ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 5 / 1อ่านอรรถกถา 5 / 147อรรถกถา เล่มที่ 5 ข้อ 148อ่านอรรถกถา 5 / 153อ่านอรรถกถา 5 / 261
อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๒ จีวรขันธกะ
พระพุทธบัญญัติห้ามใช้จีวรที่ไม่ตัดเป็นต้น

               ว่าด้วยจีวรตัด               
               บทว่า อจฺจิพทฺธํ คือ มีกระทงนาเนื่องกันเป็นสี่เหลี่ยม.
               บทว่า ปาลิพทฺธํ คือ พูนคันนายาวทั้งด้านยาวและด้านกว้าง.
               บทว่า มริยาทพทฺธํ คือ พูนคันนาคั่นในระหว่างๆ ด้วยคันนาสั้นๆ.
               บทว่า สิงฺฆาฏกพทฺธํ คือ พูนคันนาเชื่อมกันดังทาง ๔ แพร่งตามที่ซึ่งคันนากับคันนาผ่านตัดกันไป. อธิบายว่า มีสัณฐานดังทาง ๔ แพร่ง
               สองบทว่า อุสฺสหสิ ตฺวํ อานนฺท มีความว่า อานนท์ เธออาจหรือ?
               บทว่า สํวิทหิตุํ ได้แก่ เพื่อทำ.
               สองบทว่า อุสฺสหามิ ภควา มีความว่า ท่านอานนท์แสดงว่า ข้าพระองค์อาจตามนัยที่พระองค์ประทาน.
               บทว่า ยตฺร หิ นาม คือ โย นาม.
               วินิจฉัยในคำว่า กุสิมฺปิ นาม เป็นอาทิ พึงทราบดังนี้ :-
               คำว่า กุสิ นี้ เป็นชื่อแห่งผ้ายาว มีอนุวาตด้านยาวและด้านกว้างเป็นต้น.
               คำว่า อฑฺฒกุสิ เป็นชื่อแห่งผ้าสั้นในระหว่างๆ.
               มณฑล นั้น ได้แก่ กระทงใหญ่ ในขัณฑ์อันหนึ่งๆ แห่งจีวรมี ๕ ขัณฑ์.
               อัฑฒมณฑล นั้น ได้แก่ กระทงเล็ก.
               วิวัฏฏะ นั้น ได้แก่ ขัณฑ์ตรงกลางที่เย็บมณฑลกับอัฑฒมณฑลติดกัน.
               อนุวิวัฏฏะ นั้น ได้แก่ ๒ ขัณฑ์ที่สองข้างแห่งวิวัฏฏะนั้น.
               คีเวยยกะ นั้น ได้แก่ ผ้าดามอื่นที่เย็บด้วยด้าย เพื่อทำให้ทนทานในที่ๆ พันคอ.
               ชังเฆยยกะ นั้น ได้แก่ ผ้าที่เย็บอย่างนั้นเหมือนกัน ในที่ๆ ปกแข้ง.
               อาจารย์บางพวกกล่าวว่า คำว่า คีเวยยกะและชังเฆยยกะ นั้นเป็นชื่อแห่งผ้าที่ตั้งอยู่ในที่แห่งคอและในที่แห่งแข้ง.
               พาหันตะ นั้น ได้แก่ ขัณฑ์อันหนึ่งๆ นอกอนุวิวัฏฏะ.
               คำว่า กุสิมฺปิ นาม เป็นอาทินี้ พระอาจารย์ทั้งหลายวิจารณ์แล้วด้วยจีวรมี ๕ ขัณฑ์ ด้วยประการฉะนี้แล.
               อีกประการหนึ่ง คำว่า อนุวิวัฏฏะ นี้เป็นชื่อแห่ง ๒ ขัณฑ์ โดยข้างอันหนึ่ง แห่งวิวัฏฏะ เป็นชื่อแห่ง ๓ ขัณฑ์บ้าง ๔ ขัณฑ์บ้างโดยข้างอันหนึ่งแห่งวิวัฏฏะ.
               คำว่า พาหันตะ นี้ เป็นชื่อแห่งชายทั้งสอง (แห่งจีวร) ที่ภิกษุห่มจีวรได้ขนาดพอดี ม้วนพาดไว้บนแขน มีด้านหน้าอยู่นอก.
               จริงอยู่ นัยนี้แล ท่านกล่าวในมหาอรรถกถา.

               ว่าด้วยไตรจีวร               
               สองบทว่า จีวเรหิ อุพฺภณฺฑิกเต มีความว่า ผู้อันจีวรทั้งหลายทำให้เป็นผู้มีสิ่งของอันตนต้องยกขึ้นแล้ว คือทำให้เป็นเหมือนชนทั้งหลายผู้ขนของ.
               อธิบายว่า ผู้อันจีวรทั้งหลายให้มาถึงความเป็นผู้มีสิ่งของอันตนต้องขน.
               จีวร ๒-๓ ผืน ที่ภิกษุซ้อนกันเข้าแล้ว พับโดยท่วงทีอย่างฟูกเรียกว่าฟูก ในบทว่า จีวรภิสึ นี้.
               ได้ยินว่า ภิกษุเหล่านั้นทำในใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจักเสด็จกลับจากทักขิณาคิรีชนบทเร็ว เมื่อจะไปในชนบทนั้น จึงได้เก็บจีวรที่ได้ในเรื่องหมอชีวกไว้แล้วจึงไป.
               ก็บัดนี้พวกเธอสำคัญว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจักเสด็จมาพร้อมด้วยจีวร จึงถือเอา (จีวร) หลีกไป.
               บทว่า อนฺตรฏฺฐกาสุ มีความว่า (ความหนาว) ได้ตั้งอยู่ในระหว่างเดือน ๓ เดือน ๔.
               หลายบทว่า น ภควนฺตํ สีตํ อโหสิ มีความว่า ความหนาวไม่ได้มีแล้วแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
               บทว่า สีตาลุกา ได้แก่ กุลบุตรผู้มีความหนาวเป็นปกติ คือผู้ลำบากด้วยความหนาว โดยปกติเทียว.
               หลายบทว่า เอตทโหสิ เยปิ โข เต กุลปุตฺตา มีความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้ประทับนั่งในกลางแจ้ง จะไม่ทรงทราบเนื้อความนี้หามิได้, แต่ได้ทรงทำอย่างนั้น เพื่อให้มหาชนยินยอม.
               สองบทว่า ทฺวิคุณํ สงฺฆาฏึ ได้แก่ สังฆาฏิ ๒ ชั้น.
               บทว่า เอกจฺจิยํ ได้แก่ ชั้นเดียว.
               เพื่อตัดโอกาสแห่งถ้อยคำที่ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยังพระอัตภาพให้เป็นไปด้วยจีวร ๔ ผืน ด้วยพระองค์เอง, แต่ทรงอนุญาตไตรจีวรแก่เราทั้งหลาย ดังนี้ จึงทรงอนุญาตสังฆาฏิ ๒ ชั้น, ทรงอนุญาตจีวรนอกนี้ชั้นเดียว.
               จริงอยู่ เมื่อเป็นเช่นนี้ จีวรของภิกษุเหล่านั้นจักเป็น ๔ ผืน ด้วยประการฉะนี้แล.
               สองบทว่า อคฺคฬํ อจฺฉุเปยฺยํ มีความว่า เราพึงดามท่อนผ้าเก่าในที่ซึ่งทะลุ.
               บทว่า อหตกปฺปานํ ได้แก่ ซักแล้วครั้งเดียว.
               บทว่า อุตุทฺธตานํ ได้แก่ เก็บไว้โดยฤดู คือโดยกาลนาน.
               มีคำอธิบายว่า ผ้าเก่าที่มีสีตกแล้ว.
               บทว่า ปาปณิเก ได้แก่ จีวรที่เก่า ที่ตกจากร้านตลาด.
               สองบทว่า อุสฺสาโห กรณีโย ได้แก่ พึงทำการแสวงหา. แต่เขตกำหนดไม่มี, จะแสวงหามาแม้ตั้งร้อยผืนก็ควร. จีวรนี้ทั้งหมด พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสำหรับภิกษุผู้ยินดี.
               วินิจฉัยในข้อว่า อคฺคฬํ ตุนฺนํ นี้ พึงทราบดังนี้ :-
               ท่อนผ้าที่ภิกษุยกขึ้นทาบให้ติดกัน ชื่อผ้าปะ.
               การเย็บเชื่อมด้วยด้าย ชื่อการชุน.
               ห่วงเป็นที่ร้อยกลัดไว้ ชื่อรังดุม. ลูกสำหรับกลัด เรียกลูกดุม.
               ทัฬหีกัมมะ นั้นได้แก่ ท่อนผ้าที่ประทับลง ไม่รื้อ (ผ้าเก่า) ทำให้เป็นชั้นรอง.

               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๒ จีวรขันธกะ พระพุทธบัญญัติห้ามใช้จีวรที่ไม่ตัดเป็นต้น จบ.
อ่านอรรถกถา 5 / 1อ่านอรรถกถา 5 / 147อรรถกถา เล่มที่ 5 ข้อ 148อ่านอรรถกถา 5 / 153อ่านอรรถกถา 5 / 261
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=5&A=3899&Z=4004
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=4867
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=4867
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๙  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :