ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]อ่านอรรถกถา 9 / 1อ่านอรรถกถา 9 / 1อรรถกถา เล่มที่ 9 ข้อ 91อ่านอรรถกถา 9 / 141อ่านอรรถกถา 9 / 365
อรรถกถา ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
สามัญญผลสูตร

หน้าต่างที่ ๔ / ๗.

               ก็ในคำว่า สยํ อภิญฺญา สจฺฉิกตฺวา ปเวเทติ นี้ มีวินิจฉัยว่า
               บทว่า สยํ ได้แก่ เอง คือไม่มีผู้อื่นแนะนำ.
               บทว่า อภิญฺญา ได้แก่ ด้วยความรู้ยิ่ง. อธิบายว่า รู้ด้วยญาณอันยิ่ง.
               บทว่า สจฺฉิกตฺวา ได้แก่ ทำให้ประจักษ์. ด้วยบทนี้ เป็นอันปฏิเสธความคาดคะเนเป็นต้น.
               บทว่า ปเวเทติ ได้แก่ ให้รู้ ให้ทราบ คือประกาศให้ทราบกันทั่วไป.
               ข้อว่า โส ธมฺมํ เทเสติ อาทิกลฺยาณํ ฯเปฯ ปริดยสานกลฺยาณํ
               ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงอาศัยความเป็นผู้กรุณาในสัตว์ทั้งหลาย แม้ทรงละซึ่งความสุขเกิดแต่วิเวกแสดงธรรม และเมื่อทรงแสดงธรรมนั้น น้อยก็ตาม มากก็ตาม ทรงแสดงชนิดมีความงามในเบื้องต้นเป็นต้นทั้งนั้น.
               อธิบายว่า แม้ในเบื้องต้น ทรงแสดงทำให้งาม ไพเราะไม่มีโทษเลย แม้ในท่ามกลาง แม้ในที่สุด ก็ทรงแสดงทำให้งาม ไพเราะไม่มีโทษเลย.
               ในข้อที่กล่าวมาแล้วนั้น เทศนามีเบื้องต้นท่ามกลางและที่สุด. ศาสนาก็มีเบื้องต้นท่ามกลางและที่สุด. จะกล่าวเทศนาก่อน. ในคาถาแม้มี ๔ บาท บาทแรกชื่อว่าเป็นเบื้องต้น. สองบาทต่อจากนั้นชื่อว่าเป็นท่ามกลาง. บาทเดียวในตอนท้ายชื่อว่าเป็นที่สุด.
               พระสูตรที่มีอนุสนธิเดียว มีนิทานเป็นเบื้องต้น มีคำว่า อิทมโวจ เป็นที่สุด. คำระหว่างเบื้องต้นและที่สุดทั้ง ๒ เป็นท่ามกลาง.
               พระสูตรที่มีอนุสนธิมาก มีอนุสนธิแรกเป็นเบื้องต้น มีอนุสนธิในตอนท้ายเป็นที่สุด. อนุสนธิหนึ่ง หรือสอง หรือมากในท่ามกลาง เป็นท่ามกลางทั้งนั้น.
               สำหรับศาสนา มีศีลสมาธิและวิปัสสนาชื่อว่าเป็นเบื้องต้น. สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า ก็อะไรเป็นเบื้องต้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย? ศีลที่บริสุทธิ์ดีและทิฏฐิที่ตรงเป็นเบื้องต้น.๑-
____________________________
๑- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๖๘๗

               ก็อริยมรรคที่ตรัสไว้อย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มัชฌิมาปฏิปทาที่ตถาคตตรัสรู้ด้วยปัญญาอันยิ่งแล้วมีอยู่๒- ดังนี้ ชื่อว่าเป็นท่ามกลาง.
____________________________
๒- วิ. มหา. เล่ม ๔/ข้อ ๑๓

               ผลและนิพพานชื่อว่าเป็นที่สุด.
               จริงอยู่ ผลท่านกล่าวว่าเป็นที่สุด ในประโยคนี้ว่า แน่ะพราหมณ์ เพราะเหตุนั้นแหละ ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์ นั่นเป็นสาระ นั่นเป็นที่สุด ดังนี้.๓-
               นิพพานกล่าวว่าเป็นที่สุด ในประโยคนี้ว่า ดูก่อนท่านวิสาขะ บุคคลอยู่จบพรหมจรรย์ซึ่งหยั่งลงสู่นิพพาน มีนิพพานเป็นที่ไปในเบื้องหน้า มีนิพพานเป็นที่สุด.๔-

               ผลญฺเจว นิพฺพานญฺจ ปริโยสานํ นาม. "เอตทตฺถมิทํ พฺราหฺมณ
พฺรหฺมจริยํ, เอตํ สารํ, เอตํ ปริโยสานนฺ"ติ ๓- หิ เอตฺถ ผลํ ปริโยสานนฺติ
วุตฺตํ. "นิพฺพาโนคธํ หิ อาวุโส วิสาข พฺรหฺมจริยํ นิพฺพานปรายนํ
นิพฺพานปริโยสานนฺ"ติ ๔- เอตฺถ นิพฺพานํ ปริโยสานนฺติ วุตฺตํ.

               [ฉบับมหาจุฬาฯ]
               ผลและนิพพาน ชื่อว่าเป็นที่สุด
               แท้จริง ผลในคำว่า “พราหมณ์ ... พรหมจรรย์นี้มีเจโตวิมุตติอันไม่กำเริบเป็นเป้าหมายเป็นแก่นเป็นที่สุด” นี้ ท่านเรียกว่าที่สุด
               นิพพานในคำว่า “ท่านวิสาขะ ... เพราะพรหมจรรย์นี้มีนิพพานเป็นที่หยั่งลง มีนิพพานเป็นจุดหมาย มีนิพพานเป็นที่สุด” นี้ ท่านเรียกว่าที่สุด

____________________________
๓- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๓๖๐   ๔- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๕๑๒

               ในที่นี้ทรงประสงค์เบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุดแห่งเทศนา.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงธรรม ทรงแสดงศีลในเบื้องต้น ทรงแสดงมรรคในท่ามกลาง ทรงแสดงนิพพานในที่สุด. ฉะนั้น พระธรรมสังคาหกาจารย์จึงกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงแสดงธรรม งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ดังนี้.
                         เพราะฉะนั้น ธรรมกถึกแม้อื่น เมื่อแสดงธรรม
                         พึงแสดงศีลในเบื้องต้น แสดงมรรคในท่ามกลาง
                         และแสดงนิพพานในที่สุด นี้เป็นหลักของธรรมกถึก.


               บทว่า สาตฺถํ สพฺยญฺชนํ ความว่า ก็ผู้ใดมีเทศนาเกี่ยวด้วยการพรรณนาถึงข้าวยาคูและภัตร หญิงและชายเป็นต้น ผู้นั้นชื่อว่าแสดงเทศนาพร้อมทั้งอรรถก็หาไม่ แต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงละการแสดงอย่างนั้น ทรงแสดงเทศนาเกี่ยวด้วยสติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น. ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ทรงแสดงพร้อมทั้งอรรถ ดังนี้.
               ก็เทศนาของผู้ใดประกอบด้วยพยัญชนะเดียวเป็นต้น หรือมีพยัญชนะหุบปากทั้งหมด หรือมีพยัญชนะเปิดปากทั้งหมด และมีกดปากทั้งหมด เทศนาของผู้นั้นย่อมเป็นเทศนาชื่อว่าไม่มีพยัญชนะ เพราะพยัญชนะไม่บริบูรณ์ ดุจภาษาของพวกมิลักขะ มีเผ่าทมิฬะ เผ่ากิราตะ และเผ่ายวนะเป็นต้น.
               แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงทำพยัญชนะ ๑๐ อย่างที่กล่าวไว้อย่างนี้ว่า สิถิล ธนิต ทีฆะ รัสสะ ลหุ ครุ นิคคหิต สัมพันธ์ วิมุตและประเภทแห่งความขยายของพยัญชนะ ดังนี้ไม่ให้ปะปนกัน ทรงแสดงธรรมทำพยัญชนะนั่นแลให้บริบูรณ์ ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ทรงแสดงธรรมพร้อมทั้งพยัญชนะ ดังนี้.
               บทว่า เกวลํ ในบทว่า เกวลปริปุณฺณํ นี้เป็นคำเรียกความสิ้นเชิง.
               บทว่า ปริปุณฺณํ เป็นคำเรียกความไม่ขาดไม่เกิน. อธิบายว่า ทรงแสดงบริบูรณ์ทั้งสิ้นทีเดียว แม้เทศนาส่วนหนึ่งที่ไม่บริบูรณ์ก็ไม่มี.
               บัณฑิตพึงทราบว่า บริบูรณ์สิ้นเชิง เพราะไม่มีคำที่จะพึงเพิ่มเข้าและตัดออก.
               บทว่า ปริสุทฺธํ ได้แก่ ไม่มีความเศร้าหมอง.
               ก็ผู้ใดแสดงธรรมด้วยคิดว่า เราจักได้ลาภหรือสักการะเพราะอาศัยธรรมเทศนานี้ เทศนาของผู้นั้นย่อมไม่บริสุทธิ์. แต่พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงเพ่งโลกามิส มีพระหทัยอ่อนโยนด้วยเมตตาภาวนาซึ่งแผ่ประโยชน์ ทรงแสดงด้วยจิตที่ดำรงอยู่โดยสภาพคือการยกระดับให้สูงขึ้น. ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่าทรงแสดงธรรมบริสุทธิ์.
               ก็ในคำว่า พฺรหฺมจริยํ ปกาเสติ นี้ ศัพท์ว่า พฺรหฺมจริย นี้ ปรากฏในอรรถเหล่านี้ คือ ทาน เวยยาวัจจะ ศีลสิกขาบท ๕ อัปปมัญญา เมถุนวิรัติ สทารสันโดษ วิริยะ องค์อุโบสถ อริยมรรค ศาสนา.
               จริงอยู่ ทาน ท่านกล่าวว่า พรหมจรรย์ ในปุณณกชาดกนี้ว่า๕-
                         ก็อะไรเป็นพรต อะไรเป็นพรหมจรรย์ของท่าน นี้เป็นวิบากของ
                         กรรมอะไรที่สั่งสมดีแล้ว ความสำเร็จ ความรุ่งเรือง กำลัง การเข้า
                         ถึงความเพียร และวิมานใหญ่ของท่านนี้ เป็นผลแห่งกรรมอะไร.
                         ท่านผู้ประเสริฐ ข้าพเจ้าและภริยาทั้ง ๒ เมื่ออยู่ในมนุษยโลกได้
                         เป็นผู้มีศรัทธา เป็นทานบดี เรือนของเราในกาลนั้นได้เป็นโรง
                         ดื่ม และสมณพราหมณ์ทั้งหลายก็อิ่มหนำ ก็ทานนั้นเป็นพรต
                         เป็นพรหมจรรย์ของเรา นี้เป็นวิบากแห่งทานที่สั่งสมดีแล้ว ความ
                         สำเร็จ ความรุ่งเรือง กำลัง การเข้าถึงความเพียรและวิมานใหญ่
                         ของเรา นี้เป็นแผลแห่งทานที่สั่งสมดีแล้ว ท่านผู้แกล้วกล้า.
               เวยยาวัจจะ ท่านกล่าวว่า พรหมจรรย์ ในเรื่องอังกุรเปรตนี้ว่า๖-
                         ฝ่ามือของท่านให้สิ่งที่น่าใคร่ด้วยพรหมจรรย์อะไร
                         ฝ่ามือของท่านหลั่งมธุรสด้วยพรหมจรรย์อะไร
                         บุญสำเร็จในฝ่ามือของท่านด้วยพรหมจรรย์อะไร.
                         ฝ่ามือของข้าพเจ้าให้สิ่งที่น่าใคร่ด้วยพรหมจรรย์นั้น
                         ฝ่ามือของข้าพเจ้าหลั่งมธุรสด้วยพรหมจรรย์นั้น
                         บุญสำเร็จในฝ่ามือของข้าพเจ้าด้วยพรหมจรรย์นั้น.
____________________________
๕- ขุ. ชา. เล่ม ๒๘/ข้อ ๑๐๐๙   ๖- ขุ. เปต. เล่ม ๒๖/ข้อ ๑๐๖

               ศีลสิกขาบท ๕ ท่านกล่าวว่า พรหมจรรย์ ในติตติรชาดกนี้ว่า
               อิทํ โข ตํ ภิกฺขเว ติตฺติริยํ นาม พฺรหฺมจริยํ อโหสิ
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ศีล ๕ นั้นแล ชื่อว่าติตติยพรหมจรรย์.๗-
____________________________
๗- วิ. จุลฺ. เล่ม ๗/ข้อ ๒๖๒

               อัปปมัญญา ๔ ท่านกล่าวว่า พรหมจรรย์ ในมหาโควินทสูตรนี้ว่า
               ตํ โข ปน ปญฺจสิข พฺรหฺมจริยํ เนว นิพฺพิทาย น วิราคาย น นิโรธาย ยาวเทว พฺรหฺมโลกุปปตฺติยา
               ดูก่อนปัญจสิขเทพบุตร ก็พรหมจรรย์นั้นแล ไม่เป็นไปเพื่อนิพพิทา ไม่เป็นไปเพื่อวิราคะ ไม่เป็นไปเพื่อนิโรธ เป็นไปเพียงเพื่อเข้าถึงพรหมโลกเท่านั้น.๘-
____________________________
๘- ที. มหา. เล่ม ๑๐/ข้อ ๒๓๔

               เมถุนวิรัติ ท่านกล่าวว่า พรหมจรรย์ ในสัลเลขสูตรนี้ว่า ปเร อพฺรหฺมจาริโน ภวิสฺสนฺติ มยเมตฺถ พฺรหฺมจาริโน ภวิสฺสาม คนเหล่าอื่นจักเป็นผู้ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ เราทั้งหลายในที่นี้จักเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์.๙-
____________________________
๙- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๑๐๔

               สทารสันโดษ ท่านกล่าวว่า พรหมจรรย์ ในมหาธรรมปาลชาดกว่า๑๐-
                         เราทั้งหลายไม่นอกใจภริยาทั้งหลาย
                         และภริยาทั้งหลายก็ไม่นอกใจพวกเรา
                         เว้นภริยาเหล่านั้น พวกเราประพฤติพรหมจรรย์
                         เพราะเหตุนั้นแหละ พวกเราจึงไม่ตายแต่หนุ่มๆ.
____________________________
๑๐- ขุ. ชา. เล่ม ๒๗/ข้อ ๑๔๑๓

               ความเพียร ท่านกล่าวว่า พรหมจรรย์ ในโลมหังสนสูตรว่า๑๑-
               อภิชานามิ โข ปนาหํ สารีปุตฺต จตุรงฺคสมนฺนาคตํ พฺรหฺมจริยํ จริตา ตปสฺสี สุทํ โหมิ
               ดูก่อนสารีบุตร เรานี่แหละรู้ชัดซึ่งความประพฤติพรหมจรรย์อันประกอบด้วยองค์ ๔ เรานี่แหละเป็นผู้มีความเพียรเครื่องเผากิเลส.
____________________________
๑๑- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๑๗๗

               อุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ ที่ทำด้วยอำนาจการฝึกตน ท่านกล่าวว่า พรหมจรรย์ ในนิมิชาดกอย่างนี้ว่า
                         บุคคลเกิดเป็นกษัตริย์ด้วยพรหมจรรย์อย่างต่ำ
                         เกิดเป็นเทวดาด้วยพรหมจรรย์อย่างกลาง และ
                         ย่อมบริสุทธิ์ด้วยพรหมจรรย์อย่างสูงสุด.๑๒-
____________________________
๑๒- ขุ. ชา. เล่ม ๒๗/ข้อ ๑๑๘๖

               อริยมรรค ท่านกล่าวว่า พรหมจรรย์ ในมหาโควินทสูตรนั่นแลว่า๑๓-
               อิทํ โข ปน ปญฺจสิข พฺรหฺมจริยํ เอกนฺตนิพฺพิทาย วิราคาย ฯเปฯ อยเมว อริโย อฎฺฐงฺคิโก มคฺโค
               ดูก่อนปัญจสิขเทพบุตร ก็พรหมจรรย์นี้แล เป็นไปเพื่อนิพพิทาโดยส่วนเดียว เป็นไปเพื่อวิราคะ เป็นไปเพื่อนิโรธ ... พรหมจรรย์นี้คือมรรคมีองค์ ๘ ที่ห่างไกลจากข้าศึกคือกิเลสนี้แหละ.
____________________________
๑๓- ที. มหา. เล่ม ๑๐/ข้อ ๒๓๔

               ศาสนาทั้งสิ้นซึ่งสงเคราะห์ด้วยสิกขา ๓ ท่านกล่าวว่า พรหมจรรย์ ในปาสาทิกสูตรว่า ตยิทํ พฺรหฺมจริยํ อิทฺธญฺเจว ผีตญฺจ วิตฺถาริกํ พาหุชญฺญํ ปุถุภูตํ ยาวเทว เทวมนุสฺเสหิ สุปฺปกาสิตํ พรหมจรรย์นี้นั้นสมบูรณ์ มั่งคั่ง แพร่หลาย คนโดยมากเข้าใจ มั่นคง เพียงที่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายประกาศดีแล้วเท่านั้น.๑๔-
____________________________
๑๔- ที. ปาฏิ. เล่ม ๑๑/ข้อ ๑๐๔

               ก็ศาสนาทั้งสิ้นซึ่งสงเคราะห์ด้วยสิกขา ๓ นี้แหละ ท่านประสงค์ว่าพรหมจรรย์ในที่นี้. เพราะฉะนั้น พึงทราบความในข้อนี้อย่างนี้ว่า บทว่า พฺรหฺมจริยํ ปกาเสติ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น ... บริสุทธิ์. และเมื่อทรงแสดงอย่างนี้ ทรงประกาศพรหมจรรย์ คือศาสนาทั้งสิ้นซึ่งสงเคราะห์ด้วยสิกขาบท ๓.
               บทว่า พฺรหฺมจริยํ มีอธิบายว่า ความประพฤติเป็นพรหม ด้วยอรรถว่าประเสริฐที่สุด หรือความประพฤติของพระพุทธเจ้าเป็นต้นผู้เป็นพรหม.
               บทว่า ตํ ธมฺมํ ความว่า ฟังธรรมที่ถึงพร้อมด้วยประการดังกล่าวแล้วนั้น.
               บทว่า คหปติ วา ความว่า เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงชี้คฤหบดีก่อน. เพราะจะกำจัดมานะอย่างหนึ่ง เพราะคฤหบดีมีจำนวนสูงอย่างหนึ่ง.
               จริงอยู่ โดยมากพวกที่ออกจากขัตติยตระกูลบวช ย่อมถือตัวเพราะอาศัยชาติ. พวกที่ออกจากตระกูลพราหมณ์บวช ย่อมถือตัวเพราะอาศัยมนต์. พวกที่ออกจากตระกูลต่ำบวช ไม่อาจที่จะดำรงอยู่ได้เพราะตนมีชาติแตกต่างจากเขา.
               ส่วนพวกเด็กคฤหบดี ไถพื้นที่ไร่นา จนเหงื่อไหล รักแร้ ขี้เหลือขึ้นหลัง ย่อมกำจัดความถือตัวและเย่อหยิ่งเสียได้. เพราะไม่มีความถือตัวเช่นนั้น เขาเหล่านั้นบวชแล้ว ไม่ทำความถือตัวหรือความเย่อหยิ่ง เรียนพระพุทธพจน์ตามกำลัง กระทำพระพุทธพจน์นั้นด้วยวิปัสสนา ย่อมอาจที่จะดำรงอยู่ในความเป็นพระอรหันต์ได้. ส่วนผู้ที่ออกจากตระกูลนอกนี้บวช มีไม่มาก. แต่ที่เป็นคฤหบดี มีมาก. ดังนั้น จึงชี้คฤหบดีก่อน เพราะจะกำจัดมานะ และเพราะมีจำนวนสูง ดังนี้.
               บทว่า อญฺญตรสฺมึ วา ความว่า ในตระกูลใดตระกูลหนึ่งบรรดาตระกูลนอกนี้.
               บทว่า ปจฺจาชาโต ได้แก่ เกิดเฉพาะ.
               บทว่า ตถาคเต สทฺธํ ปฏิลภติ ความว่า ฟังธรรมบริสุทธิ์ ย่อมได้ศรัทธาในพระตถาคตผู้เป็นธรรมสามี ว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นสัมมาสัมพุทธะหนอ.
               บทว่า อิติ ปฏิสญฺจิกฺขติ ได้แก่ ย่อมพิจารณาอย่างนี้.
               บทว่า สมฺพาโธ ฆราวาโส ความว่า แม้ถ้าว่าผัวเมียอยู่ในเรือน ๖๐ ศอก หรือแม้ในที่ระหว่างร้อยโยชน์แม้อย่างนั้น การครองเรือนก็คับแคบอยู่นั่นเอง เพราะอรรถว่า เขาเหล่านั้นมีกังวลห่วงใย.
               บทว่า รชาปโถ ในมหาอรรถกถาแก้ว่า ที่เป็นที่ตั้งขึ้นแห่งธุลีมีราคะเป็นต้น. บางท่านกล่าวว่า อาคมปโถ ทางเป็นที่มา ดังนี้ก็มี.
               ชื่อว่า อพฺโภกาโส ด้วยอรรถว่า เป็นเหมือนกลางแจ้ง เพราะอรรถว่า ไม่ติดขัด.
               จริงอยู่ บรรพชิตแม้อยู่ในที่ปกปิดมีเรือนยอดปราสาทแก้วและเทพ วิมานเป็นต้น ซึ่งมีประตูหน้าต่างปิดมิดชิด ก็ไม่เกี่ยวไม่ข้อง ไม่พัวพัน. ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อพฺโภกาโส ปพฺพชฺชา ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ฆราวาสชื่อว่าคับแคบ เพราะไม่มีโอกาสทำกุศล. ชื่อว่าเป็นทางมาแห่งธุลี เพราะเป็นที่ประชุมแห่งธุลีคือกิเลสดุจกองหยากเยื่อ ที่ไม่ได้รักษา เป็นที่รวมแห่งธุลีฉะนั้น. บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง เพราะมีโอกาสทำกุศลตามสบาย.
               ในพระบาลีนี้ว่า นยิทํ สุกรํ ฯเปฯ ปพฺพเชยฺยํ ดังนี้ มีสังเขปกถาดังต่อไปนี้ :
               พรหมจรรย์คือสิกขา ๓ ที่แสดงแล้ว ชื่อว่าพึงประพฤติให้บริบูรณ์โดยส่วนเดียว เพราะไม่ทำให้ขาดแม้วันเดียว ยังจริมกจิตให้เอิบอิ่มได้. ชื่อว่าพึงประพฤติให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียว เพราะไม่ทำให้แปดเปื้อนด้วยมลทินคือกิเลสแม้วันเดียว ยังจริมกจิตให้เอิบอิ่มได้.
               บทว่า สงฺขลิขิตํ ความว่า พึงประพฤติให้เหมือนสังข์ที่ขัดแล้ว คือให้มีส่วนเปรียบด้วยสังข์ที่ล้างแล้ว.
               ก็พรหมจรรย์นี้อันผู้อยู่ครองเรือนอยู่ในท่ามกลางแห่งเรือนจะประพฤติให้บริบูรณ์บริสุทธิ์โดยส่วนเดียวดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไร เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะที่สมควรแก่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ เพราะย้อมด้วยน้ำฝาดและมีสีเหลือง ออกจากเรือนบวชเป็นผู้ไม่มีเรือน. แลในข้อนี้ เพราะการงานมีกสิกรรมและพาณิชยกรรมเป็นต้น ที่เป็นประโยชน์แก่เรือน เรียกว่าการครองเรือน และการครองเรือนนั้นไม่มีในบรรพชา ฉะนั้น บรรพชา พึงทราบว่าไม่ใช่การครองเรือน พรหมจรรย์นั้นไม่ใช่การครองเรือน.
               บทว่า ปพฺพเชยฺยํ ได้แก่ พึงปฏิบัติ.
               บทว่า อปฺปํ วา ความว่า กองโภคะต่ำกว่าจำนวนพัน ชื่อว่าน้อย. ตั้งแต่พันหนึ่งขึ้นไป ชื่อว่ามาก.
               ญาตินั่นแหละ ชื่อว่าเครือญาติ เพราะอรรถว่าเกี่ยวพัน. เครือญาติแม้นั้นต่ำกว่า ๒๐ ชื่อว่าน้อย. ตั้งแต่ ๒๐ ขึ้นไป ชื่อว่ามาก.
               บทว่า ปาฏิโมกฺขสํวรสํวุโต ได้แก่ ประกอบด้วยความสำรวมในปาติโมกข์.
               บทว่า อาจารโคจรสมฺปนฺโน ได้แก่ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร.
               บทว่า อณุมตฺเตสุ คือ มีประมาณน้อย.
               บทว่า วชฺเชสุ ได้แก่ ในอกุศลธรรมทั้งหลาย.
               บทว่า ภยทสฺสาวี คือ เห็นภัย.
               บทว่า สมาทาย ได้แก่ ถือเอาโดยชอบ.
               บทว่า สิกฺขติ สิกฺขาปเทสุ ความว่า สมาทานศึกษาสิกขาบทนั้นๆ ในสิกขาบททั้งหลาย.
               นี้เป็นความย่อในข้อนี้ ส่วนความพิสดารได้กล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรค.
               ในพระบาลีว่า กายกมฺมวจีกมฺเมน สมนฺนาคโต กุสเลน ปริสุทฺธาชีโว นี้
               ความว่า ก็เมื่อกายกรรมและวจีกรรมที่เป็นกุศล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือเอาด้วยศัพท์ว่าอาจารโคจรแล้วก็ตาม เพราะชื่อว่าอาชีวปาริสุทธิศีลนี้ ย่อมไม่เกิดในอากาศหรือที่ยอดไม้เป็นต้น แต่เกิดขึ้นในกายทวารและวจีกรรมเท่านั้น ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ประกอบด้วยกายกรรมและวจีกรรมอันเป็นกุศล เพื่อแสดงทวารที่เกิดของอาชีวปาริสุทธิศีลนั้น แต่เพราะประกอบด้วยอาชีวปาริสุทธิศีลนั้น ฉะนั้น จึงชื่อว่าเป็นผู้มีอาชีพบริสุทธิ์.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านกล่าวอย่างนี้ ก็โดยอำนาจมุณฑิยปุตตสูตร.
               จริงอยู่ ในสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ว่า๑๕-
               ดูก่อนคฤหบดี กายกรรมที่เป็นกุศล เป็นไฉน?
               ดูก่อนคฤหบดี แม้อาชีวะที่บริสุทธิ์ เราก็กล่าวไว้ในศีล ดังนี้.
____________________________
๑๕- ม. ม. เล่ม ๑๓/ข้อ ๓๖๓

               ก็เพราะผู้ปฏิบัติประกอบด้วยศีลนั้น ฉะนั้น พึงทราบว่า เป็นผู้มีอาชีพบริสุทธิ์.
               บทว่า สีลสมฺปนฺโน ความว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ๓ อย่างที่กล่าวแล้วในพรหมชาลสูตร.
               บทว่า อินฺทฺริเยสุ คุตฺตทฺวาโร ความว่า เป็นผู้ปิดทวารในอินทรีย์ทั้งหลายซึ่งมีใจเป็นที่ ๖.
               บทว่า สติสมฺปชญฺเญน สมนฺนาคโต ความว่า เป็นผู้ประกอบด้วยสติและสัมปชัญญะในฐานะทั้ง ๗ มีก้าวไปและถอยกลับเป็นต้น.
               บทว่า สนฺตุฎฺโฐ ความว่า ประกอบด้วยสันโดษ ๓ อย่างในปัจจัย ๔ ชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ.


               จุลฺลมชฺฌิมมหาสีลวณฺณนา               
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงวางหัวข้ออย่างนี้แล้ว เมื่อทรงแจกตามลำดับ จึงตรัสคำเป็นต้นว่า มหาบพิตร อย่างไร ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล.
               ในพระบาลีนั้น บทว่า อิทํปิสฺส โหติ สีลสฺมึ ความว่า ศีลคือเจตนางดเว้นจากปาณาติบาตของภิกษุนั้นแม้นี้ เป็นศีลข้อ ๑ ในศีล.
               อีกอย่างหนึ่ง คำว่า สีลสฺมึ นี้เป็นสัตตมีวิภัตติ ลงในอรรถแห่งปฐมาวิภัตติ.
               ก็ในมหาอรรถกถา ท่านกล่าวเนื้อความนี้ทีเดียวว่า ศีลคือเจตนางดเว้นจากปาณาติบาตแม้นี้ ก็เป็นศีลของสมณะนั้นเหมือนกัน.
               คำที่เหลือพึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วในพรหมชาลสูตรนั่นแหละ.
               บทว่า อิทมสฺส โหติ สีลสฺมึ ความว่า นี้เป็นศีลของภิกษุนั้น.
               บทว่า น กุโตจิ ภยํ สมนุปสฺสติ ยทิทํ สีลสํวรโต ความว่า ภัยเหล่าใดที่มีความไม่สำรวมเป็นมูลย่อมเกิดขึ้น บรรดาภัยเหล่านั้น ภัยที่พึงมีเพราะศีลสังวรนั้น ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยศีลจะไม่ประสบแต่ที่ไหนๆ แม้เพราะสำรวมอย่างเดียว. เพราะเหตุไร เพราะไม่มีภัยที่มีความไม่สำรวมเป็นมูล เพราะความสำรวม.
               บทว่า มุทฺธาวสิตฺโต ความว่า รดบนพระเศียรด้วยขัตติยาภิเษกที่จัดไว้ตามพิธี.
               บทว่า ยทิทํ ปจฺจตฺถิกโต ความว่า ย่อมไม่ประสบภัยที่จะพึงมีแม้จากศัตรูคนหนึ่งแต่ที่ไหนๆ. เพราะเหตุไร เพราะกำจัดปัจจามิตรได้แล้ว.
               บทว่า อชฺฌตฺตํ ได้แก่ ภายในของตน อธิบายว่า ในสันดานของตน.
               บทว่า อนวชฺชสุขํ ความว่า ไม่มีโทษ คือไม่มีใครติได้ เป็นกุศล. ภิกษุผู้มีศีลสมบูรณ์ย่อมเสวยสุขทั้งทางกายทางใจ อันธรรมคือความไม่เดือดร้อน ความปราโมทย์ ความอิ่มใจ และความสงบ ซึ่งมีศีลเป็นปทัสถานผสมอยู่.
               ข้อว่า เอวํ โข มหาราช ภิกฺขุ สีลสมฺปนฺโน นาม โหติ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงศีลกถาจบลงว่า ภิกษุผู้ประกอบด้วยศีล ๓ อย่างที่ทรงแสดงพิสดารติดต่อกันอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้มีศีลสมบูรณ์.

               อินฺทฺริยสํวรกถาวณฺณนา               
               ในการจำแนกทวารที่คุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               จกฺขุศัพท์ในบทว่า จกฺขุนา รูปํ นี้ ในที่บางแห่งเป็นไปในพุทธจักษุ. เหมือนอย่างที่กล่าวว่า ทรงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ.
               ในที่บางแห่งเป็นไปในสมันตจักษุ กล่าวคือพระสัพพัญญุตญาณ. เหมือนอย่างที่กล่าวว่า ดูก่อนสุเมธะ พระพุทธเจ้าผู้มีสมันตจักษุ เสด็จขึ้นปราสาทที่ล้วนแล้วด้วยพระธรรมมีอุปมาอย่างนั้น.๑-
               ในที่บางแห่งเป็นไปในธรรมจักษุ เหมือนอย่างที่กล่าวว่า ธรรมจักษุปราศจากธุลี ไม่มีมลทินเกิดขึ้นแล้ว.๒-
____________________________
๑- วิ. มหา. เล่ม ๔/ข้อ ๘   ๒- ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๑๑๒

               ก็ในพระบาลีนี้หมายเอาปัญญา คืออริยมรรค ๓.
               ญาณมีปุพเพนิวาสานุสสติญาณเป็นต้น ในพระบาลีว่า จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว๓- ดังนี้ ท่านเรียกว่า ปัญญาจักษุ.
               เป็นไปในทิพยจักษุ๔- ในที่มาทั้งหลายมาด้วยทิพยจักษุ ดังนี้.
               เป็นไปในปสาทจักษุ ในพระบาลีนี้ว่า รูปอาศัยจักษุ๕- ดังนี้.
____________________________
๓- วิ. มหา. เล่ม ๔/ข้อ ๑๕   ๔- ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๑๑๒
๕- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๔๔๔

               แต่ในที่นี้ จักขุศัพท์นี้เป็นไปในจักษุวิญญาณโดยโวหารว่า ปสาทจักษุ. เพราะฉะนั้น ในพระบาลีนี้จึงมีเนื้อความว่า เห็นรูปด้วยจักษุวิญญาณ.
               คำใดที่พึงกล่าวแม้ในบทที่เหลือ คำนั้นทั้งหมดกล่าวแล้วในวิสุทธิมรรค.
               บทว่า อพฺยาเสกสุขํ ความว่า เสวยสุขอันไม่ระคนด้วยกิเลส คือไม่เจือกิเลส เพราะเว้นจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง เป็นสุขบริสุทธิ์ เป็นอธิจิตสุข แล.
               จบอินทริยสังวรกถา               

.. อรรถกถา ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค สามัญญผลสูตร
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]
อ่านอรรถกถา 9 / 1อ่านอรรถกถา 9 / 1อรรถกถา เล่มที่ 9 ข้อ 91อ่านอรรถกถา 9 / 141อ่านอรรถกถา 9 / 365
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=9&A=1072&Z=1919
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=4&A=3185
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=4&A=3185
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๘  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :