ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 36.2 / 1อ่านอรรถกถา 36.2 / 84อรรถกถา เล่มที่ 36.2 ข้อ 104อ่านอรรถกถา 36.2 / 141อ่านอรรถกถา 36.2 / 152
อรรถกถา ปุคคลบัญญัติปกรณ์
บุคคลบัญญัติ จตุกกนิทเทส

               อรรถกถาจตุกกนิทเทส               
               อธิบายบุคคล ๔ จำพวก               
               อรรถกถาบุคคลผู้เป็นอสัตบุรุษเป็นต้น               
               บทว่า "อสปฺปุริโส" ได้แก่ บุรุษผู้ลามก คือบุรุษผู้ไม่มีธรรม.
               พึงทราบวิเคราะห์ต่างๆ ดังต่อไปนี้.
               บุคคลใด ย่อมยังสัตว์มีปราณ คือชีวิตให้ตกล่วงไป เพราะเหตุนั้น บุคคลนั้นชื่อว่า ปาณาติปาตี ผู้ยังสัตว์มีปราณคือชีวิตให้ตกล่วงไป.
               บุคคลใด ย่อมถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขามิได้ให้ เพราะเหตุนั้น บุคคลนั้นชื่อว่า อทินฺนาทายี ผู้ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขามิได้ให้.
               บุคคลใด ย่อมประพฤติผิดในกามทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น บุคคลนั้นชื่อว่า กาเมสุมิจฺฉาจารี ผู้ประพฤติผิดในกามทั้งหลาย.
               บุคคลใด ย่อมกล่าวคำเท็จ เพราะเหตุนั้น บุคคลนั้นชื่อว่า มุสาวาที ผู้กล่าวคำเท็จ.
               บุคคลใด ย่อมตั้งอยู่ในความประมาทด้วยการดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัย เพราะเหตุนั้น บุคคลนั้นชื่อว่า สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐายี ผู้ตั้งอยู่ในความประมาทด้วยการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย.
               ข้อว่า "ปาณาติปาเต สมาทเปติ" ความว่า ตนเองย่อมยังสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไปโดยประการใด ย่อมยังผู้อื่นให้ยึดถือเอาการยังสัตว์ที่มีชีวิตให้ตกล่วงไปนั้น โดยประการนั้น.
               แม้ในคำที่เหลือทั้งหลาย ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               สองบทว่า "อยํ วุจฺจติ" ความว่า บุคคลนี้ คือผู้เห็นปานนี้ ท่านเรียกว่า อสปฺปุริเสน อสปฺปุริสตโร ซึ่งแปลว่า ผู้เป็นอสัตบุรุษยิ่งกว่าอสัตบุรุษ เพราะเหตุที่ตนประกอบด้วยความเป็นผู้ทุศีลอันตนกระทำเองด้วย และตนก็เป็นทายาทแห่งกรรมกึ่งหนึ่งจากกรรมที่ตนชักชวนให้ผู้อื่นกระทำด้วย.
               บทว่า "สปฺปุริโส" ได้แก่ อุดมบุรุษคือบุรุษผู้สูงที่สุด.
               สองบทว่า "สปฺปุริเสน สปฺปุริสตโร" ความว่า ผู้ประกอบพร้อมด้วยความเป็นผู้มีศีลดีที่ตนเองกระทำแล้วนั่นแหละด้วย และเพราะเหตุที่ตนเป็นทายาทแห่งกรรมกึ่งหนึ่งจากกรรมที่ตนชักชวนให้ผู้อื่นกระทำด้วย จึงชื่อว่า อุตฺตมปฺปุริเสน อุตฺตมปฺปุริสตโร ซึ่งแปลว่า ผู้เป็นอุดมบุรุษยิ่งกว่าอุดมบุรุษ.

               อรรถกถาบุคคลผู้ลามกเป็นต้น               
               บทว่า "ปาโป" ความว่า ผู้ประกอบด้วยบาป ๑๐ ประการ คืออกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ.
               บทว่า "กลฺยาโณ" ความว่า ผู้ประกอบด้วยกัลยาณธรรม กล่าวคือกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ เป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นผู้เจริญ.
               คำที่เหลือในที่นี้มีอรรถอันตื้น เพราะเหตุว่ามีนัยที่ได้กล่าวไว้แล้วในหนหลังนั่นเทียว.

               อรรถกถาบุคคลผู้มีธรรมลามกเป็นต้น               
               ธรรมอันลามกของบุคคลนั้นมีอยู่ เพราะเหตุนั้น บุคคลนั้นชื่อว่า ปาปธมฺโม แปลว่า ผู้มีธรรมอันลามก. ธรรมอันงามของบุคคลนั้นมีอยู่ เพราะเหตุนั้น บุคคลนั้นชื่อว่า กลฺยาณธมฺโม แปลว่า ผู้มีธรรมอันงาม.
               คำที่เหลือในที่นี้มีเนื้อความง่ายทั้งนั้น.

               อรรถกถาบุคคลผู้มีโทษเป็นต้น               
               บทว่า "สาวชฺโช" ได้แก่ มีโทษ.
               สองบทว่า "สาวชฺเชน กายกมฺเมน" ได้แก่ ด้วยกายกรรมอันมีโทษมีปาณาติบาตเป็นต้น.
               แม้ในบททั้งหลายนอกจากนี้ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               สองบทว่า "อยํ วุจฺจติ" ความว่า บุคคลนี้ คือผู้เห็นปานนี้ ท่านเรียกว่า สาวชฺโช แปลว่า ผู้มีโทษ เพราะความที่กรรมอันประกอบด้วยไตรทวาร เป็นของมีโทษ ดุจประเทศที่เต็มไปด้วยของปฏิกูล มีคูถและซากศพเป็นต้น.
               สองบทว่า "สาวชฺเชน พหุลํ" ความว่า กายกรรมของบุคคลใดมีโทษเท่านั้นมาก ที่ไม่มีโทษมีน้อย บุคคลผู้นั้นชื่อว่าประกอบด้วยกายกรรมมีโทษมีมาก ที่ไม่มีโทษมีน้อย ท่านจึงเรียกว่า อปฺปํ อนวชฺเชน แปลว่า กายกรรมที่ไม่มีโทษมีน้อย.
               ในคำทั้งหลายนอกจากนี้ ก็มีนัยนี้นั่นแหละ.
               ถามว่า ก็ใครเล่าที่เห็นปานนี้?
               ตอบว่า ผู้ใดย่อมสมาทานอุโบสถศีล ย่อมบำเพ็ญศีลในกาลบางครั้งบางคราว ตามธรรมดาของชาวบ้าน หรือตามธรรมดาของชาวนิคม ผู้นั้นนั่นแหละ ชื่อว่าประกอบด้วยกรรมอันมีโทษเป็นส่วนมาก ที่ไม่มีโทษเป็นส่วนน้อย.
               สองบทว่า "อยํ วุจฺจติ" ความว่า บุคคลนี้ คือผู้เห็นปานนี้ ท่านเรียกว่า วชฺชพหุโล แปลว่า ผู้มากด้วยโทษ เพราะเหตุที่โทษนั่นแหละเป็นของมีมาก เพราะเป็นกรรมอันประกอบไว้ด้วยไตรทวาร.
               เหมือนอย่างว่า ดอกไม้ทั้งหลายมีสีไม่สวย ทั้งมีกลิ่นเหม็น บุคคลกระทำไว้ให้เป็นกองมีอยู่ในประเทศแห่งหนึ่ง วัตถุทั้งหลายมีแผ่นผ้าเป็นต้นที่เขาโยนไป พึงตกไปบนกองดอกไม้อันมีกลิ่นเหม็นนั้นในที่นั้นๆ ทำให้มีกลิ่นเหม็นฉันใด บุคคลนี้ คือผู้เห็นปานนี้ บัณฑิตพึงทราบฉันนั้น (หรือ) เหมือนอย่างว่า วัตถุทั้งหลายมีแผ่นผ้าเป็นต้นที่เขากระทำให้เป็นกอง พึงมีในประเทศแห่งหนึ่ง ดอกไม้ทั้งหลายมีดอกพุทราเป็นต้นที่มีสีไม่งาม มีกลิ่นเหม็น พึงตกไปบนกองแห่งผ้านั้นในที่นั้นๆ ฉันใด บุคคลที่ ๓ นี้ คือผู้เห็นปานนี้ บัณฑิตพึงทราบฉันนั้น. แต่ว่าบุคคลที่ ๔ บัณฑิตพึงเห็นดุจถาดทองคำอันเต็มแล้วด้วยมธุรสทั้ง ๔ เพราะความที่กรรมอันประกอบด้วยไตรทวารเป็นของหาโทษมิได้.
               บรรดาบุคคล ๔ จำพวกเหล่านั้น คือ สาวชฺโช ผู้มีโทษ ๑ วชฺชพหุโล ผู้มีโทษมาก ๑ อปฺปสาวชฺโช ผู้มีโทษน้อย ๑ อนวชฺโช ผู้ไม่มีโทษ ๑, บุคคลพวกที่ ๑ จัดเป็นอันธพาลปุถุชน คือปุถุชนผู้ทั้งบอดทั้งโง่. พวกที่ ๒ จัดเป็นโลกิยปุถุชน ผู้กระทำกุศลในระหว่างๆ. พวกที่ ๓ ได้แก่ พระโสดาบัน. แม้พระสกทาคามี พระอนาคามี ก็สงเคราะห์ด้วยบุคคลจำพวกที่ ๓. พวกที่ ๔ ได้แก่พระขีณาสพ.
               จริงอยู่ พระขีณาสพนั้น ชื่อว่า อนวชฺโช แปลว่า ผู้ไม่มีโทษเลย ข้อนี้เป็นนัยแห่งอรรถกถาอังคุตนิกาย.

               อรรถกถาบุคคลผู้อุคฆฏิตัญญูเป็นต้น               
               การยกญาณ คือปัญญาขึ้น ชื่อว่า อุคฺฆฏิตํ ซึ่งแปลว่า มีปัญญาอันเฉียบแหลม ในคำว่า อุคฺฏิตญฺญู นี้. อธิบายว่า ย่อมรู้ธรรมเพียงสักว่า อันท่านยกหัวข้อขึ้นแสดงเท่านั้นด้วยญาณ.
               ข้อว่า "สห อุทาหฏเวลาย" ได้แก่ ในการนำหัวข้อมาตั้งไว้ คือในขณะสักว่า นำอุเทศมาตั้งไว้เท่านั้น.
               บทว่า "ธมฺมาภิสมโย" ได้แก่ การตรัสรู้สัจธรรมทั้ง ๔ พร้อมด้วยญาณ คือปัญญา.
               สองบทว่า "อยํ วุจฺจติ" ความว่า บุคคลนี้เป็นผู้สามารถส่งญาณ คือปัญญาไปตามกระแสแห่งพระธรรมเทศนา ตามที่ท่านตั้งบทมาติกาโดยย่อมีนัยเป็นต้นว่า "จตฺตาโร สติปฏฺฐานา" แล้วจึงถือเอาพระอรหัตได้ ท่านจึงเรียกผู้นี้ว่า อุคฆฏิตัญญู ซึ่งแปลว่า ผู้เฉียบแหลม เพียงยกหัวข้อธรรมขึ้นแสดงเท่านั้นก็รู้ทันที.
               บุคคลใดย่อมรู้อรรถที่ท่านอธิบายทำให้พิศดารนั่นแหละ เพราะเหตุนั้น บุคคลนั้นจึงชื่อว่า วิปัญจิตัญญู แปลว่า ผู้รู้อรรถอันท่านอธิบายแล้ว.
               สองบทว่า "อยํ วุจฺจติ" ความว่า บุคคลนี้ คือผู้มีความสามารถเพื่อบรรลุพระอรหัต ในเมื่อมีผู้อื่นตั้งบทมาติกาไว้โดยย่อแล้วจำแนกเนื้อความโดยพิศดาร ท่านจึงเรียกว่า วิปัญจิตัญญู.

               วิเคราะห์ศัพท์ เนยยบุคคล               
               อุทฺเทสาทีหิ เนตพฺโพติ เนยฺโย บุคคลใดอันผู้อื่นพึงแนะนำด้วยบททั้งหลายมีอุเทศเป็นต้น เพราะเหตุนั้น บุคคลนั้นจึงชื่อว่า เนยฺโย ผู้อันบุคคลพึงแนะนำไป.
               สองบทว่า "อนุปุพฺเพน ธมฺมาภิสมโย" ได้แก่ การบรรลุพระอรหัตตามลำดับ.

               วิเคราะห์ศัพท์ ปทปรมบุคคล               
               พฺยญฺชนปทเมว ปรมํ อสฺสาติ ปทปรโม บทแห่งพยัญชนะนั่นเทียว เป็นอย่างยิ่งของบุคคลนั้นมีอยู่ เพราะเหตุนั้น บุคคลนั้นชื่อว่า ปทปรโม ผู้มีบทอย่างยิ่ง.
               ข้อว่า "น ตาย ชาติยา ธมฺมาภิสมโย โหติ" อธิบายว่า ปทปรมบุคคลนั้นไม่สามารถเพื่อจะทำฌาน วิปัสสนา มรรคผลให้เกิดขึ้นได้ด้วยอัตภาพนั้น.

               อรรถกถาบุคคลผู้โต้ตอบถูกต้องแต่ไม่ว่องไวเป็นต้น               
               ญาณ คือปัญญาก็ดี ถ้อยคำที่ตั้งขึ้นเพราะญาณก็ดี เรียกว่าปฏิภาณ คือความเฉียบแหลมในการโต้ตอบ. ปฏิภาณนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระประสงค์เอาในคำว่า ยุตฺตปฏิภาณ นี้.
               ปฏิภาณอันสมควรแก่เหตุและสมควรแก่ผล ของบุคคลนั้นมีอยู่ เพราะเหตุนั้น บุคคลนั้นชื่อว่า ยุตฺตปฏิภาโณ ผู้มีปฏิภาณอันถูกต้อง. ปฏิภาณอันไม่ว่องไวของบุคคลนั้นมีอยู่ เพราะความที่ตนเป็นผู้ไม่สามารถเพื่อจะโต้ตอบปัญหาได้โดยรวดเร็ว ในขณะที่เขาถามปัญหานั่นแหละ เพราะเหตุนั้น บุคคลนั้นชื่อว่า โนมุตฺตปฏิภาโณ แปลว่า ผู้มีปฏิภาณอันไม่ว่องไว. บุคคลที่เหลือบัณฑิตพึงทราบโดยนัยนี้.
               ก็ในบุคคลเหล่านี้ บุคคลจำพวกที่ ๑ พิจารณาปัญหาสิ้นเวลาเพียงเล็กน้อยแล้วจึงเพ่งปัญหาได้ถูกต้องนั่นเทียว เหมือนพระจูฬนาคเถระผู้ทรงพระไตรปิฎก ได้ยินว่า พระเถระนั้นถูกเขาถามปัญหา ท่านกำหนดปัญหาได้ถูกต้องและเหมาะสมทีเดียว.
               บุคคลจำพวกที่ ๒ ย่อมห้ามปัญหาในระหว่างที่เขาถามนั่นแหละ ด้วยถ้อยคำอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้ท่านพิจารณาปัญหาแล้วก็ยังตีความหมายปัญหาได้ไม่เหมาะสม เหมือนพระติสสเถระผู้ฉลาดเพียงนิกาย ๔ นัยว่า พระเถระนั้นถูกเขาถามปัญหาแล้ว ท่านรอคอยแม้การสิ้นสุดลงแห่งปัญหา แล้วท่านก็ตอบส่งๆ ไป ก็เนื้อความแห่งถ้อยคำที่ท่านพิจารณาอยู่ย่อมไม่สอดคล้องในที่ไหนๆ.
               บุคคลจำพวกที่ ๓ ท่านเพ่งเนื้อความอันสมควรแก่เวลาแห่งปัญหานั่นแหละ ย่อมตอบคำถามในขณะนั้นนั่นแหละ เหมือนพระจูฬาภัยเถระผู้ทรงพระไตรปิฎก ได้ยินว่า พระเถระนั้นถูกเขาถามปัญหาแล้วย่อมตอบได้โดยรวดเร็ว มีเหตุผลอันถูกต้องและเหมาะสมด้วย.
               บุคคลจำพวกที่ ๔ ถูกเขาถามปัญหาแล้วย่อมไม่เพ่งปัญหาให้ถูกต้องได้ ทั้งยังไม่อาจเพื่อจะห้ามด้วยถ้อยคำอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นดุจบุคคลผู้จมลงในความมืดทึบอันยิ่งเหมือนพระโลลุทายี.

               อรรถกถาบุคคลผู้เป็นธรรมกถึก ๔ จำพวก               
               สองบทว่า "อปฺปญฺจ ภาสติ" ความว่า ย่อมกล่าวเพียงเล็กน้อยแก่บริษัทผู้มาถึงแล้ว.
               บทว่า "อสหิตญฺจ" ความว่า ก็แลเมื่อกล่าว ก็ย่อมไม่กล่าวให้เหมาะสมแก่เหตุผล.
               ข้อว่า "ปริสา จสฺส อกุสลา โหติ" อธิบายว่า ก็บริษัทผู้นั่งประชุมกันเพื่อจะฟังธรรมมีอยู่ ภิกษุผู้ธรรมกถึกนั้น ย่อมไม่รู้ถ้อยคำที่ควรและไม่ควร มีเหตุหรือไม่มีเหตุ สละสลวยหรือไม่สละสลวย.
               บทว่า "เอวรูโป" ความว่า ผู้นี้ คือพระธรรมกถึกผู้โง่ ผู้มีชาติอย่างนั้นย่อมได้ชื่อว่าธรรมกถึกของบริษัทผู้โง่เขลา ผู้มีชาติอย่างนั้นนั่นเทียว. บัณฑิตพึงทราบเนื้อความในทุกๆ บทโดยนัยนี้.
               ก็ในพระธรรมกถึกเหล่านี้ พระธรรมกถึก ๒ พวกเท่านั้น ชื่อว่าเป็นพระธรรมกถึกโดยสภาวะ ส่วนพระธรรมกถึกนอกจากนี้ ท่านกล่าวไว้อย่างนั้น เพราะอยู่ในระหว่างแห่งพระธรรมกถึกทั้งหลาย.

               อรรถกถาบุคคลผู้เปรียบด้วยวลาหก ๔ อย่าง               
               บทว่า "วลาหกา" แปลว่า ก้อนเมฆ.
               บทว่า "คชฺชิตา" แปลว่า ฟ้าคำรามแล้ว.
               บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยในข้อนี้ว่า ขึ้นชื่อว่าฟ้าคำรามแล้วฝนไม่ตกย่อมเป็นบาป เพราะว่ามนุษย์ทั้งหลายคิดว่า เมื่อใดฟ้าร้องแล้ว ฝนก็จักงาม จึงพากันนำพืชออกหว่าน ครั้นเมื่อฝนไม่ตก พืชที่มีอยู่ในนาก็ฉิบหายไปในนานั่นแหละ พืชที่มีอยู่ในบ้านก็ฉิบหายไปในบ้านนั่นแหละ เพราะฉะนั้น คราวนั้นนั้นแหละทุพภิกขภัยย่อมมี จึงชื่อว่าเป็นบาป.
               แม้ภาวะที่ฟ้าไม่ร้อง แต่ฝนตกก็เป็นบาปนั่นแหละ เพราะว่ามนุษย์ทั้งหลายย่อมกระทำการหว่านพืชในนาลุ่มนั่นเทียวด้วยคิดว่า เวลานี้ฝนจักแล้ง ทีนั้นฝนก็เกิดตกขึ้น ได้ยังพืชทั้งหลายให้ถึงมหาสมุทร ในกาลนี้ทุพภิกขภัยนั่นแหละย่อมมี. แต่ว่าภาวะที่ฟ้าร้องแล้วฝนตก นับว่าเป็นความเจริญ เพราะว่าเวลานั้นเป็นเวลาที่มีภิกษาหาได้ง่าย. ภาวะที่ฟ้าไม่ร้อง ฝนก็ไม่ตก ชื่อว่าเป็นบาปหนักทีเดียว.
               ข้อว่า "ภาสิตา โหติ โน กตฺตา" ความว่า บุคคลกล่าวว่า บัดนี้ข้าพเจ้าจักบำเพ็ญคันถธุระ หรือจักบำเพ็ญวิปัสสนาธุระนั่นแหละ แต่ว่าไม่ถือเอาอุเทศและไม่เจริญกรรมฐาน.
               ข้อว่า "กตฺตา โหติ โน ภาสิตา" ความว่า บุคคลไม่กล่าวว่า บัดนี้ข้าพเจ้าจักบำเพ็ญคันถธุระ หรือจักบำเพ็ญวิปัสสนาธุระ แต่เมื่อถึงเวลาแล้ว เขาย่อมยังประโยชน์นั้นให้สำเร็จ. บัณฑิตพึงทราบบุคคลนอกจากนี้โดยนัยนี้ ก็คำนั้นแม้ทั้งหมดท่านกล่าวไว้สำหรับบุคคลผู้ถวายปัจจัยเท่านั้น.
               จริงอยู่ ทายกคนหนึ่งนิมนต์พระสงฆ์ด้วยกล่าวว่า "ข้าพเจ้าจักถวายทานในวันโน้น" ครั้นถึงเวลาแล้วก็ไม่กระทำ ผู้นี้ย่อมเสื่อมจากบุญ แม้ภิกษุสงฆ์ก็ย่อมเสื่อมจากลาภ (เปรียบได้กับฟ้าร้องฝนไม่ตก) ทายกอีกคนหนึ่งไม่นิมนต์พระสงฆ์เลยคิดว่า "เราจักทำสักการะ แล้วจักนำพระมา" เขาย่อมไม่ได้พระสงฆ์ เพราะพระสงฆ์ทั้งหมดถูกผู้อื่นนิมนต์ไปในที่อื่นเสียแล้ว บุคคลนี้ย่อมเสื่อมจากบุญ แม้สงฆ์ก็เสื่อมจากลาภนั้น (เปรียบได้กับฝนตกฟ้าไม่ร้อง)
               ฝ่ายทายกอีกพวกหนึ่งนิมนต์สงฆ์ก่อนแล้วจัดแจงสักการะในภายหลังแล้วจึงถวายทาน ผู้นี้ชื่อว่าย่อมทำกิจที่ถูกต้อง (เปรียบได้กับฟ้าร้องฝนตก). อีกพวกหนึ่ง สงฆ์ก็ไม่นิมนต์ ทานก็ไม่ถวาย ผู้นี้บัณฑิตพึงทราบว่าเป็นบาปบุคคล (เปรียบได้กับฟ้าไม่ร้องฝนไม่ตก).

               บุคคลผู้เปรียบด้วยหนู ๔ จำพวก               
               ข้อว่า "คาธํ กตฺตา โน วสิตา" ความว่า หนูจำพวกที่ ๑ ย่อมขุดรูให้เป็นที่อยู่อาศัยของตน แต่ไม่อยู่ในรูนั้น ไปอยู่เสียในที่แห่งหนึ่งนั้นเทียว เมื่อเป็นเช่นนี้ มันย่อมไปสู่อำนาจของอมิตรมีแมวเป็นต้น. บาลีว่า "ขตฺตา แปลว่า ขุด" ดังนี้บ้าง.
               ข้อว่า "วสิตา โน คาธํ กตฺตา" ความว่า หนูจำพวกที่ ๒ ไม่ขุดรูอยู่เอง แต่อาศัยรูที่ผู้อื่นขุดไว้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ยังชื่อว่ารักษาชีวิตไว้ได้. หนูจำพวกที่ ๓ กระทำกิจแม้ทั้ง ๒ อย่าง ย่อมรักษาชีวิตไว้ได้. หนูจำพวกที่ ๔ ไม่ทำกิจทั้ง ๒ อย่าง มันย่อมถึงอำนาจของอมิตร.
               ก็บรรดาบุคคลทั้งหลายที่ท่านอุปมาแล้วด้วยการเปรียบเทียบนี้
               บุคคลจำพวกที่ ๑ เรียนคำสั่งสอนของพระศาสดามีองค์ ๙ เหมือนกับหนูที่ขุดรูสำหรับอยู่ลึก คือเหมือนหนูนั้นไม่อยู่ในรูลึกที่ตนขุดเอาไว้ แต่ไปอยู่ในที่ใดที่หนึ่งนั้นแหละ ย่อมไปสู่อำนาจของอมิตร ฉันใด บุคคลแม้นี้ส่งญาณไปด้วยสามารถแห่งการศึกษาเล่าเรียน แต่มิได้แทงตลอดสัจธรรมทั้ง ๔ เมื่อประพฤติอยู่เช่นนี้ในที่โลกามิสทั้งหลาย เขาย่อมไปสู่อำนาจของอมิตรทั้งหลาย กล่าวคือมัจจุมาร กิเลสมารและเทวปุตตมาร ฉันนั้น.
               บุคคลจำพวกที่ ๒ ไม่เรียนคำสอนของพระศาสดามีองค์ ๙ (คือ ๑. สุตตะ, ๒. เคยยะ, ๓. เวยยากรณะ, ๔. คาถา, ๕. อุทาน, ๖. อิติวุตตกะ, ๗. ชาดก, ๘. อัพภูตธรรม ๙. เวทัลละ) เปรียบเหมือนหนูนั้นไม่ขุดรูอยู่ คือเหมือนอย่างว่า หนูนั้นอาศัยอยู่ในรูที่หนูอื่นขุดแล้ว มันย่อมรักษาชีวิตไว้ได้ ฉันใด ภิกษุผู้นี้ฟังธรรมกถาของผู้อื่นแล้วก็แทงตลอดสัจธรรมทั้ง ๔ ก้าวล่วงอำนาจของมารทั้ง ๓ ได้ ฉันนั้น.
               บัณฑิตพึงทราบการเปรียบเทียบอุปมาแม้ในบุคคลจำพวกที่ ๓ ที่ ๔ โดยนัยนี้.

               อรรถกถาบุคคลผู้เปรียบด้วยมะม่วง ๔ ชนิด               
               สองบทว่า "อามํ ปกฺกวณฺณี" ได้แก่ ผลมะม่วงที่ดิบในภายใน แต่ภายนอกเหมือนมะม่วงสุก.
               สองบทว่า "ปกฺกํ อามวณฺณี" ได้แก่ ภายในสุก แต่ภายนอกเหมือนมะม่วงดิบ.
               แม้ใน ๒ บทที่เหลือ ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ในคำเปรียบเทียบด้วยผลมะม่วงนั้นคือ ภาวะที่มะม่วงไม่สุก คือเป็นของดิบย่อมมีฉันใด แม้ในบุคคล ความเป็นปุถุชนเป็นเช่นมะม่วงดิบ ความเป็นพระอริยะก็เป็นเช่นกับมะม่วงสุกฉันนั้น.
               บัณฑิตพึงทราบการเปรียบเทียบด้วยการอุปมาในบุคคลที่ท่านอุปมาแล้ว โดยนัยนี้ว่า เหมือนอย่างว่า ความที่มะม่วงมีสีอันสุก เช่นกับมะม่วงสุกในมะม่วงทั้งหลายเหล่านั้น ฉันใด แม้ในบุคคล ความที่พระอริยเจ้าทั้งหลายมีวรรณะอันสุก คือความงาม เช่นกับด้วยความงามของอิริยาบถทั้งหลายมีการก้าวไปข้างหน้าเป็นต้น ก็ฉันนั้น.

               บุคคลผู้เปรียบด้วยหม้อ ๔ ชนิด               
               บทว่า "กุมฺโภ" แปลว่า หม้อ.
               บทว่า "ตุจฺโฉ" ได้แก่ ภายในว่าง.
               บทว่า "ปิหิโต" ได้แก่ หม้อที่เขาปิดปากตั้งไว้.
               บทว่า "ปูโร" ได้แก่ ภายในเต็ม.
               บทว่า "วิวโฏ" ได้แก่ หม้อที่เขาเปิดปากตั้งไว้.
               ก็ในบรรดาบุคคลที่ท่านอุปมาแล้วในที่นี้ บัณฑิตพึงทราบว่า ชื่อว่าเป็นบุคคลผู้เปล่า เพราะเว้นจากสาระ คือคุณความดีอันมีในภายใน และชื่อว่าเป็นผู้ปิด เพราะความเป็นผู้งามในภายนอก.
               แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน.

               อรรถกถาบุคคลผู้เปรียบด้วยห้วงน้ำ ๔ ชนิด               
               ก็เมื่อน้ำลึกมีประมาณแค่เข่า แต่ห้วงน้ำมีพื้นน้ำไม่ปรากฏ เพราะมีสีน้ำอันเจือกัน หรือเพราะเป็นน้ำขุ่น ชื่อว่าเป็นน้ำตื้น มีเงาอันลึก. ก็แม้น้ำลึกประมาณ ๓ หรือ ๔ บุรุษ ห้วงน้ำมีพื้นน้ำปรากฏ เพราะเป็นน้ำใส จึงชื่อว่าเป็นน้ำลึก มีเงาอันตื้น. ก็บัณฑิตพึงทราบห้วงน้ำทั้งสองนอกนี้ เพราะมีเหตุเป็นแดนเกิดพร้อมทั้ง ๒ เหตุ.
               แม้บุคคลผู้ประกอบด้วยอิริยาบถทั้งหลายมีการก้าวไปข้างหน้าเป็นต้นอันเป็นเช่นกับด้วยความลึกซึ้งแห่งคุณธรรมทั้งหลาย แต่เพราะความมีกิเลสหนา และเพราะความไม่มีแห่งคุณธรรมอันลึกซึ้ง จึงชื่อว่าเป็นเหมือนกับน้ำตื้น แต่มีเงาอันลึก (อุตฺตาโน คมฺภีโรภาโส นาม).
               บุคคลที่เหลือ บัณฑิตพึงทราบโดยนัยนี้.

               อรรถกถาบุคคลผู้เปรียบด้วยโคถึก ๔ จำพวก               
               พึงทราบโคถึกก่อน. โคตัวใดย่อมรบกวน คือย่อมทำฝูงโคพวกตนให้กลัว แต่สงบเสงี่ยม มีปกติเป็นสุขในฝูงโคหมู่อื่น โคตัวนี้ ชื่อว่าเป็นโคดุร้ายในพวกของตนแต่ไม่ดุร้ายในโคพวกอื่น.
               แม้บุคคลก็เช่นกัน เบียดเบียนทิ่มแทงบริษัทของตน มีการร้องเรียกด้วยถ้อยคำหยาบคาย แต่เป็นผู้สงบเสงี่ยม ประพฤติถ่อมตนในบริษัทผู้อื่น ชื่อว่าเป็นเหมือนโคที่ดุร้ายในฝูงตน แต่ไม่ดุร้ายในโคฝูงอื่นๆ.
               บุคคลแม้ที่เหลือ บัณฑิตพึงทราบโดยนัยนี้.
               ก็ในนิทเทสวาระในคำว่า "อุพฺเพชิตา โหติ" นี้ ได้แก่การกระทบกระทั่ง การเสียดแทง คือการทำอาการให้ตกใจกลัวนั่นแหละ.

               อรรถกถาบุคคลผู้เปรียบด้วยอสรพิษ ๔ จำพวก               
               พึงทราบอสรพิษก่อน. พิษของงูใดย่อมแล่นมาโดยเร็ว คือแผ่ซ่านไปโดยเร็ว แต่มีพิษไม่ร้ายทั้งไม่เบียดเบียนอยู่นาน พิษของงูนี้ ชื่อว่ามาแล้วเร็วแต่มีพิษไม่ร้าย.
               ในบทที่เหลือทั้งปวงก็มีนัยนี้เหมือนกัน และการจำแนกบุคคลก็มีเนื้อความอันง่ายทั้งนั้น.

               อรรถกถาบุคคลพูดติเตียนคนที่ควรติเตียนจริงแท้ตามกาล ฯลฯ เป็นต้น               
               บทว่า "อนนุวิจฺจ" ได้แก่ ไม่พิจารณา คือไม่สำรวจ.
               บทว่า "อปริโยคาเหตฺวา" ได้แก่ ไม่ให้ถือเอาซึ่งคุณทั้งหลายด้วยปัญญา.
               สองบทว่า "ภูตํ ตจฺฉํ" ได้แก่ ที่ชื่อว่าเป็นจริง เพราะเป็นของมีอยู่ ชื่อว่าเป็นของแท้ เพราะเป็นของไม่วิปริต.
               บทว่า "กาเลน" ได้แก่ ตามกาลอันควรและเหมาะสม.
               ข้อว่า "ตตฺร กาลญฺญู โหติ" ความว่า คำนี้ใด ท่านกล่าวไว้ว่า "กาเลน" ก็บุคคลใดเป็นกาลัญญู คือเป็นผู้รู้จักกาล เพื่อประโยชน์แก่การพยากรณ์ปัญหานั้นว่า กาลนี้เมื่อข้าพเจ้าถูกเขาถามปัญหาไม่ควรกล่าว ในกาลนี้ควรกล่าว" เพราะเหตุนี้ ผู้นี้จึงชื่อว่าย่อมกล่าวตามกาล.
               สองบทว่า "อุเปกฺโข วิหรติ" ได้แก่ เป็นผู้ตั้งอยู่ในอุเบกขาอันมีความเป็นกลาง.
               ในคำทุกๆ บทที่เหลือมีเนื้อความตื้นทั้งนั้น.

               อรรถกถาบุคคลผู้ดำรงชีพอยู่ด้วยผลแห่งความหมั่น ฯลฯ เป็นต้น               
               ผู้ใดให้เวลาล่วงไปตลอดวันด้วยความหมั่น คือความเพียรนั่นแหละ ได้วัตถุอย่างใดอย่างหนึ่งอันสักว่าเป็นผลอันไหลออกของความหมั่นนั้นแล้วสำเร็จการเลี้ยงชีพอยู่ ก็บุคคลอาศัยความหมั่นนั้นแล้วไม่ได้ผลแห่งบุญอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ท่านหมายเอาบุคคลผู้นั้น แล้วกล่าวคำเป็นต้นว่า "ยสฺส ปุคฺคลสฺส อุฏฺโต" ดังนี้.
               บทว่า "ตตูปรเทวา" ได้แก่ เทวดาทั้งหลายในเบื้องบน จากนั้นมีพวกพรหมเป็นต้น.
               จริงอยู่ ชื่อว่ากิจ คือการงาน ด้วยความขยันหมั่นเพียร ย่อมไม่มีแก่เทพเหล่านั้น พวกเทพเหล่านั้นอาศัยผลบุญเท่านั้นเป็นอยู่.
               คำว่า "ปุญฺญโต จ" นี้กล่าวหมายถึงชนทั้งหลายผู้มีบุญ มีกษัตริย์มหาศาล พราหมณมหาศาล และเทวดาทั้งหลายตั้งแต่ภุมมเทวดาจนถึงเทวดาชั้นนิมมานรดีเป็นที่สุด เพราะว่าเทวดาและมนุษย์เหล่านั้นแม้ทั้งปวง ย่อมเสวยผลแห่งความเพียรและผลแห่งบุญ.
               ส่วนสัตว์นรกทั้งหลาย ย่อมไม่อาจเพื่อทำอาชีพให้เกิดขึ้นด้วยความเพียรได้เลย ทั้งอาชีพอะไรๆ ที่จะเกิดขึ้นแก่สัตว์นรกเหล่านั้นด้วยผลแห่งบุญก็ไม่มี.

               อรรถกถาบุคคลผู้มืดมามืดไปเป็นต้น               
               บุคคลใดประกอบด้วยความมืดเป็นต้นว่า เกิดมาในตระกูลต่ำเป็นต้น เพราะเหตุนั้น ผู้นั้นจึงชื่อว่า ตโม แปลว่า ผู้มืด. บุคคลชื่อว่าตมปรายโน คือผู้มีความมืดเป็นไปในเบื้องหน้า เพราะการเข้าถึงความมืดในนรกอีก ด้วยทุจริตทั้งหลายมีกายทุจริตเป็นต้น.
               บทว่า "เนสาทกุเล" ได้แก่ ตระกูลนายพรานเนื้อเป็นต้น.
               คำว่า "เวนกุเล" ได้แก่ ตระกูลช่างจักสาน.
               คำว่า "ปุกฺกุสกุเล" ได้แก่ ตระกูลบุคคลผู้ทิ้งดอกไม้.
               คำว่า "กสิรวุตฺติเก" แปลว่า มีความเป็นอยู่ฝืดเคือง.
               บทว่า "ทุพฺพณฺโณ" ได้แก่ ผู้มีผิวพรรณดุจตอไม้ที่ถูกไฟไหม้ เหมือนปีศาจคลุกฝุ่น เล่นฝุ่น.
               บทว่า "ทุทฺทสฺสิโก" ได้แก่ ใครๆ เห็นไม่เป็นที่ชอบใจแม้แต่มารดาผู้บังเกิดเกล้าของตน.
               คำว่า "โอโกฏิมโก" แปลว่า เป็นคนเตี้ย.
               บทว่า "กาโณ" ได้แก่ มีตาบอดข้างหนึ่งหรือสองข้าง.
               บทว่า "กุณี" ได้แก่ มีมือง่อยข้างหนึ่งหรือสองข้าง.
               บทว่า "ขญฺโช" ได้แก่ มีเท้าเขยกข้างหนึ่งหรือสองข้าง.
               บทว่า "ปกฺขหโต" ได้แก่ ผู้ถูกโรคกำจัดไปแถบหนึ่ง คือเป็นผู้ง่อยเปลี้ย.
               บทว่า "ปทีเปยฺยสฺส" ได้แก่ อุปกรณ์แห่งประทีปมีน้ำมันและตะเกียงเป็นต้น.
               ในคำว่า "เอวํ ปุคฺคโล ตโม โหติ ตมปรายโน" นี้ท่านอธิบายไว้ว่า
               บุคคลพวกหนึ่งไม่เห็นแสงสว่างในภายนอก ทำกาละคือตายในท้องมารดานั่นแหละแล้วเกิดในอบายทั้งหลาย เขาย่อมท่องเที่ยวไปตลอดกัปทั้งสิ้น ชื่อว่า ตโม ตมปรายโน คือผู้มืดมามืดไปนั่นเทียว และเขาผู้นั้นพึงเป็นกุหกบุคคล คือบุคคลผู้หลอกลวง ก็การบังเกิดของกุหกบุคคลนั้น มีสภาวะเห็นปานนี้.
               อนึ่ง ในอธิการนี้ ท่านแสดงการวิบัติแห่งการมา และความวิบัติแห่งปัจจัยที่เกิดขึ้นในเบื้องต้นของเขา ด้วยคำว่า "นีเจ กุเล ปจฺจาชาโต โหติ จณฺฑาลกุเล วา" ดังนี้เป็นต้น ซึ่งแปลความว่า ผู้เกิดมาแล้วในตระกูลต่ำหรือตระกูลจัณฑาล.
               ท่านแสดงความวิบัติแห่งปัจจัยของกุหกบุคคลนั้น ด้วยคำเป็นต้นว่า "ทลิทฺเท" แปลว่า ขัดสน.
               ท่านแสดงความวิบัติแห่งอุบายเป็นเครื่องเลี้ยงชีพของเขา ด้วยคำเป็นต้นว่า "กสิรวุตฺติเก" แปลว่า ผู้เป็นอยู่ลำบาก.
               ท่านแสดงความวิบัติแห่งรูปของเขา ด้วยคำเป็นต้นว่า "ทุพฺพณฺโณ" แปลว่า มีวรรณะทราม.
               ท่านแสดงความประกอบพร้อมด้วยเหตุแห่งทุกข์ของเขา ด้วยคำเป็นต้นว่า "พหฺวาพาโธ" แปลว่า มีอาพาธมาก.
               ท่านแสดงความวิบัติด้วยเหตุแห่งความสุข และความวิบัติแห่งเครื่องอุปโภค ด้วยคำเป็นต้นว่า "น ลาภี" แปลว่า ไม่มีลาภ.
               ท่านแสดงความประกอบเหตุแห่งความมีความมืดเป็นที่ไปในเบื้องหน้า ด้วยคำเป็นต้นว่า "กาเยน ทุจฺจริตํ" แปลว่า มีกายทุจจริตเป็นต้น.
               ท่านแสดงความเข้าถึงความมืดในภพเบื้องหน้า ด้วยคำเป็นต้นว่า "กายสฺส เภทา" แปลว่า เพราะกายแตกทำลาย.
               บัณฑิตพึงทราบธรรมฝ่ายขาว โดยนัยตรงข้ามกับคำที่กล่าวแล้ว.
               อีกประการหนึ่ง ในอธิการนี้ ท่านกล่าวคำอธิบายไว้ว่า บุคคลประกอบด้วยความรุ่งเรืองมีการเกิดในภายหลัง เพราะความถึงพร้อมด้วยตระกูล ๓ อย่าง คือกษัตริย์มหาศาล พราหมณมหาศาลและคหบดีมหาศาล ชื่อว่าโชติ ผู้รุ่งเรือง คือผู้สว่างมา และชื่อว่าโชติปรายโน แปลว่า ผู้สว่างไปข้างหน้า เพราะความเข้าถึงความเป็นผู้สว่าง คือการอุบัติขึ้นในภพสวรรค์ ด้วยสุจริตทั้งหลายมีกายสุจริตเป็นต้น.
               บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยในคำว่า "ขตฺติยมหาสาลกุเล วา" เป็นต้น บทว่า "ขตฺติยมหาสาลา" ได้แก่ กษัตริย์ผู้มีทรัพย์อันเป็นสาระมาก คือว่ากษัตริย์ผู้ถึงพร้อมด้วยสาระแห่งสมบัติมาก.
               ก็กษัตริย์เหล่าใดมีพระราชทรัพย์อย่างต่ำประมาณร้อยโกฏิอันเป็นทุนนอน และได้ตั้งขุมทรัพย์ไว้ ๓ หม้อกระทำให้เป็นกองในท่ามกลางเรือนเพื่อประโยชน์แก่การใช้สอย กษัตริย์เหล่านั้นชื่อว่าขัตติยมหาศาล. พราหมณ์เหล่าใดมีทุนทรัพย์ประมาณ ๘๐ โกฏิ ตั้งขุมทรัพย์ไว้หม้อครึ่งสำหรับใช้สอยในบ้าน พราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่าพราหมณมหาศาล. คหบดีเหล่าใดมีทุนทรัพย์ ๔๐ โกฏิ ตั้งขุมทรัพย์ไว้หนึ่งหม้อกระทำให้เป็นกองในท่ามกลางเรือนเพื่อต้องการใช้สอยในบ้าน คหบดีเหล่านั้นชื่อว่าคหบดีมหาศาล.
               อธิบายว่า บุคคลผู้รุ่งเรืองคือผู้สว่างมานั้น เกิดในตระกูลแห่งชนเหล่านี้.
               บทว่า "อฑฺเฒ" ได้แก่ ความเป็นอิสระ ชื่อว่ามีทรัพย์มาก เพราะมีทรัพย์อันเป็นทุนนอนมาก. ชื่อว่ามีโภคะมาก เพราะมีเครื่องอุปโภค มีภาชนะเงินเป็นต้นมาก. ชื่อว่ามีทองเงินมาก เพราะมีทองและเงินอันเป็นต้นทุนเก็บไว้มากๆ ชื่อว่ามีอุปกรณ์แห่งทรัพย์เป็นเครื่องปลื้มใจ คือมีเหตุแห่งความยินดีมาก. ชื่อว่ามีทรัพย์และธัญญาหารมาก เพราะมีวัตถุทั้งหลายมีโคและทรัพย์เป็นต้นด้วย มีธัญญาหาร ๗ ชนิดด้วยมาก.
               คำว่า "อภิรูโป" แปลว่า มีรูปงาม.
               คำว่า "ทสฺสนีโย" แปลว่า น่าทัศนา คือสมควรแล้วแก่อันใครๆ จะละการงานอย่างอื่นแล้วมองดูแม้ตลอดวัน.
               คำว่า "ปาสาทิโก" แปลว่า นำมาซึ่งความเลื่อมใสแห่งจิต ด้วยการเห็นนั่นแหละ.
               คำว่า "ปรมาย" แปลว่า สูงที่สุด.
               บทว่า "วณฺณโปกฺขรตาย" ได้แก่ วรรณะแห่งสรีระ สรีระ ท่านเรียกว่า โปกฺขรํ. อธิบายว่า เพราะความถึงพร้อมด้วยวรรณะแห่งสรีระนั้น.
               บทว่า "สมนฺนาคโต" ได้แก่ เข้าถึงแล้ว.
               บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยในคำ "โอณโตณตา" เป็นต้น ชื่อว่าผู้ต่ำ เพราะเว้นจากสมบัติในทิฏฐธรรมิกภพหรือในสัมปรายิกภพ. อธิบายว่า เป็นผู้ต่ำ คือเป็นผู้ลามก. ชื่อว่าผู้สูง เพราะความเป็นสภาพตรงกันข้ามกับคนต่ำนั้น. อธิบายว่า ผู้สูง คือเป็นผู้เลิศ. คำที่เหลือในที่นี้บัณฑิตพึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในคำว่า ผู้มืด เป็นต้น.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า "โอณโตณโต" ความว่า บัดนี้ คือชาตินี้เป็นผู้ต่ำ แม้ต่อไป คือชาติต่อไป ก็จะเป็นผู้ต่ำนั่นแหละ.
               บทว่า "โอณตุณฺณโต" ความว่า ชาตินี้เป็นผู้ต่ำ แต่ชาติต่อไปจักเป็นผู้สูง.
               บทว่า "อุณฺณโตณโต" ความว่า ชาตินี้เป็นผู้สูง แต่ชาติต่อไปจักเป็นผู้ต่ำ.
               บทว่า "อุณฺณตุณฺณโต" ความว่า ชาตินี้เป็นผู้สูง แม้ชาติต่อไปก็จักเป็นผู้สูง.

               อรรถกถาบุคคลผู้เปรียบด้วยต้นไม้ ๔ จำพวก               
               พึงทราบต้นไม้มีกระพี้ บริวารมีแก่นก่อน. ต้นไม้เจริญที่สุดในป่าตัวเองมีกระพี้ แต่บริวารมีแก่น. คำที่เหลือ พึงทราบโดยนัยนี้ ก็ในบุคคลทั้งหลาย บัณฑิตพึงทราบความที่บุคคลผู้เป็นเช่นกับต้นไม้มีกระพี้ เพราะเว้นจากสาระคือศีล และพึงทราบความที่บุคคลผู้เปรียบด้วยต้นไม้มีแก่น เพราะประกอบด้วยสาระคือศีล.

               อรรถกถาบุคคลผู้ถือรูปเป็นประมาณ เลื่อมใสในรูปเป็นต้น               
               บุคคลใด ย่อมกระทำรูปอันสมควรแก่สมบัติให้เป็นประมาณ เพราะเหตุนั้น บุคคลนั้นจึงชื่อว่า รูปปฺปมาโณ แปลว่า ผู้กระทำรูปให้เป็นประมาณ. บุคคลใด ย่อมยังความเลื่อมใสให้เกิดในรูปอันควรแก่สมบัตินั้น เหตุนั้น บุคคลนั้นจึงชื่อว่า รูปปฺปสนฺโน แปลว่า ผู้เลื่อมใสในรูป.
               บุคคลใดย่อมกระทำเสียงอันเป็นกิตติศัพท์ให้เป็นประมาณ เพราะเหตุนั้น บุคคลนั้นจึงชื่อว่า โฆสปฺปมาโณ แปลว่า ผู้ถือเสียงเป็นประมาณ.
               วินิจฉัยในคำว่า "อาโรหํ ว" เป็นต้น ก็คำว่า "อาโรหํ" ได้แก่ สูงขึ้นไป.
               คำว่า "ปริณาหํ" ได้แก่ มีรูปสมบัติอันสมบูรณ์โดยรอบ ปราศจากความผอมและอ้วน.
               บทว่า "สณฺฐานํ" ได้แก่ ความเป็นของคงที่แห่งอวัยวะใหญ่น้อยทั้งหลาย ในที่ที่ควรแล้ว มีความยาว สั้นและกลมเป็นต้น.
               บทว่า "ปริปูรึ" ได้แก่ ความไม่บกพร่องของอวัยวะทั้งหลายมีประการตามที่กล่าวแล้ว หรือความเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยลักษณะ.
               บทว่า "ปรวณฺณนาย" ได้แก่ เพราะการพรรณนาคุณ อันผู้อื่นเปล่งออกแล้วในที่ลับหลัง.
               บทว่า "ปรโถมนาย" ได้แก่ การสดุดี (การยกย่อง) ที่ผู้อื่นกล่าวไว้ด้วยสามารถแห่งการชมเชย มีการนิพนธ์ผูกเป็นคาถาไว้เป็นต้น.
               บทว่า "ปรปสํสนาย" ได้แก่ การสรรเสริญคุณที่ผู้อื่นกล่าวเฉพาะหน้า.
               บทว่า "ปรวณฺณหาริกาย" ได้แก่ การนำการสรรเสริญคุณ ที่ผู้อื่นให้เป็นไปด้วยอำนาจการชมเชยต่อๆ กันไป.
               บทว่า "จีวรลูขํ" ได้แก่ ความที่จีวรเป็นของเศร้าหมอง โดยภาวะมีสีไม่ดีเป็นต้น.
               บทว่า "ปตฺตลูขํ" ได้แก่ ความที่ภาชนะเป็นของเศร้าหมองด้วยสี สัณฐานและพัศดุ.
               บทว่า "เสนาสนลูขํ" ได้แก่ ความที่เสนาสนะเป็นของเศร้าหมอง เพราะเว้นจากสมบัติของนักฟ้อนรำเป็นต้น.
               บทว่า "วิวิธํ" ได้แก่ มีประการต่างๆ โดยความเป็นของอเจลก (ชีเปลือย) เป็นต้น.
               บทว่า "ทุกฺกรการิกํ" ได้แก่ การกระทำสรีระของตนให้เร่าร้อน.
               อปโร นโย อีกนัยหนึ่ง ก็บุคคล ๔ จำพวกนี้ บุคคลผู้ถือประมาณในรูปแล้วเลื่อมใส ชื่อว่า รูปปฺมาโณ แปลว่า ผู้ถือรูปเป็นประมาณ.
               บทว่า "รูปปฺปสนฺโน" แปลว่า ผู้เลื่อมใสในรูป ได้แก่ เป็นการกล่าวถึงเนื้อความของบุคคลผู้ถือรูปเป็นประมาณนั้นนั่นแหละ. บุคคลผู้ถือเสียงเป็นประมาณแล้วเลื่อมใส ชื่อว่า โฆสปฺปมาโณ แปลว่า ผู้ถือเสียงเป็นประมาณ. บุคคลผู้ถือประมาณในจีวรที่เศร้าหมอง และบาตรที่เศร้าหมองแล้วเลื่อมใส ชื่อว่า ลูขปฺปมาโณ แปลว่า ผู้ถือความเศร้าหมองเป็นประมาณ. บุคคลผู้ถือธรรมเป็นประมาณแล้วก็เลื่อมใส ชื่อว่า ธมฺมปฺปมาโณ แปลว่า ผู้ถือธรรมเป็นประมาณ. คำนอกจากนี้ เป็นการกล่าวถึงเนื้อความของบุคคล ๔ จำพวกเหล่านั้นนั่นแหละ.
               ก็สัตว์โลกทั้งหมดแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน ที่ถือรูปเป็นประมาณมี ๒ ส่วน ที่ไม่ถือมี ๑ ส่วน. สัตว์โลกทั้งหมดแบ่งออกเป็น ๕ ส่วน ที่ถือเสียงเป็นประมาณมี ๔ ส่วน ที่ไม่ถือมี ๑ ส่วน. สัตวโลกทั้งหมดแบ่งออกเป็น ๑๐ ส่วน ที่ถือความเศร้าหมองเป็นประมาณมี ๙ ส่วน ที่ไม่ถือมี ๑ ส่วน. สัตว์โลกทั้งหมดแบ่งออกเป็นแสนส่วน ส่วนเดียวเท่านั้นถือธรรมเป็นประมาณ ส่วนที่เหลือไม่ถือธรรมเป็นประมาณ โลกสันนิวาสนี้ถือประมาณ ๔ อย่างอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               ในโลกสันนิวาสมีประมาณ ๔ อย่างนี้ ผู้ที่ไม่เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าทั้งหลายมีประมาณน้อย ที่เลื่อมใสมีมาก เพราะว่าบุคคลผู้ถือรูปเป็นประมาณ ชื่อว่ารูปอันนำมาซึ่งความเลื่อมใส ยิ่งกว่ารูปของพระพุทธเจ้า ย่อมไม่มี.
               ผู้ที่ถือเสียงเป็นประมาณ ชื่อว่าเสียงอันนำมาซึ่งความเลื่อมใสยิ่งกว่าเสียงประกาศเกียรติคุณของพระพุทธเจ้า ย่อมไม่มี.
               ผู้ที่ถือความเศร้าหมองเป็นประมาณ ชื่อว่าความเศร้าหมองอื่นอันนำความเลื่อมใสมา ที่ยิ่งกว่าความเศร้าหมองของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นพระพุทธเจ้า ผู้ละผ้าทั้งหลายที่เขาทอในแคว้นกาสี ละภาชนะทองคำอันมีค่ามาก และละปราสาทอันประกอบด้วยสมบัติทั้งปวงอันสมควรแก่ฤดูกาลทั้ง ๓ แล้ว เสพผ้าบังสุกุลจีวร บาตรอันสำเร็จด้วยศิลา และเสนาสนะมีโคนไม้เป็นต้น ย่อมไม่มี.
               ผู้ที่ถือธรรมเป็นประมาณ ชื่อว่าคุณมีศีลเป็นต้นอื่นอันนำมาซึ่งความเลื่อมใส อันยิ่งกว่าคุณมีศีลเป็นต้นของพระตถาคต ผู้มีศีลาทิคุณอันไม่ทั่วไปในโลกนี้ตลอดเทวโลก ย่อมไม่มี ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำรงอยู่ เป็นเสมือนหนึ่งถือเอาโลกสันนิวาสมีประมาณ ๔ นี้ ด้วยกำมือฉะนี้แล.

               อรรถกถาบุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนเป็นต้น               
               วินิจฉัยในคำว่า ผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ตน เป็นต้น.
               บทว่า "สีลสมฺปนฺโน" ได้แก่ ผู้ถึงพร้อมแล้ว คือผู้สมบูรณ์ด้วยศีล. ในบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิเป็นต้นก็มีนัยนี้เหมือนกัน. ก็ในคำว่า ผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยศีลเป็นต้นนั้น ศีล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ทั้งโลกียศีลและโลกุตตรศีล. สมาธิและปัญญาก็เหมือนกัน. วิมุตติ ได้แก่วิมุตติแห่งอรหัตตผล. วิมุตติญาณทัสสนะ ได้แก่ปัจจเวกขณญาณ มี ๑๙ อย่าง.
               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า "โน ปรํ" เป็นต้น ก็บุคคลกล่าวกับผู้อื่นว่า แม้ท่านก็สมควรถึงพร้อมด้วยศีล แต่ตนเองสมาทานศีลโดยวิธีใด ย่อมไม่ชักชวน ไม่ยังบุคคลอื่นให้ถือเอาโดยวิธีนั้น. ในทุกๆ บท ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ก็บรรดาบุคคล ๔ จำพวกเหล่านั้น บัณฑิตพึงทราบว่า บุคคลพวกที่ ๑ ย่อมเป็นเช่นกับพระเถระ ชื่อว่าพกุละ. พวกที่ ๒ เป็นเช่นกับพระอุปนันทศากยบุตร. พวกที่ ๓ เป็นเช่นกับพระสารีบุตรเถระและพระโมคคัลลานเถระ. พวกที่ ๔ เป็นเช่นกับพระเทวทัต.

               อรรถกถาบุคคลผู้ทำตนให้เดือดร้อนเป็นต้น               
               บุคคลใด ย่อมทรมานตน คือย่อมทำตนให้ถึงความทุกข์ เพราะเหตุนั้น บุคคลนั้นจึงชื่อว่า อตฺตนฺตโป แปลว่า ผู้ทำตนให้เร่าร้อน. การประกอบตามในการยังตนให้เร่าร้อน ชื่อว่า อตฺตปริตาปนานุโยคํ.
               บทว่า "อเจลโก" ได้แก่ ผู้ไม่นุ่งผ้า คือผู้เปลือยกาย. บทว่า "มุตฺตาจาโร" แปลว่า ผู้มีอาจาระอันสลัดทิ้งแล้ว. บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยในคำว่า "อุจจารกรรม" เป็นต้น ได้แก่ บุคคลผู้เว้นจากอาจาระของกุลบุตรชาวโลกดำรงชีวิตอยู่ ทำการเคี้ยวกิน คือบริโภคอุจจาระ ปัสสาวะ.
               บทว่า "หตฺถาวเลขโน" ความว่า เมื่อก้อนอุจจาระติดมือ ก็ใช้ลิ้นเลีย.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านแสดงไว้ว่า ถ่ายอุจจาระแล้วเป็นผู้มีความสำคัญว่ามีท่อนไม้ในมือนั่นแหละแล้วก็บริโภคด้วยมือ. ได้ยินว่า ชนเหล่านั้นย่อมบัญญัติท่อนไม้ว่า เป็นสัตว์ เพราะฉะนั้น เมื่อเขา (เดียรถีย์) จะบำเพ็ญปฏิปทาของชนเหล่านั้น จึงกระทำอย่างนั้น.
               ผู้ใด อันบุคคลอื่นกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ท่านจงมาเพื่อประโยชน์แก่การรับภิกขา ก็ไม่มา เพราะฉะนั้น ผู้นั้นจึงชื่อว่า นเอหิภทนฺติโก. ผู้ใด แม้อันผู้อื่นกล่าวว่าผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงยืนอยู่ ก็ไม่ยืนอยู่ เพราะเหตุนั้น ผู้นั้นจึงชื่อว่า นติฏฺฐภทนฺติโก.
               ก็เดียรถีย์ทั้งหลายย่อมไม่กระทำตามคำของบุคคลนั้นทั้ง ๒ อย่างด้วยคิดว่า คำของผู้นั้น จักเป็นกรรมอันเรากระทำแล้ว.
               บทว่า "อภิหฏํ" ได้แก่ ภิกษาที่เขาถือเอาก่อน แล้วนำมาให้.
               บทว่า "อุทฺทิสฺส กตํ" ได้แก่ ภิกษาที่เขาบอกอย่างนี้ว่า ภิกษานี้เขาทำเฉพาะท่าน.
               บทว่า "นิมนฺตนํ" ได้แก่ ไม่ยินดีและไม่ถือเอา แม้ภิกษาที่เขานิมนต์อย่างนี้ว่า ท่านจงเข้าไปสู่ตระกูล หรือถนน หรือบ้านชื่อโน้น.
               บทว่า "น กุมฺภีมุขา" ได้แก่ ไม่รับภิกษาที่บุคคลคดจากหม้อแล้วให้.
               บทว่า "น กโฬปิมุขา" ความว่า หม้อหรือกระเช้า ชื่อว่า กโฬปิ แปลว่า ภาชนะ เขาย่อมไม่รับอาหารจากภาชนะนั้น ด้วยการคิดว่า เพราะเหตุไร? จึงเอาทัพพีกระทบหม้อข้าวและภาชนะ.
               บทว่า "น เอฬกมนฺตรํ" ได้แก่ ไม่รับภัตที่เขาทำธรณีประตูคั่นแล้วให้.
               ถามว่า เพราะเหตุไร? แก้ว่า เขาคิดว่า บุคคลนี้อาศัยเราแล้วจะได้มีการกระทำที่มีระหว่างคั่น. แม้ในท่อนไม้และสากก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า "ทฺวินฺนํ" ได้แก่ เมื่อ ๒ คนกำลังบริโภคอาหารอยู่ คนหนึ่งลุกขึ้นแล้วให้ภิกษาอยู่ ไม่ยอมรับ.
               ถามว่า เพราะเหตุไร? ตอบว่า เขาคิดว่า อันตรายสำหรับก้อนข้าวจะมี.
               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า "น คพฺภินิยา" เป็นต้น.
               ก็ทารกอยู่ในท้องของหญิงมีครรภ์ย่อมลำบาก. อันตรายแห่งน้ำนมของทารกผู้ดื่มอยู่ย่อมมี. ไม่ยอมรับภิกษาด้วยคิดว่า อันตรายแห่งความยินดีย่อมมีแก่หญิงผู้ไปสู่ระหว่างแห่งบุรุษ.
               บทว่า "น สงฺกิตฺตีสุ" ได้แก่ ภัตที่ทำรวมกันไว้.
               ได้ยินว่า ในสมัยที่มีภิกษาหาได้ยาก พวกสาวกของชีเปลือยทั้งหลายพากันรวบรวมข้าวสารเป็นต้นจากที่นั้นๆ เพื่อประโยชน์แก่ชีเปลือยทั้งหลายแล้วจึงหุงข้าว ชีเปลือยผู้อุกฤษฎ์ไม่ยอมรับภิกษาจากที่นั้น.
               บทว่า "น ยตฺถ สา" ได้แก่ เขาเลี้ยงสุนัขไว้ในที่ใด ด้วยตั้งใจว่า เราจักได้การเลี้ยงชีพ ไม่ยอมรับภิกษาที่เขาไม่ให้แก่สุนัขแล้วนำมาในที่นั้น.
               ถามว่า เพราะเหตุไร? ตอบว่า เขาคิดว่า อันตรายแห่งก้อนข้าวของสุนัขนั้นจะมี.
               บทว่า "สณฺฑสณฺฑจารินี" ได้แก่ การเที่ยวไปประชุมกันเป็นหมู่ๆ ก็ถ้าว่าพวกมนุษย์ทั้งหลายเห็นชีเปลือยแล้ว เขาก็เข้าบ้านไปเพื่อต้องการภัตด้วยตั้งใจว่า เราจักถวายภิกษาแก่ชีเปลือยนี้ ก็ครั้นเมื่อมนุษย์เหล่านั้นเข้าไปอยู่ พวกแมลงวันที่แอบจับอยู่ที่ปากกระเช้าเป็นต้นพากันบินขึ้นไป ย่อมเที่ยวไปเป็นหมู่ๆ ย่อมไม่รับภิกษาที่เขานำมาจากกระเช้านั้น.
               ถามว่า เพราะเหตุไร? แก้ว่า เพราะเขาคิดว่า เพราะอาศัยเรา อันตรายแห่งการโคจรของแมลงวันทั้งหลายจึงเกิด.
               บทว่า "ถุโสทกํ" ได้แก่ น้ำส่าหมักที่เขากระทำด้วยเครื่องปรุง ด้วยข้าวกล้าทุกชนิด ก็ในที่นี้ น้ำสุราเท่านั้นจัดว่ามีโทษ แต่บุคคลนี้มีความสำคัญแม้ในน้ำส่าหมักนั้นว่ามีโทษ.
               บทว่า "เอกาคาริโก" ได้แก่ ได้ภิกษาในเรือนหลังหนึ่งเท่านั้นแล้วก็กลับไป.
               บทว่า "เอกาโลปิโก" ได้แก่ เขาย่อมยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยคำข้าวเพียงคำเดียว.
               แม้ในคำว่า "ป่าและบ้าน" เป็นต้น ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               สองบทว่า "เอกิสฺสาปิ ทตฺติยา" แปลว่า ถาดใบหนึ่ง ถาดใบเล็กๆ ใบหนึ่งชื่อว่า ทตฺติ ก็ชนทั้งหลายบรรจุภิกษาอันเลิศตั้งไว้ในที่ใด.
               บทว่า "เอกาหิกํ" แปลว่า ภัตที่เขาถวายวันหนึ่ง.
               บทว่า "อฑฺฒมาสิกํ" แปลว่า ภัตที่เขาถวายมีกำหนดเดือนหนึ่ง.
               บทว่า "ปริยายภตฺตโภชนํ" ได้แก่ ภัตที่เขาบริโภคตามวาระ การบริโภคภัตที่เขานำมาโดยวาระแห่งวันอย่างนี้ คือตามวาระหนึ่งวัน สองวัน เจ็ดวัน กึ่งเดือน.
               บทว่า "สากภกฺโข" ได้แก่ มีผักสดเป็นอาหาร.
               บทว่า "สามากภกฺโข" ได้แก่ มีเมล็ดข้าวฟ่างเป็นอาหาร.
               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า นิวารา แปลว่า การห้าม เป็นต้น.
               พึงทราบธัญชาติที่เกิดขึ้นเองในป่าก่อน.
               บทว่า "ททฺทุลํ" ได้แก่ เศษหนังที่ช่างหนังขูดหนังออกทิ้ง. ยางก็ดี สาหร่ายก็ดี แม้ยางต้นไม้มีต้นกรรณิการ์เป็นต้น เรียกว่า หฏํ.
               บทว่า "กณํ" แปลว่า รำข้าว.
               บทว่า "อาจาโม" ได้แก่ ข้าวตังที่ติดอยู่ที่หม้อข้าว. เขาถือเอาข้าวตังนั้นในที่ที่คนทิ้งแล้วจึงเคี้ยวกิน. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า เขาบริโภคน้ำข้าวดังนี้บ้าง.
               บทว่า ปิญฺชาก เป็นต้นมีความปรากฏชัดแล้ว.
               บทว่า "ปวตฺตผลโภชี" แปลว่า ผู้บริโภคผลไม้ที่หล่นเอง.
               บทว่า "มสากานิ" ได้แก่ ผ้าที่เขาทอปะปนกัน.
               บทว่า "ฉวทุสฺสานิ" ได้แก่ ผ้าที่เขาทิ้งแล้วจากซากศพ.
               อีกอย่างหนึ่ง ผ้าที่เขาถักกระทำด้วยหญ้าตะไคร้น้ำเป็นต้น.
               บทว่า "ปํสุกุลานิ" ได้แก่ เศษผ้าที่เขาทิ้งที่แผ่นดิน.
               บทว่า "คิริฏกานิ" ได้แก่ ผ้าที่เขาทอด้วยเปลือกไม้.
               บทว่า "อชินํ" ได้แก่ หนังเสือ (คือผ้าที่เขาทำด้วยหนังสือ).
               บทว่า "อชินกฺขิปํ" ได้แก่ หนังเสือนั้นนั่นแหละ ที่เขาผ่าตรงกลาง. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ผ้านุ่งที่เขาทำด้วยหนังเสือพร้อมด้วยเล็บ ดังนี้บ้าง.
               บทว่า "กุสจีรํ" ได้แก่ ผ้าที่เขาถักกระทำด้วยหญ้าคา แม้ในผ้าคากรองที่เขาทอด้วยเปลือกไม้ แผ่นไม้เป็นต้น ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า "เกสกมฺพลํ" ได้แก่ ผ้ากัมพล ที่เขาทำด้วยผมมนุษย์ คำที่ท่านกล่าวหมายเอาไว้ว่า "ภิกษุทั้งหลาย ผ้าทั้งหลายเหล่านั้นเหล่าใดที่เขากรอแล้วถักแล้วมีอยู่ ผ้ากัมพลที่ทำด้วยผมมนุษย์ เรากล่าวว่าเป็นของน่ารังเกียจยิ่งกว่าผ้าเหล่านั้น."
               บทว่า "วาลกมฺพลํ" ได้แก่ ผ้ากัมพลที่ทำด้วยหางม้าเป็นต้น.
               บทว่า "อุลูกปกฺขกํ" ได้แก่ ผ้าที่เขาถักกระทำด้วยปีกนกเค้า.
               บทว่า "อุพฺภฏฺฐโก" แปลว่า ผู้ยืนอยู่ในเบื้องบน.
               บทว่า "อุกฺกุฏิกปฺปธานมนุยุตฺโต" ความว่า ผู้ประกอบความเพียรในการนั่งกระโหย่ง เมื่อไปก็เป็นผู้นั่งกระโหย่งเทียวแล้วกระโดดไปๆ.
               บทว่า "กณฺฏกาปสฺสยิโก" ความว่า ปักเหล็กแหลมหรือหนามแหลมที่แผ่นดินแล้วปูลาดด้วยหนังบนเหล็กแหลม หรือหนามแหลมนั้น แล้วจึงกระทำการยืน การเดินเป็นต้น.
               บทว่า "เสยฺยํ" ได้แก่ แม้เมื่อนอน ก็สำเร็จการนอนบนแผ่นหนังปูลาดนั้นนั่นแหละ.
               ผู้นั้นประกอบการอาบน้ำเป็นครั้งที่ ๓ ในเวลาเย็น เพราะเหตุนั้น ผู้นั้น ชื่อว่าสายตติยะ ผู้ประกอบการอาบน้ำเป็นครั้งที่ ๓ ในเวลาเย็น. ผู้ประกอบความเพียรในการลงอาบน้ำด้วยตั้งใจว่า เราจักลอยบาปวันละ ๓ ครั้ง คือเวลาเช้า ๑ ครั้ง เวลาเที่ยงวัน ๑ ครั้งและเวลาเย็น ๑ ครั้ง.
               บุคคลใด ย่อมยังบุคคลอื่นให้เดือดร้อน เพราะเหตุนั้น บุคคลนั้นจึงชื่อว่า ปรนฺตโป ผู้ยังบุคคลอื่นให้เดือดร้อน การประกอบความเพียรเพื่อยังบุคคลอื่นให้เดือดร้อนชื่อว่า ปรปริตาปนานุโยค.
               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า โอรพฺภิกา (ผู้ฆ่าแพะ) เป็นต้น แพะหรือแกะท่านเรียกว่า อุรพฺภา บุคคลใดย่อมฆ่าแพะหรือแกะ เพราะเหตุนั้น บุคคลนั้นจึงชื่อว่า โอรพฺภิโก ผู้ฆ่าแพะหรือแกะ.
               แม้ในคำว่า ผู้ฆ่าช้างเป็นต้น ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า "ลุทฺโท" แปลว่า นายพราน ได้แก่ ผู้ทารุณ ผู้กักขฬะ (ดุร้าย).
               บทว่า "มจฺฉาฆาฏโก" แปลว่า ชาวประมง ผู้จับปลา.
               บทว่า "พนฺธนาคาริโก" แปลว่า ผู้รักษาเรือนจำ.
               บทว่า "กุรูรกมฺมนฺตา" แปลว่า ผู้มีการงานอันหยาบ.
               บทว่า "มุทฺธาภิสิตฺโต" ได้แก่ ผู้อภิเษกบนศีรษะโดยการอภิเษกเป็นกษัตริย์.
               สองบทว่า ปุรตฺถิเมน นครสฺส ได้แก่ ในทิศตะวันออกแห่งพระนคร.
               บทว่า "สนฺถาคารํ" ได้แก่ โรงยัญ.
               สองบทว่า "ขุราชินํ นิวาเสตฺวา" ได้แก่ นุ่งห่มหนังเสือพร้อมทั้งเล็บ.
               บทว่า "สปฺปิเตเลน" ได้แก่ เนยใสและน้ำมัน ก็ยกเว้นเนยใสเสียแล้ว ยางเหนียวอย่างใดอย่างหนึ่งที่เหลือ ท่านเรียกว่า เตลํ น้ำมัน.
               บทว่า "กณฺฑุวมาโน" ได้แก่ เพราะตนตัดเล็บเสีย จึงเอายางเหนียวเกาหลังในเวลาที่ควรเกา.
               บทว่า "อนนฺตรหิตาย" ได้แก่ เขามิได้ลาดเครื่องลาดไว้.
               บทว่า "สรูปวจฺฉาย" ได้แก่ ลูกโคที่เหมือนแม่โค. อธิบายว่า ได้แก่ ลูกโคที่มีรูปอย่างนี้ คือถ้าแม่โคขาว ลูกโคก็ขาวเทียว ถ้าแม่โคเหลืองหรือแดง แม้ลูกโคก็เป็นเช่นนั้น.
               ข้อว่า "โส เอวมาห" ได้แก่ พระราชานั้น ตรัสอย่างนี้.
               บทว่า "วจฺฉรา" ได้แก่ ลูกโคหนุ่มที่มีกำลังก้าวล่วงความเป็นลูกโคอ่อน.
               แม้ในลูกโคตัวเมีย ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า "ปริหึสตฺถาย" ได้แก่ เพื่อต้องการแก่การล้อมรั้ว และเพื่อต้องการแก่การปูลาด ณ ที่ยัญญภูมิ.
               สองบทว่า "ทิฏฺเฐว ธมฺเม" ได้แก่ ในอัตภาพนี้นั่นแหละ.
               ตัณหา ท่านเรียกว่า ฉาตํ แปลว่า ความหิว ความกระหาย ความอยาก ในคำนี้ว่า นิจฺฉาโต ตัณหา คือความกระหายนั้นของบุคคลใดไม่มี เพราะเหตุนั้น บุคคลนั้นจึงชื่อว่า นิจฺฉาโต ผู้ไม่มีตัณหาคือความกระหาย.
               ชื่อว่า ผู้ดับสนิทแล้วเพราะกิเลสทั้งหมดดับไปแล้ว.
               ผู้ใดเป็นผู้เยือกเย็นเกิดขึ้น เพราะความไม่มีกิเลสเป็นเครื่องให้เร่าร้อนในภายใน เพราะเหตุนั้น ผู้นั้นจึงชื่อว่า สีติภูโต คือผู้เย็นแล้ว.
               ผู้ใดเสวยพร้อมเฉพาะซึ่งความสุขอันเกิดแต่ฌาน มรรคผล และพระนิพพาน เพราะเหตุนั้น ผู้นั้นจึงชื่อว่า สุขปฏิสํเวที คือผู้เสวยพร้อมเฉพาะซึ่งความสุข.
               สองบทว่า "พฺรหฺมภูเตน อตฺตนา" แปลว่า มีตนประเสริฐที่สุด. ก็เพื่อจะแสดงบุคคลผู้ประเสริฐที่สุดนี้ จำเดิมแต่กาลอุบัติขึ้นแห่งพระพุทธเจ้า พระองค์จึงตรัสคำว่า "อิธ ตถาคโต" เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า "ตถาคโต" บัณฑิตพึงทำการวินิจฉัยว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าที่ทรงพระนามว่า ตถาคต ด้วยเหตุ ๘ ประการคือ
               (๑) ตถา อาคโตติ ตถาคโต พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาแล้วอย่างนั้น คือเสด็จมาอย่างพระพุทธเจ้า เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงทรงพระนามว่า ตถาคต.
               (๒) ตถา คโตติ ตถาคโต พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปอย่างนั้น เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงทรงพระนามว่า ตถาคต.
               (๓) ตถลกฺขณํ อาคโตติ ตถาคโต พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาสู่ลักษณะอย่างนั้น พระองค์จึงทรงพระนามว่า ตถาคต.
               (๔) ตถธมฺเม ยาถาวโต อภิสมฺพุทฺโธติ ตถาคโต พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้สัจธรรมทั้งหลาย ตามความเป็นจริง เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงทรงพระนามว่า ตถาคต.
               (๕) ตถทสฺสิตาย ตถาคโต พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะมีปกติเห็นอย่างนั้น.
               (๖) ตถวาทิตาย ตถาคโต พระองค์ทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะมีปกติตรัสอย่างนั้น.
               (๗) ตถการิตาย ตถาคโต พระองค์ทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะมีปกติทรงกระทำอย่างนั้น.
               (๘) อภิภวนฏเฐน ตถาคโต พระองค์ทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะอรรถว่าทรงครอบงำ.
               คำว่า "อรหํ สมฺมาสมฺพุทโธ" เป็นต้น ข้าพเจ้าให้พิสดารแล้วในคัมภีร์วิสุทธิมรรคนั้นแล.
               สองบทว่า "ตํ ธมฺมํ" ได้แก่ ย่อมฟังธรรมนั้นอันถึงพร้อมด้วยคำมีประการตามที่กล่าวแล้ว.
               ข้อว่า "คหปติ ว" ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมกับคหบดีก่อน เพราะเหตุไร? แก้ว่า เพราะเขากำจัดมานะได้แล้ว และเพราะเป็นผู้มีกุศลอันหนาแน่น.
               จริงอยู่ ชนเป็นจำนวนมากที่บวชมาจากขัตติยตระกูล อาศัยเชื้อชาติแล้วถือตัว ที่บวชมาจากตระกูลพราหมณ์ อาศัยมนต์แล้วก็ถือตัว พวกที่มีตระกูลต่ำบวชแล้วก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้ เพราะความที่ตนมีชาติตระกูลต่ำ. ก็ทารกของคหบดีทั้งหลาย ทำงานมีเหงื่อไหลออกจากรักแร้ทั้ง ๒ ข้าง มีหลังชุ่มอยู่ด้วยน้ำเค็มทำการไถภาคพื้น เขาไม่มีมานะ ไม่มีความเย่อหยิ่ง เพราะความไม่มีมานะเย่อหยิ่งเช่นนั้น ลูกคหบดีเหล่านั้นบวชแล้วจึงไม่กระทำมานะ ไม่กระทำความเย่อหยิ่ง เขาจะเรียนพุทธพจน์ตามกำลัง กระทำการงานอยู่ด้วยวิปัสสนา ย่อมสามารถเพื่อดำรงอยู่ในพระอรหัตได้.
               ก็ชื่อว่าชนผู้ออกจากตระกูลที่นอกจากนี้มาบวชมีไม่มาก คหบดีเท่านั้นมีมาก ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงธรรมกับคหบดีก่อน เพราะเขาเป็นผู้ขจัดมานะ คือการถือตัวได้แล้ว และเพราะเขามีกุศลอันสั่งสมมามากด้วย.
               คำว่า "อญฺญตฺรสฺมึ วา" ได้แก่ ผู้เกิดในตระกูลใดตระกูลหนึ่งแห่งตระกูลทั้งหลายที่นอกจากนี้.
               ข้อว่า "ตถาคเต สทฺธํ ปฏิลภติ" ความว่า ผู้ฟังธรรมอันบริสุทธิ์แล้วได้เฉพาะซึ่งศรัทธาในพระตถาคต ผู้เป็นธรรมสามี คือเจ้าของธรรมว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธะหนอ" ข้อว่า "อิติปฏิสญฺจิกฺขติ" ได้แก่ ย่อมพิจารณาอย่างนี้.
               สองบทว่า "สมฺพาโธ ฆราวาโส" แปลว่า การอยู่ครองเรือนเป็นของคับแคบ.
               ความว่า ก็ถ้าสามีและภรรยาทั้ง ๒ คน อยู่ครองเรือนมีประมาณ ๖๐ ศอกหรือตั้งร้อยโยชน์ แม้ถึงอย่างนั้นฆราวาส คือการอยู่ครองเรือนของสามีและภรรยานั้น ก็ชื่อว่าคับแคบแท้ เพราะอรรถว่ามีการเป็นไปกับด้วยกิเลสอันเป็นเครื่องเย้ายวน และกิเลสเป็นเครื่องกังวลใจ.
               คำว่า "รชปโถ" ท่านกล่าวไว้ในมหาอรรถกถาว่า เป็นฐาน คือเป็นที่ตั้งขึ้นแห่งธุลีมีราคะเป็นต้น แต่จะกล่าวว่าเป็นทางมาแห่งธุลี ดังนี้บ้างก็ควร.
               บรรพชา ชื่อว่ามีโอกาสอันดี เพราะอรรถว่าไม่ข้อง.
               จริงอยู่ บุคคลผู้บวชแล้วแม้จะอยู่ในปราสาทแก้ว คือเรือนยอดก็ดี อยู่ในที่ทั้งหลายมีวิมานเป็นต้นอันปกปิดดีแล้ว คือมีประตูหน้าต่างอันปิดสนิทดีแล้วก็ดี เขาย่อมไม่ข้อง ไม่ติด ไม่ผูกพัน เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า "อพฺโภกาโส ปพฺพชา" แปลว่า การบรรพชามีโอกาสอันดียิ่ง.
               อีกอย่างหนึ่ง ฆราวาส ชื่อว่าคับแคบ เพราะไม่มีโอกาสในการสร้างกุศลตามสบาย. การอยู่ครองเรือน ชื่อว่าเป็นทางมาแห่งธุลี เพราะเป็นที่สันนิบาต คือการประชุมแห่งธุลีคือกิเลสทั้งหลาย ดุจสถานที่กองหยากเยื่ออันบุคคลมิได้ปกปิดทิ้งไว้ การบรรพชาจึงชื่อว่ามีโอกาสอันดียิ่ง เพราะมีโอกาสในการสร้างกุศลได้ตามสบาย.
               ในคำว่า "นยิทํ สุกรํ ฯเปฯ ปพฺพเชยฺยํ" นี้มีคำกล่าวไว้โดยสังเขปดังต่อไปนี้ว่า
               พรหมจรรย์คือไตรสิกขานี้ ชื่อว่าบริบูรณ์แล้วโดยสิ้นเชิง เพราะไม่กระทำให้ขาดตลอดวันหนึ่ง แล้วสามารถยังจริมกจิต คือจิตดวงสุดท้ายให้ถึงได้. พรหมจรรย์นี้ ชื่อว่าบริสุทธิ์โดยสิ้นเชิง เพราะกระทำไม่ให้มัวหมอง ด้วยกิเลสมลทินตลอดวันหนึ่งแล้ว ก็สามารถยังจริมกจิตให้ถึงได้.
               บทว่า "สงฺขลิขิตํ" ได้แก่ พึงประพฤติพรหมจรรย์ให้เป็นเช่นกับสังข์ที่ลิขิตแล้ว คือให้มีส่วนเปรียบด้วยสังข์ที่ขัดดีแล้ว การประพฤติพรหมจรรย์นี้ บุคคลผู้อยู่ครองเรือนกระทำไม่ได้ง่าย การที่บุคคลผู้อยู่ในท่ามกลางเรือนไม่อาจประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์โดยสิ้นเชิงได้ ไฉนหนอ เราพึงปลงผมโกนหนวดนุ่งห่มผ้า ชื่อว่ากาสายะ เพราะความเป็นผ้าสีเหลืองที่ย้อมด้วยน้ำฝาดอันสมควรแก่บรรพชิต ผู้ประพฤติพรหมจรรย์แล้ว ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ผู้ไม่มีเรือน ดังนี้.
               ก็ในอธิการนี้ กรรมมีกสิกรรมและพานิชกรรมเป็นต้น อันเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่การครองเรือน ท่านเรียกว่า "อคาริยํ" แปลว่า ผู้ครองเรือน ก็กสิกรรมเป็นต้นนั้นไม่มีในบรรพชา เพราะฉะนั้น การบรรพชา บัณฑิตพึงทราบว่าเป็น "อนคาริยํ" แปลว่า ผู้ไม่ครองเรือน. การบวชนั้นจึงเป็นอนาคาริยะ.
               บทว่า "ปพฺพเชยฺยํ" ได้แก่ พึงปฏิบัติ.
               บทว่า "อปฺปํ วา" ความว่า กองโภคะต่ำกว่าหนึ่งพัน ชื่อว่ามีน้อย ตั้งแต่หนึ่งพันขึ้นไปชื่อว่ามีมาก.
               ญาตินั่นแหละ ชื่อว่าเครือญาติ เพราะอรรถว่าเกี่ยวเนื่องกัน เครือญาตินั้นต่ำกว่า ๒๐ ชื่อว่ามีน้อย ตั้งแต่ ๒๐ ขึ้นไป ชื่อว่ามีมาก.
               สองบทว่า "ภิกฺขูนํ สิกฺขาสาชีวสมาปนฺโน" ความว่า สิกขา กล่าวคืออธิศีลสิกขาใดของภิกษุทั้งหลายมีอยู่ ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยสิกขานั้นด้วย ภิกษุเหล่านั้นย่อมเป็นอยู่ร่วมกันคือ เป็นผู้อยู่เป็นอันเดียวกัน เป็นผู้มีความประพฤติเสมอกัน ภิกษุเป็นผู้ถึงพร้อมแล้วซึ่งสิกขาสาชีพ กล่าวคือสิกขาบทอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แล้วนั้นด้วย ในสิกขาสาชีพใด ด้วยภาวะ คือการศึกษาในสิกขาสาชีพนั้น เพราะเหตุนั้น ท่านจึงชื่อว่า "ภิกฺขูนํ สิกฺขาสาชีวสมาปนฺโน" แปลว่า ผู้สมบูรณ์ด้วยสิกขาสาชีพของภิกษุทั้งหลาย.
               อธิบายว่า ภิกษุเป็นผู้ยังสิกขาให้บริบูรณ์ด้วย ไม่ก้าวล่วงสาชีพด้วย แล้วเข้าถึงซึ่งสิกขาสาชีพนั้นทั้ง ๒ อย่าง.
               กถา คือ ถ้อยคำมีปาณาติบาตเป็นต้น ในคำทั้งหลายมีคำว่า "ปาณาติปาตํ ปหาย" เป็นต้น ข้าพเจ้าให้พิศดารไว้ในหนหลังนั่นเทียว.
               บทว่า "ปหาย" ได้แก่ ละความเป็นผู้ทุศีล อันบัณฑิตนับพร้อมแล้วว่าเจตนาเป็นเครื่องยังสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไปนี้.
               สองบทว่า "ปฏิวิรโต โหติ" ความว่า เป็นผู้เว้นแล้ว คือเว้นขาดแล้วจากความเป็นผู้ทุศีลนั้น จำเดิมแต่กาลเป็นที่ละแล้ว.
               สองบทว่า "นิหิตทณฺโฑ นิหิตสตฺโถ" อธิบายว่า ชื่อว่าผู้มีท่อนไม้และมีศาสตราอันวางแล้ว เพราะการไม่ถือท่อนไม้หรือศาสตราเพื่อต้องการเบียดเบียนสัตว์อื่นให้เป็นไป.
               ก็ในอธิการนี้ ยกเว้นทัณฑะคือ ท่อนไม้เสียแล้ว อุปกรณ์ที่เหลือแม้ทั้งปวง บัณฑิตพึงทราบว่า ชื่อว่า สตฺถํ คือศาสตรา เพราะเป็นเครื่องเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย. ก็ภิกษุถือเอาวัตถุใด คือจะเป็นไม้เท้าคนแก่หรือมีดสำหรับเหลาไม้สีฟัน หรือมีดเล็กเที่ยวไป วัตถุนั้นไม่ชื่อว่าศาสตรา เพราะไม่เป็นไปเพื่อต้องการเบียดเบียนสัตว์อื่น เพราะฉะนั้น ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นย่อมถึงซึ่งการนับว่า เป็นผู้มีท่อนไม้และศาสตราอันวางแล้วเทียว.
               บทว่า "ลชฺชี" ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยความละอาย มีการรังเกียจบาปเป็นลักษณะ.
               บทว่า "ทยาปนฺโน" ได้แก่ ผู้ถึงความเอ็นดู คือผู้มีจิตอันประกอบด้วยเมตตา.
               บทว่า "สพฺพปาณภูตหิตานุกมฺปิ" ได้แก่ ผู้อนุเคราะห์สัตว์ทั้งปวงด้วยประโยชน์เกื้อกูล. อธิบายว่า ชื่อว่า ผู้มีจิตประกอบด้วยประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวง เพราะความเป็นผู้ถึงความเอ็นดูนั้น.
               บทว่า "วิหรติ" ได้แก่ ย่อมผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ คือย่อมรักษาอัตภาพ.
               ผู้ใดถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาให้เท่านั้น เพราะเหตุนั้น ผู้นั้นจึงชื่อว่า ทินฺนาทายี แปลว่า ผู้ถือเอาเฉพาะของที่เขาให้. ผู้ใดหวังสิ่งของที่เขาให้แม้ด้วยจิตนั่นแหละ เพราะเหตุนั้น ผู้นั้นจึงชื่อว่า ทินฺปาฏิกงฺขี แปลว่า ผู้หวังสิ่งของที่เขาให้.
               ผู้ใดย่อมขโมย เหตุนั้น ผู้นั้นจึงชื่อว่า เถโน แปลว่า ผู้ขโมย.
               การไม่ขโมยชื่อว่า อเถนะ. ชื่อว่าเป็นผู้สะอาด เพราะความไม่เป็นขโมยนั้นแหละ.
               บทว่า "อตฺตนา" แปลว่า อัตภาพ. มีคำอธิบายไว้ว่า การกระทำอัตภาพไม่ให้ขโมย คือทำให้สะอาดอยู่.
               บทว่า "อพฺรหฺมจริยํ" แปลว่า การประพฤติธรรม อันไม่ประเสริฐ. บุคคลใดย่อมประพฤติอาจาระ คือจรรยาที่ดีงาม อันประเสริฐที่สุด เพราะเหตุนั้น ผู้นั้นจึงชื่อว่า พฺรหฺมจารี แปลว่า ผู้ประพฤติธรรมอันประเสริฐที่สุด.
               บทว่า "อาราจารี" แปลว่า ประพฤติห่างไกลจากพรหมจรรย์.
               บทว่า "เมถุนา" ได้แก่ อสัทธรรม อันถึงซึ่งการนับว่าเป็น "เมถุน" เพราะภาวะอันบุคคลพึงเสพเฉพาะตามโวหารแห่งชาวโลก ที่ได้ชื่อว่า เมถุนกา คือผู้เสพเมถุนธรรม เพราะเป็นเช่นกับด้วยอำนาจแห่งการรบเร้าของราคะอันครอบงำจิต.
               บทว่า "คามธมฺมา" แปลว่า ธรรมของชาวบ้าน.
               บุคคลใดย่อมพูดคำอันเป็นจริง เหตุนั้น ผู้นั้นจึงชื่อว่า สจฺจวาที แปลว่า ผู้พูดคำจริง.
               ผู้ใดติดต่อ คือย่อมสืบต่อวาจาสัจ ด้วยวาจาสัจ เหตุนั้น ผู้นั้นชื่อว่า สจฺจสนฺโธ แปลว่า ผู้สืบต่อสัจจะ เขาเป็นผู้ไว้ใจได้.
               อธิบายว่า ไม่พูดคำเท็จในระหว่าง ก็บุคคลใด บางคราวพูดคำเท็จ บางคราวพูดคำจริง คำของผู้นั้นไม่เชื่อมต่อความจริงด้วยความจริง เพราะคำของเขาคั่นด้วยความเท็จ เพราะเหตุนั้น เขาจึงชื่อว่าผู้ไม่สืบต่อสัจจะ เป็นผู้ไว้ใจไม่ได้. ก็บุคคลผู้นี้หาเป็นเช่นนั้นไม่ เขาไม่ยอมพูดคำเท็จแม้เพราะเหตุแห่งชีวิต ย่อมสืบต่อความจริงด้วยความจริงเท่านั้น เพราะฉะนั้น ผู้นี้จึงชื่อว่า สจฺจสนฺโธ.
               บทว่า "เถโต" แปลว่า ผู้มั่นคง. อธิบายว่า ผู้มีวาจาอันตั้งมั่น. บุคคลคนหนึ่งเป็นผู้มีวาจาอันไม่ตั้งมั่น เปรียบเหมือนกับผ้าที่เขาย้อมด้วยขมิ้น เหมือนตอไม้ที่เขาปักไว้ที่กองแกลบ เหมือนลูกฟักที่เขาวางไว้ที่หลังม้า. บุคคลคนหนึ่งมีวาจามั่นคงเหมือนรอยขีดที่ติดอยู่ ณ แผ่นหิน และเหมือนเสาเขื่อน แม้จะถูกตัดศีรษะด้วยดาบ เขาก็ไม่กล่าวคำเป็นสองภาค ผู้นี้ท่านเรียกว่า เถโต ผู้มีวาจามั่นคง.
               บทว่า "ปจฺจยิโก" ได้แก่ ผู้มีวาจาควรเชื่อถือ คือได้แก่ผู้ที่ควรเชื่อถือได้.
               ก็บุคคลบางคนเป็นผู้เชื่อถือไม่ได้ เมื่อใครๆ ถามว่า "คำนี้ใครพูด ก็กล่าวว่า คนโน้นพูด" เขาย่อมถึงวาทะอันใครๆ พึงกล่าวว่า "อย่าเชื่อถือถ้อยคำของเขา. บุคคลคนหนึ่งเป็นผู้มีวาจาเชื่อถือได้ เมื่อใครๆ ถามว่า "คำนี้ใครพูด ก็กล่าวว่า คนโน้นพูด" เขาย่อมถึงวาทะอันใครๆ พึงกล่าวว่า "ผิว่า คำของผู้นั้นกล่าว คำนี้เท่านั้นถือเป็นประมาณได้ บัดนี้การสอบถามย่อมไม่มี คำนี้เป็นอย่างนี้เท่านั้น".
               สองบทว่า "อวิสํวาทโก โลกสฺส" อธิบายว่า ย่อมไม่ลวงชาวโลก เพราะความที่ตนมีปกติกล่าวคำสัจนั้น.
               สองบทว่า "อิเมสํ เภทาย" ได้แก่ เพื่อการทำลายเหล่าชนที่ตนฟังในสำนักของชนที่เขากล่าวจากข้างนี้.
               ข้อว่า "ภินฺนานํ วา สนฺธาตา" ได้แก่ การเข้าไปหาทีละฝ่าย ในชนทั้งสองฝ่าย คือผู้เป็นมิตรหรือผู้ร่วมอุปัชฌาย์เป็นต้นที่แตกสามัคคีกันด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วกล่าวว่า การวิวาทกันนี้ไม่สมควรแก่ท่านทั้งหลายผู้เกิดในตระกูลเช่นนี้ ผู้เป็นพหูสูตอย่างนี้ แล้วกระทำการสมัครสมานสามัคคีกันให้มั่นคง.
               บทว่า "อนุปฺปทาตา" ได้แก่ ผู้สนับสนุนความพร้อมเพรียงกัน. อธิบายว่า เห็นคนทั้งสองคนผู้มีความสามัคคีกันแล้วกล่าวว่า ข้อนี้เหมาะสมแก่ท่านผู้เกิดในตระกูลเห็นปานนี้ ผู้ประกอบด้วยคุณทั้งหลายเห็นปานนี้ แล้วกระทำให้เป็นผู้มั่นคง.
               ความยินดีทั่วในชนผู้พร้อมเพรียงกัน ของผู้นั้นมีอยู่ เพราะเหตุนั้น ผู้นั้นจึงชื่อว่า สมคฺคาราโม แปลว่า ผู้มีความยินดีในชนผู้สามัคคีกัน. อธิบายว่า ชนผู้พร้อมเพรียงกันไม่มีในที่ใด เขาย่อมไม่ยอมไปแม้เพื่อจะอยู่ในที่นั้น. พระบาลีว่า สมคฺคราโม ดังนี้บ้าง คำนี้มีเนื้อความเหมือนกัน.
               บทว่า "สมคฺครโต" ได้แก่ ผู้ยินดีในชนผู้พร้อมเพรียงกัน. อธิบายว่า เขาละชนผู้พร้อมเพรียงกันนั้นแล้ว เขาก็ไม่ปรารถนาแม้จะไปที่อื่น.
               ผู้ใดเห็นก็ดี ฟังก็ดีซึ่งชนผู้พร้อมเพรียงกันแล้ว ย่อมเพลิดเพลิน เพราะเหตุนั้น ผู้นั้นจึงชื่อว่า สมคฺคนนฺที แปลว่า ผู้เพลิดเพลินในชนผู้พร้อมเพรียงกัน.
               ข้อว่า "สมคฺคกรณี วาจํ ภาสิตา" ความว่า วาจาใดย่อมกระทำสัตว์ทั้งหลายให้เป็นผู้พร้อมเพรียงกันเท่านั้น เขาย่อมกล่าววาจานั้น อันแสดงถึงคุณแห่งความสามัคคีนั่นแหละไม่กล่าววาจานอกจากนี้.
               ผู้ใดย่อมกล่าวในกาลอันสมควร เหตุนั้น ผู้นั้นจึงชื่อว่า กาลวาที แปลว่า ผู้มีปกติกล่าวในกาล. อธิบายว่า เขากำหนดกาลอันสมควรแก่คำอันตนพึงกล่าวแล้วจึงกล่าว.
               ผู้ใดย่อมกล่าวคำอันเป็นจริง คือคำอันเป็นสภาวะเท่านั้น เหตุนั้น ผู้นั้นชื่อว่า ภูตวาที แปลว่า ผู้มีปกติกล่าวคำอันเป็นจริง.
               ผู้ใดย่อมกล่าวคำอิงอาศัยประโยชน์ปัจจุบันและประโยชน์ในภพหน้าเท่านั้น เหตุนั้น ผู้นั้นจึงชื่อว่า อตฺถวาที แปลว่า ผู้มีปกติกล่าวคำอันเป็นประโยชน์.
               ผู้ใดย่อมกล่าวคำอิงอาศัยโลกุตตรธรรม ๙ ประการ เหตุนั้น ผู้นั้นจึงชื่อว่า ธมฺมวาที แปลว่า ผู้มีปกติกล่าวธรรม.
               ผู้ใดย่อมกล่าวคำอิงอาศัยสังวรวินัยและปหานวินัย เพราะเหตุนั้น ผู้นั้นจึงชื่อว่า วินยวาที แปลว่า ผู้มีปกติกล่าววินัย.
               โอกาสอันเป็นที่ตั้งของวาจานั้น ท่านเรียกว่า นิธานํ. โอกาสอันเป็นที่ตั้งของวาจานั้นมีอยู่ เพราะเหตุนั้น วาจานั้นจึงชื่อว่า นิธานวตี แปลว่า วาจามีหลักฐาน. อธิบายว่า กล่าววาจาอันสมควรแก่คำอันบุคคลพึงฝังไว้ในหทัย.
               บทว่า "กาเลน" ความว่า ก็เขาคิดว่า เราจักกล่าววาจาอันมีหลักฐาน แม้เมื่อกล่าววาจาเห็นปานนี้แล้ว เขาย่อมไม่กล่าวโดยกาลอันไม่สมควร หมายความว่า พิจารณาเวลาอันเหมาะสมแล้วจึงกล่าว.
               บทว่า "สาปเทสํ" ได้แก่ ถ้อยคำมีอุปมา คือได้แก่ถ้อยคำมีเหตุ.
               บทว่า "ปริยนฺตวตี" ได้แก่ แสดงการกำหนด. อธิบายว่า การกำหนดวาจานั้น ย่อมปรากฏโดยวิธีใด ย่อมกำหนดโดยวิธีนั้น.
               บทว่า "อตฺถสญฺหิตํ" ความว่า ชื่อว่าถึงพร้อมด้วยประโยชน์อันใครๆ ผู้จำแนกอยู่ โดยนัยแม้มิใช่น้อย ก็ไม่อาจจะกำหนดได้.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าย่อมกล่าววาจาอันเป็นประโยชน์และประโยชน์เกื้อกูลพร้อม เพราะประกอบไปด้วยประโยชน์อันดี ที่ท่านอัตถเวทีนั้นกล่าวเนื้อความไว้. ท่านอธิบายไว้ว่า ไม่ละทิ้งคำอย่างหนึ่ง กล่าวคำอีกอย่างหนึ่ง.
               บทว่า "พีชคามภูตคามสมารมฺภา" ความว่า การพรากพืชคาม ๕ อย่าง คือ มูลพีชํ พืชเกิดจากราก, ขนฺธพีชํ พืชเกิดจากลำต้น, ผลพีชํ พืชเกิดจากผล, อคฺคพีชํ พืชเกิดจากยอด, พีชพีชํ พืชเกิดจากเมล็ดพืช, และการพราก (การทำลาย) ภูตคามมีหญ้าเขียวสดและต้นไม้เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง. อธิบายว่า ได้แก่เป็นผู้เว้นขาดจากการทำลายโดยภาวะมีการตัด การต้มเป็นต้น.
               บทว่า "เอกภตฺติโก" ความว่า ภัต ๒ อย่าง คือภัตสำหรับเวลาเช้าและภัตสำหรับเวลาเย็น ในภัต ๒ อย่างนั้น ภัตที่บริโภคในเวลาเช้า ท่านกำหนดภายในเวลาเที่ยงวัน ภัตที่บริโภคในเวลาเย็นท่านกำหนดตั้งแต่เที่ยงวันไปจนถึงเวลาอรุณยังไม่ขึ้น เพราะฉะนั้น เมื่อภิกษุบริโภคอาหารอยู่สิ้น ๑๐ ครั้งภายในเวลาเที่ยงวัน ย่อมเป็นผู้ชื่อว่า "เอกภตฺติโก" คือ ผู้มีภัตเดียวเทียว.
               คำว่า "เอกภตฺติโก" นี้ท่านกล่าวหมายเอาภัตที่บริโภคในเวลาเช้านั้น. การบริโภคภัตในเวลากลางคืน ชื่อว่า รตฺติ. ผู้ใดเว้นขาดจากการบริโภคภัตในเวลากลางคืนนั้น เพราะเหตุนั้น ผู้นั้นจึงชื่อว่า รตฺตูปรโต แปลว่า ผู้เว้นขาดจากการบริโภคภัตในเวลากลางคืน. การบริโภคภัต ตั้งแต่เวลาเที่ยงวันล่วงไปแล้วจนถึงพระอาทิตย์ตก ชื่อว่า วิกาลโภชนํ แปลว่า การบริโภคภัตในเวลาวิกาล เป็นผู้เว้นขาดจากการบริโภคภัตในเวลาวิกาลนั้น.
               การดูการเล่นอันเป็นข้าศึก อันเป็นปฏิปักษ์ต่อพรหมจรรย์ เพราะเป็นของไม่เหมาะสมกับพระศาสนา ฉะนั้น การดูนั้นจึงชื่อว่า วิสูกทสฺสนํ แปลว่า การดูการเล่นอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ (วิสูก ข้าศึก, ทสฺสนํ การดู). การฟ้อนรำ ขับร้องและประโคมดนตรี ด้วยสามารถแห่งการฟ้อนรำด้วยตนเอง หรือให้ผู้อื่นฟ้อนรำเป็นต้นก็ดี การดูการฟ้อนเป็นต้น โดยที่สุดแม้ดูการฟ้อนรำของนกยูงเป็นต้นก็ดี จัดเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ เพราะฉะนั้น การฟ้อนรำเป็นต้นนั้น จึงชื่อว่า นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา แปลว่า จากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการเล่นอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์. (นจฺจ การฟ้อนรำ คีต การขับร้อง วาทิต การประโคมดนตรี) ก็การที่จะประกอบการฟ้อนรำเป็นต้นก็ดี ให้ผู้อื่นประกอบก็ดี การดูการเล่นที่เขาประกอบแล้วก็ดี ไม่สมควรแก่ภิกษุและภิกษุณีเลย.
               พึงทราบ วินิจฉัยในคำว่า "มาลา" เป็นต้น.
               บทว่า "มาลา" ได้แก่ ดอกไม้อย่างใดอย่างหนึ่ง.
               บทว่า "คนฺธํ" ได้แก่ คันธชาติอย่างใดอย่างหนึ่ง.
               บทว่า "วิเสปนํ" ได้แก่ การย้อมผิว.
               ในอธิการนี้ บุคคลเมื่อประดับตบแต่งอยู่ ชื่อว่าย่อมทรงไว้ เมื่อบุคคลทำสิ่งที่บกพร่องให้บริบูรณ์ ชื่อว่าย่อมประดับ. ผู้ยินดีอยู่ด้วยของหอมก็ดี ด้วยการย้อมผิวก็ดี ชื่อว่าย่อมตบแต่ง. การกระทำ ท่านเรียกว่าฐาน. อธิบายว่า มหาชนย่อมกระทำการทัดทรงดอกไม้เป็นต้นนั้น ด้วยเจตนาเป็นเครื่องทุศีลอันใด ผู้มีศีลย่อมเป็นผู้เว้นขาดจากเจตนาเป็นเครื่องทุศีลนั้น.
               ที่นอนสูงเกินประมาณ ท่านเรียกว่า อุจฺจาสยนํ แปลว่าที่นอนสูง ที่นอนที่มีเครื่องปูลาดด้วยวัตถุอันไม่สมควร, ท่านเรียกว่า มหาสยนํ แปลว่า ที่นอนใหญ่ ผู้มีศีลเป็นผู้เว้นขาดจากที่นอนนั้น.
               ทองคำ ชื่อว่า ชาตรูปํ. กหาปณะ ชื่อว่า รชตํ. กหาปณะเหล่าใดที่เรียกว่า โลหมาสโก คือมาสกทำด้วยโลหะ ชตุมาสโก คือมาสกทำด้วยยาง ทารุมาสโก คือ มาสกทำด้วยไม้.
               อธิบายว่า ท่านเป็นผู้เว้นขาดจากการรับเงินและทองทั้ง ๒ อย่างนั้น คือทั้งไม่รับเองและไม่ให้ผู้อื่นรับแทน ทั้งไม่ยินดีเงินและทอง ที่เขาเก็บไว้เพื่อตน.
               บทว่า "อามกธญฺญปฏิคฺคหณา" ได้แก่ เว้นขาดจากการรับธัญชาติดิบ ๗ ชนิด คือ ๑. สาลิ ข้าวสาลี ๒. วีหิ ข้าวเจ้า ๓. ยวะ ข้าวเหนียว ๔. โคธุมะ ข้าวละมาน ๕. กังคุ ข้าวฟ่าง ๖. วรกะ ลูกเดือย ๗. กุทรูสกะ หญ้ากับแก้. ก็การรับธัญชาติดิบ ๗ ชนิดนั้น ไม่ควรแก่ภิกษุทั้งหลายเท่านั้น ก็หาไม่ แม้การจับต้องสิ่งเหล่านั้น ก็ไม่ควรเหมือนกัน.
               ก็ในคำว่า "อามกมํสปฏิคฺคหณา" นี้ การรับเนื้อปลาดิบก็ไม่ควรแก่ภิกษุทั้งหลาย นอกจากพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตไว้โดยเฉพาะเท่านั้น ทั้งการจับต้องเนื้อปลาดิบ ก็ไม่ควร.
               ในคำว่า "อิตฺถีกุมาริกาปฏิคฺคหณา" นี้ หญิงที่ไปสู่ระหว่างบุรุษ ชื่อว่า อิตถี หญิงนอกจากนี้ ชื่อว่า กุมาริกา (หญิงสาว) การรับไว้ก็ดี การจับต้องก็ดีซึ่งหญิงทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมเป็นของไม่ควรทั้งสิ้น. ในคำว่า "ทาสีทาสาปฏิคฺคหณา" นี้การรับหญิงและชายเหล่านั้นไว้สำหรับเป็นทาสีเป็นทาสย่อมไม่เหมาะสม ก็เมื่อใครๆ กล่าวอย่างนี้ว่า "ข้าพเจ้าขอถวายกัปปิยการก คือผู้อุปัฏฐาก ข้าพเจ้าขอถวายอารามิก คือผู้รับใช้ในวัด" ดังนี้ จะรับไว้ก็สมควร. นัยที่ควรและไม่ควร แม้ในสัตว์ทั้งหลายมีแพะแกะเป็นต้น ในสถานที่ทั้งหลายมีนาสวนเป็นที่สุด บัณฑิตพึงพิจารณาด้วยอำนาจพระวินัย.
               ในสถานที่เหล่านั้น ที่ใดมีบุพพัณชาติงอกงามที่นั้นชื่อว่าที่นา ในที่ใดอปรัณชาติ ย่อมงอกงาม ที่นั้นชื่อว่าที่สวน. อีกอย่างหนึ่ง บุพพัณชาติและอปรัณชาติทั้ง ๒ ย่อมงอกงามในที่ใด ที่นั้น ชื่อว่านา. ภูมิภาคที่เขากระทำแล้วเพื่อต้องการบุพพัณชาติและอปรัณชาติ ชื่อว่าสวน. ก็ในอธิการนี้ แม้ที่บึงและหนองน้ำเป็นต้น ท่านก็สงเคราะห์เข้าด้วยการถือเอาที่นาและที่สวน เป็นประธาน.
               การงานของทูต ท่านเรียกว่า ทูเตยฺยํ อธิบายว่า การถือเอาหนังสือหรือสาสน์ ของคฤหัสถ์ทั้งหลายแล้วไปในที่นั้นๆ. การรับใช้เล็กๆ น้อยๆ ของผู้ส่งข่าวไปสู่บ้านผู้อื่น ท่านเรียกว่า ปหิณคมนํ แปลว่า การรับใช้เล็กๆ น้อยๆ (หมายถึงผู้ส่งข่าว) การทำกิจทั้ง ๒ อย่างนั้น ชื่อว่า อนุโยโค แปลว่า การตามประกอบ เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบเนื้อความในคำนี้อย่างนี้ว่า "ทูเตยฺยปหิณคมนานํ อนุโยโค" ซึ่งแปลว่า การประกอบทูตกรรมและการรับใช้.
               บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยในคำว่า ผู้โกงด้วยตาชั่ง เป็นต้น.
               บทว่า "กูฏํ" แปลว่า การโกง คือการหลอกลวง.
               บรรดาการโกงเหล่านั้น การโกงด้วยตาชั่งมี ๔ อย่าง คือ ๑. รูปกูฏํ โกงด้วยรูป ๒. องฺคกูฏํ โกงด้วยอวัยวะ ๓. คหณกูฏํ โกงด้วยการถือเอา ๔. ปฏิจฺฉนฺกูฏํ โกงด้วยสิ่งที่ปิดบังไว้.
               ในการโกงเหล่านั้น บุคคลกระทำเครื่องชั่งทั้ง ๒ ให้มีรูปคล้ายกัน เมื่อจะถือเอาย่อมถือเอาส่วนมาก เมื่อให้ย่อมให้ด้วยส่วนที่น้อย ชื่อว่า รูปกูฏํ โกงด้วยรูป. บุคคลเมื่อจะถือเอาสิ่งของ ย่อมใช้มือข่มตาชั่งไว้ในส่วนเบื้องหลัง เมื่อจะให้ย่อมใช้มือข่มตาชั่งไว้ในส่วนเบื้องต้น ชื่อว่า องฺคกูฏํ โกงด้วยอวัยวะ. บุคคลเมื่อจะถือเอา ย่อมถือเอาที่ต้นเชือก เมื่อจะให้ก็ย่อมจับถือเอาที่ปลายเชือก ชื่อว่า คหณกูฏํ โกงด้วยการจับถือ. บุคคลกระทำตาชั่งให้เป็นโพรงแล้วใส่จุณเหล็กไว้ในภายใน เมื่อจะถือเอาสิ่งของ ย่อมทำจุณเหล็กนั้นไว้ในส่วนเบื้องหลัง เมื่อให้ก็ทำจุณเหล็กนั้นไว้ในส่วนเบื้องปลาย ชื่อว่า ปฏิจฺฉนฺนกูฏํ โกงด้วยสิ่งของที่ปกปิดไว้.
               ถาดที่ทำด้วยทองคำ ท่านเรียกว่า กํโส. การลวงด้วยถาดทองคำนั้น ชื่อว่า กํสกูฏํ.
               ถามว่าทำอย่างไร. แก้ว่า ชนทั้งหลายทำถาดทองคำไว้ใบหนึ่ง ทำเทียมไว้ ๒-๓ ใบ แต่นั้นเขาก็ไปสู่ชนบทเข้าไปสู่ตระกูลมั่งคั่งตระกูลใดตระกูลหนึ่งแล้วพูดว่า ท่านทั้งหลายจงซื้อถาดทองคำ เมื่อใครๆ ถามถึงราคา เขามีความประสงค์ให้ราคาเสมอกัน แต่เวลานั้นเมื่อชนเหล่านั้นกล่าวว่า ข้าพเจ้าพึงทราบความเป็นภาชนะทองคำของถาดเหล่านี้ได้อย่างไร? เขาจึงเอาถาดทองคำถูเข้ากับแผ่นหิน กล่าวว่า ท่านทั้งหลายทดลองเสียก่อนแล้วจึงถือเอา แล้วให้ถาดทั้งหมด คือขายทั้งหมดแล้วก็ไป.
               มานกูฏํ แปลว่า โกงด้วยการวัดระยะมี ๓ อย่าง คือ ๑. หทยเภทะ วัดแบ่งด้วยการถ่ายออก ๒. สิขาเภทะ วัดแบ่งด้วยยอด ๓. รัชชุเภทะ วัดแบ่งด้วยเชือก.
               ในการวัดเหล่านั้น หทยเภโท ชื่อว่าการวัดแบ่งด้วยการถ่ายออก ย่อมได้ในเวลาที่เขาตวงเนยใสและน้ำมันเป็นต้น ก็บุคคลเมื่อจะถือเอาเนยใสเป็นต้นเอาเสียเอง ก็พูดว่า ท่านจงเทค่อยๆ เพราะเครื่องวัดเป็นรูทะลุข้างล่าง แล้วก็ให้ไหลออกไปภายในภาชนะที่รองมากมาย จึงถือเอา เมื่อจะให้ผู้อื่นก็ปิดช่องรูนั้นเสียแล้วรีบให้เต็มโดยเร็วแล้วก็ให้.
               สิขาเภโท ชื่อว่าการวัดแบ่งด้วยยอด ย่อมได้ในกาลตวงงาและข้าวสารเป็นต้น ก็เมื่อจะถือเอาสิ่งของนั้นเสียเอง ก็ให้พูนยอดของนั้นค่อยๆ สูงขึ้นไป แล้วถือเอา เมื่อจะให้ก็ทำให้เต็มโดยเร็วทำลายยอดเสียแล้วย่อมให้.
               รชฺชุเภโท ชื่อว่าการวัดแบ่งด้วยเชือก ย่อมได้ในเวลาที่วัดนาวัดสวน ก็บุคคลทั้งหลาย เมื่อไม่ได้สินบน ย่อมกระทำการวัดนาแม้ไม่กว้างให้กว้าง.
               บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยในคำว่า "อุกฺโกฏนํ" เป็นต้น.
               การกระทำสิ่งของๆ เจ้าของทั้งหลายมิให้เป็นเจ้าของ แล้วก็ถือเอาสินบน ชื่อว่า อุกฺโกฏนํ แปลว่า การคดโกง. การหลอกลวงผู้อื่นด้วยอุบายนั้นๆ ชื่อว่า วญฺจนํ แปลว่า การหลอกลวง.
               ในเรื่องเหล่านั้น มีเรื่องหนึ่งเป็นอุทาหรณ์ดังต่อไปนี้.
               ได้ยินว่า นายพรานเนื้อคนหนึ่งจับได้เนื้อและลูกเนื้อเดินทางมา นักเลงการพนันคนหนึ่งพูดกับนายพรานนั้นว่า แน่ะท่านผู้เจริญ เนื้อกับลูกเนื้อ ราคาเท่าไร? เมื่อนายพรานตอบว่า เนื้อราคา ๒ กหาปาณะ ลูกเนื้อ ๑ กหาปณะ ดังนี้แล้วนายนักเลงการพนันก็ให้เงินหนึ่งกหาปณะแล้วก็จับเอาลูกเนื้อไป ครั้นไปได้หน่อยหนึ่งแล้วก็กลับมา พูดว่า ท่านผู้เจริญ เราไม่ต้องการลูกเนื้อ ท่านจงให้เนื้อแก่ข้าพเจ้า. นายพรานพูดว่า ถ้าอย่างนั้นจงให้ข้าพเจ้า ๒ กหาปณะ. นายนักเลงการพนันนั้นพูดว่า ผู้เจริญ ข้าพเจ้าให้หนึ่งกหาปณะก่อนแล้วมิใช่หรือ? เมื่อนายพรานตอบว่า ถูกแล้ว ท่านให้ข้าพเจ้าหนึ่งกหาปณะ. นายนักเลงจึงพูดว่า ท่านจงจับเอาลูกเนื้อแม้นี้ ก็ครั้น เมื่อความเป็นอย่างนั้น กหาปณะนั้นด้วย ลูกเนื้อมีราคาหนึ่งกหาปณะนี้ด้วย ก็รวมเป็น ๒ กหาปณะ. นายพรานนั้นพิจารณาดูว่า นายนักการพนันนี้ย่อมกล่าวถึงเหตุควร แล้วจึงรับเอาลูกเนื้อ และได้ให้เนื้อแก่นายนักเลงการพนันไป นี้ก็เรียกว่า วญฺจนํ๑- การหลอกลวง.
____________________________
๑- ในที่อื่นท่านเรียกว่า อุปายกถา อทินนาทาน

               การทำ อปามงฺคํ คือ ซึ่งวัตถุมิใช่สายสังวาลย์ว่าเป็นสังวาลย์ก็ดี ทำวัตถุมิใช่แก้วมณีให้เป็นเหมือนแก้วมณีก็ดี ทำทองเทียมให้เหมือนทองคำแท้ก็ดี แล้วลวงด้วยของปลอมนั้นด้วยสามารถการประกอบหรือด้วยกลมายา ชื่อว่านิกติ ซึ่งแปลว่าการปลอม. ผู้ประกอบในการคดโกง ชื่อว่าสาวิโยคะ๑- ก็คำว่า สาวิโยคะ นี้เป็นชื่อของการโกง ซึ่งมีการรับสินบนเป็นต้นนั่นแหละ เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบอธิการอย่างนี้ คือ อุกฺโกฏนสาวิโยโค คือผู้ประกอบการโกงด้วยการรับสินบน วญฺจนสาวิโยโค คือผู้ประกอบการโกงด้วยการหลอกลวง นิกติสาวิโยโค คือผู้ประกอบการโกงด้วยการปลอมแปลง เกจิอาจารย์กล่าวว่า การแสดงของอย่างหนึ่งแล้วเปลี่ยนของอีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าสาวิโยคะ ก็คำว่า สาวิโยคะ นี้ ท่านสงเคราะห์ด้วยการหลอกลวงนั่นแหละ.
____________________________
๑- ม. สาจิโยโคติ กุฏิลโยโค.

               พึงทราบคำวินิจฉัยในคำว่า เฉทนํ เป็นต้น.
               บทว่า "เฉทนํ" แปลว่า การตัดมีการตัดมือเป็นต้น.
               บทว่า "วโธ" แปลว่า การฆ่าให้ตาย.
               บทว่า "พนฺโธ" แปลว่า เครื่องจองจำด้วยเชือกเป็นต้น.
               บทว่า "วิปราโมโส" แปลว่า การตีชิง.
               การตีชิงมี ๒ อย่าง คือ หิมวิปราโมโส การตีชิงอาศัยหิมะ คุมฺพวิปราโมโส การตีชิงอาศัยพุ่มไม้.
               จริงอยู่ ในสมัยใดที่หิมะตก พวกนักเลงทั้งหลาย ปกปิดตนด้วยหิมะที่ตกแล้ว จึงตีชิงผู้เดินทาง ภาวะเช่นนี้ชื่อว่า หิมวิปราโมโส. สมัยใด พวกนักเลงอาศัยกำบังตนด้วยพุ่มไม้ แล้วตีชิงผู้เดินทาง ภาวะเช่นนี้ ชื่อว่า คุมฺพวิปราโมโส. การปล้นสดมภ์ตามบ้านและหมู่บ้านเป็นต้น ท่านเรียกว่า อาโลโป ซึ่งแปลว่า การปล้นสดมภ์. การเข้าไปสู่บ้านผู้อื่นด้วยกิริยาท่าทางที่ดุร้ายแล้วเอาศาสตราจ่อที่อกมนุษย์ แล้วก็ถือเอาสิ่งของที่ตนปรารถนา ชื่อว่า สหสาราโร แปลว่า การกรรโชก. ผู้มีศีลย่อมเว้นขาดจากการทำความดุร้าย มีการตัดมือเป็นต้นนั้นด้วยประการฉะนี้.
               ข้อว่า "โส สนฺตุฏฺโฐ โหติ" ความว่า เธอเป็นผู้ประกอบด้วยความสันโดษในปัจจัยตามมีตามได้ ๑๒ อย่างในปัจจัย ๔ อย่าง.
               บทว่า "กายปริหาริเกน" แปลว่า ด้วยปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งที่สักว่าเป็นเครื่องบริหารกาย. บทว่า "กุจฺฉิปริหาริเกน" แปลว่า ด้วยปัจจัยสักว่าเป็นเครื่องบริหารท้อง.
               สองบทว่า "สมาทาเยว ปกฺกมติ" ความว่า เธอถือเอาบริขาร ๘ ทั้งหมดอันเป็นบริขารสำหรับภิกษุเท่านั้น กระทำให้เนื่องด้วยกายแล้วก็ไป เธอเป็นผู้ไม่ข้อง ไม่ผูกพันว่า "วิหารของเรา บริเวณของเรา อุปัฏฐากของเรา" เธอใช้สอยเสนาสนะที่เป็นไพรสณฑ์มีโคนไม้ ทิวป่า เงื้อมเขาตามที่ปรารถนา เป็นผู้ยืนคนเดียว นั่งคนเดียว ไม่มีเพื่อนสองในอิริยาบถทั้งปวง เหมือนลูกศรที่พ้นจากสาย เหมือนช้างซับมันหลีกออกจากโขลง ฉะนั้น เธอย่อมถึงความเป็นผู้เหมือนนอแรด ที่ท่านพรรณนาคำเป็นคาถาไว้อย่างนี้ว่า
                         "จาตุทฺทิโส อปฺปฏิโฆ ว โหติ
                         สนฺตุสฺสมาโน อิตรีตเรน
                         ปริสฺสยานํ สหิตา อจฺฉมฺภี
                         เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป."

               แปลความว่า ภิกษุเป็นผู้ไม่เดือดร้อนเที่ยวไปในทิศทั้ง ๔ เธอเป็นผู้สันโดษอยู่ด้วยปัจจัยตามมีตามได้ เป็นผู้อดทนต่ออันตรายทั้งหลาย เป็นผู้ไม่สะดุ้งหวาดเสียว พึงเป็นผู้เดียวเที่ยวไปเหมือนนอแรดฉะนั้น.
               บัดนี้ พระบรมศาสดา เมื่อจะทรงยังเนื้อความนั้นให้สำเร็จประโยชน์ ด้วยคำอุปมาจึงตรัสคำว่า "เสยฺยถาปิ" เป็นต้น. บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยในคำว่า "เสยฺยถาปิ" เป็นต้นนั้น.
               สองบทว่า "ปกฺขี สกุโณ" ได้แก่ นกประกอบด้วยปีก. บทว่า "เฑติ" แปลว่า ย่อมบินไป.
               ก็ในอธิการนี้มีเนื้อความโดยสังเขป ดังต่อไปนี้
               ธรรมดาว่า นกทั้งหลายทราบว่า ต้นไม้ในประเทศโน้นมีผลสุก ก็พากันบินมาจากทิศต่างๆ แล้วพากันจิกเจาะทำลาย และจิกกินผลไม้ทั้งหลายแห่งต้นไม้นั้น ด้วยเล็บ ปีกและจะงอยปากเป็นต้นเคี้ยวกิน. ก็ความห่วงใยของนกเหล่านั้นว่า ผลนี้จักมีประโยชน์แก่พวกเราในวันนี้ ผลนี้จักมีประโยชน์แก่พวกเราในวันนี้ ผลนี้จักมีประโยชน์แก่พวกเราในวันพรุ่งนี้ ดังนี้ ย่อมไม่มี. ก็ครั้นเมื่อผลไม้หมดแล้ว พวกนกก็ไม่ตั้งอารักขาต้นไม้ไว้เลย คือหมายความว่า พวกนกเหล่านั้นจะไม่เอาปีก หรือเล็บ หรือจะงอยปากแตะต้องต้นไม้เพื่อต้องการรักษาไว้ ทีนั้นแล ฝูงนกผู้ไม่ห่วงใยในต้นไม้นั้นก็จะพากันไป นกตัวใดปรารถนาจะไปสู่ทิศภาคใด นกตัวนั้นก็มีแต่เพียงปีกเท่านั้นเป็นภาระแล้วก็โผบินไป ฉันใด ภิกษุนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือเป็นผู้ไม่ข้องไม่ห่วงใย ถือเอาเพียงบริขาร ๘ เท่านั้นแล้วก็หลีกไปด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า "อริเยน" แปลว่า ไม่มีโทษ.
               บทว่า "อชฺฌตฺตํ" แปลว่า ในอัตภาพของตน.
               บทว่า "อนวชฺชสุขํ" แปลว่า ความสุขที่ปราศจากโทษ.
               ข้อว่า "โส จกฺขุนา รูปํ ทิสฺวา" อธิบายว่า ภิกษุนั้นเป็นผู้ประกอบด้วยศีลขันธ์อันไม่มีโทษนี้ เพราะเห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณ. แม้ในบทที่เหลือ คำใดที่ข้าพเจ้าพึงกล่าว คำนั้นทั้งหมดข้าพเจ้ากล่าวแล้วในหนหลังนั่นแหละ.
               บทว่า "อพฺยาเสกสุขํ" ได้แก่ ความสุขที่กิเลสทั้งหลายไม่รั่วรด. คำนี้ท่านกล่าวว่า เป็นความสุขอันไม่เกลื่อนกล่น ดังนี้บ้าง.
               จริงอยู่ ความสุขในอินทรีย์สังวร ชื่อว่าเป็นความสุขอันไม่เกลื่อนกล่นแล้ว เพราะความเป็นไปด้วยเหตุสักว่า อารมณ์อันตนเห็นแล้วเป็นต้น ในบรรดาอารมณ์ทั้งหลายที่ตนเห็นแล้ว.
               ข้อว่า "โส อภิกฺกนฺเต ปฏิกฺกนฺเต" อธิบายว่า ภิกษุนั้นประกอบด้วยความสำรวมอินทรีย์ทั้งหลาย ซึ่งมีใจเป็นที่หก ย่อมเป็นผู้กระทำสัมปชัญญะ ด้วยสามารถแห่งสติสัมปชัญญะในที่ทั้งหลาย ๗ มีการก้าวไปข้างหน้าและถอยหลังกลับเป็นต้นเหล่านี้. ในบรรดาบทเหล่านั้น คำใดที่ข้าพเจ้าพึงกล่าว คำนั้นข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วในฌานวิภังค์แล.
               ถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมอะไรไว้ ด้วยคำเป็นต้นว่า "โส อิมินา จ" ดังนี้
               ตอบว่า พระองค์ทรงแสดงปัจจัยสมบัติคือ การถึงพร้อมด้วยปัจจัยของภิกษุผู้อยู่ในป่า ด้วยว่าปัจจัย ๔ คือ ศีลขันธ์ ๑ อินทรีย์สังวร ๑ สติสัมปชัญญะ ๑ ความสันโดษ ๑ เหล่านี้ไม่มีแก่ภิกษุใด การอยู่ในป่าก็ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ภิกษุนั้น หมายความว่า ภิกษุนั้นจะต้องถึงความเป็นผู้อันใครๆ พึงตำหนิติเตียน กล่าวเปรียบด้วยสัตว์เดรัจฉานและนายพรานป่า. เทวดาผู้สิงอยู่ในป่า ย่อมประกาศคำให้ได้ยินเสียงอันน่ากลัวว่า จะมีประโยชน์อะไรด้วยการอยู่ป่าของผู้ลามกเห็นปานนี้ พวกมนุษย์ทั้งหลายจะพากันเอามือลูบคลำศีรษะกระทำอาการให้เธอหนีไป ความไม่มียศของเธอย่อมฟุ้งไปว่า ภิกษุชื่อโน้นเข้าไปอยู่ป่าแล้วสร้างกรรมอันลามกอย่างนี้ๆ.
               ก็ปัจจัย ๔ เหล่านี้มีอยู่แก่ภิกษุใด การอยู่ในป่าก็ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่ภิกษุนั้น เพราะว่า เมื่อเธอพิจารณาศีลของตน เมื่อไม่เห็นจุดดำด่างแต่สักอย่างหนึ่ง เธอก็จะยังปีติปราโมชให้เกิดขึ้นแล้ว ก็พิจารณาปีตินั้นอยู่ โดยความเสื่อมไปสิ้นไป แล้วย่อมหยั่งลงสู่ภูมิแห่งพระอริยะ. เหล่าเทพทั้งหลายที่สถิตอยู่ในป่ามีใจเป็นของตน มีจิตใจเบิกบาน ย่อมกล่าวสรรเสริญคุณ ด้วยเหตุนี้ ยศของภิกษุนั้นย่อมแผ่กว้างออกไป เหมือนหยาดน้ำมันที่บุคคลใส่เข้าไปในน้ำ ย่อมแผ่ขยายกว้างออกไป ฉันนั้น.
               บทว่า "วิวิตฺตํ" เป็นต้น มีความเหมือนคำที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ในหนหลังนั่นแหละ.
               คำใดที่ควรกล่าวในฐานมีประมาณเท่านี้ว่า "โส เอวํ สมาหิเต จิตฺเต ฯเปฯ ยถากมฺมูปเค สตฺเต ปชานาติ" ดังนี้ คำนั้นทั้งหมด ข้าพเจ้ากล่าวแล้วในวิสุทธิมรรคนั่นแล.
               บัณฑิตพึงทราบจตุตถฌานจิตอันเป็นบาทแห่งวิปัสสนา ในคำว่า "โส เอวํ สมาหิเต จิตฺเต" แห่งตติยวิชชา คือวิชชาที่ ๓ ได้แก่อาสวักขยญาณ. ข้อว่า "อาสวานํ ขยญาณาย" ได้แก่ เพื่อประโยชน์แก่พระอรหัตมรรคญาณ. ก็พระอรหัตมรรคอันยังอาสวะกิเลสให้พินาศ ท่านเรียกว่า "อาสวานํ ขโย" แปลว่า ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย.
               จริงอยู่ ญาณในอรหัตมรรคญาณนั้น ท่านเรียกว่า "อาสวานํ ขโย" เพราะเป็นธรรมอันนับเนื่องในอรหัตมรรคนั้น.
               ข้อว่า "จิตฺตํ อภินินฺนาเมติ" ได้แก่ วิปัสสนาจิตของเขา ย่อมมุ่งไป.
               ในคำทั้งหลาย มีคำว่า "โส อิทํ ทุกฺขํ" เป็นต้น บัณฑิตพึงทราบเนื้อความอย่างนี้ว่า
               ภิกษุย่อมรู้ทั่ว คือย่อมแทงตลอดทุกขสัจจะแม้ทั้งปวงตามความเป็นจริง ด้วยการแทงตลอดลักษณะพร้อมทั้งรสว่า "เอตฺตกํ ทุกฺขํ น อิโต ภิยฺโย" แปลว่า ทุกข์มีประมาณเท่านี้ ไม่ยิ่งไปกว่านี้.
               ก็ภิกษุย่อมรู้ทั่ว คือย่อมแทงตลอดตัณหาอันเป็นแดนเกิดแห่งทุกข์นั้นตามความเป็นจริง ด้วยการแทงตลอดลักษณะพร้อมทั้งรสว่า "อยํ ทุกฺขสมุทโย" สภาวธรรมนี้เป็นแดนเกิดแห่งทุกข์.
               ภิกษุย่อมรู้ทั่ว คือย่อมแทงตลอดซึ่งพระนิพพานอันเป็นที่ถึงความดับคือไม่เป็นไปของธรรมแม้ทั้งสองเหล่านั้นตามความเป็นจริง ด้วยการแทงตลอดลักษณะพร้อมทั้งรสว่า "อยํ ทุกฺขนิโรโธ" สภาวธรรมนี้เป็นที่ดับทุกข์.
               ก็ภิกษุย่อมรู้ทั่ว คือย่อมแทงตลอดอริยมรรคอันเป็นสัมปาปกะเหตุแห่งพระนิพพานนั้นตามความเป็นจริง ด้วยการแทงตลอดลักษณะพร้อมทั้งรสว่า "อยํ ทุกฺขนิโรธคามินีปฏิปทา" สภาวธรรมนี้เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงซึ่งความดับทุกข์.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงสัจจะทั้งหลายโดยสรุปอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงสัจจะโดยปริยาย ด้วยอำนาจกิเลส พระองค์จึงตรัสคำเป็นต้นว่า "อิเม อาสวา."
               ข้อว่า "ตสฺส เอวํ ชานโต เอวํ ปสฺสโต" ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมตรัสประโยชน์อันถึงที่สุดพร้อมด้วยวิปัสสนาแก่ภิกษุผู้นั้น ผู้รู้อยู่อย่างนี้ผู้เห็นอยู่อย่างนี้.
               บทว่า "กามาสวา" ได้แก่ (ย่อมพ้น) จากกามาสวะ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงแสดงขณะแห่งมรรค ด้วยบทนี้ว่า "วิมุจฺจติ" ซึ่งแปลว่า กำลังหลุดพ้น. ทรงแสดงขณะแห่งผล ด้วยบทนี้ว่า "วิมุตฺตสฺมึ" แปลว่า หลุดพ้นแล้ว. ก็จิตในขณะแห่งมรรค ชื่อว่ากำลังหลุดพ้น จิตในขณะแห่งผลชื่อว่าหลุดพ้นแล้ว. ย่อมทรงแสดงญาณในปัจจเวกขณะ ด้วยคำนี้ว่า "วิมุตฺตสฺมึ วิมุตฺมิติ ญาณํ" เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็รู้ว่า จิตหลุดพ้นแล้ว ทรงแสดงภูมิแห่งปัจจเวกขณญาณนั้น ด้วยคำว่า "ชาติ ขีณา" เป็นต้น. ก็พระขีณาสพนั้นเมื่อพิจารณาด้วยญาณนั้น ย่อมรู้ชัดว่า ชาติของท่านสิ้นแล้ว.
               บทว่า "วุสิตํ" ได้แก่ อยู่แล้ว คืออยู่จบแล้ว คือกระทำแล้ว ประพฤติเสร็จกิจแล้ว. อธิบายว่า สำเร็จกิจแล้ว.
               บทว่า "พฺรหฺมจริยํ" ได้แก่ มรรคพรหมจรรย์.
               ก็พระเสกขบุคคล ๗ จำพวกกับกัลยาณปุถุชน ชื่อว่าย่อมอยู่ อยู่ประพฤติพรหมจรรย์ พระขีณาสพ ชื่อว่ามีการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์จบแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อพระขีณาสพ ท่านพิจารณาการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ของท่าน ท่านย่อมรู้ชัดว่าพรหมจรรย์อันเราอยู่จบแล้ว.
               สองบทว่า "กตํ กรณียํ" อธิบายว่า กิจแม้ ๑๖ อย่างในสัจจะทั้ง ๔ ที่พระขีณาสพทำให้สำเร็จแล้ว ด้วยสามารถปริญญากิจ ปหานกิจ สัจฉิกิริยากิจและภาวนากิจ ด้วยมรรคทั้ง ๔.
               จริงอยู่ กัลยาณปุถุชนเป็นต้นกำลังทำกิจนั้นอยู่ แต่พระขีณาสพทำกิจนั้นสำเร็จแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อพระขีณาสพพิจารณากรณียกิจของตน ท่านย่อมทราบชัดว่า "กตํ กรณียํ" แปลว่า กรณียกิจเรากระทำเสร็จแล้ว.
               ข้อว่า "นาปรํ อิตฺถตฺตาย" ความว่า พระขีณาสพย่อมทราบชัดว่า บัดนี้ กิจด้วยการเจริญมรรคอื่นอีก ย่อมไม่มี จะด้วยการเจริญกิจในที่นี้ หรือด้วยการเจริญกิจ ๑๖ อย่าง หรือด้วยการสิ้นกิเลสก็ตาม.

               อรรถกถาบุคคลผู้มีราคะเป็นต้น               
               วินิจฉัยในคำทั้งหลายมีคำว่า "ผู้มีราคะ" เป็นต้น.
               บทว่า "อปฺปหีโน" ความว่า ผู้ประหานราคะยังไม่ได้ ด้วยวิกขัมภนปหานหรือด้วยตทังคปหาน.

               อรรถกถาบุคคลผู้ได้เจโตสมถะในภายใน ฯลฯ เป็นต้น               
               วินิจฉัยในคำทั้งหลายมีคำว่า "ลาภี โหติ" เป็นต้น.
               บทว่า "ลาภี" แปลว่า ผู้มีปกติได้ คือได้เฉพาะแล้วดำรงอยู่.
               สองบทว่า "อชฺฌตฺตํ เจโตสมถสฺส" ได้แก่ เจโตสมถะที่บังเกิดขึ้นในจิตของตน กล่าวคือเป็นไปในภายในของตนเอง.
               บทว่า "อธิปญฺญาธมฺมวิปสฺสนาย" ความว่า ด้วยวิปัสสนา คืออธิปัญญาที่เป็นไปด้วยสามารถแห่งอนิจจลักษณะเป็นต้นในธรรมขันธ์ทั้งหลาย.
               บทว่า "รูปสหคตานํ" ได้แก่ รูปาวจรสมาบัติที่มีรูปนิมิตเป็นอารมณ์.
               บทว่า "อรูปสหคตานํ" ได้แก่ อรูปสมาบัติซึ่งไม่มีรูปนิมิตเป็นอารมณ์.
               ก็ในอธิการนี้ พึงทราบว่า บุคคลพวกที่ ๑ ได้แก่ ปุถุชนผู้มีสมาบัติ ๘, บุคคลพวกที่ ๒ ได้แก่ พระอริยสาวกผู้สุกขวิปัสสก, บุคคลพวกที่ ๓ ได้แก่ พระอริยสาวกผู้ได้สมาบัติ ๘, บุคคลพวกที่ ๔ ได้แก่ โลกียปุถุชน.

               อรรถกถาบุคคลผู้ไปตามกระแสเป็นต้น               
               วินิจฉัย ในคำว่า "อนุโสตคามี" คือ ผู้ไปตามกระแสเป็นต้น.
               บทว่า "อนุโสตคามี" พึงทราบว่าได้แก่ ปุถุชนผู้ไปตามกระแสคือวัฏฏะ ผู้จมลงในกระแสคือวัฏฏะ.
               บทว่า "ปฏิโสตคามี" คือ ผู้ไปทวนกระแส.
               คำว่า "ปฏิโสตคามี" นี้เป็นชื่อของท่านผู้ไม่ไปตามกระแส แต่ไปทวนกระแส.
               ข้อว่า "ปาปญฺจ กมฺมํ น กโรติ" ได้แก่ ผู้ไม่ก้าวล่วงบัญญัติกระทำบาป.
               ข้อว่า "สหาปิ ทุกฺเขน สหาปิ โทมนสฺเสน" ความว่า ครั้นเมื่อกิเลสอันเป็นปริยุฏฐานยังมีอยู่ ย่อมกระทำกรรมอันลามก แม้กับด้วยทุกขโทมนัสที่เกิดขึ้น.
               บทว่า "ปริปุณฺณํ" ได้แก่ บรรดาสิกขาทั้ง ๓ ไม่บกพร่องแม้สักอย่าง.
               บทว่า "ปริสุทฺธํ" ได้แก่ ไม่มีอุปกิเลส.
               บทว่า "พฺรหฺมจริยํ" แปลว่า ประพฤติธรรมอันประเสริฐที่สุด.
               พระโสดาบันและพระสกทาคามี พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยวาระนี้.
               ถามว่า ก็บุคคลเหล่านี้ ร้องไห้อยู่ประพฤติพรหมจรรย์หรือ?
               ตอบว่า ถูกแล้ว ท่านเหล่านี้ ชื่อว่าร้องไห้ประพฤติพรหมจรรย์ โดยการร้องไห้ด้วยอำนาจของกิเลส. แม้ภิกษุผู้ปุถุชนสมบูรณ์ด้วยศีล พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงสงเคราะห์เข้าในบทว่า "พฺรหฺมจริยํ" นี้เหมือนกัน.
               บทว่า "ฐิตตฺโต" ได้แก่ ผู้มีการดำรงตัวอยู่ได้เป็นสภาพ ก็พระอนาคามี ชื่อว่าดำรงตัวอยู่ได้เป็นสภาพ เพราะท่านเป็นผู้มีจิตไม่หวั่นไหวด้วยกามราคะและพยาบาท และเป็นผู้ไม่เวียนกลับมาจากโลกนั้นเป็นธรรมดา.
               บทว่า "ติณฺโณ" ได้แก่ ผู้ข้ามกระแสแห่งตัณหา.
               บทว่า "ปารคโต" ได้แก่ ผู้ถึงฝั่งคือ พระนิพพาน.
               สองบทว่า "ผเล ติฏฺฐติ" ได้แก่ ยืนอยู่บนบก คืออรหัตผลและสมาปัตติผล.
               บทว่า "เจโตวิมุตฺตึ" ได้แก่ ผลสมาธิ. บทว่า "ปญฺญาวิมุตฺตึ" ได้แก่ ผลญาณ.
               สองบทว่า "อยํ วุจฺจติ" ความว่า พระขีณาสพผู้ข้ามกระแสตัณหาไปแล้ว ถึงฝั่งคือพระนิพพานแล้ว ยืนอยู่บนบก คืออรหัตผลและสมาปัตติผล ท่านเรียกว่าเป็น "พราหมณ์". ก็พระขีณาสพนี้ชื่อว่าเป็นพราหมณ์ เพราะท่านเป็นผู้มีบาปอันลอยเสียแล้ว.

               อรรถกถาบุคคลผู้มีสุตะน้อยเป็นต้น               
               วินิจฉัยในคำว่า "ผู้มีสุตะน้อย" เป็นต้น.
               ข้อว่า "อปฺปกํ สุตํ โหติ" ความว่า สุตะ คือการฟัง การเรียนในนวังคสัตถุศาสน์มีบางส่วน คือมีนิดหน่อยเท่านั้น.
               ข้อว่า "น อตฺถมญฺญาย น ธมฺมญฺญาย ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺโน โหติ" ความว่า เป็นผู้รู้บาลี อรรถกถา แล้วปฏิบัติธรรมอันเป็นข้อปฏิบัติเบื้องต้น อันสมควรแก่โลกุตตรธรรม ย่อมไม่มีแก่เขา.
               ในบททั้งปวง บัณฑิตพึงทราบเนื้อความโดยนัยนี้.

               อรรถกถาบุคคลผู้เป็นสมณะไม่หวั่นไหวเป็นต้น               
               วินิจฉัยในคำว่า "สมณมจโล" เป็นต้น.
               บทว่า "สมณมจโล" แก้เป็น สมณอจโล ซึ่งแปลว่า สมณะผู้ไม่หวั่นไหว อักษรกระทำการเชื่อมบทไว้. อธิบายว่า บุคคลผู้เป็นสมณะ เป็นผู้ไม่หวั่นไหว คือผู้เป็นสมณะ ย่อมเป็นผู้มีจิตมั่นคง.
               สองบทว่า "อยํ วุจฺจติ" ความว่า พระโสดาบันนี้ ท่านเรียกว่า "สมณมจโล" เพราะท่านเป็นผู้ตั้งมั่นด้วยศรัทธา (อจลศรัทธา) อันเป็นเหตุมั่นคงเกิดแล้วในพระศาสนา.
               ส่วนพระสกทาคามี พระองค์ตรัสว่า "สมณปทุโม" คือ สมณะบัวหลวง เพราะกิเลสอันเป็นเครื่องยินดียังมีอยู่. ท่านกล่าวคำอธิบายไว้ว่า "ก็ชื่อว่า อรรถแห่ง ปทุม ศัพท์ ในคำว่า สมณปทุโม" นี้ ว่ามีความยินดีเป็นอรรถ (รตฺตตฺโถ).
               พระอนาคามี พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "สมณปุณฺฑรีโก" คือ สมณะบัวขาว เพราะท่านไม่มีกิเลสอันเป็นเครื่องยินดี กล่าวคือกามราคะ ท่านอธิบายว่า "ก็ชื่อว่า อรรถแห่ง ปุณฑรีกะ ศัพท์ ในคำว่า "สมณปุณฺฑรีโก" นี้ ว่ามีความสะอาดเป็นอรรถ.
               ก็พระขีณาสพ พระองค์ตรัสว่า ชื่อว่าสมณสุขุมาลในสมณะทั้งหลาย เพราะความเป็นผู้ไม่มีกิเลสทั้งหลาย อันกระทำความกระด้าง. ก็พระขีณาสพนี้ ชื่อว่าเป็นสมณะผู้สุขุมาลโดยแท้ เพราะอรรถว่า ท่านเป็นผู้มีทุกข์น้อย ดังนี้แล.

               อรรถกถาจตุกกนิทเทส อธิบายบุคคล ๔ จำพวก จบเพียงนี้.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ปุคคลบัญญัติปกรณ์ บุคคลบัญญัติ จตุกกนิทเทส จบ.
อ่านอรรถกถา 36.2 / 1อ่านอรรถกถา 36.2 / 84อรรถกถา เล่มที่ 36.2 ข้อ 104อ่านอรรถกถา 36.2 / 141อ่านอรรถกถา 36.2 / 152
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=36&A=3659&Z=4544
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=55&A=1845
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=55&A=1845
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :