ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 37 / 1อ่านอรรถกถา 37 / 177อรรถกถา เล่มที่ 37 ข้อ 191อ่านอรรถกถา 37 / 255อ่านอรรถกถา 37 / 1898
อรรถกถา กถาวัตถุปกรณ์
ปริหานิกถา

               อรรถกถาปริหานิกถา               
               ว่าด้วยความเสื่อม               
               บัดนี้ ชื่อว่าเรื่องความเสื่อม.
               ก็นิกายสมิติยะ วัชชีปุตตกะ สัพพัตถิกวาทีและมหาสังฆิกะบางพวก อาศัยพระสูตรทั้งหลายว่า๑- ปริหานิธมฺโม อปริหานิธมฺโม เทฺวเม ภิกฺขเว ธมฺมา เสกฺขสฺส ภิกฺขุโน ปริหานาย สํวตฺตนฺติ ปญฺจิเม ภิกฺเว ธมฺมา สมยวิมุตฺตสฺส ภิกฺขุโน ปริหานาย สํวตฺตนฺติ ดังนี้ ด้วยประการฉะนี้เป็นต้น ย่อมปรารถนาซึ่งความเสื่อมรอบแม้แก่พระอรหันต์ เพราะฉะนั้น ความเสื่อมเหล่านั้นหรือเหล่าอื่นนั่นแหละจงยกไว้ก่อน ลัทธิคือความถือผิดนี้ย่อมมีแก่ชนเหล่าใด เพื่อทำลายลัทธิแห่งชนเหล่านั้น สกวาทีจึงถามปรวาทีว่า พระอรหันต์เสื่อมจากความเป็นพระอรหันต์หรือ?
____________________________
๑- พระสูตรนี้แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ อย่างเหล่านี้ คือปริหานิธรรมและอปริหานิธรรม ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมรอบแก่ภิกษุผู้เป็นเสกขบุคคล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ เหล่านี้ คือ ความเพลิดเพลินในการงาน ความเพลิดเพลินในการสนทนา ความเพลิดเพลินในการหลับ ความเพลิดเพลินในการคลุกคลี ความหลุดพ้นแห่งจิตมีอย่างไรไม่พิจารณาอย่างนั้น ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความเสื่อมรอบแก่ภิกษุผู้สมยวิมุตตบุคคล ดังนี้ด้วยประการฉะนี้เป็นต้น.

               ในคำถามเหล่านั้น คำว่า "ความเสื่อม" ได้แก่ ความเสื่อม ๒ อย่างคือ ปัตตปริหานิ คือความเสื่อมจากธรรมที่เคยบรรลุแล้ว และอัปปัตตปริหานิ คือความเสื่อมจากธรรมที่ยังไม่บรรลุ.
               ในความเสื่อมเหล่านั้น ท่านพระโคธิกะแล ย่อมเสื่อมจากเจโตวิมุตอันเป็นไปชั่วคราวนั้นแม้ในครั้งที่ ๒ นี้เรียกว่าปัตตปริหานิ คือความเสื่อมจากธรรมที่เคยบรรลุแล้ว. เมื่อชนทั้งหลายผู้มีความต้องการสิ่งทั่วไปมีอยู่ ความต้องการอันนั้นย่อมเสื่อมไป นี้เรียกว่าอัปปัตตปริหานิ คือความเสื่อมจากธรรมที่ตนยังไม่บรรลุ คือยังไม่ได้มา. ในความเสื่อมทั้ง ๒ เหล่านั้น ในที่นี้ท่านประสงค์เอาความเสื่อมจากธรรมที่เคยบรรลุแล้ว คือปัตตปริหานิ.
               ก็คำตอบรับรองของปรวาทีว่า "ใช่" เพราะหมายเอาความเสื่อมจากธรรมอันบรรลุแล้วนี้. อนึ่ง ปรวาทีนั้นย่อมปรารถนาชื่อความเสื่อมจากธรรมอันบรรลุแล้วนี้จากโลกิยสมาบัติในลัทธิของตนเท่านั้น ไม่ปรารถนาความเสื่อมจากสามัญญผลทั้งหลาย มีอรหัตผลเป็นต้น แม้ในลัทธิอื่นท่านก็ไม่ปรารถนาความเสื่อมนั้นแก่บุคคลทั้งปวงในสามัญญผลทั้งปวง ในภพทั้งปวง ในกาลทั้งปวง อันลัทธินั้นก็สักแต่ว่าเป็นลัทธิของท่านเท่านั้น เพราะฉะนั้นเพื่อจะทำลายข่าย คือลัทธิอันถือผิดทั้งปวง ปัญหาของสกวาทีจึงเกิดขึ้นโดยนัยเป็นต้นอีกว่า พระอรหันต์เสื่อมจากอรหัตผลได้ในภพทั้งปวงหรือในปัญหานั้น ปรวาทีไม่ปรารถนาความเสื่อมจากอรหัตผล ของพระอรหันต์ผู้เสื่อมมาโดยลำดับ แล้วก็หยุดอยู่ในโสดาปัตติผล ย่อมปรารถนาความเสื่อมของพระอริยะ ผู้ตั้งอยู่ในผลทั้งหลายในเบื้องบนเท่านั้น.
               อนึ่ง ไม่ปรารถนาความเสื่อมของพระอรหันต์ผู้ตั้งอยู่ในอรูปภพทั้งหลาย แต่ย่อมปรารถนาความเสื่อมของพระอรหันต์ผู้ตั้งอยู่เฉพาะในกามภพ เพราะความที่ธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม มีความเพลิดเพลินในการงานเป็นต้นมีอยู่ เพราะฉะนั้น เมื่อถูกสกวาทีถามว่า พระอรหันต์เสื่อมจาก...ในภพทั้งปวง หรือ ท่านก็ปฏิเสธ ครั้นถูกถามซ้ำอีก ท่านก็ตอบรับรองเพราะความไม่เสื่อมอย่างนั้น ลำดับนั้น สกวาทีจึงถามปัญหาที่ควรถามในปัญหาที่ ๒ อันเป็นลัทธิที่เกิดขึ้นแก่ปรวาทีนั้นฉันนั้นนั่นแหละว่า แม้พระอรหันต์ย่อมไม่เสื่อมจากผล ๔ ปรวาทีเมื่อไม่เห็นความแน่นอนแห่งความที่ไม่ควรเป็นเศรษฐี จึงตอบรับรอง ถูกสกวาทีซักถึงความเป็นผู้ควรจะเสื่อมจากผลทั้ง ๔ ของพระอรหันต์ ปรวาทีผู้ตั้งอยู่ในลัทธิถือเอาเนื้อความโดยไม่พิจารณาถ้อยคำว่า เป็นผู้เที่ยงเป็นผู้จะตรัสรู้ข้างหน้า จึงปฏิเสธ หมายเอาความไม่ควรเพื่อจะเสื่อมจากโสดาปัตติผล. ก็คำนั้น สักว่าเป็นลัทธิของท่านเท่านั้น. ชื่อว่า วาทยุตติ คือ การประกอบวาทะ สำเร็จแล้วด้วยคำมีประมาณเท่านี้แล.

               อริยปุคคลสังสันทนา               
               การเทียบเคียงระหว่างพระอริยะ               
               บัดนี้ เป็นการเริ่มการเทียบเคียงระหว่างพระอริยบุคคล. ในปัญหานั้น ชนบางพวกย่อมปรารถนาความเสื่อมของพระอรหันต์เท่านั้น บางพวกปรารถนาความเสื่อมแม้แก่พระอนาคามี บางพวกปรารถนาความเสื่อมแม้แก่พระสกทาคามี แต่ชนเหล่านั้นทั้งหมดย่อมปรารถนาความเสื่อมของพระโสดาบันนั่นเทียว. ชนเหล่าใดย่อมปรารถนาความเสื่อมของพระอรหันต์ผู้เสื่อมจากความเป็นพระอรหันต์แล้วดำรงอยู่ในภาวะแห่งพระอนาคามีและพระสกทาคามีภูมิ แต่ไม่ปรารถนาความเสื่อมของพระอนาคามีและสกทาคามีนอกจากนี้ ก็ชนแม้เหล่านั้นย่อมไม่ปรารถนาความเสื่อมของพระโสดาบันแม้ในกาลทั้งปวง เพราะฉะนั้น ท่านจึงทำคำถามด้วยเครื่องหมายสำหรับละข้อความไว้เป็นสำคัญ. ในปัญหาเหล่านั้น บัณฑิตพึงทราบคำปฏิเสธด้วยสามารถแห่งลัทธิของท่านเหล่านั้น. ก็ในปัญหาว่า พระอนาคามีย่อมเสื่อมจากพระอนาคามิผล หรือ ปรวาทีตอบปฏิเสธด้วยสามารถแห่งชนผู้ไม่ปรารถนาความเสื่อมของพระอนาคามีเหล่านั้น. ในข้อนี้ว่า ชนเหล่าใดย่อมปรารถนาความเสื่อมของพระอนาคามีผู้ปกติ หรือพระอนาคามีผู้เสื่อมจากพระอรหันต์แล้วดำรงอยู่ในภาวะแห่งอนาคามิภูมิ คำตอบรับรองของปรวาทีย่อมมีด้วยสามารถแห่งชนเหล่านั้น ดังนี้ เป็นข้อสำคัญ. บัณฑิตพึงทราบเปยยาล คือเครื่องหมายสำหรับละข้อความทั้งปวงแห่งเนื้อความโดยทำนองแห่งปัญหานั้นเถิด.
               อนึ่ง คำใดที่ท่านกล่าวแล้วในปัญหานั้นว่า ถัดจากโสดาปัตติผล ท่านก็ทำให้แจ้งซึ่งพระอรหัตผลทีเดียวหรือ คำนั้น ท่านกล่าวหมายเอาความเกิดขึ้นแห่งพระอรหันต์เพราะความพยายามอีกของพระอรหันต์ผู้เสื่อมแล้ว. ปรวาทีตอบปฏิเสธคำนั้น เพราะไม่มีความเป็นพระอรหันต์ในลำดับแห่งโสดาปัตติผล. เบื้องหน้าแต่นี้เพื่อประกอบคำเป็นต้นว่า ชื่อว่าความเสื่อมนี้จะพึงมีเพราะความโง่เขลาของผู้ละกิเลสหรือเพราะความไม่ตรัสรู้ด้วยมรรคภาวนาเป็นต้น หรือแม้เพราะไม่เห็นสัจจะทั้งหลาย นี้ด้วยประการฉะนี้เป็นต้น สกวาทีจึงกล่าวว่า ใครละกิเลสได้มากกว่ากัน เป็นต้น. คำนั้นทั้งหมดมีคำอธิบายง่ายทั้งนั้นแล. อนึ่ง เนื้อความพระสูตรทั้งหลาย บัณฑิตพึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในอรรถกถาที่มาทั้งหลายนั่นแหละ.
               ในคำว่า พระอรหันต์ผู้สมยวิมุตเสื่อมจากอรหัตผลได้ นี้เป็นลัทธิของพวกเขาว่า พระอรหันต์ผู้มีอินทรีย์อ่อนชื่อว่าสมยวิมุตตบุคคล พระอรหันต์ผู้มีอินทรีย์แก่กล้า ชื่อว่าอสมยวิมุตตบุคคล ดังนี้ แต่ในลัทธิสกวาที่ทำการสันนิษฐานไว้ว่า ผู้เป็นฌานลาภีไม่บรรลุวสี ชื่อว่าสมยวิมุตตบุคคล ผู้เป็นฌานลาภีบรรลุวสีแล้วด้วย พระอริยบุคคลทั้งหมดในวิโมกข์ที่เป็นอริยะด้วย ชื่อว่าอสมยวิมุตตบุคคล. ก็ปรวาทีนั้นถือเอาลัทธิของตนกล่าวว่า พระอรหันต์ผู้สมยวิมุติย่อมเสื่อม พระอรหันต์นอกจากนี้ไม่เสื่อม. คำที่เหลือในที่นี้มีเนื้อความง่ายทั้งนั้น ดังนี้แล.
               อริยปุคคลสังสันทนา จบ.               

               สุตตโสธนา               
               การชำระพระสูตร               
               บัดนี้ เป็นการชำระพระสูตร. ในคำเหล่านั้น คำว่า สูงและต่ำ ได้แก่ความสูงด้วยความต่ำด้วยจากประเภทอันเลิศและเลว. คำว่า ปฏิปทา ได้แก่ การปฏิบัติ. คำว่า อันสมณะประกาศแล้ว ได้แก่สมณะ คือพระพุทธเจ้าให้รุ่งโรจน์แล้ว. ก็ปฏิปทาง่ายบรรลุเร็วพลัน ชื่อว่าเป็นปฏิปทาสูง ปฏิปทาลำบากตรัสรู้ช้า ชื่อว่าปฏิปทาต่ำ ปฏิปทาที่เหลือ ๒ นอกจากนี้ เป็นปฏิปทาสูงส่วนหนึ่ง ต่ำส่วนหนึ่ง. ท่านกล่าวปฏิปทาแรกเท่านั้นว่าเป็นปฏิปทาสูง ส่วนที่เหลือแม้ทั้ง ๓ ท่านกล่าวว่าเป็นปฏิปทาต่ำ.
               อธิบายว่า พระอริยะทั้งหลายย่อมไปสู่ฝั่ง คือพระนิพพานได้ ๒ ครั้งด้วยปฏิปทาทั้งสูงทั้งต่ำนั้นๆ ก็หาไม่ คือหมายความว่า ย่อมไม่ไปสู่พระนิพพานสิ้น ๒ ครั้งด้วยมรรคหนึ่ง.
               ถามว่า เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า เพราะว่ากิเลสเหล่าใดอันมรรคใดละได้แล้วไม่พึงละกิเลสเหล่านั้นด้วยมรรคนั้นอีก ท่านย่อมแสดงภาวะแห่งธรรม คือความไม่เสื่อมด้วยมรรคนี้.
               ข้อว่า ฝั่งนี้อันผู้ปฏิบัติจะได้รู้แต่ครั้งเดียวก็หาไม่ ความว่า ฝั่งคือพระนิพพานนี้แม้ควรแก่การบรรลุสิ้นครั้งเดียวก็หาไม่ ถามว่า เพราะเหตุไร? แก้ว่า เพราะไม่มีการละกิเลสทั้งปวงด้วยมรรคเดียว. ท่านแสดงความเป็นพระอรหันต์ด้วยมรรค ๑ เท่านั้น.
               ข้อว่า บรรดากิเลสวัฏที่พระอรหันต์ตัดแล้วยังมีบางอย่างที่ยังจะต้องตัดอีกหรือ ความว่า สกวาทีถามว่า เมื่อกิเลสวัฏฏะขาดแล้ว พระอริยะจะพึงตัดกิเลสอะไรๆ อีกมีอยู่หรือ? ปรวาทีหมายเอาพระอรหันต์ผู้มีอินทรีย์แก่กล้าจึงตอบปฏิเสธ ถูกถามซ้ำอีก หมายเอาผู้มีอินทรีย์อ่อน จึงตอบรับรองว่า ใช่.
               สกวาทีจึงนำพระสูตรมาแล้วแสดงความไม่มีกิเลสอะไรๆ ที่พระอรหันต์จะต้องตัดอีก.
               ในปัญหาว่า คำว่า โอฆปาโส แปลว่า ห้วงน้ำและบ่วง ได้แก่ ห้วงน้ำคือกิเลส และบ่วงคือกิเลส. คำว่า การกลับสร้างสมกิจที่ทำแล้ว ได้แก่ เจริญมรรคที่เจริญแล้วอีก. แม้คำในที่นี้ บัณฑิตพึงทราบคำปฏิเสธและคำตอบรับรองโดยนัยที่กล่าวมาแล้วในกาลก่อนนั่นแหละ.
               คำว่า ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความเสื่อมรอบ ความว่า ธรรม ๕ อย่างมีความเพลิดเพลินในการงานเป็นต้น ในพระสูตรที่ปรวาทีนำมาอ้าง ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความเสื่อมจากธรรมที่ยังไม่บรรลุ และเพื่อความเสื่อมจากโลกิยสมาบัติ แต่สกวาทีนั้นไม่เห็นความเสื่อมแห่งพระอรหันต์ที่บรรลุแล้ว ด้วยเหตุนั้นนั่นแหละ จึงถามว่า พระอรหันต์มีความเพลิดเพลินในการงานหรือ ปรวาทีหมายเอาพระอรหันต์ผู้อสมยวิมุตตบุคคล จึงตอบปฏิเสธ หมายเอาพระอรหันต์ นอกจากนี้จึงตอบรับรอง.
               อีกอย่างหนึ่ง ย่อมปฏิเสธการงานอันเป็นไปกับด้วยกามราคะ ย่อมรับรองการงานอันเป็นไปนอกจากกามราคะ. เมื่อถูกถามถึงความที่พระอรหันต์มีราคะเป็นต้นก็ไม่อาจตอบ.
               คำว่า ถูกอะไรกลุ้มรุมจึงเสื่อม ความว่า กิเลสอะไรๆ กลุ้มรุมจิต. อธิบายว่า กิเลสเป็นเครื่องผูกพัน หรือกิเลสเป็นเครื่องท่วมทับภายใน. แม้ในคำถามว่าด้วยอนุสัยกิเลส บัณฑิตพึงทราบคำปฏิเสธและคำรับรองด้วยสามารถแห่งพระอริยะผู้มีอินทรีย์อ่อน. อนึ่ง ย่อมตอบรับรองด้วยคำธรรมดาว่า อนุสัยของกัลยาณปุถุชนยังมีอยู่.
               ข้อว่า ราคะก่อตัวขึ้น ความว่า ปรวาทีกล่าวหมายเอาราคะที่ละด้วยการภาวนา. แม้ในโทสะและโมหะข้างหน้าก็นัยนี้เหมือนกัน. ก็การก่อตัวขึ้นแห่งกิเลสทั้งหลายมีสักกายทิฏฐิเป็นต้นย่อมไม่มี เพราะความที่กิเลสเหล่านั้นอันพระโสดาบันละแล้ว.
               คำที่เหลือในที่ทั้งปวงง่ายทั้งนั้นแล.

               สุตตโสธนาจบ.               
               อรรถกถาปริหานิกถา จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา กถาวัตถุปกรณ์ ปริหานิกถา จบ.
อ่านอรรถกถา 37 / 1อ่านอรรถกถา 37 / 177อรรถกถา เล่มที่ 37 ข้อ 191อ่านอรรถกถา 37 / 255อ่านอรรถกถา 37 / 1898
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=37&A=2206&Z=3060
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=55&A=3600
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=55&A=3600
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๔  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :