ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 40 / 1อ่านอรรถกถา 40 / 25อรรถกถา เล่มที่ 40 ข้อ 26อ่านอรรถกถา 40 / 56อ่านอรรถกถา 40 / 1767
อรรถกถา มหาปัฏฐานปกรณ์ ภาค ๑
อนุโลมติกปัฏฐาน กุสลัตติกะ ปฏิจจวาร

               อรรถกถาปัณณัตติวาระ               
               (ว่าด้วยการตั้งชื่อ)               
               (บาลีอรรถกถาหน้า ๕๒๙-๕๕๒)               
               คำว่า ติกปัฏฐาน ทุกปัฏฐาน ฯลฯ ทุกทุกปัฏฐาน นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในปัฏฐานมหาปกรณ์ อันเป็นที่รวมแห่งสมันตปัฏฐาน ๒๔ ด้วยอำนาจติกปัฏฐานเป็นต้น ในบรรดาปัฏฐานทั้งหลายมีอนุโลมปัฏฐานเป็นต้น ดังกล่าวมาแล้ว โดยทรงอาศัยติกปัฏฐานเป็นต้นเหล่าใด ขยายความติกปัฏฐานเป็นต้นเหล่านั้น ทรงจำแนกปัฏฐานเหล่านั้นมีติกปัฏฐานเป็นต้น ด้วยอำนาจปัจจัยเหล่าใด ครั้นทรงแสดงเฉพาะปัจจัยเหล่านั้น ไม่พาดพิงถึงติกปัฏฐานเป็นต้นเหล่านั้น ทั้งโดยอุทเทสและนิทเทสด้วยวาระ กล่าวคือการจำแนกปัจจัยโดยการตั้งหัวข้อนี้ก่อนแล้ว เพราะพระองค์ทรงอาศัยติกปัฏฐานเป็นต้นเหล่าใด จึงตรัสคำว่า ติกปัฏฐาน ทุกปัฏฐาน ฯลฯ ทุกทุกปัฏฐาน บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงติกปัฏฐานเป็นต้นเหล่านั้น ให้พิสดารด้วยอำนาจปัจจัยเหล่านี้ จึงทรงอาศัยติกะและทุกะหนึ่งๆ แต่งเทศนาด้วยวาระใหญ่ ๗. ชื่อแห่งวาระใหญ่ ๗ เหล่านั้นคือ ปฏิจจวาระ สหชาตวาระ ปัจจยวาระ นิสสยวาระ สังสัฏฐวาระ สัมปยุตตวาระ ปัญหาวาระ.
               บรรดาวาระ ๗ เหล่านั้น วาระที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสด้วยพระดำรัสว่า ปฏิจฺจ (อาศัย) อย่างนี้ว่า กุสลํ ธมฺมํ ปฏิจฺจ กุสโล ธมฺโม ชื่อว่าปฏิจจวาระ.
               ที่ตรัสด้วยอำนาจพระดำรัสว่า สหชาโต อย่างนี้ว่า กุสลํ ธมฺมํ สหชาโต กุสโล ธมฺโม ชื่อว่าสหชาตวาระ. สหชาตวาระนั้นว่าโดยเนื้อความแล้ว ไม่ต่างจากปฏิจจวาระที่กล่าวมาก่อน. แต่วาระที่หนึ่ง ตรัสด้วยอำนาจเวไนยสัตว์ ที่จะตรัสรู้ด้วยอำนาจพระดำรัสว่าปฏิจจะ. วาระที่สองตรัสด้วยอำนาจเวไนยสัตว์ผู้จะตรัสรู้ด้วยอำนาจพระดำรัสว่าสหชาตะ. ก็ในวาระทั้งสองนี้ ผู้ศึกษาพึงทราบปัจจัยทั้งหลายโดยเฉพาะและปัจจยุบบันธรรม ด้วยอำนาจรูปธรรมและอรูปธรรม. ก็แลปัจจัยและปัจจยุบบันธรรมเหล่านั้น ได้เฉพาะที่เกิดพร้อมกันเท่านั้น ที่เกิดก่อนหรือเกิดภายหลังย่อมไม่ได้.
               วาระที่ตรัสด้วยอำนาจพระดำรัสว่า ปจฺจยา อย่างนี้ว่า กุสลํ ธมฺมํ ปจฺจยา กุสโล ธมฺโม ชื่อว่าปัจจยวาระ แม้ปัจจวาระนั้น ผู้ศึกษาพึงทราบด้วยอำนาจแห่งรูปธรรมและอรูปธรรม เหมือนสองวาระก่อน. อนึ่ง แม้ปุเรชาตปัจจัยก็ย่อมได้ในอธิการนี้. นี้เป็นความแปลกกันแห่งปัจจัยวาระกับสองวาระก่อน.
               วาระต่อจากนั้นที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยอำนาจพระดำรัสว่า นิสฺสาย อย่างนี้ว่า กุสลํ ธมฺมํ นิสฺสาย กุสโล ธมฺโม ชื่อว่านิสสยวาระ. นิสสยวาระนั้นโดยใจความไม่ต่างจากปัจจัยวาระที่กล่าวมาก่อน แต่ว่าวาระที่หนึ่งตรัสด้วยอำนาจสัตว์ ผู้จะตรัสรู้ ด้วยอำนาจพระดำรัสว่า ปัจจยะ ที่สองตรัสด้วยอำนาจสัตว์ผู้จะตรัสรู้ ด้วยอำนาจพระดำรัสว่านิสสยะ.
               ต่อจากนั้น ที่ตรัสด้วยอำนาจพระดำรัสว่า สํสฏฺโฐ อย่างนี้ว่า กุสลํ ธมฺมํ สํสฏโฐ กุสโล ธมฺโม ชื่อว่าสังสัฏฐวาระ.
               วาระที่ตรัสด้วยอำนาจพระดำรัสว่า สมฺปยุตฺโต อย่างนี้ว่า กุสลํ ธมฺมํ สมฺปยุตฺโต กุสโล ธมฺโม ชื่อว่าสัมปยุตตวาระ. สัมปยุตตวาระนั้น โดยเนื้อความไม่ต่างจากสังสัฏฐวาระ. วาระที่หนึ่ง ตรัสด้วยอำนาจเวไนยสัตว์ผู้จะตรัสรู้ด่วยอำนาจพระดำรัสว่าสังสัฏฐะ วาระที่สองตรัสด้วยพระดำรัสว่าสัมปยุตตะ. ก็ในสองวาระนี้ ผู้ศึกษาพึงทราบปัจจัยและปัจจยุบบันธรรม ด้วยอำนาจแห่งอรูปธรรมเท่านั้น.
               ส่วนในวาระที่ ๗ เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกปัญหานั้นขึ้นโดยนัยเป็นต้นว่า กุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่กุศลธรรมด้วยเหตุปัจจัย แล้ว ทรงจำแนกปัญหาเหล่านั้นทั้งหมดไม่ให้สับสน ไม่ให้คลุมเครืออีกโดยนัยเป็นต้นว่า กุศลเหตุเป็นปัจจัยแก่ขันธ์ที่สัมปยุต ด้วยเหตุปัจจัย ฉะนั้น วาระนั้นจึงชื่อว่าปัญหาวาระ เพราะทรงจำแนกปัญหาทั้งหลายไว้ดีแล้ว.
               ก็ในอธิการนี้ พึงทราบปัจจัยและปัจจยุบบัน ด้วยอำนาจแห่งรูปธรรมและอรูปธรรม.
               บรรดาวาระเหล่านั้น วาระที่หนึ่งที่ชื่อว่าปฏิจจวาระนั้นใด วาระนั้นมีสองอย่างคือโดยอุทเทสและนิทเทส. ในสองอย่างนั้น อุทเทสวาระที่หนึ่งเรียกว่าปุจฉาวาระ บ้าง.
               แม้คำว่าปัณณัติวาระก็เป็นชื่อแห่งอุทเทสวาระนั้นเอง.
               จริงอยู่ วาระนั้นชื่อว่าอุทเทสวาระ เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยกุศลเป็นต้น แล้วยกกุศลเป็นต้นนั้นแสดงด้วยอำนาจแห่งเหตุปัจจัยเป็นต้น. ชื่อว่าปุจฉาวาระ เพราะทรงอาศัยกุศลเป็นต้น ตรัสถามถึงการเกิดขึ้นแห่งกุศลเป็นต้น ด้วยอำนาจเหตุปัจจัยเป็นต้น. แม้วาระนั้น ก็ตรัสว่าปัณณัตติวาระ เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยกุศลเป็นต้น แล้วให้ทราบถึงการเกิดขึ้นแห่งกุศลเป็นต้น ด้วยอำนาจเหตุปัจจัยเป็นต้น. ในข้อนั้นมีปริกัปปปุจฉาว่า กุศลธรรมพึงอาศัยกุศลธรรมเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยหรือ?
               ก็ในปริกัปปปุจฉานี้มีใจความดังนี้ กุศลธรรมใดพึงเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย กุศลธรรมนั้นต้องอาศัยกุศลธรรมหรือ. อีกอย่างหนึ่ง ในอธิการนี้มีใจความดังนี้ว่า กุศลธรรมใด พึงอาศัยกุศลธรรมเกิดขึ้น กุศลธรรมนั้นพึงมีเพราะเหตุปัจจัยหรือ?
               ศัพท์ว่า ปฏิ ในคำว่า ปฏิจฺจ เป็นไปในอรรถว่า เหมือนกัน เช่น บุคคลเหมือนกันเรียกว่าปฏิบุคคล ส่วนเท่ากันเรียกว่าปฏิภาค.
               คำว่า อิจฺจ นั่นกล่าวถึงความขวนขวายในการไป. ครั้นพูดรวมกันทั้งสองศัพท์จึงมีอธิบายว่า บทว่า ปฏิจฺจ ความว่า เป็นไปเท่าเทียมกัน คือดำเนินไปโดยความเป็นธรรมที่ทัดเทียมกัน กล่าวคือเกิดขึ้นพร้อมกัน. อธิบายว่า เข้าถึงภาวะ คือการเกิดขึ้นพร้อมกับปัจจัยนั้น.
               สองบทว่า กุสโล ธมฺโม พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมตรัสถามว่า กุศลธรรมพึงอาศัยกุศลธรรมเกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัยโดยภาวะคือการเกิดขึ้นพร้อมกัน อย่างนั้นหรือ.
               อีกนัยหนึ่ง บทว่า ปฏิจฺจ ความว่า ทำให้เป็นปัจจัย. ก็การทำให้เป็นปัจจัยนั้น ย่อมได้ทั้งในปุเรชาตปัจจัยและสหชาตปัจจัย ในที่นี้ประสงค์เอาสหชาตปัจจัย.
               แม้ในคำว่า สิยา กุสลํ ธมฺมํ ปฏิจฺจ อกุสโล ธมฺโม เป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ในคำว่า สิยา กุสลํ ธมฺมํ ปฏิจฺจ อกุสโล ธมฺโม เป็นต้นนั้น อกุศลธรรมอาศัยกุศลธรรมเกิดขึ้น ด้วยอำนาจสหชาตปัจจัยไม่มีก็จริง. แต่ปัจจัยใดที่พระองค์วิสัชนาอยู่ ย่อมได้โดยเนื้อความและไม่ได้โดยเนื้อความในปุจฉาวาระนี้ ปัจจัยนั้นทั้งหมด พระองค์ทรงยกขึ้นด้วยอำนาจปุจฉา. ส่วนในการวิสัชนาข้างหน้า ปัจจัยใดที่ไม่ได้วิสัชนา ทรงละปัจจัยนั้นเสีย ปัจจัยใดได้วิสัชนา ทรงวิสัชนาเฉพาะปัจจัยนั้นเท่านั้น. ผู้ศึกษาครั้นทราบอรรถแห่งปุจฉาและแนวทางแห่งปุจฉาในอธิการนี้ ดังกล่าวมาแล้ว บัดนี้พึงทราบการกำหนดปุจฉาด้วยอำนาจการคำนวณต่อไป.
               ก็ในคำว่า กุสลํ ธมฺมํ ปฏิจฺจ นี้ ปุจฉามี ๓ คือ ที่มีกุศลบท เป็นบทต้นมีกุศล อกุศลและอัพยากตะเป็นอวสานบท ปุจฉาอีก ๓ คือมีกุศลบทนั่นแหละเป็นต้น มีการจำแนกโดยทุกะ ด้วยสามารถแห่งกุศลและอัพยากตะเป็นต้น เป็นอวสานบท ปุจฉาอีก ๑ คือมีกุศลบทนั้นนั่นแหละเป็นบทต้น มีติกะเป็นอวสานบท. ปุจฉา ๗ ที่มีกุศลบทเป็นบทต้น ในคำว่า กุสลํ ธมฺมํ ปฏิจฺจ ดังนี้ ย่อมมีโดยประการอย่างนี้ ปุจฉาที่มีอกุศลเป็นบทต้น มีอัพยากตบทเป็นบทต้น มีกุสลาพยากตบทเป็นบทต้น มีอกุสลาพยากตบทเป็นบทต้น มีกุสลากุศลบทเป็นบทต้น มีกุสลากุสลาพยากตะเป็นบทต้น ก็เหมือนกัน.
               ปุจฉาแม้ทั้งหมดในเหตุปัจจัยมี ๔๙ ข้อ อาศัยกุศลติกะ ด้วยอำนาจบทต้น (คือกุศลบทเป็นต้น) ๗ บทๆ ละ ๗ ปุจฉา ในอธิการนี้พึงทราบปุจฉาเหล่านั้น แม้ด้วยสามารถแห่งมูลและอวสานอย่างนี้ คือปุจฉา ๙ มีมูลบท ๑ มีอวสานบท ๑, ปุจฉา ๙ มีมูลบท ๑ มีอวสานบท ๒, ปุจฉา ๓ มีมูลบท ๑ มีอวสานบท ๓, ปุจฉา ๙ มีมูลบท ๒ มีอวสานบท ๑, ปุจฉา ๙ มีมูลบท ๒ มีอวสานบท ๒, ปุจฉา ๓ มีมูลบท ๒ มีอวสานบท ๓, ปุจฉา ๓ มีมูลบท ๓ มีอวสานบท ๑, ปุจฉา ๓ มีมูลบท ๓ มีอวสานบท ๒, ปุจฉา ๑ มีมูลบท ๓ มีอวสานบท ๓. แม้ในอารัมมณปัจจัยเป็นต้น ก็มีปุจฉา ๔๙ ข้อ เหมือนในเหตุปัจจัยนั้นนั่นแหละ. ในปัจจัย ๒๔ ปัจจัยแม้ทั้งหมด
               ในนัยที่มีมูลบท ๑ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประมวลปุจฉาไว้รวม ๑,๑๗๖ ข้อ.
               ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเริ่มนัยที่มีมูลสองว่า เหตุปจฺจยา อารมฺมณปจฺจยา เป็นต้น. ในนัยที่มีมูลสองนั้น มีทุกะ ๒๓ ทุกะพร้อมกับเหตุปัจจัย คือเหตารัมมณทุกะ ฯลฯ เหตาวิคตทุกะ. แม้ในเหตารัมมณทุกะก็มีปุจฉา ๔๙ ข้อ เหมือนเหตุปัจจัย. บรรดาปุจฉาเหล่านั้นทรงแสดงไว้ในบาลีสองข้อเท่านั้น. แม้ในเหตาธิปติทุกะเป็นต้นก็มีปุจฉา ๔๙ ข้อ เหมือนในเหตารัมมณทุกะ.
               บรรดาทุกะเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงทุกกะ ๓ ทุกะตามลำดับ คือเหตาธิปติทุกะ เหตานันตรทุกะ เหตุสมนันตรทุกะ ด้วยอำนาจแห่งปุจฉาที่หนึ่งแล้ว ทรงแสดงเหตาวิคตทุกะเป็นที่สุด คำที่เหลือทรงย่อไว้.
               ก็ผู้ศึกษาพึงทราบการกำหนดปุจฉาในอธิการนี้อย่างนี้ คือ
               ในทุกมูลกนัย ในเพราะทุกะ ๒๓ ทุกะ จึงมีปุจฉา ๑,๑๒๗ ข้อ.
               ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเริ่มติมูลกนัยว่า เหตุปจฺจยา อารมฺมณปจฺจยา อธิปติปจฺจยา เป็นต้น. ในติมูลกนัยนั้น มีติกะ ๒๒ ติกะ ด้วยอำนาจการเชื่อมปัจจัยหนึ่งๆ ในปัจจัย ๒๒ มีอธิปติปัจจัยเป็นต้น กับเหตารัมมณทุกะ.
               บรรดาติกะเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงติกะที่ ๑ และติกะที่ ๒ ด้วยอำนาจแห่งปุจฉาที่หนึ่งแล้วจึงทรงแสดงติกะในที่สุด. คำที่เหลือทรงย่อไว้ในทุกะ ฉันใด แม้ในติกะก็ฉันนั้น ทรงจัดปุจฉา ๔๙ ข้อ เข้าในติกะหนึ่งๆ.
               ในติมูลกนัย ในติกะ ๒๒ ทั้งหมด จึงมีปุจฉา ๑,๐๗๘ ข้อ โดยจำนวน.
               ต่อจากนั้นทรงเริ่มนัยที่มีมูล ๔ ว่า เหตุปจฺจยา อารมฺมณปจฺจยา อธิปติปจฺจยา อนนฺตรปจฺจยา เป็นต้น ในนัยที่มีมูล ๔ นั้นมีจตุกกะ ๒๑ หมวด ด้วยอำนาจการเชื่อมปัจจัย ๑ กับปัจจัย ๑ ในบรรดาปัจจัย ๒๑ มีอนันตรปัจจัยเป็นต้น กับติกะที่หนึ่ง. บรรดาจตุกกะเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ๒ จตุกกะแล้ว ย่อจตุกกะที่เหลือไว้. เพราะจัดปุจฉา ๔๙ ข้อ เข้าในจตุกกะหนึ่งๆ แม้ในอธิการนี้.
               ในจตุมูลกนัย ในจตุกกะ ๒๑ ทั้งหมด จึงมีปุจฉา ๑,๐๒๙ ข้อ โดยการคำนวณ.
               ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเทศนาเริ่มแต่ปัญจมูลกนัยเป็นต้น จนถึงสัพพมูลกนัย. นัยที่ทรงย่อไว้ที่ตรัสแล้วในหนหลัง และจะพึงตรัสต่อไปข้างหน้าทั้งหมดนั้น ทรงกระทำให้เป็นแบบเดียวกัน แล้วแสดงไว้ในบาลีว่า เอกมูลกนัย ทุมูลกนัย ติมูลกนัย จตุมูลกนัย ปัญจมูลกนัย สัพพมูลกนัย อันผู้ไม่งมงาย พึงให้พิสดาร.
               ในเอกมูลกนัยเป็นต้นนั้น คำที่ควรกล่าวข้าพเจ้าได้กล่าวไว้เรียบร้อยแล้ว. ส่วนในปัญจมูลกนัย มีปัจจัยหมวดละ ๕ รวมปัญจกะ ๒๐ หมวดถ้วน ด้วยอำนาจการเชื่อมปัจจัยหนึ่งๆ ในปัจจัย ๒๐ ถ้วน มีสมนันตรปัจจัยเป็นต้น กับจตุกกะก่อน (คือที่กล่าวมาก่อน ๔ ปัจจัยในจตุมูลกนัย) เพราะจัดปุจฉา ๔๙ ข้อ เข้าในปัญจกะหนึ่งๆ ในปัญจกะเหล่านั้น
               ในปัญจมูลกนัย จึงมีปุจฉา ๙๘๐ ข้อ โดยการคำนวณ.
               ในฉมูลกนัย มีปัจจัยหมวดละ ๖ รวม ๑๙ หมวด ด้วยอำนาจการเชื่อมปัจจัยหนึ่งๆ ในบรรดาปัจจัย ๑๙ มีสหชาตปัจจัยเป็นต้น กับปัญจกะก่อน. เพราะจัดปุจฉา ๔๙ ข้อ เข้าในปัจจัยหนึ่งๆ ในฉักกะเหล่านั้น
               ในฉมูลกนัย จึงมีปุจฉา ๙๓๑ ข้อ โดยการคำนวณ.
               ในสัตตมูลกนัย มีปัจจัยหมวดละ ๗ รวม ๑๘ หมวด ด้วยอำนาจการเชื่อมปัจจัยหนึ่งๆ ในบรรดาปัจจัย ๑๘ มีอัญญมัญญปัจจัย เป็นต้น กับฉักกะก่อน เพราะจัดปุจฉา ๔๙ ข้อ เข้าในสัตตกะหนึ่งๆ ในบรรดาสัตตกะเหล่านั้น
               ในสัตตมูลกนัย จึงมีปุจฉา ๘๘๒ ข้อ โดยการคำนวณ.
               ในอัฏฐมูลกนัย มีปัจจัยหมวดละ ๘ รวม ๑๗ หมวด ด้วยอำนาจการเชื่อมปัจจัยหนึ่งๆ ในบรรดาปัจจัย ๑๗ มีนิสสยปัจจัยเป็นต้น กับสัตตกะก่อน เพราะจัดปุจฉา ๔๙ ข้อ เข้าในอัฏฐกะหนึ่งๆ ในบรรดาอัฏฐกะเหล่านั้น
               ในอัฏฐมูลกนัย จึงมีปุจฉา ๘๓๓ ข้อ โดยการคำนวณ.
               ในนวมูลกนัย มีปัจจัยหมวดละ ๙ รวม ๑๖ หมวด ด้วยอำนาจการเชื่อมปัจจัยหนึ่งๆ ในบรรดาปัจจัย ๑๖ มีอุปนิสสยปัจจัยเป็นต้น กับอัฏฐกะก่อน. เพราะจัดปุจฉา ๔๙ ข้อ เข้าในนวกะหนึ่งๆ ในบรรดานวกะเหล่านั้น
               ในนวมูลกนัย จึงมีปุจฉา ๗๘๔ ข้อ โดยการคำนวณ.
               ในทสมูลกนัย มีปัจจัยหมวดละ ๑๐ รวม ๑๕ หมวด ด้วยอำนาจการเชื่อมปัจจัยหนึ่งๆ ในบรรดาปัจจัย ๑๕ มีปุเรชาตปัจจัยเป็นต้น กับนวกะก่อน. เพราะจัดปุจฉา ๔๙ ข้อ เข้าในทสกะหนึ่งๆ ในบรรดาทสกะนั้นๆ
               ในทสมูลกนัย จึงมีปุจฉา ๗๓๕ ข้อ โดยการคำนวณ.
               ในเอกาทสมูลกนัย มีปัจจัยหมวดละ ๑๑ รวม ๑๔ หมวด ด้วยอำนาจการเชื่อมปัจจัยหนึ่งๆ ในบรรดาปัจจัย ๑๔ มีปัจฉาชาตปัจจัยเป็นต้น กับทสกะก่อน. เพราะจัดปุจฉา ๔๙ ข้อ เข้าในหมวดหนึ่งๆ ในบรรดาเอกาทสกะเหล่านั้น
               ในนัยที่มีมูล ๑๑ จึงมีปุจฉา ๖๘๖ ข้อ.
               ในนัยที่มีมูล ๑๒ มีปัจจัยหมวดละ ๑๒ รวม ๑๓ หมวด ด้วยอำนาจการเชื่อมปัจจัยหนึ่งๆ ในบรรดาปัจจัย ๑๓ มีอาเสวนปัจจัยเป็นต้น กับเอกาทสกะก่อน. เพราะจัดปุจฉา ๔๙ ข้อ เข้าในหมวดหนึ่งๆ ในบรรดาทวาทสกะเหล่านั้น
               ในนัยที่มีมูล ๑๒ จึงมีปุจฉา ๖๓๗ ข้อ โดยการคำนวณ.
               ในนัยที่มีมูล ๑๓ มีปัจจัยหมวดละ ๑๓ รวม ๑๒ หมวด ด้วยอำนาจการเชื่อมปัจจัยหนึ่งๆ ในบรรดาปัจจัย ๑๒ มีกัมมปัจจัยเป็นต้น กับทวาทสกะก่อน. เพราะจัดปุจฉา ๔๙ ข้อ เข้าในหมวดหนึ่งๆ ในบรรดาเตรสกะเหล่านั้น
               ในนัยที่มีมูล ๑๓ จึงมีปุจฉา ๕๘๘ ข้อ โดยการคำนวณ.
               ในนัยที่มีมูล ๑๔ มีปัจจัยหมวดละ ๑๔ รวม ๑๑ หมวด ด้วยอำนาจการเชื่อมปัจจัยหนึ่งๆ ในบรรดาปัจจัย ๑๑ มีวิปากปัจจัยเป็นต้น กับเตรสกะก่อน. เพราะจัดปุจฉา ๔๙ ข้อ เข้าในหมวดหนึ่งๆ ในบรรดาจุททสกะเหล่านั้น
               ในนัยที่มีมูล ๑๔ จึงมีปุจฉา ๕๓๙ ข้อ โดยการคำนวณ.
               ในนัยที่มีมูล ๑๕ มีปัจจัยหมวดละ ๑๕ รวม ๑๐ หมวด ด้วยอำนาจการเชื่อมปัจจัยหนึ่งๆ ในบรรดาปัจจัย ๑๐ มีอาหารปัจจัยเป็นต้น กับจุททสกะก่อน. เพราะจัดปุจฉา ๔๙ ข้อ เข้าในหมวดหนึ่งๆ ในบรรดาปัจจัยหมวด ๑๕ เหล่านั้น
               ในนัยที่มีมูล ๑๕ จึงมีปุจฉา ๔๙๐ ข้อ โดยการคำนวณ.
               ในนัยที่มีมูล ๑๖ มีปัจจัยหมวดละ ๑๖ รวม ๙ หมวด ด้วยอำนาจการเชื่อมปัจจัยหนึ่งๆ ในบรรดาปัจจัย ๙ มีอินทริยปัจจัยเป็นต้น กับหมวด ๑๕ ก่อน. เพราะจัดปุจฉา ๔๙ ข้อ เข้าในหมวดหนึ่งๆ ในบรรดาปัจจัยหมวด ๑๖ เหล่านั้น
               ในนัยที่มีมูล ๑๖ จึงมีปุจฉา ๔๔๑ ข้อ โดยการคำนวณ.
               ในนัยที่มีมูล ๑๗ มีปัจจัยหมวดละ ๑๗ รวม ๘ หมวด ด้วยอำนาจการเชื่อมปัจจัยหนึ่งๆ ในบรรดาปัจจัย ๘ มีฌานปัจจัยเป็นต้น กับหมวด ๑๖ ก่อน. เพราะจัดปุจฉา ๔๙ ข้อ เข้าในหมวดหนึ่งๆ ในบรรดาปัจจัยหมวด ๑๗ เหล่านั้น
               ในนัยที่มีมูล ๑๗ จึงมีปุจฉา ๓๙๒ ข้อ โดยการคำนวณ.
               ในนัยที่มีมูล ๑๘ มีปัจจัยหมวดละ ๑๘ รวม ๗ หมวด ด้วยอำนาจการเชื่อมปัจจัยหนึ่งๆ ในบรรดาปัจจัย ๗ มีมัคคปัจจัยเป็นต้น กับปัจจัยหมวด ๑๗ ก่อน. เพราะจัดปุจฉา ๔๙ ข้อ เข้าในหมวดหนึ่งๆ ในบรรดาปัจจัยหมวด ๑๘ เหล่านั้น
               ในนัยที่มีมูล ๑๘ จึงมีปุจฉา ๓๔๓ ข้อ โดยการคำนวณ.
               ใน นัยที่มีมูล ๑๙ มีปัจจัยหมวดละ ๑๙ รวม ๖ หมวด ด้วยอำนาจการเชื่อมปัจจัยหนึ่งๆ ในบรรดาปัจจัย ๖ มีสัมปยุตตปัจจัยเป็นต้น กับปัจจัยหมวด ๑๘ ก่อน. เพราะจัดปุจฉา ๔๙ ข้อ เข้าในหมวดหนึ่งๆ ในบรรดาปัจจัยหมวด ๑๙ เหล่านั้น
               ในนัยที่มีมูล ๑๙ จึงมีปุจฉา ๒๙๔ ข้อ โดยการคำนวณ.
               ในนัยที่มีมูล ๒๐ มีปัจจัยหมวดละ ๒๐ รวม ๕ หมวด ด้วยอำนาจการเชื่อมปัจจัยหนึ่งๆ ในบรรดาปัจจัย ๕ มีวิปปยุตตปัจจัยเป็นต้น กับปัจจัยหมวด ๑๙ ก่อน. เพราะจัดปุจฉา ๔๙ ข้อ เข้าในหมวดหนึ่งๆ ในบรรดาปัจจัยหมวด ๒๐ เหล่านั้น
               ในนัยที่มีมูล ๒๐ จึงมีปุจฉา ๒๔๕ ข้อ โดยการคำนวณ.
               ในนัยที่มีมูล ๒๑ มีปัจจัยหมวดละ ๒๑ รวม ๔ หมวด ด้วยอำนาจการเชื่อมปัจจัยหนึ่งๆ ในบรรดาปัจจัย ๔ มีอัตถิปัจจัยเป็นต้น กับหมวด ๒๐ ก่อน. เพราะจัดปุจฉา ๔๙ ข้อ เข้าในหมวดหนึ่งๆ ในบรรดาปัจจัยหมวด ๒๑ เหล่านั้น
               ในนัยที่มีมูล ๒๑ ผู้รู้ลักษณะ จึงนับประมวลปุจฉาได้ ๑๙๖ ข้อ.
               ใน นัยที่มีมูล ๒๒ มีปัจจัยหมวดละ ๒๒ รวม ๓ หมวด ด้วยอำนาจการเชื่อมปัจจัยหนึ่งๆ บรรดาปัจจัย ๓ มีนัตถิปัจจัยเป็นต้น กับหมวด ๒๑ ก่อน. เพราะจัดปุจฉา ๔๙ ข้อ เข้าในหมวดหนึ่งๆ ในบรรดาหมวด ๒๒ เหล่านั้น
               ในนัยที่มีมูล ๒๒ จึงมีปุจฉา ๑๔๗ ข้อ โดยการคำนวณ.
               ในนัยที่มีมูล ๒๓ มีปัจจัยหมวดที่ ๒๓ รวม ๒ หมวด ด้วยอำนาจการเชื่อมปัจจัยหนึ่งๆ บรรดาวิคตาวิคตปัจจัยทั้งสอง กับหมวด ๒๒ ก่อน บรรดาวิคตปัจจัยและอวิคตปัจจัยทั้งสอง กับหมวด ๒๒ ก่อน. เพราะจัดปุจฉา ๔๙ ข้อ เข้าในหมวดหนึ่งๆ ในบรรดาปัจจัยหมวด ๒๓ เหล่านั้น
               ในนัยที่มีมูล ๒๓ อันเป็นคำรบที่ ๒๓ นี้ จึงมีปุจฉา ๙๘ ข้อ โดยการคำนวณ.
               ส่วนนัยที่มีมูล ๒๔ ผู้ศึกษาพึงทราบด้วยอำนาจการประชุมแห่งปัจจัยทั้งหมด เพราะเหตุนั้นแหละพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า มีปัจจัยทั้งหมดเป็นมูล. ในนัยที่มีมูล ๒๔ นั้น มีปุจฉา ๔๙ ข้อเท่านั้น ฉะนี้. ปุจฉานั้นทั้งหมด พระศาสดาทรงถือเอาเฉพาะบทว่า เหตุปัจจัยเท่านั้นจำแนกโดยพิสดารยิ่งในเทพบริษัท ด้วยอำนาจแห่งนัยที่มีมูลหนึ่งเป็นต้น จบลงด้วยนัยที่มีปัจจัยทั้งหมดเป็นมูล. ในอธิการนี้ทรงแสดงปุจฉาไว้โดยย่อ. ก็ประมวลการนับปุจฉาเหล่านั้นทั้งหมด ดังนี้.
               จริงอยู่ ในนัยที่มีมูลหนึ่ง ปุจฉามาแล้ว ๑,๑๗๖ ข้อ. บรรดาปุจฉาเหล่านั้น ในนัยแห่งเหตุปัจจัย ผู้ศึกษาพึงแต่งปุจฉา ๔๙ ข้อ กับด้วยปัจจัยที่เป็นมูลนั่นเอง แล้วพึงถือเอาในนัยที่มีเหตุปัจจัยเป็นมูลนี้. ปุจฉาที่เหลือผู้ศึกษาพึงใส่ในนัยที่มีปัจจัยที่เหลือเป็นมูล. ในนัยที่มีมูลสองมีปุจฉา ๑,๑๒๗ ข้อ ที่มีมูล ๓ มี ๑,๐๗๘ ข้อ ที่มีมูล ๔ มี ๑,๐๒๙ ข้อ ที่มีมูล ๕ มี ๙๘๐ ข้อ ที่มีมูล ๖ มี ๙๓๑ ข้อ ที่มีมูล ๗ มี ๘๘๒ ข้อ ที่มีมูล ๘ มี ๘๓๓ ข้อ ที่มีมูล ๙ มี ๗๘๔ ข้อ ที่มีมูล ๑๐ มี ๗๓๕ ข้อ ที่มีมูล ๑๑ มี ๖๘๖ ข้อ ที่มีมูล ๑๒ มี ๖๓๗ ข้อ ที่มีมูล ๑๓ มี ๕๘๘ ข้อ ที่มีมูล ๑๔ มี ๕๓๙ ข้อ ที่มีมูล ๑๕ มี ๔๙๐ ข้อ ที่มีมูล ๑๖ มี ๔๔๑ ข้อ ที่มีมูล ๑๗ มี ๓๙๒ ข้อ ที่มีมูล ๑๘ มี ๓๔๓ ข้อ ที่มีมูล ๑๙ มี ๒๙๔ ข้อ ที่มีมูล ๒๐ มี ๒๔๕ ข้อ ที่มีมูล ๒๑ มี ๑๙๖ ข้อ ที่มีมูล ๒๒ มี ๑๔๗ ข้อ ที่มีมูล ๒๓ มี ๙๘ ข้อ ที่มีปัจจัยทั้งหมดเป็นมูลมี ๔๙ ข้อ ในนัยที่มีมูลหนึ่งเป็นต้น ซึ่งจำแนกออกไปโดยยกเหตุบทขึ้นต้นดังกล่าวมาแล้ว.
               เฉพาะเหตุบทเท่านั้น ว่าโดยประเภทแห่งมูลหนึ่งเป็นต้น จึงมีปุจฉา ๑๔,๗๐๐ ข้อ แล.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงประเภทแห่งปุจฉาตั้งแต่นัยที่มีมูลหนึ่ง จนถึงนัยที่มีปัจจัยทั้งหมดเป็นมูล โดยยกเหตุปัจจัยขึ้นต้นดังกล่าวมาแล้ว บัดนี้ เพื่อจะยกอารัมมณปัจจัยขึ้นแสดงเป็นต้น จึงตรัสคำว่า กุศลธรรมพึงอาศัยกุศลธรรมเกิดขึ้น เพราะอารัมมณปัจจัย เพราะเหตุปัจจัยหรือ? เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงนัยที่มีมูลหนึ่งซึ่งมีอารัมมณปัจจัยเป็นต้น มีเหตุปัจจัยเป็นที่สุด ด้วยคำมีประมาณเท่านี้ว่า อารมฺมณปจฺจยา เหตุปจฺจยา. ต่อจากนั้น ทรงเริ่มนัยที่มีมูลสองว่า อารมฺมณปจฺจยา อธิปติปจฺจยา ดังนี้.
               ในนัยที่มีมูลสองนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงทุกะที่หนึ่งนี้ และอารัมมณาวิคตทกะแล้ว ทรงย่อคำที่เหลือไว้. ทุกะที่สุดท้ายนี้ว่า อารมฺมณปจฺจยา เหตุปจฺจยา ดังนี้ ไม่ทรงแสดง. ก็ถ้าทุกะที่สุดนั้น ปรากฏในตอนไหน ผู้ศึกษาพึงถือเอาตอนนั้นเอง.
               ต่อจากนั้น เพื่อจะไม่แสดงติมูลกนัยเป็นต้นด้วยอำนาจอารัมมณปัจจัย แล้วแสดงปัจจัยหนึ่งๆ เป็นต้น โดยยกอธิปติปัจจัยเป็นต้น จึงตรัสคำมีประมาณเท่านี้ว่า อธิปติปจฺจยา อนนฺตรปจฺจยา สมนนฺปจฺยา สหชาตปจฺจยา อญฺญมญฺญปจฺจยา.
               คำนั้นผู้ศึกษาพึงทราบด้วยอำนาจนัยที่มีมูลหนึ่ง หรือที่มีปัจจัยทั้งหมดเป็นมูล.
               ต่อจากนั้น เพื่อจะทรงแสดงเฉพาะทุมูลกนัยเท่านั้น โดยยกอวิคตปัจจัยขึ้นต้น จึงเริ่มคำว่า อวิคตปจฺจยา เหตุปจฺจยา เป็นต้น. ในทุมูลกนัยนั้นครั้นตรัสทุกะ ๓ ตามลำดับคืออวิคตเหตุทุกะ อวิคตารัมมณทุกะ อวิคตาธิปติทุกะ แล้วจึงทรงแสดงทุกะหนึ่งคือ อวิคตวิคตทุกะในที่สุด.
               ลำดับนั้น เพื่อจะทรงแสดงนัยที่มีมูล ๓ ด้วยอำนาจอวิคตปัจจัย ครั้นตรัสติกะ ๓ ตามลำดับอย่างนี้ คือ อวิคตปจฺจยา เหตุปจฺจยา อารมฺมณปจฺจยา, อวิคตปจฺจยา เหตุปจฺจยา อธิปติปจฺจยา, อวิคตปจฺจยา เหตุปจฺจยา อนนฺตรปจฺจยา แล้วจึงตรัสติกะสุดท้ายว่า อวิคตปจฺจยา เหตุปจฺจยา วิคตปจฺจยา.
               ลำดับนั้น เพื่อจะทรงแสดงนัยที่มีมูล ๔ ด้วยอำนาจอวิคตปัจจัยนั้นเอง ครั้นตรัสหมวด ๔ สองหมวด คือ อวิคตปจฺจยา เหตุปจฺจยา อารมฺมณปจฺจยา อธิปติปจฺจยา, อวิคตปจฺจย เหตุปจฺจยา อารมฺมณปจฺจยา อนนฺตรปจฺจยา แล้วทรงยกบทว่า วิคตปจฺจยา มาตั้งไว้. คำที่เหลือทั้งปวงทรงย่อไว้. เพื่อจะทรงแสดงว่าคำทั้งหมดนั้นทรงย่อไว้ จึงตรัสว่า เอกมูลกนัย ทุมูลกนัย ติมูลกนัย จตุมูลกนัย สัพพมูลกนัยแห่งบทหนึ่งๆ อันผู้ศึกษาที่ไม่งมงายพึงขยายให้พิสดาร.
               เพราะฉะนั้น ในเอกมูลกนัยมีปุจฉา ๑,๑๗๖ ข้อ ฯลฯ ในสัพพมูลกนัยมีปุจฉา ๔๙ ข้อ ด้วยอำนาจแห่งบทว่า เหตุ เป็นต้น โดยยกเหตุปัจจัยขึ้นต้น ฉันใด ในเอกมูลกนัยแห่งบทหนึ่งๆ ก็มีปุจฉา ๑,๑๗๖ ข้อ ในสัพพมูลกนัยมีปุจฉา ๔๙ ข้อ ด้วยอำนาจแห่งบทว่า อารมณ์เป็นต้น โดยยกปัจจัยหนึ่งๆ มีอารัมมณปัจจัยเป็นต้นขึ้นต้น ฉันนั้น ในการจำแนกบทหนึ่งๆ โดยเอกมูลกนัยเป็นต้น จึงมีปุจฉา ๑๔,๗๐๐ ข้อ ดังกล่าวมาแล้ว.
               การกำหนดการคำนวณปุจฉาเหล่านั้น ในปัจจัย ๒๔ ทั้งหมดมีดังนี้ คือ
               ในอนุโลมนัย ทรงจำแนกปุจฉาแห่งกุศลติกะไว้ ๓๕๒,๘๐๐ ข้อ.
               กุศลติกะ ฉันใด เวทนาติกะเป็นต้น ก็ฉันนั้น. ในติกะ ๒๒ ติกะทั้งหมด ว่าโดยการจำแนกประเภทแห่งติกะแล้ว มีปุจฉา ๗,๗๖๑,๖๐๐ ข้อ ท้องเรื่อง (พลความ) พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงย่อไว้.
               ในบรรดาทุกะทั้งหลาย พระบาลีว่า "สิยา เหตํ ธมฺมํ ปฏิจฺจ เหตํ ธมฺโม อุปฺปชฺเชยฺย เหตุปจฺจยา = ธรรมที่เป็นเหตุพึงอาศัยธรรมที่เป็นเหตุเกิดขึ้นหรือ" ดังนี้ ย่อมได้ปุจฉา ๙ ข้อ ในปัจจัยหนึ่งๆ มีเหตุปัจจัยเป็นต้น ในทุกะหนึ่งๆ อย่างนี้ คือ เหตุอาศัยเหตุ, นเหตุอาศัยเหตุ, เหตุและนเหตุอาศัยเหตุ, นเหตุอาศัยนเหตุ, เหตุอาศัยนเหตุ, เหตุและนเหตุอาศัยนเหตุ, เหตุอาศัยเหตุและนเหตุ, นเหตุอาศัยเหตุและนเหตุ, เหตุและนเหตุอาศัยเหตุและนเหตุ.
               บรรดาปุจฉาเหล่านั้น ในเอกมูลกนัย ยกเหตุปัจจัยขึ้นต้น มีปุจฉา ๒๑๖ ข้อ. บรรดาปุจฉา ๒๑๖ ข้อเหล่านั้น สำหรับเหตุปัจจัยอย่างเดียว ผู้ศึกษาพึงถือเอาปุจฉา ๙ ข้อ ที่ไม่ปนกับปัจจัยอื่น. ที่เหลือท่านถือเอาโดยวาระแห่งอธิบายปุจฉาเหล่านั้น.
               มีกำหนดการคำนวณในวาระ ๒๓ มีทุมูลเป็นต้น จนถึงที่มีมูลเป็นต้นทั้งหมด โดยนำนวกะหนึ่งๆ ออกเสีย ดังนี้.
               ในทุมูลกนัย บรรดาปุจฉา ๒๑๖ ข้อที่แสดงไว้ในเอกมูลกนัย นำปุจฉาออกเสีย ๙ ข้อ จึงมีปุจฉา ๒๐๗ ข้อ. ต่อจากนั้นในติมูลกนัย เอาออกอีก ๙ ข้อ คงเหลือ ๑๙๘ ข้อ เอาปุจฉาออกจากมูลข้างต้นทีละ ๙ ข้อ ดังกล่าวมาแล้ว. ในจตุมูลกนัยจึงมีปุจฉา ๑๘๙ ข้อ. ในปัญจมูลกนัยมี ๑๘๐ ข้อ. ในฉมูลกนัยมี ๑๗๑ ข้อ. ในสัตตมูลกนัยมี ๑๖๒ ข้อ. ในอัฏฐมูลกนัยมี ๑๕๓ ข้อ. ในนวมูลกนัยมี ๑๔๔ ข้อ. ในทสมูลกนัยมี ๑๓๕ ข้อ. ในเอกาทสมูลกนัยมี ๑๒๖ ข้อ. ในทวาทสมูลกนัยมี ๑๑๗ ข้อ. ในเตรสมูลกนัยมี ๑๐๘ ข้อ. ในจุททสมูลกนัยมี ๙๙ ข้อ. ในปัณณรสมูลกนัยมี ๙๐ ข้อ. ในโสฬสมูลกนัยมี ๘๑ ข้อ. ในสัตตรสมูลกนัยมี ๗๒ ข้อ. ในอัฏฐารสมูลกนัยมี ๖๓ ข้อ. ในเอกูนวีสติมูลกนัยมี ๕๔ ข้อ. ในวีสมูลกนัยมี ๔๕ ข้อ. ในเอกวีสติมูลกนัยมี ๓๖ ข้อ. ในพาวีสติมูลกนัยมี ๒๗ ข้อ. ในเตวีสติมูลกนัย มี ๑๘ ข้อ และในสัพพมูลกนัยมี ๙ ข้อ.
               เหมือนอย่างว่า ในเอกมูลกนัยมีปุจฉา ๒๑๖ ข้อ ฯลฯ ในสัพพมูลกนัยมีปุจฉา ๙ ข้อเหล่านี้ ด้วยอำนาจแห่งเหตุปัจจัย ฉันใด ว่าด้วยอำนาจแห่งบทมีอารมณ์เป็นต้น กระทำซึ่งปัจจัยหนึ่งๆ มีอารัมมณปัจจัยนี้เป็นต้น ในเอกมูลกนัยแห่งบทหนึ่งๆ ก็มีปุจฉา ๒๑๖ ข้อ ฯลฯ ในสัพพมูลกนัยมี ๙ ข้อ ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ในการจำแนกบทหนึ่งๆ โดยเอกมูลกนัยเป็นต้น จึงมีปุจฉา ๒,๗๐๐ ข้อ. มีการกำหนดคำนวณปุจฉาเหล่านั้น ในปัจจัย ๒๔ ทั้งหมดดังนี้ ในอนุโลมนัยแห่งเหตุทุกะ มีปุจฉา ๖๔,๘๐๐ ข้อ. แม้ในสเหตุทุกะเป็นต้นก็เหมือนกับเหตุทุกะ.
               แม้ใน ๑๐๐ ทุกะทั้งหมด ท่านผู้กล่าวปุจฉาไว้ในทุกะ ๑๐๐ ทุกะ ๖,๔๘๐,๐๐๐ ข้อ.
               นี่เป็นการกำหนดจำนวนปุจฉาในติกปัฏฐานและทุกปัฏฐานล้วนๆ ก่อน.
               ส่วนที่ชื่อว่า ทุกติกปัฏฐาน ใด อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือเอาติกะ ๒๒ ผนวกเข้าในทุกะ ๑๐๐ ทุกะ แสดงไว้ต่อจากนั้น ในทุกติกปัฏฐานแม้นั้น ผู้ศึกษาพึงทราบกำหนดจำนวนปุจฉาที่พึงแสดงประกอบติกะหนึ่งๆ ในบรรดาติกะ ๒๒ เข้ากับทุกะ ๑๐๐ ด้วยอำนาจแห่งนัยที่มีมูลหนึ่งเป็นต้นทั้งหมด ตามนัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วในหนหลังอย่างนี้ว่า "กุศลธรรมที่เป็นเหตุ พึงอาศัยกุศลธรรมที่เป็นเหตุเกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัยหรือ?"
               ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือเอาทุกะ ๑๐๐ ผนวกเข้าในติกะ ๒๒ แล้ว แสดงปัฏฐานชื่อว่าติกทุกปัฏฐานใดไว้ แม้ในติกทุกปัฏฐานนั้น ผู้ศึกษาพึงทราบกำหนดจำนวนปุจฉาที่พึงแสดงประกอบทุกะหนึ่งๆ ใน ๑๐๐ ทุกะ เข้ากับติกะ ๒๒ ด้วยอำนาจนัยที่มีมูลหนึ่งเป็นต้นทั้งหมด ตามนัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วในหนหลัง อย่างนี้ว่า "ธรรมที่เป็นเหตุอันเป็นกุศล พึงอาศัยธรรมที่เป็นเหตุอันเป็นกุศลเกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัยหรือ?"
               ต่อจากนั้น ทรงผนวกติกะทั้งหลายเข้าในตะกะนั่นเอง แล้วแสดงปัฏฐานชื่อว่าติกติกปัฏฐานอันใดไว้ ในติกติกปัฏฐานแม้นั้น ผู้ศึกษาพึงทราบการกำหนดนั้น ปุจฉาที่พึงแสดงประกอบติกะหนึ่งๆ บรรดา ๒๒ ติกะ เข้ากับติกะ ๒๑ ที่เหลือ ด้วยอำนาจแห่งนัยที่มีมูลหนึ่งเป็นต้นทั้งหมด ตามนัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วในหนหลัง อย่างนี้ว่า "ธรรมที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนาซึ่งเป็นกุศล พึงอาศัยธรรมที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนาซึ่งเป็นกุศลเกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัยหรือ?"
               ต่อจากนั้น ทรงผนวกทุกะเข้าในทุกะนั้นเอง แล้วแสดงปัฏฐานที่ชื่อว่าทุกทุกปัฏฐานอันใดไว้ ในทุกทุกปัฏฐานแม้นั้น ผู้ศึกษาพึงทราบการกำหนดการนับปุจฉาที่พึงแสดงประกอบทุกะหนึ่งๆ ใน ๑๐๐ ทุกะ กับทุกะ ๙๙ ที่เหลือ ด้วยอำนาจแห่งนัยที่มีมูลหนึ่งเป็นต้น ตามนัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วในหนหลังอย่างนี้ว่า "ธรรมที่มีเหตุ (และ) เป็นเหตุ พึงอาศัยธรรมที่เป็นเหตุ (และ) มีเหตุเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยหรือ?"
               จริงอยู่ พระตถาคตครั้นทรงแสดงประเภทนั้นทั้งหมดแล้ว จึงทรงแสดงธรรมในเทพบริษัท. แต่พระธรรมเสนาบดีรวบรวมย่อไว้ว่า ธรรมนี้ๆ พระองค์ทรงแสดงในวันนี้ แล้วกล่าวในเทศนาโดยเพียงแสดงนัยนั้นเท่านั้น. พลความที่กล่าวย่อไว้ พระเถระย่อให้เป็นไปแล้ว. พลความนั้นพระธรรมสังคาหกาจารย์ยกขึ้นสู่สังคะหะในสังคีติกาล ตามนัยที่พระเถระให้เป็นไปแล้วนั่นแหละ. ก็เพื่อจะแสดงสังเขปนัยแห่งพลความนั้น ข้าพเจ้าจึงตั้งคาถานี้ไว้ว่า ติกญฺจ ปฏฺฐานวรํ เป็นต้น.
               คาถานั้นมีใจความว่า คำว่า ติกญฺจ ปฏฺฐานวรํ แปลว่า ติกปัฏฐานอันประเสริฐ คืออันบวร.
               บทว่า ทุกุตฺตมํ แปลว่า ทุกปัฏฐานอันสูงสุด คืออันประเสริฐสุด.
               บทว่า ทุกตฺติกญฺเจว คือ ทุกติกปัฏฐาน.
               บทว่า ติกทุกญฺจ คือ ติกทุกปัฏฐาน.
               บทว่า ติกติกญฺเจว คือ ติกติกปัฏฐาน.
               บทว่า ทุกทฺทุกญฺจ คือ ทุกทุกปัฏฐาน.
               คำว่า ฉ อนุโลมมฺหิ นยา สุคมฺภีรา ความว่า ผู้ศึกษาพึงทราบนัย ๖ อันลึกซึ้งด้วยดี มีติกปัฏฐานเป็นต้นเหล่านี้ ในอนุโลม.
               บรรดานัยเหล่านั้น อนุโลมมี ๒ คือธัมมานุโลมและปัจจยานุโลม. ในอนุโลมสองนี้ ปัฏฐานที่พระองค์ให้เป็นไปด้วยอำนาจเทศนาที่เป็นอนุโลมแก่ธรรมที่ท่านรวบรวม ด้วยบทอภิธรรมมาติกาอย่างนี้ว่า กุศลธรรมอาศัยกุศลธรรม ชื่อว่าธัมมานุโลม. ปัฏฐานที่พระองค์ให้เป็นไปด้วยอำนาจเทศนาที่เป็นอนุโลมแก่ปัจจัย ๒๔ อย่างนี้ว่า เหตุปจฺจยา อารมฺมณปจฺจยา ชื่อว่าปัจจยานุโลม.
               บรรดาคำที่เป็นคาถาเหล่านั้น คาถานี้ว่า ติกญฺจ ปฏฺฐานวรํ ฯเปฯ ฉ อนุโลมมฺหิ นยา สุคมฺภีรา ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถาหนหลัง หมายถึงธัมมานุโลม. แต่ในอธิการนี้ คาถานี้ท่านกล่าวหมายถึงปัจจยานุโลม ในธัมมานุโลมนั้น. เพราะฉะนั้น คำว่า ฉ อนุโลมมฺหิ นยา สุคมฺภีรา ผู้ศึกษาพึงทราบเนื้อความในอรรถกถาอย่างนี้ว่า นัย ๖ มีติกปัฏฐานเป็นต้นในธัมมานุโลมลึกซึ้งยิ่ง. แต่ในโอกาสนี้ ผู้ศึกษาพึงทราบเนื้อความอย่างนี้ว่า นัย ๖ มีติกปัฏฐานเป็นต้น เฉพาะในธัมมานุโลมในปัจจยานุโลมที่เป็นไปอย่างนี้ว่า เหตุปจฺจยา อารมฺมณปจฺจยา ลึกซึ้งยิ่ง.
               บรรดานัย ๖ เหล่านั้น ประเภทแห่งปุจฉานี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงย่อแสดงในปัณณัตติวาระนี้ แห่งปฏิจจวาระด้วยอำนาจกุศลติกะเท่านั้น ในติกะปัฏฐานที่เป็นอนุโลม. ส่วนในติกะและทุกะที่เหลือ และในปัฏฐานที่เหลือไม่มีปุจฉาเลยแม้แต่ข้อเดียว.
               ก็ในสหชาตวาระเป็นต้นต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ยกปุจฉาขึ้นด้วยอำนาจกุศลติกะ ทรงแสดงเฉพาะวิสัชนาด้วยอำนาจวาระที่มีได้เท่านั้น. ก็เพราะพระบาลีว่า ฉ อนุโลมมฺหิ นยา สุคมฺภีรา. ผู้ศึกษาพึงยกปัฏฐานนัยทั้ง ๖ เหล่านี้ ขึ้นแสดงในปัจจยานุโลมนี้ ด้วยอำนาจแห่งปุจฉาทั้งหลาย เพราะว่านั้นเป็นภาระแห่งอาจารย์ผู้อธิบายปัฏฐาน.
               บัดนี้ เพื่อจะแสดงปัจจนียปัฏฐาน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเริ่มคำว่า กุศลธรรมพึงอาศัยกุศลธรรมเกิดขึ้น เพราะนเหตุปัจจัยหรือ? ในปัจจนียปัฏฐานนั้น มีการกำหนดปุจฉา เท่ากับอนุโลมปุจฉา เพราะเหตุนั้นในปัจจนียปัฏฐานนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ผู้ศึกษาพึงอธิบายเหตุปัจจัยแม้ในปัจจนียปัฏฐาน เหมือนอธิบายเหตุปัจจัยในอนุโลมปัฏฐาน แล้วตรัสไว้ในที่สุดอีกว่า พึงอธิบายเอกมูลกะจนถึงเตวีสติมูละแห่งบทหนึ่งๆ ในปัจจนียปัฏฐาน เหมือนในอนุโลมปัฏฐาน.
               ก็คำนี้ว่า เตวีสติมูลกํ ในอธิการนี้ ตรัสหมายถึงทุมูลกปัฏฐานเท่านั้น ส่วนสัพพมูลกนัยในที่สุด ได้แก่จตุวีสติมลกนัยนั่นเอง. นัยนั้นทั้งหมดทรงย่อไว้แล.
               พระบาลีนี้ว่า ติกญฺจ ปฏฺฐานวรํ ฯเปฯ ฉ ปจฺจนียมฺหิ นยา สุคมฺภีรา ดังนี้ ได้แก่ปัจจนียะ ๒ อย่าง คือธัมมปัจจนียะและปัจจยปัจจนียะ. ใน ๒ อย่างนั้น นัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าให้เป็นไปแล้วด้วยอำนาจการแสดงธรรมที่สงเคราะห์ ด้วยบทอภิธรรมมาติกาอย่างนี้ว่า กุสลา ธมฺมา โดยแสดงเป็นปัจจนียะว่า นกุสลํ ธมฺมํ ปฏิจฺจ นกุสโล ธมฺโม ชื่อว่าธัมมปัจจนียะ. นัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าให้เป็นไปด้วยอำนาจการแสดงปัจจัย ๒๔ ด้วยอำนาจเป็นปัจจัยอย่างนี้ว่า นเหตุปจฺจยา นารมฺมณปจฺจยา ชื่อว่าปัจจยปัจจนียะ.
               ใน ๒ อย่างนั้น คาถานี้ว่า ติกญฺจ ปฏฺฐานวรํ ฯเปฯ ฉ ปจฺจนียมฺหิ นยา สุคมฺภีรา ในอรรถกถาในหนหลัง ท่านกล่าวหมายถึงธัมปัจนียะ แต่ในอธิกานนี้ คาถานี้ ท่านกล่าวหมายถึงปัจปัจนียะ ในธัมมานุโลมเท่านั้น. เพราะฉะนั้น ในคาถาแห่งอรรถกถาว่า "ฉ ปจฺจนียมฺหิ นยา สุคมฺภีรา" ผู้ศึกษาพึงทราบใจความอย่างนี้ว่า นัย ๖ มีติกปัฏฐานเป็นต้นในธัมมปัจจนียะลึกซึ้งยิ่ง. แต่ในปัจจนียะที่เป็นไปแล้วอย่างนี้ว่า นเหตุปจฺจยา นอารมฺมณปจฺจยา ในโอกาสนี้ผู้ศึกษาพึงทราบเนื้อความอย่างนี้ว่า นัย ๖ มีติกะปัฏฐานเป็นต้น เฉพาะในธัมมานุโลมเท่านั้นลึกซึ้ง.
               บรรดานัย ๖ เหล่านั้น ประเภทแห่งปุจฉานี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงย่อแสดงในปัณณัตติวาระนี้แห่งปฏิจจวาระ ด้วยอำนาจธรรมเพียงกุสลติกะ ในอนุโลมติกปัฏฐานเท่านั้น แม้ในติกะและทุกะที่เหลือ และในปัฏฐานที่เหลือก็ไม่มีปุจฉาแม้แต่ข้อเดียว. ก็ในสหชาตวาระเป็นต้น ต่อจากนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงยกปุจฉาขึ้นด้วยอำนาจกุสลติกะ ทรงแสดงเฉพาะวิสัชนาด้วยอำนาจวาระที่ได้อยู่เท่านั้น. ก็เพราะพระบาลีว่า ฉ ปจฺจนียมฺหิ นยา สุคมฺภีรา พึงยกปัฏฐานนัย ๖ เหล่านี้ขึ้นแสดงในปัจจยปัจจนียะนี้ ด้วยอำนาจแห่งปุจฉา เพราะว่านั่นเป็นภาระแห่งอาจารย์ผู้อธิบายปัฏฐาน.
               บัดนี้ เพื่อจะแสดงอนุโลมปัจจนียปัฏฐาน พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงเริ่มคำว่า "กุศลธรรมพึงอาศัยกุศลธรรมเกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัย นอารัมมณปัจจัยหรือ?" ในอนุโลมปัจจนียปัฏฐานนั้น ในมูลที่มีมูละหนึ่งมีเหตุบทเป็นต้น มีอนุโลมปัจจนียปัฏฐาน ๒๓ ด้วยอำนาจการเชื่อมเหตุบทกับปัจจัยหนึ่งๆ ในบรรดาปัจจัย ๒๓ ที่เหลือว่า
               เหตุปจฺจยา นอารมฺมณปจฺจยา ฯเปฯ เหตุปจฺจยา โนอวิคตปจฺจยา ในอนุโลมปัจจนียปัฏฐานนั้นมีปุจฉา ๑,๑๒๗ ข้อ เพราะแต่ละบทแบ่งออกได้ ๔๙ ข้อ. ส่วนในทุมูลกนัย ผู้ศึกษาพึงทราบการคำนวณปุจฉาด้วยอำนาจบทที่เหลือ โดยลดบทหนึ่งๆ ในเอกมูลกนัยเป็นต้นทั้งหมดที่กล่าวไว้ในอนุโลมอย่างนี้ว่า อนุโลมปัจจนียปัฏฐานมี ๒๒ ด้วยอำนาจการเชื่อม เหตารัมมณบท กับปัจจัยหนึ่งๆ กับบรรดาปัจจัย ๒๒ ที่เหลือ.
               อนึ่ง ในเอกมูลกนัยเป็นต้นในอธิการนี้ปุจฉาใดมาแล้ว และอันใดไม่ได้มาในพระบาลี ปุจฉานั้นทั้งหมด ผู้ศึกษาพึงทราบตามแนวแห่งนัยที่ข้าพเจ้ากล่าวแล้วในหนหลัง.
               ก็ในคำนี้ว่า ติกญฺจ ปฏฺฐานวรํ ฯเปฯ ฉ อนุโลมปจฺจนียมฺหิ นยา สุคมฺภีรา มีอนุโลมปัจจนียปัฏฐาน ๒ อย่าง คือธัมมานุโลมปัจจนียะและปัจจยานุโลมปัจจนียะ ตามนัยที่กล่าวแล้วในหนหลังนั่นเอง.
               ใน ๒ อย่างนั้น ปัฏฐานที่พระองค์ทรงให้เป็นไปด้วยอำนาจการแสดงธรรมที่สงเคราะห์ไว้ด้วยบทอภิธรรมมาติกาอย่างนี้ว่า กุสโล ธมฺโม โดยอนุโลมปัจจนียนัยว่า กุสลํ ธมฺมํ ปฏิจฺจ นกุสโล ธมฺโม ชื่อว่าธัมมานุโลมปัจจนียปัฏฐาน. ปัฏฐานที่พระพุทธองค์ทรงให้เป็นไปด้วยอำนาจการแสดงบทที่ได้ในปัจจัย ๒๔ อย่างนี้ว่า เหตุปจฺจยา นอารมฺมณปจฺจยา โดยอนุโลมปัจจนียนัย ชื่อว่าปัจจยานุโลมปัจจนียปัฏฐาน.
               ใน ๒ อย่างนั้น คาถานี้ว่า ติกญฺจ ปฏฺฐานวรํ ฯเปฯ ฉ อนุโลมปจฺจนียมฺหิ นยา สุคมฺภีรา ในอรรถกถาในหนหลัง ท่านกล่าวหมายถึงธัมมานุโลมปัจจนียปัฏฐาน เฉพาะในธัมมานุโลมเท่านั้น เพราะฉะนั้น ในคาถาแห่งอรรถกถาว่า ฉ อนุโลมปจฺจนียมฺหิ นยา สุคมฺภีรา พึงทราบเนื้อความอย่างนี้ว่า นัย ๖ มีติกะปัฏฐานเป็นต้น ในธัมมานุโลมปัจจนียนัยลึกซึ้งยิ่ง.
               ส่วนในปัจจยานุโลมปัจจนียปัฏฐาน ที่พระผ้มีพระภาคเจ้าให้เป็นไปแล้วอย่างนี้ว่า เหตุปจฺจยา นอารมฺมณปจฺจยา ในโอกาสนี้ผู้ศึกษาพึงทราบเนื้อความอย่างนี้ว่า นัย ๖ มีติกปัฏฐานเป็นต้เหล่านี้ เฉพาะในธัมมานุโลมเท่านั้นลึกซึ้งยิ่ง.
               บรรดานัย ๖ เหล่านั้น ประเภทแห่งปุจฉานี้ พระองค์ทรงย่อไว้ในปัณณัตติวาระนี้แห่งปฏิจวาระ ด้วยอำนาจแห่งธรรมเพียงกุสลติกะเฉพาะในอนุโลมติกปัฏฐานเท่านั้น ส่วนในติกะและทุกะที่เหลือแลในปัฏฐานที่เหลือ ไม่ได้แสดงปุจฉาไว้แม้เพียงข้อเดียว.
               ก็ในสหชาตวาระเป็นต้น ต่อจากนั้น ไม่ทรงยกปุจฉาขึ้นด้วยอำนาจกุสลติกะ ทรงแสดงเฉพาะวิสัชนา ด้วยอำนาจวาระที่ได้อยู่. ก็เพราะพระบาลีว่า ฉ อนุโลมปจฺจนียมฺหิ นยา สุคมฺภีรา พึงยกปัฏฐานนัย ๖ เหล่านี้ขึ้นแสดงด้วยอำนาจปุจฉา ในปัจจยานุโลมปัจจนียปัฏฐานนี้ เพราะว่านั่นเป็นภาระแห่งอาจารย์ผู้อธิบายปัฏฐาน.
               บัดนี้ เพื่อจะแสดงปัจจนียานุโลมปัฏฐาน. พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเริ่มคำมีอาทิว่า "กุศลธรรมพึงอาศัยกุศลธรรมเกิดขึ้น เพราะนเหตุปัจจัยอารัมมณปัจจัยหรือ?" ในปัจจนียานุโลมปัฏฐานนั้น มีกำหนดปุจฉาเท่ากับอนุโลมปัจจนียปัฏฐาน.
               ก็ในนัยที่มีมูละหนึ่งเป็นต้น ในอธิการนี้ ปุจฉาใดที่มาแล้วและอันใดที่ไม่ได้มาในพระบาลี ปุจฉานั้นทั้งหมดผู้ศึกษาพึงทราบตามแนวแห่งนัยที่ข้าพเจ้ากล่าวแล้วในหนหลัง.
               แม้ในคำนี้ว่า ติกญฺจ ปฏฺฐานวรํ ฯเปฯ ฉ ปจฺจนียานุโลมมฺหิ นยา สุคมฺภีรา ผู้ศึกษาพึงทราบปัจจนียานุโลม ๒ อย่าง คือธัมมปัจจนียานุโลมและปัจจยปัจจนียานุโลม ตามนัยที่ข้าพเจ้ากล่าวแล้วในหนหลัง.
               ใน ๒ อย่างนั้น ปัฏฐานที่พระองค์ให้เป็นไปด้วยอำนาจการแสดงธรรมที่สงเคราะห์ด้วยบทอภิธรรมมาติกา อย่างนี้ว่า กุสโล ธมฺโม ด้วยปัจจนียานุโลมว่า นกุสลํ ธมฺมํ ปฏิจฺจ กุสโล ธมฺโม ชื่อว่าธัมมปัจจนียานุโลมปัฏฐาน ปัฏฐานที่ให้เป็นไปด้วยอำนาจการแสดงบทที่ได้อยู่ในปัจจัย ๒๔ อย่างนี้ว่า นเหตุปจฺจยา อารมฺมณปจฺจยา ด้วยปัจจยปัจจนียานุโลม ชื่อว่าปัจจยปัจจนียนุโลมปัฏฐาน.
               ใน ๒ อย่างนั้น คาถานี้ว่า ติกญฺจ ปฏฺฐานวรํ ฯเปฯ ฉ ปจฺจนียานุโลมมฺหิ นยา สคมฺภีรา ในอรรถกถาในหนหลังท่านกล่าวหมายถึงธัมมปัจจนียานุโลมปัฏฐาน.
               แต่ในอธิการนี้ คาถานี้ท่านกล่าวหมายถึงปัจจยปัจจนียานุโลมปัฏฐาน เฉพาะในธัมมานุโลมเท่านั้น เพราะฉะนั้น ในคาถาแห่งอรรถกถาว่า ฉ ปจฺจนียานุโลมมฺหิ นยา สุคมฺภีรา. ผู้ศึกษาพึงทราบเนื้อความอย่างนี้ว่า นัย ๖ มีติกปัฏฐานเป็นต้น ในธัมมปัจจนียานุโลมลึกซึ้งยิ่ง.
               ส่วนในปัจจยปัจจนียานุโลมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าให้เป็นไปแล้ว อย่างนี้ว่า นเหตุปจฺจยา อารมฺปจฺยา ในโอกาสนี้ ผู้ศึกษาพึงทราบเนื้อความอย่างนี้ว่า นัย ๖ มีติกปัฏฐานเป็นต้นเหล่านี้เฉพาะในธัมมานุโลมนั้นลึกซึ้งยิ่ง.
               บรรดานัย ๖ เหล่านั้น ประเภทแห่งปุจฉานี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงย่อแสดงไว้ในปัณณัตติวาระนี้แห่งปฏิจจวาระ ด้วยอำนาจธรรมเพียงกุสลติกะ เฉพาะในอนุโลมปัฏฐานเท่านั้น. แต่ในติกะและทุกะที่เหลือ และในปัฏฐานที่เหลือไม่ได้ทรงแสดงปุจฉาไว้แม้แต่วาระเดียว. ก็ในสหชาตวาระเป็นต้น ต่อจากนั้น ไม่ทรงยกปุจฉาขึ้นด้วยอำนาจกุสลติกะ ทรงแสดงเฉพาะวิสัชนาด้วยอำนาจวาระที่ได้อยู่ก็เพราะพระบาลีว่า ฉ ปจฺจนียานุโลมมฺหิ นยา สุคมฺภีรา พึงยกปัฏฐานนัยทั้ง ๖ เหล่านี้ ขึ้นแสดงด้วยอำนาจปุจฉาในปัจจยปัจจนียานุโลมปัฏฐานนี้ เพราะว่านั่นเป็นภาระของอาจารย์ผู้อธิบายปัฏฐานแล.

               จบอรรถกถาปัณณัตติวาระ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มหาปัฏฐานปกรณ์ ภาค ๑ อนุโลมติกปัฏฐาน กุสลัตติกะ ปฏิจจวาร จบ.
อ่านอรรถกถา 40 / 1อ่านอรรถกถา 40 / 25อรรถกถา เล่มที่ 40 ข้อ 26อ่านอรรถกถา 40 / 56อ่านอรรถกถา 40 / 1767
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=40&A=292&Z=501
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=55&A=10219
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=55&A=10219
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๘  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :