ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 908อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 926อ่านอรรถกถา 35 / 961อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อรรถกถา วิภังคปกรณ์
ขุททกวัตถุวิภังค์ ติกนิเทศ

               อรรถกถาติกนิทเทส               
               อธิบายมาติกาหมวด ๓               
               ความปรากฏแห่งวัฏฏมูล ๓ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยอกุศลมูล ๓. วิตกในธรรมทั้งหลายมีอกุศลวิตกเป็นต้น พึงทราบว่า ตรัสไว้ด้วยสามารถแห่งการตรึก. สัญญา พึงทราบว่า ตรัสไว้ด้วยสามารถแห่งสัญชานะความจำได้. พึงทราบว่า ชื่อว่าธาตุ เพราะอรรถว่าเป็นสภาวะ.

               ทุจจริตนิทเทส               
               อธิบายทุจจริต               
               ทุจริต นัยที่หนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจำแนกไว้ด้วยสามารถแห่งกรรมบถ. นัยที่สอง ทรงจำแนกไว้ด้วยสามารถแห่งกรรมอันสงเคราะห์ในอกุศลทั้งหมด. นัยที่สาม ทรงจำแนกไว้ด้วยสามารถแห่งเจตนาอันเกิดขึ้นแล้ว.
               ในนิทเทสแห่งอาสวะ โดยปริยายแห่งสุตตันตะ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอาสวะ ๓ เท่านั้น.

               เอสนานิทเทส               
               อธิบายว่าเอสนา การแสวงหา               
               ในเอสนานิทเทสนั้น ว่าโดยสังเขป ความยินดีด้วยการแสวงหากามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้โดยนัยว่า บรรดาเอสนา ๓ นั้น กาเมสนาเป็นไฉน เป็นต้น พึงทราบว่า ชื่อว่ากาเมสนา.
               ความยินดีโดยการแสวงหาภพ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้โดยนัยว่า ความพอใจในภพ ๓ อันใด เป็นต้น พึงทราบว่า ชื่อว่าภเวสนา.
               ความเห็นผิดที่แสวงหาพรหมจรรย์อันเห็นชอบตามอัชฌาสัยแห่งทิฏฐิ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้โดยนัยว่า โลกเที่ยงเป็นต้น พึงทราบว่า ชื่อว่าพรหมจริเยสนา.
               ก็เพราะราคะและทิฏฐิ มิได้ชื่อว่าเอสนาอย่างเดียวเท่านั้น แม้กรรมอันตั้งอยู่ในฐานเดียวกันกับราคะและทิฏฐินั้น ก็ชื่อว่าเอสนา การแสวงหานั่นแหละ ฉะนั้น เพื่อแสดงซึ่งเอสนา การแสวงหาเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงจำแนกนัยที่ ๒ ไว้.
               บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า ตเทกฏฺฐํ (แปลว่า ตั้งอยู่ในฐานเดียวกัน) พึงทราบว่าเป็นธรรมที่ตั้งอยู่ในฐานเดียวกัน กับธรรมที่สัมปยุตด้วยราคะและทิฏฐินั้น คือธรรมที่ตั้งอยู่ในฐานเดียวกันกับกามราคะ ย่อมเป็นไปแก่สัตว์ผู้ท่องเที่ยวไปในกามภพทั้งหลายเท่านั้น ส่วนธรรมที่ตั้งอยู่ในฐานเดียวกันกับภวราคะ ย่อมเป็นไปแก่มหาพรหมทั้งหลาย. ในกาลเมื่อพระโยคาวจรออกแล้วจากสมาบัติ ยินดีซึ่งองค์ฌานจงกรมอยู่ อกุศลกายกรรมย่อมเกิด. ในกาลเมื่อยินดีเพราะเปล่งวาจาว่า โอ! สุขจริง, โอ ! สุขจริง ดังนี้ อกุศลวจีกรรมย่อมเกิด. ในกาลเมื่อยินดีด้วยใจเท่านั้น เพราะยังไม่ทำองค์แห่งกายและองค์วาจาให้ไหวไป อกุศลมโนกรรมย่อมเกิด. อกุศลกรรมเหล่านั้นย่อมเกิดแก่บุคคลผู้ไปตามทิฏฐิแม้ทั้งหมดด้วยอำนาจอันตัคคาหิกทิฏฐิเท่านั้น เพราะอำนาจการเดินจงกรมเป็นต้น.

               วิธานิทเทส               
               อธิบาย วิธา๑- คือการถือตัว               
               การดำรงอยู่แห่งอาการ ในคำว่า ชนทั้งหลายย่อมกล่าวยกย่องตนว่า มีศีลชนิดไร มีปัญญาชนิดไร เป็นต้น ชื่อว่าวิธา. การดำรงอยู่แห่งอาการในคำว่า ญาณวัตถุมีอย่างเดียว (คือไม่แปลกกัน) เป็นต้น ชื่อว่าโกฏฐาส. การดำรงอยู่แห่งอาการ ในคำว่า บุคคลย่อมไม่กำหนดในวิธา คือการถือตัวทั้งหลาย เป็นต้น ชื่อว่ามานะ. แม้ในที่นี้ มานะนั่นแหละ ชื่อว่าวิธา.
               จริงอยู่ มานะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า วิธา เพราะการจัดแจงปรับแต่ง ด้วยสามารถแห่งการถือตนว่าเป็นผู้ประเสริฐเป็นต้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าวิธา เพราะอรรถว่าการดำรงไว้ซึ่งการถือตัว. เพราะฉะนั้น คำว่า เสยฺโย อหํ นี้ บัณฑิตพึงทราบว่า ชื่อว่าวิธา เพราะดำรงไว้ซึ่งมานะอันมีประการมากอย่าง ซึ่งเกิดขึ้นอย่างนี้ ว่า เราเป็นผู้ประเสริฐกว่าเขา เป็นต้น.
               แม้ในสองบทที่เหลือ ก็นัยนี้.
____________________________
๑- คำว่า วิธา หมายถึงกิเลสมีประการมาก คือมานะ หรืออหังการ หรือยึดถือเป็นส่วนๆ เรียกว่าโกฏฐาส.

               ภยนิทเทส               
               อธิบายภัย คือความกลัว               
               คำว่า ชาตึ ปฏิจฺจ ภยํ ได้แก่ ภัยที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยความเกิด (ชาติ) เป็นปัจจัย.
               คำว่า ภยานกํ (แปลว่า ภัยอันน่ากลัว) นี้เป็นนิทเทสแห่งอาการ.
               คำว่า ฉมฺภิตตฺตํ (แปลว่า ความสะดุ้งแห่งจิต) ได้แก่ ความหวั่นไหวแห่งตน เพราะอำนาจแห่งภัย.
               คำว่า โลมหํโส (แปลว่า ความชูชันแห่งขน) ได้แก่ ความที่ขนทั้งหลายเป็นของชูชันขึ้นไปเบื้องบน. พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงความกลัวโดยกิจด้วยบททั้งสองนี้แล้ว ก็ทรงแสดงความกลัวโดยสภาวะ คือความสะดุ้งหวาดเสียวแห่งจิตอีก.

               ตมนิทเทส               
               อธิบายตมะ คืออวิชชา               
               อวิชชา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยความมีวิจิกิจฉาเป็นสีสะ.
               จริงอยู่ เพราะพระบาลีว่า ความมืดมน ความหลงลืม โอฆะคืออวิชชา เป็นภัยใหญ่ ดังนี้ เพราะเหตุนั้น อวิชชา จึงชื่อว่าตมะ. ตมะ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า มีวิจิกิจฉา (ความเคลือบแคลงสงสัย) เป็นสีสะ เป็นการแสดงโดยง่ายด้วยอำนาจแห่งกาลอันยาวนานทั้ง ๓ (คืออดีตอัทธานะ อนาคตอัทธานะ ปัจจุปันนอัทธานะ).
               ในกาลเหล่านั้น เมื่อบุคคลสงสัยว่า ในอดีตกาล เราได้เป็นกษัตริย์หรือหนอ หรือว่าเป็นพราหมณ์ เป็นแพศย์ เป็นศูทร เป็นคนดำ เป็นคนขาว เป็นคนเตี้ย คนสูง ดังนี้ ชื่อว่าย่อมสงสัยปรารภอดีตอัทธานะ (อดีตกาลอันยาวนาน).
               เมื่อสงสัยอยู่ว่า ในอนาคตกาล เราจักเป็นกษัตริย์หรือหนอ หรือว่า จักเป็นพราหมณ์ เป็นแพศย์ เป็นศูทร ฯลฯ เป็นคนสูง ดังนี้ ชื่อว่าย่อมสงสัยปรารภอนาคตอัทธานะ (อนาคตกาลอันยาวนาน)
               เมื่อสงสัยอยู่ว่า ในบัดนี้ (ปัจจุบัน) เราเป็นกษัตริย์หรือหนอ หรือว่าเป็นพราหมณ์ เป็นแพศย์ เป็นศูทร หรือสงสัยว่า เรามีรูปเป็นอย่างไร หรือว่ามีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นอย่างไร ดังนี้ ชื่อว่าย่อมสงสัยปรารภปัจจุปันนอัทธานะ (ปัจจุบันกาลอันยาวนาน).
               ในตมนิทเทสนั้น บุคคลผู้เป็นกษัตริย์ ฯลฯ หรือว่า ผู้เป็นศูทร ชื่อว่าไม่รู้ซึ่งความที่แห่งตนเป็นกษัตริย์ ฯลฯ หรือว่า ไม่รู้ซึ่งความที่แห่งตนเป็นศูทร ย่อมไม่มีแม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น ผู้ถือลัทธิว่า ชีวะมีอยู่โดยประการทั้งปวง ฟังการแบ่งชั้นวรรณะแห่งชีวะของกษัตริย์เป็นต้น เมื่อเคลือบแคลงสงสัย ชื่อว่าย่อมสงสัยอย่างนี้ว่า ชีวะในภายในของเราทั้งหลาย เป็นอย่างไรหนอ เป็นสีเขียวหรือหนอ หรือว่าสีเหลือง หรือว่าสีแดง หรือว่าสีขาว หรือเป็น ๔ ส่วน หรือเป็น ๖ ส่วน เป็น ๘ ส่วน อย่างไรหนอ ดังนี้.
               คำว่า ติตฺถายตนานิ ได้แก่ อายตนะ คือคำสั่งสอนอันเป็นลัทธิต่างๆ.
               อีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ อายตนะ คือคำสั่งสอนของเดียรถีย์ทั้งหลาย.
               ในอายตนะเหล่านั้น ทิฏฐิ ๖๒ ชื่อว่าติตถะ คือท่าเป็นที่ข้าม. ทิฏฐิเหล่านั้นย่อมควร ย่อมชอบใจแก่ชนเหล่าใด ชนเหล่านั้นชื่อว่าเป็นเดียรถีย์. อรรถแห่งอายตนะท่านกล่าวไว้แล้วในหนหลังนั่นแหละ. ก็เพราะอายตนะเหล่านั้น คติแห่งทิฏฐิแม้ทั้งปวง เมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นในฐานะทั้ง ๓#- เหล่านี้เท่านั้น แม้เมื่อประชุม ก็ย่อมประชุมประมวลมาในฐานะเหล่านี้นั่นแหละ ด้วยว่า อายตนะคือคำสอนของเดียรถีย์เหล่านั้นเท่านั้น เป็นมูลเหตุในความเป็นทางดำเนินไปแห่งทิฏฐิ ฉะนั้น ติตถะอันเป็นเหตุเหล่านั้นจึงชื่อว่าอายตนะ และเพราะอรรถมีคำว่า ทิฏฐิเหล่านั้นเป็นสภาวะเกิดขึ้นเองด้วย จึงชื่อว่าติตถายตนะ. ด้วยอรรถนั้นนั่นแหละ แม้คำว่า อายตนะของเดียรถีย์ทั้งหลาย ดังนี้ ก็ชื่อว่าติตถายตนะ.
               คำว่า ปุริสปุคฺคโล ได้แก่ สัตว์.
               อนึ่ง แม้ใครๆ เรียกว่าบุรุษก็ดี บุคคลก็ดี ย่อมกล่าวได้ว่า เป็นสัตว์นั่นแหละโดยแท้. กถานี้ ชื่อว่าสมมติกถา. บุคคลใดย่อมรู้สมมติกถานี้ได้โดยประการใด พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมตรัสคำนั้นโดยประการนั้น.
               คำว่า ปฏิสํเวเทติ (แปลว่า ย่อมเสวยเวทนา) ได้แก่ ย่อมรู้สิ่งอันเกิดขึ้นในสันดานของตน ทั้งย่อมกระทำ หรือย่อมเสวยเวทนาที่ตนรู้แล้วนั้น.
               คำว่า ปุพฺเพ กตเหตุ (แปลว่า เพราะทำเหตุไว้ในปางก่อน) ได้แก่ เพราะเหตุอันตนกระทำแล้วในกาลก่อน. อธิบายว่า เขาย่อมเสวยเวทนาด้วยกัมมปัจจัยอันตนทำแล้วในกาลก่อนนั้น.
____________________________
#- คำว่า ฐานะทั้ง ๓ คือ
               ๑. วาทะว่า เพราะได้ทำเหตุไว้ในปางก่อน
               ๒. วาทะว่า เพราะเหตุคือมีผู้เป็นใหญ่สร้างให้
               ๓. วาทะว่า โดยไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย.

               นิคัณฐสมัย               
               ลัทธิแห่งนิครนถ์หรือชีเปลือย               
               ก็พวกนิครนถ์เหล่านั้นมีปกติกล่าวอย่างนี้ คือกล่าวปฏิเสธการเสวยกรรม และการเสวยกิริยา แต่ย่อมรับรองการเสวยวิบาก (ผลของกรรม) อย่างเดียวเท่านั้น.
               ทั้งในบรรดาอาพาธ ๘#- อย่างมีอาพาธอันเกิดแต่น้ำดีเป็นสมุฏฐานเป็นต้น เขาปฏิเสธอาพาธ ๗ อย่าง ย่อมรับรองอาพาธที่ ๘ เท่านั้น. ในกรรม ๓##- มีทิฏฐธัมมเวทนียกรรมเป็นต้น ปฏิเสธกรรม ๒ อย่าง ย่อมรับรองอปราปรเวทนียกรรมอย่างเดียวเท่านั้น. ในเจตนา ๔ อย่าง กล่าวคือกุศล อกุศล วิบากและกิริยา ย่อมรับรองเฉพาะเจตนาอันเป็นวิบากเท่านั้น.
               คำว่า อิสฺสรนิมฺมานเหตุ ได้แก่ ชื่อว่า มีพระผู้เป็นใหญ่สร้างให้เป็นเหตุ.
               อธิบายว่า ผู้เป็นใหญ่ คือพระพรหม หรือปชาบดี นิมิตสิ่งนั้นๆ ขึ้น จึงเสวยได้.
____________________________
#- อาพาธ ๘ อย่าง คือ
                         ๑. ปิตฺติสมุฏฺฐานา เกิดจากน้ำดีเป็นสมุฏฐาน
                         ๒. วาตสมุฏฺฐานา เกิดจากลมเป็นสมุฏฐาน
                         ๓. เสมฺหสมุฏฺฐานา เกิดจากเสมหะเป็นสมุฏฐาน
                         ๔. สนฺนิปาติกา เกิดจากไข้สันนิบาตเป็นสมุฏฐาน
                         ๕. อุตุปริณามชา เกิดจากความเปลี่ยนแปลงของอุตุเป็นสมุฏฐาน
                         ๖. วิสมปริหารชา เกิดจากการบริหารร่างกายไม่เหมาะสมเป็นสมุฏฐาน
                         ๗. โอปกฺกมิกา เกิดจากการทำความเพียรแก่กล้าเป็นสมุฏฐาน
                         ๘. กมฺมวิปากชา เกิดจากผลของกรรมเป็นสมุฏฐาน.

____________________________
##- กรรม ๓ คือ ทิฏฐธัมมเวทนียะ อุปปัชชเวทนียะและอปราปรเวทนียกรรม.

               พราหมณสมัย               
               ลัทธิแห่งพราหมณ์               
               จริงอยู่ ลัทธิของพราหมณ์นี้ เป็นการประกอบฐานะทั้ง ๓ เหล่านั้นว่า ดังนี้
               เวทนา ๓ เหล่านี้ อันใครๆ ชื่อว่าไม่อาจเพื่อเสวยเวทนาได้ เพราะเหตุอันตนเองกระทำไว้แล้ว หรือเพราะเหตุอันบุคคลอื่นทำให้ในปัจจุบัน หรือว่า เพราะเหตุอันตนทำไว้แล้วในปางก่อน หรือว่า เพราะไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ก็แต่ว่า บุคคลย่อมเสวยเวทนาเหล่านี้ได้ เพราะเหตุที่ผู้เป็นใหญ่นิมิตให้เท่านั้น ดังนี้.
               อนึ่ง พวกพราหมณ์เหล่านั้น มีปกติกล่าวอย่างนี้ คือไม่กล่าวรับรอง.
               ในอาพาธ ๘ อย่าง ที่กล่าวมาแล้วแม้สักอย่างเดียว ทั้งย่อมกล่าวห้ามอาพาธแม้ทั้งหมด.
               ในโกฏฐาส (คือธรรมที่เป็นส่วนหนึ่งๆ) แม้ทั้งปวงมีทิฏฐธัมมเวทนียกรรมเป็นต้น ก็เหมือนกัน ไม่กล่าวรับรองแม้สักอย่าง ย่อมปฏิเสธโกฏฐาสทั้งหมด.
               คำว่า อเหตุอปฺปจฺจยา อธิบายว่า เพราะเว้นเหตุและปัจจัย ย่อมเสวยเวทนาโดยปฏิเสธเหตุ.

               อาชีวกสมัย               
               ลัทธิของอาชีวก               
               แม้อาชีวกเหล่านี้ก็มีปกติกล่าวอย่างนี้ คือไม่กล่าวรับรองในเหตุทั้งหลายตามที่กล่าวแล้ว และในอาพาธทั้งหลายมีพยาธิเป็นต้นแม้สักอย่าง ย่อมปฏิเสธสิ่งทั้งหมดนั้น.
               ปลิโพธทั้งหลาย ชื่อว่าธรรมเป็นเครื่องกังวล. คำว่า กิเลสเครื่องกังวลคือราคะ ได้แก่ ราคะเมื่อกำลังเกิดขึ้น ย่อมผูกพัน ย่อมให้สัตว์กังวล เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเรียกราคะว่า กิเลสเป็นเครื่องกังวล. แม้ในโทสะและโมหะก็นัยนี้แหละ.
               พึงทราบวินิจฉัย ในคำว่า องฺคณานิ แปลว่า เนินนั้น ดังนี้.
               ภูมิประเทศใด ในพระบาลีอันมาแล้วอย่างนี้ว่า บุคคลย่อมไม่พบน้ำในที่อันเป็นเนินนั้น ที่นั้น จึงชื่อว่าเนิน. กิเลสไรๆ มาในพระบาลีว่า บุคคลย่อมพยายาม เพื่อละกิเลสนั้นนั่นแหละอันเป็นเพียงดังธุลี หรือว่า เป็นเพียงดังเนิน ดังนี้ เพราะเหตุนั้น กิเลสนั้นๆ จึงชื่อว่าน้ำตม หรือเปียกตม. กิเลสมีประการต่างๆ ในอาคตสถานว่า สงฺคโณว สมาโน ดังนี้ กิเลสนั้นชื่อว่าติพพกิเลส คือกิเลสที่มีกำลังหนาแน่น.
               ในที่แม้นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์เอาคำว่า กิเลสเพียงดังเนิน ด้วยเหตุนั้นนั่นแหละ จึงตรัสว่า กิเลสเพียงดังเนินคือราคะ เป็นต้น.
               คำว่า มลทิน ได้แก่ กิเลสเป็นเหตุแห่งความเศร้าหมอง.
               คำว่า มลทิน คือ ราคะ. อธิบายว่า ราคะเมื่อเกิดขึ้น ย่อมทำให้จิตเศร้าหมอง ย่อมให้ถือเอาซึ่งความขุ่นมัว เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเรียกราคะว่ามลทิน.
               แม้กิเลสทั้งสองที่เหลือนอกนี้ก็นัยนี้แหละ.

               วิสมนิทเทส               
               อธิบายความทำให้ไม่สม่ำเสมอ คือกิเลส               
               ก็เพราะสัตว์ทั้งหลายย่อมสะดุดในกิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้น และในทุจจริตทั้งหลายมีกายทุจจริตเป็นต้น ก็แลสัตว์ทั้งหลายสะดุดพลาดไปแล้ว ย่อมตกไปจากพระพุทธศาสนาบ้าง จากสุคติบ้าง เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ความไม่สม่ำเสมอคือราคะเป็นต้น เพราะการสะดุดแล้วก็ตกไปเป็นเหตุ.

               อัคคินิทเทส               
               อธิบายอัคคิ คือไฟ               
               คำว่า อคฺคิ คือ ไฟชื่อว่าอัคคิ เพราะอรรถว่าเผาผลาญ. คำว่า ราคคฺคิ (แปลว่า ไฟคือราคะ) อธิบายว่า ราคะเมื่อเกิดขึ้น ย่อมเผาผลาญยังสัตว์ให้ไหม้ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อัคคิ (ไฟคือราคะ) แม้โทสะและโมหะก็นัยนี้.
               ในอัคคินิทเทสนั้น มีเรื่องเป็นอุทาหรณ์ดังนี้.

               เรื่องการเผาผลาญของไฟคือราคะ               
               ได้ยินว่า ภิกษุณีสาวรูปหนึ่งไปสู่โรงอุโบสถในวิหารชื่อว่าจิตตลบรรพต แล้วยืนดูรูปของบุคคลผู้รักษาประตูอยู่. ลำดับนั้น ราคะคือความกำหนัดในภายในของเธอจึงเกิดขึ้น เธอถูกไฟคือราคะนั้นนั่นแหละไหม้แล้วทำกาละ. พวกภิกษุณีทั้งหลายผู้เดินไปกล่าวว่า ภิกษุณีสาวรูปนี้ยืนอยู่ เธอจงเรียกมา ดังนี้ ภิกษุณีรูปหนึ่งเดินไปจับมือของภิกษุณีสาวนั้น พร้อมกับการกล่าวว่า เพราะเหตุไร เธอจึงยืนอยู่เล่า ดังนี้ ภิกษุณีสาวรูปนั้น พอมือของภิกษุณีอีกรูปหนึ่งถูกต้องแล้วเท่านั้นก็ล้มลง.
               นี้เป็นเรื่องแห่งการเผาไหม้ของราคะก่อน.
               ส่วนไฟคือโทสะ บัณฑิตพึงทราบดังเช่น เทพพวกหนึ่งที่ชื่อว่ามโนปโทสิกะ เพราะความเผาผลาญของโทสะ จึงต้องจุติ. และไฟคือโมหะนั้น พึงทราบดังเช่นเทพพวกหนึ่งที่ชื่อว่าขิฑฑาปโทสิกะ เพราะความเผาผลาญของโมหะก็ต้องจุติ.
               จริงอยู่ ความหลงลืมไม่ได้สติ ย่อมมีแก่เทพชื่อว่าขิฑฑาปโทสิกะ ด้วยอำนาจแห่งโมหะ เพราะฉะนั้น เมื่อเทพเหล่านั้นยังเวลาบริโภคอาหารให้เลยไปแล้ว เธอก็ย่อมทำกาละด้วยอำนาจแห่งความสนุกสนานร่าเริงนั้น.
               คำว่า น้ำฝาด ได้แก่ น้ำที่ไร้ค่า ไม่มีรส. ธรรมอันประณีตอันมีโอชะแม้สักอย่างหนึ่ง ในกิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้นด้วย ในทุจจริตทั้งหลายมีกายทุจจริตเป็นต้นด้วย หามีไม่ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า น้ำฝาด คือราคะ เป็นต้น.
               ทิฏฐิ (ความเห็นผิด) อันสัมปยุตด้วยความยินดี ชื่อว่าอัสสาททิฏฐิ.
               คำว่า กามทั้งหลายไม่มีโทษ ได้แก่ สมณพราหมณ์ภายนอกย่อมกล่าวว่า โทษในการซ่องเสพวัตถุกามทั้งหลาย ย่อมไม่มีด้วยกิเลสกาม ดังนี้.
               คำว่า ปาตพฺยตํ ได้แก่ การดื่ม การบริโภค คือการกลืนกิน.
               จริงอยู่ สมณพราหมณ์นั้นมีปกติกล่าวอย่างนี้ จึงบริโภคกิเลสกามในวัตถุกามทั้งหลาย ราวกะบุคคลดื่มอยู่ กลืนกินอยู่ (ซึ่งอาหาร). ความเห็นผิดว่ามีอัตตา (ความเห็นผิดเป็นไปตามอัตตา) ชื่อว่าอัตตานุทิฏฐิ (เช่น เห็นรูปเป็นตน หรือเห็นตนมีรูป เห็นรูปในตน เห็นตนในรูปเป็นต้น).
               ทิฏฐิอันลามก ชื่อว่ามิจฉาทิฏฐิ (เช่นเห็นว่า ทานที่บุคคลให้แล้วไม่มีผล การบูชาไม่มีผลเป็นต้น).
               บัดนี้ เพื่อแสดงเนื้อความในอัสสาทนิทเทสนั้น ตามลำดับ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เพราะสัสสตทิฏฐิเป็นที่ ๑ คือเป็นอัสสาททิฏฐิ สักกายทิฏฐิเป็นทิฏฐิที่ ๒ คือเป็นอัตตานุทิฏฐิ และอุจเฉททิฏฐิเป็นทิฏฐิที่ ๓ คือมิจฉาทิฏฐิ ฉะนั้น จึงตรัสคำว่า สัสสตทิฏฐิ อัสสาททิฏฐิ เป็นต้น.
               นิทเทสแห่งอรติ คือความไม่ยินดี และนิทเทสแห่งวิเหสา คือความเบียดเบียน มีอรรถาธิบายตามที่กล่าวแล้วนั่นแหละ.
               ความประพฤติไม่เป็นธรรม ชื่อว่าอธัมมจริยา. อธิบายว่า การกระทำความผิด. ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ ชื่อว่าวิสมจริยา. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าวิสมจริยา เพราะความประพฤติกระทำกรรมอันไม่สม่ำเสมอ.
               นิทเทสแห่งความเป็นผู้ว่ายาก และนิทเทสแห่งความเป็นผู้มีมิตรชั่ว มีอรรถาธิบายตามที่กล่าวมาแล้ว. สัญญาทั้งหลายที่เป็นไปในความต่างๆ กัน ชื่อว่านานัตตสัญญา เพราะความเป็นไปในนิมิตตารมณ์แห่งปุถุชน.
               อีกอย่างหนึ่ง เพราะกามสัญญาเป็นอย่างหนึ่งทีเดียว ทั้งพยาปาทสัญญาเป็นต้นก็เป็นอย่างหนึ่ง ฉะนั้น แม้คำว่า สัญญาอันเป็นสภาวะต่างๆ กัน ดังนี้ จึงชื่อว่านานัตตสัญญา.

               โกสัชชนิทเทส               
               ความประพฤติย่อหย่อน ความไม่สามารถประกอบความเพียร ด้วยการเจริญกุศลธรรม ของผู้มีจิตคุ้นเคยในกามคุณ ๕ ชื่อว่าโกสัชชะ (คือความเกียจคร้าน). บัณฑิตพึงทราบความเป็นแห่งบุคคลผู้ประมาทแล้ว ด้วยสามารถแห่งความมัวเมา ชื่อว่าปมาทะ (คือความประมาท).
               นิทเทสแห่งอสันตุฏฐิ (คือความไม่สันโดษ) มีเนื้อความตามที่กล่าวมาแล้ว.

               อนาทริยนิทเทส               
               ความเป็นแห่งบุคคลผู้ไม่เอื้อเฟื้อ ด้วยสามารถแห่งความไม่เอื้อเฟื้อต่อโอวาท (การกล่าวสอน) ชื่อว่าอนาทริยะ (คือความไม่เอื้อเฟื้อ). อาการแห่งความไม่เอื้อเฟื้อ ชื่อว่าสภาพที่ไม่เอื้อเฟื้อ. ความเป็นผู้ไม่เคารพ ชื่อว่า อคารวตา เพราะอรรถว่าไม่อาศัยอยู่ร่วมกับผู้ควรเคารพ. ชื่อว่าความไม่เชื่อฟัง เพราะอรรถว่าไม่อยู่อาศัยร่วมกับผู้เป็นหัวหน้า.
               คำว่า อนทฺทา ความไม่ถือเอา ได้แก่การไม่รับเอาโอวาท.
               คำว่า อนทฺทายนา ได้แก่ อาการที่ไม่เอื้อเฟื้อ. ความเป็นแห่งบุคคลผู้ดำเนินไปด้วยความไม่เอื้อเฟื้อ ชื่อว่า อนทฺทายิตตฺตํ ความพอใจทางโต้แย้ง. ความเป็นแห่งบุคคลผู้ไม่มีศีล ชื่อว่า อสีลยํ (ทุศีล). คำว่า อจิตฺติกาโร ได้แก่ การไม่ทำความเคารพยำเกรง.
               ความเป็นแห่งบุคคลผู้ไม่มีศรัทธา ชื่อว่าความไม่ศรัทธา. อาการแห่งความเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ชื่อว่ากิริยาที่ไม่เชื่อฟัง. การไม่ถือเอา เพราะไม่ไว้ใจ ไม่เข้าไปใกล้ ชื่อว่ากิริยาที่ไม่ปลงใจเชื่อ. ชื่อว่าความไม่เลื่อมใสยิ่ง เพราะอรรถว่าไม่เลื่อมใสยิ่ง.
               คำว่า อวทญฺญุตา (แปลว่า ความไม่เผื่อแผ่) ได้แก่ ผู้ไม่รู้ถึงถ้อยคำว่า ขอท่านจงให้ทาน ท่านจงกระทำบุญ เพราะอำนาจแห่งความตระหนี่อันกระด้าง.
               ในข้อว่า พุทฺธา จ สาวกา จ พระพุทธเจ้าและพระสาวกของพระพุทธเจ้านี้ แม้พระปัจเจกพุทธเจ้า ท่านก็ถือเอาด้วยศัพท์ว่า พุทธะ นั่นแหละ. ความเป็นผู้ไม่ต้องการไปสู่ที่ใกล้แห่งพระอริยะเหล่านั้น ชื่อว่า อสเมตุกามตา ความไม่ต้องการจะสมาคมกับพระอริยะทั้งหลาย.
               คำว่า ความไม่ต้องการจะฟัง...ซึ่งพระสัทธรรม ได้แก่ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ชื่อว่าพระสัทธรรม ความเป็นผู้ไม่ต้องการเพื่อจะฟังซึ่งพระธรรมนั้น. ความเป็นผู้ไม่ศึกษาพระธรรม ชื่อว่า อนุคฺคเหตุกามตา ความไม่ต้องการจะเรียน. ความเป็นผู้คิดคัดค้านแข่งดี ชื่อว่าความไม่ต้องการจะทรงพระธรรมไว้.
               ก็เมื่อว่าโดยอรรถ ความเป็นผู้มีจิตคิดแข่งดีนั้นย่อมมี เหตุใด เพราะเหตุนั้น เพื่อแสดงอรรถนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า บรรดาบทเหล่านั้นความคิดแข่งดีเป็นไฉน เป็นต้น. ในข้อนั้น ชื่อว่าความแข่งดี ย่อมมีด้วยสามารถแห่งความตำหนิติเตียน ความแข่งดีเกิดขึ้นบ่อยๆ ชื่อว่าความคิดแข่งดีเนืองๆ ความเป็นแห่งบุคคลผู้คิดแข่งดีเนืองๆ ชื่อว่าสภาพที่คิดแข่งดีเนืองๆ.
               คำว่า ความดูถูก ได้แก่ การหยาบหยาม. คำว่า ความดูหมิ่น ได้แก่ การเหยียดหยาม. ความเย้ยหยัน ชื่อว่าความดูแคลน. ความเป็นผู้แสวงหาข้อบกพร่อง ชื่อว่าความคอยแสวงหาโทษ.
               อีกอย่างหนึ่ง บุคคลใดย่อมแสวงหาซึ่งความผิด เพราะเหตุนั้น บุคคลนั้นจึงชื่อว่าผู้คอยแสวงหาโทษ. ความเป็นแห่งบุคคลผู้คอยแสวงหาโทษนั้น ชื่อว่าสภาพที่คอยแสวงหาโทษ.
               คำว่า อยํ วุจฺจติ ความว่า ก็ความเป็นผู้มีจิตคิดแข่งดีนี้ มีการคอยติดตามดูโทษของผู้อื่นเป็นลักษณะ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเรียกว่า ความเป็นผู้มีจิตคิดแข่งดี. บุคคลใดประกอบแล้วด้วยลักษณะ คือคอยติดตามดูโทษของผู้อื่นใดนั้น เปรียบเหมือนช่างชุนผ้าคลี่ผ้าออกแล้ว ก็ตรวจดูผ้าทะลุนั่นแหละฉันใด บุคคลผู้มีจิตคิดแข่งดีก็ฉันนั้นนั่นแหละ ลบหลู่คุณแม้ทั้งปวงของผู้อื่น แล้วดำรงอยู่ในสิ่งที่ไม่เป็นคุณทั้งหลายเท่านั้น.
               คำว่า อโยนิโส มนสิกาโร ได้แก่ การทำไว้ในใจโดยอุบายอันไม่แยบคาย.
               คำว่า อนิจฺเจ นิจฺจํ อธิบายว่า มนสิการอย่างนี้ คือมนสิการในวัตถุอันไม่เที่ยงแท้ว่า สิ่งนี้เป็นของเที่ยงแท้.
               แม้ในคำว่า ทุกฺเข สุขํ เป็นต้นก็นัยนี้. คำว่า สจฺจวิปฺปฏิกูเลน วา ได้แก่ มนสิการโดยไม่คล้อยตามสัจจะทั้ง ๔.
               คำว่า จิตฺตสฺส อาวฏฺฏนา เป็นต้นแม้ทั้งปวงเป็นไวพจน์ของอาวัชชนจิตนั่นแหละ.
               จริงอยู่ อาวัชชนะ ชื่อว่าอาวัฏฏนาแห่งจิต เพราะยังภวังคจิตให้เปลี่ยนหมุนไป. ชื่อว่าการเปลี่ยนหมุนไป เพราะย่อมหมุนไปในภายหลัง (ภวังค์). จิตใดย่อมคำนึงถึงอารมณ์ เพราะเหตุนั้น จิตนั้น จึงชื่อว่าอาโภคะ. จิตใดย่อมประมวลมาซึ่งอารมณ์อื่นนอกจากอารมณ์ของภวังค์ เหตุนั้น จิตนั้น จึงชื่อว่าสมันนาหาระ.
               เมื่ออาวัชชนจิตเกิดขึ้น ทำตนให้ผูกพันแล้วๆ ซึ่งอารมณ์นั้นนั่นแหละไว้ในใจ เพราะเหตุนั้น อาวัชชนจิตนั้นจึงชื่อว่ามนสิการ. คำว่า ย่อมทำไว้ในใจ ได้แก่ ย่อมตั้งไว้ในใจ.
               คำว่า อยํ วุจฺจติ อธิบายว่า กระทำไว้ในใจโดยอุบายอันไม่แยบคาย คือมนสิการผิดทางเป็นลักษณะ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า อโยนิโสมนสิการ. บุคคลย่อมไม่อาจเพื่อพิจารณาสัจจะทั้งหลายมีทุกขสัจจะเป็นต้น ตามความเป็นจริงได้ด้วยอโยนิโสมนสิการนั้น.

               อุมมัคคเสวนานิทเทส               
               อธิบายการเสพทางผิด               
               ชื่อว่าการเสพ ด้วยสามารถแห่งการเสพทางอันผิดอันใด ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า การเสพทางผิด ดังนี้ เพื่อแสดงทางผิดอันนั้น จึงทรงทำทุติยปุจฉาว่า บรรดาบทเหล่านั้น ทางผิดเป็นไฉน ดังนี้.
               คำที่เหลือในบททั้งปวง มีอรรถตื้นทั้งนั้นแล.

               ติกนิทเทส จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา วิภังคปกรณ์ ขุททกวัตถุวิภังค์ ติกนิเทศ จบ.
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 908อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 926อ่านอรรถกถา 35 / 961อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=35&A=12335&Z=12792
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=54&A=12602
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=54&A=12602
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :