ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 40 / 1อ่านอรรถกถา 40 / 1076อรรถกถา เล่มที่ 40 ข้อ 1077อ่านอรรถกถา 40 / 1138อ่านอรรถกถา 40 / 1767
อรรถกถา มหาปัฏฐานปกรณ์ ภาค ๑
อนุโลมติกปัฏฐาน เวทนาติกะ ปฏิจจวาร

               อรรถกถาวรรณนาเนื้อความแห่งเวทนาติกปัฏฐาน               
               ธรรมเหล่านี้คือ เวทนา ๓ รูป นิพพาน ย่อมไม่ได้ในเวทนาติกะ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เอกํ ขนฺธํ ปฏิจฺจ เทฺว ขนฺธา เป็นต้น.
               คำว่า ปฏิสนฺธิกฺขเณ สุขาย เวทนาย ตรัสด้วยอำนาจสเหตุกปฏิสนธิ ส่วนทุกขเวทนาย่อมไม่ได้ในปฏิสนธิกาล. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ทรงระบุถึงปฏิสนธิในวาระที่ ๒.
               คำว่า ปฏิสนฺธิกฺขเณ ในวาระที่ ๓ ตรัสด้วยอำนาจสเหตุกปฏิสนธิ ก็คำที่เหลือในอธิการนี้ในปัจจัยอื่นจากนี้ ย่อมเป็นไปตามพระบาลีนั่นแหละ ในที่ทั้งปวงตรัสวาระไว้ ๓ วาระ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เหตุยา ตีณิ ฯเปฯ อวิคเต ตีณิ.
               ก็ในการเทียบเคียงปัจจัยตรัสว่า วิปาเก เทฺว ในวิปากปัจจัยมี ๒ วาระ ในเหตุมูลกนัย เพราะทุกขเวทนาฝ่ายวิบากที่เป็นสเหตุกะไม่มี. ในการเทียบเคียงกับอธิปติปัจจัยเป็นต้น วิปากปัจจัย มีวิสัชนา ๒ วาระเท่านั้น. เพราะเหตุไร? เพราะอธิปติ ฌาน และมัคคปัจจัยไม่มีโดยเป็นวิปากทุกขเวทนา. ก็ในการเทียบเคียงปัจจัยเหล่าใด วิปากปัจจัยย่อมได้วาระ ๒ แม้ในปัจจัยเหล่านั้นก็ได้วาระ ๒ เหมือนกัน เพราะเทียบเคียงกับวิปากปัจัย.
               ในนปุเรชาตปัจจัยที่เป็นปัจจนียะ วาระ ๒ มาแล้ว เพราะไม่มีทุกขเวทนา ในอรูปภพและในปฏิสนธิกาล. แม้ในวิปปยุตตปัจจัยก็มีวาระ ๒ เหมือนกัน เพราะไม่มีทุกขเวทนา ในอรูปภพ. ก็ปัจจัยทั้งหลายมีสหชาตปัจจัยเป็นต้นที่คลุมไปถึงอรูปธรรมทั้งหมด ย่อมขาดไปในปัจจนียะวาระนี้. เพราะเหตุไร? เพราะธรรมที่สัมปยุตด้วยเวทนา อาศัยธรรมที่สัมปยุตด้วยเวทนาเกิดขึ้นไม่ได้ โดยเว้นจากสหชาตปัจจัยเป็นต้น และเพราะธรรมที่สัมปยุตด้วยเวทนาเกิดได้โดยเว้นปัจฉาชาตปัจจัย.
               ก็ในการเทียบเคียงปัจจัย คำว่า นปุเรชาเต เอกํ ในนปุเรชาตปัจจัยมี ๑ วาระ ตรัสหมายถึงธรรมในปฏิสนธิในอรูปภพ และธรรมที่สัมปยุตด้วยอเหตุกอทุกขมสุขเวทนา.
               สองบทว่า นกมฺเม เทฺว ในนกัมมปัจจัยมี ๒ วาระ ตรัสด้วยอำนาจเจตนาที่สัมปยุตด้วยอเหตุกกิริยา.
               จริงอยู่ อเหตุกิริยาเจตนาที่สัมปยุตด้วยเวทนาเหล่านั้น ย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยธรรมทั้งหลายที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนา. แม้ในคำว่า นเหตุปจฺจยา นกมฺมปจฺจยา นวิปาเก ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               สองบทว่า นวิปฺปยุตฺเต เอกํ ในนวิปปยุตตปัจจัยมี ๑ วาระ ตรัสด้วยอำนาจอาวัชชนจิตในอรูปภพ. ในการเทียบเคียงปัจจัยทุกแห่ง พึงทราบวิธีนับโดยอุบายนี้.
               ปัจจัยที่ได้ในอนุโลมปัจจนียะเท่านั้น ตั้งอยู่โดยเป็นปัจจนียะ. สหชาตปัจจัยเป็นต้นที่คลุมไปถึงอรูปธรรมทั้งหมดในปัจจนียานุโลม ย่อมตั้งอยู่โดยอนุโลมเท่านั้น ไม่ตั้งอยู่โดยความเป็นปัจจนียะ แต่อธิปติของอเหตุกจิตตุปบาทไม่มี เพราะฉะนั้น อธิปติปัจจัยจึงไม่ตั้งอยู่โดยความเป็นอนุโลม.
               ก็ในปฏิจจวาระเป็นต้น ปัจฉาชาตปัจจัยย่อมมีไม่ได้เลย ฉะนั้น จึงขาดไป.
               อนึ่ง ในอธิการนี้ ปัจจัยเหล่าใดมีได้โดยเป็นอนุโลม ปัจจัยเหล่านั้นท่านประกอบอธิบายหมุนเวียนไปกับปัจจัยที่ได้อยู่โดยเป็นปัจจนียะ. ในปัจจัยเหล่านั้นมีกำหนดวาระ ๓ เท่านั้นคือ ๓-๒-๑ ผู้ศึกษาพึงกำหนดตามความเหมาะสม และพึงทราบปัจจัยเหล่านั้นในที่ทุกสถาน ก็นัยแห่งวรรณนานี้ใดตรัสแล้วในปฏิจจวาระ นัยแห่งวรรณนานี้เองตรัสไว้ในสหชาตวาระเป็นต้นด้วย.
               ก็คำว่า สมฺปยุตฺตกานํ ขนฺธานํ ในปัญหาวาระ คือขันธ์ทั้งหลายที่สัมปยุตด้วยธรรมนั้น หรือด้วยเหตุทั้งหลายเหล่านั้นเอง หรือด้วยสุขเวทนาเป็นต้น.
               บทว่า วิปฺปฏิสาริสฺส คือมีความเดือดร้อนในกุศลมีทานเป็นต้นอย่างนี้ว่า ทำไมเราถึงทำกรรมนี้ กรรมชั่วเราไม่ทำเสียเลยดีกว่า แต่มีความเดือดร้อนเพราะฌานเสื่อมไปอย่างนี้ว่า ฌานของเราเสื่อมแล้ว เราเป็นผู้เสื่อมใหญ่หนอ.
               สองบทว่า โมโห อุปฺปชฺชติ ได้แก่ โมหะที่สัมปยุตด้วยโทสะ เหมือนกัน
               คำว่า ภวังค์ที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนา เป็นปัจจัยแก่ภวังค์ที่สัมปยุตด้วยอทุกขมสุขเวทนา ความว่า ภวังค์ดวงหลัง กล่าวคือตทารัมมณะเป็นปัจจัยแก่ภวังค์ดวงเดิม.
               บทว่า วุฏฺฐานสฺส คือ ตทารัมมณะหรือภวังค์.
               จริงอยู่ จิตทั้งสองนั้นท่านเรียกว่า วุฏฐานะ เพราะออกจากกุศลชวนะหรืออกุศลชวนะ.
               แม้ในคำว่า กิริยํ วุฏฺฐานสฺส นี้ ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               สองบทว่า ผลํ วุฏฺฐานสฺส ได้แก่ ผลจิตเป็นปัจจัยแก่ภวังคจิต.
               จริงอยู่ ชื่อว่าการออกจากผลจิตย่อมมีด้วยภวังคจิต แม้ในอาคตสถานว่า วุฏฺฐานํ ข้างหน้าก็นัยนี้เหมือนกัน.
               คำว่า ทุกฺขาย เวทนาย สมฺปยุตฺตา ขนฺธา ได้แก่ อกุศลขันธ์ที่สัมปยุตด้วยโทมนัสเวทนา.
               คำว่า อทุกฺขมสุขาย เวทนาย สมฺปยุตตสฺส วุฏฺฐานสฺส ได้แก่ อาคันตุกภวังค์ คือตทารัมมณะ หรือมูลภวังค์ ที่สัมปยุตด้วยอุเบกขา. ก็ถ้าจิตที่สหรคตด้วยโสมนัสเป็นมูลภวังค์ เหตุที่จะให้เกิดตทารัมณะย่อมไม่มี อกุศลวิบากที่เป็นอุเบกขาเวทนา ย่อมเกิดขึ้นในอารมณ์อื่นจากอารมณ์ของชวนะ.
               จริงอยู่ อกุศลวิบากแม้นั้น ท่านเรียกว่าวุฏฐานะ เพราะออกจากชวนะ.
               นิทเทสแห่งสหชาตปัจจัยเป็นต้น มีใจความตื้นทั้งนั้น เพราะว่าในอธิการนี้ คำที่ไม่สามารถจะรู้ตามนัยที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วในหนหลังไม่มี เพราะฉะนั้นผู้ศึกษาพึงกำหนดให้ดี.
               วาระเหล่าใดๆ ได้แล้วในปัจจัยใดๆ บัดนี้เพื่อจะย่อแสดงปัจจัยและวาระเหล่านั้นทั้งหมดด้วยอำนาจแห่งการนับ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เหตุยา ตีณิ เป็นต้น.
               วิสัชนา ๓ วาระเหล่านั้นทั้งหมด ในคำว่า เหตุยา ตีณิ ผู้ศึกษาพึงทราบด้วยอำนาจแห่งบทล้วนๆ ๓ บท. วิสัชนา ๙ วาระในอารัมมณปัจจัยมีปัจจัยที่มีมูล ๑ มีมูลี ๑ เป็นที่สุด. ในอธิปติปัจจัยมีวิสัชนา ๕ วาระคือ วิสัชนา ๓ ที่ไม่เจือกันด้วยอำนาจของสหชาตาธิปติปัจจัย และวิสัชนา ๒ คือธรรมที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนา เป็นปัจจัยแก่ธรรมที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนาด้วยอำนาจของอารัมมณาธิปติปัจจัย ธรรมที่สัมปยุตด้วยอุเบกขาเวทนา เป็นปัจจัยแก่ธรรมที่สัมปยุตด้วยอุเบกขาเวทนา ด้วยอำนาจของอารัมมณาธิปติปัจจัย. วิสัชนา ๒ เหล่านั้น ผู้ศึกษาไม่ควรนับ แต่ควรนับวิสัชนา ๒ เหล่านี้คือ ธรรมที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนาเป็นปัจจัยแก่ธรรมที่สัมปยุตด้วยอุเบกขาเวทนา ธรรมที่สัมปยุตด้วยอุเบกขาเวทนาเป็นปัจจัยแก่ธรรมที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนา รวมเป็นวิสัชนา ๕ วาระ ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า สตฺต ในอนันตรและสมนันตรปัจจัย ได้แก่ วิสัชนา ๗ วาระอย่างนี้คือ สุขเวทนาเป็นปัจจัยแก่ธรรม ๒ อย่าง ทุกขเวทนาเป็นปัจจัยแก่ธรรม ๒ อย่าง อุเบกขาเวทนาเป็นปัจจัยแก่ธรรมได้ทั้ง ๓ อย่าง.
               สองบทว่า อุปนิสฺสเย นว ได้แก่ วิสัชนา ๙ วาระอย่างนี้คือ ธรรมที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนาเป็นปัจจัยแก่ธรรมที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนา โดยอุปนิสสยปัจจัยทั้ง ๓ อย่าง เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยอย่างเดียวแก่ธรรมที่สัมปยุตด้วยทุกขเวทนา เป็นอุปนิสสยปัจจัยทั้ง ๓ อย่างแก่ธรรมที่สัมปยุตด้วยอุเบกขาเวทนา.
               ธรรมที่สัมปยุตด้วยทุกขเวทนาเป็นอนันตรรูปนิสสยและปกตูปนิสสยปัจจัย แก่ธรรมที่สัมปยุตด้วยทุกขเวทนา เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยแก่ธรรมที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนา เป็นอนันตรูปนิสสยะและปกตูนิสปัจจัยทั้ง ๒ อย่างแก่ธรรมที่สัมปยุตด้วยอุเบกขาเวทนา.
               ธรรมที่สัมปยุตด้วยอุเบกขาเวทนาเป็นอารัมมณูปนิสสยะ อนันตรูปนิสสยะและปกตูปนิสสยปัจจัย แก่ธรรมที่สัมปยุตด้วยอุเบกขาเวทนาและสุขเวทนา เป็นอนันตรูปนิสสยะและปกตูปนิสปัจจัยแก่ธรรมที่สัมยุตด้วยทุกขเวทนา.
               ก็ในอธิการนี้ เมื่อว่าโดยความต่างกันแห่งปัจจัย ปกตูปนิสสยปัจจัยมี ๙ วาระ อนันตรูปนิสสยปัจจัยมี ๗ วาระ อารัมมณูปนิสสยปัจจัยมี ๔ วาระ รวมเป็นอุปนิสสยปัจจัย ๒๐ ประเภท.
               ก็ในอธิการนี้ ปุเรชาตปัจจัยและปัจฉาชาตปัจจัยขาดไป เพราะว่า อรูปธรรมที่เกิดก่อนหรือเกิดทีหลังย่อมไม่เป็นปัจจัยแก่อรูปธรรม.
               สองบทว่า กมฺเม อฏฺฐ ได้แก่ วิสัชนา ๘ วาระอย่างนี้คือ ธรรมที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนาเป็นกัมมปัจจัยทั้ง ๒ อย่าง แก่ธรรมที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนา เป็นปัจจัยโดยนานักขณิกกัมมปัจจัยอย่างเดียวแก่ธรรมที่สัมปยุตด้วยทุกขเวทนา และแก่ธรรมที่สัมปยุตด้วยอุเบกขาเวทนา ธรรมที่สัมปยุตด้วยทุกขเวทนาเป็นปัจจัยด้วยอำนาจของกัมมปัจจัย ๒ อย่าง แก่ธรรมที่สัมปยุตด้วยทุกขเวทนา ที่เป็นปัจจัยแก่ธรรมที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนาไม่มี เป็นปัจจัยแก่อุเบกขาเวทนาโดยนานักขณิกกัมมปัจจัยอย่างเดียว ธรรมที่สัมปยุตด้วยอุเบกขาเวทนาเป็นปัจจัยโดยกัมมปัจจัยทั้ง ๒ อย่าง แก่ธรรมที่สัมปยุตด้วยอุเบกขาเวทนา, เป็นนานักขณิกกัมมปัจจัยอย่างเดียว แก่ธรรมที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนาและทุกขเวทนานอกนี้.
               ก็ในอธิการนี้ ว่าโดยความต่างกันแห่งปัจจัย นานักขณิกกัมมปัจจัยมี ๘ สหชาตกัมมปัจจัยมี ๓ รวมเป็นกัมมปัจจัย ๑๑ ประเภท. ก็ในนิทเทสแห่งกัมมปัจจัยนี้ วิปปยุตตปัจจัยย่อมขาดไปเหมือนปุเรชาตะและปัจฉาชาตปัจจัยฉะนั้น เพราะว่าอรูปธรรมทั้งหลายย่อมไม่เป็นวิปปยุตตปัจจัยแก่อรูปธรรมด้วยกัน.
               วาระ ๗ ในนัตถิและวิคตปัจจัย เหมือนกับในอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัย.
               ในอธิการนี้มีการกำหนดวิธีนับ ๕ อย่าง คือวิสัชนา ๓-๕-๗-๘-๙ ด้วยประการฉะนี้. ในการรวมปัจจัยอำนาจการกำหนดวิธีนับเหล่านั้น ผู้ศึกษาพึงนำปัจจัยที่เกินและที่ไม่ได้ออกไป ในการรวมกับปัจจัยที่มีวิธีนับได้น้อยกว่า แล้วทราบวิธีนับต่อไป ในการรวมกับเหตุปัจจัยย่อมไม่ได้อารัมมณปัจจัยและสมนันตรปัจจัยเป็นต้น.
               สองบทว่า อธิปติยา เทฺว วิสัชนา ๒ วาระที่เหลือเว้นบทที่เกี่ยวกับทุกขเวทนา.
               จริงอยู่ ชื่อว่าเหตุที่สัมปยุตด้วยทุกขเวทนาที่เป็นอธิบดีมีไม่ได้ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงนำออกเสีย แม้ในสองวาระที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ในคำว่า เทฺว ในเหตุมูลกนัย มีการกำหนดวิธีนับ ๒ วาระเท่านั้น ด้วยประการฉะนี้.
               ฆฏฺนา ๖ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยอำนาจการกำหนดวิธีนับเหล่านั้น.
               บรรดาฆฏนา ๖ เหล่านั้น ฆฏนาที่ ๑ ตรัสไว้ด้วยอำนาจธรรมที่ไม่มีอธิบดีที่ไม่ประกอบด้วยญาณซึ่งเป็นอวิบาก.
               ฆฏนาที่ ๒ ตรัสด้วยอำนาจธรรมเหล่านั้นเองซึ่งเป็นวิบาก.
               ฆฏนาที่ ๓ และฆฏนาที่ ๔ ตรัสด้วยอำนาจธรรมเหล่านั้นอีก แต่เป็นญาณสัมปยุต.
               ฆฏนาที่ ๕ ตรัสด้วยอำนาจอโมหะที่เป็นอธิบดีที่เป็นอวิบาก.
               ฆฏนาที่ ๖ ตรัสด้วยอำนาจอโมหะที่เป็นอธิบดีที่เป็นวิบาก.
               อีกอย่างหนึ่ง ฆฏนาที่ ๑ ตรัสด้วยอำนาจเหตุทั้งหมด.
               ฆฏนาที่ ๒ ตรัสด้วยอำนาจวิบากเหตุทั้งหมด.
               ฆฏนาที่ ๓ ตรัสด้วยอำนาจอโมหะเหตุทั้งหมด.
               ฆฏนาที่ ๔ ตรัสด้วยอำนาจอโมหะเหตุที่เป็นวิบากทั้งหมด.
               ฆฏนาที่ ๕ ตรัสด้วยอำนาจอโมหะที่เป็นอธิบดีทั้งหมด.
               ฆฏนาที่ ๖ ตรัสด้วยอำนาจอโมหะที่เป็นวิบากมีอธิบดีทั้งหมด.
               ในอารัมมณมูลกนัย สองบทว่า อธิปติยา จตฺตาริ ความว่า ในอธิปติปัจจัยมีฆฏนา ๔ วาระอย่างนี้คือ สุขเป็นปัจจัยแก่สุข แก่อุเบกขา ด้วยอำนาจของอารัมมณาธิปติปัจจัย อุเบกขาเป็นปัจจัยแก่อุเบกขา แก่สุข ด้วยอำนาจของอารัมมณาธิปติปัจจัย.
               แม้ในอุปนิสสยปัจจัย พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสวาระไว้ ๔ วาระ ด้วยอำนาจอารัมมณูปนิสสยปัจจัย. ก็ในอุปนิสสยปัจจัยมีฆฏนา ๑ เท่านั้น.
               แม้ในนัยที่มีอธิปติปัจจัยเป็นต้น ฆฏนาใดมีได้และไม่ได้ ตามนัยที่กล่าวแล้วในหนหลัง ผู้ศึกษากำหนดฆฏนานั้นทั้งหมดแล้วพึงทราบจำนวนฆฏนาที่เทียบเคียงกัน.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกปัจจัยทั้งหลายขึ้นโดยอนุโลมตามนัยที่ตรัสไว้ในกุสลติกะในปัจจนียนัย แล้วทรงแสดงวาระ ๙ ในปัจจัยทั้งปวงว่า นเหตุยา นว เป็นต้น ด้วยอำนาจการนับโดยปัจจนียะ เกี่ยวกับวาระที่ได้ในปัจจัยเหล่านั้น วาระเหล่านั้นผู้ศึกษาพึงยกบาลีขึ้นแสดงโดยนัยว่า บุคคลถวายทานด้วยจิตที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนา ธรรมที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนา เป็นปัจจัยแก่ธรรมที่สัมปยุตด้วยสุขเวทนา โดยนเหตุปัจจัย ดังนี้เป็นต้น ด้วยอำนาจแห่งวิสัชนา ๙ วาระ อันมีปัจจัยที่มีมูละ ๑ และมีมูลี ๑ เป็นที่สุด.
               ก็ในการรวมปัจจัยในอธิการนี้ คำว่า นเหตุปจฺจยา ฯเปฯ นอุปนิสฺสเย อฏฺฐ ผู้ศึกษาพึงทราบวาระด้วยอำนาจนานักขณิกกัมมปัจจัย.
               จริงอยู่ กรรมที่มีกำลังทรามย่อมไม่เป็นอุปนิสสยปัจจัย แต่เป็นปัจจัยโดยนานักขณิกกัมมปัจจัยอย่างเดียวเท่านั้น ก็ฆฏนาที่เหลือทั้งในอนุโลมปัจจนียะและปัจจนียานุโลมในอธิการนี้ ผู้ศึกษาสามารถนับได้โดยนัยที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วในหนหลัง ด้วยอำนาจแห่งวาระที่ได้แล้วในการประกอบแห่งปัจจัยนั้นๆ เพราะฉะนั้นจึงไม่อธิบายอย่างพิสดารแล.

               อรรถกถาวรรณนาเนื้อความแห่งเวทนาติกปัฏฐาน จบแล้ว.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มหาปัฏฐานปกรณ์ ภาค ๑ อนุโลมติกปัฏฐาน เวทนาติกะ ปฏิจจวาร จบ.
อ่านอรรถกถา 40 / 1อ่านอรรถกถา 40 / 1076อรรถกถา เล่มที่ 40 ข้อ 1077อ่านอรรถกถา 40 / 1138อ่านอรรถกถา 40 / 1767
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=40&A=15078&Z=15595
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=55&A=12533
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=55&A=12533
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๑  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :