ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 7 / 1อ่านอรรถกถา 7 / 292อรรถกถา เล่มที่ 7 ข้อ 294อ่านอรรถกถา 7 / 296อ่านอรรถกถา 7 / 664
อรรถกถา จุลวรรค ภาค ๒ เสนาสนะขันธกะ
เรื่องภิกษุชาวเมืองอาฬวีให้นวกรรม เป็นต้น

               [ว่าด้วยนวกรรม]               
               บทว่า ภณฺฑิกาธานมตฺเตน มีความว่า ภิกษุชาวเมืองอาฬวีย่อมให้นวกรรม (คือสร้างใหม่) ด้วยเพียงประกอบสิ่งที่ปิดที่อาศัยอยู่แห่งนกพิราบ ซึ่งทำเหนือบานประตู.
               บทว่า ปริภณฺฑกรณมตฺเตน คือ ด้วยเพียงทำการฉาบทาด้วยโคมัยและชโลมด้วยน้ำฝาด.
               บทว่า ธูมกาลิกํ มีความว่า ภิกษุชาวเมืองอาฬวีย่อมอปโลกน์ให้ที่อยู่สร้างทำเสร็จแล้วนี้ ในเวลาแห่งควันอย่างนี้ว่า ควันแห่งจิตรกรรมของที่อยู่นั้น ยังไม่ปรากฏเพียงใด, ที่อยู่นี้จงเป็นของภิกษุนั้นเพียงนั้น.
               วินิจฉัยในบทว่า วิปฺปกตํ นี้ พึงทราบดังนี้ :-
               กลอนทั้งหลาย ยังมิได้เอาขึ้นเพียงใด ที่อยู่ชื่อว่าทำค้างเพียงนั้น. แต่ครั้นเมื่อกลอนทั้งหลายได้เอาขึ้นแล้ว ที่อยู่ชื่อว่าทำแล้วโดยมาก, เพราะฉะนั้น จำเดิมแต่เวลาที่เอากลอนขึ้นแล้วไปนั้น ไม่ควรให้ทำใหม่. เจ้าของจักขอแรงภิกษุ ให้ช่วยสร้างอีกนิดหน่อยเท่านั้น.
               ข้อว่า ขุทฺทเก วิหาเร กมฺมํ โอโลเกตฺวา ฉปฺปญฺจวสฺสิกํ มีความว่า ภิกษุพึงตรวจดูงามแล้วให้นวกรรม ๔ ปี สำหรับที่อยู่ขนาด ๔ ศอก, ๕ ปี สำหรับที่อยู่ ๕ ศอก, ๖ ปี สำหรับที่อยู่ ๖ ศอก, ส่วนอัฑฒโยคะ (คือ เพิง) เป็นของมีขนาด ๗-๘ ศอก เพราะฉะนั้น ในเพิงนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ๗-๘ ปี. ก็ถ้าเพิงนั้นมีขนาด ๙ ศอก, พึงให้นวกรรม ๙ ปีก็ได้.
               อนึ่ง พึงให้นวกรรม ๑๐ ปี หรือ ๑๑ ปี สำหรับที่อยู่หรือปราสาทเก่ามีขนาด ๑๐ ศอกหรือ ๑๑ ศอก. แต่พึงให้นวกรรม ๑๒ ปีเท่านั้น สำหรับที่อยู่หรือปราสาทมีขนาด ๑๒ ศอก หรือแม้เช่นกับโลหะปราสาท ซึ่งเขื่องเกินกว่านั้น, ไม่พึงให้นวกรรมให้ยิ่งกว่า ๑๒ ปีนั้นไป.
               นวกัมมิกภิกษุได้ที่อยู่นั้นภายในกาลฝน, ไม่ได้เพื่อจะห้ามหวงในอุตุกาล.
               ถ้าที่อยู่นั้นชำรุด, พึงอบกแก่เจ้าของอาวาสหรือแก่ใครๆ ผู้เกิดในวงศ์ของเขาว่า ที่อยู่ของพวกท่านทรุดโทรม ท่านจงซ่อมแซมที่อยู่นั้น.
               ถ้าว่าเขาไม่สามารถ ภิกษุทั้งหลายพึงชักชวนญาติหรืออุปัฏฐากช่วยซ่อมแซม. ถ้าแม้ญาติและอุปัฏฐากเหล่านั้น ก็ไม่สามารถ, พึงซ่อมแซมด้วยปัจจัยของสงฆ์ แม้เมื่อปัจจัยของสงฆ์นั้นไม่มี ก็พึงจำหน่ายอาวาส๑- หลังหนึ่งเสีย ซ่อมแซมอาวาสที่เหลือไว้. แม้จำหน่ายอาวาสเป็นอันมากเสีย ซ่อมแซมอาวาสหลังหนึ่งไว้ก็ควรเหมือนกัน.
               ในคราวทุพภิกขภัย เมื่อภิกษุทั้งหลายพากันหลีกไปเสีย อาวาสทั้งปวงจะทรุดโทรม, เพราะฉะนั้น พึงจำหน่ายอาวาสเสียหลังหนึ่ง หรือ ๒ หลัง หรือ ๓ หลังแล้ว บริโภคยาคูภัตและจีวรเป็นต้น จากอาวาสที่จำหน่ายเสียนั้น รักษาอาวาสที่ยังเหลือไว้เถิด.
               ส่วนในกุรุนทีแก้ว่า เมื่อปัจจัยของสงฆ์ไม่มี พึงสั่งภิกษุรูปหนึ่งว่า ท่านจงถือเอาที่พอเตียงอันหนึ่ง สำหรับท่านซ่อมแซมเถิด.
               หากว่า ภิกษุนั้นต้องการมากกว่านั้น พึงให้ส่วนที่ ๓ (ใน ๔ ส่วน) หรือกึ่งหนึ่งก็ได้ ให้ซ่อมแซมเถิด.
               หากว่า เธอไม่ปรารถนาด้วยเห็นว่า ในที่อยู่นี้ เหลือแต่เพียงเสาเท่านั้น การที่จะต้องทำมาก พึงบอกให้เธอซ่อมแซมว่า ท่านจงซ่อมแซมเป็นส่วนตัวของท่านเท่านั้นเถิด เพราะว่า แม้เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จักยังมีที่เก็บของสงฆ์ด้วย จักมีสถานเป็นที่อยู่ของภิกษุใหม่ทั้งหลายด้วย. ก็แล อาวาสอันภิกษุทั้งหลายซ่อมแซมแล้วอย่างนั้น ย่อมเป็นของส่วนตัวบุคคล ในเมื่อภิกษุนั้นยังมีชีวิตอยู่, เมื่อภิกษุนั้นมรณภาพแล้ว ย่อมตกเป็นของสงฆ์แท้.
               หากว่า ภิกษุนั้นเป็นผู้ประสงค์จะให้ (เป็นที่อยู่) แก่สัทธิวิหาริกทั้งหลาย. สงฆ์พึงตรวจดูการงานแล้วพึงยกส่วนที่ ๓ หรือกึ่งหนึ่ง ให้เธอซ่อมแซมเป็นส่วนตัว.
               จริงอยู่ เธอย่อมได้เพื่อให้ส่วนนั้นแก่สัทธิวิหาริกทั้งหลาย. ก็เมื่อผู้ซ่อมแซมอย่างนั้น ไม่มี, พึงให้ซ่อมแซมตามนัยที่ว่า พึงจำหน่ายอาวาสหลังหนึ่งเสีย ดังนี้เป็นต้น. คำแม้นี้ด้วย คำอื่นด้วยท่านกล่าวไว้ในกุรุนทีนั่นแล.
               ภิกษุ ๒ รูป ถือเอาพื้นที่ของสงฆ์ แผ้วถางแล้วสร้างเสนาสนะเป็นของสงฆ์ พื้นที่นั้นภิกษุใดจองก่อน, ภิกษุนั้นเป็นเจ้าของ. แม้เธอทั้ง ๒ รูปสร้างเป็นส่วนบุคคล, ภิกษุผู้จองก่อนนั่นแลเป็นเจ้าของ.
               ภิกษุผู้จองพื้นที่ก่อนนั้นสร้างเป็นของสงฆ์ อีกรูปหนึ่งสร้างเป็นส่วนตัวบุคคล. หากว่า ที่สร้างเสนาสนะอื่นๆ ยังมีมาก แม้เธอสร้างเป็นส่วนตัวบุคคล ก็ไม่ควรห้าม. แต่เมื่อที่อันเหมาะเช่นนั้นแห่งอื่นไม่มี อันภิกษุผู้สร้างเป็นของสงฆ์นั่นแล พึงห้ามเธอเสียแล้วสร้างเถิด.
               ก็เครื่องใช้ มีทัพสัมภาระเป็นต้น ที่จะต้องใช้สอยหมดไปในสถานเป็นที่สร้างอาวาสของสงฆ์นั้นของภิกษุนั้น สงฆ์พึงยอมให้แก่เธอ.
               อนึ่ง ถ้าว่าในอาวาสที่สร้างเสร็จแล้วก็ดี ในสถานที่จะสร้างอาวาสก็ดี มีต้นไม้ที่อาศัยร่มได้และมีผล, พึงอปโลกน์ให้โค่นเสียเถิด. ถ้าต้นไม้เหล่านั้นเป็นของบุคคล, พึงบอกแก่เจ้าของ. ถ้าเจ้าของไม่ยอมให้, พึงบอกเพียงครั้งที่ ๓ แล้วให้โค่นเสีย ด้วยยอมรับว่า พวกเราจักให้มูลค่าราคาต้นไม้.
               ฝ่ายภิกษุใด ไม่ถือเอาเครื่องใช้แม้มาตรว่าเถาวัลลิ์ของสงฆ์ให้สร้างที่อยู่เป็นส่วนตัว ในพื้นที่ของสงฆ์ ด้วยเครื่องอุปกรณ์ที่ตนหามา, เป็นของสงฆ์กึ่งหนึ่ง เป็นของบุคคลกึ่งหนึ่ง. ถ้าเป็นปราสาท,๒- ปราสาทชั้นล่างเป็นของสงฆ์ ชั้นบนเป็นของบุคคล. ถ้าภิกษุใด ต้องการปราสาทชั้นล่าง, ปราสาทชั้นล่างย่อมเป็นของภิกษุนั้น. ถ้าเธอต้องการทั้งชั้นล่างทั้งชั้นบน, ย่อมได้ชั้นละกึ่งหนึ่งทั้ง ๒ ชั้น.
               ภิกษุให้สร้างเสนาสนะ ๒ แห่ง เป็นของสงฆ์แห่งหนึ่ง, เป็นของบุคคลแห่งหนึ่ง. หากว่าภิกษุให้สร้างด้วยทัพสัมภาระเป็นของสงฆ์ซึ่งเกิดขึ้นในวัด, เธอย่อมได้ส่วนที่ ๓. หากว่า ภิกษุทำการก่อต่อขึ้นใหม่ในที่ซึ่งไม่ได้ทำไว้ก็ดี ต่อหน้ามุขขึ้นภายนอกฝาก็ดี, กึ่งหนึ่งเป็นของสงฆ์ กึ่งหนึ่งเป็นของเธอ. ถ้าว่าสถานที่ใหญ่ไม่เสมอ เป็นที่ซึ่งภิกษุพูนให้เสมอ แสดงทางเดินในที่ซึ่งมิใช่ทาง, สงฆ์ไม่เป็นใหญ่ในที่นั้น.
____________________________
๑- กุฏิ (?).
๒- ปราสาท หมายความว่า เรือนชั้นตั้งแต่ ๒ ชั้นขึ้นไป ไม่ได้หมายว่า ปราสาทราชมณเฑียรอย่างความไทย.

               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา จุลวรรค ภาค ๒ เสนาสนะขันธกะ เรื่องภิกษุชาวเมืองอาฬวีให้นวกรรม เป็นต้น จบ.
อ่านอรรถกถา 7 / 1อ่านอรรถกถา 7 / 292อรรถกถา เล่มที่ 7 ข้อ 294อ่านอรรถกถา 7 / 296อ่านอรรถกถา 7 / 664
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=7&A=2630&Z=2698
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=8019
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=8019
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๖  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :