี้. อีกอย่างหนึ่งบทว่า อจฺจ ความว่า เลยไป คือท่อนที่อยู่เลยส่วนทั้ง ๒ นี้ไป ได้แก่ท่อนกลางนี้จักเป็นของผู้พิพากษา คือนายผู้วินิจฉัยคดี.

               สุนัขจิ้งจอกครั้นแบ่งปลาอย่างนี้แล้ว ก็บอกว่า เจ้าทั้งหลายอย่าทะเลาะกัน แล้วพากันกินท่อนหางและท่อนหัวเถิด แล้วก็เอาปากคาบเอาท่อนกลางหนีไป ทั้งๆ ที่นาก ๒ ตัวนั้นเห็นอยู่นั่นแหละ.
               นาก ๒ ตัวนั้นนั่งหน้าเสียเหมือนแพ้ตั้งพันครั้ง แล้วได้กล่าวคาถาที่ ๖ ว่า :-
               ถ้าเราไม่วิวาทกันไซร้ ท่อนกลางก็จักเป็นอาหารไปได้นานวัน แต่เพราะวิวาทกัน สุนัขจิ้งจอกจึงนำเอาปลาตะเพียนแดงที่ไม่ใช่หัวไม่ใช่หางไป คือท่อนกลาง.


               ฝ่ายสุนัขจิ้งจอกดีใจว่า วันนี้ เราจักให้เมียกินปลาตะเพียนแดง แล้วได้มาที่สำนักของเมียนั้น. นางเมียเห็นผัวกำลังมาดีใจเป็นอย่างยิ่ง จึงได้กล่าวคาถานี้ว่า :-
               วันนี้ ฉันเห็นผัวมีอาหารเต็มปาก จึงชื่นใจ เหมือนกษัตริย์ได้ราชสมบัติเป็นพระราชาแล้วพึงทรงชื่นพระทัย ก็ปานกัน.


               ครั้นกล่าวคาถานี้แล้ว เมื่อถามถึงอุบายที่ได้อาหารมา จึงกล่าวคาถานี้ว่า :-
               พี่เป็นสัตว์เกิดบนบก ไฉนหนอ จึงจับปลาในน้ำได้ ดูก่อนพี่ร่วมชีวิต พี่ถูกฉันถามแล้ว ขอจงบอกฉันว่า พี่ได้มาอย่างไร?


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กถนฺนุ ความว่า เมื่อสุนัขจิ้งจอกผัวบอกว่า จงกินเถิดน้อง แล้ววางชิ้นปลาไว้ข้างหน้า สุนัขจิ้งจอกตัวเป็นเมียจึงถามว่า พี่เป็นสัตว์เกิดบนบก แต่จับปลาในน้ำมาได้อย่างไร?

               สุนัขจิ้งจอกตัวเป็นผัว เมื่อจะบอกอุบายที่ได้ปลานั้นมา จึงกล่าวคาถาติดต่อกันไปว่า :-
               คนทั้งหลายผ่ายผอม เพราะวิวาทกัน มีความสิ้นทรัพย์ ก็เพราะวิวาทกัน นาก ๒ ตัวพลาดปลาชิ้นนี้ เพราะทะเลาะกัน แม่งามงอนเจ้าจงกินปลาตะเพียนแดงเถิด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิวาเทน กิสา โหนฺติ ความว่า น้องนางผู้เจริญเอ๋ย สัตว์เหล่านี้ เมื่อทำการวิวาทกัน อาศัยการวิวาทจึงผ่ายผอม คือมีเนื้อและโลหิตน้อย.
               บทว่า วิวาเทน ธนกฺขยา ความว่า ถึงความสิ้นทรัพย์ทั้งหลาย มีเงินและทองเป็นต้นก็มี เพราะการวิวาทกันนั่นเอง. เมื่อคนทั้ง ๒ วิวาทกัน คนหนึ่งแพ้ เพราะแพ้จึงถึงความสิ้นทรัพย์ เพราะให้ส่วนแห่งความชนะแก่ผู้พิพากษา.
               บทว่า ชินา อุทฺทา ความว่า นาก ๒ ตัวพลาดปลาชิ้นนี้ไป เพราะวิวาทกันนั่นเอง เพราะฉะนั้น เธออย่าถามถึงเหตุแห่งปลาชิ้นนี้ที่เรานำมาแล้ว ดูก่อนน้อง เธอจงกินปลาตะเพียนแดงชิ้นนี้อย่างเดียว.
               คาถานอกนี้ เป็นคาถาของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ตรัสรู้ยิ่งแล้วว่า ดังนี้ :-
               ในหมู่มนุษย์ ข้อพิพาทกันเกิดขึ้น ณ ที่ใด พวกเขาจะวิ่งหาผู้พิพากษา เพราะผู้พิพากษาเป็นผู้แนะนำพวกเขา ฝ่ายพวกเขาก็จะเสียทรัพย์ ณ ที่นั้น เหมือนนาก ๒ ตัวนั้นเอง แต่คลังหลวงเจริญขึ้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอวเมว ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นาก ๒ ตัวนั้นพลาดไปแล้วฉันใด ถึงในหมู่มนุษย์ก็เช่นนั้นเหมือนกัน ณ ที่ใด เกิดการวิวาทกันขึ้น ณ ที่นั้น คนทั้งหลายจะวิ่งหาผู้พิพากษา คือเข้าไปหาเจ้านายผู้ตัดสิน.
               เพราะเหตุไร? เพราะว่า ท่านเป็นผู้แนะนำพวกเขา.
               อธิบายว่า เป็นผู้จะให้ข้อพิพาทของพวกเขา ที่ทะเลาะกันสงบลงได้.
               บทว่า ธนาปิ ตตฺถ ความว่า พวกเขาผู้วิวาทกันจะเสื่อมแม้จากทรัพย์ ณ ที่นั้น อธิบายว่า จะเสื่อมจากของที่มีอยู่ของตน แต่คลังหลวงจะเจริญขึ้น เพราะสินไหม และเพราะรับส่วนแบ่งจากชัยชนะ

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกไว้ว่า
               สุนัขจิ้งจอกในครั้งนั้น ได้แก่ พระอุปนันทะ ในบัดนี้
               นาก ๒ ตัวได้แก่ ภิกษุแก่ ๒ รูป
               ส่วนรุกขเทวาผู้ทำเหตุนั้นให้เห็นประจักษ์ ได้แก่ เราตถาคต ฉะนี้แล.

               จบ อรรถกถาทัพพปุปผชาดกที่ ๕               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ทัพพปุปผกชาดก จบ.
อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 270990อรรถกถาชาดก 270997
เล่มที่ 27 ข้อ 997อ่านชาดก 271007อ่านชาดก 272519
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=4359&Z=4385
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๔  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]