ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 97อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 99อ่านอรรถกถา 35 / 101อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อรรถกถา วิภังคปกรณ์
อายตนวิภังค์ อภิธรรมภาชนีย์

               วรรณนาอภิธรรมภาชนีย์               
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอายตนะทั้งหลายไว้ (ในสุตตันตภาชนีย์) ในหนหลัง โดยความเป็นอายตนะคู่ว่า จกฺขายตนํ รูปายตนํ (จักขายตนะ รูปายตนะ) ดังนี้เป็นต้น เพื่อประสงค์ทรงอุปการะพระโยคาวจรทั้งหลายผู้เจริญวิปัสสนาฉันใด ในอภิธรรมภาชนีย์ มิได้ตรัสเหมือนอย่างนั้น เพื่อทรงประสงค์จะแสดงสภาวะแห่งอายตนะภายในและอายตนะภายนอก โดยอาการ (ลักษณะ) ทั้งปวง จึงตรัสโดยนัยแห่งการกำหนดอายตนะภายในและภายนอกอย่างนี้ว่า จกฺขฺวายตนํ โสตายตนํ (จักขวายตนะและโสตายตนะ) ดังนี้เป็นต้น.
               ในนิเทศวารแห่งอายตนะเหล่านั้น พึงทราบคำว่า บรรดาอายตนะ ๑๒ เหล่านั้น จักขายตนะเป็นไฉน เป็นต้นโดยนัยที่กล่าวไว้ในหนหลังนั่นแหละ. แต่ในคำที่ตรัสไว้ในนิเทศแห่งธรรมายตนะว่า ตตฺถ กตมา อสงฺขตา ธาตุ ราคกฺขโย โทสกฺขโย โมหกฺขโย (ในอายตนะเหล่านั้น อสังขตธาตุ เป็นไฉน? ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ) ดังนี้เป็นต้น มีอธิบายดังต่อไปนี้.
               บทว่า อสงฺขตา ธาตุ (อสังขตธาตุ) ได้แก่ พระนิพพานอันมีอสังขตะเป็นสภาวะ (คือเป็นธรรมอันปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้เป็นสภาวะ) แต่เพราะอาศัยพระนิพพานนี้ กิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้นย่อมสิ้นไป ฉะนั้นจึงตรัสว่า ความสิ้นไปแห่งราคะ ความสิ้นไปแห่งโทสะ ความสิ้นไปแห่งโมหะ ดังนี้.
               นี้เป็นคำอธิบายเนื้อความที่เหมือนกันของอาจารย์ทั้งหลายในนิเทศอภิธรรมภาชนีย์นี้.
               แต่อาจารย์วิตัณฑวาทีกล่าวว่า ธรรมดาว่า นิพพานเฉพาะอย่างไม่มี มีแต่นิพพานคือความสิ้นไปแห่งกิเลสเท่านั้น ดังนี้. แต่เมื่อมีผู้ท้วงว่าขอจงนำสูตรมาดังนี้ ก็จะอ้างชัมพุขาทกสูตรนี้ว่า ดูก่อนท่านสารีบุตร ที่เรียกว่า นิพพาน นิพพาน ดังนี้ อาวุโส นิพพานเป็นไฉน ดังนี้ อาวุโส ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะอันใด นี้เรียกว่า นิพพาน ดังนี้ แล้วกล่าวคำที่ควรกล่าวโดยสูตรนี้ว่า ธรรมดาว่า นิพพานเฉพาะอย่างไม่มี มีแต่นิพพานคือความสิ้นกิเลสเท่านั้น ดังนี้.
               พึงโต้ท่านอาจารย์วิตัณฑวาทีว่า ก็เนื้อความนั้นเหมือนกับสูตรนี้หรือ แน่ละท่านอาจารย์วิตัณฑวาทีจักตอบว่าใช่ เนื้อความที่พ้นจากสูตรไปมิได้มี ดังนี้.
               ลำดับนั้นพึงกล่าวกะท่านอาจารย์วิตัณฑวาทีว่า สูตรนี้ท่านอ้างมาก่อนขอให้นำสูตรถัดไปมาแสดง ดังนี้. ท่านอาจารย์วิตัณฑวาทีจึงนำชื่อสูตรที่ถัดไปแห่งสูตรนั้นมาแสดงอย่างนี้ว่า ดูก่อนอาวุโสสารีบุตร ที่เรียกว่า อรหัต อรหัต ดังนี้ ดูก่อนอาวุโส อรหัต เป็นไฉน? ดังนี้ ดูก่อนอาวุโส ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ นี้เรียกว่าอรหัต ดังนี้.
               เมื่ออาจารย์วิตัณฑวาทีนำสูตรนี้มา ชนทั้งหลายก็จะกล่าวกะอาจารย์วิตัณฑวาทีนั้นว่า ธรรมนับเนื่องด้วยธรรมายตนะ ชื่อว่านิพพาน นามขันธ์ ๔ ชื่อว่าพระอรหัต. พระธรรมเสนาบดีผู้กระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานอยู่ เมื่อมีผู้ถามถึงพระนิพพานบ้าง ถามถึงพระอรหัตบ้าง ก็กล่าวถึงความสิ้นกิเลสเท่านั้น ก็นิพพานและพระอรหัต เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร?
               นิพพานเป็นอย่างเดียวกันหรือต่างกันจงยกไว้ ในที่นี้เนื้อความที่ท่านทำให้ละเอียดเกินไป มีความประสงค์อะไร ท่านไม่รู้พระนิพพานเป็นอย่างเดียวหรือว่าต่างกันดอกหรือ เมื่อท่านรู้แล้วก็เป็นการดีมิใช่หรือ ท่านอาจารย์วิตัณฑวาทีถูกถามบ่อยๆ อย่างนี้ ก็ไม่อาจกล่าวให้ผิดไปจากความจริง ก็จะกล่าวว่าพระอรหัต พระองค์ก็ตรัสว่า ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ เพราะความที่พระอรหัตนั้นเกิดขึ้นในที่สุดแห่งการสิ้นราคะเป็นต้น ดังนี้.
               ลำดับนั้น ชนทั้งหลายก็จะกล่าวกะอาจารย์วิตัณฑวาทีนั้นว่า ท่านเอาใหญ่แล้ว แม้ทำความหมายให้พูดอย่างนั้น แต่กลับไปพูดเสียอย่างนี้ทีเดียว ก็พระนิพพานนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจำแนกตรัสไว้ฉันใด ท่านจงกำหนดพระนิพพานแม้นี้ฉันนั้นเถิด เพราะอาศัยพระนิพพานแล้ว ราคะเป็นต้นย่อมสิ้นไป เพราะฉะนั้น จึงตรัสว่า นิพพาน คือความสิ้นราคะ คือความสิ้นโทสะ คือความสิ้นโมหะ ดังนี้ เพราะคำแม้ทั้ง ๓ เหล่านี้ ก็เป็นชื่อของพระนิพพานเหมือนกัน ดังนี้.
               ถ้ากล่าวอย่างนี้ปรับความเข้าใจกันได้ นั่นเป็นการดี ถ้ายังไม่เข้าใจ ก็พึงให้กระทำสภาวะเป็นนิพพานมากมาย ทำอย่างไร?
               คือ พึงถามอย่างนี้ก่อนว่า ชื่อว่าความสิ้นราคะ เป็นความสิ้นไปแห่งราคะอย่างเดียว หรือเป็นการสิ้นไปแม้แห่งโทสะและโมหะ ชื่อว่าความสิ้นโทสะ เป็นการสิ้นไปแห่งโทสะอย่างเดียว หรือว่าเป็นความสิ้นไปแม้แห่งราคะและโมหะ ชื่อว่าความสิ้นโมหะ เป็นการสิ้นไปแห่งโมหะอย่างเดียว หรือเป็นการสิ้นไปแม้แห่งราคะและโทสะ ดังนี้.
               แน่นอนอาจารย์วิตัณฑวาทีนั้นจักกล่าวว่า ชื่อว่าความสิ้นราคะ เป็นการสิ้นเฉพาะราคะ ชื่อว่าความสิ้นโทสะ เป็นการสิ้นเฉพาะโทสะ ชื่อว่าความสิ้นโมหะ เป็นการสิ้นเฉพาะโมหะ ดังนี้.
               ลำดับนั้น พึงกล่าวกะอาจารย์วิตัณฑวาทีว่า ในวาทะของท่าน ความสิ้นราคะเป็นนิพพานหนึ่ง ความสิ้นโทสะเป็นนิพพานหนึ่ง ความสิ้นโมหะเป็นนิพพานหนึ่ง เมื่อสิ้นอกุศลมูล ๓ อย่าง นิพพานก็มี ๓ อย่าง เมื่อสิ้นอุปาทาน ๔ อย่าง ก็มีนิพพาน ๔ อย่าง เมื่อสิ้นนิวรณ ๕ อย่างก็มีนิพพาน ๕ อย่าง เมื่อสิ้นกองแห่งตัณหา ๖ ก็มีนิพพาน ๖ อย่าง เมื่อสิ้นอนุสัย ๗ อย่างก็มีนิพพาน ๗ อย่าง เมื่อสิ้นมิจฉัตตะ ๘ อย่างก็มีนิพพาน ๘ อย่าง เมื่อสิ้นธรรมอันเป็นมูลแห่งตัณหา ๙ อย่างก็มีนิพพาน ๙ อย่าง เมื่อสิ้นสังโยชน์ ๑๐ อย่างก็มีนิพพาน ๑๐ อย่าง เมื่อสิ้นกิเลส ๑,๕๐๐ อย่าง นิพพานก็มีแต่ละอย่างๆ เพราะฉะนั้น นิพพานจึงมาก. ก็นิพพานของท่านไม่มีประมาณ ดังนี้.
               ก็บุคคลไม่ถือเอาอย่างนี้ ก็จะกล่าวว่า กิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้นอาศัยพระนิพพานแล้วก็สิ้นไป เพราะฉะนั้น พระนิพพานจึงมีอย่างเดียวเท่านั้น คือความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ ดังนี้ เพราะความสิ้นอกุศลมูลแม้ทั้ง ๓ นี้ก็เป็นชื่อของพระนิพพานเท่านั้น ขอท่านจงถืออย่างนี้ ก็ถ้าว่า ชนเหล่าอื่นแม้กล่าวอย่างนี้แล้ว อาจารย์วิตันฑวาทีก็ยังกำหนดไม่ได้ ก็พึงทำการอธิบายพระนิพพานโดยเปรียบกับของหยาบๆ อธิบายอย่างไร?
               คือว่า สัตว์ผู้โง่เขลาแม้มีหมี เสือเหลือง เนื้อและลิงเป็นต้น ถูกกิเลสกลุ่มรุมแล้ว ย่อมเสพวัตถุ (เมถุน) เมื่อถึงที่สุดแห่งการเสพของสัตว์เหล่านั้น กิเลสทั้งหลายก็สงบ ในวาทะของท่าน พวกสัตว์มีหมี เสือเหลือง เนื้อและลิงเป็นต้น ก็ชื่อว่าเป็นผู้ถึงพระนิพพานแล้ว นิพพานของท่านหยาบหนอ เป็นของหยาบช้า ใครๆ ไม่อาจเพื่อประดับแม้ที่หูได้.
               อนึ่ง อาจารย์วิตัณฑวาทีไม่ยอมรับเช่นนี้ ก็ต้องกล่าวว่า กิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้นสิ้นไปเพราะอาศัยพระนิพพาน เพราะฉะนั้น พระนิพพานจึงมีอย่างเดียวเท่านั้น คือความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ เพราะว่า ความสิ้นอกุศลมูลเหล่านี้แม้ทั้ง ๓ เป็นชื่อของพระนิพพานเท่านั้น ท่านจงถือเอาด้วยอาการอย่างนี้.
               ก็ถ้าว่า กล่าวแม้อย่างนี้แล้ว อาจารย์วิตัณฑวาทีนั้นยังกำหนดไม่ได้ ก็ควรอธิบายแม้ด้วยโคตภู อธิบายอย่างไร?
               คือว่า พึงถามอาจารย์วิตัณฑวาทีอย่างนี้ก่อนว่า ท่านกล่าวว่า ชื่อว่าโคตรภูมีอยู่หรือ อาจารย์วิตัณฑวาทีก็จะตอบว่า ใช่ ผมย่อมกล่าวดังนี้ แล้วจึงกล่าวกะอาจารย์วิตัณฑวาทีว่า ในขณะแห่งโคตรภู กิเลสทั้งหลายสิ้นไปแล้ว หรือกำลังสิ้น หรือจักสิ้น ดังนี้. อาจารย์วิตัณฑวาทีก็จะกล่าวว่า กิเลสทั้งหลายยังไม่สิ้นไป มิใช่กำลังสิ้นไป ก็แต่ว่าจักสิ้นไป ดังนี้.
               ถามอีกว่า ก็โคตรภูมีอะไรเป็นอารมณ์. ตอบว่า มีนิพพานเป็นอารมณ์. ในขณะโคตรภูของท่าน กิเลสทั้งหลายยังไม่สิ้นไป มิใช่กำลังสิ้น โดยที่แท้จักสิ้น เมื่อกิเลสทั้งหลายยังไม่สิ้นไป ท่านย่อมบัญญัติความสิ้นไปแห่งกิเลสว่าเป็นนิพพาน เมื่อยังไม่ได้ละอนุสัย ท่านย่อมบัญญัติการละอนุสัยว่าเป็นนิพพาน คำนั้นๆ ของท่านไม่สมกัน.
               ก็คำอย่างนี้ อาจารย์วิตัณฑวาทีก็ยังไม่เอา ก็จะต้องกล่าวว่า กิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้นสิ้นไปเพราะอาศัยพระนิพพาน เพราะฉะนั้น พระนิพพานจึงมีอย่างเดียว คือความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ ความสิ้นอกุศลมูลเหล่านี้แม้ทั้ง ๓ เป็นชื่อของพระนิพพาน ท่านจงถือเอาอย่างนี้.
               ก็ถ้าเขากล่าวแม้อย่างนี้ อาจารย์วิตัณฑวาทีก็ยังกำหนดไม่ได้ ก็ควรทำอธิบายด้วยมรรค อธิบายอย่างไร? คือพึงถามท่านอาจารย์วิตัณฑวาทีอย่างนี้ก่อนว่า ท่านกล่าวชื่อว่ามรรค หรือ? ท่านก็จะตอบว่า ใช่ เราย่อมกล่าวดังนี้. ถามอีกว่า ในขณะแห่งมรรค กิเลสทั้งหลายสิ้นไปแล้ว หรือกำลังสิ้น หรือจักสิ้น ดังนี้.
               เมื่ออาจารย์วิตัณฑวาทีรู้ก็จักตอบว่า ในขณะแห่งมรรคไม่ควรจะกล่าวว่า กิเลสทั้งหลายสิ้นแล้ว หรือว่าจักสิ้น แต่ควรจะกล่าวว่า กิเลสทั้งหลายกำลังสิ้นไป ดังนี้.
               ก็ควรโต้ท่านอาจารย์วิตัณฑวาทีว่า ถ้าหากว่า พระนิพพานชนิดไหนยังกิเลสให้สิ้นไปมีอยู่แก่มรรคอย่างนี้ กิเลสที่สิ้นไปอย่างไหน มีอยู่ด้วยมรรคอย่างนี้ไซร้ ก็มรรคกระทำพระนิพพานอันไหนซึ่งยังกิเลสให้สิ้นไปให้เป็นอารมณ์ แล้วยังกิเลสเหล่าไหนให้สิ้นไปเล่า เพราะฉะนั้น ท่านอย่าถือเอาอย่างนี้เลย ก็กิเลสมีราคะเป็นต้นสิ้นไปเพราะอาศัยพระนิพพาน เพราะฉะนั้น จะต้องกล่าวว่า พระนิพพานมีอย่างเดียวเท่านั้น คือความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ แม้อกุศลมูลที่สิ้นไปทั้ง ๓ เหล่านี้ก็เป็นชื่อของพระนิพพานเท่านั้น ดังนี้.
               ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็กล่าวกะอาจารย์วิตัณฑวาทีนั้นอย่างนี้ว่า ท่านย่อมกล่าวว่า อาศัย อาศัย ดังนี้หรือ? อาจารย์วิตัณฑวาทีก็จะพูดว่า ใช่ กระผมย่อมกล่าว ดังนี้. ถามอีกว่า คำว่า ชื่อว่าอาศัย ดังนี้ นี้ท่านได้มาจากไหน ท่านก็จะตอบว่า ได้มาจากสูตร. ขอท่านจงนำสูตรมา. จึงนำสูตรมาว่า อวิชชาและตัณหาอาศัยพระนิพพานแล้วหักไปในพระนิพพานนั้น สิ้นไปในนิพพานนั้น จะไม่ถึงความเป็นอะไรๆ ในที่ไหนๆ เมื่อกล่าวอย่างนี้แล้ว ปรวาที (ผู้มีวาทะในลัทธิภายนอกพระศาสนา) ก็จะถึงความเป็นผู้ดุษณีภาพแล.
               แม้ในอภิธรรมภาชนีย์นี้ อายตนะ ๑๐ เป็นกามาพจร ส่วนอายตนะ ๒ พึงทราบว่า เป็นไปในภูมิ ๔ คือระคนกันทั้งโลกิยะและโลกุตระ ฉะนี้แล.
               วรรณนาอภิธรรมภาชนีย์ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา วิภังคปกรณ์ อายตนวิภังค์ อภิธรรมภาชนีย์ จบ.
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 97อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 99อ่านอรรถกถา 35 / 101อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=35&A=1755&Z=1806
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=54&A=1298
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=54&A=1298
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๗  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :