ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 37 / 1อ่านอรรถกถา 37 / 1801อรรถกถา เล่มที่ 37 ข้อ 1809อ่านอรรถกถา 37 / 1814อ่านอรรถกถา 37 / 1898
อรรถกถา กถาวัตถุปกรณ์
วรรคที่ ๒๐ อสัญจิจจกถา

               อรรถกถาอสัญจิจจกถา               
               ว่าด้วยอสัญจิจจะ               
               บัดนี้ ชื่อว่าเรื่องอสัญจิจจะไม่แกล้ง คือไม่เจตนา.
               ในเรื่องนั้น ชนเหล่าใดมีความเห็นผิดดุจลัทธิของนิกายอุตตราปถกะทั้งหลายว่า "ขึ้นชื่อว่าอนันตริยวัตถุเป็นของหนักเป็นของใหญ่ เพราะฉะนั้น แม้ในวัตถุทั้งหลายเหล่านั้น อันผู้ใดทำให้เกิดแล้ว แม้โดยไม่ตั้งใจก็ย่อมเป็นอนันตริยกรรม ดังนี้.
               คำถามของสกวาทีว่า บุคคลปลงชีวิตมารดาโดยมิได้แกล้งเป็นต้น หมายถึงชนเหล่านั้น คำตอบรับรองด้วยสามารถแห่งลัทธิเป็นของปรวาที.
               ลำดับนั้น สกวาทีจึงกล่าวคำว่า บุคคลฆ่าสัตว์โดยมิได้แกล้ง เป็นต้นเพื่อท้วงว่า ขึ้นชื่อว่าอนันตริยกรรมเป็นกัมมบถ ถ้าว่าบุคคลไม่จงใจฆ่าสัตว์พึงเป็นประเภทกัมมบถไซร้ กรรมทั้งหลายที่เหลือแม้มีปาณาติบาตเป็นต้น ก็พึงเป็นกรรมไม่จงใจ ดังนี้
               ปรวาทีตอบปฏิเสธเพราะความไม่มีในลัทธิเช่นนั้น. คำที่เหลือพึงทราบตามพระบาลี.
               คำถามว่า ไม่พึงกล่าวว่า บุคคลผู้ฆ่ามารดาเป็นผู้ชื่อว่าทำอนันตริยกรรมหรือ เป็นของปรวาที. คำตอบรับรองของสกวาทีหมายเอาการฆ่าโดยไม่มีเจตนาในกาลที่ทำการเยียวยารักษาโรคเป็นต้น.
               แม้ในปัญหาว่า เขาได้ปลงชีวิตมารดาแล้วมิใช่หรือ คำตอบรับรอง สกวาทีนั้นนั่นแหละโดยหมายเอาการปลงชีวิตลงโดยไม่มีเจตนา. ก็ปรวาทีไม่ถือเอาคำอธิบายอย่างนี้ จึงให้ลัทธิของตนตั้งอยู่ด้วยคำว่า หากว่า เขาได้ปลงชีวิตมารดาแล้ว ดังนี้ แต่การตั้งลัทธินั้นย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะไม่ตั้งไว้โดยอุบายอันแยบคาย.
               แม้ปิตุฆาตเป็นต้น ก็นัยนี้นั่นแล.
               คำถามของสกวาทีว่า บุคคลผู้ทำสังฆเภท๑- เป็นผู้ชื่อว่าทำอนันตริยกรรมหรือ โดยหมายเอาผู้มีความสำคัญในธรรมในการแยกสงฆ์. คำตอบรับรองของปรวาทีเพราะถือเอาพระบาลีว่า บุคคลย่อมไหม้อยู่ในนรกตลอดกัลป์ เพราะทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกัน ดังนี้ โดยไม่พิจารณา.
____________________________
๑- คำว่า "สังฆเภท" แปลว่าการแยกสงฆ์ เพราะมีคำว่า ผู้มีความสำคัญในธรรมอันนี้ จัดเป็นประเภทที่ดีก็ได้ เช่นพระโมคคัลลีบุตรดิสสเถระปราบเดียรถีย์ทั้งหลายที่มาปลอมบวชในพระศาสนา หรือจะเรียกว่าเป็นธรรมวาทีนี้เป็นผู้ชื่อว่าทำอนันตริยกรรม แต่ไม่ตกอบาย. ส่วนสังฆเภท คือการแยกสงฆ์ของพระเทวทัตต์นั้น เป็นอธัมมวาที จัดเป็นสังฆเภทด้วย เป็นอนันตริยกรรมด้วย ตกนรกด้วย.

               ถูกถามอีกว่า บุคคลผู้ทำสังฆเภทเป็นผู้ชื่อว่าทำอนันตริยกรรมทั้งหมดหรือ ปรวาทีตอบปฏิเสธโดยหมายเอาบุคคลผู้มีความสำคัญในธรรมอันเป็นฝ่ายของตน. ย่อมตอบรับรองโดยหมายเอาบุคคลผู้มีความสำคัญในธรรมอันเป็นฝ่ายอื่น.
               แม้ใน ๒ ปัญหาว่า ธัมมสัญญี คือบุคคลเป็นผู้มีความสำคัญว่าถูกธรรม ก็นัยนี้นั่นแหละ.
               พระสูตรว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า ดูก่อนอุบาลี บุคคลผู้ทำสังฆเภท...มิใช่หรือ ดังนี้ สกวาทีกล่าวเพื่อแสดงซึ่งความที่บุคคลผู้เป็นธัมมวาทีเป็นผู้ชื่อว่า ทำอนันตริยกรรมโดยส่วนเดียวเท่านั้น ไม่ตกอบาย.
               อนึ่ง อธัมมวาทีนั่นแหละ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระประสงค์เอาในคาถาว่า จะต้องไปอบาย จะต้องไปนรกตั้งอยู่ตลอดกัลป์ดังนี้. แต่ปรวาทีไม่ถือเอาคำอธิบายนี้ จึงให้ลัทธิตั้งไว้. ลัทธินั้นชื่อว่าตั้งอยู่ไม่ได้เลยเพราะไม่ตั้งอยู่โดยอุบายอันแยบคาย ดังนี้แล.

               อรรถกถาอสัญจิจจกถา จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา กถาวัตถุปกรณ์ วรรคที่ ๒๐ อสัญจิจจกถา จบ.
อ่านอรรถกถา 37 / 1อ่านอรรถกถา 37 / 1801อรรถกถา เล่มที่ 37 ข้อ 1809อ่านอรรถกถา 37 / 1814อ่านอรรถกถา 37 / 1898
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=37&A=19164&Z=19259
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=55&A=6971
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=55&A=6971
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๙  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :