ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 37 / 1อ่านอรรถกถา 37 / 166อรรถกถา เล่มที่ 37 ข้อ 177อ่านอรรถกถา 37 / 191อ่านอรรถกถา 37 / 1898
อรรถกถา กถาวัตถุปกรณ์
ปุคคลกถา ปกิณณกะ

               อรรถกถาภวังนิสสาย ปัญหาทิ               
               ว่าด้วยปัญหาอาศัยภพเป็นต้น               
               ในปัญหาอาศัยภพ. คำว่า ภพ ได้แก่ อุปปัตติภพ ได้แก่ภพ คือการเกิด.
               ในปัญหาของผู้เสวยเวทนา อธิบายว่า พระโยคาวจรผู้เสวยอยู่ซึ่งเวทนา ผู้มีเวทนาอันกำหนดแล้วเทียวย่อมรู้ชัด ส่วนพาลปุถุชนย่อมไม่รู้. ปัญหามีคำว่า กายานุปัสสนาเป็นต้น มีเนื้อความง่ายทั้งนั้น
               ในกถาเบื้องต้นว่า โมฆราช เธอจงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ หยั่งเห็นโลกโดยความเป็นของสูญ เป็นต้น. อธิบายว่า จงพิจารณาโลกคือขันธ์ ด้วยสามารถแห่งความเป็นของว่างเปล่าจากสัตว์.
               คำว่า บุคคลหยั่งเห็นหรือ เป็นคำถามของสกวาที.
               จริงอยู่ ลัทธิของปรวาทีว่า ผู้ใดย่อมพิจารณาด้วยคาถาว่า เธอจงพิจารณาดูโลกโดยความเป็นของว่างเปล่า ดังนี้ ผู้นั้นเป็นบุคคล เพราะฉะนั้น สกวาทีจึงถามปัญหานั้นนั่นแหละ.
               คำว่า รวมกับรูป อธิบายว่า ร่วมกับรูปกาย ไม่ใช่เป็นผู้อาศัยรูปกายนั้น. เพราะการกำหนดรู้รูปนี้ด้วยสามารถแห่งปัญจโวการภูมิ สกวาทีจึงถามว่า ชีพก็อันนั้น อีก ปรวาทีตอบปฏิเสธ เพราะกลัวผิดจากพระสูตร.
               คำว่า เว้นจากรูป ความว่า เพราะตามรู้รูปนี้ไม่ได้ ด้วยสามารถแห่งจตุโวการภูมิ สกวาทีจึงถามอีกว่า ชีพเป็นอื่น ก็ปฏิเสธ เพราะกลัวผิดจากพระสูตร. คำว่า อยู่ภายในด้วย ออกไปภายนอกด้วย นี้ เป็นลักษณะถ้อยคำของสกวาทีผู้กล่าวภายหลังจากคำว่า ร่วมกับรูป หรือเว้นจากรูป
               บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า อยู่ภายใน ได้แก่ อยู่ภายในแห่งรูป. อธิบายว่า ไม่ออกไปข้างโน้นข้างนี้ เป็นสภาพตั้งอยู่ด้วยสามารถแห่งรูปปริเฉทนั่นเทียว.
               คำว่า ออกไป ได้แก่ การก้าวล่วงรูปปริเฉท. อธิบายว่า ไม่ได้อาศัยรูป.
               คำว่า อนัตตา ได้แก่ เว้นจากตน เว้นจากชีวะ เว้นจากบุคคล. อธิบายว่า แม้ธรรมสักอย่างหนึ่งชื่อว่าเป็นบุคคลย่อมไม่มี. บัณฑิตพึงทราบเนื้อความในอรรถกถาที่มาแห่งพระสูตรทั้งปวงโดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแหละ ด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง ข้าพเจ้าหมายเอาเนื้อความนี้จักกล่าวคำอันเป็นภาษิตนั่นเทียว.
               คำเป็นต้นว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสว่า หม้อเนยใสหรือ เป็นคำอันสกวาทีนำมาเพื่อแสดงว่า เทศนาทั้งปวงเทียว บัณฑิตไม่พึงถือเอาแต่เนื้อความโดยสามารถแห่งคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสไว้เท่านั้น เหมือนอย่างว่า หม้ออันเป็นวิการแห่งทองที่เขาเอาทองมาทำ ชาวโลกทั้งหลายย่อมเรียกว่าหม้อทองฉันใด ขึ้นชื่อว่าหม้อเนยใสเป็นวิการแห่งเนยใสอันเขาเอาเนยใสมาทำฉันนั้นก็หาไม่ ในคำนี้ พึงทราบเนื้อความอย่างนี้ว่า ก็เนยใสที่บุคคลใดใส่ไปในหม้อใด หม้อนั้นจึงได้ชื่อว่าหม้อเนยใสฉันนั้น.
               แม้ในคำว่า หม้อน้ำมันเป็นต้น ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               เหมือนอย่างว่า พระนิพพานเป็นธรรมชาติเที่ยง ยั่งยืน ฉันใด ภัตหรือข้าวยาคูย่อมเป็นธรรมชาติเที่ยง ยั่งยืน ฉันนั้นก็หาไม่ ในข้อนี้พึงทราบเนื้อความดังนี้ว่า นิตยภัต คือภัตที่ยั่งยืน หรือหมายถึงภัตที่เขาถวายประจำเป็นนิตย์. ธุวยาคู คือข้าวยาคูที่ยั่งยืน ท่านเรียกด้วยคำอันเป็นบัญญัติ ดังคำที่ว่า ก็พวกเราทั้งหลายไม่กำหนดกาลจักถวายนิตยภัต และธุวยาคูทุกๆ วัน ดังนี้.
               พึงทราบวินิจฉัยแม้ในคำว่า บุคคลผู้ปฏิบัติแล้วเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนมีอยู่ เป็นต้น ธรรมทั้งหลายมีรูปเป็นต้นมีอยู่ด้วยสามารถแห่งปัจจัตตลักขณะ คือลักษณะที่มีเฉพาะตน และสามัญญลักษณะ ฉันใด บุคคลย่อมมีอยู่นั้นก็หาไม่ ก็ครั้นเมื่อธรรมทั้งหลายมีรูปเป็นต้นมีอยู่ การร้องเรียกว่า อย่างนี้เป็นชื่อ อย่างนี้เป็นโคตรเป็นต้น ก็ย่อมมีอยู่ฉันนั้น ในข้อนี้พึงทราบเนื้อความอย่างนี้ว่า บุคคลชื่อว่ามีอยู่ เพราะเป็นโวหารของชาวโลก เพราะการสมมติของชาวโลก เพราะเป็นภาษาของชาวโลกนี้ ด้วยประการฉะนี้ สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสไว้ว่า ธรรมทั้งหลายเหล่านี้แล คือจิตเป็นสมัญญาของชาวโลก เป็นภาษาของชาวโลก เป็นโวหารของชาวโลก เป็นบัญญัติของชาวโลก ข้อนี้ท่านอธิบายว่า ก็ธรรมทั้งหลายมีรูปเป็นต้น แม้เว้นซึ่งการสมมติของชาวโลกก็ยังชื่อว่ามีอยู่ เพราะมีสภาวะให้รู้ได้ด้วยสามารถแห่งปัจจัตตลักขณะและสามัญญลักขณะ ดังนี้.

               สมมติกถาและปรมัตถกถา               
               อนึ่ง กถา คือถ้อยคำของพระพุทธเจ้าทั้งหลายมี ๒ คือสมมติกถาและปรมัตถกถา.
               ในกถาทั้ง ๒ นั้น คำว่า สัตว์ บุคคล เทวดา พรหม เป็นต้น ชื่อว่าสมมติกถา คำว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ขันธ์ ธาตุ อายตนะ สติปัฏฐานและสัมมัปธานเป็นต้น ชื่อปรมัตถกถา.
               บรรดากถาทั้ง ๒ เหล่านั้น บุคคลใดครั้นเมื่อคำว่า สัตว์ ฯลฯ หรือ พรหมเป็นต้น ที่พระองค์ทรงตรัสแล้วด้วยเทศนาอันเป็นของสมมติ ย่อมอาจเพื่อรู้ธรรม เพื่อแทงตลอด เพื่อออกไปจากสังสารวัฏ เพื่อถือเอาชัย คือพระอรหัตต์ได้ พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมกล่าวถึงคำว่า สัตว์ หรือบุคคล หรือบุรุษ หรือพรหม จำเดิมแต่ต้นทีเดียวสำหรับผู้นั้น.
               ส่วนผู้ใดสดับฟังคำว่า อนิจจัง ทุกขังเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่งด้วยปรมัตถเทศนาแล้วก็อาจเพื่อรู้ เพื่อแทงตลอด เพื่อออกไปจากสงสาร เพื่อถือเอาชัยคือพระอรหัตต์ได้ พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมตรัสคำอย่างใดอย่างหนึ่งในคำว่า อนิจจัง เป็นต้น เพื่อผู้นั้น ดังนี้. โดยทำนองเดียวกัน พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมไม่ตรัสปรมัตถกถาก่อน สำหรับสัตว์ผู้จะตรัสรู้ด้วยสมมติกถา ก็เพราะการตรัสรู้แห่งสัตว์ด้วยสมมติกถา พระองค์จึงทรงตรัสปรมัตถกถาในภายหลัง. เมื่อสัตว์ผู้จะตรัสรู้ด้วยปรมัตถกถาได้ พระองค์ก็ไม่ตรัสสมมติกถาก่อน เพราะว่าการตรัสรู้ของสัตว์ทั้งหลายอาศัยปรมัตถกถาได้ พระองค์จึงทรงตรัสสมมติกถาในภายหลัง.
               อนึ่ง โดยปกติพระองค์ย่อมตรัสสมมติกถาก่อนทีเดียว แล้วจึงตรัสปรมัตถกถาในภายหลัง ซึ่งเป็นการเทศนาที่ทำได้โดยง่าย เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลายจึงทรงแสดงสมมติกถาก่อน แล้วก็ตรัสปรมัตถกถาในภายหลัง. พระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้น แม้ตรัสอยู่ซึ่งสมมติกถา ชื่อว่าย่อมกล่าวซึ่งสัจจะนั่นแหละ ซึ่งสภาวะนั่นแหละจะชื่อว่าเป็นผู้กล่าวเท็จก็หาไม่ แม้เมื่อตรัสปรมัตถกา ก็ชื่อว่าย่อมกล่าวซึ่งสัจจะซึ่งสภาวะนั่นแหละ จะชื่อว่าเป็นผู้กล่าวคำเท็จก็หาไม่.
               จริงอยู่ บัณฑิตพึงทราบความนี้ว่า :-
                         ทุเว สจฺจานิ อกฺขาสิ   สมฺพุโธ วทตํ วโร
                         สมฺมตึ ปรมตฺถญฺจ    ตติยํ นูปลพฺภติ ฯ
               บรรดาผู้กล่าวกถาทั้งหลาย พระสัมพุทธะผู้ประเสริฐได้ตรัสบอกแล้วซึ่งสัจจะ ๒ คือสมมติสัจจะและปรมัตถสัจจะ ไม่ตรัสบอกสัจจะที่ ๓ ว่าเป็นสภาวะที่หยั่งเห็นได้.
               บรรดาสัจจะทั้ง ๒ เหล่านั้น สมมติสัจจะเป็นคำสำหรับกำหนดและเป็นเหตุแห่งการสมมติของชาวโลก ส่วนปรมัตถสัจจะเป็นคำปรมัตถะเป็นลักษณะแห่งธรรมทั้งหลาย.
               อีกนัยหนึ่ง เทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้ามี ๒ คือเป็นปรมัตถเทศนาด้วยสามารถแห่งคำว่า ขันธ์ เป็นต้น และเป็นสมมติเทศนาด้วยคำว่า หม้อเนยใสเป็นต้น. พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงชำระคำบัญญัติออกไปเหตุใด เพราะเหตุนั้นบัณฑิตไม่พึงทำความยึดถือคำเพียงสักว่า บุคคลมีอยู่.
               จริงอยู่ พระบรมศาสดามิได้ทรงละบัญญัติแล้วประกาศปรมัตถะ และมิได้ทรงชำระคำบัญญัติ เพราะฉะนั้น บัณฑิตแม้อื่นๆ เมื่อประกาศปรมัตถะก็ไม่พึงชำระคำบัญญัติ ฉันนั้น.
               คำที่เหลือในที่ทั้งปวงมีอรรถตื้นทั้งนั้น แล.

               ปัญหาอาศัยภพเป็นต้น จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา กถาวัตถุปกรณ์ ปุคคลกถา ปกิณณกะ จบ.
อ่านอรรถกถา 37 / 1อ่านอรรถกถา 37 / 166อรรถกถา เล่มที่ 37 ข้อ 177อ่านอรรถกถา 37 / 191อ่านอรรถกถา 37 / 1898
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=37&A=1937&Z=2205
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=55&A=3528
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=55&A=3528
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๔  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :