ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 37 / 1อ่านอรรถกถา 37 / 191อรรถกถา เล่มที่ 37 ข้อ 255อ่านอรรถกถา 37 / 279อ่านอรรถกถา 37 / 1898
อรรถกถา กถาวัตถุปกรณ์
พรหมจริยกถา

               อรรถกถาพรหมจริยกถา               
               ว่าด้วยการประพฤติพรหมจรรย์               
               บัดนี้ ชื่อว่าเรื่องประพฤติพรหมจรรย์.
               ในปัญหานั้น การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์มี ๒ อย่าง คือ การเจริญมรรค ๑. การบรรพชา ๑. การบรรพชา ย่อมไม่มีในเทพทั้งหลาย. เว้นอสัญญีสัตว์แล้ว การเจริญมรรค ท่านไม่ปฏิเสธในเทพทั้งหลายที่เหลือ.
               ในปัญหานั้น ชนเหล่าใดมีความเห็นผิดดุจนิกายสมิติยะทั้งหลายผู้มีความเห็นผิด ไม่ปรารถนาการเจริญมรรคในเทพทั้งหลายที่สูงกว่าชั้นปรนิมมิตวสวัตตี คำถามของสกวาที หมายถึงชนเหล่านั้น จึงถามว่า การประพฤติพรหมจรรย์ไม่มีในหมู่เทวดาหรือ คำรับรองเป็นของปรวาทีว่า ใช่ ด้วยสามารถแห่งลัทธิอันเกิดขึ้นแล้วว่า การประพฤติพรหมจรรย์แม้ทั้งสองไม่มีในเทพทั้งหลาย เพราะอาศัยพระสูตรนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย มนุษย์ชาวชมพูทวีป ย่อมครอบงำมนุษย์ชาวอุตตรกุรุทวีปและเทพทั้งหลายชั้นดาวดึงส์ ด้วยฐานะ๓ อย่าง ฐานะ ๓ เป็นไฉน? ฐานะ ๓ คือ สุรา เป็นผู้กล้า ๑. สติมนฺโต มีสติ ๑. พฺรหฺมจริยวาโส การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระพุทธศาสนา ๑ ดังนี้.
               คำถามของสกวาทีอีกว่า เทวดาทั้งหมดเป็นผู้เงอะงะด้วยสามารถแห่งธรรมอันเป็นอันตรายแก่การประพฤติพรหมจรรย์แม้ทั้ง ๒ หรือ? ในคำเหล่านั้น คำว่า ใช้ภาษาใบ้ ได้แก่ ผู้กล่าวด้วยมือและศีรษะเหมือนคนใบ้.
               คำถามของปรวาทีข้างหน้าว่า การประพฤติพรหมจรรย์มีอยู่ในหมู่เทวดา หรือ? คำตอบรับรองของสกวาที หมายเอาการเจริญมรรค. คำซักถามด้วยสามารถแห่งบรรพชาเพราะไม่กำหนดประสงค์เอาคำตอบรับรอง เป็นของปรวาที. ในปัญหาว่า ในที่ใด ไม่มีการบรรพชา ที่นั้นไม่มีการประพฤติพรหมจรรย์ หรือ? คำปฏิเสธว่า ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น เป็นของสกวาทีนั้นนั่นแหละ เพราะหมายเอาการได้เฉพาะซึ่งมรรคของคฤหัสถ์ทั้งหลาย และของเทพทั้งหลายบางพวก. ถูกถามซ้ำอีกสกวาทีนั้นนั่นแหละ ก็ตอบรับรอง หมายเอามนุษย์ผู้อยู่สุดเขตแดนซึ่งพระศาสนาไปไม่ถึง และอสัญญีสัตว์.
               แม้ในคำถามทั้งหลาย มีคำเป็นต้นว่า ผู้ใดบรรพชา ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               แม้ในคำถามอีกว่า การประพฤติพรหมจรรย์มีอยู่ในหมู่เทวดาหรือ? คำตอบรับรองว่ามีอยู่เป็นของสกวาที เพราะหมายเอาการเจริญมรรคเท่านั้น. ครั้นเมื่อปรวาทีซักว่า มีอยู่ในเทวดาทุกหมู่ หรือ? คำปฏิเสธเป็นของสกวาทีนั้นนั่นแหละ เพราะหมายเอาอสัญญีสัตว์ซึ่งประพฤติพรหมจรรย์ไม่ได้.
               ปัญหาว่า การประพฤติพรหมจรรย์มีอยู่ในหมู่มนุษย์หรือ? คำตอบรับรอง หมายเอาชาวชมพูทวีปผู้เจริญ. บัณฑิตพึงทราบคำปฏิเสธเพราะหมายเอามนุษย์ผู้อยู่สุดเขตแดนซึ่งไม่มีความเจริญ.
               ข้อว่า มีในที่ไหน ไม่มีที่ไหน? คำวิสัชนาเป็นของสกวาที โดยหัวข้อที่แยกคือสัตว์และประเทศอย่างนี้ว่า เทพเหล่านั้นมีอยู่ ณ ที่ใด หรือประเทศนั้นมีอยู่ ณ ที่ใด ดังนี้. โดยนัยนี้ บัณฑิตพึงทราบปัญหาทั้งปวงว่าเป็นเอกันตริกปัญหา คือเป็นปัญหาที่ถามสลับกัน.
               ในการซักถามพระสูตรว่า ผลบังเกิดขึ้นในที่ไหน? เป็นคำถามของสกวาทีว่า การเกิดขึ้นแห่งอรหัตตผลของพระอนาคามีนั้น มี ณ ที่ไหน? คำตอบว่า ในหมู่เทวดานั้นแล. อธิบายว่า ในชั้นสุทธาวาสทั้งหลาย.
               คำว่า หนฺท หิ เป็นนิบาต ลงในอรรถแห่งเหตุ. คำนี้ ท่านอธิบายไว้ว่า ก็เพราะพระอนาคามีบุคคลทำให้แจ้งซึ่งผลในสุทธาวาสเหล่านั้นด้วยมรรคที่ท่านให้เกิดแล้วในโลกนี้ มิได้เจริญมรรคอื่นในสุทธาวาสนั้น เพราะฉะนั้น การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ คือการบรรพชา ในเทพทั้งหลายจึงไม่มี.
               บัดนี้ คำถามเปรียบเทียบว่า พระอนาคามี เป็นต้นอีกเป็นของสกวาที เพื่อแสดงเนื้อความนี้ว่า ถ้าการทำให้แจ้งซึ่งผลในที่อื่น ด้วยมรรคที่เคยอบรมแล้วในที่อื่นมีอยู่ เพราะฉะนั้นการทำให้แจ้งซึ่งผลด้วยมรรคที่เคยอบรมแล้วก็พึงมีแม้แก่พระโสดาบันเป็นต้น ดังนี้. การตอบรับรองการทำให้แจ้งซึ่งผลแห่งพระอนาคามีในปัญหานั้น แต่ปฏิเสธการทำให้แจ้งซึ่งผลแห่งพระอริยะที่เหลือ เป็นของพระปรวาที ก็ลัทธิของท่านว่าพระอนาคามีเว้นการเจริญมรรค ย่อมทำให้แจ้งซึ่งอรหัตผลได้ด้วยสามารถแห่งการอุบัติขึ้นนั่นแหละ เพราะพระบาลีว่า พระอนาคามีผู้มีมรรคอันอบรมแล้วในโลกนี้ ย่อมชื่อว่าเป็นผู้ถึงความสำเร็จด้วยการละกิเลสในโลกนี้ (อิธวิหายนิฏฺโฐ) ก็ท่านเจริญอนาคามิมรรคในโลกนี้แล้วเคลื่อนจากโลกนี้ก็เป็นโอปปาติกะและปรินิพพานในเทวโลกเหล่านั้น ส่วนพระโสดาบันและพระสกทาคามีผู้ชื่อว่าอุปปาติกะมีอยู่ในเทวโลก เพราะยังมรรคให้เกิดในเทวโลกนั้นมีอยู่ แต่การมาสู่โลกนี้ของพระอริยะเหล่านั้น ย่อมไม่มีเลย ดังนี้ เมื่อถูกถามถึงการทำให้แจ้งซึ่งอรหัตผลแห่งพระอนาคามี ก็ตอบรับรอง แต่ปฏิเสธการทำให้แจ้งแห่งพระอริยะทั้งหลายนอกจากนี้.
               ในปัญหาว่า พระอนาคามีบุคคลทำให้แจ้งซึ่งผลในหมู่เทวดานั้น ด้วยมรรคอันท่านให้เกิดแล้วในหมู่เทวดานั้น หรือ? ปรวาทีตอบปฏิเสธ เพราะขัดกับลัทธิว่า การเจริญมรรคของพระอนาคามีในเทวโลกไม่มี
               คำถามว่า จะไม่ยังมรรคให้เกิดและละกิเลสทั้งหลายอีกหรือ? เป็นของสกวาที คำรับรองเป็นของปรวาที เพราะหมายเอารูปาวจรมรรค.
               จริงอยู่ พระอนาคามีนั้นชื่อว่า ผู้ถึงความสำเร็จด้วยการละกิเลสในโลกนี้ เป็นผู้เกิดขึ้นแล้วในเทวโลกด้วยรูปาวจรมรรค.
               ในปัญหาว่า พระอนาคามีบุคคลมีกรณียกิจอันทำแล้ว ปรวาทีตอบรับรองว่า ใช่ หมายเอาภาวะมีกรณียกิจอันพระอนาคามีนั้นทำแล้วด้วยการอุบัติเป็นต้น เพราะถือเอาพระบาลีว่า พระอนาคามีผู้เป็นโอปปาติกะปรินิพพานแล้วในเทวโลกเหล่านั้น.
               ในปัญหาว่า "พระอนาคามีผุดเกิดเป็นพระอรหันต์หรือ" ปรวาทีตอบปฏิเสธด้วยสามารถแห่งพระอรหันต์ผู้ปรินิพพานในโลกนี้. ถูกถามอีกว่า พระอนาคามีผุดเกิดเป็นพระอรหันต์หรือ ก็ตอบรับรองว่า ใช่ ด้วยสามารถแห่งพระอรหันต์ผู้ปรินิพพานแล้วในเทวโลกเหล่านั้น.
               แม้ในคำทั้งหลายมีคำว่า พระอรหันต์มีภพใหม่หรือ? เป็นต้น บัณฑิตพึงทราบเนื้อความด้วยสามารถแห่งพระอรหันต์ทั้งหลายที่ปรินิพพานแล้วในเทวโลกนั้น หรือผู้ปรินิพพานแล้วในโลกนี้นั่นแหละ.
               ถูกสกวาทีถามว่า เป็นผู้มีอกุปปธรรมอันไม่แทงตลอดแล้ว ปรินิพพานในหมู่เทวดานั้นหรือ เมื่อปรวาทีไม่ปรารถนาการแทงตลอดอกุปปธรรมของพระอรหันต์ ด้วยมรรคที่อบรมแล้วในโลกนี้นั่นแหละจึงตอบปฏิเสธว่า ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น.
               อุทาหรณ์แรกว่า เหมือนเนื้อที่ถูกยิงด้วยลูกศร เป็นคำอุปมาของปรวาที อุทาหรณ์ที่ ๒ เป็นของสกวาที.
               คำที่เหลือในที่ทั้งปวงมีอรรถตื้นทั้งนั้นนั่นแล.

               อรรถกถาพรหมจริยกถา จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา กถาวัตถุปกรณ์ พรหมจริยกถา จบ.
อ่านอรรถกถา 37 / 1อ่านอรรถกถา 37 / 191อรรถกถา เล่มที่ 37 ข้อ 255อ่านอรรถกถา 37 / 279อ่านอรรถกถา 37 / 1898
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=37&A=3061&Z=3391
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=55&A=3714
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=55&A=3714
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๔  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :