ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถกถา เล่มที่ 5 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 5 / 5อ่านอรรถกถา 5 / 261
อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๒ จัมมขันธกะ
เศรษฐีบุตรโสณโกฬิวิสะเข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารเป็นต้น

               อรรถกถาจัมมขันธกะ               
               เรื่องพระโสณโกลิวิสเถระ               
               บทว่า อสฺสราธิปจฺจํ ได้แก่ ประกอบด้วยอิสระภาพและความเป็นใหญ่ยิ่ง.
               บทว่า รชฺชํ ได้แก่ ความเป็นพระราชา หรือกิจที่พระราชาจะพึงทรงทำ.
               วินิจฉัยในข้อว่า โสโณ นาม โกลิวิโส นี้ พึงทราบดังนี้ :-
               คำว่า โสณะ เป็นชื่อของเศรษฐีบุตรนั้น, คำว่า โกลิวิสะ เป็นโคตร.
               สองบทว่า ปาทตเลสุ โลมานิ มีความว่า ที่ฝ่าเท้าทั้งสองของเศรษฐีบุตรนั้นแดง มีขนอันละเอียดมีสีคล้ายดอกอัญชัน งดงามดังนายช่างได้ตกแต่งแล้ว.
               ได้ยินว่า ในกาลก่อน โสณเศรษฐีบุตรนั้นได้เป็นหัวหน้าของบุรุษแปดหมื่นคน พร้อมด้วยบุรุษเหล่านั้น ช่วยกันสร้างบรรณศาลาในสถานที่อยู่ของพระปัจเจกพุทธเจ้า แล้ววางผ้าปาวารขนสัตว์อย่างงามของตนทำให้เป็นผ้าเช็ดเท้า ในสถานเป็นที่เหยียบด้วยเท้าของพระปัจเจกพุทธเจ้า. และทุกๆ คนได้อุปัฏฐากพระปัจเจกพุทธเจ้าตลอดไตรมาส. นี้เป็นความประกอบบุพกรรมของโสณเศรษฐีบุตรนั้นกับบุรุษแปดหมื่นคนเท่านั้น.
               บทว่า คามิกสหสฺสานิ ได้แก่ กุลบุตรแปดหมื่น ซึ่งอยู่ในบ้านเหล่านั้น.
               สองบทว่า เกนจิเทว กรณีเยน มีความว่า คล้ายกับมีราชกิจอะไรๆ ที่ควรทำ. แต่ราชกิจเล็กน้อยที่ควรทำของท้าวเธอก็หามีไม่นอกจากเพื่อต้องการทอดพระเนตรตัวเขา.
               ได้ยินว่า พระราชาเมื่อจะให้กุลบุตรทั้งแปดหมื่นนั้นประชุมกัน ได้ให้ประชุมกันแล้วด้วยทรงเห็นอุบายว่า ด้วยอุบายอย่างนี้ โสณะจะไม่ระแวงจักมา.
               สองบทว่า ทิฏฺฐธมฺมิเก อตฺเถ มีความว่า พระเจ้าพิมพิสารทรงอนุศาสน์ประโยชน์ซึ่งเกื้อกูลในโลกนี้ โดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า การงานทั้งหลายมีกสิกรรมและพาณิชยกรรมเป็นต้น ควรทำตามธรรม มารดาบิดาควรเลี้ยงตามธรรม.
               สามบทว่า โส โน ภควา มีความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลายนั้น จักทรงพร่ำสอนท่านทั้งหลายในประโยชน์ซึ่งเป็นไปในสัมปรายภพ.
               สองบทว่า ภควนฺตํ ปฏิเวเทมิ มีความว่า เราจะทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ทรงทราบ.
               สองบทว่า ปาฏิกาย นิมฺมุชฺชิตฺวา มีความว่า ดำลงในศิลาคล้ายอัฒจันทร์ในภายใต้แห่งบันได.
               หลายบทว่า ยสฺสทานิ ภนฺเต ภควา กาลํมญฺญติ มีความว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบอยู่ซึ่งกาลแห่งประโยชน์ เพื่อทำความเกื้อกูลไรเล่าแก่ชนชาวบ้านเหล่านั้น.
               บทว่า วิหารปฺปจฺฉายายํ ได้แก่ ในร่มเงาที่ท้ายวิหาร.
               บทว่า สมนฺนาหรนฺติ ได้แก่ ทำในใจบ่อยๆ ด้วยอำนาจความเลื่อมใส.
               สองบทว่า ภิยฺโยโส มตฺตาย มีความว่า ท่านจงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์วิเศษกว่าอีก โดยประมาณยิ่งเถิด.
               บทว่า อนฺตรธายติ ได้แก่ เป็นรูปที่มองไม่เห็น.
               สองบทว่า โลหิเตน ผุฏฺโฐ ได้แก่ เป็นที่จงกรมซึ่งเปื้อนเลือด.
               บทว่า ควาฆาตนํ มีความว่า เป็นเช่นกับสถานที่ฆ่าโคทั้งหลาย.
               บทว่า กุสโล ได้แก่ ผู้ฉลาดในการดีดพิณ.
               สองบทว่า วีณาย ตนฺติสฺสเร ได้แก่ เสียงแห่งสายพิณ.
               บทว่า อจฺจายิกา ได้แก่ เป็นสายที่ขึงตึงนัก คือกวดเขม็งนัก
               บทว่า สรวตี ได้แก่ สมบูรณ์ด้วยเสียง.
               บทว่า กมฺมญฺญา ได้แก่ ควรแก่การงาน.
               บทว่า อติสิถิลา ได้แก่ เป็นสายที่หย่อนนัก.
               บทว่า สเม คุเณปติฏฺฐิตา ได้แก่ ขึงกะให้เสียงเป็นกลางๆ.
               สองบทว่า วิริยสมถํ อธิฏฺฐาหิ มีความว่า ท่านจงอธิษฐานสมถะอันสัมปยุตด้วยความเพียร. อธิษฐานว่า จงประกอบด้วยความสงบเนื่องด้วยความเพียร.
               สามบทว่า อินฺทฺริยานญฺจ สมตํ ปฏิวิชฺฌ มีความว่า จงทราบข้อที่อินทรีย์ทั้งหลายมีสัทธาเป็นต้น ต้องเป็นของเสมอๆ กัน คือเท่าๆ กัน คือจงเข้าใจข้อที่อินทรีย์ทั้งหลายที่ตนประกอบอยู่ บรรดาอินทรีย์เหล่านั้น สัทธาและปัญญา และปัญญากับสัทธา ความเพียรกับสมาธิ และสมาธิกับความเพียร ต้องพอดีๆ กัน.
               ข้อว่า ตตฺถ จ นิมิตฺตํ คณฺหาหิ มีความว่า เมื่อความสม่ำเสมอกันนั้นมีอยู่, นิมิตใดเป็นราวกะเงาในกระจกพึงเกิดขึ้น, ท่านจงถือเอานิมิตนั้น คือสมถนิมิต วิปัสสนานิมิต มรรคนิมิต ผลนิมิต ความว่า จงให้นิมิตนั้นเกิด.
               สองบทว่า อญฺญํ พฺยากเรยฺยํ มีความว่า เราพึงให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า เราเป็นอรหันต์.
               บทว่า ฉฏฺฐานานิ ได้แก่เหตุ ๖ ประการ.
               สองบทว่า อธิมุตฺโต โหติ มีความว่า เป็นผู้ตรัสรู้ คือทำให้ประจักษ์แล้วดำรงอยู่.
               บททั้งปวงว่า เนกฺขมฺมาธิมุตฺโต เป็นต้น พระโสณโกลิวิสะกล่าวด้วยอำนาจพระอรหัต. จริงอยู่ พระอรหัต เรียกว่าเนกขัมมะ เพราะออกจากกิเลสทั้งปวง, เรียกว่าวิเวก เพราะสงัดจากกิเลสเหล่านั้นเอง, เรียกว่าความไม่เบียดเบียน เพราะไม่มีความเบียดเบียน, เรียกว่าความสิ้นตัณหา เพราะเกิดขึ้นในที่สุดแห่งความสิ้นตัณหา, เรียกว่าความสิ้นอุปาทาน เพราะเกิดในที่สุดแห่งความสิ้นอุปาทาน, เรียกว่าความไม่หลงงมงาย เพราะไม่มีความหลงงมงาย.
               สองบทว่า เกวลํ สทฺธามตฺตกํ มีความว่า ท่านผู้มีอายุนี้อาศัยคุณมาตรว่าศรัทธาล้วนๆ ปราศจากปฏิเวธ คือไม่เจือปนระคนด้วยปัญญาเครื่องตรัสรู้.
               บทว่า ปฏิจยํ ได้แก่ เจริญด้วยทำซ้ำซาก.
               บทว่า วีตราคตฺตา ได้แก่ เป็นผู้ตรัสรู้พระอรหัต กล่าวคือเนกขัมมะแล้วดำรงอยู่ เพราะราคะเป็นกิเลสไปปราศแล้วด้วยตรัสรู้มรรคนั่นเอง. อธิบายว่า อยู่ด้วยธรรมสำหรับอยู่คือผลสมาบัติ คือเป็นผู้มีใจน้อมไปในผลสมาบัตินั้น.
               แม้ในบทที่เหลือ ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า ลาภสกฺการสิโลกํ ได้แก่ ความได้ปัจจัยสี่ ๑ ความที่ปัจจัยสี่เหล่านั้นและเขาทำดีต่อ ๑ ความกล่าวเยินยอ ๑.
               บทว่า นิกามยมาโน ได้แก่ ต้องการ คือปรารถนา.
               บทว่า ปวิเวกาธิมุตฺโต มีความว่า พยากรณ์อรหัตอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าน้อมไปในวิเวก.
               บทว่า สีลพฺพตปรามาสํ ได้แก่ สักว่าความถือที่ถืออิงศีลและพรต.
               บทว่า สารโต ปจฺจาคจฺฉนฺโต ได้แก่ ทราบอยู่โดยความเป็นแก่นสาร.
               บทว่า อพฺยาปชฺฌาธิมุตฺโต มีความว่า พยากรณ์อรหัตซึ่งหาความเบียดเบียนมิได้. เนื้อความในวาระทั้งปวง พึงทราบโดยนัยนี้.
               บทว่า ภุสา ได้แก่ มีกำลัง.
               หลายบทว่า เนวสฺส จิตฺตํ ปริยาทิยนฺติ มีความว่า อารมณ์เหล่านั้นไม่สามารถจะยึดจิตของพระขีณาสพนั้นตั้งอยู่ได้.
               บทว่า อมิสฺสีกตํ มีความว่า จิตของท่านอันอารมณ์ทำให้เจือด้วยกิเลสไม่ได้.
               อธิบายว่า อารมณ์ทั้งหลายย่อมทำจิตให้เป็นธรรมชาติเจือกับกิเลสทั้งหลาย เพราะไม่มีกิเลสเหล่านั้น จิตของท่านจึงชื่อว่าอันอารมณ์ทำให้เจือด้วยกิเลสไม่ได้.
               บทว่า ฐิตํ ได้แก่ ตั่งมั่น.
               บทว่า อเนญฺชปฺปตฺตํ ได้แก่ ถึงความไม่หวั่นไหว.
               บทว่า วยญฺจสฺสานุปสฺสติ ได้แก่ เห็นทั้งความเกิด ทั้งความดับแห่งจิตนั้น.
               สองบทว่า เนกฺขมฺมํ อธิมุตฺตสฺส ได้แก่ ตรัสรู้พระอรหัตตั้งอยู่. พระอรหัตนั่นเอง พระโสณโกลิวิสเถระกล่าวแล้วแม้ด้วยบทที่เหลือทั้งหลาย.
               บทว่า อุปาทานกฺขยสฺส เป็นฉัฏฐีวิภัตติใช้ในอรรถแห่งทุติยาวิภัตติ.
               สองบทว่า อสมฺโมหญฺจ เจตโส ได้แก่ และความไม่หลงงมงายแห่งจิต. ภิกษุนั้นน้อมไปแล้วด้วย.
               สองบทว่า ทิสฺวา อายตนุปฺปาทํ ได้แก่ เห็นความเกิดและความดับแห่งอายตนะทั้งหลาย.
               หลายบทว่า สมฺมา จิตฺตํ วิมุจฺจติ มีความว่า จิตย่อมหลุดพ้นด้วยอำนาจผลสมาบัติ เพราะข้อปฏิบัติเครื่องเห็นแจ้งนี้ โดยชอบคือตามเหตุตามนัย ได้แก่น้อมไปในนิพพานเป็นอารมณ์.
               บทว่า สนฺตจิตฺตสฺส ได้แก่ มีจิตเยือกเย็น.
               บทว่า ตาทิโน คือ จัดว่าผู้คงที่ เพราะไม่หวั่นไหว ด้วยความยินดียินร้าย ในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์.
               สองบทว่า อญฺญํ พฺยากโรนฺติ ได้แก่ พยากรณ์อรหัต.
               สองบทว่า อตฺโถ จ วุตฺโต มีความว่า ตนอันผู้อื่นจะทราบว่าเป็นอรหันต์ด้วยเนื้อความใด เนื้อความนั้นอันกุลบุตรทั้งหลายกล่าวแล้ว. ส่วนเนื้อความแห่งสูตร พึงถือเอาจากวรรณนาแห่งสุตตันตะเถิด.
               สองบทว่า อตฺตา จ อนุปนีโต มีความว่า ทั้งไม่น้อมตนเข้าไปด้วยอำนาจพยัญชนะอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าเป็นอรหันต์.
               หลายบทว่า อถ จ ปนิเธกจฺเจ โมฆปุริสา มีความว่า ฝ่ายบุรุษเปล่าเหล่าอื่น ทำทีเหมือนสนุก พยากรณ์อรหัตผลซึ่งไม่มีเลย ทำให้มีด้วยเหตุสักว่าถ้อยคำ.

               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๒ จัมมขันธกะ เศรษฐีบุตรโสณโกฬิวิสะเข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารเป็นต้น จบ.
อรรถกถา เล่มที่ 5 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 5 / 5อ่านอรรถกถา 5 / 261
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=5&A=1&Z=223
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=3641
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=3641
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :