ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 40 / 1อ่านอรรถกถา 40 / 496อรรถกถา เล่มที่ 40 ข้อ 505อ่านอรรถกถา 40 / 512อ่านอรรถกถา 40 / 1767
อรรถกถา มหาปัฏฐานปกรณ์ ภาค ๑
อนุโลมติกปัฏฐาน กุสลัตติกะ ปัญหาวาร อนันตรปัจจัย

               อรรถกถาอนันตรปัจจัย               
               ในอนันตรปัจจัย สองบทว่า ปุริมา ปุริมา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรวมกุศลที่เกิดในภูมิเดียวกันและต่างภูมิกัน.
               คำว่า อนุโลมเป็นปัจจัยแก่โคตรภู อนุโลมเป็นปัจจัยแก่โวทาน ตรัสด้วยอำนาจอารมณ์ที่แตกต่างกัน.
               คำว่า โคตรภูเป็นปัจจัยแก่มรรค โวทานเป็นปัจจัยแก่มรรค ตรัสด้วยอำนาจภูมิที่ต่างกัน.
               ก็คำว่า กุศล ในคำว่า กุสลํ วุฏฺฐานสฺส นี้ ได้แก่กุศลอันเป็นไปในภูมิ ๓.
               บทว่า วุฏฺฐานํ คือ วิบากอันเป็นไปในภูมิ ๓. พระโยคาวจรทั้งหลายย่อมออกจากกุศลชวนวิถีด้วยวิบากเหล่านั้น ฉะนั้น วิบากนั้นท่านจึงเรียกว่า วุฏฐานะ วุฏฐานะ นั้นมี ๒ อย่าง คือตทารัมมณะ ๑ ภวังค์ ๑.
               บรรดาวุฏฐานะเหล่านั้น แม้ทั้งสองอย่างเป็นวุฏฐานะของกามาวจรกุศล ภวังค์อย่างเดียวเป็นวุฏฐานะแห่งมหัคคตกุศล.
               คำว่า มคฺโค ผลสฺส นี้ พระองค์ตรัสแยกไว้ เพราะโลกุตตรวิบากเป็นวุฏฐานไม่ได้ เหตุที่นับเนื่องในชวนวิถี.
               สองบทว่า เสกฺขานํ อนุโลมํ ความว่า กุศลย่อมไม่เป็นอนันตรปัจจัยแก่เสขธรรม เพราะฉะนั้น จึงทรงทำการแยกไว้. บทว่า ผลสมาปตฺตยา คือ ผลสมาบัติของโสดาปัตติผล สกทาคามิผลและอนาคามิผล. บทว่า ผลสมาปตฺติยา คือ อนาคามิผลสมาบัติ. ในอกุศลจิตย่อมได้วุฏฐานวิบากทั้งสอง.
               ในคำว่า วิปากาพฺยากตา กิริยาพฺยากตา นี้ ผู้ศึกษาพึงทราบวิปากาพยากตะเฉพาะแก่วิปากาพยากตะด้วยกันเท่านั้น และกิริยาพยากตะเฉพาะแก่กิริยาพยากตะด้วยกันเท่านั้นเหมือนกัน.
               คำว่า ภวงฺคํ อาวชฺชนาย เป็นต้น ตรัสด้วยอำนาจธรรมที่เจือกัน.
               ในคำว่า กิริยา นั้น กามาวจรกิริยาเป็นอนันตรปัจจัยแก่วุฏฐานวิบากทั้งสอง มหัคคตกิริยาเป็นอนันตรปัจจัยแก่ภวังค์เท่านั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเริ่มคำว่า กุศลธรรมทั้งหลายที่เกิดก่อนๆ เป็นปัจจัยแก่กุศลธรรมที่เกิดหลังๆ ด้วยอำนาจของอนันตรปัจจัย แล้วแสดงวาระ ๗ วาระเหล่าใดไว้ในปัจจวิภังค์ในหนหลังว่า กุศลเป็นปัจจัยแก่กุศล กุศลเป็นปัจจัยแก่อัพยากตะ อกุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศล อกุศลเป็นปัจจัยแก่อัพยากตะ อัพยากตะเป็นปัจจัยแก่อัพยากตะ อัพยากตะเป็นปัจจัยแก่กุศล อัพยากตะเป็นปัจจัยแก่อกุศล (เพราะอำนาจของอนันตรปัจจัย). ในอธิการนี้ ท่านจำแนกอนันตรปัจจัยไว้โดยสังเขปด้วยอำนาจแห่งวาระเหล่านั้น แต่ว่าโดยพิสดารในอธิการนี้ บัณฑิตพึงกำหนดนิทเทส ๑๐-๑๗-๖๐ ถ้วนและมากกว่านั้นให้ดีแล.
               จริงอยู่ อนันตรปัจจัยนี้หาได้นิทเทส ๗ อย่างเดียวเท่านั้นไม่ แต่ย่อมได้นิทเทส ๑๐ อย่างนี้ คือ กุศลเป็นปัจจัยแก่กุศล ๑ แก่วิบาก ๑.
               อกุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศล ๑ แก่วิบาก ๑.
               วิบากเป็นปัจจัยแก่วิบาก ๑ แก่กิริยา ๑.
               กิริยาเป็นปัจจัยแก่กุศล ๑ แก่อกุศล ๑ แก่วิบาก ๑ แก่กิริยา ๑.
               ก็อนันตรปัจจัยนี้จะได้นิทเทสเฉพาะ ๑๐ อย่างเท่านี้ก็หามิได้ แต่ยังได้นิทเทส ๑๗ อย่าง อย่างนี้อีก คือกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศล ๑ กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑.
               อกุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศล ๑ อกุศลวิบาก ๑ กุศลวิบาก ๑.
               กุศลวิบากเป็นปัจจัยแก่กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ กิริยา ๑.
               อกุศลวิบากเป็นปัจจัยแก่อกุศลวิบาก ๑ แก่กุศลวิบาก ๑ แก่กิริยา ๑.
               กิริยาเป็นปัจจัยแก่กิริยา ๑ กุศล ๑ อกุศล ๑ กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑.
               ก็อนันตรปัจจัยนี้จะได้นิทเทสเฉพาะ ๑๗ อย่างเท่านั้นหามิได้ ยังได้นิทเทส ๖๐ ถ้วนอีก คือกุศลเป็นอนันตรปัจจัยแก่กุศล ๖ อย่าง ได้แก่ กามาวจรกุศลเป็นอนันตรปัจจัยแก่กุศลทั้ง ๔ อย่าง ตามความต่างกันแห่งภูมิ, รูปาวจรกุศลและอรูปาวจรกุศล, เป็นอนันตรปัจจัยแก่กุศลที่เกิดในภูมิของตนๆ.
               ส่วนกุศลเป็นอนันตรปัจจัยแก่วิบาก ๑๒ อย่าง คือกามาวจรกุศลเป็นปัจจัยแก่กามาวจรกุศลวิบาก, อกุศลวิบาก, รูปาวจรวิบาก, อรูปาวจรวิบาก, โลกุตตรวิบาก. รูปาวจรกุศลเป็นปัจจัยแก่รูปาวจรวิบาก กามาวจรวิบาก. อรูปาวจรกุศลเป็นปัจจัยแก่กามาวจรกุศลวิบาก, รูปาวจรวิบาก, อรูปาวจรวิบาก, โลกุตตรวิบาก, โลกุตตรกุศล เป็นปัจจัยแก่โลกุตตรวิบาก.
               อกุศลเป็นอนันตรปัจจัย ๕ อย่าง คือแก่อกุศล, อกุศลวิบาก, วิบากอันเป็นไปในภูมิ ๓.
               กามาวจรกุศลวิบากเป็นอนันตรปัจจัยแก่วิบาก ๔ อย่าง คือแก่กามาวจรกุศลวิบาก, อกุศลวิบาก, รูปาวจรวิบาก, อรูปาวจรวิบาก.
               รูปาวจรวิบากเป็นอนันตรปัจจัย ๓ อย่าง คือแก่กุศลวิบากที่เป็นไปในภูมิทั้ง ๓.
               อรูปาวจรวิบากเป็นอนันตรปัจจัย ๒ อย่าง คือแก่อรูปาวจรวิบากและกามาวจรกุศลวิบาก. โลกุตวิบากเป็นอนันตรปัจจัย ๔ อย่าง คือแก่กุศลวิบากที่เป็นไปในภูมิ ๔. กุศลวิบากเป็นอนันตรปัจจัย ๑๓ อย่างแก่วิบาก ด้วยประการฉะนี้.
               อกุศลวิบากเป็นอนันตรปัจจัย ๒ อย่าง คือแก่อกุศลวิบากและกามาวจรกุศลวิบาก. วิบากแม้ในที่ทั้งปวงเป็นอนันตรปัจจัย ๑๕ อย่างแก่วิบาก โดยประการฉะนี้.
               วิบากเป็นอนันตรปัจจัย ๔ อย่างแม้แก่กิริยา คือกามาวจรกุศลวิบากเป็นปัจจัยแก่กามาวจรกิริยา อกุศลวิบาก รูปาวจรวิบาก และอรูปวจรวิบากก็เป็นปัจจัยแก่กามาวจรกิริยาได้เหมือนกัน.
               กิริยาเป็นอนันตรปัจจัยแก่กิริยา ๕ อย่าง คือกามาวจรกิริยาเป็นปัจจัยแก่กิริยาที่เป็นไปในภูมิ ๓, รูปาวจรกิริยา อรูปาวจรกิริยา เป็นปัจจัยเฉพาะแก่กิริยาในภูมิของตนๆ.
               กิริยาเป็นอนันตรปัจจัยแก่วิบาก ๑๑ อย่าง คือกามาวจรกิริยาเป็นปัจจัยแก่อกุศลวิบากและกุศลวิบากที่เป็นไปในภูมิทั้ง ๔, รูปาวจรกิริยาเป็นปัจจัยแก่กามาวจรกุศลวิบาก และรูปาวจรวิบาก, อรูปาวจรกิริยาเป็นปัจจัยแก่กุศลวิบากที่เป็นไปในภูมิ ๔.
               ส่วนกามาวจรกิริยาเป็นอนันตรปัจจัย ๒ อย่างแก่กุศลและอกุศล คือแก่กามาวจรกุศลและอกุศล.
               อนันตรปัจจัยย่อมได้นิทเทส ๖๐ ถ้วน ด้วยประการฉะนี้.
               อนันตรปัจจัยนี้จะได้นิทเทส ๖๐ ถ้วนเท่านี้ก็หาไม่ ยังได้นิทเทสแม้อีกมากอย่าง คือกามาวจรมหากุศลจิตดวงที่ ๑ เป็นอนันตรปัจจัยแก่จิต ๕๓ ดวง คือแก่ตนเอง แก่รูปาวจรกุศล ๔ ดวง โลกุตตรกุศลโสมนัส ๑๖ ดวง เพราะประกอบโดยเป็นบาท.
               รวมความว่า เป็นปัจจัยแก่กุศลจิต ๒๑ ดวงเป็นปัจจัยแก่วิบากอีก ๓๒ ดวง คือแก่กามาวจรวิบาก ๑๑ ดวง ที่เกิดด้วยอำนาจตทารัมมณะ และแก่ภวังค์ในที่สุดแห่งชวนะ แก่รูปาวจรวิบากและอรูปาวจรวิบากเป็นไปด้วยอำนาจภวังค์อย่างเดียว แก่โลกุตตรวิบาก ๑๒ ที่เป็นไปด้วยอำนาจผลสมาบัติ.
               กุศลจิตดวงที่ ๒ ก็เหมือนกัน. ส่วนดวงที่ ๓ และที่ ๔ ย่อมเป็นอนันตรปัจจัยแก่จิต ๒๑ ดวงที่เหลือ เว้นกุศลที่เกิดในภูมิสูงๆ ขึ้นไป และโลกุตตรวิบาก.
               มหากุศลจิตดวงที่ ๕ และที่ ๖ เป็นอนันตรปัจจัยแก่จิต ๓๓ ดวง คือแก่ตนเอง แก่กุศลจิตที่สหรคตด้วยอุเบกขาซึ่งเกิดในภูมิสูงๆ ขึ้นไป ๙ ดวง และแก่วิบากจิต ๒๓ ดวง.
               มหากุศลจิตดวงที่ ๗ และที่ ๘ เป็นอนันตรปัจจัยแก่จิต ๒๑ ดวงเท่านั้น.
               รูปาวจรกุศลจิต ๕ เป็นอนันตรปัจจัยแก่จิต ๑๐ ดวง คือแก่รูปาวจรกุศลที่เกิดภายหลังตน ๑ แก่มหาวิบากญาณสัมปยุต ๔ ดวง และแก่รูปาวจรวิบาก ๕ ดวง.
               โดยนัยนี้แหละ บรรดาอรูปาวจรกุศลทั้งหลาย ดวงที่ ๑ เป็นอนันตรปัจจัยแก่จิต ๑๑ ดวง พร้อมกับวิบากของตน.
               อรูปาวจรกุศลดวงที่ ๒ เป็นอนันตรปัจจัยแก่จิต ๑๒ ดวง.
               อรูปาวจรกุศลดวงที่ ๓ เป็นอนันตรปัจจัยแก่จิต ๑๓ ดวง.
               อรูปาวจรกุศลดวงที่ ๔ เป็นอนันตรปัจจัยแก่จิต ๑๕ ดวง คือจิต ๑๔ ดวงและผลสมาบัติ ๑ ดวง.
               โลกุตตรกุศล เป็นอนันตรปัจจัยเฉพาะแก่วิบากของๆ ตน เท่านั้น.
               บรรดาจิตที่สหรคตด้วยโลภะ ๘ ดวง อกุศลจิตดวงหนึ่งๆ เป็นปัจจัยแก่จิต ๒๑ ดวง คือกามาวจรวิบากมโนวิญญาณธาตุ ๑๑ ดวง มหัคคตวิบาก ๙ ดวง และแก่ตนเองที่เกิดภายหลัง ๑.
               จิตที่สหรคตด้วยโทสะ ๒ ดวงเป็นอนันตรปัจจัยแก่จิต ๗ ดวง คือกามาวจรวิบากมโนวิญญาณธาตุ ๖ ดวง ซึ่งสหรคตด้วยอุเบกขาและแก่ตนเองที่เกิดภายหลัง ๑.
               จิตที่สหรคตด้วยวิจิกิจฉาและอุทธัจจะ เป็นอนันตรปัจจัยแก่จิต ๒๑ ดวง คือกามาวจรวิบากมโนวิญญาณธาตุ ๑๑ ดวง พร้อมกับอเหตุกวิบากที่สหรคตด้วยโสมนัสมหัคคตวิบาก ๙ และแก่ตนเองที่เกิดภายหลัง ๑.
               ปัญจวิญญาณฝ่ายกุศลวิบาก เป็นอนันตรปัจจัยแก่มโนธาตุฝ่ายกุศลวิบาก.
               มโนธาตุเป็นอนันตรปัจจัยแก่มโนวิญญาณธาตุฝ่ายวิบาก ๒ ดวง. บรรดามโนวิญญาณธาตุฝ่ายวิบาก ๒ ดวงนั้น ดวงที่สหรคตด้วยโสมนัสเป็นอนันตรปัจจัยแก่จิต ๑๒ ดวง คือมโนวิญญาณธาตุฝ่ายวิบาก ๑๐ ดวงที่ทำหน้าที่เป็นภวังค์ แก่ตนเองที่เกิดภายหลังตนในเวลาเป็นตทารัมมณะและแก่โวฏฐัพพนกิริยา.
               ส่วนอเหตุกมโนวิญญาณธาตุที่สหรคตด้วยอุเบกขา เป็นอนันตรปัจจัยแก่จิต ๑๒ ดวงเหมือนกัน คือแก่อาวัชชนมโนธาตุ อาวัชชนมโนวิญญาณธาตุที่มีฐาน ๒ และวิบากมโนวิญญาณธาตุ ๑๐.
               มหาวิบากที่เป็นติเหตุกะ เป็นปัจจัยแก่จิต ๒๑ ดวง คือแก่มโนวิญญาณธาตุฝ่ายวิบากที่เป็นกามาวจร ๑๐ เว้นโสมนัสสันตีรณะ รูปาวจรวิบาก อรูปาวจรวิบาก และอาวัชชนจิตทั้งสอง.
               ทุเหตุวิบากเป็นอนันตรปัจจัยแก่จิต ๑๒ ดวง ที่เหลือเว้นมหัคคตวิบาก.
               รูปาวจรวิบาก ๕ เป็นอนันตรปัจจัยแก่จิต ๑๙ ดวง คือแก่สเหตุกกุศลวิบากปฏิสนธิจิต อันเป็นไปในภูมิทั้งสาม ๑๗ ดวงและอาวัชชนจิต ๒.
               ในบรรดาอรูปาวจรวิบาก อรูปาวจรวิบากจิตดวงที่ ๑ เป็นอนันตรปัจจัยแก่จิต ๙ ดวง คือติเหตุกปฏิสนธิฝ่ายกุศลวิบากชั้นกามาวจร ๔ อรูปาวจรวิบาก ๔ และมโนทวาราวัชชนจิต ๑.
               อรูปาวจรวิบากจิตดวงที่ ๒ เป็นอนันตรปัจจัยแก่จิต ๘ ดวง เว้นวิบากชั้นต่ำกว่าเสียหนึ่งดวง.
               อรูปาวจรวิบากจิตดวงที่ ๓ เป็นอนันตรปัจจัยแก่จิต ๗ ดวง เว้นวิบากที่ต่ำกว่า ๒ ดวง.
               อรูปาวจรวิบากจิตดวงที่ ๔ เป็นปัจจัยแก่จิต ๖ ดวง เว้นวิบากเบื้องต่ำ ๓ ดวง.
               โลกุตตรวิบาก ๔ ดวงเป็นอนันตรปัจจัยแก่จิต ๑๔ ดวง คือติเหตุกวิบาก ๑๓ ดวงและแก่ตนเองที่เกิดภายหลัง ๑. ปัญจวิญญาณฝ่ายอกุศลวิบาก เป็นอนันตรปัจจัยแก่อกุศลวิบากมโนธาตุ. มโนธาตุเป็นอนันตรปัจจัยแก่อเหตุกมโนวิญญาณธาตุฝ่ายอกุศลวิบาก. อเหตุกมโนวิญญาณธาตุฝ่ายอกุศลวิบากนั้นเป็นอนันตรปัจจัยแก่จิต ๑๒ ดวง คือแก่ตนเองที่เกิดภายหลัง ในเวลาเป็นตทารัมมณะ กามาวจรวิบาก ๙ ที่เป็นไปด้วยอำนาจปฏิสนธิและภวังค์ในจุติกาล และกามาวจรกิริยา ๒ ดวงที่สหรคตด้วยอุเบกขา.
               กิริยามโนธาตุเป็นปัจจัยแก่ทวิปัญญาวิญญาณจิต ๑๐.
               หสิตุปปาทกิริยาเป็นอนันตรปัจจัยแก่จิต ๑๓ ดวง โดยไม่นับที่ซ้ำ คือแก่ติเหตุกวิบาก ๙ ที่เป็นไปด้วยอำนาจภวังค์ในปัญจโวการภพและแก่วิบากที่สหรคตด้วยโสมนัส ๕ ที่เป็นไปด้วยอำนาจตทารัมณะ และแก่ตนเองที่เกิดภายหลัง.
               โวฏฐัพพนกิริยาเป็นปัจจัยแก่จิต ๔๕ ดวง คือกามาวจรกิริยา ๑๐ เว้นกิริยามโนธาตุ กามาวจรกุศล ๘ อกุศล ๑๒ และวิบากจิต ๑๕ ที่เป็นไปด้วยอำนาจภวังค์ในปัญจโวการภพ.
               กามาวจรติเหตุกกิริยาที่สหรคตด้วยโสมนัส ๒ ดวงเป็นอนันตรปัจจัยแก่จิต ๒๕ ดวง ที่นับแล้วไม่นับซ้ำอีก คือแก่ติเหตุกวิบาก ๑๓ ที่เป็นไปด้วยอำนาจภวังค์ โสมนัสสหรคตวิบาก ๕ ด้วยอำนาจตทารัมณะ รูปาวจรกิริยา ๔ ที่เป็นไปด้วยอำนาจบริกรรม อรหัตตผลสมาบัติที่สหรคตด้วยโสมนัส ๔ ด้วยอำนาจแห่งอรหัตตผลสมาบัติ และแก่ตนเองที่เกิดภายหลัง ๑.
               ทุเหตุกโสมนัสสหรคตกิริยา ๒ ดวง เป็นอนันตรปัจจัยแก่จิต ๑๗ ดวง โดยไม่นับที่ซ้ำกัน คือแก่ภวังคจิต ๑๓ ตามที่กล่าวแล้ว ตทารัมมณะ ๕ และแก่ตนเองที่เกิดภายหลัง ๑.
               กามาวจรติเหตุกอุเบกขาสหรคตกิริยา ๒ ดวง เป็นอนันตรปัจจัยแก่จิต ๒๔ ดวง โดยไม่นับที่ซ้ำกัน คือแก่ภวังคจิต ๑๓ ดวงเหล่านั้นนั่นแหละ อุเบกขาสหรคตวิบาก ๖ ที่เป็นไปด้วยอำนาจตทารัมณะ รูปาวจรกิริยา ๑ ที่เป็นไปด้วยอำนาจบริกรรม อรูปาวจรกิริยา ๔ อรหัตตผลสมาบัติ ๑ และแก่ตนเองที่เกิดภายหลัง ๑.
               ทุเหตุกอุเบกขาสหรคตกิริยา ๒ เป็นอนันตรปัจจัยแก่จิต ๑๘ ดวงโดยไม่นับที่ซ้ำ คือแก่ภวังคจิต ๑๓ เหล่านั้นด้วย แก่ตทารัมมณจิต ๖ และแก่ตนเองที่เกิดภายหลัง ๑.
               บรรดารูปาวจรกิริยาดวงหนึ่งๆ เป็นอนันตรปัจจัยแก่จิต ๑๐ ดวง คือติเหตุกภวังค์ในปัญจโวการภพ ๙ ดวง และแก่ตนเองที่เกิดภายหลัง ๑ ดวง.
               บรรดาอรูปาวจรกิริยาจิตทั้งหลาย
               อรูปาวจรกิริยาจิตดวงที่ ๑ เป็นอนันตรปัจจัยแก่จิต ๑๑ ดวง คือภวังคจิต ๙ ดวงในปัญจโวการภพ อีก ๑ ดวงในจตุโวการภพ และแก่ตนเองที่เกิดภายหลัง ๑ ดวง.
               อรูปาวจรกิริยาจิตดวงที่ ๒ ย่อมได้ภวังคจิต ๒ ดวง ในจตุโวการภพ.
               อรูปาวจรกิริยาจิตดวงที่ ๓ ได้ ๓ ดวง.
               อรูปาวจรกิริยาจิตดวงที่ ๔ ย่อมได้ภวังจิต ๔ ดวง และผลสมาบัติอีก ๑ ดวง.
               บรรดาอรูปาวจรกิริยาเหล่านั้น ดวงหนึ่งๆ เป็นอนันตรปัจจัยแก่จิต ๑๑-๑๒-๑๓ และ ๑๕ ดวง ตามลำดับดังนี้แล. อนันตรปัจจัยย่อมได้นิทเทสแม้หลายอย่างด้วยประการฉะนี้. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า บัณฑิตควรกำหนดนิทเทส ๑๐-๑๗-๖๐ และแม้มากหลาย (ของอนันตรปัจจัย) ให้ดี.
               สมนันตรปัจจัยเป็นต้น มีเนื้อความกระจ่างแล้ว.

               อรรถกถาอนันตรปัจจัย จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มหาปัฏฐานปกรณ์ ภาค ๑ อนุโลมติกปัฏฐาน กุสลัตติกะ ปัญหาวาร อนันตรปัจจัย จบ.
อ่านอรรถกถา 40 / 1อ่านอรรถกถา 40 / 496อรรถกถา เล่มที่ 40 ข้อ 505อ่านอรรถกถา 40 / 512อ่านอรรถกถา 40 / 1767
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=40&A=5962&Z=5990
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=55&A=11360
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=55&A=11360
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๙  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :