ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 39 / 1อ่านอรรถกถา 39 / 77อรรถกถา เล่มที่ 39 ข้อ 78อ่านอรรถกถา 39 / 94อ่านอรรถกถา 39 / 1445
อรรถกถา ยมกปกรณ์ ภาค ๒
ธรรมยมก ปัณณัตติวาร

               อรรถกถาธัมมยมก               
               บัดนี้ เป็นวรรณนาธัมมยมก ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งมาติกาแห่งธรรมทั้งหลาย มีกุศลเป็นต้นเหล่านั้นนั่นแหละที่แสดงไว้ในมูลยมกแล้วแสดงต่อจากจิตตยมก.
               ในธัมมยมกนั้น พึงทราบการกำหนดพระบาลีตามนัยที่กล่าวไว้ในขันธยมก ก็ในขันธยมกนั้น มี ๓ มหาวาระ มีปัณณัตติวาระเป็นต้น และมีอันตรวาระที่เหลือ มีอยู่โดยประการใด ในธรรมยมกก็มีโดยประการนั้น.
               แต่ในธรรมยมกนี้ พึงทราบว่าท่านเรียกปริญญาวาระว่า ภาวนาวาระ เพราะพระบาลีอาคตสถานว่า โย กุสลธมฺมํ ภาเวติ โส อกุสลธมฺมํ ปชหติ - บุคคลใดเจริญกุศลธรรม บุคคลนั้นชื่อว่าละอกุศลธรรมหรือ?
               ในภาวนาวาระนั้น อัพยากตธรรมเป็นธรรมที่บุคคลไม่ควรเจริญด้วย ไม่ควรละด้วย เพราะเหตุนั้นท่านจึงไม่ยกบทนั้นขึ้นแสดง.
               ก็ในปัณณัตติวาระในธรรมยมกนี้ พึงทราบการนับยมกในวาระ ๔ เหล่านี้ คือปทโสธนวาระ ปทโสธนมูลจักกวาระ สุทธธัมมวาระ สุทธธัมมมูลจักกวาระ ด้วยอำนาจแห่งธรรมทั้งหลายมีกุศลธรรมเป็นต้น.
               ส่วนในปัณณัตติวาระนิทเทส พระองค์ตรัสว่า อามนฺตา เพราะความที่แห่งกุศลทั้งหลายเป็นกุศลธรรมโดยแน่นอน ในปัญหาที่ว่า กุศลชื่อว่ากุศลธรรมหรือ? ดังนี้ แม้ในคำวิสัชนาที่เหลือก็นัยนี้ คำวิสัชนาที่ว่า ธรรมทั้งหลายที่เหลือ ไม่ชื่อว่าอกุศล แต่ชื่อว่าธรรม. อธิบายว่า ธรรมทั้งหลายที่เหลือไม่เป็นอกุศล แต่เป็นธรรม. พึงทราบคำวิสัชนาทั้งหมดโดยนัยนี้.
               ก็ในอนุโลมนัยแห่งบุคคลวาระ ปัจจุบันกาลในปวัตติวาระนี้ ยมก ๓ อย่าง คือยมกที่มีกุศลธรรมเป็นมูล ๒ อย่าง มีอกุศลธรรมเป็นมูล ๑ อย่าง ย่อมมีในปัญหาว่า กุศลธรรมย่อมเกิดแก่บุคคลใด อกุศลธรรมก็ย่อมเกิดแก่บุคคลนั้นใช่ไหม? ก็หรือว่า อกุศลธรรมย่อมเกิดแก่บุคคลใด กุศลธรรมก็ย่อมเกิดแก่บุคคลนั้นใช่ไหม? ดังนี้.
               ในปฏิโลมนัยก็ดี ในวาระทั้งหลายมีโอกาสวาระเป็นต้นก็ดี ก็นัยนี้ บัณฑิตพึงทราบการนับยมก ด้วยอำนาจแห่งยมกทั้งหลาย ๓ อย่าง ในวาระทั้งปวง ในปวัตติวาระนี้อย่างนี้.
               ก็ในการวินิจฉัยเนื้อความในปวัตติวาระพึงทราบลักษณะนี้ ดังต่อไปนี้.
               ในปวัตติวาระแห่งธรรมยมกนี้ คำว่า อุปฺปชฺชนฺติ-ย่อมเกิด นิรุชฺฌนฺติ-ย่อมดับ ในอุปปาทะและนิโรธวาระเหล่านี้ ย่อมได้กุศลธรรมและอกุศลธรรมในปวัตติกาลเท่านั้นโดยแน่นอน ย่อมไม่ได้จุติและปฏิสนธิกาล แต่ว่าอัพยากตธรรมย่อมได้ในกาลทั้ง ๓ คือปวัตติ จุติและปฏิสนธิ.
               ลักษณะโดยย่อมได้ในที่ใดๆ พึงทราบคำวินิจฉัยของลักษณะนั้น ในที่นั้นๆ อย่างนี้.
               พึงทราบนัยมุขในการวินิจฉัยนั้นดังนี้ :-
               คำปฏิเสธว่า โน - ไม่ใช่ พระองค์ทรงกระทำแล้วเพราะความไม่บังเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันของกุศลและอกุศล.
               คำว่า อพฺยากโต จ ท่านกล่าวแล้วด้วยอำนาจแห่งรูปที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน.
               ปัญหาว่า กุศลธรรมย่อมไม่เกิดขึ้นในภูมิใด นี้ ท่านกล่าวหมายเอาอสัญญีภพ เหตุนั้นในปัญหานี้ท่านจึงทำคำวิสัชนาว่า อามนฺตา - ใช่ แม้ในคำว่า ย่อมเกิดขึ้น นี้ท่านก็กล่าวหมายเอาอสัญญีภพนั่นแหละ แต่กระทำการห้ามว่า ไม่มี เพราะความไม่มีแห่งที่อันไม่บังเกิดขึ้นแห่งอัพยากตธรรมทั้งหลาย หมายความว่า อัพยากตธรรมเกิดได้ในทุกภูมิ.
               คำว่า ทุติเย อกุสเล - ครั้นเมื่ออกุศลดวงที่สอง ได้แก่ชวนะจิตดวงที่สองในนิกันติชวนะที่บังเกิดขึ้นแล้ว เพราะยินดีซึ่งภพ.
               คำว่า ทุติเย จิตฺเต วตฺตมาเน - ครั้นเมื่อจิตดวงที่สองเป็นไปอยู่ ได้แก่ครั้นเมื่อภวังคจิตอันเป็นจิตดวงที่สอง แต่ปฏิสนธิจิตเป็นไปอยู่
               อีกอย่างหนึ่ง คำว่า ทุติเย จิตฺเต วตฺตมาเน ได้แก่ ครั้นเมื่ออาวัชชนจิตในภวนิกันติชวนะ ได้แก่เป็นไปอยู่ เพราะกระทำซึ่งภวังค์กับปฏิสนธิให้เป็นอย่างเดียวกันด้วยอำนาจของวิบากจิต.
               จริงอยู่ อาวัชชนะจิตนั้นชื่อว่า ทุติยจิต - จิตดวงที่สอง นับแต่วิบากจิต เพราะความที่แห่งอาวัชชนะจิตนั้นเป็นกิริยาจิตในอัพยากตชาติ หมายความว่า อาวัชชนะจิตเป็นจิตคนละชาติกับวิบาก.
               คำว่า ยสฺส จิตฺตสฺส อนนฺตรา อคฺคมคฺคํ ท่านกล่าวหมายเอาโวทานจิต.
               คำว่า กุสลา ธมฺมา อุปฺปชฺชิสฺสนฺติ ท่านกล่าวหมายเอาธรรมทั้งหลาย คือมัคคอันเลิศเหล่านั้น.
               ปัญหาว่า ยสฺส จิตฺตสฺส อนนฺตรา อคฺคมคฺคํ ปฏิลภิสฺสนฺติ ตสฺส จิตฺตสฺส อุปฺปาทกฺขเณ ท่านกล่าวด้วยอำนาจของการเกิดขึ้นแห่งโวทานจิตนี้ ก็ลักษณะนี้ย่อมได้แม้ในอุปปาทขณะแห่งโอริมจิต ได้แก่จิตดวงก่อน แต่โวทานจิตนั้น อันเกิดขึ้นแล้วด้วยอาวัชชนะจิตเดียวกันแห่งการเกิดของโวทานจิตนั้น.
               แม้ในนิโรธวาระ ท่านกล่าวแล้วว่า โน - ไม่ใช่ เพราะความที่กุศลและอกุศลไม่ดับพร้อมกัน พึงทราบคำวินิจฉัยในที่ทั้งปวงโดยนัยมุขนี้ ด้วยประการฉะนี้.

               อรรถกถาธรรมยมก จบบริบูรณ์.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ยมกปกรณ์ ภาค ๒ ธรรมยมก ปัณณัตติวาร จบ.
อ่านอรรถกถา 39 / 1อ่านอรรถกถา 39 / 77อรรถกถา เล่มที่ 39 ข้อ 78อ่านอรรถกถา 39 / 94อ่านอรรถกถา 39 / 1445
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=39&A=952&Z=1171
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=55&A=8662
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=55&A=8662
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :