ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 976อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 991อ่านอรรถกถา 35 / 1005อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อรรถกถา วิภังคปกรณ์
ขุททกวัตถุวิภังค์ ฉักกนิเทศ

               อรรถกถาฉักกนิทเทส               
               อธิบายมาติกาหมวด ๖               
               บุคคลผู้โกรธแล้ว ย่อมถึงการทะเลาะ การวิวาท การโต้เถียงกันด้วยอำนาจแห่งความโกรธ หรือว่า บุคคลผู้ยึดถือแต่ความเห็นของตนก็ย่อมถึงการทะเลาะ การวิวาท การโต้เถียงกันเพราะความยึดถือแต่ความเห็นของตน เหตุใด เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า วิวาทมูลมีความโกรธเป็นต้น.

               ฉันทราคนิทเทส               
               อธิบายฉันทราคะ               
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้โดยย่อว่า ธรรมทั้งหลายอาศัยเรือน ชื่อว่าฉันทราคะ เพราะอาศัยเรือนคือกาม ดังนี้แล้ว เพื่อจะทรงแสดงธรรมนั้นโดยประเภทอีก จึงตรัสว่า มนาปิเยสุ รูเปสุ เป็นต้น.
               บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า มนาปิเยสุ ได้แก่ ความชอบใจ อันยังใจให้เจริญ.
               วิโรธวัตถุ คือ ความพิโรธ (ความอาฆาต).
                คำว่า อคารโว ในอคารวะทั้งหลาย ได้แก่ เว้นจากความเคารพ.
               คำว่า อปฺปติสฺโส ได้แก่ ผู้ไม่เชื่อฟัง ไม่ประพฤติตามถ้อยคำ.
               ก็ข้อนี้ ครั้นเมื่อพระศาสดายังทรงพระชนม์อยู่ ภิกษุใดย่อมไม่ไปสู่ที่บำรุงในกาลทั้ง ๓ เมื่อพระศาสดาไม่สวมรองพระบาทจงกรมอยู่ ภิกษุใดสวมรองเท้าจงกรมอยู่ เมื่อพระศาสดาจงกรมอยู่ในที่ต่ำ ภิกษุใดย่อมจงกรมในที่จงกรมสูง เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ในที่ต่ำ ภิกษุใดย่อมอยู่ในที่สูง ภิกษุใดย่อมห่มคลุมไหล่ทั้งสอง ย่อมกั้นร่ม ย่อมสวมรองเท้า ย่อมอาบน้ำ ย่อมถ่ายอุจจาระปัสสาวะในที่อันเห็นพระศาสดา ก็หรือว่า เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว ภิกษุใดย่อมไม่ไปเพื่อจะไหว้พระเจดีย์ ย่อมทำการงานทั้งปวงอันกล่าวแล้ว ในที่อันมองเห็นพระเจดีย์ ภิกษุนี้ชื่อว่าไม่เคารพในพระศาสดา.
               ก็ภิกษุใดไปฟังธรรมที่สงฆ์ประกาศแล้ว โดยไม่เคารพ. ย่อมไม่ฟังโดยเคารพ ย่อมนั่งสนทนากัน. ย่อมเรียนโดยไม่เคารพ. ย่อมกล่าวสอนโดยไม่เคารพ ภิกษุนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ไม่เคารพในพระธรรม.
               ก็ภิกษุใดไม่ได้รับการเชื้อเชิญจากภิกษุเถระให้แสดงธรรม ย่อมแสดงธรรม ย่อมแก้ปัญหา ย่อมเดิน ยืน นั่ง กระทบกระทั่งภิกษุผู้แก่กว่า หรือว่านั่งเอาผ้ารัดเข่า เอามือรัดเข่า ย่อมห่มคลุมไหล่ทั้งสองในท่ามกลางสงฆ์ ย่อมกั้นร่มและสวมรองเท้า ภิกษุนี้ชื่อว่าไม่เคารพในสงฆ์.
               จริงอยู่ ภิกษุแม้กระทำความไม่เคารพในเรื่องที่กล่าวแล้วเพียงอย่างเดียวในสงฆ์ก็ชื่อว่าไม่เคารพในสงฆ์เหมือนกัน.
               ก็ภิกษุใดยังไม่กระทำสิกขา ๓ ให้บริบูรณ์ ภิกษุนั้นชื่อว่าไม่เคารพในสิกขา.
               เมื่อภิกษุใดไม่เจริญลักษณะแห่งความไม่ประมาทเนืองๆ ภิกษุนั้นชื่อว่าไม่เคารพในความไม่ประมาท. เมื่อไม่กระทำปฏิสันถาร ๒ อย่าง๑- ชื่อว่าไม่เคารพในปฏิสันถาร.
____________________________
๑- ปฏิสันถาร ๒ คืออามิสปฏิสันถาร ธัมมปฏิสันถาร.

               คำว่า ปริหานิยา ธมฺมา ได้แก่ ธรรมทั้งหลายอันกระทำซึ่งความเสื่อม.
               คำว่า กมฺมารามตา ได้แก่ เป็นผู้ประกอบแล้ว ขวนขวายแล้วด้วยความยินดียิ่งในนวกรรม (การก่อสร้าง) หรือว่าในการงานทั้งหลาย มีการใคร่ครวญคิดถึงจีวรเป็นต้น.
               คำว่า ภสฺสารามตา ได้แก่ ประกอบแล้ว ขวนขวายแล้วในการสนทนาด้วยสามารถแห่งคำอันเป็นดิรัจฉานกถา.
               คำว่า นิทฺทารามตา ได้แก่ ประกอบแล้วขวนขวายแล้วในการหลับนอน.
               คำว่า สงฺคณิการามตา ได้แก่ ประกอบแล้วขวนขวายแล้วในการคลุกคลีด้วยหมู่.
               คำว่า สํสคฺคารามตา ได้แก่ ประกอบแล้วขวนขวายแล้วในการอยู่ร่วมกัน ๕ อย่าง คือในการอยู่ร่วมกันด้วยการฟัง อยู่ร่วมกันด้วยการดู อยู่ร่วมกัน ด้วยการสนทนา อยู่ร่วมกันด้วยการบริโภค อยู่ร่วมกันด้วยกาย.
               คำว่า ปปญฺจารามตา ได้แก่ ประกอบแล้วขวนขวายแล้วในธรรมอันยังสัตว์ให้เนิ่นช้า คือตัณหา มานะและทิฏฐิ.
               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า โสมนัสสุปวิจาร เป็นต้น.
               ธรรมทั้งหลาย ชื่อว่าโสมนัสสุปวิจาร เพราะอรรถว่าย่อมครุ่นคิดถึงซึ่งการเกิดขึ้นร่วมกับโสมนัส.
               คำว่า จกฺขุนา รูปํ ทิสฺวา ได้แก่ เห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณ.
               คำว่า โสมนสฺสฏฺฐานิยํ ได้แก่ เป็นเหตุแห่งโสมนัส ด้วยสามารถแห่งอารมณ์.
               ในคำว่า อุปวิจรติ นั้นได้แก่ ย่อมครุ่นคิดถึง โดยความเป็นไปแห่งวิจาร.
               บัณฑิตพึงทราบเนื้อความในหมวด ๖ แม้ทั้ง ๓ คือโสมนัสสุปวิจาร โทมนัสสุปวิจารและอุเปกขูปวิจาร โดยนัยนี้ว่า วิตกฺโก ปน ตํสมฺปยุตฺโต วา ดังนี้ (แปลว่า วิตกเป็นธรรมสัมปยุตกับด้วยวิจารนั้น)
               คำว่า เคหสิตานิ ได้แก่ อิงอาศัยกามคุณ.
               คำว่า โสมนสฺสานิ ได้แก่ ความสุขทางใจ.
               คำว่า โทมนสฺสานิ ได้แก่ ความทุกข์ทางใจ.
               คำว่า อุเปกฺขา ได้แก่ อุเบกขาเวทนาอันสัมปยุตด้วยอัญญาณ (คือโมหะ).
               แม้คำว่า อญฺญาณุเปกฺขา ดังนี้ ก็เป็นชื่อของอุเบกขาอันสัมปยุตด้วยอัญญาณนั่นแหละ.

               ทิฏฐิ ๖               
               วา ศัพท์ในบททั้งปวง ในคำว่า อตฺถิ เม อตฺตาติ วา นี้ เป็นนิบาตกำหนดเนื้อความ. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอธิบายว่า ความเห็นผิดย่อมเกิดขึ้นอย่างนี้ก็ดี. ก็สัสสตทิฏฐิ ย่อมถือเอาซึ่งความที่ตนมีอยู่ในกาลทั้งปวง ในคำว่า อตฺถิ เม อตฺตา นี้.
               คำว่า สจฺจโต เถตโต ได้แก่ โดยแท้จริง โดยมั่นคง.
               คำว่า อิทํ สจฺจํ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอธิบายว่า โดยความเป็นสิ่งมั่นคงด้วยดี.
               คำว่า นตฺถิ เม อตฺตา (แปลว่า อัตตาของเราไม่มี) อธิบายว่า ทิฏฐินี้ ชื่อว่าอุจเฉททิฏฐิ เพราะถือเอาความไม่มีแห่งสัตว์ผู้ปรากฏอยู่ในที่นั้นๆ.
               อีกอย่างหนึ่ง ทิฏฐินี้ ชื่อว่าสัสสตทิฏฐิ เพราะถือเอาอัตตาในกาลทั้ง ๓ แม้เกิดก่อนว่า มีอยู่. อุจเฉททิฏฐิถือเอาอัตตาอันเป็นปัจจุบันเท่านั้นว่ามีอยู่. คือว่า ชื่อว่าอุจเฉททิฏฐิ เพราะการถือว่าอัตตาในอดีตและอนาคต แม้เกิดภายหลังว่า ไม่มีอยู่ ดังนี้ ราวกะทิฏฐิของบุคคลผู้มีความเห็นว่า ของบูชายัญอันเป็นเถ้าธุลี. สัสสตทิฏฐิของบุคคลผู้มีความเห็นว่า อัตตาเกิดขึ้นลอยๆ เทียว จึงยึดถือว่า อัตตาในอดีตเท่านั้นไม่มี ดังนี้.
               คำว่า อตฺตนา วา อตฺตานํ สญฺชานามิ (แปลว่า ย่อมรู้จักอัตตาด้วยอัตตา ดังนี้ก็ดี) อธิบายว่า ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า เราชื่อว่าย่อมรู้จักอัตตานี้ด้วยอัตตานี้ เพราะถือว่า อัตตาในขันธ์โดยมีสัญญาขันธ์เป็นสีสะ แล้วรู้ขันธ์ที่เหลือด้วยสัญญา ดังนี้.
               คำว่า อตฺตนา วา อนตฺตานํ (แปลว่า รู้จักอนัตตาด้วยอัตตา) อธิบายว่า ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า เพราะรู้อัตตาเหล่านั้น โดยการถือเอาสัญญาขันธ์นั่นแหละว่าเป็นอัตตา แล้วก็ถือเอาขันธ์ ๔ ที่เหลือว่าเป็นอนัตตา.
               คำว่า อนตฺตนา วา อตฺตานํ (แปลว่า รู้จักอัตตาด้วยอนัตตา) ได้แก่ ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า เพราะถือเอาสัญญาขันธ์ว่าเป็นอนัตตา แล้วถือขันธ์ ๔ นอกนี้ว่าเป็นอัตตา เพราะรู้อัตตาเหล่านั้นด้วยสัญญา การยึดถืออัตตาแม้ทั้งปวงเป็นสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิ ดังกล่าวมาแล้วนั่นแหละ.
               ก็คำว่า วโท เวเทยฺโย (แปลว่า ผู้กล่าวผู้เสวย) นี้ เป็นคำกล่าวทำสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิให้มั่นคงทีเดียว.
               พึงทราบวินิจฉัยในคำเหล่านั้น ดังนี้ ที่ชื่อว่า ผู้กล่าว (วโท) เพราะย่อมกล่าว. อธิบายว่า ผู้กระทำวจีกรรม.
               ชื่อว่า เวเทยฺโย เพราะอันบุคคลพึงเสวย. อธิบายว่า อัตตาย่อมรู้จึงชื่อว่าย่อมเสวย.
               บัดนี้ อัตตานั้นย่อมรู้ซึ่งธรรมใด เพื่อแสดงธรรมนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ตตฺร ตตฺร ได้แก่ ในโยนิ ในคติ ในฐิติ ในนิวาสและนิกายทั้งหลาย หรือว่าในอารมณ์ทั้งหลายนั้นๆ.
               คำว่า ทีฆรตฺตํ ได้แก่ สิ้นกาลนาน. คำว่า ปจฺจนุโภติ ได้แก่ ย่อมเสวย.
               คำว่า น โส ชาโต นาโหสิ ได้แก่ อัตตานั่นชื่อว่าไม่เกิด เพราะการไม่เกิดเป็นธรรมดา. อธิบายว่า อัตตานั้นมีอยู่ในกาลทุกเมื่อทีเดียว. ด้วยเหตุนั้นนั่นแหละจึงว่า อัตตาไม่ได้มีแล้วในอดีต จักไม่มีแม้ในอนาคต เพราะว่า อัตตาใดเกิดขึ้นแล้ว อัตตานั้นได้มีแล้ว แต่อัตตาใดจักเกิด อัตตานั้นก็จักมี ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง คำว่า น โส ชาโต นาโหสิ อธิบายว่า อัตตานั้นไม่เกิด ไม่ได้มีแล้ว แม้ในอดีต แม้ในอนาคต ก็จะไม่เกิดจักไม่มี เพราะความที่อัตตานั้นมีอยู่ในกาลทุกเมื่อ.
               คำว่า นิจฺโจ ได้แก่ เว้นจากการเกิดและการดับ.
               คำว่า ธุโว (ยั่งยืน) ได้แก่ เป็นสภาพมั่นคง เป็นสิ่งมีสาระ.
               คำว่า สสฺสโต ได้แก่ ประกอบด้วยกาลทั้งปวง.
               คำว่า อวิปริณามธฺมโม (ไม่แปรผัน) ได้แก่ ธรรมที่ไม่ละความเป็นปกติของตน คือย่อมไม่ถึงซึ่งความเป็นไปโดยประการอื่น เหมือนกิ้งก่าไม่ละอยู่ซึ่งความเป็นปกติของตนฉะนั้น.
               ชื่อว่าทิฏฐิอันเป็นไปกับอาสวะทั้งปวงนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วด้วยประการฉะนี้.
               คำที่เหลือในที่ทั้งปวง มีอรรถตื้นทั้งนั้นแล.

               ฉักกนิทเทส จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา วิภังคปกรณ์ ขุททกวัตถุวิภังค์ ฉักกนิเทศ จบ.
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 976อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 991อ่านอรรถกถา 35 / 1005อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=35&A=13092&Z=13189
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=54&A=12910
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=54&A=12910
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :