ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 37 / 1อ่านอรรถกถา 37 / 738อรรถกถา เล่มที่ 37 ข้อ 754อ่านอรรถกถา 37 / 763อ่านอรรถกถา 37 / 1898
อรรถกถา กถาวัตถุปกรณ์
วรรคที่ ๓ วิมุจจมานกถา

               อรรถกถาวิมุจจมานกถา               
               ว่าด้วยจิตหลุดพ้นอยู่               
               บัดนี้ ชื่อว่าเรื่องจิตหลุดพ้นอยู่. ในปัญหานั้น ลัทธิแห่งชนเหล่าใดว่า จิตหลุดพ้นแล้วด้วยวิกขัมภนวิมุติโดยฌาน ในขณะแห่งมรรค จิตนั้นชื่อว่าหลุดพ้นอยู่ด้วยสมุจเฉทวิมุติ ดังนี้ สกวาทีหมายชนเหล่านั้น จึงถามว่า จิตที่หลุดพ้นแล้วยังหลุดพ้นอยู่หรือ คำตอบรับรองเป็นของปรวาที.
               สกวาทีถามอีกว่า ส่วนหนึ่งหลุดพ้นแล้ว ในบรรดาคำเหล่านั้นคำว่า ส่วนหนึ่ง เป็นคำไม่ปรากฏตามความเป็นจริง. อธิบายว่า ท่านถามว่า จิตหลุดพ้นแล้วส่วนหนึ่ง ไม่หลุดพ้นแล้วส่วนหนึ่ง ฉันใด จิตนั้นส่วนหนึ่งหลุดพ้นแล้ว แต่อีกส่วนหนึ่งไม่หลุดพ้นแล้ว ฉันนั้นหรือ ดังนี้.
               ถามว่า พระสกวาทีย่อมถามอย่างนี้ เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า เพราะปรวาทีนั้นกล่าวผิดภาวะปกติว่า จิตที่หลุดพ้นแล้วว่ายังหลุดพ้นอยู่ ดังนี้ เหมือนอย่างว่า ช่างไม้ทำวัตถุทั้งหลายมีไม้เป็นต้น เขาทำเสร็จแล้วบางส่วน บางส่วนยังไม่เสร็จเพราะความที่ของนั้นยังไม่เรียบร้อยฉันใด จิตแม้นี้ก็ย่อมจะปรากฏตามลัทธิว่า ส่วนหนึ่งหลุดพ้นแล้ว อีกส่วนหนึ่งไม่หลุดพ้น ฉันนั้น.
               ลำดับนั้น ปรวาทีตอบปฏิเสธในปัญหาแรก เพราะจิตไม่มีบางส่วนดุจช่างทำไม้ เป็นต้น. ในปัญหาที่ ๒ ตอบรับรองเพราะความที่จิตนั้นกำลังหลุดพ้นไม่ใช่หลุดพ้นแล้วและทำกิจยังไม่เสร็จ. อีกอย่างหนึ่ง ท่านตอบปฏิเสธหมายเอาลักขณจิตแห่งโลกียฌาน แต่ว่าลักขณจิตแห่งโลกียฌานนั้นไม่ใช่กำลังหลุดพ้นด้วยสมุจเฉทวิมุติในกาลนั้น จึงตอบรับรองหมายเอาลักขณจิตแห่งโลกุตตรฌาน.
               ลัทธิของท่านว่า ก็ในกาลนั้น จิตนั้นกำลังหลุดพ้นด้วยสมุจเฉทวิมุติโดยส่วนหนึ่งแห่งจิตที่หลุดพ้น ดังนี้. ลำดับนั้น สกวาทีจึงกล่าวว่า ส่วนหนึ่งเป็นพระโสดาบัน เป็นต้น เพื่อท้วงด้วยคำว่า หากว่าจิตดวงนั้นแหละ หลุดพ้นได้ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งไม่หลุดพ้นมีอยู่ไซร้ ครั้นเมื่อความเป็นเช่นนั้นมีอยู่ บุคคลใดเป็นพระโสดาบันด้วยจิตดวงหนึ่งนั้นแหละ บุคคลแม้นั้นก็ต้องเป็นพระโสดาบันเพียงส่วนหนึ่งไม่เป็นส่วนหนึ่งด้วยจิตดวงนั้น ดังนี้ ปรวาทีเมื่อไม่เห็นธรรมเนียม เช่นนั้นจึงตอบปฏิเสธ.
               แม้ในวาระที่เหลือทั้งหลายก็นัยนี้นั่นแหละ.
               ในปัญหาว่าด้วยจิตหลุดพ้นแล้วในขณะการเกิดขึ้น อธิบายว่า ถ้าจิตดวงหนึ่งนั้นแหละหลุดพ้นแล้วด้วย กำลังหลุดพ้นอยู่ด้วยไซร้ จิตที่หลุดพ้นแล้วและกำลังหลุดพ้นย่อมปรากฏในขณะเดียวกัน จิตเห็นปานนี้เป็นลัทธิของท่านหรือ.
               ในการชำระพระสูตร พระสูตรแรกเป็นของปรวาที.
               ในพระสูตรนี้ อธิบายว่า จิตย่อมหลุดพ้นเป็นการชี้แจงไม่คงที่ หมายความว่า ไม่กล่าวว่าเป็นขณะเกิดหรือขณะดับ เพราะฉะนั้น ปรวาทีจึงนำพระสูตรมาว่า เมื่อบุคคลนั้นรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ จิตใดย่อมหลุดพ้นจากอาสวะเหล่านี้ จิตนั้นชื่อว่าย่อมหลุดพ้น ดังนี้.
               พระสูตรที่ ๒ เป็นของสกวาที เนื้อความนั้นอธิบายว่า ถ้าจิตหลุดพ้นแล้วชื่อว่ากำลังหลุดพ้น เพราะพระบาลีว่า ย่อมหลุดพ้น ตามลัทธิของท่านมีอยู่ไซร้ จิตนั้นก็พึงหลุดพ้นแล้วนั่นแหละมิใช่กำลังหลุดพ้น เพราะไม่มีคำบาลีในพระสูตรนี้ว่า ย่อมหลุดพ้น ดังนี้.
               บัดนี้ เพื่อจะท้วงว่า จิตกำลังหลุดพ้นเพราะความหลุดพ้นอันผิดปกติตามลัทธิของท่านมีอยู่ ฉันใด แม้จิตที่กำลังกำหนัดอยู่เป็นต้นมีอยู่ เพราะราคะอันผิดปกติเป็นต้นฉันนั้นหรือ ดังนี้ จึงเริ่มคำเป็นต้นอีกว่า จิตหลุดพ้นอยู่มีอยู่หรือ เป็นต้น. แม้ปรวาที เมื่อไม่เห็นจิตเช่นนั้น จึงปฏิเสธแล้วทั้งสิ้น.
               ลำดับนั้น สกวาทีเมื่อจะยังปรวาทีให้รู้ว่า ส่วนสุดมี ๒ อย่างเท่านั้น ไม่ใช่ ๓ อย่าง จึงกล่าวคำว่า จิตมีแต่กำหนัดแล้วและไม่กำหนัดแล้วมิใช่หรือ เป็นต้น พึงทราบเนื้อความแห่งปัญหานั้นว่า ดูก่อนภัทรมุข ผู้มีพักตร์งาม ส่วนสุดมี ๒ อย่างเท่านั้น คือจิตอันราคะย้อมแล้วสัมปยุตแล้วด้วยราคะ และจิตอันราคะไม่ย้อมแล้วปราศจากราคะแล้ว มิใช่หรือ? ส่วนสุดที่ ๓ คือจิตชื่อว่ากำลังกำหนัด ย่อมไม่มี ดังนี้.
               ในคำว่า จิตขัดเคืองแล้วเป็นต้น ก็นัยนี้.
               ลำดับนั้น สกวาทียังปรวาทีให้รับรองว่าใช่แล้ว เพื่อแสดงส่วนสุดทั้ง ๒ นั้นแหละแม้ในฝ่ายจิตวิมุติ จึงกล่าวว่า ถ้าจิตมีแต่กำหนัดแล้ว เป็นต้น.
               เนื้อความแห่งปัญหานั้นพึงทราบว่า ถ้าท่านรับรองส่วนสุดทั้ง ๒ นี้ คือจิตไม่หลุดพ้นแล้วและจิตหลุดพ้นแล้ว ท่านจงรับรองส่วนสุดแม้เหล่านี้ คือจิตอันสัมปยุตด้วยกิเลส ชื่อว่าไม่หลุดพ้นแล้ว จิตปราศจากกิเลสชื่อว่าหลุดพ้นแล้ว เมื่อว่าโดยปรมัตถ์ ส่วนสุดที่ ๓ ว่า จิตชื่อว่ากำลังหลุดพ้น ดังนี้ ย่อมไม่มีตามพระสูตร ดังนี้ แล.

               อรรถกถาวิมุจจมานกถา จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา กถาวัตถุปกรณ์ วรรคที่ ๓ วิมุจจมานกถา จบ.
อ่านอรรถกถา 37 / 1อ่านอรรถกถา 37 / 738อรรถกถา เล่มที่ 37 ข้อ 754อ่านอรรถกถา 37 / 763อ่านอรรถกถา 37 / 1898
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=37&A=7870&Z=7945
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=55&A=4338
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=55&A=4338
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๖  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :