ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 37 / 1อ่านอรรถกถา 37 / 1454อรรถกถา เล่มที่ 37 ข้อ 1460อ่านอรรถกถา 37 / 1466อ่านอรรถกถา 37 / 1898
อรรถกถา กถาวัตถุปกรณ์
วรรคที่ ๑๑ อิทธิพลกถา

               อรรถกถาอิทธิพลกถา               
               ว่าด้วยกำลังแห่งฤทธิ์               
               บัดนี้ ชื่อว่าเรื่องกำลังแห่งฤทธิ์.
               ในเรื่องนั้น ชนเหล่าใดมีความเห็นผิดดุจลัทธิของนิกายมหาสังฆิกะทั้งหลายว่า ผู้ประกอบด้วยกำลังแห่งฤทธิ์พึงดำรงอยู่ได้ตลอดกัลป์ เพราะถือเอาเนื้อความแห่งอานิสงส์ของอิทธิบาทภาวนาโดยไม่พิจารณา คำถามของสกวาทีว่า ผู้ประกอบด้วยกำลังแห่งฤทธิ์พึงตั้งอยู่ได้ตลอดกัลป์หรือ โดยหมายถึงชนเหล่านั้น.
               ในปัญหานั้น ชื่อว่ากัลป์มี ๓ อย่าง คือ มหากัลป์ กัลปเอกเทส อายุกัลป์.
               จริงอยู่ มหากัลป์เท่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่ากัลป์ ซึ่งมาในพระบาลีว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อสงไขยแห่งกัลป์ ๔ เหล่านี้ ดังนี้. ในพระบาลีว่า กัลป์อันเป็นการประมาณอายุเทพชั้นพรหมทั้งหลายนี้ ท่านเรียกว่ากัลปเอกเทส. พระบาลีว่า ย่อมไหม้ในนรกตลอดกัลป์ ย่อมบันเทิงในสวรรค์ตลอดกัลป์ นี้ ท่านเรียกว่า อายุกัลป์ อธิบายว่า การดำรงอยู่แห่งอายุอันสมควรแก่อายุ ชื่อว่าการกำหนดอายุด้วยอำนาจผลแห่งกรรม หรือด้วยการนับปี.
               ในปัญหาเหล่านั้น สกวาทีย่อมถามหมายเอามหากัลป์ ปรวาทีก็ตอบรับรอง.
               ลำดับนั้น สกวาทีจึงกล่าวกะปรวาทีว่า อายุนั้นสำเร็จด้วยฤทธิ์เป็นต้น เพื่อท้วงด้วยคำว่า ถ้าว่า ผู้ประกอบด้วยกำลังแห่งฤทธิ์พึงเป็นอยู่ตลอดมหากัลป์หนึ่ง หรือตลอดส่วนหนึ่งแห่งมหากัลป์ซึ่งเกินกว่าอายุกัลป์ที่ท่านกำหนดไว้อย่างนี้ว่า ผู้ใดย่อมเป็นอยู่นาน ผู้นั้นก็พึงเป็นผู้มีอายุอยู่ตลอดร้อยปี หรือเกินกว่าเล็กน้อย ดังนี้ ก็อายุของผู้นั้น พึงสำเร็จด้วยฤทธิ์หรือ? ดังนี้.
               ปรวาทีตอบปฏิเสธ เพราะความที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า ชื่อว่าอินทรีย์ คือชีวิตที่สำเร็จด้วยฤทธิ์ย่อมไม่มี มีแต่การเกิดขึ้นด้วยกรรมเท่านั้น.
               มีคำถามว่า ก็ในข้อนี้มีอะไรแปลกจากผู้มีฤทธิ์ เพราะแม้ผู้ไม่มีฤทธิ์ก็พึงดำรงอยู่ตลอดอายุกัลป์ มิใช่หรือ?
               ตอบว่า พึงทราบข้อแปลกกันแห่งชนเหล่านั้นดังนี้ ผู้มีฤทธิ์นั้นสามารถห้ามอันตรายิกธรรมทั้งหลายมิให้เกิดเป็นไปแก่ชีวิตตลอดชีวิต ด้วยกำลังแห่งฤทธิ์ และย่อมอาจเพื่อจะห้ามอกาลมรณะ คือการตายในเวลาอันไม่สมควรที่จะมี ในระหว่าง แต่กำลังเช่นนี้ไม่มีแก่ผู้ไม่มีฤทธิ์ ข้อนี้เป็นการแตกต่างกันระหว่างผู้มีฤทธิ์กับผู้ไม่มีฤทธิ์เหล่านั้น.
               คำว่า พึงตั้งอยู่ตลอดกัลป์ที่เป็นอดีต...อนาคต นี้ ความว่า สกวาทีย่อมท้วงเพราะการตอบรับรองของปรวาที หมายเอาว่า พึงตั้งอยู่ตลอดกัลป์โดยไม่แปลกกัน.
               คำว่า พึงตั้งอยู่ตลอด ๒ กัลป์ เป็นต้น ท่านสกวาทีกล่าวเพื่อจะท้วงด้วยคำว่า ผิว่าผู้มีฤทธิ์ย่อมสามารถก้าวล่วงการกำหนดชีวิตได้ไซร้ ก็ไม่อาจก้าวล่วงการกำหนดชีวิตเพียงกัลป์เดียวเท่านั้น เขาพึงก้าวล่วงแล้วดำรงอยู่ตลอดกัลป์แม้มิใช่น้อยเลย.
               คำว่า บุคคลพึงได้เพื่อประคองไว้ด้วยฤทธิ์ว่า ผัสสะเกิดขึ้นแล้ว อย่าดับไป ดังนี้หรือ ท่านสกวาทีกล่าวเพื่อแสดงว่า สิ่งทั้งปวงไม่พึงได้ด้วยฤทธิ์ แม้สิ่งที่เหนืออำนาจฤทธิ์ก็ยังมีอยู่ ดังนี้.
               คำที่เหลือในที่นี้มีอรรถตื้นทั้งนั้น แล.

               อรรถกถาอิทธิพลกถา จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา กถาวัตถุปกรณ์ วรรคที่ ๑๑ อิทธิพลกถา จบ.
อ่านอรรถกถา 37 / 1อ่านอรรถกถา 37 / 1454อรรถกถา เล่มที่ 37 ข้อ 1460อ่านอรรถกถา 37 / 1466อ่านอรรถกถา 37 / 1898
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=37&A=14813&Z=14897
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=55&A=5808
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=55&A=5808
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๘  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :