ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 

อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 270538อรรถกถาชาดก 270542
เล่มที่ 27 ข้อ 542อ่านชาดก 270546อ่านชาดก 272519
อรรถกถา ปุจิมันทชาดก
ว่าด้วย ผู้รอบคอบ
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันวิหาร ทรงปรารภท่านพระมหาโมคคัลลานะ จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า อุฎฺเฐหิ โจร กึ เสสิ ดังนี้.
               ได้ยินว่า เมื่อพระเถระเข้าไปอาศัยนครราชคฤห์ อยู่ในกุฎีที่สร้างอยู่ในป่า มีโจรคนหนึ่งตัดที่ต่อในเรือนหลังหนึ่ง ในบ้านใกล้ประตูเมือง ถือเอาทรัพย์ที่เป็นแก่นสารซึ่งพอจะถือเอาไปได้ หนีไปเข้าบริเวณกุฎีของพระเถระ แล้วนอนที่หน้ามุขบรรณศาลาของพระเถระด้วยคิดว่า ณ ที่นี้จักคุ้มครองรักษาเราได้.
               พระเถระรู้ว่าโจรนั้นนอนอยู่ที่หน้ามุข จึงทำความรังเกียจโจรนั้น คิดว่า ธรรมดาว่าการเกี่ยวข้องกับโจร ย่อมไม่ควร จึงออกมาไล่ว่า เฮ้ย เอ็งอย่ามานอนที่นี้. โจรจึงออกจากที่นั้น ทิ้งแต่รอยเท้าให้หลงเหลือไว้แล้วหนีไป. มนุษย์ทั้งหลายถือคบเพลิงมา ณ ที่นั้น ตามแนวรอยเท้าโจร เห็นที่มา ที่ยืน และที่นอนเป็นต้นของโจรนั้น จึงกล่าวกันว่า โจรมาทางนี้ ยืนที่นี้ นั่งที่นี้ หนีไปทางนี้ แต่พวกเราไม่เห็นโจร ต่างแล่นไปทางโน้นทางนี้ ก็ไม่เห็น จึงพากันกลับ.
               วันรุ่งขึ้น เวลาเช้า พระเถระเที่ยวบิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์ กลับจากบิณฑบาตแล้ว จึงไปยังพระเวฬุวันวิหาร กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระศาสดา. พระศาสดาตรัสว่า โมคคัลลานะ มิใช่เธอเท่านั้นจะรังเกียจสิ่งที่ควรรังเกียจ แม้โบราณกบัณฑิตทั้งหลายก็รังเกียจแล้ว อันพระเถระอ้อนวอนแล้ว จึงทรงนำเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นรุกขเทวดา สิงอยู่ที่ต้นสะเดาในป่าอันเป็นป่าช้าแห่งพระนคร. อยู่มาวันหนึ่ง โจรกระทำโจรกรรมในบ้านใกล้ประตูเมือง แล้วเข้าไปยังป่าช้านั้น. ก็ในกาลนั้นมีต้นไม้ใหญ่ในป่าช้านั้น ๒ ต้นคือ ต้นสะเดากับต้นอัสสัตถพฤกษ์. โจรเก็บห่อภัณฑะไว้ที่โคนต้นสะเดาแล้วจึงนอน แต่ในเวลาอื่นมนุษย์ทั้งหลายจับพวกโจรเสียบหลาวทำด้วยไม้สะเดา. ครั้งนั้น เทวดานั้นคิดว่า ถ้าพวกมนุษย์จักมาจับโจรนี้ จักพากันตัดกิ่งสะเดานี้แหละ ทำเป็นหลาวเสียบโจรนี้ เมื่อเป็นอย่างนี้ ต้นไม้จักพินาศเอาเถอะ เราจักนำโจรนั้นออกไปจากที่นี้.
               เทวดานั้น เมื่อจะเจรจาปราศัยกับโจรนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :-
               แน่ะโจร เจ้าจงลุกขึ้น จะมัวนอนอยู่ทำไม เจ้าต้องการอะไรด้วยการนอน ราชบุรุษอย่าจับเจ้าผู้ทำโจรกรรมอันหยาบช้าทารุณในบ้านเลย.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ราชาโน ท่านกล่าวหมายเอาพวกราชบุรุษ.
               บทว่า กิพฺพิสการกํ ได้แก่ ผู้กระทำโจรกรรมอันทารุณหยาบช้า.

               เทวดา ครั้นกล่าวกะโจรนั้นดังนี้แล้ว จึงทำให้กลัวหนีไปโดยพูดว่า เจ้าจงไปที่อื่นตราบเท่าที่พวกราชบุรุษยังไม่มาจับ. ก็เมื่อโจรนั้นไปแล้ว เทวดาผู้สิงอยู่ที่ต้นอัสสัตถพฤกษ์ จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-
               พวกราชบุรุษจักจับโจรผู้กระทำโจรกรรมอันทารุณหยาบช้าในบ้านมิใช่หรือ ธุระอะไรในเรื่องนั้นของปุจิมันทเทวดาผู้เกิดอยู่ในป่าเล่า.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วเน ชาตสฺส ติฏฺฐโต ความว่า ต้นไม้ที่เกิดและตั้งอยู่ในป่า. ก็อัสสัตถพฤกษ์เทวดาร้องเรียกปุจิมันเทวดา โดยเฉพาะเรียกชื่อต้นไม้ เพราะปุจิมันทเทวดานั้นเกิดที่ต้นสะเดานั้น.

               นิมพเทวดาได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๓ ว่า :-
               ดูก่อนอัสสัตถเทวดา ท่านไม่รู้เหตุที่จะอยู่ร่วมกันไม่ได้ ระหว่างเรากับโจร
               ราชบุรุษทั้งหลายจับโจรผู้ทำโจรกรรมอันหยาบช้าทารุณในบ้านได้แล้ว จะเสียบโจรไว้บนหลาวไม้สะเดา ใจของเรารังเกียจในเรื่องนั้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสฺสตฺถ นี้ เทวดาผู้เกิดที่ต้นสะเดานั้นร้องเรียกโดยนัยอันมีในก่อนนั่นแหละ.
               บทว่า มม โจรสฺส จนฺตรํ ได้แก่ เหตุที่เราและโจรอยู่ร่วมกันไม่ได้.
               บทว่า อจฺเจนฺติ นิมฺพสูลสฺมึ ความว่า เวลานี้ราชบุรุษทั้งหลายจะร้อยโจรไว้บนหลาวไม้สะเดา.
               บทว่า ตสฺมึ เม สงฺกเต มโน ความว่า จิตของเรารังเกียจในเหตุนั้นว่า ก็ถ้าพวกราชบุรุษจักร้อยโจรนี้ที่หลาวไซร้ วิมานของเราจักฉิบหาย ถ้าไม่ทำอย่างนั้น จักแขวนโจรไว้ที่กิ่งไม้สะเดา วิมานของเราจักมีกลิ่นซากศพ ด้วยเหตุนั้น เราจึงให้โจรนั้นหนีไปเสีย.

               เมื่อเทวดาเหล่านั้นเจรจาปราศัยกันและกันอยู่อย่างนี้แหละ พวกเจ้าของทรัพย์ถือคบเพลิงมาตามรอยเท้าเห็นที่ที่โจรนอน จึงกล่าวว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ก็บัดนี้ โจรลุกหนีไปแล้ว พวกเราไม่ได้ตัวโจร ถ้าพวกเราจักได้ตัวโจรไซร้ จักเสียบร้อยโจรนั้นไว้บนหลาวไม้สะเดานี้ หรือแขวนไว้ที่กิ่งสะเดาแล้วจักไป แล้วแล่นไป ค้นหาทางโน้นทางนี้ ไม่พบโจรจึงพากันกลับไป.
               อัสสัตถเทวดาได้ฟังคำของคนเหล่านั้นจึงกล่าวคาถาที่ ๔ ว่า :-
               บัณฑิตพึงรังเกียจสิ่งที่ควรรังเกียจ พึงป้องกันภัยที่ยังไม่มาถึงตัว พิจารณาดูโลกทั้งสองเพราะภัยในอนาคต.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า รกฺเขยฺยานาคตํ ภยํ ความว่า อนาคตภัยมี ๒ อย่าง คือ ภัยที่เป็นไปในทิฏฐธรรมอย่างหนึ่ง ภัยที่เป็นไปในสัมปรายภพอย่างหนึ่งในอนาคต
               ภัย ๒ อย่างนั้น บัณฑิตเมื่อเว้นบาปมิตรเสีย ชื่อว่าป้องกันภัยที่เป็นไปในทิฏฐธรรม เมื่อเว้นทุจริต ๓ เสีย ชื่อว่าป้องกันภัยที่เป็นไปในสัมปรายภพ.
               บทว่า อนาคตภยา ความว่า เมื่อรังเกียจภัยนั้น เหตุอนาคตภัย.
               บทว่า ธีโร ความว่า บุรุษผู้เป็นบัณฑิตย่อมไม่กระทำการเกี่ยวข้องกับปาปมิตร ย่อมไม่ประพฤติทุจริตโดยทวารทั้ง ๓.
               บทว่า อุโภ โลเก ความว่า เพราะบัณฑิตนี้เมื่อกลัวอยู่อย่างนี้ ย่อมพิจารณาเห็น คือย่อมแลเห็นโลกทั้งสอง กล่าวคือโลกนี้และโลกหน้า เมื่อรังเกียจอยู่ ย่อมละเว้นปาปมิตร เพราะกลัวภัยในโลกนี้ ย่อมไม่ทำบาปกรรม เพราะกลัวภัยในโลกหน้า.

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า
               เทวดาผู้บังเกิด ณ ต้นอัสสัตถพฤกษ์ในครั้งนั้น ได้เป็น พระสารีบุตร
               ส่วนเทวดาผู้บังเกิด ณ ต้นสะเดาในครั้งนั้น ได้เป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.
               จบ อรรถกถาปุจิมันทชาดกที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ปุจิมันทชาดก จบ.
อ่านชาดก 270000อ่านชาดก 270538อรรถกถาชาดก 270542
เล่มที่ 27 ข้อ 542อ่านชาดก 270546อ่านชาดก 272519
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=2763&Z=2775
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
บันทึก  ๒๑  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]