ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 762อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 767อ่านอรรถกถา 35 / 774อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อรรถกถา วิภังคปกรณ์
สิกขาปทวิภังค์ อภิธรรมภาชนีย์

               อรรถกถาสิกขาปทวิภังค์               
               วรรณนาอภิธรรมภาชนีย์               
               บัดนี้ พึงทราบวินิจฉัยสิกขาบทวิภังค์ อันเป็นลำดับต่อจากอัปปมัญญาวิภังค์นั้นต่อไป.
               คำว่า เป็นคำกำหนดจำนวน.
               คำว่า สิกฺขาปทานิ (แปลว่า สิกขาบททั้งหลาย) ได้แก่ บทที่กุลบุตรพึงศึกษา.
               อธิบายว่า สิกขาบทนี้เป็นส่วนหนึ่งแห่งสิกขา (สิกขาคือศีล สมาธิ ปัญญา).
               อนึ่ง กุสลธรรมแม้ทั้งหมดอันมาแล้วในเบื้องบน ชื่อว่าสิกขา เพราะเป็นธรรมอันกุลบุตรพึงศึกษา. ก็บรรดาองค์แห่งศีล ๕ องค์ใดองค์หนึ่ง ชื่อว่าบท เพราะอรรถว่าเป็นที่อาศัยของสิกขาเหล่านั้น ฉะนั้น องค์แห่งศีลเหล่านั้น จึงชื่อว่าสิกขาบท เพราะเป็นส่วนหนึ่งแห่งสิกขา.
               คำว่า ปาณาติปาตา ได้แก่ จากการยังชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป คือการฆ่า การให้ตาย.
               คำว่า เวรมณี ได้แก่ การงดเว้น.
               คำว่า อทินฺนาทานา ได้แก่ จากการถือเอาสิ่งของอันบุคคลอื่นมิได้ให้. อธิบายว่า ได้แก่ การนำสิ่งของอันบุคคลหวงแหนแล้วไป.
               คำว่า กาเมสุ ได้แก่ ในวัตถุกามทั้งหลาย. คำว่า มิจฺฉาจารา ได้แก่ จากการประพฤติลามกด้วยอำนาจกิเลสกาม.
               คำว่า มุสาวาทา ได้แก่ จากวาทะ อันไม่เป็นจริง.
               พึงทราบวินิจฉัยในข้อว่า สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา นี้ต่อไป.
               คำว่า สุรา ได้แก่ สุรา ๕ ชนิด คือ สุราทำด้วยแป้ง ๑ สุราทำด้วยขนม ๑ สุราทำด้วยข้าวสุก ๑ สุราที่เอาเชื้อเหล้าใส่เข้าไป ๑ สุราที่เขาปรุงด้วยเครื่องปรุง ๑.
               คำว่า เมรัย ได้แก่ เครื่องหมักดอง ๕ ชนิด คือน้ำดองด้วยดอกไม้ ๑ น้ำดองด้วยผลไม้ ๑ น้ำดองด้วยน้ำอ้อยงบ ๑ น้ำดองดอกมะซาง ๑ น้ำดองที่เขาปรุงด้วยเครื่องปรุง ๑.
               สุราและเมรัยแม้ทั้งสองนั้น ชื่อว่ามัชชะ (น้ำเมา) เพราะอรรถว่าเป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา.
               ชนทั้งหลายย่อมดื่มสุราหรือเมรัยนั้นด้วยเจตนาใด เจตนานั้นชื่อว่าเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เพราะเป็นเหตุให้หลงงมงาย เพราะเหตุนั้น ที่ตั้งแห่งความประมาทจึงชื่อว่า มีอยู่ ในเพราะการดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัย.
               เนื้อความที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งไว้ในมาติกามีเพียงเท่านี้.

               ภาชนียบท (การจำแนกบท)               
               ก็คำทั้งปวง เป็นต้นว่า ยสฺมึ สมเย กามาวจรํ ในบทภาชนีย์นี้ มีเนื้อความตื้นทั้งนั้น เพราะมีนัยเช่นเดียวกับคำที่กล่าวไว้แล้วในหนหลัง.
               อนึ่ง เพราะการงดเว้นอย่างเดียวเท่านั้น เป็นสิกขาบทก็หาไม่ แม้เจตนาก็ชื่อว่าเป็นสิกขาบทเหมือนกัน ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงแสดงนัยที่สอง เพื่อแสดงถึงเจตนาอันเป็นสิกขาบทนั้น.
               ก็ธรรมทั้งสอง (วิรัติ เจตนา) เหล่านั้นเป็นสิกขาบทเท่านั้นก็หาไม่ แม้ธรรมอื่นอีก ๕๐ อันสัมปยุตด้วยเจตนา ก็เป็นสิกขาบทด้วย เพราะเป็นส่วนแห่งธรรมอันกุลบุตรพึงศึกษา ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงแม้นัยที่ ๓ ต่อไป. ในที่นี้ สิกขาบทมี ๒ อย่าง คือ ปริยายสิกขาบท (สิกขาบทโดยอ้อม) นิปปริยายสิกขาบท (สิกขาบทโดยตรง).
               ในสองอย่างนั้น วิรตี (การงดเว้น) เป็นสิกขาบทโดยตรง.
               จริงอยู่ วิรตี นั้นมาในพระบาลีว่า ปาณาติปาตา เวรมณี ดังนี้ มิใช่เจตนา ด้วยว่า บุคคลเมื่องดเว้น ย่อมงดเว้นจากปาณาติบาตนั้นๆ ด้วยวิรตีนั้นนั่นแหละ มิใช่ด้วยเจตนา. แต่ท่านก็นำเจตนามาแสดงไว้. โดยทำนองเดียวกันกับที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนำสัมปยุตตธรรมของเจตนาที่เหลือมาแสดงไว้อีก.
               จริงอยู่ ในกาลก้าวล่วงเจตนาอันเป็นบาป ชื่อว่าความเป็นผู้ทุศีล. ฉะนั้น แม้ในเวลาแห่งวิรัติพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเจตนานั้น ด้วยสามารถแห่งความเป็นผู้มีศีลดี. ธรรมทั้งหลาย ๕๐ มีผัสสะเป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงถือเอาแล้ว เพราะเป็นธรรมที่สัมปยุตด้วยเวรมณี ดังนี้.
               บัดนี้ เพื่อความกระตุ้นญาณในสิกขาบททั้งหลายเหล่านี้ บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยซึ่งสิกขาบททั้งหลาย มีปาณาติบาตเป็นต้นเหล่านี้ โดยธรรม โดยโกฏฐาส โดยอารมณ์ โดยเวทนา โดยมูล โดยกรรม โดยสาวัชชะ โดยปโยคะ.
               บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า โดยธรรม ได้แก่ เจตนาธรรมทั้งหลายเหล่านี้ มีปาณาติบาตเป็นต้น.
               คำว่า โดยโกฏฐาส ได้แก่ เป็นกรรมบถแม้ทั้ง ๕ ทีเดียว.
               คำว่า โดยอารมณ์ ได้แก่ ปาณาติบาตมีชีวิตินทรีย์เป็นอารมณ์. อทินนาทานมีสัตว์เป็นอารมณ์ หรือมีสังขารเป็นอารมณ์. มิจฉาจาร (การประพฤติผิด) มีหญิงและชายเป็นอารมณ์. มุสาวาทมีสัตว์เป็นอารมณ์หรือมีสังขารเป็นอารมณ์. การดื่มสุรามีสังขารเป็นอารมณ์.
               ว่าโดยเวทนา ปาณาติบาตเป็นทุกขเวทนา. อทินนาทานเป็นเวทนา ๓.
               จริงอยู่ อทินนาทานนั้นเป็นสุขเวทนาแก่ผู้ยินดีร่าเริงถือเอาวัตถุอันเจ้าของเขามิได้ให้ เป็นทุกขเวทนาในเพราะบุคคลผู้ถือเอาสิ่งของนั้นมีความกลัว เป็นอทุกขมสุขเวทนาแก่บุคคลผู้เฉย ถือเอาอยู่. มิจฉาจารเป็นสุขเวทนาหรืออทุกขมสุขเวทนา. มุสาวาทเป็นเวทนา ๓ เหมือนอทินนาทาน. การดื่มสุราเป็นสุขเวทนาปานกลาง (สุขมชฺฌตฺตเวทนา).
               ว่าโดยมูล ปาณาติบาตมีโทสะและโมหะเป็นมูล อทินนาทาน บางครั้งมีโลภะโมหะเป็นมูล บางครั้งมีโทสะโมหะเป็นมูล. มิจฉาจารมีโลภะโมหะเป็นมูล. มุสาวาท บางครั้งมีโลภะโมหะเป็นมูล บางครั้งมีโทสะโมหะเป็นมูล. การดื่มสุรามีโลภะโมหะเป็นมูล.
               ว่าโดยกรรม ก็มุสาวาทในที่นี้เป็น วจีกรรม. สิกขาบทที่เหลือเป็นกายกรรมทั้งนั้น.
               ว่าโดยสาวัชชะ (โทษ) ปาณาติบาตมีโทษน้อยก็มี มีโทษมากก็มี. สิกขาบททั้งหลายมีอทินนาทานเป็นต้นก็เช่นเดียวกัน. เหตุต่างๆ แห่งสิกขาบททั้ง ๕ นั้น ท่านแสดงไว้แล้วในหนหลังนั่นแหละ.

               ปาณาติบาตมีโทษดังนี้               
               การฆ่าสัตว์แมลงตัวเล็กๆ เช่น มดดำ ชื่อว่ามีโทษน้อย
               ฆ่าสัตว์เช่นนั้นที่ใหญ่กว่า มีโทษมากกว่า
               ฆ่าสัตว์ประเภทนับเนื่องด้วยนกใหญ่กว่านั้น มีโทษมากกว่านั้น
               ฆ่าสัตว์ประเภทเลื้อยคลานใหญ่กว่านั้น มีโทษมากกว่านั้น
               ฆ่าสัตว์ประเภทกระต่าย มีโทษมากกว่านั้น
               ฆ่าสัตว์ประเภทเนื้อ มีโทษมากกว่านั้น
               ฆ่าโค มีโทษมากกว่านั้น
               ฆ่าม้า มีโทษมากกว่านั้น
               ฆ่าช้าง มีโทษมากกว่านั้น
               การฆ่ามนุษย์ผู้ทุศีล มีโทษมากกว่านั้น
               การฆ่ามนุษย์ผู้มีปกติประพฤติอย่างโค มีโทษมากกว่านั้น
               การฆ่ามนุษย์ผู้ถึงสรณะ (คือผู้ถึงพระไตรสรณคมน์) มีโทษมากกว่านั้น
               การฆ่าผู้ตั้งอยู่ในสิกขาบท ๕ มีโทษมากกว่านั้น
               การฆ่าสามเณร มีโทษมากกว่านั้น
               การฆ่าภิกษุผู้เป็นปุถุชน มีโทษมากกว่านั้น
               การฆ่าพระโสดาบัน มีโทษมากกว่านั้น
               การฆ่าพระสกทาคามี มีโทษมากกว่านั้น
               การฆ่าพระอนาคามี มีโทษมากกว่านั้น
               การฆ่าพระขีณาสพ มีโทษมากยิ่งนัก.

               อทินนาทานมีโทษดังนี้               
               การถือเอาสิ่งของ ของบุคคลผู้ทุศีล มีโทษน้อย
               ถือเอาสิ่งของ ของผู้มีปกติประพฤติอย่างโค มีโทษมากกว่านั้น
               ถือเอาสิ่งของ ของผู้ถึงสรณะ มีโทษมากกว่านั้น
               ถือเอาสิ่งของ ของผู้ตั้งอยู่ในศีล ๕ มีโทษมากกว่านั้น
               ถือเอาสิ่งของ ของสามเณร มีโทษมากกว่านั้น
               ถือเอาสิ่งของ ของภิกษุปุถุชน มีโทษมากกว่านั้น
               ถือเอาสิ่งของ ของพระโสดาบัน มีโทษมากกว่านั้น
               ถือเอาสิ่งของ ของพระสกทาคามี มีโทษมากกว่านั้น
               ถือเอาสิ่งของ ของพระอนาคามี มีโทษมากกว่านั้น
               ถือเอาสิ่งของ ของพระขีณาสพ มีโทษมากยิ่งนัก.

               กาเมสุมิจฉาจารมีโทษดังนี้               
               แม้ประพฤติผิดก้าวล่วงหญิงผู้ทุศีล ก็มีโทษน้อย
               ประพฤติผิดในบุคคล ผู้มีปกติประพฤติอย่างโค มีโทษมากกว่านั้น
               ประพฤติผิดในบุคคลผู้ถึงสรณะ มีโทษมากกว่านั้น
               ประพฤติผิดในบุคคลผู้ตั้งอยู่ในศีล ๕ มีโทษมากกว่านั้น
               ประพฤติผิดในสามเณรี มีโทษมากกว่านั้น
               ประพฤติผิดในภิกษุณีปุถุชน มีโทษมากกว่านั้น
               ประพฤติผิดในภิกษุณีผู้เป็นพระโสดาบัน มีโทษมากกว่านั้น
               ประพฤติผิดในภิกษุณีผู้เป็นพระสกทาคามี มีโทษมากกว่านั้น
               ประพฤติผิดในภิกษุณีผู้เป็นพระอนาคามี มีโทษมากกว่านั้น
               ประพฤติผิดในภิกษุณีผู้เป็นพระขีณาสพ มีโทษมากยิ่งนัก.

               มุสาวาทมีโทษดังนี้               
               มุสาวาท (พูดเท็จ) เพื่อต้องการทรัพย์มีประมาณกากณิกหนึ่ง (คำว่า กากณิกเป็นชื่อมาตราเงินอย่างต่ำที่สุด ทรัพย์มีค่าเท่าค่าแห่งชิ้นเนื้อพอกากลืนกินได้) มีโทษน้อยในเพราะคำพูดอันเป็นเท็จนั้น
               มุสาวาท เพื่อต้องการทรัพย์ ครึ่งมาสก๑- มีโทษมากกว่านั้น
               มุสาวาท เพื่อต้องการทรัพย์ หนึ่งมาสก มีโทษมากกว่านั้น
               มุสาวาท เพื่อต้องการทรัพย์ ๕ มาสก มีโทษมากกว่านั้น
               มุสาวาท เพื่อต้องการทรัพย์ ครึ่งกหาปณะ มีโทษมากกว่านั้น
               มุสาวาท เพื่อต้องการทรัพย์ หนึ่งกหาปณะ มีโทษมากกว่านั้น
               มุสาวาท เพื่อต้องการทรัพย์มีค่านับไม่ได้ มีโทษมากกว่านั้น
               แต่มุสาวาท เพื่อทำสงฆ์ให้แตกจากกัน มีโทษมากยิ่งนัก.
____________________________
๑- ๕ มาสก เท่ากับ ๑ บาท, ๔ บาท เท่ากับ ๑ กหาปณะ (บาท = เงินบาทของอินเดียโบราณ).

               การดื่มสุรามีโทษดังนี้               
               การดื่มสุราประมาณฟายมือหนึ่ง มีโทษน้อย
               การดื่มสุราประมาณกอบหนึ่ง มีโทษมากกว่า
               แต่การดื่มสุรามากสามารถให้กายไหว แล้วทำการปล้นบ้าน ปล้นหมู่บ้าน มีโทษหนักมาก.
               จริงอยู่ ในปาณาติบาต การฆ่าพระขีณาสพก็ดี ในอทินนาทานการถือเอาวัตถุสิ่งของของพระขีณาสพไปก็ดี ในกาเมสุมิจฉาจารการประพฤติผิดในภิกษุณีผู้เป็นขีณาสพก็ดี ในมุสาวาทการยังสงฆ์ให้แตกจากกันก็ดี ในการดื่มสุราอันสามารถให้กายเคลื่อนไหวไปปล้นบ้านปล้นหมู่บ้านก็ดี จัดว่ามีโทษมากทั้งนั้น แต่ว่าสังฆเภท โดยการกล่าวซึ่งมุสาวาทเท่านั้นจัดว่ามีโทษมากกว่าโทษเหล่านั้นแม้ทั้งหมด เพราะว่าอกุศลอันมากนั้นสามารถเพื่อจะให้ไหม้อยู่ในนรกตลอดกัป.
               ว่าโดยปโยคะ ปาณาติบาตเป็นสาหัตถิกะ (คือทำด้วยมือของตนเอง) ก็มี เป็นอาณัติกะ (คือใช้ให้คนอื่นทำ) ก็มี. อทินนาทานก็เหมือนอย่างนั้น. กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาทและสุราปานะเป็นสาหัตถิกะเท่านั้น.
               บัณฑิตครั้นทราบวินิจฉัยสิกขาบทเหล่านี้ด้วยสามารถแห่งการวินิจฉัยซึ่งปาณาติบาตเป็นต้น (คือการยังสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป อันหมายถึงการฆ่าสัตว์เป็นต้น) โดยธรรมเป็นต้นอย่างนี้แล้วก็พึงทราบวินิจฉัยแม้ซึ่งคำว่า ปาณาติปาตา เวรมณี (แปลว่า งดเว้นจากการยังสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป) เป็นต้น โดยธรรม โดยโกฏฐาส โดยอารมณ์ โดยเวทนา โดยมูล โดยกรรม โดยขัณฑะ โดยสมาทาน โดยปโยคะด้วย.
               ในคำเหล่านั้น คำว่า ว่าโดยธรรม ได้แก่ สิกขาบททั้ง ๕ นั้นเป็นธรรมมีเจตนา ด้วยสามารถแห่งปริยายศีลเป็นไปตามลำดับนั้นนั่นแหละ.
               ว่าโดยโกฏฐาส สิกขาบทแม้ทั้ง ๕ เป็นกรรมบถ.
               ว่าโดยอารมณ์ การงดเว้นจากปาณาติปาต เพราะกระทำชีวิตินทรีย์ของผู้อื่นให้เป็นอารมณ์ ชื่อว่าย่อมงดเว้นด้วยเจตนาเป็นเครื่องงดเว้นของตน. นัยแม้ในสิกขาบทที่เหลือนอกนี้ก็นัยนี้แหละ เพราะว่าสิกขาบทเหล่านี้แม้ทั้งหมด กระทำวัตถุอันบุคคล พึงก้าวล่วงแล้วย่อมงดเว้น ด้วยเจตนาเป็นเครื่องงดเว้นเช่นเดียวกัน.
               ว่าโดยเวทนา สิกขาบทแม้ทั้งหมดเป็นสุขเวทนา หรือเป็นมัชฌัตตเวทนา.
               ว่าโดยมูล เมื่องดเว้นด้วยจิตอันสัมปยุตด้วยญาณ ย่อมเป็นอโลภะ อโทสะและอโมหะมูล เมื่องดเว้นด้วยจิตปราศจากญาณ ย่อมเป็นอโลภะและอโทสะมูลเท่านั้น.
               ว่าโดยกรรม มุสาวาทา เวรมณี ในที่นี้เป็น วจีกรรม. ที่เหลือเป็นกายกรรม.
               ว่าโดยขัณฑะ (ว่าโดยการขาด) คฤหัสถ์ทั้งหลายย่อมก้าวล่วงสิกขาบทใดๆ สิกขาบทนั้นๆ เท่านั้นย่อมขาด ย่อมแตก สิกขาบทที่เหลือย่อมไม่ขาด ไม่แตก.
               ถามว่า เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า เพราะคฤหัสถ์ทั้งหลายมิใช่เป็นผู้มีศีลประจำ เขาย่อมสามารถเพื่อรักษาสิกขาบทใดๆ ก็ย่อมรักษาสิกขาบทนั้นๆ นั่นแหละ. แต่สิกขาบททั้งหลายทั้งปวงของสามเณร แม้เธอก้าวล่วงเพียงข้อเดียว ชื่อว่าย่อมแตกทั้งหมด แม้เธอจะไม่ได้ก้าวล่วงสิกขาบททั้งหมดก็ตาม ถึงอย่างนั้น สิกขาบทที่เหลือเหล่านั้นก็ชื่อว่าย่อมแตกนั่นแหละ. ก็การก้าวล่วงศีลของสามเณรนั้นมีวัตถุเป็นทัณฑกรรม (คือต้องถูกลงโทษ) เมื่อสามเณรนั้นทำทัณฑกรรมว่า กระผมจักไม่ทำอย่างนี้อีก ศีลย่อมบริบูรณ์.
               ว่าโดยสมาทาน เมื่อคฤหัสถ์ตั้งใจว่า ข้าพเจ้าจักอธิษฐานศีล ๕ เองทีเดียวดังนี้ก็ดี เมื่อสมาทานศีลนั้นโดยแยกแต่ละข้อก็ดี ย่อมชื่อว่าสมาทานแล้วทีเดียว คือว่าคฤหัสถ์นั้นนั่งในสำนักแห่งผู้ใดแล้วก็ถือเอาด้วยคำว่า ข้าพเจ้าจะสมาทานศีล ๕ ก็ดี ขอสมาทานโดยแต่ละข้อก็ดี ชื่อว่าย่อมสมาทานนั่นแหละ.
               ว่าโดยปโยคะ ศีล ๕ แม้ทั้งปวง บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นสาหัตถิกปโยคะทั้งหมด (คือกระทำด้วยตนเองทั้งหมด).

               ธรรมเป็นสิกขา               
               พึงทราบวินิจฉัยในธรรมอันเป็นสิกขานั้น ดังนี้.
               กุศลธรรมทั้งหลายอันเป็นไปในภูมิ ๔ แม้ทั้งหมด ชื่อว่าสิกขา เพราะความที่ธรรมนั้นเป็นธรรมอันบุคคลพึงศึกษา เหตุนั้น เพื่อแสดงซึ่งสิกขาทั้งหลายเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ยสฺมึ สมเย กามาวจรํ เป็นอาทิ.
               ในอธิการนี้ บัณฑิตพึงทราบเนื้อความโดยยังพระบาลีให้พิสดาร โดยนัยที่กล่าวไว้ในจิตตุปปาทกัณฑ์ในหนหลังนั่นแหละ. ส่วนในสิกขาปทวิภังค์นี้แสดงไว้เพียงหัวข้อเท่านั้นแล.

               อภิธรรมภาชนีย์ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา วิภังคปกรณ์ สิกขาปทวิภังค์ อภิธรรมภาชนีย์ จบ.
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 762อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 767อ่านอรรถกถา 35 / 774อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=35&A=9795&Z=9995
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=54&A=9640
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=54&A=9640
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๗  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :