ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 37 / 1อ่านอรรถกถา 37 / 547อรรถกถา เล่มที่ 37 ข้อ 575อ่านอรรถกถา 37 / 622อ่านอรรถกถา 37 / 1898
อรรถกถา กถาวัตถุปกรณ์
วรรคที่ ๒ วจีเภทกถา

               อรรถกถาวจีเภทกถา               
               ว่าด้วยการเปล่งวาจา               
               บัดนี้ ชื่อว่า เรื่องการเปล่งวาจา.
               ในปัญหานั้น ชนเหล่าใดมีลัทธิคือความเห็นผิด ดุจนิกายทั้งหลายมีกายปุพพเสลิยะเป็นต้น ในขณะนี้ว่า เมื่อบุคคลเข้าปฐมฌานในขณะแห่งโสดาปัตติมรรคเกิด เขาย่อมเปล่งวาจาว่า ทุกข์ ดังนี้ สกวาทีหมายถึงชนเหล่านั้น จึงถามว่า การเปล่งวาจาของผู้เข้าฌานมีอยู่หรือ คำตอบรับรองเป็นของปรวาที เพราะตั้งอยู่ในลัทธิ.
               ถูกถามหมายเอาภพทั้ง ๓ ด้วยคำว่า ในภพทั้งปวงอีก ปรวาทีปฏิเสธหมายเอาอรูปภพ.
               ถูกถามถึงกาลด้วยคำว่า ในกาลทั้งปวง ปรวาทีปฏิเสธโดยหมายเอากาลเป็นที่เข้าฌานทั้งปวงอื่นนอกจากการเข้าฌานอันประกอบด้วยปฐมฌานในขณะแห่งโสดาปัตติมรรค.
               ถูกถามด้วยคำว่า ของผู้เข้าฌานทั้งปวง ปรวาทีปฏิเสธหมายเอาผู้เข้าโลกียสมาบัติ.
               ถูกถามว่า ในสมาบัติทั้งปวงหรือ? ก็ตอบปฏิเสธหมายเอาโลกุตตรอันสัมปยุตด้วยทุติยฌาน และโลกิยสมาบัติทั้งปวง ฯ
               คำว่า การไหวกาย ได้แก่ กายวิญญัติคือการเคลื่อนไหวทางกาย อันเป็นไปด้วยสามารถแห่งอิริยาบถทั้งหลายมีการก้าวไปข้างหน้า เป็นต้น. สกวาทีนั้นย่อมถามเพื่อท้วงด้วยคำว่า จิตเหล่าใด ย่อมยังวจีวิญญัติให้เกิดขึ้น จิตเหล่านั้นนั่นแหละย่อมยังกายวิญญัติให้เกิดขึ้นเช่นกัน ครั้นเมื่อความเป็นเช่นนั้นมีอยู่ เพราะเหตุไร แม้การไหวกายจึงไม่มี. ปรวาทีตอบปฏิเสธด้วย ตอบรับรองด้วยด้วยสามารถแห่งลัทธิ.
               บัดนี้ ท่านกล่าวปัญหาทั้งหลายมีคำว่า เมื่อรู้ว่าทุกข์เป็นต้น เพื่อท้วงด้วยคำว่า ถ้าว่าบุคคลนั้นย่อมกล่าววาจาในขณะแห่งมรรคว่า ทุกข์ ดังนี้ไซร้ เขาก็พึงกล่าวแม้ซึ่งคำว่า สมุทัยเป็นต้น หรือว่าถ้าเขาย่อมไม่กล่าวคำนั้นไซร้ เขาก็ไม่พึงกล่าวคำแม้นอกนี้ ดังนี้ ฝ่ายปรวาทีตอบรับรองด้วย ตอบปฏิเสธด้วย ด้วยสามารถแห่งลัทธิของตน.
               จริงอยู่ ลัทธิของเขาว่า บุคคลเข้าโลกุตตรปฐมฌานแล้วย่อมเห็นแจ้งซึ่งทุกข์ว่าเป็นทุกข์ ดังนี้.
               คำว่า ญาณ ได้แก่ สัจจญาณ ๔ อันเป็นโลกุตตระ.
               คำว่า โสตํ ท่านประสงค์เอาโสตวิญญาณ. อธิบายว่า ย่อมฟังเสียงนั้นด้วยจิตใด.
               คำว่า การประชุมแห่งผัสสะทั้ง ๒ ได้แก่ แห่งโสตสัมผัสและมโนสัมผัส.
               ข้อว่า ก็ต้องไม่กล่าวว่า อธิบายว่า ถ้าว่าการเปล่งวาจามีแก่ผู้เข้าฌานอย่างใดอย่างหนึ่งไซร้ ก็ต้องไม่กล่าวว่า การเปล่งวาจามีแก่ผู้เข้าฌานอย่างใดอย่างหนึ่งด้วย. คำที่เหลือในที่นี้ พร้อมทั้งการชำระพระสูตรมีเนื้อความง่ายทั้งนั้น.
               อนึ่ง พระสูตรที่ปรวาทีนำมาในที่สุดแห่งปัญหาว่า ดูก่อนอานนท์ สาวกชื่อว่าอภิภู ของพระผู้มีพระภาคเจ้าอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี สถิตอยู่ในพรหมโลก ได้ประกาศกะหมื่นโลกธาตุด้วยเสียงว่า ท่านทั้งหลายจงเริ่มต้น จงบากบั่น จงประกอบความเพียรในพระพุทธศาสนา จงกำจัดเสนาของพระยามัจจุราช ฯลฯ
               ในพระสูตรนั้น การเปล่งวาจานั้นย่อมเกิดขึ้นด้วยจิตแห่งสมาบัติใด แม้กายเภทคือการไหวกายก็ย่อมเกิดขึ้นด้วยจิตแห่งสมาบัตินั้นนั่นแหละ แต่จิตที่ทำให้วจีวิญญัติและกายวิญญัติเกิดนั้น ไม่ใช่ปฐมฌานจิตที่เป็นโลกุตตระ เพราะฉะนั้น พระสูตรที่ปรวาทีนำมานั้นจึงไม่สำเร็จประโยชน์ ดังนี้แล.

               อรรถกถาวจีเภทกถา จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา กถาวัตถุปกรณ์ วรรคที่ ๒ วจีเภทกถา จบ.
อ่านอรรถกถา 37 / 1อ่านอรรถกถา 37 / 547อรรถกถา เล่มที่ 37 ข้อ 575อ่านอรรถกถา 37 / 622อ่านอรรถกถา 37 / 1898
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=37&A=6354&Z=6628
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=55&A=4110
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=55&A=4110
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :