ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 9 / 1อ่านอรรถกถา 9 / 91อรรถกถา เล่มที่ 9 ข้อ 141อ่านอรรถกถา 9 / 178อ่านอรรถกถา 9 / 365
อรรถกถา ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
อัมพัฏฐสูตร

หน้าต่างที่ ๒ / ๓.

               ปฐมอิพฺภวาทวณฺณนา               
               ในคำว่า เดินไปอยู่ก็ดีนี้ ความจริง พราหมณ์สมควรจะสนทนาปราศรัยกับพราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ในอิริยาบถทั้ง ๓. แต่มาณพนี้ เพราะเหตุที่ตนเป็นผู้กระด้างด้วยมานะ เมื่อจะกระทำการสนทนาคิดว่า เราจักใช้อิริยาบถแม้ทั้ง ๔ จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พราหมณ์ผู้นอนอยู่ควรจะสนทนากับพราหมณ์ผู้นอนด้วยกันก็ได้.
               ทราบว่า ต่อแต่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะมาณพนั้นว่า ดูก่อนอัมพัฏฐะ การที่ผู้เดินอยู่สนทนากับอาจารย์ผู้เดินอยู่ก็ดี ผู้ยืนอยู่สนทนากับอาจารย์ผู้ยืนอยู่ก็ดี ผู้นั่งอยู่สนทนากับอาจารย์ผู้นั่งอยู่ก็ดี ใช้ได้ในทุกๆ อาจารย์ แต่ท่านนอนอยู่สนทนากับอาจารย์ผู้นอนอยู่ อาจารย์ของท่านน่ะเป็นโค หรือว่า เป็นลาไปแล้วหรือ.
               อัมพัฏฐมาณพนั้นโกรธ จึงได้กล่าวคำเป็นต้นว่า เย จ โข เต โภ โคตม มุณฺฑกา ดังนี้. ในคำนั้น การที่จะกล่าวกะผู้มีศีรษะโล้นว่า มุณฺฑา และกะสมณะว่า สมณา ควรกว่า. แต่มาณพนี้เมื่อจะเหยียดหยามจึงกล่าวว่า มุณฺฑกา (เจ้าหัวโล้น) สมณกา (เจ้าสมณะ).
               บทว่า อิพฺภา แปลว่า เป็นเจ้าบ้าน.
               บทว่า กณฺหา แปลว่า ชั่วช้า ความว่า เป็นคนดำ.
               บทว่า เป็นเหล่ากอของผู้เกิดจากเท้าของพรหม ในที่นี้ พรหมท่านมุ่งหมาย พันธุ. เพราะพวกพราหมณ์พากันเรียกพรหมนั้นว่า ปิตามหะ (ปู่ บรรพบุรุษ). ชนทั้งหลายเป็นเหล่ากอของเท้าทั้ง ๒ จึงชื่อว่าเป็นตระกูลเกิดจากเท้า.
               อธิบายว่า เกิดจากหลังเท้าของพรหม.
               นัยว่า มาณพนั้นมีลัทธิดังนี้คือ พวกพราหมณ์เกิดจากปากของพรหม พวกกษัตริย์เกิดจากอก พวกแพศย์เกิดจากสะดือ พวกศูทรเกิดจากหัวเข่า พวกสมณะเกิดจากหลังเท้า. ก็แลมาณพนั้นเมื่อจะกล่าวอย่างนี้ ก็กล่าวมิได้เจาะจงใครก็จริง แต่โดยที่แท้ เขากล่าวโดยมุ่งหมายว่า เรากล่าวมุ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเท่านั้น.
               ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำริว่า อัมพัฏฐมาณพนี้จำเดิมแต่เวลาที่ตนมาแล้ว เมื่อจะพูดกับเราก็พูดเพราะอาศัยมานะอย่างเดียว ไม่รู้จักประมาณของตน เหมือนคนจับอสรพิษที่คอ เหมือนคนกอดกองไฟไว้ เหมือนคนลูบคลำช้างเมามันที่งวงฉะนั้น เอาเถอะ เราจักให้เขาเข้าใจ จึงตรัสว่า อตฺถิกวโต โข ปน เต อมฺพฎฺฐ ดังนี้เป็นต้น.
               ในบทเหล่านั้น มีใจความว่า ความต้องการ กล่าวคือกิจที่จะต้องมากระทำของจิตนั้นมีอยู่ เหตุนั้น จิตของมาณพนั้นจึงชื่อว่ามีความต้องการ. จิตมีความต้องการของเขามีอยู่ เหตุนั้น เขาจึงชื่อว่ามีจิตมีความต้องการ. ของมาณพนั้น. ใจความว่า ท่านมีจิตมีความต้องการจึงได้มา ณ ที่นี้.
               คำว่า โข ปน เป็นเพียงนิบาต.
               บทว่า ยาเยว โข ปนตฺถาย คือ ด้วยประโยชน์อันใดเล่า.
               บทว่า อาคจฺเฉยฺยาถ ความว่า พวกท่านพึงมาสู่สำนักของเรา หรือของผู้อื่นเป็นครั้งคราว. คำนี้ว่า ตเมว อตฺถํ ท่านกล่าวด้วยสามารถเป็นเพศชาย.
               บทว่า พวกท่านพึงกระทำไว้ในใจ คือ พึงกระทำไว้ในจิต.
               อธิบายว่า ท่านอันอาจารย์ใช้ให้มาด้วยกรณียกิจของตน มิได้ใช้ให้มาเพื่อต้องการลบหลู่เรา เพราะฉะนั้น ท่านจงใส่ใจถึงเฉพาะกิจอันนั้นเถิด.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงวัตรของผู้มาสู่สำนักของผู้อื่นแก่มาณพนั้นอย่างนี้แล้ว เพื่อจะทรงข่มมานะ จึงตรัสคำว่า อวุสิตวาเยว โข ปน เป็นต้น.
               บทนั้นมีใจความว่า แน่ะท่านผู้เจริญ พวกท่านจงดูอัมพัฏฐมาณพนี้ เรียนยังไม่จบ มิได้สำเร็จการศึกษา ยังเป็นคนเล่าเรียนน้อยอยู่ แต่มีมานะว่าเราเรียนจบแล้ว คือสำคัญตนว่าเราเรียนจบแล้ว สำเร็จการศึกษาแล้ว เป็นผู้คงแก่เรียน ก็เหตุในการที่อัมพัฏฐะนั่นทักทายด้วยคำหยาบอย่างนี้ จะมีอะไรอื่นไปจากที่ตนมิได้สำเร็จการศึกษามาจริง เพราะฉะนั้น บุคคลทั้งหลายที่ไม่ได้รู้เอง ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียน ได้ฟังมาน้อยในตระกูลของอาจารย์เท่านั้น จึงมักกล่าวอย่างนี้.
               บทว่า กุปิโต แปลว่า โกรธแล้ว. บทว่า อนตฺตมโน แปลว่า มีใจมิใช่ของตน (เสียใจ).
               มีคำถามว่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่าเขาโกรธหรือไม่ทรงทราบหนอ จึงได้ตรัสอย่างนั้น.
               ตอบว่า ทรงทราบ.
               เพราะเหตุไร ทรงทราบแล้วจึงตรัส.
               เพื่อต้องการจะถอนเสียซึ่งมานะ.
               ความจริง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงทราบแล้วว่า มาณพนี้เมื่อเรากล่าวอย่างนี้ จักโกรธ แล้วด่าพวกญาติของเรา ทีนั้นเราจักยกเอาโคตรกับโคตร ตระกูลและประเทศกับตระกูลและประเทศขึ้นพูด ตัดธงคือมานะที่เขายกขึ้นแล้วของเขา ราวกะว่าเทียบได้กับภวัคคพรหม ตรงที่โคนรากแล้วทำให้เหือดหายไป เปรียบดังหมอผู้ฉลาดชำระล้างสิ่งที่เป็นโทษ แล้วนำออกทิ้งไปเสียฉะนั้น.
               บทว่า ด่าว่า คือ กล่าวเสียดสี. บทว่า เพิดเพ้ย คือ เหยียดหยาม.
               บทว่า ปาปิโต ภวิสฺสติ คือ จักเป็นผู้ให้ถึงโทษมีความเป็นผู้ดุร้ายเป็นต้น.
               บทว่า ดุร้าย คือ ประกอบด้วยความโกรธที่อาศัยมานะเกิดขึ้น.
               บทว่า หยาบคาย คือ กล้าแข็ง.
               บทว่า ผลุนผลัน คือ ใจเบา. พวกเขาย่อมยินดีบ้าง ยินร้ายบ้าง กับสิ่งเล็กน้อย คือเลื่อนลอยไปตามอารมณ์ เรื่องเล็กน้อยเหมือนกะโหลกน้ำเต้าล่องลอยไปบนหลังน้ำฉะนั้น.
               บทว่า ปากมาก คือมักชอบพูดมาก ท่านกล่าวโดยมีประสงค์ว่า สำหรับพวกศากยะ เมื่ออ้าปากแล้ว คนอื่นก็ไม่มีโอกาสที่จะพูดเลย.
               คำว่า สมานา นี้เป็นไวพจน์ของบทแรกคือ สนฺตา (แปลว่า เป็น).
               บทว่า ไม่สักการะ คือไม่กระทำด้วยอาการที่ดีแก่พวกพราหมณ์.
               บทว่า ไม่เคารพ คือ ไม่กระทำความเคารพในเหล่าพราหมณ์. บทว่า ไม่นับถือ คือ ไม่รักใคร่ด้วยใจ. บทว่า ไม่บูชา คือ ไม่กระทำการบูชาแก่พวกพราหมณ์ด้วยพวงดอกไม้เป็นต้น.
               บทว่า ไม่ยำเกรง คือ ไม่แสดงการกระทำความนอบน้อม คือความประพฤติถ่อมตนด้วยการกราบไหว้เป็นต้น.
               บทว่า ตยิทํ ตัดบทเป็น ตํ อิทํ (แปลว่า นี้นั้น).
               บทว่า ยทิเม สากฺยา มีใจความว่า พวกศากยะเหล่านี้ไม่สักการะพวกพราหมณ์ ฯลฯ ไม่ยำเกรงพวกพราหมณ์ การไม่กระทำสักการะเป็นต้น ของพวกศากยะเหล่านั้นทุกอย่าง ไม่สมควรคือไม่เหมาะสมเลย.
               บทว่า กระทำผิด คือ ประทุษร้าย.
               คำว่า อิท ในคำว่า เอกมิทาหํ นี้ เป็นเพียงนิบาต. ความว่า สมัยหนึ่งข้าพระองค์.
               บทว่า สัณฐาคาร คือศาลาเป็นที่พร่ำสอนความเป็นพระราชา. บทว่า พระเจ้าศากยะทั้งหลาย คือพระราชาผู้ที่ได้รับอภิเษกแล้ว. บทว่า ศากยกุมาร คือผู้ที่ยังมิได้รับอภิเษก. บทว่า บนอาสนะที่สูง คือบนอาสนะหลายประเภท มีบัลลังก์ ตั่ง ที่นั่งทำด้วยหวาย แผ่นกระดาน และเครื่องปูลาดที่สวยงามเป็นต้น ตามความเหมาะสม. บทว่า หัวร่อต่อกระซิกกันอยู่ คือหัวเราะเสียงดังด้วยอำนาจเย้ยหยัน. บทว่า เล่นหัวกันอยู่ คือกระทำอาการมีการกระทำเพียงยิ้มแย้ม การกรีดนิ้วมือ และการให้การตบมือเป็นต้น.
               บทว่า มมญฺเญว มญฺเญ ความว่า ข้าพระองค์สำคัญอย่างนี้ว่า พวกศากยะทั้งหลายหัวเราะเยาะข้าพระองค์คนเดียว หาใช่หัวเราะเยาะคนอื่นไม่.
               ถามว่า ก็พวกศากยะเหล่านั้นได้กระทำอย่างนั้น เพราะเหตุไร.
               ตอบว่า นัยว่า พวกศากยะเหล่านั้นรู้จักวงศ์ตระกูลของอัมพัฏฐะ.
               และในเวลานั้น อัมพัฏฐะนี้เอามือข้างหนึ่งจับชายผ้าสาฎกที่เขานุ่งลอยชายลงมาจนจดปลายเท้า น้อมกระดูกคอลง เดินมาเหมือนคนที่เมาด้วยความเมา คือมานะ. ทีนั้น พวกศากยะทั้งหลายจึงกล่าวว่า แน่ะผู้เจริญ พวกท่านจงดูเหตุแห่งการมาของอัมพัฏฐะผู้กัณหายนโคตรซึ่งเป็นทาสของพวกเรา จึงได้กระทำเช่นนั้น. แม้เขาก็รู้วงศ์สกุลของตน. เพราะฉะนั้น เขาจึงกราบทูลว่า ชะรอยว่า พวกศากยะเหล่านั้นหัวเราะเยาะข้าพระองค์โดยแท้.
               บทว่า ด้วยที่นั่ง ความว่า ไม่มีการเชื้อเชิญให้นั่งอย่างนี้ว่า นี่อาสนะ ท่านจงนั่งบนอาสนะนี้ ดังนี้เลย. ใครๆ เขาก็ไม่ทำกันเช่นนั้น
               บทว่า นางนกมูลไถ ได้แก่นางนกตัวเล็กๆ ที่อาศัยอยู่ตามซอกระหว่างก้อนดินในนา. บทว่า ในรัง คือในที่เป็นที่อยู่อาศัย. บทว่า ชอบพูดพร่ำพรอดกัน คือมักจะกล่าวตามที่ตนปรารถนา คือตนต้องการสิ่งใดๆ ก็กล่าวสิ่งนั้นๆ ออกมา หงส์ก็ดี นกกระเรียนก็ดี นกยูงก็ดีมาแล้ว ก็มิได้ห้ามเขาว่า เจ้าพร่ำพรอดไปทำไม. บทว่า ที่จะขัดเคือง คือที่จะข้องขัดด้วยอำนาจแห่งความโกรธ.
               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว มาณพเข้าใจว่า พระสมณโคดมนี้กระทำพระญาติของพระองค์ให้เป็นเช่นกับนางนกมูลไถ กระทำพวกเราให้เสมอกับหงส์ นกกระเรียนและนกยูง คราวนี้คงจะหมดมานะแล้ว จึงแสดงวรรณะ ๔ ยิ่งขึ้นไปอีก.

               ทาสีปุตฺตวาทวณฺณนา               
               บทว่า ย่ำยี คือ เหยียบย่ำ ได้แก่กระทำให้หมดความนับถือ.
               บทว่า ไฉนหนอ เรา คือ ก็ถ้ากระไร เรา.
               นัยว่า คำว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์เป็นกัณหายนโคตร อัมพัฏฐะได้กล่าวออกมาด้วยเสียงอันดังถึง ๓ ครั้ง.
               ถามว่า เขากล่าวขึ้นเพราะเหตุไร เขาไม่รู้หรือว่าเป็นโคตรที่ไม่บริสุทธิ์.
               ตอบว่า เขารู้แน่ แต่ถึงจะรู้ก็สำคัญเอาว่า เหตุนี้ ภพปกปิดไว้ เหตุนั้น พระสมณโคดมนี้ก็ไม่ทรงเห็น พระมหาสมณะเมื่อไม่ทรงเห็นอยู่ จักตรัสอะไรเล่า จึงได้กล่าวขึ้น เพราะความที่ตนเป็นผู้กระด้างด้วยมานะ.
               บทว่า มาตาเปตฺติกํ แปลว่า เป็นสมบัติตกทอดมาของมารดาบิดา. บทว่า ชื่อและโคตร คือ ชื่อด้วยอำนาจแห่งบัญญัติ โคตรด้วยอำนาจแห่งประเพณี. บทว่า รำลึกถึงอยู่ คือ นึกถึงอยู่ ได้แก่สืบสาวไปจนถึงที่สุดของตระกูล. บทว่า พระลูกเจ้า คือ เจ้านาย. บทว่า ลูกของทาสี คือ เป็นลูกของนางทาสีในเรือน (หญิงรับใช้).
               เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงว่า นายอันคนใช้จะพึงเข้าไปหาโดยประการใด พวกศากยะเห็นท่านไม่เข้าไปหาโดยประการนั้นจึงกล่าวเย้ยหยันให้.
               เบื้องหน้าแต่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศความที่อัมพัฏฐะนั้นเป็นทาสและความที่พวกศากยะเป็นเจ้านายแล้ว เมื่อจะทรงนำวงศ์สกุลของพระองค์และของอัมพัฏฐะมา จึงตรัสพระดำรัสว่า สกฺยา โข ปน เป็นต้น.
               ในคำเหล่านั้น คำว่า ทหนฺติ แปลว่า ตั้งไว้.
               ใจความว่า พวกศากยะพูดกันว่า พระเจ้าโอกกากราชเป็นบรรพบุรุษของเรา.
               ได้สดับมาว่า ในเวลาที่พระราชานั้นตรัส รัศมีจะพุ่งออกมาจากพระโอฐเหมือนคบเพลิง เพราะฉะนั้น ชนทั้งหลายจึงถวายพระนามพระองค์ว่า โอกกากะ.
               บทว่า ให้ออกไปแล้ว คือ นำไปแล้ว.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงพวกศากยะเหล่านั้น ด้วยอำนาจแห่งชื่อ จึงตรัสพระดำรัสมีว่า โอกฺกามุขํ เป็นต้น. ในเรื่องนั้นมีคำที่จะกล่าวตามลำดับ ดังต่อไปนี้.
               ดังได้สดับมา พระราชโอรสของพระเจ้ามหาสมมติราชแห่งกัปที่เป็นปฐมกัป ทรงพระนามว่า โรชะ พระราชโอรสของพระเจ้าโรชะ ทรงพระนามว่าวโรชะ. ของพระเจ้าวโรชะ ทรงพระนามว่า กัลยาณะ. ของพระเจ้ากัลยาณะ ทรงพระนามว่า วรกัลยาณะ. ของพระเจ้าวรกัลยาณะ ทรงพระนามว่า มันธาตุ. ของพระเจ้ามันธาตุ ทรงพระนามว่า วรมันธาตุ. ของพระเจ้าวรมันธาตุ ทรงพระนามว่า อุโบสถ. ของพระเจ้าอุโบสถ ทรงพระนามว่า วระ. ของพระเจ้าวระ ทรงพระนามว่า อุปวาระ. ของพระเจ้าอุปวะ ทรงพระนามว่า มฆเทวะ. ของพระเจ้าฆฆเทวะ โดยสืบตามลำดับมาเป็นกษัตริย์ ๘๔,๐๐๐ พระองค์.
               หลังจากกษัตริย์เหล่านั้นได้มีวงศ์สกุลของพระเจ้าโอกกากะ ๓ สกุล.
               ใน ๓ สกุลนั้น พระเจ้าโอกากราชที่ ๓ ทรงมีพระมเหสี ๕ พระองค์ คือทรงพระนามว่า หัตถา จิตตา ชันตุ ชาลินี และวิสาขา. สำหรับพระมเหสีแต่ละพระองค์มีสตรีองค์ละ ๕๐๐ เป็นบริวาร. พระมเหสีองค์ใหญ่ที่สุดมีพระราชโอรส ๔ พระองค์ คือทรงพระนามว่า โอกกามุขะ กรกัณฑุ หัตถินิกะ สินิปุระ. มีพระราชธิดา ๕ พระองค์ คือทรงพระนามว่า ปิยา สุปปิยา อานันทา วิชิตา วิชิตเสนา. พระองค์ประสูติพระราชบุตรและพระราชธิดา ๙ พระองค์แล้วก็สวรรคต ด้วยประการฉะนี้.
               ต่อมาพระราชาได้ทรงนำพระราชธิดาองค์อื่นที่ยังสาวสวยมาอภิเษกไว้ในตำแหน่งพระอัครมเหสี. พระนางประสูติพระราชโอรสทรงพระนามว่า ชันตุ. ทีนั้นในวันที่ ๕ พระนางจึงประดับประดาพระโอรสนั้นแล้ว ทูลแสดงแด่พระราชา. พระราชาทรงดีพระทัย ได้พระราชทานพรแก่พระนาง. พระนางทรงปรึกษากับพระญาติทั้งหลายแล้ว จึงทูลขอราชสมบัติให้แก่พระราชโอรส. พระราชาทรงตวาดว่า แน่ะหญิงถ่อย เจ้าจงฉิบหายเสีย เจ้าปรารถนาอันตายให้แก่บุตรของเรา. พระนางพอลับตาคน ก็ทูลให้พระราชาทรงยินดีบ่อยๆ เข้าแล้ว ทูลคำเป็นต้นว่า ข้าแต่พระมหาราช ขึ้นชื่อว่าการตรัสคำเท็จหาสมควรไม่ แล้วก็ทูลขออยู่นั่นแหละ.
               ลำดับนั้น พระราชาจึงทรงรับสั่งให้เรียกพระราชโอรสทั้งหลายมา ตรัสว่า แน่ะพ่อทั้งหลาย เราเห็นชันตุกุมารน้องคนเล็กของพวกเจ้า จึงให้พรแก่แม่ของเขาไปฉับพลันทันที นางก็อยากจะให้ลูกของเขาได้ราชสมบัติเว้นพวกเจ้า พวกเจ้าอยากได้ช้างมงคล ม้ามงคลและรถมงคล มีประมาณเท่าใด จงถือเอาช้างม้าและรถมีประมาณเท่านั้นไปเสีย แล้วพึงกลับมาครองราชสมบัติ เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว จึงส่งออกไปพร้อมกับอำมาตย์ ๘ คน.
               ราชโอรสเหล่านั้นร้องคร่ำครวญมีประการต่างๆ กราบทูลว่า ข้าแต่เสด็จพ่อ ขอพระองค์ได้ทรงโปรดยกโทษแก่พวกข้าพระองค์ด้วยเถิด แล้วก็ให้พระราชาและนางสนมกำนัลในของพระราชายกโทษให้ แล้วกราบทูลว่า พวกข้าพระองค์จะไปพร้อมกับพระเจ้าพี่ด้วย แล้วจึงทูลลาพระราชาออกไป พาเอาพระพี่นางไป มีพวกเสนาทั้ง ๕ เหล่าห้อมล้อมออกไปจากพระนครแล้ว. พวกมนุษย์ทั้งหลายเป็นอันมากต่างพากันคิดว่า พระราชกุมารทั้งหลายจักมาครองราชสมบัติ เมื่อพระราชบิดาสวรรคตแล้ว พวกเราจักไปรับใช้พระองค์ ต่างพากันติดตามไปด้วย.
               ในวันแรก เหล่าเสนากินเนื้อที่ประมาณโยชน์หนึ่ง ในวันที่ ๒ ประมาณ ๒ โยชน์ ในวันที่ ๓ ประมาณ ๓ โยชน์. พวกราชกุมารต่างปรึกษากันว่า กองทัพนี้ใหญ่โต ถ้าพวกเราย่ำยีพระราชาในประเทศใกล้เคียงบางแห่งแล้ว ยึดเอาชนบท แม้พระราชานั้นก็คงไม่สามารถสู้ได้ จะมีประโยชน์อะไรกับการเบียดเบียนผู้อื่น ชมพูทวีปนี้ยังกว้างใหญ่ พวกเราจักพากันสร้างเมืองในป่า ว่าแล้วก็เสด็จดำเนินมุ่งพระพักตร์ไปยังป่าหิมพานต์ เสาะหาที่ที่จะตั้งเมือง.
               ในสมัยนั้น พระโพธิสัตว์ของพวกเราบังเกิดในตระกูลพราหมณ์ผู้มั่งคั่ง มีชื่อว่า กบิลพราหมณ์ ออกบวชเป็นฤาษี สร้างบรรณศาลาอาศัยอยู่ในแนวป่า มีต้นสากะ ใกล้ฝั่งสระโบกขรณี ที่ข้างป่าหิมพานต์.
               นัยว่า พราหมณ์นั้นรู้วิชาชื่อ ภุมมบาล ที่เป็นเครื่องมือให้คนมองเห็นคุณและโทษในเบื้องบนในอากาศมีประมาณ ๘๐ ศอก และเบื้องล่างแม้ในแผ่นดิน. ในที่แห่งหนึ่ง มีกอหญ้า และเถาวัลย์เกิดเป็นทักษิณาวรรต (เวียนขวา) บ่ายหน้าไปทางทิศตะวันออก. ราชสีห์และเสือโคร่งเป็นต้น วิ่งไล่ตามเนื้อและสุกรมาก็ดี งูและแมววิ่งไล่ตามกบและหนูมาก็ดี มาถึงที่นั้นแล้ว ไม่สามารถจะไล่ตามสัตว์เหล่านั้นต่อไปได้ จะถูกสัตว์เหล่านั้นขู่ให้กลัว ต้องหันกลับไปแน่นอนทีเดียว. พราหมณ์นั้นทราบว่านี้เป็นที่ที่เลิศในแผ่นดิน แล้วจึงสร้างบรรณาศาลาของตนในที่นั้น.
               ต่อมา พราหมณ์นั้นเห็นพระราชกุมารเหล่านั้นเสาะแสวงหาที่ที่จะตั้งเมือง เดินมาสู่ที่เป็นที่อยู่ของตน ถามทราบความเป็นไปนั้นแล้ว เกิดความเอ็นดูในพระราชกุมารเหล่านั้น จึงได้ทูลว่า เมืองที่สร้างขึ้นในที่ตั้งบรรณศาลานี้จักเป็นเมืองเลิศในชมพูทวีป ในบรรดาชายที่เกิดในเมือง แต่ละคนๆ จักสามารถเอาชนะคนตั้ง ๑๐๐ ก็ได้ ตั้ง ๑,๐๐๐ ก็ได้ พวกพระองค์จงสร้างเมืองในที่นี้เถิด จงสร้างพระราชมณเฑียรของพระราชา ณ ที่ตั้งบรรณศาลาเถิด เพราะคนยืนในที่นี้ถึงจะเป็นลูกคนจัณฑาล ก็จะเป็นผู้ประเสริฐยิ่งด้วยกำลังของพระเจ้าจักรพรรดิ. พวกพระราชกุมารจึงเรียนว่า นี้เป็นที่อาศัยของพระผู้เป็นเจ้ามิใช่หรือ ขอรับ. พวกท่านไม่ต้องคิดว่า เป็นที่อยู่อาศัยของเรา จงสร้างเมืองกันให้บรรณศาลาของเราไว้ข้างหนึ่ง แล้วตั้งชื่อว่า กบิลพัสดุ์.
               พวกราชกุมารเหล่านั้นกระทำเช่นนั้นแล้ว พากันอาศัยอยู่ ณ ที่นั้น.
               อำมาตย์ทั้ง ๘ คนคิดว่า พระราชโอรสเหล่านี้เจริญวัยแล้ว ถ้าพระราชบิดาของพวกเขาพึงอยู่ในที่ใกล้ พระองค์พึงทรงกระทำอาวาหวิวาหมงคลให้ แต่บัดนี้เป็นภาระของพวกเราแล้ว พวกเรายังมองไม่เห็นธิดากษัตริย์เช่นกับพวกเรา ทั้งก็ยังมองไม่เห็นกุมารกษัตริย์เช่นกับพระพี่น้องนาง ลูกของพวกเราที่เกิดขึ้นเพราะอยู่ร่วมกับผู้ที่ไม่เสมอกัน จัดว่าเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ทางฝ่ายมารดาหรือทางฝ่ายบิดา จักถึงความแตกต่างกันแห่งชาติ เพราะฉะนั้น พวกเราจึงพอใจการอยู่ร่วมกับพระพี่น้องนางเท่านั้น เพราะกลัวความแตกต่างกันแห่งชาติ จึงตั้งพระเชฏฐภคินีไว้ในตำแหน่งเป็นพระมารดา ต่างก็สำเร็จการอยู่ร่วมกันกับพระพี่น้องนางที่เหลือ.
               เมื่อพระราชโอรสเหล่านั้นเจริญด้วยบุตรและธิดา แต่ในสมัยต่อมา พระเชฏฐภคินีเกิดเป็นโรคเรื้อน. เนื้อตัวเป็นเหมือนกับดอกทองกวาว. พระราชกุมารทั้งหลายคิดว่า เมื่อพวกเรากระทำการนั่งการนอนและการบริโภคเป็นต้น รวมกันกับพระเชฏฐภคินีนี้ โรคนี้ก็จะติดต่อกันได้. วันหนึ่งจึงทำเป็นประหนึ่งว่า เดินไปเล่นกีฬาในสวน ให้พระเชฏฐภคินีนั้นขึ้นนั่งบนยานแล้วเข้าไปยังป่า รับสั่งให้ขุดสระโบกขรณีในพื้นดินโดยสังเขปว่าเป็นเรือน ให้พระนางเข้าไปในที่นั้น พร้อมกับของเคี้ยวและของบริโภค มุงข้างบนใส่ดินร่วนลงไป แล้วพากันกลับไป.
               ในสมัยนั้น พระเจ้ากรุงพาราณสีทรงพระนามว่ารามะ ทรงเป็นโรคเรื้อน พวกนางสนมกำนัลในและพวกนักแสดงละคร ต่างพากันรังเกียจ เพราะความสังเวชใจนั้น จึงทรงมอบราชสมบัติให้แก่พระราชโอรสองค์ใหญ่เสด็จเข้าป่า ทรงเสวยรากไม้ในป่าในที่นั้น ต่อเวลาไม่นานนักก็หายพระโรค มีผิวพรรณประดุจทองคำ เสด็จเที่ยวไปทางโน้นบ้าง ทางนี้บ้าง ทอดพระเนตรเห็นต้นไม้มีโพรงใหญ่ ทรงถากถางที่ว่างมีประมาณ ๑๖ ศอก ในสวนด้านในแห่งต้นไม้นั้น ติดประตูและหน้าต่าง ผูกบันไดไว้ ประทับอยู่ ณ ที่นั้น.
               พระองค์ทรงก่อไฟไว้ในกะโหลกรองรับถ่านตอนกลางคืน ทรงสดับเสียงร้องของเหล่าสัตว์มีเนื้อและสุกรเป็นต้น บรรทมหลับไป. พระองค์ทรงสังเกตว่า ในที่โน้นราชสีห์ร้อง ในที่โน้นเสือโคร่งร้อง พอสว่างก็เสด็จไปที่นั้น ทรงเก็บเอาเนื้อที่เหลือเดนมาเผาเสวย.
               ต่อมาวันหนึ่ง ในตอนใกล้รุ่ง เมื่อพระองค์ทรงก่อไฟให้ลุกขึ้นแล้วประทับนั่งอยู่ เสือโคร่งเดินมาเพราะได้กลิ่นของพระราชธิดา จึงคุ้ยดินกระจัดกระจายในที่นั้น ทำเป็นช่องว่างไว้ที่ซอกเขา. พระนางทอดพระเนตรเห็นเสือโคร่งทางช่องนั้น ทรงกลัวจึงส่งเสียงดังลั่น. พระเจ้ากรุงพาราณสีทรงสดับเสียงนั้น ทรงสังเกตได้ว่า นี้เป็นเสียงสตรี จึงเสด็จไป ณ ที่นั้นแต่เช้าทีเดียว ตรัสถามว่า ใครอยู่ในที่นี้.
               พระนางตอบว่า ผู้หญิง นาย. เธอมีชาติเป็นอะไร. ฉันเป็นธิดาของพระเจ้าโอกกากมหาราช. เธอจงออกมาเถิด. ไม่สามารถออกไปได้ นาย. เพราะเหตุไร. ฉันเป็นโรคผิวหนัง. พระเจ้ากรุงพาราณสีตรัสถามความเป็นมาทุกประการแล้ว ให้พระนางผู้ไม่ยอมออกมาเพราะขัตติยมานะ ทรงทราบความเป็นกษัตริย์ของตนว่า แม้เราก็เป็นกษัตริย์ จึงทรงพาดบันไดลงไป ทรงฉุดขึ้นมาพาไปยังที่ประทับของพระองค์ พระราชทานยาที่พระองค์ทรงเสวยเองนั่นแหละ ต่อมาไม่นานนัก ทรงกระทำให้พระนางหายพระโรค มีผิวพรรณประดุจทองคำได้ จึงทรงอยู่ร่วมกับพระนาง. เพราะการอยู่ร่วมครั้งแรกนั่นเอง พระนางก็ทรงครรภ์ ประสูติพระราชโอรส ๒ พระองค์ แล้วก็ประสูติอีกถึง ๑๖ ครั้ง อย่างนี้ คือครั้งละสองๆ ด้วยประการฉะนี้ จึงมีพี่น้องถึง ๓๒ พระองค์. พระราชบิดาก็ทรงให้พระราชโอรสเหล่านั้นซึ่งเจริญวัยแล้ว ได้ทรงศึกษาศิลปศาสตร์ทุกชนิด.
               ต่อมาวันหนึ่ง พรานไพรผู้อยู่ในเมืองของพระเจ้ารามะคนหนึ่ง เที่ยวแสวงหาแก้วอยู่ที่ภูเขา เห็นพระราชาแล้วจำได้ จึงกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระพุทธเจ้าจำพระองค์ได้. ทีนั้น พระราชาจึงตรัสถามความเป็นไปทุกประการ. และในขณะนั้นนั่นเอง พวกเด็กทั้งหลายเหล่านั้นก็พากันมา. พรานไพรเห็นพวกเขาแล้ว ทูลถามว่า เด็กเหล่านี้เป็นใคร. เมื่อพระราชาตรัสว่า ลูกของเราเอง เขาจึงทูลถามถึงวงศ์สกุลทางฝ่ายมารดาของเด็กเหล่านั้น คิดว่าบัดนี้เราได้รางวัลแล้ว จึงไปยังเมือง กราบทูลแด่พระราชา.
               พระราชาทรงดำริว่า เราจักทูลเชิญเสด็จพระราชบิดามา จึงเสด็จไป ณ ที่นั้น พร้อมกับเสนา ๔ เหล่า ถวายบังคมพระราชบิดา แล้วทูลว่า ขอพระองค์จงทรงรับราชสมบัติเถิด พระเจ้าข้า.
               พระเจ้ากรุงพาราณสีตรัสว่า อย่าเลยพ่อเอ๋ย เราจะไม่ไป ณ ที่นั้น เธอจงถากถางต้นไม้นี้ออก แล้วสร้างเมืองให้แก่เรา ณ ที่นี้นี่แหละ. พระราชาทรงกระทำตามรับสั่งแล้ว ตั้งชื่อให้ ๒ ชื่อ คือ ชื่อว่า โกลนคร เพราะเหตุที่ถากถางต้นกระเบาออกแล้วสร้างเมืองนั้นขึ้น ๑ ชื่อว่า พยัคฆบถ เพราะสร้างขึ้นที่ทางเดินของเสือโคร่ง ๑. เสร็จแล้วถวายบังคมพระราชบิดา ได้เสด็จกลับพระนคร.
               ต่อมาพระราชมารดาได้ตรัสกะกุมารผู้เจริญวัยแล้วว่า นี่แน่ะลูกๆ ทั้งหลาย ศากยะผู้อยู่ในกรุงกบิลพัสดุ์ผู้เป็นพระเจ้าลุงของพวกท่านมีอยู่ ก็พวกธิดาของพระเจ้าลุงของพวกท่าน มีการจับผมเห็นปานฉะนี้ มีการจับผ้าเห็นปานฉะนี้ แน่ะลูกทั้งหลาย เมื่อใดพวกเขามาท่าอาบน้ำ เมื่อนั้นท่านจงไปจับธิดาผู้ที่ตนชอบไว้. พวกเขาก็พากันไปในที่นั้น เมื่อพระราชธิดาพากันมาอาบน้ำ กำลังผึ่งศีรษะให้แห้งอยู่ จึงจับราชธิดาผู้ที่ตนปรารถนาประกาศชื่อให้ทราบแล้วมา. พระเจ้าศากยะทั้งหลายทรงสดับแล้ว ตรัสว่า แน่ะพนาย ช่างเขาเถิด พวกญาติๆ ของเราเอง แล้วก็ทรงเฉยเสีย.
               นี้เป็นเรื่องเกิดขึ้นของศากยวงศ์และโกลิยวงศ์.
               เมื่อศากยวงศ์และโกลิยวงศ์เหล่านั้นทำการอาวาหมงคลและวิวาหมงคลซึ่งกันและกัน วงส์สกุลสืบต่อกันมาไม่ขาดสายเลย ตราบเท่าถึงพุทธกาล. ในเรื่องนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อทรงแสดงศากยวงศ์ จึงตรัสพระดำรัสว่า ศากยะเหล่านั้นออกไปจากแว่นแคว้นไปอาศัยอยู่ที่ฝั่งแห่งพระโบกขรณี ข้างหิมวันตประเทศ ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมฺมนฺติ แปลว่า อาศัยอยู่.
               บทว่า สากฺยา วต โภ มีใจความว่า พวกศากยะแม้จะออกไปอยู่ในป่า ไม่ทำลายเชื้อชาติ เป็นผู้สามารถ คือมีกำลังแก่กล้าที่จะรักษาวงศ์สกุลไว้ได้.
               บทว่า ตั้งแต่นั้นมา คือนับวันนั้นเป็นต้นมา ได้แก่จำเดิมแต่นั้นมา.
               บทว่า โส จ เนสํ ปุพฺพปุริโส ใจความว่า พระราชาทรงพระนามว่าโอกกากะนั้น เป็นบรรพบุรุษของพระราชกุมารเหล่านั้น แม้แต่เพียงการแตกต่างแห่งเชื้อชาติด้วยอำนาจเป็นคหบดีของศากยะเหล่านั้น ก็มิได้มี.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศศากยวงศ์ให้ทราบอย่างนี้แล้ว ต่อนี้ไปเมื่อจะทรงประกาศอัมพัฏฐวงศ์ จึงตรัสพระดำรัสมีว่า รญฺโญ โข ปน เป็นต้น.
               บทว่า นางทาสีคลอดลูก ชื่อว่ากัณหะ คือคลอดลูกมีผิวดำ มีฟันเกิดขึ้น มีผมหนวดและเครางอกขึ้นตั้งแต่อยู่ในท้องทีเดียว.
               บทว่า ปพฺยาหาสิ ความว่า เมื่อพวกมนุษย์ในเรือนทั้งหลาย ต่างพากันหนีไป เพราะกลัวว่า ยักษ์เกิดแล้ว ปิดประตูแล้วยืนอยู่ นายกัณหะก็เดินไปข้างโน้นและข้างนี้ พลางพูดร้องเสียงดังลั่นว่า พวกท่านจงช่วยชำระล้างเรา ดังนี้เป็นต้น.
               บทว่า พวกมาณพเหล่านั้น ได้กราบทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้า คือได้กราบทูลคำนี้ว่า มา ภวํ เป็นต้น ก็เพื่อจะปลดเปลื้องคำตำหนิของตน.
               นัยว่า พวกมาณพเหล่านั้นได้มีความยินดีอย่างนี้ว่า อัมพัฏฐะนี้เป็นศิษย์คนโตของอาจารย์ของพวกเรา ถ้าพวกเราจะไม่พูดบ้างสักคำสองคำในฐานะเห็นปานฉะนี้ อัมพัฏฐะนี้จักทำลายพวกเราในสำนักอาจารย์ของพวกเรา พวกเขาจึงได้กล่าวอย่างนี้ เพื่อจะปลดเปลื้องคำตำหนิ แต่พวกเขาก็ยังหวังด้วยคิดว่า อัมพัฏฐะนี้จะปราศจากความมัวเมา.
               นัยว่า อัมพัฏฐะนี้ก็ไม่เป็นที่รักแม้ของพวกมาณพเหล่านั้นนัก เพราะเขาเป็นคนเจ้ามานะ.
               บทว่า เป็นผู้พูดแต่คำดีงาม คือมีคำพูดอ่อนหวาน.
               บทว่า ในถ้อยคำนั้น คือในถ้อยคำเกี่ยวกับเวท ๓ ที่ตนเรียกมาแล้ว.
               บทว่า เพื่อจะโต้ตอบ ความว่า เพื่อจะกล่าวตอบโต้ คือกล่าวแก้ปัญหาที่ถามแล้ว. อีกนัยหนึ่งว่า เพื่อจะโต้ตอบ คือเพื่อจะกล่าวให้เหนือกว่า ในคำพูดว่า เป็นบุตรของทาสี นั้น.
               บทว่า ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า มีใจความว่า ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำริว่า ถ้าพวกมาณพผู้นั่งในที่นี้เหล่านี้จักส่งเสียงดังขึ้นทำนองนี้ ก็จะพูดกันไม่จบลงได้ เอาเถอะ เราจะทำให้เขาเงียบเสียงแล้วพูดกับอัมพัฏฐะเท่านั้น จึงได้ตรัสพระดำรัสนี้กะพวกมาณพเหล่านั้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มนฺตโวฺห แปลว่า พวกท่านจงปรึกษา.
               บทว่า มยา สทฺธึ มนฺเตตุ คือ จงกล่าวกับเรา.
               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว มาณพทั้งหลายจึงคิดว่า อัมพัฏฐมาณพผู้ถูกพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าเป็นบุตรของนางทาสี ถึงเพียงนั้น ไม่สามารถที่จะเงยศีรษะขึ้นได้. ก็ขึ้นชื่อว่า เชื้อชาตินี้แล รู้กันได้ยาก ถ้าพระสมณโคดมจะกล่าวคำไรๆ แม้กะผู้อื่นว่า ท่านเป็นทาส ใครจักก่อคดีกับพระสมณโคดมนั้น อัมพัฏฐะจงแก้ข้อที่ตนผูกเข้าด้วยตนเองเถิด ดังนี้.
               เมื่อจะปลดเปลื้องตนออกแล้ว โยนไปเหนืออัมพัฏฐะคนเดียว จึงกล่าวคำมีว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อัมพัฏฐะเกิดดีแล้ว เป็นต้น.
               บทว่า ประกอบด้วยธรรม ได้แก่ เป็นไปกับเหตุ คือมีเค้ามูล.
               บทว่า แม้จะไม่พอใจก็ต้องพยากรณ์ ความว่า ตนแม้ไม่ปรารถนาก็ต้องพยากรณ์ คือจะต้องวิสัชนาโดยแน่แท้.
               บทว่า อญฺเญน วา อญฺญํ ปฏิจริสฺสสิ ใจความว่า ท่านจักเอาอีกคำหนึ่งมากลบเกลื่อนอีกคำหนึ่ง คือจักทับถม ได้แก่จักปกปิด. ก็ผู้ใดอันเขาถามแล้วอย่างนี้ว่า ท่านมีโคตรอะไร แต่กล่าวว่า ข้าพเจ้ารู้เวททั้ง ๓ เป็นต้น ผู้นี้ชื่อว่าเอาคำอื่นมากลบเกลื่อนอีกคำหนึ่ง.
               บทว่า ปกฺกมิสฺสสิ วา ความว่า ท่านทั้งที่รู้อยู่ซึ่งปัญหาที่เขาถามแล้ว กลับลุกจากอาสนะไปเสีย เพราะไม่อยากจะตอบหรือ.
               บทว่า อัมพัฏฐะได้นิ่งเสีย ความว่า อัมพัฏฐะคิดว่า พระสมณโคดมมีพระประสงค์จะให้เราทูลว่า เป็นลูกนางทาสีเองทีเดียว และเมื่อเราทูลเสียเอง ชื่อว่าทาสย่อมเกิดขึ้นแน่นอน แต่พระสมณโคดมนี้ทักท้วงเพียง ๒-๓ ครั้งแล้วก็จักทรงดุษณีภาพ. ทีนั้น เราก็จักหลบหนีหลีกไปดังนี้แล้ว จึงนิ่งเสีย.
               สายฟ้ามีอยู่ที่ฝ่ามือของยักษ์นั้น เหตุนั้น ยักษ์นั้นจึงชื่อว่า วชิรปาณี.
               บทว่า ยักษ์ พึงทราบว่า มิใช่ยักษ์ธรรมดา แต่เป็นท้าวสักกเทวราช. บทว่า เป็นของร้อน คือ มีสีเป็นไฟ. บทว่า สมฺปชฺชลิตํ แปลว่า ลุกโพลงไปทั่ว. บทว่า สํโชติภูตํ แปลว่า มีแสงสว่างโดยรอบ. ความว่า มีเปลวไฟเป็นอันเดียวกัน. บทว่า ยืนอยู่ ความว่า ยักษ์นั้นเนรมิตรูปร่างแปลกประหลาดอย่างนี้ คือศีรษะใหญ่ เขี้ยวเหมือนกับหัวผักกาดสด นัยน์ตาและจมูกเป็นต้น ดูน่ากลัว ยืนอยู่.
               ถามว่า ก็ยักษ์นี้มาเพราะเหตุไร.
               ตอบว่า มาเพื่อจะให้อัมพัฏฐะละทิ้งทิฏฐิเสีย.
               อีกประการหนึ่ง ยักษ์นี้มาด้วยคิดว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถึงความเป็นผู้ขวนขวายน้อย ในการทรงแสดงพระธรรมเทศนาอย่างนี้ว่า ก็เรานี่แหละถึงแสดงธรรมได้ แต่คนอื่นเขาหารู้ทั่วถึงธรรมของเราไม่.๑- ท้าวสักกะพร้อมกับท้าวมหาพรหมจึงเสด็จมา ได้ทรงกระทำปฏิญญาว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระองค์จงทรงแสดงธรรมเถิด พวกที่ไม่เป็นไปในอำนาจปกครองของพระองค์ พวกข้าพระองค์จักให้เป็นไปเอง ธรรมจักรจงเป็นของพระองค์ อาณาจักรจงเป็นของพวกข้าพระองค์ เพราะฉะนั้น วันนี้ เราจักขู่ให้อัมพัฏฐะสะดุ้งกลัว แล้วให้เฉลยปัญหาให้ได้.
____________________________
๑- วิ. มหา. เล่ม ๔/ข้อ ๗

               บทว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทอดพระเนตรเห็น และอัมพัฏฐะก็เห็น มีใจความว่า ก็ถ้ายักษ์นั้นแม้คนอื่นก็เห็น เหตุนั้นก็จะดูไม่สำคัญ ชนทั้งหลายพึงกล่าวว่า พระสมณโคดมนี้ทรงทราบว่าอัฏพัฏฐะไม่ยอมอยู่ในพระดำรัสของพระองค์ จึงนำยักษ์มาแสดง ทีนั้น อัมพัฏฐะจึงพูดขึ้น เพราะความกลัว เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทอดพระเนตรเห็นและอัมพัฏฐะก็เห็น.
               อัมพัฏฐะพอเห็นยักษ์นั้นเท่านั้น เหงื่อก็ไหลออกทั่วตัว. ภายในท้องก็ปั่นป่วนดังลั่น. เขาจึงคิดว่า แม้คนอื่นเล่าเขาเห็นไหมหนอ พลางมองดูรอบๆ ก็มิได้เห็นใครๆ แม้จะมีเพียงขนลุก. ลำดับนั้น เขาจึงคิดว่า ภัยนี้เกิดขึ้นเฉพาะแก่เรา ถ้าเราจะพูดว่ายักษ์ ชนทั้งหลายพึงกล่าวว่า ตาของท่านนั่นแหละมีอยู่มิใช่หรือ ท่านคนเดียวเท่านั้นเห็นยักษ์ อัมพัฏฐะ ทีแรกไม่เห็นยักษ์ แต่ถูกพระสมณโคดมทรงบีบคั้นด้วยวาทะ จึงเห็นยักษ์ สำคัญอยู่ว่า บัดนี้ ในที่นี้ที่พึ่งอย่างอื่นของเราไม่มี นอกจากพระสมณโคดมเท่านั้น.
               ลำดับนั้นแล อัมพัฏฐมาณพ ฯลฯ ได้กล่าวคำนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               บทว่า ตาณํ คเวสี แปลว่า แสวงหาที่ต้านทาน.
               บทว่า เลณํ คเวสี แปลว่า แสวงหาที่เร้น.
               บทว่า สรณํ คเวสี แปลว่า แสวงหาที่พึ่ง.
               ก็ในคำเหล่านี้ ที่ชื่อว่าที่ต้านทาน เพราะย่อมต้านทานไว้ คือรักษาไว้. ที่ชื่อว่าที่เร้น เพราะชนทั้งหลายย่อมหลีกเร้นอยู่ในที่นี้. ที่ชื่อว่าที่พึ่ง เพราะย่อมป้องกันไว้ ความว่า ย่อมเบียดเบียนคือกำจัดเสียได้ซึ่งภัย.
               บทว่า เข้าไปนั่งใกล้ คือ เข้าไปนั่งบนที่นั่งเบื้องล่าง.
               บทว่า พฺรูตุ แปลว่า จงกล่าว.
               บทว่า ชนบททางทิศใต้ คือ ชนบททางทิศใต้แห่งแม่น้ำคงคาที่ปรากฏชื่อทักษิณบถ.
               ได้ยินว่า ในกาลนั้น ในประเทศทางทิศใต้ของอินเดียมีพราหมณ์และดาบสอยู่มาก. กัณหะไป ณ ที่นั้น ทำให้ดาบสตนหนึ่งยินดีด้วยวัตรปฏิบัติ. ดาบสนั้นเห็นอุปการะของเขาจึงกล่าวว่า แน่ะบุรุษผู้เจริญ เราจะให้มนต์แก่ท่าน ท่านปรารถนามนต์ใด จงเรียนมนต์นั้นเถิด. เขาจึงกล่าวว่า ข้าแต่อาจารย์ กิจด้วยมนต์อย่างอื่นของผมไม่มี อาวุธทำร้ายไม่ได้ด้วยอานุภาพของมนต์ใด ขอท่านจงให้มนต์นั้นแก่ผมเถิด. ดาบสนั้นกล่าวว่า แน่ะผู้เจริญ ดีแล้ว จึงได้ให้วิชาที่ธนูยิงไม่เข้า ชื่อว่าอัมพัฏฐะ.
               เขาเรียนเอาวิชานั้นแล้ว ทดลองในที่นั้นทีเดียว คิดว่า บัดนี้เราจักให้ความใฝ่ฝันของเราเต็มเสียที จึงถือเอาเพศเป็นฤาษี ไปยังสำนักของพระเจ้าโอกกากะ. เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า กัณหะไปสู่ชนบททางทิศใต้ เรียนพรหมมนต์เข้าไปเฝ้าพระเจ้าโอกกากะ ดังนี้.
               ในบทนี้ บทว่า พรหมมนต์ คือมนต์อันประเสริฐ เพราะเป็นมนต์สมบูรณ์ด้วยอานุภาพ. บทว่า โก เนวํเร มยฺหํ ทาสีปุตฺโต๒- ความว่า นี่แน่ะเว้ย ใครหนอนี้เป็นลูกนางทาสี (มาขอลูกสาว) ของเราอย่างนี้.
____________________________
๒-บาลีอัมพัฏฐสูตรเป็น เนวเร พระไตรปิฎกเล่ม ๙ หน้า ๑๒๕.

               บทว่า พระเจ้าโอกกากราชนั้นไม่ทรงสามารถจะปล่อยลูกธนูไปได้ ความว่า พระราชานั้นขึ้นสายธนู เพราะพระองค์มีพระประสงค์จะฆ่าฤาษีนั้น แต่ไม่ทรงสามารถที่จะยิงออกไป ทั้งไม่ทรงสามารถที่จะปลดออกได้ซึ่งลูกศรนั้น ทันใดนั้น พระองค์ก็มีพระเสโทไหลไปทั่วพระวรกาย ประทับยืนสั่นงันงกอยู่ด้วยความกลัว.
               บทว่า อำมาตย์ทั้งหลาย คือ มหาอำมาตย์ทั้งหลาย.
               บทว่า เหล่าชุมชน คือ มวลชนนอกจากนี้.
               บทว่า เหล่าอำมาตย์ทั้งหลาย ได้กล่าวคำนี้ ความว่า พวกเขาคิดอยู่ว่า เมื่อพระราชาทรงพระนามว่าทัณฑกี ทรงประพฤติผิดในดาบสชื่อ กีสวัจฉะ แว่นแคว้นทั้งสิ้นพินาศด้วยฝนแห่งอาวุธ พระเจ้านาฬิเกระทรงประพฤติผิดในดาบส ๕๐๐ ตนและพระเจ้าอัชชุนะทรงประพฤติผิดในอังคีรสดาบส แทรกลงสู่แผ่นดิน เข้าไปสู่นรก เพราะความกลัวจึงได้กล่าวคำนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอความสวัสดีจงมีเป็นต้น. กัณหดาบสนิ่งอยู่นาน ต่อนั้นถูกเขาขอร้องโดยประการต่างๆ จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า พระราชาของพวกท่าน ขึ้นสายธนูยิงฤาษีเช่นกับพวกเรา นับว่าทำกรรมหนักมาก แล้วจึงได้กล่าวคำนี้ว่า ความสวัสดีจักมีแด่พระราชา ดังนี้ ในภายหลัง.
               บทว่า จักพังทลาย คือ จักแตกแยกออก.
               กัณหดาบสนั้นคิดว่า เราจักให้ชนตกใจแล้ว จึงได้กล่าวเท็จว่า แผ่นดินจักแตกกระจายออก ราวกะกำแกลบ. ความจริงอานุภาพแห่งวิชาของกัณหดาบสนั้นมีเพียงหยุดยั้งลูกศรได้เท่านั้น ย่อมไม่เป็นไปอย่างอื่นไปได้.
               ในคำทั้งหลายแม้อื่นจากนี้ ก็มีนัยทำนองเดียวกันนี้.
               บทว่า ปลฺโลโม แปลว่า มีขนนอนราบแล้ว. ความว่า แม้แต่เพียงขนลุก ก็จักไม่มีแก่เขา. นัยว่า กัณหดาบสให้พระราชากระทำปฏิญาณแล้ว จึงได้กล่าวคำนี้ว่า ถ้าพระราชาจักพระราชทานเด็กหญิงนั้นแก่เราดังนี้.
               บทว่า พระราชาให้ลูกธนูวางไว้ที่กุมารแล้ว ความว่า เมื่อดาบสนั้นร่ายมนต์ว่า ขอให้ลูกศรจงลงมา พระราชาก็ให้วางลงที่สะดือของกุมาร.
               บทว่า ได้พระราชทานพระราชธิดาแล้ว คือทรงชำระล้างศีรษะกระทำมิให้เป็นทาส คือเป็นไทยแล้ว พระราชทานไป และทรงตั้งไว้ในตำแหน่งอันยิ่งใหญ่.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงประกาศว่า อัมพัฏฐะเป็นญาติของศากยะทั้งหลายทางฝ่ายหนึ่ง จึงได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า มา โข ตุเมฺห มาณวกา เพื่อจะทรงให้เขาเบาใจ.
               ลำดับนั้น อัมพัฏฐะเป็นประหนึ่งว่าถูกรดด้วยน้ำตั้ง ๑๐๐ หม้อ มีความกระวนกระวายอันระงับแล้ว เบาใจแล้ว คิดว่า พระสมณโคดมทรงดำริว่า จักให้เราบันเทิงใจ จึงทรงกระทำให้เราเป็นญาติทางฝ่ายหนึ่ง. นัยว่า เราเป็นกษัตริย์.

               ขตฺติยเสฏฺฐภาววณฺณนา               
               ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำริว่า อัมพัฏฐะนี้กระทำความสำคัญว่า เราเป็นกษัตริย์ ไม่รู้ว่าตนมิใช่กษัตริย์ เอาเถอะ เราจักให้เขารู้ เมื่อจะทรงแสดงเทศนายิ่งขึ้นไป เพื่อทรงแสดงวงศ์กษัตริย์ จึงได้ตรัสพระดำรัสว่า ดูก่อนอัมพัฏฐะ ท่านสำคัญข้อนั้นเป็นไฉน เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิธ แปลว่า ในโลกนี้. บทว่า ในพราหมณ์ทั้งหลาย คือในระหว่างพวกพราหมณ์. บทว่า ที่นั่งหรือน้ำ คือที่นั่งอย่างดีเลิศ หรือน้ำอย่างดีเลิศ. บทว่า สทฺเธ คือในภัตที่เขาทำอุทิศให้ผู้ตาย. บทว่า ถาลิปาเก คือในภัตในงานมงคล เป็นต้น. บทว่า ยญฺเญ คือในภัตที่เขาทำไว้บูชายัญ. บทว่า ปาหุเน คือในภัตที่เขากระทำไว้เพื่อแขกทั้งหลาย หรือว่าในภัตที่เขาทำไว้เป็นบรรณาการ. บทว่า อปินุสฺส คือสำหรับโอรสกษัตริย์นั้น บ้างไหมหนอ.
               บทว่า อาวฏํ วา อสฺส อนาวฏํ วา คือในหญิงสาวตระกูลพราหมณ์พึงมีการห้าม หรือไม่มีการห้าม. ความว่า โอรสกษัตริย์จะพึงได้กับเด็กหญิงตระกูลพราหมณ์หรือไม่พึงได้.
               บทว่า อนุปปนฺโน ความว่า ไม่ถึงวงศ์กษัตริย์ คือไม่บริสุทธิ์.
               บทว่า อิตฺถิยา วา อิตฺถึ กริตฺวา คือแสวงหาหญิงกับหญิงหรือ.
               บทว่า กิสฺมิญฺจิเทว ปกรเณ คือ ในการกระทำสิ่งที่ไม่ควรทำที่เป็นโทษบางอย่าง ซึ่งสมควรแก่พราหมณ์ทั้งหลาย.
               บทว่า ด้วยห่อขี้เถ้า ความว่า เอาห่อขี้เถ้าโปรยขี้เถ้าบนศีรษะ.
               บทว่า ชเนตสฺมึ คือในฝูงชน ความว่า ในหมู่ประชาชน.
               บทว่า เย โคตฺตปฏิสาริโน ความว่า ในฝูงชน ผู้ใดเที่ยวอวดอ้างในเรื่องโคตรว่า ข้าพเจ้าเป็นโคตมโคตร ข้าพเจ้าเป็นกัสสปโคตร ในเขาเหล่านั้น ผู้เที่ยวอวดอ้างในเรื่องโคตรในโลก กษัตริย์เป็นผู้ประเสริฐ.
               บทว่า อนุมตา มยา ความว่า คาถานี้ สนังกุมารพรหมแสดงเทียบได้กับพระสัพพัญญุตญาณของเรา เพราะฉะนั้น เราจึงยอมรับ.
               ปฐมภาณวารวณฺณา นิฏฺฐิตา ฯ               

.. อรรถกถา ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค อัมพัฏฐสูตร
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 9 / 1อ่านอรรถกถา 9 / 91อรรถกถา เล่มที่ 9 ข้อ 141อ่านอรรถกถา 9 / 178อ่านอรรถกถา 9 / 365
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=9&A=1920&Z=2832
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=4&A=5643
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=4&A=5643
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๘  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :