ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 710อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 737อ่านอรรถกถา 35 / 741อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อรรถกถา วิภังคปกรณ์
ฌานวิภังค์ ปัญหาปุจฉกะ

               วรรณนาปัญหาปุจฉกะ               
               ในปัญหาปุจฉกะ บัณฑิตพึงทราบความที่ฌานทั้งหลายเป็นกุศลเป็นต้น โดยทำนองแห่งพระบาลีนั่นแหละ ก็แต่ในอารัมมณติกะ (คือหมวด ๓ แห่งอารมณ์) ฌานเหล่านั้น พึงทราบว่า ไม่พึงกล่าวโดยความเป็นอารมณ์มีปริตตารมณ์เป็นต้น เพราะความที่ฌานทั้ง ๓ มีนิมิตเป็นอารมณ์. ส่วนในปัญหาปุจฉกะนี้ ฌานเหล่านั้นเป็นโลกุตตระ เป็นอัปปมาณารัมมณะ พึงมีในเวลาแห่งมรรค หรือในเวลาแห่งผล. ในข้อว่า จตุตฺถํ ฌานํ สิยา ปริตฺตารมฺมณํ นี้ (แปลว่า ฌานที่ ๔ พึงเป็นปริตตารมณ์)
               ว่าโดยกุศลแล้ว จตุตถฌาน มี ๑๓ ประเภท คือ
               จตุตถฌาน อันเป็นบาทแห่งฌานทั้งปวง ๑
               จตุตถฌาน อันเป็นอิทธิวิธิ ๑
               จตุตถฌาน อันเป็นทิพพโสตญาณ ๑
               จตุตถฌาน อันเป็นเจโตปริยญาณ ๑
               จตุตถฌาน อันเป็นปุพเพนิวาสญาณ ๑
               จตุตถฌาน อันเป็นทิพพจักขุญาณ ๑
               จตุตถฌาน อันเป็นยถากัมมูปคตญาณ ๑
               จตุตถฌาน อันเป็นอนาคตังสญาณ ๑
               จตุตถฌาน อันเป็นอากาสานัญจายตนฌานเป็นต้นอีก ๔
               และจตุตถฌาน อันเป็นโลกุตตระ ๑
               ในฌานเหล่านั้น จตุตถฌานอันเป็นบาทแห่งฌานทั้งปวง เป็นนวัตตัพพารัมมณะอย่างเดียว (คือมีอารมณ์ที่ไม่พึงกล่าว).
               เมื่อภิกษุน้อมกายไปสู่ฌานที่ ๔ เพื่อทำอิทธิวิธะ ด้วยอำนาจแห่งจิต (คือให้กายไปพร้อมกับจิต) ชื่อว่าเป็นปริตตารัมมณะ เพราะความที่ภิกษุนั้น มีกายเป็นอารมณ์ ในขณะที่ทำปาฏิหาริย์ด้วยกายอันไม่ปรากฏอยู่ (คือเมื่อกายไปพร้อมกับจิต กายก็จะไม่ปรากฏ เรียกว่าอทิสสมานกาย).
               เมื่อภิกษุน้อมจิตไปด้วยอำนาจแห่งกาย (คือให้จิตไปพร้อมกับกาย ย่อมปรากฏเห็นได้) กระทำปาฏิหาริย์ด้วยกายอันปรากฏอยู่ ไปสู่พรหมโลก ชื่อว่าเป็นมหัคคตารัมมณะ เพราะความที่ภิกษุนั้นมีจิตในสมาบัติเป็นอารมณ์.
               ฌานที่ ๔ อันให้สำเร็จทิพพโสตญาณ ชื่อว่าปริตตารัมมณะ เพราะความที่ภิกษุนั้นมีเสียงเป็นอารมณ์.
               ฌานที่ ๔ อันให้สำเร็จเจโตปริยญาณ เป็นปริตตารัมมณะ ในขณะที่รู้จิตอันเป็นกามาวจร เป็นมหัคคตารัมมณะ ในเวลารู้จิตอันเป็นรูปาวจรและอรูปาวจร เป็นอัปปมาณารัมมณะในเวลารู้จิตอันเป็นโลกุตตระ. ก็ปุถุชนผู้ได้เจโตปริยญาณ ย่อมรู้จิตของปุถุชนทั้งหลายเท่านั้น ย่อมไม่รู้จิตของพระอริยะทั้งหลาย พระโสดาบันย่อมรู้จิตของพระโสดาบันและปุถุชนทั้งหลาย พระสกทาคามีย่อมรู้จิตของพระสกทาคามีและบุคคลผู้มีภูมิต่ำกว่า พระขีณาสพย่อมรู้จิตของชนแม้ทั้งหมด.
               ฌานที่ ๔ อันเป็นปุพเพนิวาสญาณ เป็นปริตตารัมมณะในขณะที่ระลึกถึงขันธ์อันเป็นกามาวจร เป็นมหัคคตารัมมณะในขณะที่ตามระลึกถึงขันธ์อันเป็นรูปาวจรและอรูปาวจร เป็นอัปปมาณารัมมณะในเวลาตามระลึกว่า ในอดีตกาล พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระขีณาสพทั้งหลาย เจริญมรรคแล้วกระทำให้แจ้งซึ่งผล ดังนี้ เป็นนวัตตัพพารัมมณะในเวลาที่ตามระลึกถึงชื่อและโคตร.
               ฌานที่ ๔ อันเป็นทิพพจักขุญาณ ชื่อว่า เป็นปริตตารัมมณะ เพราะความที่ภิกษุนั้นมี สี เป็นอารมณ์.
               ฌานที่ ๔ อันเป็นยถากัมมูปคตญาณ เป็นปริตตารัมมณะในขณะระลึกถึงกรรมอันเป็นกามาวจร เป็นมหัคคตารัมมณะในขณะระลึกถึงกรรมอันเป็นรูปาวจรและอรูปาวจร.
               ฌานที่ ๔ อันเป็นอนาคตังสญาณ เป็นปริตตารัมมณะในกาลกำหนดรู้ถึงการเกิดขึ้นแห่งกามธาตุในอนาคตกาล เป็นมหัคคตารัมมณะในเวลาที่รู้การเกิดขึ้นในรูปภพและอรูปภพ เป็นอัปปมาณารัมมณะ ในการรู้ว่า ในอนาคตกาล พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระขีณาสพทั้งหลาย จักเจริญมรรค จักสำเร็จผล ดังนี้ เป็นนวัตตัพพารัมมณะในเวลาที่ระลึกถึงชื่อและโคตร.
               ฌานที่ ๔ อันเป็นอากาสานัญจายตนะและอากิญจัญญายตนะ เป็นนวัตตัพพารัมมณะ.
               ฌานที่ ๔ อันเป็นวิญญาณัญจายตนะและเนวสัญญานาสัญญายตนะ เป็นมหัคคตารัมมณะ.
               โลกุตตรจตุตถฌาน เป็นอัปปมาณารัมมณะ.
               แม้ว่าโดยกิริยา แบบแผนอันเป็นอารมณ์ ดังกล่าวนี้นั่นแหละ ย่อมเป็นไปในฌาน ๑๒ เหล่านั้น.
               คำว่า ตีณิ ฌานานิ น มคฺคารมฺมณา ได้แก่ ปัจจเวกขณญาณหรือเจโตปริยญาณเป็นต้น พึงทำมรรคให้เป็นอารมณ์ได้. ฌานทั้ง ๓ ไม่เป็นมัคคารัมมณะ เพราะไม่เป็นไปอย่างนั้น. แต่พึงเป็นมัคคเหตุกะ ด้วยสามารถแห่งสหชาตเหตุ. เป็นมัคคาธิปติ ด้วยการเจริญมรรค อันมีวิริยะเป็นหัวหน้าหรือมีวีมังสาเป็นหัวหน้า. แต่ไม่พึงกล่าวว่า เป็นมัคคาธิปติ ในกาลที่มีฉันทะ จิตตะเป็นหัวหน้า และในกาลแห่งผล.
               แม้ในคำว่า จตุตฺถชฺฌานํ นี้ ว่าโดยกุศล ในจตุตถฌาน ๑๓ ไม่พึงกล่าวว่า ฌานที่ ๔ อันเป็นสัพพัตถปาทกะ อิทธิวิธะ ทิพพโสตะ ทิพพจักขุญาณ ยถากัมมูปคตญาณและฌานที่ ๔ อันเป็นอรูป ๔ อย่าง ว่าเป็นมัคคารัมมณะเป็นต้น. ส่วนฌานที่ ๔ อันเป็นเจโตปริยญาณ ปุพเพนิวาสญาณ อนาคตังสญาณ เป็นมัคคารัมมณะ. แต่ไม่พึงกล่าวว่า เป็นมัคคเหตุกะหรือมัคคาธิปติ. โลกุตตรจตุตถฌานไม่เป็นมัคคารัมมณะ. แต่ในกาลแห่งมัค เป็นมัคคเหตุกะ ด้วยสามารถแห่งสหชาตเหตุ. เป็นมัคคาธิปติ ในกาลเจริญมรรคอันมีวิริยะและวีมังสาเป็นหัวหน้า ไม่พึงกล่าวว่าเป็นมัคคาธิปติ ในกาลเจริญมรรคอันมีฉันทะ จิตตะเป็นหัวหน้า และในกาลแห่งผล.
               แม้เมื่อว่าโดยกิริยาแล้ว ในฌาน ๑๒ ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               คำว่า ตีณิ ฌานานิ น วตฺตพฺพา บัณฑิตพึงทราบว่า ไม่พึงกล่าวว่า ฌาน ๓ เป็นปริตตารัมมณะ เป็นต้น เพราะไม่ปรารภธรรมแม้สักอย่างหนึ่งในอดีตเป็นต้นให้เป็นไป.
               คำว่า จตุตฺถํ ฌานํ ได้แก่ เมื่อว่าโดยกุศล จตุตถฌานอันเป็นบาทแห่งฌานทั้งหมด ในจตุตถฌาน ๑๓ เป็นนวัตตัพพารัมมณะเท่านั้น.
               จตุตถฌานอันเป็นอิทธิวิธะ เป็นอตีตารัมมณะ เพราะความที่ภิกษุนั้นมีจิตในสมาบัติเป็นอารมณ์ในการน้อมจิตไปตามอำนาจกาย เป็นอนาคตารัมมณะ ในกาลอธิษฐาน (ของพระเถระ) ว่า ในอนาคตกาล ขอดอกไม้เหล่านี้จงอย่าเหี่ยวแห้งไป ประทีปทั้งหลายจงอย่าดับไป กองแห่งอัคคีหนึ่งจงตั้งขึ้น บรรพตจงตั้งขึ้นด้วยดี ดังนี้. เป็นปัจจุปปันนารัมมณะ เพราะความที่ภิกษุนั้นมีกายเป็นอารมณ์ ในกาลน้อมกายไปด้วยอำนาจแห่งจิต (คือให้กายไปพร้อมกับจิต).
               จตุตถฌานอันเป็นทิพพโสตญาณ ชื่อว่า เป็นปัจจุปปันนารัมมณะ เพราะความที่ภิกษุนั้นมีเสียงเป็นอารมณ์.
               จตุตถฌาน อันเป็นเจโตปริยญาณ เป็นอตีตารัมมณะ ในกาลที่รู้จิตที่เกิดขึ้นแล้วดับไปภายใน ๗ วัน ที่เป็นอดีตกาล เป็นอนาคตารัมมณะ ในกาลรู้จิตที่จะเกิดขึ้นภายใน ๗ วัน ในอนาคตกาล. จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศเจโตปริยญาณนั่นแหละ ด้วยพระสูตรนี้ว่า พระองค์จักทายใจแม้มากมาย โดยกำหนดถึงมโนสังขารของบุคคลผู้เจริญผู้นี้ เขาตั้งไว้แล้วโดยประการใด ในระหว่างแห่งจิตดวงนี้ เขาจักตรึกไปถึงวิตกชื่อนี้โดยประการนั้น จิตนั้นก็ย่อมมีอย่างนั้นนั่นแหละ หามีอย่างอื่นไม่. เป็นปัจจุปปันนารัมมณะ ในกาลปรารภปัจจุบันเป็นไปด้วยสามารถแห่งอัทธานปัจจุบัน (ปัจจุบันกาลอันยืดยาว) และสันตติปัจจุบัน คือปัจจุบันอันสืบต่อกันไป. ในข้อนี้พึงทราบเรื่องพิศดาร โดยนัยที่กล่าวแล้วในการพรรณนาอรรถกถากัณฑ์ในหนหลังนั่นแหละ.
               จตุตถฌานอันเป็นปุพเพนิวาสญาณ เป็นอตีตารัมมณะ ในกาลตามระลึกถึงอดีตขันธ์ เป็นนวัตตัพพารัมมณะ ในกาลตามระลึกถึงชื่อและโคตร.
               จตุตถฌานอันเป็นทิพพจักขุ ชื่อว่าเป็นปัจจุปันนารัมมณะ เพราะความที่ภิกษุนั้น มีสีเป็นอารมณ์.
               จตุตถฌานอันเป็นยถากัมมูปคตญาณ ย่อมกระทำอดีตกรรมเท่านั้น ให้เป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้น จตุตถฌานนั้น จึงชื่อว่าเป็นอตีตารัมมณะ.
               จตุตถฌานอันเป็นอนาคตังสญาณ เป็นอนาคตารัมมณะ ในกาลตามระลึกถึงขันธ์ อันเป็นอนาคต เป็นนวัตตัพพารัมมณะ ในกาลตามระลึกถึงชื่อและโคตร.
               อากาสานัญจายตนะ และอากิญจัญญายตนจตุตถฌาน เป็นนวัตตัพพารัมมณะ.
               วิญญาณัญจายตนะ และเนวสัญญานาสัญญายตนจตุตถฌาน เป็นอตีตารัมมณะ.
               โลกุตตรจตุตถฌาน เป็นนวัตตัพพารัมมณะ แล.
               แม้ว่าโดยกิริยา ในจตุตถฌาน ๑๒ ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ข้อว่า ตีณิ ฌานานิ พหิทฺธารมฺมณา ได้แก่ ชื่อว่าเป็นพหิทธารัมมณะ เพราะปรารภนิมิตอันเป็นภายนอกให้ปรากฏอยู่ภายในเป็นไป. แม้ในข้อว่า จตุตฺถํ ฌานํ นี้ เมื่อว่าโดยกุศลแล้ว ได้จตุตถฌาน ๑๓ ดังนี้ คือ
               จตุตถฌาน อันเป็นบาทแห่งฌานทั้งปวง เป็นพหิทธารัมมณะ.
               จตุตถฌาน อันเป็นอิทธิวิธะ ชื่อว่า เป็นอัชฌัตตารัมมณะ เพราะความที่แห่งภิกษุนั้น มีกายและจิตของตนนั่นแหละเป็นอารมณ์ ในกาลน้อมจิตไปด้วยอำนาจของกายบ้าง ในกาลน้อมกายไปด้วยอำนาจของจิตบ้าง เป็นพหิทธารัมมณะ ในกาลเป็นไปโดยนัยว่า ภิกษุนั้น ย่อมแสดงแม้ซึ่งรูปช้างในภายนอก ดังนี้เป็นต้น.
               จตุตถฌานอันเป็นทิพพโสตญาณ เป็นอัชฌัตตารัมมณะ ในกาลที่ภิกษุนั้นมีเสียงอันมีในท้องของตนเป็นอารมณ์ เป็นพหิทธารัมมณะ ในกาลที่ภิกษุนั้นมีเสียงของผู้อื่นเป็นอารมณ์ เป็นอัชฌัตตพหิทธารัมมณะ ด้วยสามารถแห่งรูปทั้งของตนและของผู้อื่นเป็นอารมณ์.
               จตุตถฌานอันเป็นเจโตปริยญาณ เป็นพหิทธารัมมณะอย่างเดียว.
               จตุตถฌานอันเป็นปุพเพนิวาสญาณ เป็นอัชฌัตตารัมมณะ ในกาลตามระลึกถึงขันธ์ของตน เป็นพหิทธารัมมณะในกาลตามระลึกถึงขันธ์ทั้งหลายของบุคคลอื่น และในกาลตามระลึกถึงชื่อและโคตร.
               จตุตถฌานอันเป็นทิพพจักขุญาณ เป็นอัชฌัตตารัมมณะในกาลที่มีรูปของตนเป็นอารมณ์ เป็นพหิทธารัมมณะในกาลที่มีรูปของบุคคลอื่นเป็นอารมณ์ เป็นอัชฌัตตพหิทธารัมมณะ แม้ด้วยสามารถแห่งกาลที่มีรูปของตนและของผู้อื่นเป็นอารมณ์.
               จตุตถฌานอันเป็นยถากัมมูปคตญาณ เป็นอัชฌัตตารัมมณะในกาลรู้กรรมของตน เป็นพหิทธารัมมณะในกาลรู้กรรมของผู้อื่น เป็นอัชฌัตตพหิทธารัมมณะ ด้วยสามารถแห่งกาลรู้กรรมของตนและของผู้อื่น.
               จตุตถฌานอันเป็นอนาคตังสญาณ เป็นอัชฌัตตารัมมณะในกาลรู้ธรรมอันเกิดขึ้นในอนาคตของตน เป็นพหิทธารัมมณะในกาลตามระลึกถึงขันธ์ของผู้อื่นและในกาลตามระลึกถึงชื่อและโคตร เป็นอัชฌัตตพหิทธารัมมณะด้วยอำนาจแห่งกาลตามระลึกทั้งสองนั้น.
               อากาสานัญจายตนจตุตถฌาน เป็นพหิทธารัมมณะ.
               อากิญจัญญายตนจตุตถฌาน เป็นนวัตตัพพารัมมณะ
               วิญญาณัญจายตนะและเนวสัญญานาสัญญายตนจตุตถฌาน เป็นอัชฌัตตารัมมณะ.
               โลกุตตรจตุตถฌาน เป็นพหิทธารัมมณะ
               แม้ว่าโดยกิริยา ในฌานทั้ง ๑๒ ก็นัยนี้เหมือนกันแล.
               วรรณนาปัญหาปุจฉกะ จบ.               

               อนึ่ง ในฌานวิภังค์นี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสฌานทั้งหลายเป็นมิสสกะ คือเป็นโลกิยะและเป็นโลกุตตระสลับกันไป ในการพรรณนาสุตตันตภาชนีย์บ้าง ในการพรรณนาอภิธรรมภาชนีย์บ้าง ในปัญหาปุจฉกะบ้าง.
               จริงอยู่ นัยทั้ง ๓ เหล่านั้น ชื่อว่าเอกปริจเฉทนั่นแหละ เพราะนัยทั้ง ๓ เหล่านั้นเป็นธรรมอันเจือกันในภูมิทั้ง ๓. แม้ฌานวิภังค์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงนำออกจำแนกแสดงแล้ว ๓ ปริวัฏ ดังพรรณนามาฉะนี้.

               อรรถกถาฌานวิภังคนิทเทส จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา วิภังคปกรณ์ ฌานวิภังค์ ปัญหาปุจฉกะ จบ.
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 710อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 737อ่านอรรถกถา 35 / 741อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=35&A=8889&Z=8979
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=54&A=9443
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=54&A=9443
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๗  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :