ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 8 / 1อ่านอรรถกถา 8 / 1077อรรถกถา เล่มที่ 8 ข้อ 1083อ่านอรรถกถา 8 / 1087อ่านอรรถกถา 8 / 1366
อรรถกถา ปริวาร
จูฬสงคราม ข้อปฏิบัติของภิกษุผู้เข้าสงครามเป็นต้น

               จูฬสังคามวัณณนา               
               วินิจฉัยในจูฬสงคราม พึงทราบดังนี้ :-
               ประชุมสงฆ์เพื่อประโยชน์แก่การวินิจฉัยอธิกรณ์ เรียกว่าสงคราม ในคำว่า ภิกษุผู้เข้าสงคราม.
               จริงอยู่ ภิกษุทั้งหลายซึ่งเป็นข้าศึกแก่ตนและเป็นข้าศึกต่อพระศาสนา ย่อมประชุมกัน แสดงสัตถุศาสนานอกธรรมนอกวินัย ในที่ประชุมสงฆ์นั้น เหมือนอย่างภิกษุวัชชีบุตรชาวเมืองไพศาลีฉะนั้น.
               ภิกษุใด ย่ำยีลัทธิของภิกษุผู้เป็นข้าศึกเหล่านั้นเสีย เข้าในที่ประชุมสงฆ์นั้น เพื่อประโยชน์แก่การแสดงวาทะของตน วางอำนาจยังการวินิจฉัยให้เป็นไป, ผู้นั้นชื่อว่าผู้เข้าสงคราม ประหนึ่งพระยสเถระฉะนั้น. ภิกษุผู้เข้าสงครามนั้น เมื่อเข้าหาสงฆ์ พึงเป็นผู้มีจิตยำเกรงเข้าหาสงฆ์.
               บทว่า นีจจิตฺเตน ได้แก่ ผู้ลดธงคือมานะลงเสีย มีจิตมีมานะอันกำจัดเสียแล้ว.
               บทว่า รโชหรณสเมน ได้แก่ มีจิตเสมอด้วยผ้าเช็ดเท้า. อธิบายว่า เมื่อเท้าเปื้อนหรือไม่เปื้อนอันบุคคลเช็ดอยู่ ความยินดีความยินร้าย ย่อมไม่มีแก่ผ้าเช็ดเท้าฉันใด, พึงเป็นผู้มีจิตไม่ยินดีไม่ยินร้ายในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ฉันนั้น.
               สองบทว่า ยถาปฏิรูเป อาสเน มีความว่า พึงรู้อาสนะตามที่สมควรนั่งในที่ซึ่งถึงแก่ตน ไม่หันหลังให้ภิกษุทั้งหลายผู้เถระ.
               บทว่า อนานากถิเกน ได้แก่ ไม่กล่าวถ้อยคำที่ไม่มีประโยชน์นั้นๆ ซึ่งมีประการต่างๆ.
               บทว่า อติรจฺฉานกถิเกน ได้แก่ ไม่กล่าวติรัจฉานกถา มีเรื่องพระราชาเป็นต้น ที่ได้เห็นก็ดี ได้ฟังก็ดี ได้ทราบก็ดี.
               หลายบทว่า สามํ วา ธมฺโม ภาสิตพฺโพ มีความว่า ถ้อยคำที่อิงเรื่องที่ควรและไม่ควร หรือที่อิงรูปารูปปริเฉท และลำดับแห่งสมถะ ลำดับแห่งวิปัสสนา วัตรในการยืนและนั่งเป็นต้น ในที่ประชุมสงฆ์ ชื่อว่าธรรม. ธรรมเห็นปานนี้ พึงกล่าวเองก็ได้ เชิญภิกษุอื่นกล่าวก็ได้. ภิกษุใด สามารถเพื่อกล่าวถ้อยคำเห็นปานนั้น ภิกษุนั้น อันตนพึงเชิญว่า ผู้มีอายุ ปัญหาเกิดขึ้นแล้วในท่ามกลางสงฆ์ ท่านพึงกล่าว.
               หลายบทว่า อริโย วา ตุณฺหีภาโว นาติมญฺญิตพฺโพ มีความว่า พระอริยเจ้าทั้งหลายเมื่อนั่งนิ่ง หาได้นั่งอย่างพาลปุถุชนไม่ ย่อมฉวยกัมมัฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่งนั่ง, พระอริยเจ้าผู้มีการนิ่งเป็นปกติ ด้วยอำนาจทำกัมมัฏฐานไว้ในใจอย่างนี้ ชื่อว่ามีความนิ่งเป็นปกติ. พระอริยเจ้านั้น อันภิกษุผู้เข้าสงครามไม่พึงดูถูกว่า มีประโยชน์อะไรด้วยการร่ำเพียรในกัมมัฏฐาน. อธิบายว่า ตนพึงฉวยกัมมัฏฐานที่เหมาะแก่ตนนั่ง.
               สองบทว่า น อุปชฺฌาโย ปุจฺฉิตพฺโพ มีความว่า ไม่ควรถามว่า อุปัชฌาย์ของท่านชื่อไร?. ในบททั้งปวง ก็นัยนี้แล.
               บทว่า น ชาติ มีความว่า ไม่ควรถามถึงชาติอย่างนี้ว่า ท่านเป็นชาติกษัตริย์หรือ? ท่านเป็นชาติพราหมณ์หรือ?
               บทว่า น อาคโม มีความว่า ไม่ควรถามถึงปริยัติที่เรียน อย่างนี้ว่า ท่านกล่าวทีฆนิกายหรือ? ท่านกล่าวมัชฌิมนิกายหรือ?
               สกุลและประเทศ พึงทราบด้วยอำนาจสกุลกษัตริย์เป็นต้น.
               หลายบทว่า อาตฺรสฺส เปมํ วา โทโส วา มีความว่า ความรักหรือความชังในบุคคลนั้น พึงมีด้วยอำนาจแห่งเหตุเหล่านั่นอย่างใดอย่างหนึ่ง.
               สองบทว่า โน ปริสกปฺปิเยน มีความว่า ไม่พึงเป็นผู้เห็นแก่บริษัท คือคล้อยตามบริษัท. อธิบายว่า สิ่งใดชอบใจบริษัท สิ่งนั้นแลไม่พึงจงใจ คือหมายใจกล่าว.
               สองบทว่า น หตฺถมุทฺธา ทสฺเสตพฺพา มีความว่า ไม่พึงทำวิการแห่งมือ เพื่อหมายรู้ในข้อที่ควรกล่าวและไม่ควรกล่าว.
               สองบทว่า อตฺถํ อนุวิธิยนฺเตน มีความว่า พึงคอยกำหนดให้รู้ตลอดซึ่งกาลวินิจฉัยเท่านั้น คือพึงนั่งพิจารณาโดยรอบคอบอย่างนี้ว่า สูตรนี้อ้างได้ เราจักกล่าวสูตรนี้ ในวินิจฉัยนี้.
               หลายบทว่า น จ อาสนา วุฏฺฐาตพฺพํ มีความว่า ไม่พึงลุกจากที่นั่งเที่ยวไปในบริเวณที่ชุมนุม. เพราะว่า เมื่อพระวินัยธรลุก บริษัททั้งปวงย่อมลุก.
               บทว่า น วีติหาตพฺพํ มีความว่า ไม่พึงให้วินิจฉัยบกพร่อง.
               สองบทว่า น กุมฺมคฺโค เสวิตพฺโพ มีความว่า ไม่พึงชี้อาบัติ.
               สองบทว่า อสาหสิเกน ภวิตพฺพํ มีความว่า ไม่พึงเป็นผู้ทำโดยผลุนผลัน. อธิบายว่า ไม่พึงกล่าวถ้อยคำให้ผิดพลาดโดยความผลุนผลัน.
               บทว่า วจนกฺขเมน มีความว่า พึงเป็นผู้มีปกติอดได้ซึ่งถ้อยคำที่หยาบคาย.
               บทว่า หิตปริสกฺกินา มีความว่า พึงเป็นผู้แสวงหาประโยชน์ คือขวนขวายเพื่อประโยชน์. ในบททั้ง ๒ มีอธิบายดังนี้ ว่า กรุณาและธรรมเป็นส่วนเบื้องต้นแห่งกรุณา อันภิกษุผู้เข้าสงครามพึงให้เข้าไปตั้งไว้.
               บทว่า อนุรุตฺเตน ได้แก่ ไม่พึงเป็นผู้กล่าวถ้อยคำหยาบคาย. อธิบายว่า ถ้อยคำที่ไม่ดี กล่าวคือถ้อยคำชวนวิวาท เรียกว่าถ้อยคำที่หยาบคาย, คำหยาบคายนั้น อันภิกษุผู้เข้าสงครามไม่ควรกล่าว.
               สองบทว่า อตฺตา ปริคฺคเหตพฺโพ มีความว่า พึงตรวจดูตนอย่างนี้ว่า เราสามารถจะวินิจฉัย คือระงับอธิกรณ์หรือไม่หนอ? อธิบายว่าพึงรู้ประมาณตน.
               สองบทว่า ปโร ปริคฺคเหตพฺโพ มีความว่า พึงตรวจดูผู้อื่นอย่างนี้ว่า บริษัทนี้ เป็นลัชชีหรือหนอ? อันเราอาจจะให้ยินยอมหรือไม่?
               สองบทว่า โจทโก ปริคฺคเหตพฺโพ มีความว่า พึงตรวจดูโจทก์อย่างนี้ว่า ผู้นี้เป็นโจทก์โดยธรรมหรือไม่หนอ?
               สองบทว่า จุทิตโก ปริคฺคเหตพฺโพ มีความว่า พึงตรวจดูจำเลยอย่างนี้ว่า ผู้นี้เป็นจำเลยโดยธรรมหรือไม่?
               สองบทว่า อธมฺมโจทโก ปริคฺคเหตพฺโพ มีความว่า พึงรู้ประมาณโจทก์นั้น. แม้ในบทที่เหลือ ก็นัยนี้แล.
               สองบทว่า วุตฺตํ อหาเปนฺเตน มีความว่า ไม่พึงยังถ้อยคำอันโจทก์และจำเลยกล่าวให้ตกหล่น.
               สองบทว่า อวุตฺตํ อปฺปกาเสนฺเตน มีความว่า ไม่พึงแซมข้อความซึ่งมิได้เข้าประเด็น.
               สองบทว่า เวโป ปหาเสตพฺโพ มีความว่า โจทก์หรือจำเลยเป็นผู้อ่อน คือเป็นผู้โง่เขลา พึงช่วยเหลือ คือพึงปลุกใจให้อาจหาญว่า ท่านเป็นบุตรของสกุลมิใช่หรือ? แล้วชี้แจงธรรมเนียมในการซักถามแล้ว จับการซักถามแก่ผู้โง่เขลานั้น.
               สองบทว่า ภิรุ อสฺสาเสตพฺโพ มีความว่า โจทก์หรือจำเลยใด เกิดความสะทกสะท้านขึ้น เพราะไม่เคยเข้าสู่ท่ามกลางสงฆ์หรือท่ามกลางคณะ, ภิกษุเช่นนั้น อันภิกษุผู้ว่าอรรถคดีพึงพูดปลอบว่า ท่านอย่ากลัวเลย จงวางใจให้การเถิด, พวกเราจักเป็นผู้สนับสนุนท่าน ดังนี้ก็ได้ แล้วชี้แจงธรรมเนียมในการซักถาม.
               สองบทว่า จณฺโฑ นิเสเธตพฺโพ มีความว่า เป็นผู้ดุร้ายพึงรุกรานเสีย คือพึงกำหราบเสีย.
               สองบทว่า อสุจิ วิภาเวตพฺโพ มีความว่า เป็นอลัชชี พึงประกาศแล้วให้แสดงอาบัติเสีย.
               สองบทว่า อุชุ มทฺทเวน มีความว่า ภิกษุใดเป็นผู้ตรง มีศีล เว้นจากความโกงทางกายเป็นต้น, ภิกษุนั้น อันผู้ว่าอรรถคดีพึงประพฤติต่อด้วยความอ่อนโยนเท่านั้น.
               ในคำว่า ธมฺเมสุ จ ปุคฺคเลสุ จ นี้ ภิกษุใด เป็นผู้หนักในธรรม มิได้เป็นผู้หนักในบุคคล, ภิกษุนี้แลพึงทราบว่า ผู้วางตนเป็นกลางทั้งในธรรมทั้งในบุคคล.

               [ว่าด้วยประโยชน์แห่งสูตรเป็นอาทิ]               
               วินิจฉัยในคำว่า สุตฺตํ สํสนฺทนตฺถาย เป็นต้น พึงทราบดังนี้ :-
               ก็แต่ว่า ภิกษุผู้ว่าอรรถคดี ซึ่งเป็นที่รักที่ชอบใจที่เคารพและที่นับถือของเพื่อนพรหมจารีอย่างนี้นั้น พึงทราบว่า ในบรรดาสูตรเป็นต้น ที่อ้างมาสูตรเพื่อประโยชน์แก่การเทียบเคียง คือเพื่อประโยชน์แก่การสอบสวนอาบัติและอนาบัติ.
               สองบทว่า โอปมฺมํ นิทสฺสนตฺถาย มีความว่า ข้ออุปมาเพื่อประโยชน์แก่การชี้เนื้อความ.
               สองบทว่า อตฺโถ วิญฺญาปนตฺถาย มีความว่า เนื้อความเพื่อประโยชน์แก่การที่จะให้เข้าใจ.
               สองบทว่า ปฏิปุจฺฉา ฐปนตฺถาย มีความว่า การย้อนถามเพื่อประโยชน์แก่ความมั่นคงของบุคคล.
               สองบทว่า โอกาสกมฺมํ โจทนตฺถาย มีความว่า (การขอโอกาส) เพื่อประโยชน์แก่การโจทด้วยวัตถุหรือด้วยอาบัติ.
               สองบทว่า โจทนา สารณตฺถาย มีความว่า (การโจท) เพื่อประโยชน์แก่การที่จะให้จำเลยระลึกถึงโทษน้อยใหญ่.
               สองบทว่า สารณา สวจนียตฺถาย มีความว่า การที่ให้จำเลยระลึกถึงโทษน้อยโทษใหญ่ เพื่อประโยชน์แก่ความเป็นผู้มีถ้อยคำอันตนจะพึงให้การ.
               สองบทว่า สวจนียํ ปลิโพธตฺถาย มีความว่า ความเป็นผู้มีถ้อยคำอันตนจะพึงให้การ เพื่อประโยชน์แก่การกักไว้อย่างนี้ว่า ท่านอย่าก้าวออกไปแม้ก้าวเดียวจากอาวาสนี้.
               สองบทว่า ปลิโพโธ วินิจฺฉยตฺถาย มีความว่า (การกักไว้) เพื่อประโยชน์แก่การให้ตั้งวินิจฉัย.
               สองบทว่า วินิจฺฉโย สนฺตีรณตฺถาย มีความว่า การวินิจฉัยเพื่อประโยชน์แก่การไตร่ตรอง คือ พิจารณาโทษและมิใช่โทษ.
               การไตร่ตรอง เพื่อประโยชน์ที่จะหยั่งฐานะและอฐานะ คือเพื่อประโยชน์ที่จะรู้อาบัติ อนาบัติ ครุกาบัติ ลหุกาบัติ.
               สองบทว่า สงฺโฆ สมฺปริคฺคหสมฺปฏิจฺฉนตฺถาย มีความว่า สงฆ์เพื่อประโยชน์แก่การรับรองวินิจฉัย และเพื่อประโยชน์ที่จะรู้ว่าอธิกรณ์นั้นอัน ผู้ว่าอรรถคดี วินิจฉัยชอบหรือไม่ชอบ.
               สองบทว่า ปจฺเจกฏฺฐายิโน อวิสํวาทกฏฺฐายิโน มีความว่า บุคคลเหล่านั้น ซึ่งตั้งอยู่ในตำแหน่งผู้เป็นใหญ่ โดยความเป็นอิสริยาธิบดี และในฐานะแห่งผู้ไม่แกล้งกล่าวให้ผิด อันสงฆ์ไม่พึงรุกราน.

               [ว่าด้วยประโยชน์แห่งวินัยเป็นอาทิ]               
               บัดนี้ พระอุบาลีเถระกล่าวคำว่า วินัยเพื่อประโยชน์แก่สังวร เป็นต้น เพื่อแสดงเนื้อความ เพื่อปิดโอกาสแห่งถ้อยคำของชนทั้งหลายผู้มีปัญญาอ่อน ซึ่งจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ชื่อว่าวินัยจะมีประโยชน์อะไร.
               บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า วินโย สํวรตฺถาย มีความว่า วินัยบัญญัติแม้ทั้งสิ้น เพื่อประโยชน์แก่ความสำรวมกายทวารและวจีทวาร คือเป็นอุปนิสัย. อธิบายว่า เป็นปัจจัยแก่ศีล มีอาชีวปาริสุทธิศีลเป็นที่สุด. ในบททั้งปวงก็นัยนี้แล.
               อีกอย่างหนึ่ง ในธรรมทั้งหลายมีความไม่เดือดร้อนเป็นต้นนี้ มีคำอธิบายว่า ความไม่มีความเดือดร้อนแห่งจิต ด้วยอำนาจแห่งบุญที่ได้กระทำไว้ และบาปที่มิได้กระทำไว้ ชื่อว่า ความไม่เดือดร้อน.
               ปีติอย่างอ่อน ไม่รุนแรง ชื่อว่าปราโมทย์.
               ปีติอย่างแรง มีกำลัง ชื่อว่าปีติ.
               ความระงับความกระวนกระวายในกายและจิต ชื่อว่าปัสสัทธิ.
               สุขทางกายทางจิต ชื่อว่าสุข.
               จริงอยู่ สุขทั้ง ๒ อย่างนั้น ย่อมเป็นอุปนิสัยปัจจัยแห่งสมาธิ.
               ความที่จิตมีอารมณ์เดียว ชื่อว่าสมาธิ.
               วิปัสสนาอย่างอ่อน ชื่อว่ายถาภูตญาณทัสสนะ. ยถาภูตญาณทัสสนะนี้ เป็นชื่อของญาณที่รู้ความเกิดและความเสื่อม.
               จริงอยู่ ความที่จิตมีอารมณ์เดียว ย่อมเป็นอุปนิสัยปัจจัยแห่งวิปัสสนาอย่างอ่อน.
               วิปัสสนาอย่างแรง ซึ่งจัดเป็นชั้นยอด เป็นเหตุให้ถึงความปลีกตัวเสีย ชื่อว่านิพพิทา.
               อริยมรรค ชื่อว่าวิราคะ
               อรหัตผล ชื่อว่าวิมุตติ.
               จริงอยู่ อริยมรรคแม้ทั้ง ๔ อย่าง ย่อมเป็นอุปนิสัยปัจจัยแห่งอรหัต.
               ปัจจเวกขณญาณ ชื่อว่าวิมุตติญาณทัสสนะ.
               สองบทว่า วิมุตฺติญาณทสฺสนํ อนุปาทาปรินิพฺพานตฺถาย มีความว่า วิมุตติญาณทัสสนะ เพื่อประโยชน์แก่ความดับสนิทหาปัจจัยมิได้. จริงอยู่ วิมุตติญาณทัสสนะนั้น ชื่อว่าเป็นปัจจัยแก่ความดับสนิทหาปัจจัยมิได้ เพราะเมื่อวิมุตติญาณทัสสนะอันโยคาพจรบรรลุโดยลำดับแล้ว กิเลสและกองทุกข์พึงดับสนิทแน่แท้ ฉะนี้แล.
               สองบทว่า เอตทตฺถา กถา มีความว่า ธรรมดาว่าวินัยกถานี้ มีอนุปาทาปรินิพพานนั้นเป็นประโยชน์. ความพิจารณาวินัยนั่นแล ชื่อว่ามันตนา.
               บทว่า อุปนิสา มีความว่า แม้ความเป็นธรรมเป็นปัจจัยสืบต่อกันไป เป็นต้นว่า วินัยเพื่อประโยชน์แก่สังวร นี้ ก็เพื่อประโยชน์แก่อนุปาทาปรินิพพานนั้น. ความเงี่ยโสตลงฟังถ้อยคำที่เป็นปัจจัยสืบต่อกันไปนี้ ชื่อว่าความเงี่ยโสตสดับ. ญาณใดเกิดขึ้นเพราะได้ฟังเนื้อความนี้ ญาณแม้นั้นก็เพื่อประโยชน์แก่อนุปาทาปรินิพพานนั้น.
               หลายบทว่า ยทิทํ อนุปาทา จิตฺตสฺส วิโมกฺโข มีความว่า ความพ้นพิเศษแห่งจิต เพราะไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน ๔ กล่าวคืออรหัตผลนี้ใด, ความพ้นพิเศษแห่งจิตแม้นั้น ก็เพื่อประโยชน์นี้ คือเพื่อประโยชน์แก่อปัจจัยปรินิพพานนั่นแล.

               [อนุโยควัตตคาถา]               
               บรรดาอนุโยควัตตคาถาทั้งหลาย คาถาต้นมีเนื้อความดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               ในคำว่า วตฺถุํ วิปตฺตึ อาปตฺตึ นิทานํ อาการอโกวิโท ปุพฺพาปรํ น ชานาติ พึงทำการเชื่อมบทว่า วตฺถุ เป็นต้น ด้วยบทว่า น ชานาติ. พึงทำการเชื่อมบทว่า อโกวิโท ด้วยบทว่า ส เวตาทิสโก นี้.
               เพราะเหตุนั้น พึงทราบวาจาเครื่องประกอบในคำว่า วตฺถุํ เป็นต้นนี้ ดังต่อไปนี้ :-
               ภิกษุใด ไม่รู้จักวัตถุแห่งวิติกกมะมีปาราชิกเป็นต้น, ไม่รู้วิบัติ ๔ อย่าง, ไม่รู้อาบัติ ๗ อย่าง, ไม่รู้นิทานอย่างนี้ว่า สิกขาบทนี้ ทรงบัญญัติแล้ว ในนครชื่อโน้น, ไม่รู้จักเบื้องต้นและเบื้องปลายว่า นี้เป็นคำต้น นี้เป็นคำหลัง, ไม่รู้จักกรรมที่ทำแล้วหรือยังไม่ได้ทำว่า นี้ทำแล้ว นี้ยังมิได้ทำ.
               ในบทว่า สเมน จ มีคำอธิบายว่า ไม่รู้จักกรรมที่ทำแล้วหรือยังมิได้ทำ ด้วยความไม่รู้เสมอ ของภิกษุไม่รู้เบื้องต้นและเบื้องปลายนั้นนั่นเอง. พึงทราบการเชื่อมกับบทว่า น ชานาติ อย่างนี้ก่อน.
               ก็แลวินิจฉัยในคำว่า อาการอโกวิโท ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ พึงทราบดังนี้ :-
               บทว่า อาการอโกวิโท ได้แก่ ผู้ไม่เข้าใจเหตุและมิใช่เหตุ. ภิกษุนี้ใด ไม่รู้วัตถุเป็นต้น และไม่เข้าใจอาการ, ภิกษุผู้เช่นนั้นๆ แล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ผู้ไม่ควรเลือก ด้วยประการฉะนี้.
               พึงทำการเชื่อมบทแม้เหล่านี้ว่า กมฺมญฺจ อธิกรณญฺจ ด้วยบทว่า น ชานาติ นั่นแล.
               ก็แลวาจาสำหรับประกอบ ในคำว่า กมฺมญฺจ เป็นต้นนั้น ดังต่อไปนี้ :-
               ภิกษุนี้ใด ไม่รู้จักกรรม และไม่รู้จักอธิกรณ์ เหมือนอย่างนั้นแล, ทั้งไม่เข้าใจสมถะ ๗ ประการด้วย.
               อนึ่ง ผู้กำหนัดแล้ว ขัดเคืองแล้ว และหลงแล้ว เพราะกิเลสมีราคะเป็นต้น ย่อมลำเอียงเพราะกลัวด้วยความกลัว ย่อมลำเอียงเพราะเขลา ด้วยความงมงาย.
               อนึ่ง เพราะเหตุที่ตนเป็นผู้กำหนัดและเพราะเหตุที่ตนเป็นผู้ขัดเคือง จึงลำเอียงเพราะความชอบ เพราะความชัง.
               อนึ่ง หาเป็นผู้ฉลาดในบัญญัติไม่ เพราะไม่เป็นผู้สามารถที่จะยังผู้อื่นให้ยินยอม.
               อนึ่ง ไม่ฉลาดในการชี้ขาด เพราะเป็นผู้ไม่สามารถในการชี้เหตุและมิใช่เหตุ.
               ชื่อว่าผู้ได้พรรคพวก เพราะได้บริษัทที่แม้นกับตน, ชื่อว่าผู้ไม่มีความละอาย เพราะเป็นผู้ห่างจากหิริ, ชื่อว่าผู้มีกรรมดำ เพราะเป็นผู้พร้อม เพรียงด้วยกรรมดำทั้งหลาย, ชื่อว่าผู้ไม่เอื้อเฟื้อ เพราะไม่มีความเอื้อเฟื้อในธรรมและความเอื้อเฟื้อในบุคคล. ภิกษุเช่นนั้นๆ แล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ผู้ไม่ควรเลือก. คือ อันสงฆ์ไม่ควรพิจารณาได้แก่ ไม่ควรแลดู. อธิบายว่า ไม่ควรสมมติตั้งไว้ในตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่ โดยความเป็นอิสริยาธิบดี.
               โยชนานัย แม้แห่งคาถาฝ่ายขาว ก็พึงทราบโดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.

               จูฬสังคามวัณณนา จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ปริวาร จูฬสงคราม ข้อปฏิบัติของภิกษุผู้เข้าสงครามเป็นต้น จบ.
อ่านอรรถกถา 8 / 1อ่านอรรถกถา 8 / 1077อรรถกถา เล่มที่ 8 ข้อ 1083อ่านอรรถกถา 8 / 1087อ่านอรรถกถา 8 / 1366
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=8&A=9695&Z=9776
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=11319
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=11319
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๑  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :